หลักธรรมสำหรับนักศึกษา


 

 

 

หลักธรรมสำหรับนักศึกษา

 

คนที่เล่าเรียนศึกษา จะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือ นักค้นคว้า นอกจากจะพึงปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ ยังมีหลักการที่ควรรู้อีก และ หลักการที่ควรประพฤติอีก ดังต่อไปนี้

 

  1.  รู้หลักบุพภาคการศึกษา  คือ องค์ประกอบ ที่เป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ ๒ ประการ คือ 
  2.  องค์ประกอบภายนอกที่ดี  ได้แก่ กัลยาณมิตร หมายถึง รู้จักหาผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหาตลอดจนกระทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมไทยโดยทั่วไป ที่เกื้อกูล ซึ่งจะชักจูง หรือ กระตุ้นให้เกิดปัญญาได้ด้วยการฟัง  การเลือกใช้สื่อมวลชนให้เป็นประโยชน์
  3. องค์ประกอบภายในที่ดี  ได้แก่ ใช้โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิด ถูกวิธี รู้จักคิด หรือ คิดเป็น คือ มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา สืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือ ปัญหานั้น ๆ ออกให้เห็นตามสภาวะ และ ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

กล่าวโดยย่อว่า นอกจากรู้จักแสวงหา และ เลือกรับความรู้ความเห็นจากครูอาจารย์ เพื่อน คนภายนอก ตำรับตำรา และ สื่อมวลชนที่เป็นกัลยาณมิตรแล้ว  ต้องรู้จักคิดเองเป็นด้วย

 

ทำตามหลักสร้างปัญญา  ในทางปฏิบัติ อาจสร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ ๒ อย่าง ข้างต้นนั้นได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักวุฒิธรรม คือ ธรรมเครื่องเจริญแห่งปัญญา ๔ ประการ คือ

  1. สัปปุริสสังเสวะ  แปลว่า การคบหาคนรู้ คือ การคบหาท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณ ผู้มีภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่น่านับถือ เพราะ การคบหาคนประเภทนี้ ย่อมนำสิริมงคลมาสู่เรา เพราะ ท่านเหล่านั้น ย่อมแนะนำสั่งสอนเราในทางที่ดี ที่ชอบ เข้ากับสุภาษิตที่ว่า “คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว”
  2. สัทธัมมัสสวนะ  แปลว่า ฟังดูคำสอน คือ เอาใจใส่ สดับตรับฟังแสวงหาความรู้จริง ทั้งจากตัวบุคคลโดยตรง และ จากหนังสือ หรือ สื่อมวลชน ถ้าไม่ฟังก็ไม่รู้ เหมือนทัพพีที่ตักแกง ไม่รู้รสแกงฉันนั้น เมื่อท่านสั่งสอนอะไร เราต้องฟัง เพราะว่า “นักปราชญ์ ย่อมไม่แนะนำในทางชั่ว” แน่นอน
  3. โยนิโสมนสิการ  แปลว่า คิดให้แยบคาย คือ รู้เห็นได้ฟังสิ่งใดแล้ว รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง โดยแยกแยะให้เห็นสภาวะ และ สืบสาวให้เห็นเหตุผลว่า นั่นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น จะเกิดผลอะไรต่อไป มีข้อดี ข้อเสีย คุณโทษอย่างไร ต้องใช้เหตุผลและพิจารณาด้วยปัญญา “เมื่อหมั่นคิดพิจารณา ดวงปัญญาย่อมเกิดขึ้น”
  4. ธัมมานุธัมปฏิบัติ แปลว่า  ปฏิบัติให้ถูกหลัก นำเอาสิ่งใดที่ได้เล่าเรียนศึกษารับฟัง และ ตริตรองมองเห็นชัดแล้ว นำไปใช้ หรือ ปฏิบัติลงมือทำ ให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมาย ให้หลักย่อยสอดคล้องกับหลักใหญ่ ข้อปฏิบัติย่อย สอดคล้องกับ จุดหมายใหญ่ ปฏิบัติธรรมอย่างรู้เป้าหมาย เช่น สันโดษ เพื่อเกื้อหนุนการงาน มิใช่สันโดษ จนกลายเป็นความเกียจคร้าน ถ้าจะทำการงานของเรา ให้บรรลุความสำเร็จ เราจะต้องปฏิบัติตามธรรมหมวด อิทธิบาท แต่ถ้าอยากให้ชีวิตรุ่งโรจน์ ก็ต้องปฏิบัติตามหมวด วุฒิธรรม ๔ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว

 

การศึกษาให้เป็นพหูสูต  คือ การที่จะศึกษาเล่าเรียนอะไร ก็ทำตนให้เป็นพหูสูตในด้านนั้น ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ชัดเจน ถึงขั้นครบองค์คุณของพหูสูต คือ ผู้ได้เรียนมาก หรือ ผู้คงแก่เรียน ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ

  1. พหุสสุตา แปลว่า ฟังมาก คือ ได้ศึกษาเล่าเรียน สดับฟัง รู้เห็น อ่าน สั่งสมความรู้ในด้านนั้น ไว้             มากมายกว้างขวาง
  2. ธตา  แปลว่า จำไว้ได้ คือ จับหลัก หรือ สาระของมันไว้ได้  ทรงจำเรื่องราวของมัน หรือ เนื้อหาสาระไว้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
  3. วจสา ปริจิตา  แปลว่า  คล่องปาก คือ ท่องบ่น หรือ ใช้พูดอยู่เสมอ จนแคล่วคล่องเจนจัด เมื่อมีใครสอบถาม ก็สามารถพูดชี้แจงแถลงได้
  4. มนสานุเปกขิตา  แปลว่า เพ่งจนขึ้นใจ คือ ใส่ใจนึกคิดจนเจนใจ นึกถึงเมื่อใด ก็จะปรากฏเนื้อความสว่างไสวชัดเจน  สามารถมองเห็นโล่งตลอดไปทั้งเรื่อง
  5. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา  แปลว่า  ขบได้ด้วยทฤษฎี คือ เข้าใจความหมาย และ เหตุผลอย่างแจ่มแจ้ง ลึกซึ้ง รู้ที่มาที่ไป เหตุผล และ ความสัมพันธ์ของเนื้อความ และ รายละเอียดต่าง ๆ ทั้งภายในเรื่อง และ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องนั้น ๆ ในสายวิชา หรือ ทฤษฎีนั้น อย่างทะลุปรุโปร่งตลอดสาย

 

หลักธรรมนำความสำเร็จ  ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี  ในการประกอบกิจการงานก็ดี ตลอดจนอาชีพการงานต่าง ๆ ก็ดี ทุกคนต่างก็มุ่งหวังจะได้รับผลกำไร และ ผลสำเร็จ การที่จะได้รับผลสำเร็จนั้นก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ  การปฏิบัตินั้น จะต้องมีหลัก ในทางพระพุทธศาสนา ได้วางหลักธรรม หรือ สูตร คือ ทางแห่งความสำเร็จไว้ เรียกว่า “อิทธิบาท” คือ หลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการ คือ

๑.  ฉันทะ แปลว่า มีใจรัก คือ พอใจจะทำสิ่งนั้น และ ทำด้วยใจรัก ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่าง                  ดีที่สุด  มิใช่สักแต่ว่า ทำพอให้เสร็จ ๆ หรือ เพียงเพราะอยากได้รางวัล เช่น การที่เราจะศึกษาวิชาใด ๆ แขนงใด ๆ ก็ตาม หรือ จะทำงานใด ๆ ก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบใจหรือสนใจ  เราก็สามารถจะศึกษา หรือ กระทำการงานเหล่านั้น ให้สำเร็จได้ด้วยดี เพราะ เป็นความพอใจ หรือ สนใจที่เรามีอยู่ในการกระทำสิ่งนั้น ๆ ดังนั้น ความมีใจรัก และ มีความพอใจ สนใจ ในการกระทำงาน จึงเป็นเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

๒   วิริยะ  แปลว่า ความพากเพียรพยายาม คือ ขยันหมั่นประกอบ หมั่นกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย เช่น การศึกษาเล่าเรียนก็ดี การทำการงาน ทั้งงานเล็ก และ งานใหญ่ก็ดี ถ้าหากผู้นั้นมีความเกียจคร้าน ขาดความเพียรพยายาม ทอดทิ้ง ไม่เอาธุระ แม้งานนั้น จะเป็นงานเล็ก หรือว่าใหญ่ ก็ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปได้ ดังนั้น ความเพียรพยายาม จึงเป็นหนทางนำไปสู่ความสำเร็จ ดังพุทธภาษิตว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ  บุคคล จะพ้นจากทุกข์ได้ เพราะ ความเพียรพยายาม”  และ คนที่มีความเพียรพยายามเท่านั้น จึงจะหาทรัพย์ได้ ดังพุทธภาษิตว่า “อุฏฐาตา วินฺทเต ธน๊  ผู้หมั่นขยันเท่านั้น จึงจะหาทรัพย์ได้”  ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า การศึกษาเล่าเรียนก็ดี การประกอบอาชีพการงานก็ดี เพียงแต่รัก พอใจ และ สนใจเท่านั้น ถ้าหากขาดความพากเพียร พยายาม ทอดทิ้ง ไม่เอาธุระ ก็ไม่อาจพบความสำเร็จได้ดังที่ต้องการได้

๓.    จิตตะ  แปลว่า เอาจิตฝักใฝ่  คือ  ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และ ทำสิ่งนั้นด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป  ต้องใช้ความคิดในเรื่องนั้นเสมอ ๆ นอกจากเราจะสนใจ และ ขยันขันแข็งแล้ว เราจะต้องเอาใจใส่ด้วย จะทำเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ไม่ได้  จะต้องพยายามเอาจิตฝักใฝ่ตลอดไป  เอาความฝักใฝ่ให้เป็นใหญ่  ให้เป็นเหมือนแอก  ให้ออกหน้า แล้วทำความสำเร็จให้เกิดขึ้น  ถ้าขาดจิตตะความเอาใจฝักใฝ่แล้ว ก็ไม่สำเร็จ

๔.    วิมังสา  การใช้ปัญญาสอบสวน  คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และ ตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน เกินเลย ข้อบกพร่องตลอดจนข้อข้องขัด เป็นต้น ในสิ่งที่ทำนั้นโดยรู้จักทดลอง วางแผนวัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น การใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียนก็ตาม การประกอบกิจการงานต่าง ๆ ก็ตาม นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จึงจำเป็นจะต้องใช้สติปัญญาโดยรอบคอบ  ไม่วู่วามเอาแต่อารมณ์ ดังนั้นปัญญาจึงเป็นหลักที่สำคัญที่สุดในการที่จะแก้ปัญหา หรือ อุปสรรคต่าง ๆ ได้

 

อิทธิบาท  ได้แก่  ธรรมที่ตั้งแห่งความสำเร็จ หรือ ที่ตั้งแห่งเครื่องสำเร็จ คือ อุบายในอันที่จะทำให้ได้ความสำเร็จ  การเจริญอิทธิบาทให้มากขึ้น ก็จะได้สมาธิ  เมื่อได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสำเร็จ คุณวิเศษต่าง ๆ มีญาณสมบัติ มรรคผล และ พระนิพพาน เมื่ออิทธิบาททั้งสี่นี้ มีบริบูรณ์ในสิ่งใดแล้ว ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเป็นคุณเครื่องความสำเร็จ  อิทธิบาททั้ง ๔ นี้ จัดเข้าใน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

 

หลักธรรมนำชีวิตให้รุ่งโรจน์  บุคคล ผู้ต้องการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา  หรือ การประกอบอาชีพการงาน พึ่งปฏิบัติตามหลักธรรมที่เรียกว่า “จักร”  คือ  ธรรมประดุจล้อนำรถไปสู่จุดหมาย  มีอยู่ ๔ ประการ  คือ

  1. ปฏิรูปเทสวาสะ  แปลว่า การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ มีสิ่งแวดล้อมอำนวยแก่ความดีงาม และ ความเจริญก้าวหน้า  คือ เหมาะแก่การเป็นอยู่  เหมาะแก่การศึกษา  เหมาะแก่การประกอบอาชีพการงาน  ถ้าหากเราอยู่ในถิ่นที่ไม่เหมาะสม  ก็ไม่สามารถที่จะทำชีวิตให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาได้  การที่เราจะเพาะปลูกพืชพันธ์ต่าง ๆ ให้ได้ผลนั้น เราจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องของดินฟ้าอากาศ และ ความเป็นไปได้ฉันใด  การที่เราจะปลูกฝังตนเองให้เจริญรุ่งเรือง  ก็จำเป็นจะต้องอยู่ในถิ่นที่ดี  ที่เหมาะสมกับความต้องการฉันนั้น
  2. สัปปุริสูปัสสยะ  แปลว่า  การเสาะเสวนากับคนดี  คือ รู้จักเสวนาคบหาแต่บุคคลผู้รู้ผู้ทรงคุณ และ  ผู้ที่เกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงาม  เพียงแต่เข้าไปอยู่ในถิ่งประเทศที่เหมาะสมอย่างเดียวไม่พอ  จำเป็นที่เราจะต้องเลือกคบหาคนดี คือ นักปราชญ์ราชบัณฑิต  ผู้ตั้งอยู่ในศีล  ในธรรม มีความรู้ดี ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เพราะ การคบหาสมาคมกับคนดี คือ สัตบุรุษ ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
  3. อัตตสัมมาปณิธิ  แปลว่า การตั้งตนให้ถูกที่  คือ  ตั้งเป้าหมายอันดีงามถูกต้องแน่ชัด  นำตนไปถูกทางแน่วแน่  มั่นคง ไม่เชือนแช หรือ ไขว้เขว เมื่อเข้าไปคบหาคลุกคลีกับสัตบุรุษแล้ว ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดี ของสัตบุรุษแล้ว ก็จะเป็นคนดีไม่ได้ คำว่า  “สัตบุรษ” นั้น  หมายถึง คนดี มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น  การตั้งตนให้ถูกหลักนั้น  หมายถึง การตั้งตนอยู่ในธรรมที่ดี มีศรัทธาเป็นต้น ส่วนการตั้งตนไว้ชอบใน มงคลทีปนี กล่าวไว้ว่า  ได้แก่การตั้งตนอยู่ในศรัทธา ศีล สุต จาคะ และ ปัญญา เป็นต้น สรุปแล้ว ได้แก่ การตั้งตนอยู่ในความดีทั้งปวง
  4. ปุพเพกตปุญญตา  แปลว่า  ความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้ในชาติปางก่อน คือ มีดีเป็นทุนอยู่แล้ว  ได้แก มีพื้นเดิมดีทางด้านสติปัญญา  ความถนัด และ มีร่างกายสมบูรณ์  เป็นต้น เป็นทุนเดิมอยู่ส่วนหนึ่ง และ อีกส่วนหนึ่งก็คือ อาศัยพื้นเท่าที่มีอยู่ เร่งแก้ไขปรับปรุงตน  สร้างเสริมคุณสมบัติ  ความดีงาม ฝึกฝนตนเองให้เกิดความชำนิชำนาญ  คำว่า การทำบุญไว้ในปางก่อน  ในมงคลทีปนี กล่าวไว้ว่า ได้แก่ การได้ทำกุศลไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้ว เพราะว่า  ผู้ได้กระทำกุศลไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้วนั้น  ย่อมได้ความดีต่าง ๆ ซึ่งจักให้สุขต่าง ๆ แม้ในสิ่งที่ไม่น่าจะทำได้ ในสิ่งไม่น่าจะมีก็มี พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน สิริโจรชาตกติกนิบาตร ว่า  ผู้ไม่มีบุญสะสมทรัพย์สิ่งใดไว้  ทรัพย์นั้นย่อมเป็นของผู้มีบุญ  ผู้มีบุญจะมีศิลปะหรือไม่มีก็ตาม  ก็จะได้บริโภคทรัพย์นั้น  ทรัพย์เป็นอันมากย่อมเกิดแก่ผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว  ในที่ทุกแห่ง ถึงแม้ในที่ไม่ใช่บ่อเกิด เช่น  ไม่ใช่บ่อแก้ว บ่อเงิน และ บ่อทอง เป็นต้น  ก็ย่อมมีแก้ว มีเงิน และ มีทองเพื่อผู้มีบุญ และ ยังได้แสดงไว้ในนิธิกํณฑคาถาว่า บุญนี้ย่อมให้ความสำเร็จตามความประสงค์ ทุกอย่างของเทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย

 

จักร คือ ธรรมประดุจล้อนำรถไปสู่จุดหมาย  ผู้ต้องการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จต้องปฏิบัติตามหลักธรรม คือ จักร ๔ ประการ  คือ  การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ ๑ การเสวนากับสัตบุรุษ ๑ การตั้งตนไว้ถูก ๑ และ การได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ๑  เป็นเหตุให้มนุษย์ตลอดจนเทวดา  ประสบความเป็นใหญ่ และ ความไพบูลย์สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักรสี่ ที่ทำให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่  ถึงความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ทั้งหลาย

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713188เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2023 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2023 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท