พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ตอนที่ ๘ อุปาลิเถราปทาน


ข้าแต่พระมหามุนีตลอดพุทธเขต ยกเว้นพระองค์ ในพระวินัยไม่มีใครผู้เช่นกับข้าพระองค์ ผู้ที่ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน

พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ตอนที่ ๘ อุปาลิเถราปทาน

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

๖. อุปาลิเถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระอุบาลีเถระ

 

เกริ่นนำ

            ข้าแต่พระมหามุนีตลอดพุทธเขต ยกเว้นพระองค์ ในพระวินัยไม่มีใครผู้เช่นกับข้าพระองค์ ผู้ที่ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน

 

            (พระอุบาลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

            [๔๔๑] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าสุชาตะ ในกรุงหงสวดี มีกองทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอันมาก

            [๔๔๒] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท สำเร็จในคัมภีร์พยากรณ์ลักษณะ คัมภีร์อิติหาสะ และไตรเพท อันเป็นธรรมของตน

            [๔๔๓] ครั้งนั้น เหล่าปริพาชกผู้มีผมปอยเดียว สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเชื้อสายพระอาทิตย์ และเหล่าดาบสผู้เที่ยวสัญจร พากันท่องเที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน

            [๔๔๔] แม้พวกเขาก็พากันห้อมล้อมข้าพเจ้า ด้วยสำคัญว่า เป็นพราหมณ์ มีชื่อเสียง ชนจำนวนมากพากันบูชาข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่บูชาใครๆ

            [๔๔๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นใครว่าเป็นผู้ที่ควรบูชา จึงถือตัวจัด พระชินเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นมาตราบใด คำว่า พุทธะ ก็ยังไม่มีตราบนั้น

            [๔๔๖] เมื่อวันคืนล่วงไป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระจักษุ เสด็จอุบัติขึ้นมาบรรเทาความมืดทั้งปวงในโลก

            [๔๔๗] เมื่อศาสนาแผ่ไปกว้างขวาง มีท่านผู้รู้มากและเป็นปึกแผ่น ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังกรุงหงสวดี

            [๔๔๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงธรรมเป็นประโยชน์แก่พระบิดา มีชุมนุมชนอยู่โดยรอบตลอดหนึ่งโยชน์ ตามเวลานั้น

            [๔๔๙] ครั้งนั้น สุนันทดาบสได้รับสมมติจากหมู่ชน (ว่าเป็นเลิศ) ได้ใช้ดอกไม้บังแดดทั่วพุทธบริษัท

            [๔๕๐] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔ ณ มณฑปดอกไม้ที่งดงาม เหล่าสัตว์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิได้บรรลุธรรม

            [๔๕๑] พระพุทธเจ้าทรงบันดาลหยาดฝนคือพระธรรม ให้ตกลงตลอดทั้ง ๗ คืน ๗ วัน พอถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าก็ได้ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสว่า

            [๔๕๒] ท่านผู้นี้ เมื่อเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก ก็จักเป็นผู้ประเสริฐกว่าใครทั้งหมด จักเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้งหลาย

            [๔๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

             [๔๕๔] ท่านผู้นี้จักเป็นบุตรของนางมันตานี มีนามว่าปุณณะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น

            [๔๕๕] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ) ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสอย่างนี้แล้ว ทำให้ประชาชนทั้งปวงร่าเริง ทรงแสดงกำลังของพระองค์

            [๔๕๖] ครั้งนั้น (ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงก่อนที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระจะเสด็จอุบัติขึ้นมา) ประชาชนประนมมือไหว้สุนันทดาบส แต่สุนันทดาบสครั้นทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ชำระคติ (กำเนิด) ของตนให้บริสุทธิ์หมดจด

            [๔๕๗] เพราะข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระมุนี ณ ที่นั้น จึงได้มีความดำริว่า เราจักสั่งสมบุญ โดยประการที่จะได้พบพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม

            [๔๕๘] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็คิดถึงกิจที่เราควรทำว่า เราจะบำเพ็ญบุญกรรมเช่นไร ในเนื้อนาบุญที่ยอดเยี่ยม

            [๔๕๙] บรรดาภิกษุผู้เป็นนักสวดทั้งหมดในศาสนา ภิกษุรูปนี้เป็นนักสวดรูปหนึ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เลิศในทางวินัย ตำแหน่งนั้นข้าพเจ้าปรารถนา (ท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งพระวินัยธรผู้เลิศกว่าพระวินัยธรทุกรูป จึงได้สักการะพระศาสดาแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง) แล้ว

            [๔๖๐] โภคสมบัติของข้าพเจ้านี้นับประมาณมิได้ เปรียบดังห้วงน้ำที่ไม่มีอะไรๆ ทำให้กระเพื่อมได้ (นับไม่ได้) ข้าพเจ้าได้จ่ายโภคสมบัตินั้นสร้างอารามถวายพระพุทธเจ้า

            [๔๖๑] ข้าพเจ้าจ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อสวนชื่อว่าโสภณะ ด้านทิศตะวันออกนคร สร้างให้เป็นสังฆาราม

            [๔๖๒] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป เรือนโล้น ถ้ำ และที่จงกรมไว้ในสังฆารามอย่างดี

            [๔๖๓] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ โรงน้ำ และห้องอาบน้ำ ถวายแด่หมู่ภิกษุ

            [๔๖๔] ข้าพเจ้าได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง ภาชนะสำหรับใช้สอย คนวัด และเภสัชนั้นครบทุกอย่าง

            [๔๖๕] ข้าพเจ้าได้จัดตั้งอารักขาไว้ ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง ด้วยหวังว่า ใครๆ อย่าได้รบกวนอารามแห่งนั้น ของท่านผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่เลย

            [๔๖๖] ข้าพเจ้าได้จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนสร้างที่อยู่ไว้ในสังฆาราม ครั้นให้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงน้อมถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

            [๔๖๗] ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอารามเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอพระองค์ทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้าผู้มีพระจักษุ ข้าพระองค์ขอมอบถวายแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงรับเถิด

            [๔๖๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงเป็นผู้นำ ทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว จึงทรงรับไว้

            [๔๖๙] ข้าพเจ้าทราบการรับของพระสัพพัญญู ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ จึงตระเตรียมโภชนาหารแล้ว ไปกราบทูลภัตตกาล

            [๔๗๐] เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลภัตตกาลแล้ว พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำ พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป ได้เสด็จมาสู่อารามของข้าพเจ้า

            [๔๗๑] ข้าพเจ้าทราบเวลาที่พระองค์ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงอังคาสให้อิ่มหนำ ทราบเวลาที่เสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า

            [๔๗๒] อารามชื่อโสภณะข้าพระองค์จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อมา ได้สร้างจนเสร็จเรียบร้อยด้วยทรัพย์จำนวนเท่านั้นเช่นกัน ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์ทรงรับเถิด

            [๔๗๓] ด้วยการถวายพระอารามแห่งนี้และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น เมื่อข้าพระองค์บังเกิดในภพ ขอจงได้สิ่งที่ข้าพระองค์ปรารถนาเถิด

            [๔๗๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆารามที่ข้าพเจ้าสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า

            [๔๗๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายสังฆาราม ซึ่งสร้าง (กุฏิ ที่เร้น มณฑป ปราสาท เรือนโล้น และกำแพงเป็นต้น) เสร็จเรียบร้อยแล้วแด่พระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

            [๔๗๖] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม

            [๔๗๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม

            [๔๗๘] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ผู้ประดับตกแต่งสวยงาม สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี

            [๔๗๙] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงามเอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม

            [๔๘๐] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ

            [๔๘๑] จักได้สิ่งของทุกอย่างที่ท้าวเทวราชจะพึงได้ เป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่รู้จักพร่อง ครองเทวสมบัติ

            [๔๘๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน

            [๔๘๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

            [๔๘๔] ท่านผู้นี้จักมีนามว่าอุบาลี เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น

            [๔๘๕] จักถึงความสำเร็จในวินัย เป็นผู้ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ (ฐานะและมิใช่ฐานะ หมายถึงเหตุและมิใช่เหตุ) ดำรงศาสนาของพระชินเจ้าไว้ได้ อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

            [๔๘๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ จักทรงตั้ง(อุบาลี)ไว้ในเอตทัคคะ

            [๔๘๗] ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ (ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ คือข้าพเจ้าปรารถนาจะเป็นผู้เลิศกว่าใครๆ ในทางทรงจำวินัยในศาสนาของพระโคดมผู้มีพระภาค) เริ่มต้นตั้งแต่(หลายแสน)กัปที่นับมิได้ ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้น ทั้งได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามลำดับ

            [๔๘๘] คนถูกคุกคามด้วยพระราชอาญา ถูกเสียบไว้ที่หลาวแล้ว ไม่ได้ความสำราญที่หลาว ต้องการแต่จะหลุดพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด

            [๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกคุกคามด้วยอาชญาคือภพ ถูกเสียบไว้ที่หลาวคือกรรม ถูกเวทนาคือความกระหายบีบคั้นแล้ว

            [๔๙๐] ไม่ประสบความสำราญในภพ ถูกไฟ ๓ กอง (ไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟในนรก ไฟที่เกิดขึ้นในกัป ไฟคือทุกข์) แผดเผาอยู่ แสวงหาอุบายรอดพ้น ดุจคนแสวงหาอุบายรอดพ้นจากพระราชอาญา ฉะนั้น

            [๔๙๑] คนดื่มยาพิษ ถูกยาพิษบีบคั้น เขาจึงแสวงหายากำจัดยาพิษ

            [๔๙๒] เมื่อแสวงหา จึงได้พบยากำจัดยาพิษ ดื่มยานั้นแล้วก็มีความสุข เพราะรอดพ้นจากยาพิษ ฉันใด

            [๔๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็เป็นเหมือนคนถูกยาพิษทำร้าย ถูกอวิชชาบีบคั้น จึงแสวงหายาคือพระสัทธรรม

             [๔๙๔] เมื่อแสวงหายาคือพระธรรมก็ได้พบศาสนาของพระศากยะ ศาสนานั้นเป็นยาชั้นเลิศกว่ายาทุกขนาน สำหรับบรรเทาลูกศรทุกชนิด (ลูกศรทุกชนิด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น)

            [๔๙๕] ข้าพระองค์ดื่มธรรมโอสถแล้วก็ถอนพิษได้ทั้งหมด ข้าพระองค์ได้สัมผัสพระนิพพาน ซึ่งไม่แก่ ไม่ตาย เป็นภาวะเย็นสนิท

            [๔๙๖] คนถูกผีคุกคาม ถูกผีสิงบีบคั้น พึงแสวงหาหมอผี เพื่อรอดพ้นจากผี

            [๔๙๗] เมื่อแสวงหา ก็ได้พบหมอผีผู้ฉลาดในวิชาไล่ผี หมอผีนั้นจึงขับไล่ผีให้คนนั้น และทำผีพร้อมทั้งต้นเหตุให้พินาศ ฉันใด

            [๔๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกผีคือความมืด (คือกิเลส) เบียดเบียน จึงแสวงหาแสงสว่างคือญาณเพื่อรอดพ้นจากความมืด

            [๔๙๙] ต่อมา ข้าพระองค์ได้พบพระศากยมุนีผู้ชำระความมืดคือกิเลส พระศากยมุนีนั้น ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์ ดุจหมอผีขับไล่ผีไป ฉะนั้น

            [๕๐๐] ข้าพระองค์ได้ตัดกระแสการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ห้ามกระแสแห่งตัณหาได้ ถอนภพขึ้นได้หมดสิ้น ดุจหมอผีขับไล่ผีไปพร้อมทั้งต้นเหตุ ฉะนั้น

            [๕๐๑] พญาครุฑโฉบลงจับนาคซึ่งเป็นภักษาของตน ย่อมทำน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมถึง ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ

             [๕๐๒] ครั้นพญาครุฑนั้นจับนาคได้แล้ว เบียดเบียนนาค ให้ห้อยหัวลง มันจับนาคพาบินไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด

            [๕๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็เหมือนพญาครุฑที่มีพลัง แสวงหาอสังขตธรรม (อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ธรรมที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัย ได้แก่ พระนิพพาน) ได้ชำระโทษทั้งหลายแล้ว

            [๕๐๔] ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันประเสริฐ จึงยึดถือเอาสันติบท (สันติบท หมายถึงนิพพาน) อันยอดเยี่ยมนี้อยู่ ดุจพญาครุฑจับนาคไป ฉะนั้น

            [๕๐๕] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี (อาสาวดี เป็นชื่อของผิวพรรณที่ได้ยาก ท่านก็กล่าวถึงเถาวัลย์อาสาวดีที่หายากมากในหมู่เทพยดาเป็นเถาวัลย์ที่เหล่าเทวดาต้องการ) เกิดในสวนจิตรลดาแล้ว ล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี เถาวัลย์นั้นจึงจะเกิดผลผลหนึ่ง

            [๕๐๖] เทพทั้งหลาย เข้าไปนั่งเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้น เมื่อกาลนานๆ จะมีผลสักคราว เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้นเป็นเถาวัลย์ชั้นสูงสุด เป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทวดาอย่างนี้

            [๕๐๗] นับได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี (นับจากกัปนี้ไป) ข้าพระองค์จึงจะได้ปรนนิบัติพระมุนีนั้นนอบน้อมทั้งเช้าเย็น ดุจเหล่าเทวดาได้เข้าไปเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีทั้งเช้าเย็น ฉะนั้น

            [๕๐๘] การปรนนิบัติ (พระพุทธเจ้า) ไม่เป็นหมัน (เปล่าประโยชน์) และการนอบน้อมก็ไม่เปล่าประโยชน์ ถึงข้าพระองค์จะมาจากที่ไกล ขณะ (ขณะ ในที่นี้หมายถึงขณะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า) ก็มิได้ล่วงเลยข้าพระองค์ไป

             [๕๐๙] ข้าพระองค์ค้นหาการถือปฏิสนธิในภพก็ไม่เห็น เพราะข้าพระองค์ไม่มีอุปธิ หลุดพ้นแล้ว (จากกิเลสทั้งปวง) มีจิตสงบระงับเที่ยวไป

            [๕๑๐] ธรรมดาดอกปทุมพอได้สัมผัสแสงดวงอาทิตย์ ก็แย้มบานทุกเมื่อ ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นบานแล้ว (คือสำเร็จมรรคผลนิพพาน) เพราะรัศมีแห่งพระพุทธเจ้า

            [๕๑๑] ในกำเนิดนกยาง ย่อมไม่มีนกยางตัวผู้ในกาลทุกเมื่อ เมื่อเมฆฝนคำรน (เมื่อฟ้าร้อง) นกยางตัวเมียจึงจะตั้งครรภ์ได้ ในกาลทั้งปวง

            [๕๑๒] นกยางตัวเมียเหล่านั้นจะตั้งครรภ์อยู่นาน ตราบเท่าที่เมฆฝนยังไม่คำราม พวกมันจะพ้นจากภาระ (จะออกไข่) ได้ก็ต่อเมื่อเมฆฝนตกลงมา ฉันใด

            [๕๑๓] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงคำรนด้วยเมฆฝนคือพระธรรม ก็ได้ตั้งครรภ์คือธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆฝนคือธรรม

            [๕๑๔] ใช้เวลาตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้าพระองค์ จึงจะได้ตั้งครรภ์คือบุญ ข้าพระองค์ยังไม่พ้นจากภาระ (ภาระ ในที่นี้หมายถึงภาระคือการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏ) ตราบเท่าที่เมฆฝนคือพระธรรมยังไม่คำรน

            [๕๑๕] ข้าแต่พระศากยมุนี พระองค์ทรงคำรน ด้วยเมฆฝนคือพระธรรมในกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ในกาลใด ในกาลนั้นข้าพระองค์ก็จะพ้นจากภาระ

            [๕๑๖] ธรรมแม้นั้น คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งปวง ข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว

            [๕๑๗] ข้าพระองค์ปรารถนาคำสอนของพระองค์นานจนนับกัปไม่ได้ ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ทั้งได้สันติบท (สันติบท หมายถึงพระนิพพาน) อันยอดเยี่ยมตามลำดับ

            [๕๑๘] ข้าพระองค์ถึงความสำเร็จในวินัย เป็นเหมือนภิกษุผู้แสวงคุณผู้มีชื่อเสียง ไม่มีภิกษุรูปอื่นจะเสมอเหมือนข้าพระองค์ ข้าพระองค์ทรงจำคำสั่งสอนไว้ได้

            [๕๑๙] ในวินัยปิฎกทั้งสิ้นนี้ คือ ในวินัย ในขันธกะ (วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์, ขันธกะ หมายถึงมหาวรรคและจุลวรรค) ในปริจเฉท ๓ (คือ ในสังฆาทิเสส ๓ หมวด และปาจิตตีย์ ๓ หมวด) (ติกสังฆาทิเสส อาบัติสังฆาทิเสส ๓ หมวด เป็นข้อกำหนด ๓ ประการของพระวินัยธร ผู้จะตัดสินอธิกรณ์จะต้องตรวจดูว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ในข้อกำหนดไหน ใน ๓ ประการนั้น เช่น นางภิกษุณี เรียกนางภิกษุณีอื่นที่ถูกภิกษุณีสงฆ์ยกออกจากหมู่โดยชอบธรรม ชอบด้วยวินัย ชอบด้วยสัตถุศาสน์ กลับเข้าหมู่เช่นนี้ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส โดยสถานใดสถานหนึ่ง ในข้อกำหนด ๓ ประการ คือ (๑) มีความเข้าใจกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมว่าเป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมเรียกนางภิกษุณี ที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๒) มีความสงสัยในกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรม เรียกนางภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๓) มีความเข้าใจกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมว่า เป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยไม่ชอบธรรม เรียกนางภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ติกปาจิตตีย์ อาบัติปาจิตตีย์ ๓ หมวด คือภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ โดยสถานใดสถานหนึ่งในข้อกำหนด ๓ ประการ เช่น ภิกษุเก็บอดิเรกจีวรไว้เกิน ๑๐ วันแล้ว (๑) มีความสำคัญว่าเกิน ๑๐ วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๒) มีความสงสัยว่าเกิน ๑๐ วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๓) มีความสำคัญว่ายังไม่เกิน ๑๐ วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์) ในหมวดที่ ๕  (ในหมวดที่ ๕ ในที่นี้ หมายถึงปริวาร (ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน ๕ หมวด คือ อาทิกัมมิกะปาจิตตีย์ มหาวรรค จูฬวรรค ปริวาร)) ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยอักขระ (คือสระ) หรือแม้ในพยัญชนะเลย

            [๕๒๐] ข้าพระองค์ฉลาดในวิธีข่ม ในการกระทำคืน ในฐานะที่ควรและฐานะที่ไม่ควร ในการเรียกภิกษุผู้ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ และในการช่วยให้ภิกษุออกจากอาบัติ ถึงความสำเร็จในการกระทำทางวินัยกรรมทุกอย่าง

            [๕๒๑] ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยและขันธกะ และขยายอุภโตวิภังค์ เรียก (ภิกษุผู้ถูกลงโทษ) กลับเข้าหมู่โดยกิจ (หน้าที่)

            [๕๒๒] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติศาสตร์ และฉลาดในประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์ สิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้ไม่มี ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศผู้หนึ่งในศาสนาของพระศาสดา

            [๕๒๓] ในวันนี้ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี (คือในการวินิจฉัยวินัย) บรรเทาความสงสัยได้ทุกอย่าง ในศาสนาของพระศากยบุตร ตัดความลังเลได้หมดสิ้น

            [๕๒๔] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บทหน้า บทหลัง อักขระ พยัญชนะ คำเริ่มต้น และคำลงท้าย

            [๕๒๕] เหมือนอย่างพระราชาผู้มีพลัง ทรงจับไพร่พลของพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ ให้เดือดร้อน ชนะสงครามแล้ว รับสั่งให้สร้างนครไว้ในที่นั้น

            [๕๒๖] พึงรับสั่งให้สร้างกำแพง รับสั่งให้ขุดคูรอบ ตั้งเสาระเนียด สร้างซุ้มประตู สร้างป้อมต่างๆ ไว้ในนคร เป็นอันมาก

            [๕๒๗] พึงรับสั่งให้สร้างถนนสี่แยก ทางแยก ร้านตลาด จัดสรรไว้เป็นอย่างดี สร้างศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่ตัดสินคดีความไว้ในนครนั้น

            [๕๒๘] เพื่อป้องกันอริราชศัตรู เพื่อจะรู้ช่องทาง (ดีร้าย) เพื่อดูแลรักษากำลังพล พระราชาเจ้านครนั้น จึงทรงแต่งตั้งแม่ทัพไว้

            [๕๒๙] เพื่อรักษาสิ่งของ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งคนที่ฉลาด ในการเก็บรักษาสิ่งของ ให้เป็นผู้รักษาสิ่งของ ด้วยตั้งพระทัยว่า สิ่งของของเราอย่าเสียหายไปเลย

            [๕๓๐] ผู้ใดสมัครสมานกับพระราชา และปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่พระราชา พระราชาย่อมมอบหน้าที่แก่ผู้นั้น (เขาสามัคคีกับพระราชาพอฟังได้) เพื่อปฏิบัติตอบแทนต่อมิตร

            [๕๓๑] พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทรงแต่งตั้งผู้ที่ฉลาดในลางบอกเหตุ ในนิมิตและในลักษณะผู้คงแก่เรียน ผู้ทรงมนตร์ (ผู้ที่ฉลาดลางบอกเหตุ หมายถึงผู้บอกคัมภีร์ไวยากรณ์แก่ศิษย์จำนวนมาก ผู้ทรงจำมนต์ ได้แก่ ผู้ทรงจำไตรเพท (พระเวท ๓ เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ (๑) ฤคเวท ประมวลบทความสรรเสริญ เทพเจ้า (๒) ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่างๆ (๓) สามเวท ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดแล้วร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่มอาถรรพเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น ๔) ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต

             [๕๓๒] พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ พสกนิกรจึงขนานพระนามว่ากษัตริย์ เหล่าอำมาตย์จึงถวายการอารักขาพระราชาทุกเมื่อ ดุจนกจักรพากเฝ้ารักษานกผู้ประสบทุกข์

            [๕๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นดุจกษัตริย์ ผู้ขจัดข้าศึกศัตรูได้แล้ว ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงขนานพระนามว่าธรรมราชา

            [๕๓๔] พระองค์ทรงปราบเหล่าเดียรถีย์ ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนามาร ทรงขจัดความมืดมนอนธการแล้ว ได้ทรงสร้างนครคือพระธรรมไว้

            [๕๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ในนครคือพระธรรมนั้น พระองค์มีศีลเป็นปราการ มีพระญาณเป็นซุ้มประตู มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด และมีความสังวรเป็นนายประตู

            [๕๓๖] ข้าแต่พระมุนี พระองค์มีสติปัฏฐานเป็นป้อม มีพระปัญญาเป็นชุมทาง มีอิทธิบาทเป็นถนนสี่แยก ธรรมวิถี พระองค์ก็ทรงสร้างไว้ดีแล้ว

            [๕๓๗] พระองค์มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์มีองค์ ๙ (พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ คือ (๑) สุตตะ พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส (๒) เคยยะ ข้อความ ที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน คือพระสูตรที่มีคาถารวมอยู่ด้วยทั้งหมด (๓) เวยยากรณะ ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา (๔) คาถา ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรีคาถา (๕) อุทาน พระคาถาพุทธอุทาน (๖) อิติวุตตกะ พระสูตร ที่เรียกว่าอิติวุตตกะ มี ๑๑๒ สูตร (๗) ชาตกะ ชาดก ๕๐๐ เรื่อง (๘) อัพภูตธรรม เรื่องอัศจรรย์ คือ พระสูตรที่กล่าวถึง ข้ออัศจรรย์ต่างๆ (๙) เวทัลละ พระสูตรแบบถามตอบ เช่นจูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร)) แม้ทั้งมวลนี้เป็นธรรมสภา

             [๕๓๘] พระองค์มีสุญญตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันว่าง) อนิมิตตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีนิมิต) อัปปณิหิตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีความตั้งปรารถนา) อาเนญชวิหารธรรม (อาเนญชวิหารธรรม หมายถึงสามัญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) ๔ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง (คือโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล) (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่หวั่นไหว) นิโรธวิหารธรรม (นิโรธ ในที่นี้หมายถึงพระนิพพานเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง) (ธรรมเป็นเครื่องอยู่คือความดับ) นี้เป็นธรรมกุฎี

            [๕๓๙] พระเถระผู้เลิศด้วยปัญญา ที่ทรงแต่งตั้งไว้ ฉลาดในปฏิภาณ มีนามว่าสารีบุตร เป็นจอมทัพธรรมของพระองค์

            [๕๔๐] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ฉลาดในจุติและปฏิสนธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ มีนามว่าโกลิตะ (โมคคัลลานะ) เป็นปุโรหิตของพระองค์

            [๕๔๑] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ดำรงวงศ์เก่าแก่ มีเดชแผ่ไป หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เป็นผู้เลิศด้วยธุดงค์คุณ(มีนามว่ากัสสปะ)เป็นผู้พิพากษาของพระองค์

             [๕๔๒] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป (เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป) ในศาสนา มีนามว่าอานนท์ เป็นผู้รักษาธรรมของพระองค์

            [๕๔๓] พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงละพระเถระเหล่านี้ทุกรูป ทรงมุ่งเฉพาะข้าพระองค์ แล้วทรงประทานการวินิจฉัยวินัย ซึ่งบัณฑิตผู้รู้แสดงไว้แล้วแก่ข้าพระองค์

             [๕๔๔] สาวกของพระพุทธองค์ บางรูปไต่ถามปัญหาในวินัย ในปัญหาที่ถามมานั้น ข้าพระองค์ไม่ต้องคิด(ลังเล) ย่อมอธิบายปัญหานั้นได้เลย

            [๕๔๕] ข้าแต่พระมหามุนีตลอดพุทธเขต ยกเว้นพระองค์ ในพระวินัยไม่มีใครผู้เช่นกับข้าพระองค์ ผู้ที่ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน

            [๕๔๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว บันลืออย่างนี้ว่า ผู้เสมอกับอุบาลีในพระวินัย (วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์ วินัยทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณี) และในขันธกะ (คือในมหาวรรค จูฬวรรคและปริวาร) ไม่มี

            [๕๔๗] สำหรับท่านผู้เห็นพระวินัยเป็นหลักสำคัญ นวังคสัตถุศาสตร์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทั้งหมดพระศาสดาตรัสไว้ในวินัย 

            [๕๔๘] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพระองค์ ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ทรงแต่งตั้งข้าพระองค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

            [๕๔๙] ข้าพระองค์ได้ปรารถนาตำแหน่งนี้นานนับได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ถึงความสำเร็จในวินัย

             [๕๕๐] เมื่อก่อน ข้าพระองค์เป็นช่างกัลบก (ช่างตัดผม) เป็นผู้ทำให้เจ้าศากยะทั้งหลายเกิดความเพลิดเพลิน ได้ละชาติกำเนิดนั้นแล้วมาเป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

            [๕๕๑] ในกัปที่ ๒ นับจากภัทรกัปนี้ไป ได้มีกษัตริย์พระนามว่าอัญชสะ ทรงเดชานุภาพหาที่สุดมิได้ ทรงยศหาประมาณมิได้ เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์มาก

            [๕๕๒] ข้าพระองค์ได้เป็นขัตติยกุมารมีนามว่าจันทนะ เป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น เป็นคนมีกิริยาแข็งกระด้าง เพราะความมัวเมาในชาติตระกูล ในยศ และในโภคะ

            [๕๕๓] ช้างตระกูลมาตังคะ ๑๐๐,๐๐๐ เชือก ตกมัน ๓ แห่งประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แวดล้อมข้าพระองค์อยู่ทุกเมื่อ

            [๕๕๔] ครั้งนั้น ข้าพระองค์มีกำลังพลของตนห้อมล้อม ต้องการจะประพาสอุทยาน จึงทรงช้างชื่อสิริกะออกจากนครไป

            [๕๕๕] พระสัมพุทธเจ้า (พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า) พระนามว่าเทวละ ผู้เพียบพร้อมด้วยจรณะ (จรณะ หมายถึงจรณธรรม ๑๕ มีสีลสังวรเป็นต้น) คุ้มครองทวาร สำรวมด้วยดี เสด็จมาข้างหน้าของข้าพระองค์

             [๕๕๖] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไสช้างสิริกะไป จะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ช้างนั้นเหมือนเกิดความโกรธยกเท้าไม่ขึ้น

            [๕๕๗] ข้าพระองค์เห็นช้างเสียใจ จึงโกรธพระพุทธเจ้า เบียดเบียนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ไปอุทยาน

            [๕๕๘] เพราะการจะให้ช้างทำร้ายนั้นเป็นเหตุ ข้าพระองค์จึงมิได้ประสบความสำราญ ศีรษะเป็นเหมือนมีไฟลุกโพลงอยู่ ข้าพระองค์ถูกความเร่าร้อนเผาไหม้อยู่ เหมือนปลาติดเบ็ด

            [๕๕๙] แผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครเป็นที่สุด ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เป็นดุจไฟลุกท่วม ข้าพระองค์ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า

            [๕๖๐] หม่อมฉันได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระสยัมภูพระองค์ใด ผู้เป็นดังอสรพิษที่ถูกทำให้โกรธ ดังกองไฟที่ลามมา ดังช้างพลายตัวตกมัน (ท่านเปรียบพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าว่าเป็นดังอสรพิษร้ายบ้าง ดังกองไฟบ้าง ดังราชสีห์ชาติไกรสรบ้าง ดังช้างตกมันบ้าง คนที่เข้าใกล้อสรพิษ กองไฟลุกโชติช่วง ราชสีห์ดุร้าย ช้างตกมัน ย่อมได้รับอันตราย ฉันใด ผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ย่อมประสบบาปกรรมใหญ่หลวง ก็ฉันนั้น)

            [๕๖๑] พระพุทธชินเจ้า ผู้มีตบะแก่กล้า ถูกข้าพระองค์รุกราน พวกเราชาวเมืองทั้งปวงจักพินาศ พวกเราจักขอขมาพระมุนีนั้น

             [๕๖๒] หากพวกเราจักไม่ขอขมาพระองค์(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้มีจิตตั้งมั่น แว่นแคว้นของเราจักพินาศภายในวันที่ ๗

            [๕๖๓] พระเจ้าสุเมขลราช พระเจ้าโกสิยราช พระเจ้าสิคควราช พระเจ้าสัตตกราชเหล่านั้นพร้อมเสนา ได้รุกรานท่านฤๅษีทั้งหลายแล้ว ได้ถึงความทุกข์ยาก

            [๕๖๔] ท่านฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว ประพฤติประเสริฐ ย่อมโกรธในกาลใด ในกาลนั้นย่อมทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ท้องทะเล และภูเขา ให้พินาศไป

            [๕๖๕] ข้าพระองค์จึงสั่งให้ประชาชนมาประชุมกันในพื้นที่ ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ เพื่อต้องการจะแสดงโทษ จึงเข้าไปหาพระสยัมภูพุทธเจ้า

            [๕๖๖] ประชาชน (พร้อมทั้งข้าพระองค์) ทั้งหมด มีผ้าเปียก ศีรษะเปียก ประนมมือ พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระสยัมภูพุทธเจ้า แล้วได้กราบเรียนคำนี้ว่า

            [๕๖๗] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษเถิด ประชาชนอ้อนวอนพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดช่วยบรรเทาความเร่าร้อน และขอพระคุณเจ้าอย่าได้ทำแว่นแคว้นให้พินาศเลย

            [๕๖๘] มวลมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา ทานพ และรากษส (ทานพ หมายถึงอสูรจำพวกหนึ่ง รากษส หมายถึงยักษ์ร้าย, ผีเสื้อน้ำ) จะพึงเอาฆ้อนเหล็กทุบศีรษะของข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อ

             [๕๖๙] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า) ไฟย่อมไม่เกิดในน้ำ พืชย่อมไม่งอกบนแผ่นหิน กิมิชาติ (กิมิชาติ หมายถึงสัตว์จำพวกหนอน) ย่อมไม่เกิดในยาพิษ ฉันใด ความโกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้า ฉันนั้น

            [๕๗๐] แผ่นดินไม่หวั่นไหว ฉันใด พระพุทธเจ้าใครๆ ก็ให้กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น ทะเลประมาณมิได้ ฉันใด พระพุทธเจ้ามีพระคุณประมาณมิได้ ฉันนั้น และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด พระพุทธเจ้ามีพระคุณไม่มีที่สุด ฉันนั้น

            [๕๗๑] พระพุทธเจ้าทั้งหลายฝึกฝนตนแล้ว มีความเพียรมาก มีการงดโทษให้แก่ผู้อื่นและมีตบะ ท่านผู้มีความอดทนและมีการอดโทษให้ แก่ผู้อื่น จะไม่มีการลุอำนาจอคติ

            [๕๗๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้บรรเทาความเร่าร้อน เหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าต่อหน้ามหาชน ในครั้งนั้น

            [๕๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร (ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ (เป็นคำร้องเรียกที่พระอุบาลีเรียกพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เล่าประวัติในอดีตของตนมาแล้ว)) เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงได้เข้าถึงภาวะที่เลวทราม ล่วงเลยชาตินั้นมาเข้าสู่นคร (คือนิพพาน)ซึ่งไม่มีภัย

            [๕๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในครั้งนั้น พระสยัมภูพุทธเจ้าเห็นข้าพระองค์ถูกไฟแผดเผาอยู่(แต่) ดำรงอยู่ด้วยดี จึงทรงบรรเทาความเร่าร้อนให้ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระสยัมภูงดโทษให้ (หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต)

            [๕๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในวันนี้ พระผู้มีพระภาคทรงช่วยข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กอง (ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟนรก ไฟในเปรตวิสัยและไฟในสังสารวัฏ) แผดเผาอยู่ ให้ถึงภาวะสงบเย็น และทรงช่วยดับไฟ ๓ กองให้แล้ว

            [๕๗๖] ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เงี่ยโสตสดับ จงตั้งใจฟังข้าพเจ้ากล่าว ข้าพเจ้าจะบอกประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย โดยประการที่ข้าพเจ้าได้เห็นบท (บท ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน) แล้ว

            [๕๗๗] ข้าพเจ้าดูหมิ่นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เพราะกรรมนั้น ในปัจจุบันนี้ จึงมาเกิดในชาติตระกูลต่ำ

            [๕๗๘] ท่านทั้งหลายอย่าได้พลาดขณะ (ขณะในที่นี้ หมายถึงขณะเป็นที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น) ไปเลย เพราะเหล่าสัตว์ผู้ล่วงเลยขณะไปย่อมเศร้าโศก ขอท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ตนเถิด ขณะท่านทั้งหลายให้สำเร็จแล้ว

            [๕๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลบางพวก ยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายแรงแก่บุคคลบางพวก และยารักษาแก่บุคคลบางพวก

             [๕๘๐] คือพระผู้มีพระภาค ตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ ตรัสบอกยาถ่ายแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในผล ตรัสบอกยารักษาโรคแก่บุคคลผู้ได้ผลแล้ว ตรัสบอกบุญเขตแก่บุคคลผู้แสวงบุญ

            [๕๘๑] ตรัสบอกยาพิษร้ายแรง (คือบาปอกุศล) แก่บุคคลผู้เป็นข้าศึกต่อศาสนา ยาพิษร้ายแรงย่อมแผดเผานรชนนั้น เหมือนอสรพิษร้าย ฉะนั้น

            [๕๘๒] ยาพิษร้ายแรงที่บุคคลดื่มแล้วเพียงครั้งเดียว ก็ย่อมทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลทำผิดต่อศาสนาแล้ว ย่อมถูกแผดเผานับเป็นโกฏิกัป

            [๕๘๓] พระองค์ทรงช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น (สังสารวัฏ) ด้วยขันติ ด้วยความไม่เบียดเบียน และด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้

            [๕๘๔] พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นเช่นพื้นปฐพี ไม่ทรงติดข้องในลาภ ในความเสื่อมลาภ ในความสรรเสริญ ในความถูกดูหมิ่น เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้

            [๕๘๕] พระมุนีทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งปวง คือ ในพระเทวทัต นายขมังธนู โจรองคุลีมาล พระราหุล และช้างธนบาล

            [๕๘๖] พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ไม่มีความแค้นเคือง ไม่มีความกำหนัด เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในชนทั้งหมด คือในนายขมังธนู และในพระโอรส

            [๕๘๗] ท่านทั้งหลายได้พบผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระฤๅษี ซึ่งเปื้อนคูถ ถูกทิ้งไว้ที่หนทาง ก็พึงประนมมือเหนือศีรษะแล้วไหว้เถิด

            [๕๘๘] พระพุทธเจ้าเหล่าใดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนี้ เพราะเหตุนั้น จึงควรนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น

            [๕๘๙] ข้าพเจ้าทรงจำวินัยที่ดีงาม เช่นกับองค์แทนพระศาสดาไว้ด้วยหทัย ข้าพเจ้านมัสการวินัยอยู่ในกาลทั้งปวง

            [๕๙๐] วินัยเป็นที่อาศัยของข้าพเจ้า เป็นที่ยืนเดินของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสำเร็จการอยู่ในวินัย วินัยเป็นอารมณ์ของข้าพเจ้า

            [๕๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ภิกษุชื่ออุบาลีถึงความสำเร็จในวินัย เป็นผู้ฉลาดในวิธีระงับอธิกรณ์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา

            [๕๙๒] ข้าพเจ้านั้น เที่ยวไปจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง นมัสการอยู่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งเป็นธรรมดี

            [๕๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

             [๕๙๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

            [๕๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

            ได้ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้

อุปาลิเถราปทานที่ ๖ จบ

-----------------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ 

เถราปทาน ๑. พุทธวรรค

               ๖. พรรณนาอุปาลีเถราปทาน               

 

               แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะคือพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ในนครหังสวดี.
               วันหนึ่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย จึงกระทำกรรมคือการกระทำอันยิ่งแด่พระศาสดา แล้วปรารถนาฐานันดรนั้น.
               เขาทำกุศลจนตลอดชีวิต แล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนของช่างกัลบก ญาติทั้งหลายตั้งชื่อเขาว่า อุบาลี.
               อุบาลีนั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่งกษัตริย์ ๖ พระองค์มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในอนุปิยอัมพวัน ได้ออกบวชพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ผู้เสด็จออกทรงผนวช.
               วิธีการบรรพชาของพระอุบาลีนั้น มาใน พระบาลี ทีเดียว.
               พระอุบาลีนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการอยู่ป่าแก่ข้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่ออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา วิปัสสนาธุระและคันถธุระจักบริบูรณ์.
               พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กระทำวิปัสสนากรรมอยู่ ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต. แม้พระศาสดาก็ทรงให้พระอุบาลีนั้นเรียนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นด้วยพระองค์เอง.
               กาลต่อมา ท่านได้วินิจฉัยเรื่อง ๓ เรื่องนี้ คือ เรื่องภารุกัจฉะ เรื่องอัชชุกะ และเรื่องกุมารกัสสปะ. พระศาสดาทรงประทานสาธุการ ในการวินิจฉัยแต่ละเรื่องทรงกระทำวินิจฉัยทั้ง ๓ ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ จึงทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้เป็นวินัยธร.
               พระเถระนั้นครั้นได้ตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตนขึ้นมาก็เกิดความโสมนัส เมื่อจะประกาศอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อนนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า นคเร หํสวติยา ดังนี้.
                                                 จบพรรณนาอุบาลีเถราปทาน               
                                         ----------------------------------  

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พระอุบาลี
หมายเลขบันทึก: 712785เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2023 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2023 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท