พิชญาอรและกิจกรรมบำบัดเพื่อให้ผู้รับบริการของเรามีงานทำ


สวัสดีค่าทุกท่าน~ พบกันอีกแล้วนะคะ ช่วงนี้พิชญาอรจะมาถี่หน่อยเพราะว่าอยู่ปี 3 แล้วก็เหมือนโตขึ้นเลยค่ะ ได้ออกนอกสถานที่มากขึ้น ได้ใช้สิ่งที่เรียนมากับสถานการณ์จริงมากขึ้น อย่างล่าสุดไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะเขียนบันทึกฉบับนี้ก็พึ่งผ่านประสบการณ์ใหม่ ๆ ของวิชาจิตสังคมมาเลยค่ะ คือการได้ออกไปเจอผู้รับบริการจริง ได้ลองสัมภาษณ์ ประเมินแบบและออกแบบกิจกรรมกลุ่มจริง ตื่นเต้นจัง และแน่นอนว่าไม่ได้ออกไปเฉย ๆ แน่นอน เพราะพิชญาอรได้รับโจทย์เป็น “จากข้อมูลภาวะเปราะบางให้ออกแบบกิจกรรมบำบัดรายบุคคลให้ไปถึงเป้าหมายคือมีการงานทำโดยพึ่งพิงคนอื่นน้อยที่สุด” จะเป็นอย่างไร ไปชมกันเลยค่า

 

      โดยเคสของพีนเป็นผู้รับบริการเพศหญิง อายุ 37 ปี ได้รับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นจิตเวช (จากการเสพสารเสพติด) ได้คะแนนในแบบประเมิน PFFS-T 13 คะแนน ระดับความเปราะบางปานกลาง และจาก High 2+ Scores คืองาน ล้า ว้าเหว่ค่ะ

 

     จากการสัมภาษณ์ผู้รับบริการเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน ผู้รับบริการเล่าว่าเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กศน. ที่ศูนย์พักพิง อดีตเคยทำอาชีพรับสบู่ลดสิวมาขายออนไลน์ ส่วนปัจจุบันมีความคิดที่อยากจะออกจากศูนย์พักพิงมาทำอาชีพขายเสื้อผ้ามือ 2 ที่ตลาด โดยมีการเรียงลำดับขั้นตอนเบื้องต้นไว้ดังนี้ เริ่มจากยืมเงินลงทุนจากญาติประมาณ 10000 บาท แล้วไปรับผ้าจากตลาดปัฐวิกรณ์ จัดพื้นที่สำหรับขายที่หน้าร้าน และโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต

     เนื่องจากผู้รับบริการค่อนข้างทราบองค์ประกอบและแนวทางคร่าว ๆ ในการขายเสื้อผ้าออนไลน์ นักกิจกรรมบำบัดจึงอาจชวนพูดคุยเกี่ยวกับรายละเอียดที่มากขึ้น เช่น จะขายเสื้อผ้าประเภทใด? เสื้อผ้าที่จะขายเป็นสไตล์ไหน? ราคาประมาณไหน? จะขนเสื้อผ้าไปอย่างไร? ตั้งหน้าร้านไว้แถวไหนที่คิดว่าจะทำให้ขายได้ดีที่สุด? ต้องติดต่อใครบ้าง? จะเปิดปิดร้านกี่โมง? แนวทางการโปรโมทร้านเป็นอย่างไร ผ่านช่องทางใดบ้าง? เป็นต้น รวมถึงคำถามเพิ่มเติมอย่าง คิดว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค? จะทำอย่างไรหากเงินทุนไม่พอหรือไม่สามารถขอยืมจากญาติได้? ทำอย่างไรหากขายไม่ได้และขาดทุน? รับมืออย่างไรเมื่อเจอลูกค้าไม่น่ารัก? จะทำอย่างไรเมื่อเริ่มรู้สึกเหนื่อย? เพื่อให้ผู้รับบริการมีการเตรียมตัวแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอน เป็นการเพิ่มความมั่นใจในการทำงานด้วยเช่นกัน

     นักกิจกรรมบำบัดจะต้องออกแบบกิจกรรมที่กระตุ้นกับทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ผู้รับบริการต้องพัฒนาเพิ่มเติม อย่างทักษะทาง Cognitive ด้านต่อไปนี้

  • Attention เพื่อให้ผู้รับบริการจดจ่อกับงานได้ เช่น ขณะพูดคุยกับลูกค้า ขณะโปรโมทในอินเทอร์เน็ต ขณะนับสต๊อกของ อาจฝึกให้ผู้รับบริการพูดกระตุ้นเตือนตนเองขณะทำกิจกรรม หรือมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ค่อย ๆ เพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมให้มากขึ้น อย่างนับสต๊อก 10 นาทีแล้วพัก เปลี่ยนเป็น 30 นาทีต่อเนื่อง เป็นต้น 
  • Visuospatial/Executive ความสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็นกับมิติสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถจัดร้านได้ตามที่ต้องการ อาจให้ผู้รับบริการวางแผนการจัดร้านวาดใส่กระดาษเป็นภาพ 2 มิติก่อน จากนั้นค่อยนำภาพหลาย ๆ มุมมาประกอบกันเป็น 3 มิติ เป็นต้น
  • Memory จดจำรายละเอียดเกี่ยวกับงาน อย่างจำนวนเสื้อผ้า ราคาเสื้อผ้า รูปแบบเสื้อผ้า จุดเด่นของเสื้อผ้าแต่ละแบบ ความแตกต่างของผ้าแต่ละชนิด รวมถึงสิ่งที่ต้องทำประจำวัน โดยอาจใช้เทคนิคชดเชยแทน เช่น การจดบันทึกข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ การแปะป้ายไว้ที่เสื้อผ้า การใช้ To Do List ฯลฯ
  • Executive Function ด้าน Problem solving โดยอาจฝึกผ่านสถานการณ์สมมุติ เช่น เมื่อลูกค้าไม่พอใจผู้รับบริการจะทำอย่างไร เมื่อลูกค้าขอต่อราคาควรให้เท่าไรจึงจะเหมาะสม

 

     นอกจากทักษะด้านการรู้คิดแล้ว ด้านทักษะในการสื่อสารก็เช่นกันค่ะ เนื่องจากผู้รับบริการมีอาการเบลอ ตอบคำถามช้า ง่วงนอน ไม่สบตาผู้พูด ไม่เริ่มสนทนากับผู้อื่นก่อน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่ออนาคต เนื่องจากอาชีพแม่ค้าออนไลน์ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนมากมาย เช่น บอกรูปแบบเสื้อผ้าที่ต้องการกับเจ้าของร้านขายของมือสองที่ปัฐวิกรณ์ ติดต่อขอเช่าที่ ติดต่อรถขนของ พูดคุยกับลูกค้า และสื่อสารให้ข้อมูลกับลูกค้าในช่องทางออนไลน์ ดังนั้น กิจกรรมที่เลือกมาเป็นสื่อในการพัฒนา คือให้ผู้รับบริการแสดงบทบาทสมมุติกับผู้บำบัด โดยลองพูดรายละเอียดที่จดไว้ในบันทึกเกี่ยวกับรูปแบบเสื้อผ้าต่าง ๆ อย่างครบถ้วนให้ผู้บำบัดเข้าใจ  ค้นหาเบอร์โทรศัพท์ของคนที่จะติดต่อและพูดบอกความต้องการไป ทดสอบการเรียกลูกค้าเข้าร้าน ซักซ้อมพูดขายสินค้า ปรับรูปแบบคำพูดให้จูงใจผู้ซื้อ ตั้งใจฟัง สบตาผู้สนทนา อธิบายข้อมูลของสินค้าชัดเจน อาจดูข้อมูลจากสมุดบันทึกที่พกติดตัวเพื่อให้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้รวดเร็ว แนะนำสินค้าที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ รวมถึงการควบคุมอารมณ์ ไม่เผลอใช้อารมณ์กับลูกค้า พยายามหาสิ่งต่าง ๆ ทำเสมอเพื่อไม่ให้ง่วงนอนในเวลางาน เช่น จัดของในเวลาที่ไม่มีลูกค้า ทำความสะอาด นับเงิน วางแผนสำหรับวันต่อไป เป็นต้น

.

.

.

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ส่วนตัวแล้วรู้สึกท้าทายมากค่ะ เนื่องจากเคยไปนอกสถานที่แบบดูผู้รับบริการหนึ่งต่อหนึ่งครั้งแรกเลย หากทุกท่านมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ที่ช่องคอมเมนต์เช่นเดิมได้นะคะ วันนี้พิชญาอรขอตัวลาไปก่อน สวัสดีค่า~

 

พิชญาอร มังกรกาญจน์ 6323012

หมายเลขบันทึก: 710492เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท