การหุ้นส่วน


                                                                     หุ้นส่วน (الشركة)

                  การหุ้นส่วนตามหลักภาษา คือ การผสมผสาน หมายถึง บุคคลหนึ่งนำทรัพย์สินของตน ไปรวมกับทรัพย์สินของอีบุคคลหนึ่ง โดยที่ ทรัพย์สินของบุคคลทั้งสองนั้นไม่แยกออกจากกัน

         หุ้นส่วน ตามหลักการศาสนา มีคำนิยามที่แตกต่างกัน ดังนี้

๑. ท่านอีหม่ามมาลีกี ได้ให้คำจำกัดความว่า การหุ้นส่วน คือ การที่ผู้ร่วมหุ้นต่างยินยอม ให้ผู้ร่วมหุ้นกันนั้น ดำเนินการในทรัพย์สินที่ได้หุ้นส่วนกัน พร้อมกับผู้ร่วมหุ้นต่างก็มีสิทธิครอบครอง ในหุ้นส่วนนั้น

๒. ท่าอีหม่ามฮัมบาลี ได้ให้คำจำกัดความว่า หุ้นส่วน คือ การร่วมกันเรียนร้องสิทธิ หรือการครอบครองร่วมกัน

๓. ท่าอีหม่ามชาฟีอี ได้ให้คำนิยามว่า หุ้นส่วน คือ การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีสิทธิในเรื่องต่างๆ ร่วมกันทุกๆด้าน

๔. ท่าอีหม่ามฮานาฟี ได้ให้คำนิยามว่า หุ้นส่วนหมายถึง การทำสัญญากันระหว่างผู้ร่วมหุ้นในเรื่องของต้นทุนและกำไร

     “ หุ้นส่วน ” เป็นส่วนหนึ่งจากบทบัญญัติของศาสาอิสลาม ที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ทั้งในพระมหาคัมภีร์อัล กุรอาน และซุนนะฮ์ของท่านนาบี (ซ.ล.) และการลงมติของนักวิชาการอิสลาม

  ส่วนในพระมหาคัมภีร์อัล กุรอาน นั้น อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ตรัสไว้ ในซูเราะห์อัล นีซาอฺ มีความว่า “ดังนั้น พวกเขาได้มีการร่วมกันในเศษหนึ่งส่วนสาม” (ซูเราะห์ อัล นิซาอฺ) 

  และในซูเราะห์ อัซ ซอด มีความว่า “ และมีมากมายจากผู้ร่วมหุ้นได้มีการคดโกงซึ่งกันแหละกัน ยกเว้นผู้ที่มีศรัทธามั่น และผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในคุณธรรม และบุคคลเช่นนี้มีน้อยมาก ” (ซูเราะห์ ซอด อายะห์ ที่ ๒๔ )

 ท่าศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ในหะดิษกุดซี ว่า “ แท้จริงเอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ตรัส ไว้ว่า ข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่สามจากในหุ้นส่วนของพวกเขาทั้งสอง ตราบใดที่ฝ่ายหนึ่งไม่บิดพลิ้วต่ออีกฝ่ายหนึ่ง หากฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้วต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ข้าพเจ้าก็จะ(นำเอาความเป็นศิริมงคล) ออกไปจากพวกเขาทั้งสอง ” 

  ส่วนนักวิชาการอิสลาม ต่างก็มีความเห็น พ้องต้องกันว่า หุ้นส่วนนั้น เป็นที่อนุญาตตามบทบัญญัติศาสนา

หุ้นส่วนนี้แบ่ง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑.หุ้นส่วนครอบครอง  ( الإملاك) 

       หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ได้ครอบครองสิ่งๆหนึ่ง โดยไม่ได้ตกลงสัญญาหุ้นส่วนกัน หุ้นส่วนประเภทนี้ แบ่งออกเป็นสองชนิด 

         ๑.๑ หุ้นส่วนบุคคล  (إختياري)  คือ หุ้นส่วนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ร่วมหุ้นทั้งสอง เช่น ทั้งสองได้ซื้อสินค้ามาหนึ่งชิ้น เมื่อรับสินค้ามาแล้ว สินค้านั้นจะกลายเป็นสิทธิครอบครองของบุคคลทั้งสอง

        ๑๒ หุ้นส่วนนิติบุคคล (جبر) คือ สิ่งที่เป็นสิทธิครอบครองของบุคคล ตั้งแต่สองคนขันไป โดยไม่มีการกระทำการใดๆ จากผู้ได้สิทธิครอบครอง เช่น การได้รับมรดก มรดกนั้นจึงตกเป็นสิทธิครอบครอง ของผู้รับโดยบริยาย 

            หุ้นส่วนทั้งสองชนิดนี้ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะนำไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นสิทธิครอบครองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว (ฟิกฮ์ อัล อิสลาม เล่มที่ ๔)

๒. หุ้นส่วนพันธสัญญา (العقود)  หมายถึง การทำสัญญาของบุคคล ตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อร่วมหุ้นในทรัพย์สินและผลกำไร หุ้นส่วนประเภทนี้ แบ่งออกเป็น สี่ ชนิดด้วยกัน คือ (ฟิกฮ์ ซุนนะห์)

            ๒.๑ หุ้นส่วนจำกัด ( العنان)  คือ บุคคลทั้งสอง ได้ร่วมหุ้นในทรัพย์สิน เพื่อทำการค้าขาย และเพื่อให้เกิดผลกำไรแก่ทั้งสองฝ่าย

            หุ้นส่วนนี้ มีทั้งผู้ถือหุ้นที่จำกัดความรับผิดชอบ และผู้ถือหุ้นที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบ สำหรับผู้ถือหุ้นที่จำกัดความรับผิดชอบ มีการกำหนดจำนวนเงินที่ตนรับผิดชอบไว้ เมื่อเกิดการขาดทุน ก็ให้เป็นไปตามราคาหุ้นที่ตนถืออยู่ ผู้ถือหุ้นประเภทนี้ ไม่มีอำนาจทางการบริหารหุ้นส่วนโดยตรง และไม่มีอำนาจที่จะเรียกร้องสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่ ในส่วนที่ได้ทำสัญญาไว้เท่านั้น ส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบ ไม่กำหนดในจำนวนเงินของหุ้นส่วนว่าเท่าไร (*ในกรณีนี้ในกฎหมายไทย บังคับให้จดทะเบียน เพื่อมีฐานะเป็นนิติบุคคล (หลักเศรษฐศาสตร์) )  หุ้นส่วนนี้อนุญาตให้มีกำไรเท่าเทียมกันหรือต่างกัน โดยคำนึงถึง เงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ (*ฟิกฮุลอิสลาม เล่มที่ ๔)

          หุ้นส่วนดังกล่าวนี้ เป็นที่อนุญาตอย่างเอกฉันท์ตามทรรศนะของปวงปราชญ์ โดยเฉพาะท่านอีหม่ามชาฟีอี มีความเห็นว่า หุ้นส่วนนี้เท่านั้น ที่อนุญาต

         ๒.๒ หุ้นส่วนสามัญ  ( مفاوضة) คือ การทำสัญญาร่วมหุ้นของบุคคล ตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีความเท่าเทียมกันในเรื่องของเงินทุน,การดำเนินงานและศาสนา

            หุ้นส่วนสามัญนี้ ผู้ถือหุ้นทุกคน ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ในส่วนของผู้ถือหุ้นด้วยกัน หรือ จะพูดอีกแง่หนึ่ง ก็คือ ผู้ถือหุ้นทุกคนไม่จำกัดความรับผิดชอบ เมื่อเกิดมีหนี้สินขึ้น ผู้ร่วมหุ้นทุกคน จะต้องยอมรับจ่ายหนี้ให้จนหมดหนี้ และผู้ร่วมหุ้นทุกคน สามารถที่จะรับมอบหมาย จากผู้ร่วมหุ้นด้วนกันได้ เพื่อเรียกร้องการดำเนินงานในส่วนที่รับมอบหมาย

              ตามแนวทางของอีหม่ามฮานาฟี และซัยดียะห์ ถือว่าหุ้นส่วนสามัญนี้ เป็นที่อนุญาต เพราะเข้าใจมาจาก วจนะของท่านรอซูล (ซ.ล.) ที่ว่า  “ เมื่อพวกท่านร่วมหุ้นเท่าเทียมกัน ก็จงทำให้ดีต่อการร่วมหุ้นนั้น ”

               ส่วนท่านอีหม่าม มาลีกี ก็ถือว่า เป็นที่อนุญาตเช่นกัน แต่ด้วยความหมายที่ว่า ผู้ร่วมหุ้นมีสิทธิ์ดำเนินการได้อย่างเสรี โดยไม่จำเป็นต้องขอความคิดเห็นจากผู้ร่วมหุ้นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อขาย หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการค้าขาย และผู้ร่วมหุ้นต้องรับผิดชอบต่อการใดๆ ที่ผู้ร่วมหุ้นด้วยกัน ดำเนินการไป จากทรรศนะของท่านอีหม่ามมาลีกีนี้ ไม่เป็นที่ขัดแย้งกับทรรศนะของนักนิติศาสตร์อิสลาม  (* ในความหมายนี้ คล้ายกับคำว่า หู้นส่วนสามัญตามกฎหมายไทย กฎหมายยินยอมให้ไม่จดทะเบียน หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ (หลักเศรษฐศาสตร์) )  แต่ในความหมาย ของท่านอีหม่ามฮานาฟี ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ไม่เป็นที่อนุญาต ตามทรรศนะของท่านชาฟีอี และท่านอีหม่ามฮัมบาลี รวมทั้งนักนิติศาสตร์อิสลามส่วนมาก เพราะจะทำให้มีการเท่าเทียมกัน ตามความหมายที่ต้องการในหุ้นส่วนดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำที่ลำบากยิ่งนัก และอาจจะเกิดการคดโกง ในเรื่องของการเท่าเทียมกันได้

            ๒.๓ หุ้นส่วนเครดิต หรือสินเชื่อ  ( شركة الوجوه) คือการที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ได้ซื้อสินค้า มาจากพ่อค้า ด้วยการใช้สินเชื่อ โดยที่พวกเขาไม่มีเงินทุนใด ๆ เลย 

               หุ้นส่วนดังกล่าวนี้ ผู้ร่วมหุ้นได้ซื้อสินค้ามาด้วยสินเชื่อ แล้วขายเป็นเงินสด การกระทำเช่นนี้ ไม่เป็นที่อนุญาต ตามทรรศนะของท่านอีหม่ามชาฟีอี และท่าอีหม่ามมาลีกี เพราะหุ้นส่วนย่อมมีความผูกพันกับเงินทุนและการจัดการ ในขณะที่ทั้งสองอย่างนี้ ไม่มีในหุ้นส่วนดังกล่าว แต่ ตามทรรศนะของท่านอีหม่ามฮานาฟีและท่านอีหม่ามฮัมบาลี เป็นที่อนุญาต เพราะถือว่า เป็นการทำงานอย่างหนึ่ง ส่วนกำไรที่เกิดขึ้นนั้น ให้เป็นไปตามกรรมสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย

               ๒.๔  หุ้นแรงงาน (الأبدان  ) คือ การที่ผู้ร่วมหุ้นส่วนทั้งสอง ได้ตกลงกันรับงานชิ้นหนึ่งมา โดยการ ระบุราคา ค่าจ้างของงาน ให้เป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสอง

                  หุ้นส่วนนี้ ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นระหว่างช่างไม้ ,ช่างเหล็กและกรรมกรใช้แรงงาน เป็นต้น ถึงแม้ว่า การตกลงกันของทั้งสองฝ่าย เป็นอาชีพที่ต่างกันหรืออาชีพเดียวกัน ก็ถือว่า เป็นที่อนุญาต เพราะเป้าหมายของคำว่า หุ้นส่วนนั้นก็เพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร (*ฟิกฮุลอิสลาม เล่มที่ ๔ )

องค์ประกอบของการหุ้นส่วน     เงื่อนไขต่างๆ  ของหุ้นส่วน ได้บอกไว้ตามคำนิยามของแต่ละหุ้นส่วนแล้ว ส่วนองค์ประกอบของหุ้นส่วนพันธสัญญานี้ มีสามประการด้วยกัน คือ

                 ๑. ต้องมีคำตกลงกัน ระหว่างผู้ร่วมหุ้น

                 ๒. ต้องมีผู้ร่วมหุ้น

                  ๓. ต้องมีทรัพย์สินในการร่วมหุ้น

               ตามทรรศนะของท่านอีหม่ามฮานาฟี ได้เพิ่มมาอีก หนึ่งข้อ คือ

                  ๔. ต้องมีการดำเนินการ

             หุ้นส่วนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นหุ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อน แต่ หุ้นส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นหุ้นส่วน ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คือ

หุ้นส่วนปศุสัตว์        หุ้นส่วนดังกล่าวนี้ มีการกระทำกันมากในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพอที่จะสรุปเอาไว้ ในที่นี้ ๕ รูปแบบ คือ

          ๑. บุคคลหนึ่งได้ซื้อสัตว์มาเลี้ยง พร้อมกับจ่ายราคาของสัตว์ด้วยเงินของตนเพียงฝ่ายเดียว และได้ตกลงสัญญากับอีกบุคคลหนึ่ง ให้ฝึกสัตว์นั้น,ให้เลี้ยงสัตว์นั้น พร้อมกับออกเงินซื้ออาหารสัตว์นั้น หุ้นส่วนดังกล่าวนี้ ไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลาม เพราะว่าผู้เลี้ยงสัตว์นั้น ไม่สามารถรู้จำนวนที่แน่นอนของการซื้ออาหารให้แก่สัตว์ได้  ซึ่งอาจนำไปสู่การถกเถียงและขัดแย้งกัน ในภายหลังได้ ดังนั้นการทำสัญญาหุ้นส่วนดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นโมฆะไป

           ๒. การซื้อสัตว์เพียงฝ่ายเดียวและอีกฝ่ายหนึ่งรับซื้ออาหารสัตว์ ดังเช่นประเด็นแรก ถ้าหากการซื้ออาหารสัตว์นั้น ด้วยราคาของน้ำนมที่รีดมาได้จากสัตว์ หรือ ราคาของน้ำนมที่รีดมาได้นั้นมากกว่าอาหารสัตว์นั้น ซึ่งปริมาณน้ำนมที่รีดมาได้นั้น บางครั้งอาจจะพอ บางครั้งอาจจะไม่พอกับการซื้ออาหารให้สัตว์นั้น ซึ่งไม่สามารถเอาความแน่นอนได้ แต่ หากว่าผู้ซื้อสัตว์รับซื้ออาหารเอง ถือว่า เป็นที่อนุญาต ในหุ้นส่วนดังกล่าว

            ๓. การซื้อสัตว์และการรับเลี้ยงเหมือนดังประเด็นแรก หากผู้รับเลี้ยงรับแต่เพียงฝึกสัตว์, ให้อาหารสัตว์ และดูแลสัตว์เท่านั้น ส่วนผู้ซื้อสัตว์ รับค่าใช้จ่ายและค่าอาหาร หุ้นส่วนแบบนี้เป็นที่อนุญาต และมันจะกลายเป็นรูปแบบของสหกรณ์ (  المضاربة)

            ๔. บุคคลทั้งสองฝ่ายร่วมกันจ่ายในการซื้อสัตว์ และค่าอาหารสัตว์ โดยที่ฝ่ายหนึ่งสมัครใจ ที่จะรับเลี้ยงสัตว์ หุ้นส่วนแบบนี้ เป็นที่อนุญาต เพราะว่าหุ้นส่วนนี้จำกัดอยู่แต่เรื่องของเงินทุนเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานแต่อย่างใด

            ๕. การร่วมกันซื้อสัตว์มาเลี้ยง เช่นเดียวกับแบบที่ ๔ แต่ฝ่ายผู้รับเลี้ยงสัตว์ ได้เอาน้ำนมที่รีดมาได้จากสัตว์นั้นเป็นค่าจ้างในการเลี้ยงและดูแลสัตว์นั้น ส่วนลูกๆและขนของสัตว์นั้น จะถูกแบ่งกันระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน การร่วมหุ้นในรูปแบบนี้ เป็นที่อนุญาตตามหลักศาสนา ตามมติสภาชี้ขาดของมหาวิทยาลัย อัล อัซฮัร ในปี ๑๙๔๘ เนื่องจากไม่ปรากฏ ในตัวบทจากอัล กุรอ่าน ,อัล หะดิษ และการลงมติของพวงปราชญ์ ว่าห้ามแต่อย่างใด  (*ฟิกฮุลอิสลาม เล่มที่ ๔ ) 

หุ้นส่วนรถยนต์    ปัจจุบันนี้มีมากมายทีเดียว ที่มีการตกลงหุ้นส่วนกัน ในการครอบครองรถบรรทุก หรือรถโดยสาร ซึ่งมีผู้ร่วมหุ้นบางคนเป็นเจ้าของรถโดยตรง และผู้ร่วมหุ้นอีกฝ่าย เป็นผู้ขับรถ ผู้ร่วมหุ้นทั้งหมด มีสิทธิ์ในส่วนแบ่งพร้อม ๆกัน ส่วนคนขับที่เป็นผู้ร่วมหุ้นด้วยกัน ตามปกติแล้ว เขาก็ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนประจำเดือนที่แน่นอน และในบางครั้ง เจ้าของรถ อาจชักส่วนที่เป็นกำไรออกมา เป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ ให้กับคนขับรถ

          ทั้สองรูปแบบที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นที่อนุญาตตามหลักศาสนา เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคม และดูเหมือนว่า เป็นการผ่อนผันและอนุโลมกันเสียมากกว่า เกี่ยวกับหุ้นส่วนนี้ ถ้าหากฝ่ายผู้ขับรถ จะรับเอาส่วนแบ่งเป็นเงินเดือนที่มีอัตราแน่นอน หรือเปอร์เซ็นในส่วนที่หารมาได้ ก็เป็นที่อนุญาต

สิ่งที่ทำให้สัญญาหุ้นส่วนเป็นโมฆะ    มี ๔ ประการ

         ๑. เกิดการบอกเลิกการร่วมหุ้นส่วน จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จากทั้งสองฝ่าย

        ๒. ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ได้ถึงแก่สัญกรรม

         ๓. ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม หรืออยู่ในประเทศที่เกิดสงคราม

         ๔. ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดวิกลจริต หรือเสียสติ

                       เป็นที่ยอมรับกันว่า การร่วมกัน คือระบบหนึ่งของหุ้นส่วน ผู้ที่จะมาร่วมหุ้นนั้น จะต้องมีความซื่อตรงต่อกัน เอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ตรัจไว้ในหะดิษกุดซี ว่า  “ ข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่สามจากผู้ร่วมหุ้นทั้งสอง ตราบใดที่ฝ่ายหนึ่งไม่บิดพลิ้วต่อเพื่อนของเขา และหากมีการบิดพลิ้วเกิดขึ้นข้าพเจ้าก็จะออกไปจากทั้งสอง และซาตานก็จะเข้ามา(แทนที่)หุ้นส่วน หากมีโครงสร้างอยู่บนความกดโกงแล้ว นั้นย่อมหมายถึง หุ้นส่วนที่อยู่ในรูปของซาตาน ” 

         หลาย ๆ บริษัทที่อยู่ในระบบทุนนิยม ซึ่งสามารถปรับงบประมาณของบริษัทเอง ให้เท่ากับงบประมาณของประเทศใหญ่ ๆ บางประเทศ จนทำให้เกิดการผูกขาดสินค้า และการควบคุมราคาสินค้าเกิดขึ้น และเงินปันผลที่เป็นดอกเบี้ยก็ถูกแปลสภาพมาจากเงินทุนหลัก เพื่อธุรกิจแลกเปลี่ยน จนต้องทำให้สังคมโลกยุคปัจจุบัน ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจผืดเคืองอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฏจักรอันสกปรกของบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในระบบสังคมนิยม แบบนายทุนแทบทั้งสิ้น เป็นบริษัทที่มุ่งแต่เพียงแสวงหาผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว

           ส่วนอิสลามเป็นระบบหนึ่งที่อยู่สายกลาง ไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์และดอกเบี้ย ซึ่งเป็นระบบหนึ่งซึ่งมีความผูกพันกับทรัพย์สิน และให้เกียรติต่อการครอบครองของปัจเจกชน หากมุสลิมดำเนินชีวิตไปตามครรลองของอิสลาม และถ้ยที่ถ้อยอาศัยในสิ่งที่มีอยู่ระหว่างพวกเขา ความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

          ในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ มักจะมีวัฏจักรของดอกเบี้ยแอบแฝงอยู่ในทุก ๆที่ เป็นธุรกิจทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การฝากเงินที่ธนาคาร การหมุนเงินที่ให้ได้มาซึ่งผลกำไรของพ่อค้า หรือแม้บางประเทศ ได้เซ็นสัญญากู้เงิน ก็ด้วยระบบดอกเบี้ยทั้งนั้น สัจจจริงในอมตะวาจาของบรมศาสดา ทรงกล่าวไว้ว่า  “ ณ สมัยหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นแก่มนุษย์อย่างแน่นอน สิ่งที่ซึ่งไม่มีใครจะหลงเหลืออยู่เลย ยกเว้น ผู้ที่กินดอกเบี้ย แม้ว่าเขาไม่ได้กินมัน เขาก็ยังจะได้สัมผัสกับฝุ่นของมันอยู่ดี ” 

          ดอกเบี้ย  คือโรคระบาดชนิดหนึ่ง ที่กำลังคุกคามสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะสังคมมุสลิม มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมของเราจะได้รับการเยี่ยวยารักษา ทั้งทางด้านเศรษฐและจิตวิญญาณ ด้วยแบบแผนที่เป็นไปตามเอกลักษณ์ของสังคม 

         อิสลาม เป็นสังคมหนึ่งที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเอื้ออารีย์ซึ่งกันแหละกัน ที่จะมาแทนที่ความป่าเถื่อน การให้เกียรติซึ่งกันแหละกัน จะมาแทนการดูถูกเหยียดหยาม ดังนั้นอิสลาม ย่อมอยู่คู่กับความรัก การให้เกียรติ การช่วยเหลือ การมีคุณธรรม และการสร้างเสถียรภาพให้แก่มวลมนุษย์ชาติ 

             บทความเรื่อง หุ้นส่วน ที่ท่านเพิ่งอ่านจบไปนี้ เป็นบทความหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมในกัน ค้นคว้า ฝ่ายผู้เขียนเอง คิดว่ายังไม่สมบูรณ์ตามรูปแบบของหุ้นส่วนในอิสลาม และอาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง เนื่องจากพวกเราเป็นผู้ที่ด้วยประสบการณ์ ทั้งทางด้านการแปลและการทำความเข้าใจ

               ดังนั้น หากท่านผู้อ่านพบข้อบกพร่อง หรือผิดพลาดประการใด กรุณาให้คำแนะนำ แก่พวกเรากลุ่มผู้จัดทำ เพื่อ เป็นวิทยาทาน แก่พวกเราและผู้อื่น จักขอบพระคุณยิ่ง เรากลุ่มผู้จัดทำให้ความสำคัญต่อสัจพจน์ ซึ่งเป็นอมตะวาจาของบรมศาสดา (ซ.ล.) ที่ทรงกล่าวไว้ว่า  “ อันมนุษย์ทุกคน ย่อมที่มีความผิดพลาด และผู้ที่ผิดพลาดที่ดีนั้น คือ ผู้ที่สำนึกตัว ”

****************************************               

                     ผู้ร่วมกลุ่ม ผู้ค้นคว้าและจัดทำ  เรื่อง “ หุ้นส่วน ”

              ๑. นายอิ่มร่อน โต๊ะตาเหยะ                          ๒. นายสุนทร วงค์หมัดทอง                           

               ๓. นายอับดุล หวันนุรักษ์                            ๔. นายยะโกบ เสมอภพ

              ๕. นายปริญญา โต๊ะยีอิ๊ด                              ๖. นายจรวด นิมา

               ๗. นายอนุชา หวันโส๊ะ                                28 ม.ค. 2536

หมายเลขบันทึก: 712227เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2023 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2023 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท