หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก (4) พระราชวังเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง


หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก (4) พระราชวังเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในตัวเมืองหลวงพระบางที่จะไปชมได้แก่ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีสว่างวงศ์ ตรงข้ามกับพระธาตุพูสี ซึ่งในยามค่ำคืนถนนแห่งนี้จะแปรสภาพเป็นตลาดมืดจำหน่ายสินค้านานาชนิด 

เมื่อเข้าไปในบริเวณของหอพิพิธภัณฑ์ ตรงกลางเป็นถนนที่ปลูกต้นตาลเป็นแนวยาวสู่พระราชวังหลวงซึ่งด้านหลังติดกับแม่น้ำโขง ด้านขวามือเป็นหอพระบางเป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ส่วนทางด้านซ้ายตรงข้ามกับหอพระบางเป็นโรงละครพะลัก - พะลาม มีพระรูปพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ประทับยืนอยู่หน้าโรงละคร

หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง หรือ หอคำ เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วังเจ้ามหาชีวิต" สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ สืบทอดต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว ต่อมาปรับให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง โดยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและของมีค่า เช่น บัลลังก์ ธรรมาสน์ เครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคของเจ้ามหาชีวิต พระพุทธรูป และวัตถุโบราณ ภาพวาดบุคคลสำคัญ รวมทั้งเครื่องบรรณาการจากต่างประเทศ

หอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสไตล์ฝรั่งเศสและสถาปัตยกรรมลาวสไตล์ล้านช้างเข้าด้วยกันอย่างลงตัว  เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ประทับอยู่ที่นี่จนสิ้นพระชนม์ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518 จึงปรับให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง เมื่อ พ.ศ. 2519 ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโดยเสียค่าเข้าชมคนละ 30,000 กีบ หรือ ประมาณ 110 บาท สามารถถ่ายภาพได้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ห้ามถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด

นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญตามแบบฉบับของวิถีผู้ปกครอง สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนผนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส อยู่ใกล้ๆกับภาพประดับกระจกแบบเดียวกับที่วัดเชียงทองภายในห้องท้องพระโรง รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่าอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา

หอพระบางเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ สิมมีลักษณะอ่อนโค้งตามแบบหลวงพระบาง ผนังสีเหลืองทองเขียวสดใส ทางขึ้นเป็นบันไดนาค ประดับกระจกสีเขียวงดงาม ด้านในประดิษฐานพระบางศูนย์รวมจิตใจของชาวหลวงพระบาง

(ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

พระบางพุทธลาวัลย์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว ประมาณ 1.14 เมตร หล่อด้วยสำริด มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 ตามศิลปะแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืน ยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียรและพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง บั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบงและหน้านาง

พระบางเดิมประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนถึงพ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทอง อันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้าง แต่เมื่ออัญเชิญมาถึงเมืองเวียงคำ (เวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงคำจนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุนราชผู้ซึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานที่วัดวิชุนราช ในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองได้นามว่า "หลวงพระบาง" นับตั้งแต่นั้นมา

พระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางองค์นี้เคยมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีมาก่อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพเข้ายึดครองอาณาจักรล้านช้างไว้ได้ จึงได้อัญเชิญพระบางและพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้อัญเชิญพระบางไปประดิษฐาน ณ กรุงเวียงจันทน์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์ พระบางถูกอัญเชิญลงมาที่กรุงเทพฯอีกครั้ง โดยประดิษฐานที่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เนื่องด้วยความเชื่อว่าพระแก้วมรกตกับพระบางมีผีอารักษ์เป็นอริแก่กัน ถ้าอยู่ด้วยกันที่เมืองใดจะเกิดอันตรายด้วยผีวิวาทกัน ทำให้มีความทุกข์ร้อนเกิดขึ้นที่เมืองนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญพระบางกลับคืนสู่หลวงพระบาง และประดิษฐาน ณ หลวงพระบางตลอดจนถึงปัจจุบัน

 

หมายเลขบันทึก: 711067เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2023 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2023 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท