มหาสมัยสูตร และพระสูตรที่เกี่ยวเนื่อง ตอนที่ ๖ มหาวิยูหสูตร


พระสูตรนี้ เป็นการแสดงพระธรรมเทศนาให้เหล่าเทวดาและพระพรหมที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่ได้กล่าวไว้ในมหาสมัยสูตร เมื่อพระพุทธนิมิตถามปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระสูตรมหาวิยูหะนี้ แก่พวกเทวดาและพรหมที่เป็นพวกโมหะจริต

มหาสมัยสูตร และพระสูตรที่เกี่ยวเนื่อง ตอนที่ ๖ 

มหาวิยูหสูตร

 

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            ในพระสูตรมหาวิยูหสูตรนี้ เป็นการแสดงพระธรรมเทศนาให้เหล่าเทวดาและพระพรหมที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่ได้กล่าวไว้ในมหาสมัยสูตร เมื่อพระพุทธนิมิตถามปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระสูตรมหาวิยูหะนี้ (พระสูตรว่าด้วยพวกใหญ่) พร้อมกับคำถามพระสูตรนั้น แก่พวกเทวดาและพรหมที่เป็นพวกโมหะจริต

 

มหาวิยูหสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

 

๑๓. มหาวิยูหสูตร

ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่

           

 (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)

             [๙๐๒] สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้ ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา หรือว่าจะได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐินั้น

             (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)

             [๙๐๓] ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง (หมายถึงมีนินทา หรือสรรเสริญ อีกนัยหนึ่ง มีชนะ หรือพ่ายแพ้) บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาท (ภูมิแห่งการไม่วิวาท ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน) ว่า เกษม ไม่พึงวิวาทกัน

             (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)

             [๙๐๔] ทิฏฐิสมมติ (ทิฏฐิสมมติ หมายถึงทิฏฐิ ๖๒) เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

             (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)

             [๙๐๕] สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า สูงสุด สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่ ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ

             [๙๐๖] ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลและวัตร พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด เหมือนคนออกจากเรือนอยู่ร่วมกับพวกเดินทาง พลัดพรากจากพวก ฉะนั้น

             [๙๐๗] อริยสาวกละศีลและวัตรได้ทั้งหมด ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษเสียได้ (กรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึงอกุศลทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และโลกิยกุศลได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ) ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป

             [๙๐๘] สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้ เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่

             [๙๐๙] ความชอบใจวัตถุ ย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา อนึ่ง ความหวั่นไหว ย่อมมีเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้ ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไรเล่า หรือจะพึงชอบใจในอะไรเล่า

             (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)

             [๙๑๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด

             (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)

             [๙๑๑] อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตนๆ ว่า จริง

             [๙๑๒] หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้ ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย เพราะคนส่วนมาก ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน พากันกล่าวถึงธรรมของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งเลวทราม

             [๙๑๓] การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง เหมือนสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น

             [๙๑๔] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์ ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ

             [๙๑๕] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น

             [๙๑๖] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้ ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด เพราะการเห็นนามรูปนั้น

             [๙๑๗] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น

             [๙๑๘] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

             [๙๑๙] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

             [๙๒๐] มุนีละอาสวะเก่า (อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต) ไม่ก่ออาสวะใหม่ (อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน) ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก

             [๙๒๑] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา (เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น) ในธรรมทั้งปวง คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง  มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ (ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี ๓ คือ (๑) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ ๕ (๒) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น (๓) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขา) ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว ไม่มีความกำหนัด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา

มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓ จบ

------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบาลส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค

มหาวิยูหสูตร

               อรรถกถามหาพยูหสูตรที่ ๑๓               

 

               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               ในมหาสมัยนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้เพื่อทำให้แจ้งความนั้น แก่เหล่าเทวดาบางพวกผู้มีจิตเกิดขึ้นว่า บุคคลเหล่านี้ถือมั่นในทิฏฐิย่อมได้รับการนินทาอย่างเดียวหรือหนอ หรือได้รับแม้การสรรเสริญด้วย จากสำนักของวิญญูชนทั้งหลาย ทรงให้พระพุทธนิมิตถามพระองค์ โดยนัยก่อนนั่นแล.
               เพราะบุคคลผู้มีวาทะเป็นเจ้าทิฏฐิเหล่านั้นแม้กล่าวอยู่ว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง บางคราวได้ความสรรเสริญบ้าง ผลแห่งวาทะอันได้แก่ความสรรเสริญนั้นน้อยนักไม่สามารถเพื่อสงบราคะเป็นต้นได้ จะกล่าวไปไยถึงผลแห่งการนินทาที่สอง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความนี้จึงตรัสคาถาแก้นี้ก่อนมีอาทิว่า เรากล่าวผลแห่งการวิวาท ๒ ประการนี้น้อยนัก ไม่พอแก่ความสงบดังนี้.
               ผลแห่งการวิวาท ๒ ประการ ได้แก่ ความนินทาและความสรรเสริญ หรือได้แก่ความชนะและความแพ้เป็นต้น อันเป็นส่วนพวกเดียวกันกับความสรรเสริญและความนินทานั้น.
               เห็นโทษแห่งการวิวาทกัน คือเห็นโทษในผลแห่งการวิวาทอย่างนี้ว่า การนินทาอันเป็นสิ่งไม่น่าปรารถนา การสรรเสริญไม่พอแก่ความสงบดังนี้ บัณฑิตเห็นนิพพานมิใช่ภูมิแห่งการวิวาทว่าเป็นธรรมเกษม.
               ชนบางพวกมีศีลอุดมสำคัญว่าศีลเท่านั้นเป็นธรรมอุดม จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีด้วยการเพียงสำรวมเท่านั้น.
               อนึ่ง ชนเหล่านั้นสมาทานวัตรมีหัตถีวัตรเป็นต้น ตั้งมั่นด้วยคิดว่า ความบริสุทธิ์ของศาสดาจะพึงมีในทิฏฐิเท่านั้น เขาถูกภพนำเข้าไปแล้วถูกภพท่วมทับ ยังพูดอยู่เสมอๆ ว่าเราเป็นผู้ฉลาด.
               สมณพราหมณ์ทั้งหลายแม้เหล่าอื่น อาศัยทิฏฐินั้นหรือความเกลียดบาปอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิอันบริสุทธิ์เป็นต้น เป็นผู้ระลึกแล่นพ้นไปจากอกิริยทิฏฐิ ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่ แล้วย่อมทอดถอน คือพูดถึงความบริสุทธิ์.
               อธิบายว่า เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่ปราศจากตัณหา ทอดถอนถึงความบริสุทธิ์ แม้ผู้ใดพึงสำคัญตนว่าเป็นผู้ถึงความบริสุทธิ์ ผู้นั้นเพราะยังไม่ปราศจากตัณหายังปรารถนาวัตถุนั้นๆ ในภพน้อยและภพใหญ่ ก็ยังมีความดิ้นรนอยู่บ่อยๆ นั่นเอง. เพราะตัณหาที่บุคคลเสพเป็นอาจิณแล้ว ก็ทำให้ตัณหาเจริญมากขึ้นนั่นเอง และมิใช่ความดิ้นรนอย่างเดียว ความหวั่นไหวยังมีในวัตถุที่ตนกำหนดอีกด้วย.

               พวกเดียรถีย์เหล่านั้นย่อมสรรเสริญหนทางเครื่องดำเนินของตนอย่างใด แม้การบูชาธรรมของตนของเดียรถีย์เหล่านั้น ก็ยังเป็นไปอยู่อย่างนั้น เพราะว่าพวกเดียรถีย์เหล่านั้นย่อมเคารพศาสดาเป็นต้นเหลือเกิน. ในข้อนั้น ผิว่าการบูชาธรรมของตนจะพึงเป็นประมาณแก่พวกเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น วาทะทั้งหมดก็จะพึงเป็นของแท้.
               เพราะว่าความบริสุทธิ์ของเดียรถีย์เหล่านั้น เป็นผลเฉพาะตนๆ เท่านั้น ความบริสุทธิ์นั้นย่อมไม่สำเร็จในที่อื่น แม้โดยปรมัตถ์ก็ไม่สำเร็จ เพราะคำนั้นเป็นเพียงยึดถือความเห็นในตนเท่านั้นของผู้รู้ที่ปัจจัยอื่นจะพึงนำไปเหล่านั้น. แต่ตรงกันข้าม ผู้ใดชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะลอยบาปได้แล้ว
               เพราะหากว่า บรรดาเดียรถีย์เหล่านั้นแม้คนหนึ่งได้เห็น ก็จะได้เห็นความตามเป็นจริง ด้วยปรจิตตญาณเป็นต้นนั้น ประโยชน์อะไรเล่าด้วยการเห็นนั้นแก่ตน คือทำอะไรได้ การกำหนดรู้ทุกข์สำเร็จแล้วหรือ หรือการละเหตุให้เกิดทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จแล้ว เพราะเดียรถีย์ทั้งหลายเหล่านั้นก้าวล่วงอริยมรรค แม้โดยประการทั้งปวงได้แล้ว ย่อมกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยธรรมอย่างอื่น หรือพระพุทธเจ้าเป็นต้นก้าวล่วงเดียรถีย์เหล่านั้นได้แล้วย่อมกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยธรรมอย่างอื่น.
                นรชนใดได้เห็นด้วยปรจิตตญาณ (รู้ใจผู้อื่น) แล้ว นรชนนั้นเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป แต่นั้นครั้นเห็นแล้วจักรู้ทั่วถึงนามรูปเหล่านั้นทีเดียว โดยความเป็นของเที่ยง หรือโดยความเป็นสุข จักไม่รู้โดยประการอื่น. นรชนนั้นเมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ จะเห็นนามรูปมากหรือน้อยโดยความเป็นของเที่ยง และโดยเป็นสุขก็จริง ถึงกระนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมไม่กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น เห็นปานนั้นของเขาเลย.
               แม้เมื่อไม่มีความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นนั้น ผู้ใดมีปรกติกล่าวตามความมั่นใจอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็นสิ่งนั้น เป็นอย่างนั้นแล อาศัยความเป็นอย่างนั้นจึงเชื่อความบริสุทธิ์ด้วยทิฏฐิ เป็นผู้มีปรกติกล่าวตามความมั่นใจอย่างนี้ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง ผู้นั้นมิใช่จะพึงแนะนำได้ง่ายเลย ชนผู้ทำทิฏฐิที่ตนกำหนดคือปรุงแต่งไว้เบื้องหน้าอย่างนั้น ผู้นั้นอาศัยศาสดาคนใดแล้ว ก็เป็นผู้กล่าวถึงความดีงามในศาสดานั้นสำคัญตนว่าเราเป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์ เป็นผู้กล่าวความหมดจด หรือเป็นผู้เห็นความบริสุทธิ์ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.


               --------------------   

 

หมายเลขบันทึก: 712455เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2023 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2023 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท