"การเสียดินแดน ครั้งที่ 11 ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้กับฝรั่งเศส"


การเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446

การสูญเสียดินแดนครั้งที่ 11 - การสูญเสียดินแดนของไทย

 

*สาเหตุของการเสียดินแดน

   - สาเหตุของการเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446 นั้น สืบเนื่องมาจากปัญหาสองประการคือ
   -ประการแรก ผลของการตีความในสนธิสัญญาที่ลงนามเืมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 โดยเฉพาะในข้อ 3 และข้อ 4 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขต 25 กิโลเมตร ดังนี้
   * ข้อ 3 คอเวอนเมนต์สยาม จะไม่ก่อสร้างด่าน ค่ายคูหรือที่อยู่ของทหารในแขวงเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และในจังหวัด 25 กิโลเมตร (625 เส้น) บนฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขง
  *ข้อ 4 ในจังหวัดที่กล่าวไ้ว้แล้วในข้อ 3 นั้น บรรดากองตระเวนรักษาจะมีแต่กองตระเวนเจ้าพนักงานเมืองนั้นๆ กับคนใช้เป็นกำลังเพียงจำเป็นแท้ และทำการตามอย่างเช่นเคย รักษาเป็นธรรมเนียมในที่นั้นๆ จะไม่มีพลประจำหรือพลเกณฑ์ สรรพค่าย เป็นพลทหารอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งอยู่ที่นั้นด้วย

     ผลของสัญญาดังกล่่าวในข้อ 3 ซึ่งห้ามไม่ให้สร้างซ่อมด่าน ค่าย คู นั้น ทำให้รัฐบาลไทยไม่อาจป้องกันการรุกรานของฝ่ายลาวหลวงพระบางได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่วนข้อความในสนธิสัญญาข้อที่ 4 นั้น รัฐบาลไทยตีความว่า ไทยจะไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปในเขต 25 กิโลเมตร ซึ่งไม่ได้รวมถึงข้าราชการพลเรือนด้วย แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับตีความว่า ห้ามส่งข้าราชการพลเรือนด้วย ฝรั่งเศสจึงขับไล่ข้าราชการพลเรือนของไทยออกจากบริเวณดังกล่าว แล้วฝรั่งเศสก็ส่งข้าราชการจากหลวงพระบางเข้าไปปกครองดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขต 25 กิโลเมตรนั้นเสียเอง ดังนั้นสนธิสัญญาข้อ 3 และข้อ 4 นี้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบอย่างยิ่งของไทยในการป้องกันรักษาดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง 

   -ประการที่สอง สาเหตุของการเสียดินแดนฝั่งขวา สืบเนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงบ่อเกลือ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณต้นแม่น้ำน่าน เมืองที่มีบ่อเกลือมากได้แก่ เมืองเงิน หรือเมืองกุสาวดี จึงเกิดปัญหาโต้แย้งกันบ่อยที่สุดและเป็นเมืองอยู่ในเขต 25 กิโลเมตร ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยตั้้งอยู่ริมแม่น้ำเงินซึ่งไหลลงแม่น้ำโขง ประกอบกับเป็นเมืองที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองไม่น้อยกว่า 5,000 คน ราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อสายเป็นลื้อ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองสิง สิ่งต่างๆ ดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยยั่วยุให้ฝรั่งเศสคิดครอบครองบริเวณส่วนนี้มากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราษฎรในเมืองเงินซึ่งเป็นพวกลื้อ มีความจงรักภักดีต่อเจ้าเมืองน่านมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกลี้ยกล่อมของฝรั่งเศสไม่น้อย นอกจากเมืองเงินหรือเมืองกุสาวดี ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของปัญหาต่างๆ แล้ว ยังมีเมืองที่อยู่ในเขต 25 กิโลเมตร เช่น เมืองคอบ เมืองเชียงลม และเมืองเชียงฮ่อน ล้วนต้องประสบปัญหาการแทรกแซงจากฝรั่งเศสทั้งสิ้น

  -การดำเนินงานของฝรั่งเศส เพื่อแทรกแซงในดินแดนส่วนนี้นั้น ใช้หลวงพระบางเป็นแนวหน้า โดยฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้เจ้าหลวงพระบาง ส่งคนเข้าแทรกแซงฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตเมืองน่าน และให้เจ้าหน้าที่กงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองน่าน สนับสนุนการกระทำของเจ้าหลวงพระบาง ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี ร.ศ. 114 หรือปี พ.ศ. 2438 เป็นต้นมา ม.ฮารดูวิน รองกงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองน่าน ได้เสนอความเห็นสนับสนุนการกระทำของเจ้าหลวงพระบางต่อพระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงประจำเมืองน่านว่า ฝรั่งเศสเห็นด้วยกับเจ้าหลวงพระบางในการที่อ้างว่า ดินแดนหัวเมืองริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นดินแดนที่เคยขึ้นกับหลวงพระบางมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ความจริงฝรั่งเศสก็ได้ยอมรับในสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของไทย ในเรื่องนี้ ฝ่ายไทยจึงไม่ยอมเพราะถือว่าเมืองเหล่านั้น เป็นเมืองขึ้นของเมืองน่านมาช้านานแล้ว ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิครอบครองดินแดนส่วนนี้กัน

   -จากการที่ฝรั่งเศสได้แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างจริงจังดังกล่าว ทำให้เจ้าหลวงพระบางกำเริบใจยิ่งขึ้นถึงกับจัดส่งพระยาเมืองแพนพร้อมกับทหาร และข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองเงิน แล้วให้ดำเนินการปกครอง จัดเก็บภาษีอากรต่างๆ โดยพลการ ทั้งๆที่ขณะนั้น เจ้าเมืองน่านได้จัดการปกครองเมืองเงินให้เป็นที่เรียบร้อยอยู่แล้ว โดยมีหนานสุทธิสาร บุตรชายเจ้าเมืองน่านเป็นผู้รักษาราชการเมืองเงิน สถานการณ์ในเมืองเงินขณะนั้น จึงอ้างสิทธิและแย่งชิงกัน

   -นอกจากเจ้าหลวงพระบางจะส่งคนเข้ามาปกครองในดินแดนดังกล่าวแล้ว เจ้าหลวงพระบางยังได้ดำเนินการแทรกแซงไทยด้วยวิธีการต่างๆ อีก เช่น ห้ามไม่ให้ข้าราชการพลเรือนฝ่ายไทยเข้าไปในเขต 25 กิโลเมตร ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงซึ่งฝรั่งเศสได้ประกาศว่า เป็นแผ่นดินกลางที่ยังไม่ตกลงว่าเป็นของฝ่ายใดแน่ แต่พวกหลวงพระบางกลับเข้ามาเกลี้ยกล่อมให้ราษฎรฝั่งขวาแม่น้ำโขงอพยพไปอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส ผู้ใดขัดขืนจะบังคับจับกุมตัวไป โดยพวกหลวงพระบางได้ขยายขอบเขตการแทรกแซงเข้าสู่เมืองอื่นๆ นอกจากเมืองเงินด้วย เช่น การส่งคนเข้าปกครอบเมืองคอบ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้งฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของหลวงพระบาง ยังได้แสดงอาการคุกคามไทยอย่างเด่นชัด เช่น กรณีทหารฝรั่งเศสยกกำลังเข้ายึดบ่อเกลือที่ตำบลบ่อเจ้า

   -การแทรกแซงและคุกคามไทยด้วยลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ทางรัฐบาลไทยไม่ได้โต้ตอบอย่างรุนแรง แต่ตลอดเวลาไทยกลับใช้นโยบายทางการฑูตเจรจากับฝรั่งเศส เพราะไทยต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธกับฝรั่งเศส ด้วยเข้าใจดีว่าหากเกิดการปะทะกัน ไทยจะต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างแน่นอน ทั้งนี้นับเป็นบทเรียนที่ไทยได้รับมากจากการปะทะกันที่ปากน้ำในวิกฤตกาล ร.ศ. 112 เมื่อพ.ศ.2436 นั่นเอง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางฑูตเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีขึ้นได้อย่างเต็มที่นัก ดังนั้น รัฐบาลไทย จึงได้พยายามดำเนินนโยบายออกคำสั่งไม่ให้ผู้ว่าราชการเมืองทุกเมืองที่อยู่ในเขต 25 กิโลเมตร ของฝั่งขวาแม่น้ำโขงถอนตัวออกตามคำสั่งของฝ่ายหลวงพระบางเป็นอันขาด แม้จะถูกข่มขู่เพียงใด ผู้ว่าราชการเมืองก็จะต้องรักษาเมืองไว้ให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและอธิปไตยของไทยในดินแดนเหล่านั้นให้ถึงที่สุด หากไทยถอนตัวออกก็เท่ากับปล่อยให้ฝ่ายหลวงพระบางปกครองอยู่ฝ่ายเดียว อันนำไปสู่การยึดครองของฝรั่่งเศส ซึ่งจากคำสั่งให้ผู้ว่าราชการเมืองทุกเมืองในเขต 25 กิโลเมตร รักษาเมืองจนถึงที่สุดนี้เอง รัฐบาลจึงได้อนุญาตให้แต่ละเมืองมีการกะเกณฑ์กำลังป้องกันตนเองเตรียมพร้อมเพื่อรักษาดินแดนส่วนนั้น อย่างไรก็ตาม หากฝรั่งเศสขับไล่ถึงขั้นใช้อาวุธปะทะกันแล้ว แต่ละเมืองจะต้องใช้กำลังในท้องถิ่นของตน ป้องกันเมืองเอง ไม่ต้องเกณฑ์กำลังจากเมื่องอื่นๆ ไปช่วย ทั้งนี้เพื่่อป้องกันมิให้การปะทะนั้นลุกลามกลายเป็นสงครามขึ้น

   -ในขณะเดียวกันข้าหลวงเมืองน่าน ก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการชี้แจงให้ข้าราชการและราษฎรทั้งหลายได้ทราบว่า ดินแดน 25 กิโลเมตร ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้นเป็นส่วนของไทย ไม่ใช่ดินแดนของกลางดังที่ฝรั่งเศสอ้าง ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการ และราษฎรในบริเวณนั้น เข้าใจในความเป็นจริง จะได้ร่วมมือร่วมใจกันรักษาดินแดนส่วนนั้น รวมทั้งไม่ต้องยอมเสียเงินให้แก่ฝ่ายหลวงพระบางอีก

   -อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกรานของหลวงพระบางและฝรั่งเศสนั้น ไม่เ็ป็นผลสำเร็จเ่ท่าที่ควร เพราะฝรั่งเศสมีความปรารถนาที่จะครอบครองดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง ประกอบกับฝ่ายไทยไม่ต้องการโต้ตอบด้วยการใช้อาวุธอย่างเต็มที่ ทำให้การป้องกันการรุกรานเป็นไปด้วยความยากลำบากและเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวก็ทรงตระหนักในเหตุผลเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากพระราชกระแสที่ทรงมีถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพตอนหนึ่งว่า
   …ฉันยังไม่แลเหรหนทางอย่างใด ซึ่งจะป้องกันพวกหลวงพระบางไม่ให้รุกเหลือมเอาเขตแดนตามอำเภอใจได้…”
    -หนทางแก้ไขปัญหาการรุกรานของฝ่ายหลวงพระบางจึงมีทางเดียว ดังที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ ร.ศ. 114 (พ.ศ.2438) คือจำเป็นจะต้องยกดินแดนฝั่งขวาให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งในระยะแรก ที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนอความเห็นดังกล่าวนี้ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการทันที แต่ครั้นเมื่อการแก้ไขปัญหาในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ต้องประสบความล้มเหลวเรื่อยมา ไทยไม่อาจรักษาดินแดนส่วนนี้ไว้ได้จริงๆ จำเป็นต้องยกให้แก่ฝรั่งเศสไป ดังนั้น ปัญหาการรุกรานฝั่งขวาแม่น้ำโขงของฝ่ายหลวงพระบางและฝรั่งเศส ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2438 ก็ได้ยุติลงเมื่อฝ่ายไทยยินยอมยกดินแดนส่วนนี้ให้แก่ฝรั่งเศส โดยลงนามในสนธิสัญญา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) ซึ่งมีสาระสำคัญระบุไ้ว้ในสัญญาข้อ 2 ว่า
” ฝ่ายเขตแดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเมืองพิไชยกับเมืองน่านนั้น เขตแดนตั้งแต่ปากน้ำเหืองที่แยกแม่น้ำโขงเนื่องไปตามกลางลำน้ำเหือง จนถึงที่แยกปากน้ำตามเลยขึ้นไปตามลำน้ำจนบันจบถึงยอดภูเขาปันน้ำ ในระหว่างดินแดนตกแม่น้ำโขงและดินแดนแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่เขาภู แดนดินตั้งแต่ที่นี้ เขตแดนต่อเนื่องไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่น้ำโขง และดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยาจนบันจบถึงปลายน้ำคอบแล้ว เขตแดนต่อเนื่องไปตามลำน้ำจนบันจบไปกับแม่น้ำโขง”

   -จากสาระสำคัญของสัญญาดังกล่าว ไทยต้องสูญเสียดินแดนหัวเมืองฝั่งขวาที่ขึ้นกับเมืองน่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพให้แก่ฝรั่งเศสไป หัวเมืองที่อยู่ในบริเวณเหล่านี้ได้แก่ เมืองเงินหรือเมืองกุสาวดี เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อนและเมืองคอบ นั่นเอง

    เหตุผลที่ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนดังกล่่าวให้แก่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะไทยต้องการยุติปัญหาการแย่งชิงเมืองเงินระหว่างเมืองน่านกับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งทั้งสองได้เข้าแย่งกันปกครองจนเกิดการวิวาทถกเถียงกันเสมอ โดยทุกครั้งไทยต้องพยายามอดกลั้นไม่ใช้กำลังโต้ตอบตลอดมา เพราะไม่ปรารถนาจะประจัญหน้ากับฝรั่งเศส ผู้สนับสนุนการกระทำของฝ่ายหลวงพระบาง ฉะนั้น เพื่อยุุติปัญหาที่ยืดเยื้อ ไทยจึงจำเป็นต้องยกเมืองเงินหรือเมืองกุสาวดี และเมืองอื่นๆ ในบริเวณนั้นให้แก่ฝรั่งเศสตามต้องการ ซึ่งเป็นผลใหการคุกคามของฝรั่งเศสทางด้านมณฑลพายัพยุติลงด้วย ทำให้ฝ่ายไทยมีโอกาสจัดการปกครองภายในมณฑลพายัพได้อย่างเต็มที่ขึ้น นอกจากนั้นการสูญเสียดินแดนดังกล่่าว เพื่อแลกกับการเลิกยึดครองเมืองจันทบุีรีที่ฝรั่งเศสยึดไว้เป็นประกัน

    -การสูญเสีียเขตแดนล้านนาด้านฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตเมืองน่านแก่จักรวัรรดินิยมดังกล่าวทำให้แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงซึ่งควรใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศสยามกับพม่า และสยามกับลาว เปลี่ยนแปลงงไป เพราะพรมแดนได้ขีดเข้าไปในบริเวณป่าเขาที่ไม่ชัดเจน เป็นปัญหาต่อการรุกล้ำได้ง่าย และยากต่อการป้องกันประเทศตามรอยชายแดนที่ผ่านป่าเขา ผลกระทบจากการเสียดินแดนในครั้งนั้น จึงมีผลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 709479เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2022 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท