การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๑๑ สสปัณฑิตจริยา


ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปเถิด แล้วทรงบีบภูเขา คือเอายางภูเขาวาดลักษณะของกระต่ายไว้ ณ จันทมณฑล (รูปกระต่ายบนดวงจันทร์)

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๑๑ สสปัณฑิตจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปเถิด แล้วทรงบีบภูเขา คือเอายางภูเขาวาดลักษณะของกระต่ายไว้ ณ จันทมณฑล (รูปกระต่ายบนดวงจันทร์)

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

๑๐. สสปัณฑิตจริยา

ว่าด้วยจริยาของสสบัณฑิต

 

             [๑๒๕] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นกระต่าย เที่ยวอยู่ในป่า มีหญ้า ใบไม้ ผัก และผลไม้เป็นภักษา เว้นการเบียดเบียนผู้อื่น

             [๑๒๖] ครั้งนั้น ลิง สุนัขจิ้งจอก ลูกนาค และเรา อยู่ร่วมสามัคคีกัน มาพบกันทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น

             [๑๒๗] เราสั่งสอนสหายเหล่านั้น ในการทำความดีและความชั่วว่า “ท่านทั้งหลาย จงเว้นความชั่ว จงตั้งอยู่ในความดี”

             [๑๒๘] เราเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถ จึงบอกแก่สหายเหล่านั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ

             [๑๒๙] ท่านทั้งหลายจงตระเตรียมทานเพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล ให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว จงอยู่จำอุโบสถ

             [๑๓๐] สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า “สาธุ” แล้วได้ตระเตรียมทานต่างๆ ตามความสามารถ ตามกำลัง แล้วแสวงหาทักขิไณยบุคคล

             [๑๓๑] เรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า ‘ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน

             [๑๓๒] งา ถั่วเขียว ของเราก็ไม่มี ถั่วราชมาส ข้าวสาร เปรียงของเราก็ไม่มี เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจที่จะให้หญ้า

             [๑๓๓] ถ้าทักขิไณยบุคคลสักท่านหนึ่งมาเพื่อขอในสำนักของเรา เราพึงให้ร่างกายของตน ทักขิไณยบุคคลจักไม่ไปเปล่า’

             [๑๓๔] ท้าวสักกะทรงทราบความดำริของเราแล้ว จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เข้ามายังที่อยู่ของเราเพื่อทรงทดลองทานของเรา

             [๑๓๕] เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า ‘ท่านมาถึงที่อยู่ของเราแล้ว เพราะเหตุแห่งอาหารเป็นการดีแล

             [๑๓๖] วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐที่ใครๆ ไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน

             [๑๓๗] ท่านจงไปนำไม้ต่างๆ มาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น เราจักปิ้งตัวของเรา ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก’

             [๑๓๘] พราหมณ์รับคำว่า “สาธุ” แล้วมีใจร่าเริง ได้นำไม้ต่างๆ มาทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่ ทำเป็นห้องซึ่งเต็มด้วยถ่านเพลิง

             [๑๓๙] ก่อไฟลุกโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่ เพราะฉะนั้น เราสลัดตัวอันมีธุลีแล้ว เข้าไปนั่งอยู่ข้างหนึ่ง

             [๑๔๐] ในเมื่อกองไม้ที่ไฟติดทั่วแล้วเป็นควันตลบอยู่ ขณะนั้น เราโดดลงไปในท่ามกลางระหว่างเปลวไฟ

             [๑๔๑] น้ำเย็นอันผู้ใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน ย่อมให้ความยินดี และปีติได้ ฉันใด

             [๑๔๒] ในขณะที่เราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เหมือนดำลงไปในน้ำเย็น ความกระวนกระวายทั้งปวงระงับไป

             [๑๔๓] เราได้ให้ร่างกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ คือผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และชิ้นเนื้อหัวใจแก่พราหมณ์ ฉะนี้แล

สสปัณฑิตจริยาที่ ๑๐ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี

๑๐. สสปัณฑิตจริยา

        อรรถกถาสสปัณฑิตจริยาที่ ๑๐  

             

               ดูก่อนสารีบุตร เราเที่ยวแสวงหาโพธิญาณ ในกาลเมื่อเราเป็นสสปัณฑิต (กระต่าย).
               จริงอยู่ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้ถึงความเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของกรรมก็ยังบังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉานเพื่ออนุเคราะห์สัตว์เดียรัจฉานเช่นนั้น.
               พระมหาสัตว์แม้อุบัติในกำเนิดเดียรัจฉานอย่างนี้ ก็เป็นกัลยาณมิตร เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยญาณ ทรงแสดงธรรมด้วยการให้โอวาทแก่สัตว์ทั้ง ๓ เหล่านั้นผู้เข้าไปหาตามกาลเวลา.
               สัตว์ทั้ง ๓ เหล่านั้นรับโอวาทของพระมหาสัตว์แล้วก็เข้าไปยังที่อยู่ของตน. เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ พระโพธิสัตว์มองดูอากาศ เห็นดวงจันทร์เต็มดวง จึงสอนว่าพวกท่านจงรักษาอุโบสถ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : เราเห็นพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถ จึงบอกแก่สหายเหล่านั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ท่านทั้งหลาย จงตระเตรียมทานทั้งหลายเพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล ครั้นให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว จงรักษาอุโบสถ.
               การตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ทานย่อมมีผลมาก เพราะฉะนั้น เมื่อยาจกมาถึง พึงให้จากอาหารที่พวกท่านควรเคี้ยวกินแล้วจึงกิน 
               ในสัตว์เหล่านั้น ลูกนากไปฝั่งแม่น้ำแต่เช้าตรู่ด้วยคิดว่าเราจักหาอาหาร.
               ครั้งนั้น พรานเบ็ดคนหนึ่งตกปลาตะเพียนได้ ๗ ตัว เอาเถาวัลย์ร้อยไว้แล้วหมกด้วยทรายที่ฝั่งแม่น้ำไปหาปลาต่อไป ตกลงไปทางใต้กระแสน้ำ. ลูกนากสูดกลิ่นปลา คุ้ยทรายเห็นปลาจึงนำออกประกาศ ๓ ครั้งว่า ปลาเหล่านี้มีเจ้าของไหม เมื่อไม่เห็นเจ้าของก็คาบที่เถาวัลย์วางไว้ที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่าเราจักกินในเวลาอันควร นอนนึกถึงศีลของตน.
               แม้สุนัขจิ้งจอกก็เที่ยวหาอาหาร เห็นเนื้อย่างสองชิ้น เหี้ยตัวหนึ่ง หม้อนมส้มหม้อหนึ่งที่กระท่อมของคนเฝ้านาคนหนึ่ง ประกาศ ๓ ครั้งว่า อาหารเหล่านี้มีเจ้าของไหม ครั้นไม่เห็นเจ้าของก็เอาเชือกที่ผูกหม้อนมส้มคล้องคอ คาบเนื้อย่างและเหี้ยวางไว้ที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่าจักกินในเวลาอันสมควร นอนนึกถึงศีลของตน.
               แม้ลิงก็เข้าป่านำผลมะม่วงมาวางไว้ที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่าจักกินในเวลาอันสมควร นอนนึกถึงศีลของตน.
               ทั้ง ๓ สัตว์ก็คิดว่า โอ ยาจกจะพึงมาที่นี่ไหมหนอ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า สาธุ แล้วได้ตระเตรียมทานต่างๆ ตามสติกำลัง แล้วแสวงหาทักขิไณยบุคคล.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ออกในเวลาอันสมควร คิดว่า เราจักกินหญ้ามีหญ้าแพรกเป็นต้นนอนที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่าเมื่อยาจกทั้งหลายมาหาเรา ไม่อาจกินหญ้าได้ เราไม่มีแม้งาและข้าวสารเป็นต้น. หากยาจกมาหาเรา เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราจักให้เนื้อในร่างกายของตน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : เรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน งา ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวสารและเปรียง ของเราไม่มี เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจให้หญ้าได้ ถ้าทักขิไณยบุคคลมาสักท่านหนึ่ง เพื่อขอในสำนักของเรา เราพึงให้ตนของตน ทักขิไณยบุคคลจักไม่ไปเปล่า.
               เมื่อพระมหาบุรุษปริวิตกถึงสภาพตามความเป็นจริงอย่างนี้ ด้วยอานุภาพแห่งความปริวิตกนั้น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะก็แสดงอาการร้อน ท้าวเธอรำพึงอยู่ทรงเห็นเหตุนี้แล้วจึงดำริว่า เราจักทดลองพระยากระต่ายจึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ไปที่อยู่ของนากก่อน ได้ประทับยืนอยู่.
               เมื่อนากถามว่า ท่านพราหมณ์ ท่านยืนอยู่เพื่ออะไร.
               ท้าวเธอตอบว่า หากเราได้อาหารสักอย่าง เราจะรักษาอุโบสถ บำเพ็ญสมณธรรม.
               นากตอบว่าสาธุ เราจักให้อาหารแก่ท่าน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ปลาตะเพียนของเรามี ๗ ตัว เพิ่งเอาขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีสิ่งนี้แหละ เชิญท่านบริโภค แล้วอยู่ในป่าเถิด.
               พราหมณ์กล่าวว่า รอไว้ก่อน จักรู้ภายหลัง. จึงไปหาสุนัขจิ้งจอกและลิง เหมือนอย่างนั้น แม้สัตว์เหล่านั้นก็ต้อนรับด้วยไทยธรรมที่ตนมีอยู่. พราหมณ์กล่าวว่า รอไว้ก่อน จักรู้ภายหลัง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : เนื้อย่างสองชิ้น เหี้ย หม้อนมส้มของคนเฝ้านาโน้น ซึ่งข้าพเจ้านำมาเป็นอาหารกลางคืน ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้แหละ เชิญท่านบริโภคแล้วอยู่ในป่าเถิด. มะม่วงสุก น้ำเย็น สถานที่ร่มรื่นเย็นสบาย ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอย่างนี้ เชิญท่านบริโภคแล้วอยู่ในป่าเถิด.
              ต่อจากนั้น พราหมณ์จึงเข้าไปหาสสบัณฑิต. แม้เมื่อสสบัณฑิตถามว่า ท่านมาเพื่ออะไร? พราหมณ์ก็บอกเหมือนอย่างนั้น.
              ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ท้าวสักกะทรงทราบความดำริของเราแล้ว จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เสด็จเข้ามายังสำนักของเรา เพื่อทรงทดลองทานของเรา.
               เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านมาถึงในสำนักเรา เพราะเหตุแห่งอาหารเป็นการดีแล้ว วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐ ที่ใครๆ ไม่เคยให้แก่ท่าน.
               ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน ท่านจงไปเอาไม้ต่างๆ มาก่อไฟขึ้น เราจักย่างตัวของเรา ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก.
               พราหมณ์นั้นรับคำแล้วมีใจร่าเริง นำเอาไม้ต่างๆ มาทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่ ทำเป็นห้องอันเต็มด้วยถ่านเพลิง ก่อไฟโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่.
               เราสลัดตัวมีธุลี เข้าไปอยู่ข้างหนึ่ง ในเมื่อกองไม้อันไฟติดทั่วแล้ว เป็นควันตลบอยู่ ในกาลนั้นเราโดดลงในท่ามกลางระหว่างเปลวไฟ.
               น้ำเย็นอันผู้หนึ่งผู้ใดดำลงแล้ว ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน ย่อมให้ความยินดีและปีติฉันใด. ในกาลเมื่อเราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลงก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความกระวนกระวายทั้งปวงย่อมระงับ ดังดำลงในน้ำเย็นฉะนั้น.

               ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า เราได้ให้แล้วซึ่งกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ คือ ขน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกและชิ้นเนื้อหัวใจ แก่พราหมณ์ ฉะนี้แล.

               แม้พระโพธิสัตว์ก็ไม่สามารถทำความร้อนแม้เพียงขุมขนในร่างกายของตนในกองไฟนั้นได้ จึงทำเป็นดุจเข้าห้องหิมะกล่าวกะท้าวสักกะผู้ทรงรูปเป็นพราหมณ์อย่างนี้ว่า ท่านพราหมณ์ท่านทำไฟให้เย็นจัดได้ ทำได้อย่างไร.
               พราหมณ์กล่าวว่า ท่านบัณฑิตข้าพเจ้ามิใช่พราหมณ์ดอก. ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะ มาทำอย่างนี้ก็เพื่อทดลองท่าน.
               พระโพธิสัตว์ได้บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่ท้าวสักกะช่างเถิด หากว่า โลกทั้งสิ้นพึงทดลองข้าพเจ้าด้วยทาน ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะไม่ให้ของข้าพเจ้าคงไม่มีอีกแล้ว. ใครจะให้ทานเกิดขึ้น ท่านจะเห็นทานนั้นได้อย่างไรอีกเล่า.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปเถิด แล้วทรงบีบภูเขา คือเอายางภูเขาวาดลักษณะของกระต่ายไว้ ณ จันทมณฑลแล้วให้พระโพธิสัตว์นอนบนตั่งหญ้าแพรกอ่อนที่พุ่มไม้ในราวป่านั้น แล้วเสด็จกลับเทวโลก.
               บัณฑิตทั้ง ๔ แม้เหล่านั้นก็สมัครสมานเบิกบานบำเพ็ญนิจศีลและอุโบสถศีล กระทำบุญตามสมควรแล้วก็ไปตามยถากรรม.
               นากในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ในครั้งนี้.
               สุนัขจิ้งจอก คือพระมหาโมคคัลลานะ.
               ลิง คือพระสารีบุตร.
               สสบัณฑิต คือพระโลกนาถ.

แม้ในสสบัณฑิตจริยานี้ พึงเจาะจงกล่าวถึงศีลบารมีเป็นต้นของสสบัณฑิตนั้นตามสมควรโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพของพระโพธิสัตว์ไว้ในที่นี้มีอาทิอย่างนี้ คือ เมื่อกุศลธรรมเป็นต้นแม้มีอยู่ในกำเนิดเดียรัจฉานการรู้ตามความจริงจากกุศลเป็นต้น.
               การเห็นโทษแม้มีประมาณน้อยในอกุศลเหล่านั้นโดยความเป็นของน่ากลัวแล้วเว้นจากอกุศลเด็ดขาด.
               การตั้งตนไว้ในกุศลธรรมทั้งหลายโดยชอบเท่านั้น.
               การชี้แจงโทษแก่คนอื่นว่า ธรรมลามกชื่อนี้อันท่านถือเอาแล้วอย่างนี้ ลูบคลำแล้วอย่างนี้ ย่อมมีคติอย่างนี้ ในภพหน้าอย่างนี้แล้ว ชักชวนในการเว้นจากโทษนั้น.
               การชี้แจงถึงอานิสงส์ในการทำบุญโดยนัยมีอาทิว่า เทวสมบัติ มนุษยสมบัติอยู่ในมือของผู้ตั้งอยู่ในทานศีลอุโบสถกรรมดังนี้แล้วให้เขาดำรงอยู่.
               การไม่คำนึงถึงร่างกายและชีวิตของตน. การอนุเคราะห์สัตว์เหล่าอื่น. และมีอัธยาศัยในทานอย่างกว้างขวาง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ น่าอัศจรรย์ ทั้งไม่เคยมีมา แม้เพียงใจเลื่อมใสในท่านเหล่านั้น ก็พึงพ้นจากทุกข์ได้ จะพูดไปทำไมถึงการทำตามท่านเหล่านั้น โดยธรรมสมควรแก่ธรรมเล่า.

               จบอรรถกถาสสบัณฑิตจริยาที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

 

 

หมายเลขบันทึก: 713134เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2023 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2023 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท