การพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อประกอบอาชีพในผู้รับบริการกลุ่มเปราะบาง


สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านอีกครั้งนะคะ จากครั้งก่อนที่ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในกรณีศึกษาที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี ในครั้งนี้จะมาแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้กลับไปจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานสู่การประกอบอาชีพในอนาคตกันค่ะ ก่อนอื่นมาดูกันว่าจากการจัดกิจกรรมในครั้งนั้นจะมีผลการประเมินเป็นอย่างไร ఇ. ̫ .ఇ

กรณีศึกษา 

คุณ อาภา (นามสมมติ) เพศ หญิง อายุ 24 ปี 

Dx Schizophrenia (F20)

Allen cognitive level 5.2

ประวัติผู้รับบริการ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ามาใช้บริการที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรีเมื่อเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2564 ปัจจุบันผู้รับบริการทานยาจิตเวชวันละ 5 เม็ด (เช้า-เย็น) และยาถ่าย 2 เม็ด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย มีอาการทางจิตทุเลาลง สามารถดูแลตนเองได้ พูดคุยได้รู้เรื่อง 

ผลการประเมินซ้ำ และปัญหาที่พบในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2565

  • ผู้รับบริการสามารถระบุได้ว่าเมนูที่จะทำคือเมนูอะไรเมื่อนักศึกษาผู้ประเมินนำวัตถุดิบเข้ามา และบอกว่าตนเองชอบรับประทานแซนด์วิช
  • ผู้รับบริการสามารถลงมือทำแซนด์วิช และสลัดโรลของตนเองได้สำเร็จ มีการกระตุ้นจากนักศึกษาในบางขั้นตอนขณะทำกิจกรรม
  • ผู้รับบริการแสดงความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเมื่อมีเสียงพูดคุยจากกลุ่มข้างเคียง หรือมีกลิ่นอาหารจากกลุ่มอื่น ทำให้ลืมขั้นตอนในการทำอาหารบางขั้นตอน จึงมีการใช้ภาพวิธีการทำเพื่อกระตุ้นให้ผู้รับบริการทำอาหารได้ครบทุกขั้นตอน
  • เมื่อสอบถามความรู้สึก ผู้รับบริการบอกว่ารู้สึกภูมิใจ สลัดโรลอร่อย และสอบถามเพิ่มเติมว่า หากทางสถานคุ้มครองฯ จัดกิจกรรมให้ไปร่วมกันทำอาหาร ผู้รับบริการจะเข้าร่วมหรือไม่ ผู้รับบริการบอกว่า ไม่เข้าร่วม 

ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการเลือกกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานจากการประเมินวันที่ 6 ตุลาคม และ 20 ตุลาคม พ.ศ.2565

  • ผู้รับบริการบอกว่าตนเคยช่วยคุณลุง คุณป้าขายอาหาร แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ในส่วนของการปรุงอาหาร ทำหน้าที่ในการจัดเก็บทำความสะอาด และบอกว่าตนนั้นไม่ชอบทำอาหาร เพราะรู้สึกว่าตนเองทำไม่อร่อย
  • ผู้รับบริการทำหน้าที่เป็นคนทำความสะอาดเสื้อผ้าให้แก่สมาชิกภายในหอพักของตน ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน
  • ผู้รับบริการสามารถทำกิจกรรมทำกรอบรูป D.I.Y ได้ ซึ่งในขั้นตอนการพับกระดาษ ผู้รับบริการทำได้เป็นอย่างดี รีดขอบกระดาษได้สวยงาม มีความคม

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ดิฉันจึงเลือก “กิจกรรมพับเสื้อแบบร้านซักรีด” ในการพัฒนาทักษะในการทำงาน เนื่องจากผู้รับบริการมีความคุ้นเคยกับการทำความสะอาด และจัดเก็บเสื้อผ้า การทำกิจกรรมพับเสื้อจึงเหมาะกับประสบการณ์ที่ทำในชีวิตประจำวัน และจะมีการฝึกพับเสื้อ 3 ประเภท เพื่อให้ผู้รับบริการได้วางแผน และตัดสินใจว่าการพับเสื้อแต่ละประเภท จะมีขั้นตอนการพับเป็นอย่างไร

วัสดุ และอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม

  • เสื้อยืด
  • เสื้อเชิ้ต
  • เสื้อคอปก

ขั้นตอนในการจัดกิจกรรม

  • ในขั้นตอนแรกจะมีการอธิบายว่าจะมีเสื้อ  3 ประเภทมาให้ผู้รับบริการได้ฝึกพับ ซึ่งแต่ละประเภทจะมีขั้นตอนในการพับที่แตกต่างกันเล็กน้อย
  • มีการสาธิตวิธีการพับเสื้อแต่ละประเภท โดยเมื่อจบหนึ่งประเภท จะให้ผู้รับบริการได้ลงมือทำ และทำเช่นนี้จนครบทั้ง 3 ประเภท จากนั้นสอบถามผู้รับบริการว่าต้องการจะลองพับเสื้อเพิ่มอีกหรือไม่ หากผู้รับบริการต้องการ จะมีการให้ผู้รับบริการพับเสื้อเพิ่มอีกประเภทละ 1 ตัว
  • เมื่อจบการฝึกกิจกรรมจะมีการพูดคุย แนะนำกับผู้ดูแลประจำหอพักให้ช่วยส่งเสริมให้ผู้รับบริการพับเสื้อในรูปแบบตามที่ฝึก เพื่อให้เกิดเป็นทักษะในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และพัฒนาไปสู่การประกอบอาชีพ แนะนำการจัดสิ่งแวดล้อมขณะทำกิจกรรมให้เป็นสถานที่ที่มีความเงียบ มีคนจำนวนน้อย เพื่อเพิ่มช่วงความสนใจให้ผู้รับบริการสามารถทำตามขั้นตอนได้ครบถ้วนและถูกต้อง

6323024 ปัทมา บัวทิม นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 710254เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2022 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2022 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท