ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๘ นันทปัญหา


ปัญหาเรื่อง มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร

ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๘   

นันทปัญหา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

  ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

(๗) นันทปัญหา

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๗. นันทมาณวกปัญหา

ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ

 

             [๑๐๘๔] (นันทมาณพทูลถามดังนี้) ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ (ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือ ญาณในอภิญญา ๕) หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ (เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำกิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง) ว่า เป็นมุนี

            [๑๐๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้ ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้ เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี

             [๑๐๘๖] (นันทมาณพทูลถามดังนี้) สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

             [๑๐๘๗](พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ) สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้นก็จริง แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้

             [๑๐๘๘] (นันทมาณพทูลถามดังนี้) สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

             [๑๐๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ) เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด ถูกชาติและชราโอบล้อม  นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว (กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ (๑) ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น (๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดยความเป็นของไม่เที่ยง (๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด) เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

            [๑๐๙๐] (นันทมาณพกราบทูลดังนี้) ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม นิพพานที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้

นันทมาณวกปัญหาที่ ๗ จบ

--------------------------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของ นันทมาณวปัญหานิทเทส

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ

 

             [๔๖] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้) 

                          ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก

                          คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร

                          ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ

                          หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี

(๑) มีอยู่ ในคำว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก อธิบายว่า มีอยู่ คือปรากฏ มี หาได้

             ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ ในอายตนโลก

             มุนีทั้งหลาย ได้แก่ อาชีวก นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่ามุนี (ชนทั้งหลายเข้าใจกันว่า มุนีทั้งหลายในโลกเป็นเทพ แต่เทพเหล่านั้นหาใช่มุนีไม่) รวมความว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก

             ชนทั้งหลาย ในคำว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า ...คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์

             ย่อมกล่าว ได้แก่ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง

             คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร เป็นคำทูลถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า ... คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร

             ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณว่าเป็นมุนี อธิบายว่า ชนทั้งหลายย่อมเรียก คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือญาณในอภิญญา ๕ ว่าเป็นมุนี รวมความว่า ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณว่าเป็นมุนี

             หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่าชนทั้งหลาย ย่อมเรียก คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำกิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่างว่าเป็นมุนี รวมความว่า หรือว่า เรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)

                          ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก

                          คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร

                          ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ

                          หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี

 

             [๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

                          นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้

                          ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้

                          เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว

                          ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี 

(๒) ไม่เรียก... เพราะได้เห็น เพราะได้ฟังและเพราะได้รู้ ได้แก่ ไม่เรียกเพราะความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น

             ไม่เรียก... เพราะได้ฟัง ได้แก่ ไม่เรียก เพราะความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยิน

             ไม่เรียก... เพราะได้รู้ ได้แก่ ไม่เรียกเพราะญาณในสมาบัติ ๘ บ้าง ไม่เรียกเพราะญาณในอภิญญา ๕ บ้าง ไม่เรียกเพราะมิจฉาญาณบ้าง รวมความว่าไม่เรียก... เพราะได้เห็น เพราะได้ฟัง และเพราะได้รู้

             ชนทั้งหลายผู้ฉลาด ในคำว่า นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี อธิบายว่า ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ย่อมไม่เรียก คือ ย่อมไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยความสะอาดแห่งรูปที่ได้เห็น ความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยิน ญาณในสมาบัติ ๘ ญาณในอภิญญา ๕ (อภิญญา ๕ ได้แก่ (๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ (๒) ทิพพโสต หูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ตาทิพย์) มิจฉาญาณ รูปที่ได้เห็น หรือเสียงที่ได้ยินว่าเป็นมุนี รวมความว่า นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี

 

ว่าด้วยเสนามาร

             เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่า เสนามารตรัสเรียกว่า เสนา กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ชื่อว่าเสนามาร มโนทุจริต ชื่อว่าเสนามาร ราคะ ชื่อว่าเสนามาร โทสะ ชื่อว่าเสนามาร โมหะ ชื่อว่าเสนามาร โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทุกชนิด ฯลฯ ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ ความเร่าร้อนทุกสถาน ฯลฯ ความเดือดร้อนทุกประการ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่าเสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

              กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน ความหิวกระหายเราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน ตัณหาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิดๆ เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน

             มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้ แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข

             เมื่อใด เสนามารทั้งหมดและกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกชนเหล่าใดพิชิตและทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้น ชนเหล่านั้น เรียกว่า ผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว

             ผู้ไม่มีความทุกข์ อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ เป็นความทุกข์ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท เป็นทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้ชนเหล่าใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีความทุกข์

             ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ

             ความหวังคือตัณหานี้ ชนเหล่าใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

             เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่า เราเรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารได้แล้ว ไม่มีทุกข์และไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิตดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ชนเหล่านั้นจึงเป็นมุนีในโลกได้ รวมความว่า เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

                          นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้

                          ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้

                          เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว

                          ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี

 

             [๔๘] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)

                          สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด

                          เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์

                          สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด

                          ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด 

(๓) บางพวก ในคำว่า สมณพราหมณ์บางพวก ได้แก่ ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่างไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า บางพวกนี้ เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด

             สมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงการบวชเป็นปริพาชก ถึงการบวชเป็นปริพาชกภายนอกจากธรรมวินัยนี้

             พราหมณ์ ได้แก่ คนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเจริญบางพวก รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวก

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะรูปที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยินบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะวัตรบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลวัตรบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะพิธีหลายอย่างบ้าง

             ได้บ้างหรือไม่ ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น... ได้บ้างหรือไม่ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็น

อย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า ได้บ้างหรือไม่

             พวกนั้น ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ถือทิฏฐิ

             รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ...สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น... ได้บ้างหรือไม่

             ใน ... นั้น ในคำว่า เป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น อธิบายว่า ในหลักการของตน คือ ในความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิของตน

             เคร่งครัด ได้แก่ ระวัง ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวรแล้ว

             ประพฤติ ได้แก่ ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น ... ได้บ้างหรือไม่

             ผู้นิรทุกข์...ข้ามชาติและชรา อธิบายว่า ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติชราและมรณะ

             ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่ ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้นว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์เถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

             ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)

                          สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด

                          เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์

                          สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด

                          ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

             [๔๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)

                          สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด

                          เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

                          สมณพราหมณ์พวกนั้น

                          แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง

                          แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ 

(๔) บางพวก ในคำว่า สมณพราหมณ์บางพวก ได้แก่ ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า บางพวกนี้ เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด

             สมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงการบวชเป็นปริพาชก ถึงการบวชเป็นปริพาชกภายนอกจากธรรมวินัยนี้

             พราหมณ์ ได้แก่ คนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเจริญบางพวก รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวก

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้างเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดงชี้แจงความหมดจด คือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะรูปที่ได้เห็นบ้างและเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้างเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

            ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะวัตรบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลวัตรบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะพิธีหลากหลายบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

             พวกนั้น ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ถือทิฏฐิอยู่

             ใน... นั้น ได้แก่ ในหลักการของตน คือ ในความถูกใจ ความพอใจ ในลัทธิของตน

             เคร่งครัด ได้แก่ ระวัง ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวรแล้ว

             ประพฤติ ได้แก่ ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นแม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง

             แต่เรากล่าวว่าพวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ ได้แก่ ออกจากชาติชราและมรณะไม่ได้ คือ สลัดออกไม่ได้ ก้าวพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยจากชาติชราและมรณะไม่ได้ ได้แก่ หมุนเวียนอยู่ภายในชาติ ชราและมรณะ หมุนเวียนอยู่ภายในทางแห่งสงสารไปตามชาติ ถูกชราติดตาม ถูกพยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นแม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)

                          สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด

                          เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

                          สมณพราหมณ์พวกนั้น

                          แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง

                          แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้

 

             [๕๐] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)

                          สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด

                          เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

                          หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า

                          สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้

                          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น

                          ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด 

(๕) บางพวก ในคำว่า สมณพราหมณ์บางพวก ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า บางพวก นี้ เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวก

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

             ย่อมกล่าวถึงความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าวคือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะศีลบ้าง เพราะวัตรบ้าง ย่อมกล่าว ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลวัตรบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวถึงความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

             ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะพิธีหลากหลายบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

             หาก... สมณพราหมณ์พวกนั้น ในคำว่า หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนี ตรัสว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ถือทิฏฐิ

             พระองค์ผู้เป็นพระมุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ พระองค์ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่าพระมุนี

             ตรัสว่าสมณพราหมณ์พวกนั้นว่ายังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ อธิบายว่า สมณพราหมณ์พวกนั้น ข้ามไม่ได้ คือ ข้ามขึ้นไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ก้าวพ้นไม่ได้ ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะไม่ได้ ได้แก่ หมุนเวียนอยู่ภายในชาติ ชรา และมรณะ หมุนเวียนอยู่ภายในทางแห่งสงสาร ไปตามชาติ ถูกชราติดตาม ถูกพยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย

             ตรัส ได้แก่ ตรัส คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า หาก...พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่าสมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้

             ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครกันเล่า ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ จึงข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติ ชรา และมรณะไปได้

             ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้

             ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้นว่า “ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด” รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

             ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้นพราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)

                          สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด

                          เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

                          ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

                          หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า

                          สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้

                          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น

                          ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้

                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

             [๕๑](พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)

                          เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด

                          ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้

                          ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้

                          หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง

                          กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ

                          เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล

                          ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

(๖) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดถูกชาติและชราโอบล้อม อธิบายว่า นันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดถูกชาติและชราหุ้มห่อไว้ โอบล้อม คือห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้แล้ว เรากล่าว คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า สมณพราหมณ์ผู้ละชาติ ชราและมรณะได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ ไปไม่ได้ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดถูกชาติและชราโอบล้อม

             นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด อธิบายว่า นรชนเหล่าใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็นทุกอย่าง ละความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยินทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่ได้รับรู้ทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ได้รับรู้ทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งศีลทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งวัตรทุกอย่าง นรชนใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความหมดจดแห่งศีลวัตรทุกอย่าง รวมความว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด

             ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง อธิบายว่า ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะมงคลที่เล่าลือกันหลากหลาย รูปแบบ รวมความว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง

             ตัณหา ในคำว่า นรชนเหล่าใด กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

 

ว่าด้วยปริญญา ๓

             กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว อธิบายว่า กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา ๓ คือ

                          ๑. ญาตปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก)

                          ๒. ตีรณปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา)

                          ๓. ปหานปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นละ)

             ญาตปริญญา เป็นอย่างไร

             คือ นักปราชญ์กำหนดรู้ตัณหา คือ รู้ เห็นว่า “นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา” นี้ชื่อว่าญาตปริญญา

             ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร

             คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาตัณหา คือ พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์ ... เป็นโรค ... เป็นดุจหัวฝี ... เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา

             ปหานปริญญา เป็นอย่างไร

             คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีตัณหาอีก สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในตัณหาเสีย ตัณหานั้นเธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้ว จักถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้” นี้ชื่อว่าปหานปริญญา

             กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา ๓ อย่างเหล่านี้

 

ว่าด้วยอาสวะ ๔

             เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ

                          ๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)

                          ๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)

                          ๓. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ)

                          ๔. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)

             อาสวะเหล่านี้นรชนเหล่าใดละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

             นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าว คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า นรชนเหล่านั้นข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทุกอย่างได้แล้ว รวมความว่า นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)

                          เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด

                          ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้

                          ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้

                          หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง

                          กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ

                          เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล

                          ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

 

             [๕๒] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)

                          ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์

                          ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม

                          ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

                          นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน

                          อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด

                          ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว

                          เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า

                          นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว 

(๗) นี้ ในคำว่า ... ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ ของพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า ข้าพระองค์พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนนี้

             พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์อันยิ่งใหญ่ จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

             ตรัสไว้ดีแล้ว ในคำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว อธิบายว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือ ตรัสบอกไว้ดีแล้ว แสดงไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว เปิดเผยไว้ดีแล้ว จำแนกไว้ดีแล้ว ทำให้ง่ายดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว

             ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (อภิสังขาร หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่ง ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร (๒) อปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (๓) อาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน) ตรัสเรียกว่า อุปธิ การละอุปธิ ความเข้าไปสงบอุปธิ ความสลัดทิ้งอุปธิ ความสงบระงับอุปธิ ชื่อว่าอมตนิพพาน รวมความว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

             นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับ รู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด อธิบายว่า นรชนเหล่าใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็นทุกอย่าง ได้แก่ ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยินทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่ได้รับรู้ทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ได้รับรู้ ฯลฯ ความหมดจดแห่งศีลทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดแห่งวัตรทุกอย่าง ฯลฯ ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งศีลวัตรทุกอย่าง รวมความว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด

             ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง อธิบายว่า ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะมงคลที่เล่าลือกัน หลากหลายรูปแบบ รวมความว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง

             นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า

            ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

 

ว่าด้วยปริญญา ๓

             กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา ๓ คือ

                          ๑. ญาตปริญญา

                          ๒. ตีรณปริญญา

                          ๓. ปหานปริญญา

             ญาตปริญญา เป็นอย่างไร

             คือ นักปราชญ์กำหนดรู้ตัณหา คือ รู้ เห็นว่า “นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา” นี้ชื่อว่าญาตปริญญา

             ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร

             คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาตัณหา คือ พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่หลีกเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของไม่มีที่อาศัย เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นเหตุแห่งความลำบาก เป็นดุจเพชฌฆาต เป็นของปราศจากความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีชาติเป็นธรรมดา มีชราเป็นธรรมดา มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความ แช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา

             ปหานปริญญา เป็นอย่างไร

             คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีตัณหาอีก นี้ชื่อว่าปหานปริญญา

             กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหานั้น ด้วยปริญญา ๓ อย่างเหล่านี้

 

ว่าด้วยอาสวะ ๔

             เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ

                          ๑. กามาสวะ

                          ๒. ภวาสวะ

                          ๓. ทิฏฐาสวะ

                          ๔. อวิชชาสวะ

             อาสวะเหล่านี้นรชนเหล่าใดละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

             นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าว คือ บอกว่านรชนเหล่านั้นข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทุกอย่างได้แล้ว รวมความว่า นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

                          ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์

                          ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม

                          ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

                          นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน

                          อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด

                          ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว

                          เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า

                          นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

             พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ นันทมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”

นันทมาณวปัญหานิทเทสที่ ๗ จบ

--------------------------

หมายเลขบันทึก: 711917เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2023 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2023 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท