หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก (2) วัดเชียงทอง อัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง


หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก (2) วัดเชียงทอง อัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง

วัดเชียงทอง  เป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ล้านช้าง ราชวงศ์หลวงพระบาง และราชวงศ์ลาว สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้เคยปกครองทั้งล้านนาและล้านช้าง สร้างเมื่อราวพ.ศ. 2101 -2103 ก่อนที่พระองค์จะย้ายเมืองหลวงไปยังเวียงจันทน์ไม่นาน วัดเชียงทองมีสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างตอนเหนือที่งดงามมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "อัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง"

วัดเชียงทองตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง วัดนี้จึงถือเป็น "ประตูเมือง" และท่าเทียบเรือทางเหนือของตัวเมือง ซึ่งคนที่ใช้มีทั้งกษัตริย์และนักเดินทางชาวต่างชาติ วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เผาผลาญเมืองเมื่อพ.ศ. 2430 ซึ่งเกิดจากการกระทำของพวกฮ่อ

ปีพ.ศ.2042 อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดี พระไชยเชษฐาธิราชจึงย้ายเมืองหลวงไปสร้างนครหลวงเวียงจันทน์เป็นราชธานีแห่งใหม่ เมืองหลวงพระบางและวัดเชียงทองจึงถูกทิ้งร้างและหมดบทบาทลง

กระทั่งปีพ.ศ.2250 อาณาจักรล้านช้างแตกออกเป็น 3 ฝ่าย คืออาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เมืองหลวงพระบางกลับมามีอำนาจอีกครั้ง จึงมีการซ่อมแซมวัดเชียงทองเรื่อยมาทุกรัชกาล ทำให้เกิดลวดลายที่มีเอกลักษณ์ต่างจากนครเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ วัดเชียงทองจึงถือเป็นวัดประจำราชวงศ์ลาวหลวงพระบาง และถือเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมลาวล้านช้างที่มีลวดลายวิจิตรตระการตา

สิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของวัดเชียงทองคือ สิม หรือ อุโบสถ ของวัดเชียงทอง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะล้านช้างที่มีความงดงามยิ่ง และกลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา เช่น หอพระบาง วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) จังหวัดอุบลราชธานี หรือวัดวังคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
สิมหลังนี้ถือเป็นตัวอย่างของสิมแบบหลวงพระบางที่ยังสมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดอีกด้วย

เอกลักษณ์สำคัญของสิมแบบนี้คือความอ่อนโค้งที่แตกต่างจากสิมแบบอื่นๆ ด้านนอกมีลายฟอกคำที่ทำขึ้นเมื่อพ.ศ. 2471 เมื่อสิมได้รับการบูรณะ ข้างนอกจะมีทั้งภาพนิทานพื้นบ้าน เช่น พระสุธน - มโนราห์ ส่วนตรงประตูทางเข้าจะเป็นเรื่องการสักการะเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เยื้องไปทางด้านหน้าสิม คือ โรงราชรถ หรือ หอราชโกศ ราชรถที่เก็บรักษาอยู่คือราชรถไม้แกะสลักปิดทอง ส่วนโกศที่ประดิษฐานอยู่บนราชรถองค์ใหญ่เป็นของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์แห่งหลวงพระบางองค์ก่อนสุดท้าย ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา ส่วนด้านหลังเป็นของพระราชมารดาของพระองค์

ความงามของหน้าบัน บานประตู และหน้าต่าง เป็นฝีมือเฟียตัน นายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรามเกียรติซึ่งเป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติและส่งเสริมบารมีของพระมหากษัตริย์

ทางด้านหลังของสิมมีหอไหว้พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า หอไหว้สีกุหลาบเนื่องจากผนังด้านนอกเป็นสีชมพูคล้ายสีกุหลาบประดับด้วยงานกระจก เล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านที่สั่งสอนเรื่องธรรมะอย่างง่ายๆ สอดแทรกวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง และยังมีหอไหว้หลังเล็กสีชมพูอีกหลังหนึ่งประดิษฐานพระม่าน (พระพม่า) ซึ่งปกติไม่เปิดให้ชม ต้องมองผ่านรูเล็กๆตรงประตูเข้าไป แต่จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปออกมาปีละครั้ง ระหว่างวันที่ 23-27 เมษายน เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ

ด้านหลังของวัดเชียงทองเป็นถนนเลียบแม่น้ำ มีท่าเรือซึ่งสามารถเหมาเรือข้ามไปยังฝั่งเชียงแมนที่อยู่ตรงข้ามได้ หรือจะเหมาไปเที่ยวถ้ำติ่งก็ได้

หมายเลขบันทึก: 711043เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2022 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2022 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท