ณ อีต่อง ทองผาภูมิ ชุมชนกลางสายหมอก (7) ความทรงจำดีๆ ที่สะพานป้ายไม้


ณ อีต่อง ทองผาภูมิ ชุมชนกลางสายหมอก (7) ความทรงจำดีๆ ที่สะพานป้ายไม้

สะพานป้ายไม้ เป็นสะพานข้ามสระน้ำ ตั้งอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้าน  บนราวสะพานมีแผ่นป้ายไม้เขียนข้อความนำไปห้อยไว้เต็มทั้งสองข้าง เหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ใครต่อใครทิ้งร่องรอยและความทรงจำไว้ที่แห่งนี้ จึงเป็นสะพานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางมายังบ้านอีต่อง ชุมชนกลางสายหมอกแห่งนี้

มีร้านขายแผ่นป้ายไม้อยู่ที่ปลายสะพาน นักท่องเที่ยวซื้อหาได้ในราคาเพียง 20 บาท และมีปากกาไว้บริการด้วย เขียนข้อความเสร็จแล้วก็นำแผ่นป้ายไปแขวนที่ราวสะพาน ซึ่งตอนนี้เต็มไปด้วยแผ่นป้ายไม้บันทึกความทรงจำ จนแทบจะหาที่แขวนไม่ได้

บนสะพานป้ายไม้นี้ยังเป็นจุดชมวิวหมู่บ้านที่สวยงามมาก จากบนสะพานสามารถมองเห็นสระน้ำขนาดใหญ่ท่ามกลางสายหมอกและธรรมชาติของป่าเขา ที่ถูกขนาบด้วยบ้านเรือนเรียงรายอยู่โดยรอบ เป็นทัศนียภาพที่สวยงามของบ้านอีต่องชุมชนเล็กๆของตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งมีอากาศเย็นสบายตลอดปี

เวลาไปเที่ยวศาลเจ้าในประเทศญี่ปุ่น เรามักจะพบเห็นแผ่นป้ายไม้คล้ายๆกับแผ่นป้ายที่ราวสะพานบ้านอีต่อง ต่างกันที่เป็นแผ่นป้ายขอพรที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า "เอมะ"  แผ่นป้ายไม้ขอพรเหล่านี้ มีขนาดเท่าฝ่ามือ มีไว้สำหรับเขียนคำอธิษฐานขอพรให้สมหวัง หรือเขียนขอบคุณหลังคำอธิษฐานสมหวังแล้ว

แผ่นป้ายไม้ขอพร เอมะถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยลัทธิชินโต เชื่อกันว่าม้าเป็นสัตว์พาหนะศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า จึงมีการใช้ม้าตัวเป็นๆ มาถวายที่ศาลเจ้าเพื่อเป็นการสักการะ คนที่ไม่สามารถนำม้ามาถวายได้จะนิยมใช้แผ่นไม้ที่มีรูปวาดม้าเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้า หรือใช้รูปปั้นม้าที่ทำจากดิน ไม้แกะสลัก ต่อมาจึงกลายเป็นภาพวาดรูปม้าบนแผ่นไม้ เป็นที่มาของแผ่นป้ายขอพรเอมะในปัจจุบัน

การเขียนแผ่นป้ายไม้ขอพรเอมะให้สัมฤทธิ์ผล มีเทคนิคดังนี้

1. เขียนคำอธิษฐานบนแผ่นป้ายไม้ขอพร ด้วยประโยคที่สื่อว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นจริงตามที่อธิษฐานในเวลาที่ต้องการ เช่น ฉันสอบเข้ามหาลัยได้ในปีนี้ แทนคำอธิษฐานว่า ขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในปีนี้

2. อ่านคำอธิษฐานซ้ำๆทุกวันอย่างน้อยในสัปดาห์แรก และค่อยๆกำหนดช่วงเวลาที่จะกลับมาอ่าน เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน

3. การเขียนแผ่นป้ายไม้ขอพรเอมะเรื่องความรัก ความปลอดภัยของครอบครัว ควรเขียนในแนวนอน หากเป็นเรื่องการเรียน การงาน ควรเขียนในแนวตั้ง

4. แขวนแผ่นป้ายไม้ขอพรโดยนำด้านที่เขียนคำอธิษฐานออกมาด้านนอก เพื่อให้เทพเจ้าเห็นได้ชัดเจน

5 การเขียนคำอธิษฐานขอพรบนแผ่นป้ายไม้ควรทำสองครั้งคือตอนขอพรครั้งแรก ครั้งที่ 2 คือเขียนเพื่อขอบคุณภายใน 1 ปีเมื่อคำอธิษฐานนั้นเป็นจริง

6. เขียนคำอธิษฐานบนแผ่นไม้ด้านที่ไม่มีลวดลายด้วยปากกาที่เป็นหมึกกันน้ำเพื่อไม่ให้ข้อความที่อธิษฐานเลือนหายไปกับน้ำฝน และควรใช้ถ้อยคำที่สุภาพ เขียนด้วยตัวบรรจง และเขียนชื่อ ที่อยู่ วัน เดือน ปีเกิดโดยใช้ตัวอักษรย่อเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้นำแผ่นป้ายขอพรไปแขวนไว้ในพื้นที่ที่ทางศาลเจ้าจัดเตรียมไว้หรือจะนำไปแขวนไว้บนแท่นบูชาหรือห้องพระที่บ้านก็ได้

การเขียนคำอธิษฐานขอพรจากเทพเจ้าไม่ได้มีที่ญี่ปุ่นเท่านั้น ในประเทศจีนและเกาหลีก็มีการเขียนขอพรบนแผ่นป้ายแล้วนำไปแขวนไว้เช่นกัน  บางวัดเขียนบนป้ายไม้ บนกระดิ่ง และบนริบบิ้น  รวมทั้งการเขียนบนป้ายไม้เพื่อเป็นบันทึกความทรงจำดีๆในการเดินทางท่องเที่ยว ล้วนแต่เป็นเรื่องของเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจทั้งสิ้น

ความทรงจำที่สวยงามของหลายๆคนที่บ้านอีต่อง ชุมชนกลางสายหมอกได้ถูกบันทึกไว้บนแผ่นป้ายไม้ที่สะพานแห่งนี้

ขอขอบคุณ

  • หน่อยทัวร์ท่องเที่ยว ผู้จัด"บ้านอีต่อง ปิล็อก"ทริปดีๆที่ประทับใจ
  • มิตรภาพและน้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

 

 

หมายเลขบันทึก: 713107เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2023 07:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2023 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท