Vertical Literacy พลิกโฉมโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21


3 ปีก่อน ได้สรุปภาพ 21st-Century Schools and Universities (ปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่สดใหม่) จากการอ่านบทความในหัวข้อ 'Vertical Literacy: Reimagining the 21st-Century University’ โดยอาจารย์ Otto Scharmer เป็นคนเขียน แต่ก็ยังไม่ได้พิมพ์แบ่งปันอะไร มีแต่ไปพูดคุย แบ่งปันในช่วงจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับองค์กรต่างๆ ที่เชิญไป (องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา) และแลกเปลี่ยนส่วนตัวกับบุคคลที่สนใจตามจังหวะและโอกาสต่างๆ ที่มีครับ

ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษากันอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น Flip Classroom การให้ทดลองเรียนจริงก่อนเลือกคณะ มหาวิทยาลัยหลายแห่งจำมือกันให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนในรายวิชาที่สนใจข้ามสถาบันหลักได้ (ระดับปริญญาตรี) ยุบหลักสูตร / ปิดสาขาที่ไม่มีคนต้องการเรียนหรือไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปงในปัจจุบัน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราย้อนกลับมาสังเกตปรากฏการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจนอย่างสุดขีด ความไม่เท่าเทียมอย่างสุดขีด เศรษฐกิจ โควิด-19 แล้งสุดขีด น้ำท่วม ความขัดแย้ง / สงคราม การแบ่งแยก การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพจิต ข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ว่า

□ จุดมุ่งหมายในการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยที่แท้จริงคืออะไร?

□ มหาวิทยาลัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร?

□ บทบาทหน้าที่ / รูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นควรจะเป็นอย่างไร?

ซึ่งคำตอบควรมาจากทุกๆ คนทุกๆ ระดับ...

อาจารย์ Otto Scharmer บอกว่า สู่การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งนั้น เราต้องการ Platform ใหม่และความสามารถในการยกระดับระบบปฏิบัติการ (คล้ายกับการอัพเกรด Software ในคอมพิวเตอร์) ต่อมิติต่างๆ จากระดับ 1.0 ไปสู่ 4.0 (จาก Ego-System Awareness ไปสู่ Eco-System Awareness) ในกรณีนี้ชวนทุกท่านดูเฉพาะมิติของรูปแบบการเรียนการสอน

 

 

OS 1.0 Learning ยังคงเป็นรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะเดิมๆ ที่เน้นอาจารย์เป็นศูนย์กลาง อาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เพียงคนเดียว ทุกคนต้องฟังในสิ่งที่อาจารย์สอนเท่านั้น ปัจจุบันยังคงมีอาจารย์ ผู้นำมหาวิทยาลัย นักการศึกษา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาท่านไหนใช้รูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะนี้อยู่บ้าง ชวนทุกท่านขบคิดไปด้วยกันครับ

OS 2.0 Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการวัดผลลัพธ์ตามมาตรฐานของหลักสูตรเป็นหลัก ไม่ได้วัดผลลัพธ์เชิงพฤติกรรม คุณลักษณะหรือทักษะที่ผู้เรียนควรจะได้รับ อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัวในระยะยาว และเน้นที่การเรียนเพื่อนำไปสอบ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า เรียนๆ จำๆ สอบเสร็จแล้วก็ลืม

OS 3.0 Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการนำประสบการณ์ ลักษณะทางกายภาพ สังเกตวิธีการรับรู้เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/555741) มาเป็นตัวตั้งในการออกแบบกระบวนการเรียนการสอน / สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการพัฒนาที่จะนำไปสู่การค้นพบศักยภาพสุงสุดของตนเองในลักษณะที่อาจแตกต่างกัน

OS 4.0 Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงกับจุดต้นกำหเนิดของความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความเป็นมนุษย์ ค้นพบศักยภาพสูงสุดของตัวเอง มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตที่เป็นไปเพื่อการเกื้อกูล ไม่ได้เป็นไปเพื่อการกอบโกย มองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เกิดการรับรู้ถึงความเป็นไปได้ของอนาคตที่กำลังจะปรากฏขึ้น (Emerging Future) เชื่อมโยงกับตัวเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไปจนถึงการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่ทุกๆ คนต้องการ

ปัญหาหลักในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของเราในปัจจุบัน ขาดการเรียนรู้ในแนวดิ่ง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งเพื่อยกระดับระบบปฏิบัติการจาก 1.0, 2.0 ไปสู่ 3,0 และ 4.0

ผู้นำมหาวิทยาลัย คณบดี และอาจารย์ส่วนใหญ่อยู่ในโลกการศึกษาในระบบปฏิบัติการ 2.0 ความคิดของพวกเขาอยู่ในกรอบการพัฒนาแบบแนวราบ ยกตัวอย่าง การเพิ่มการเรียนรู้ทักษะใหม่หรือหลักสูตรใหม่ แต่ไม่ใช่ในแง่ของการพัฒนาในแนวดิ่ง หากเปรียบเทียบกับระบบปฏบัติการในสมาร์ทโฟน พวกเขาคิดในแง่ของการเพิ่มแอป แต่ไม่ใช่ในแง่ของการอัพเกรดระบบปฏิบัติการทั้งหมด

หลักการทั้ง 12 ข้อนี้สรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยในศตวรรษที่  21 จะมีลักษณะอย่างไร หากมีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการทั้งหมดไปสู่การศึกษาแบบแนวดิ่ง

 

 

1) Transforming Society & Self: build vertical literacy

ถ้ามหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 เกี่ยวข้องกับเอกภาพในการทำวิจัย การเรียนการสอน และการเปลี่ยนแปลงสังคมและตนเอง ผู้เรียนต้องออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงและมีส่วนร่วมกับความท้าทายหลักในยุคของเรา เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ความท้าทายเหล่านี้คือช่องว่างระหว่างการรับรู้และการลงมือทำ ซึ่งการจัดการกับช่องว่างนั้นความรู้แนวดิ่งจะเป็นตัวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยการยกระดับจากการรับรู้แบบ Ego ไปสู่ Eco (การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ) ความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึกต้องได้รับการปลูกฝังในทุกๆ ระดับ ในระดับบุคคลคือมีพื้นที่สำหรับการตระหนักรู้ในตนเอง ในระดับกลุ่มคือการฟังและการพูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง ในระดับองค์กรคือเปลี่ยนจากการควบรวมไปสู่ระบบนิเวศ และในระบบขนาดใหญ่คือการมองเห็นทุกอย่างเชื่อมโยงกัน (Interconnect)

2) Kindling: learning is the kindling of a flame

ผ่านไป 2,000 ปี คำพูด ‘Education is the kindling of a flame, not the filling of a vessel’ ของ Socrates ยังเป็นจริงเสมอ และนี่คือ 3 แนวทางที่จะช่วยให้ผู้เรียนค้นพบเส้นทางในชีวิตและการทำงานของตนเอง

□ เมื่อใดก็ตามที่ผู้เรียนมีโอกาสพบกับนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต พวกเขาขับเคลื่อนสิ่งที่กำลังทำอยู่ด้วยศักยภาพสูงสุดของตนเอง เมื่อนั้นมันจะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดประกายไฟภายในจิตใจ

□ เพียงออกจากพื้นที่ฟองสบู่ของตัวเอง (พื้นที่แคบๆ ที่ครอบผู้เรียนไว้) รวมถึงพื้นที่ฟองสบู่ของมหาวิทลัย มุ่งไปสู่พื้นที่การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง เช่น การไปเรียนรู้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ ไปทำจิตอาสา ฯลฯ

□ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (พื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ) และฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปอย่างลึกซึ้ง

3) Action Learning: shift the outer place of learning

ผู้เรียนต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้เป็นสิ่งที่พลิกความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับผู้เรียนแบบเดิมไปอย่างสิ้นเชิง เดิมคืออาจารย์คือผู้อธิบายส่วนนักเรียนคือผู้ฟัง ในการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ผู้เรียนคือนักสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือผู้ประกอบการ ส่วนอาจารย์หรือโค้ชคือผู้อำนวยพื้นที่การเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มความสามารถที่หลากหลายตามธรรมชาติ การพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำในระดับต่างๆ นั้น ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นที่แตกต่างกันมาก รวมไปถึงห้องเรียนที่ไม่ได้เน้นเนื้อหาเป็นหลัก แต่เน้นเกี่ยวกับการทบทวน (Reflection) สิ่งที่ได้ลงมือทำไป ซึ่งต้องอาศัยความสามารถของอาจารย์ในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ (Trust) จากผู้เรียนสูง

4) Whole Person: shift the inner place of learning

ในขณะที่การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเป็นการพาผู้เรียนออกจากห้องเรียนออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง ส่วนการเรียนรู้แบบองค์รวม (Whole Person) เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากภายนอกกลับเข้ามาสู่ภายใน เชื่อม Head สู่ Heart และ Heart สู่ Hand จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง โดยการปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity — Open Mind) ความเมตตากรุณา (Compassion — Open Heart) และความกล้าหาญ (Courage — Open Will)

 

 

ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าหลักการเหล่านี้ทำงานร่วมกันอย่างไรในกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง

5) Ecosystem Leadership: build capacity from me to we

ความท้าทายอันดับหนึ่งของสถาบันการศึกษาในระบบและภาคส่วนต่างๆ คือการสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้นำเชิงระบบ (Ecosytem Leaders) จะทำอย่างไรให้พวกเขาปรับเปลี่ยนมุมมองจากไซโล (Ego-System Awareness) ไปสู่ระบบนิเวศ (Eco-System Awareness) หรือมุมมองจาก Me ไปสู่ We ซึ่งถือเป็นการพัฒนาภาวะผู้นำที่สำคัญและจำเป็นมากที่สุดในตอนนี้

6) Self-Knowledge: know thyself

ผู้เรียนต้องรู้จักตัวเอง ทุกวันนี้โครงสร้างแบบเก่าได้เสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็ว การแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองนั้นมีความสำคัญมากกว่าเมื่อก่อน ‘ฉันเป็นใคร’ และ ‘งานของฉันคืออะไร’ เป็นคำถามสำคัญที่เราต้องถามตัวเอง ไม่เพียงแต่ผู้เรียนในฐานะบุคคล แต่ยังรวมถึงองค์กรต่างๆ ในฐานะระบบนิเวศด้วย ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ในฐานะมนุษย์ อะไรคือภาพอนาคตที่เราอยากจะเห็นและเราจะเป็นส่วนหนึ่งกับมันอย่างไร

ในส่วนนี้อาจารย์ Otto Scharmer ยังได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติที่จะช่วยให้เราเกิดการพัฒนาความรู้ภายในตนเอง ได้แก่ การฟัง การทบทวน การเจริญสติ และการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์

7) Systems Thinking: make the system see itself

ผู้เรียนต้องเป็นนักคิดเชิงระบบ (System Thinker) หลายคนอาจสังสัยว่าการเป็นนักคิดเชิงระบบนั้นมีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ บนโลกนี้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น มองเห็นตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งขอบระบบ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/photo?fbid=294030549031447&set=pcb.294032622364573)

8) Social Arts and Aesthetics: make the system sense itself

ผู้เรียนต้องมีความรู้ด้านศิลปะทางสังคมและสุนทรียศาสตร์ ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนจะสามารถลดช่องว่างระหว่าง Head กับ Hand ได้ ปลูกฝังการเปิดรับด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมดของเรา

ความก้าวหน้าทางความคิดเชิงระบบ รวมถึงความสามารถในการรับรู้เชื่อมโยงกับระบบ เราต้องทำให้พวกเขามองเห็นว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ มุมมอง วิธีคิด และพฤติกรรมของเขาส่งผลต่อระบบอย่างไร การเรียนรู้ศิลปะทางสังคมและสุนทรียศาสตร์เป็นกลไกหลักในการพัฒนาศักยภาพพื้นฐานเหล่านี้

9) Science 2.0: bending the beam of scientific observation back onto the observing self

ผู้เรียนต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบใหม่ วิทยาศาสตร์แบบดั่งเดิมใช้แนวคิด / วิธีการ (หลัก) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลอยู่ประเภทเดียว นั่นคือข้อมูลที่ได้จากบุคคลที่สามหรือการทดลอง / สังเกตจากสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก ในอนาคตเราจำเป็นขยายแนวคิด / วิธีการให้ได้ข้อมูลทั้งสามประเภทนี้มาเชื่อมโยงกัน คือ 1) ข้อมูลจากบุคคลที่สาม การทดลอง / การสังเกต (การสังเกตจากภายนอก) 2) ข้อมูลจากบุคคลที่สอง คนที่เราพูดคุยด้วยหรือบุคคลที่เราทำการสัมภาษณ์ (การฟังอย่างลึกซึ้งและสุนทรียสนทนา) และ 3) ข้อมูลจากบุคคลที่หนึ่ง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้เราสร้างวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ไม่เพียงแค่สังเกตข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอก แต่หันกลับเข้ามาสังเกตข้อมูลที่เกิดขึ้นจากภายในของเราด้วย การบ่มเพาะและวิวัฒนาการของความรู้ด้วยตนเองของเรา ไม่เพียงแต่ในฐานะปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนรวมด้วย เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนระบบได้ เว้นแต่เราจะเปลี่ยนจิตสำนึก และเราไม่สามารถเปลี่ยนจิตสำนึกได้ เว้นแต่เราจะทำให้ระบบเข้าใจและเห็นตัวเอง

10) Tech 2.0: create awareness-based social technologies

ผู้เรียนต้องเรียนรู้เทคโนโลยีทางสังคมด้วยฐานของการตระหนักรู้ ทุกวันนี้การเรียนรู้เทคโนโลยีทางสังคมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าแคลคูลัสหรือการอ่าน เพราะมันเป็นพื้นฐานสำหรับการรับรู้ การทำงาน การขับเคลื่อน และการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนร่วมกัน และต้องอาศัยการปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity — Open Mind) ความเมตตากรุณา (Compassion — Open Heart) และความกล้าหาญ (Courage — Open Will) ดังนั้น ความสามารถในการรับรู้และสร้างสรรค์ร่วมกันจะเป็นทรัพยากรที่ดีที่สุดของเราในการรับมือกับความแตกแยกและการหยุดชะงักต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้และต่อจากนี้

ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ที่ทางพันธมิตรและเราจัดขึ้น

□ Imagine Thailand Movement https://www.facebook.com/imaginethailandmovement 

□ Appreciative Inquiry Thailand https://sites.google.com/a/kku.ac.th/thailand-appreciative-inquiry-network/Home 

□ THE MOVING FORWARD https://www.facebook.com/themovingforward 

11) Democratize: build infrastructures for deep learning at scale

ผู้เรียนต้องเป็นผู้สร้างการเรียนรู้เชิงลึกในวงกว้าง การทำให้เกิดการเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเป็นความสำเร็จหลักในช่วงศตวรรษผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น MIT เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการทำให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงความรู้ทางออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่าน OpenCourseWare และ eDX อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงวงจรการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งยังไม่พร้อม (มุ่งเน้นเฉพาะ Head) ดังนั้น เราต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะทำให้วงจรการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งที่เป็นการเชื่อม Head, Heart และ Hand เข้าด้วยกันพร้อมใช้งานสำหรับทุกคน?

เมื่อนึกถึงคำถามนั้น เราจึงเป็นสร้างหลักสูตรออนไลน์ต้นแบบขึ้นเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา เรียกว่า MITx u.lab ด้วยจำนวนผู้ลงทะเบียนมากกว่า 125,000 คน (THE MOVING FORWARD https://www.facebook.com/themovingforward เป็นหนึ่งในนั้น) และได้ก่อตั้งชุมชนมากกว่า 1,200 แห่งทั่วโลก เราได้แสดงให้เห็นถึงการกระจายวงจรการเรียนอย่างลึกซึ้ง (กระจายอำนาจ) ไปทั่วทุกพื้นที่

12) The Fourth Teacher: cultivate generative social fields

ผู้เรียนต้องได้รับสัมผัสกับประสบการณ์และถูกปลูกฝังพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม (พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกๆ คน ทุกๆ เพศ และทุกๆ วัย ไม่ว่าจะมีประสบการณ์น้อยหรือมาก ได้มาร่วมเรียนรู้ ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามร่วมกัน) อาจารย์คนไหนคือบุคคลที่ทำให้พื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคมเกิดขึ้นในชั้นเรียน? นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน นักการศึกษา ผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เปิดประตูที่ทรงพลังนำผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น

จากหลักการทั้ง 12 ข้อนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ความก้าวหน้า การขยายวงจรการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นด้วยวิธีเหล่านี้จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาของเราอยู่ในแนวทางปฏิบัติที่มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมและตนเอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคมและตนเองไม่ได้แยกออกจากกัน และถือเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการเรียนที่สำคัญที่สุดในยุคของเรา...

 

 

อ่านแล้วท่านมีมุมมองหรือความคิดเห็นอย่างไร…

 

อ้างอิง (1)

1) https://medium.com/presencing-institute-blog/vertical-literacy-12-principles-for-reinventing-the-21st-century-university-39c2948192ee 

 

สามารถติดตามสาระความรู้และกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ 

1) Facebook: https://www.facebook.com/themovingforward 

2) Twitter: https://twitter.com/tmfthailand 

3) Instagram: https://www.instagram.com/tmfthailand/ 

4) YouTube: https://www.youtube.com/@themovingforward7905/videos

หมายเลขบันทึก: 712117เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2023 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2023 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับการนำเสนอที่มีสาระดีเยี่ยม และข้อมูลสนับสนุนที่แน่นปัง….ขอรอดูความสำเร็จที่จะตามมาอย่างมั่นใจ…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท