Diversional Therapy :)


        Diversional Therapy คือ การบำบัดโดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญแก่ความต้องการของผู้รับบริการว่าผู้รับบริการมีความต้องการ ความสนใจในกิจกรรมอะไร เป้าหมายหลักของการบำบัดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการพัฒนาและสนับสนุนความต้องการทางร่างกาย สังคม จิตวิญญาณ อารมณ์ และจิตใจของผู้รับบริการ 

    วันนี้ดิฉันจะมาบอกเล่าประสบการณ์การจัดกิจกรรมโดยใช้หลักการของ Diversional Therapy ในการให้กิจกรรมแก่ผู้รับบริการที่มีปัญหาจิตเภทโดยดิฉันได้ไปพูดคุย ประเมินและให้กิจกรรมการรักษาให้แก่ผู้รับบริการที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดนนทบุรี

     ดิฉันได้เจอกับคุณแอ(นามสมมติ) อายุ 46 ปี เป็นผู้ป่วยจิตเภท มีอาการเหม่อลอย ไม่มองหน้าสบตาเวลาพูดคุยตอบคำถามต้องกระตุ้นให้หันมาสบตาผู้บำบัด ไม่สามารถคงความสนใจขณะพูดคุยตอบคำถามได้มีอาการเหม่อลอยอยู่ตลอดการพูดคุย มีการขยับขาสั่นขาขณะพูดคุย สามารถตอบคำถามได้ตรงประเด็น ชัดเจน หลังจากทำการประเมินโดยใช้แบบประเมิน Mini cog พบว่าคุณแอมีปัญหาในเรื่องของการจดจำ(Memory) ไม่สามารถจดจำคำศัพท์และเรียกคืนคำที่จดจำเมื่อสักครู่ได้(Recall memory) และประเมินโดยใช้แบบประเมิน MoCa พบว่ามีความเสี่ยงมีภาวะสมองเสื่อม(MCI) ความต้องการหลักของคุณแอคือการกลับไปประกอบอาชีพค้าขายเช่นเดิม กิจกรรมที่คุณแอชอบทำ คือ กิจกรรมการวาดภาพ พับกระดาษ ทำอาหาร และปลูกต้นไม้ 

     หลังจากที่ดิฉันได้พูดคุยและประเมินคุณแอแล้วจึงนำมาสู่การเลือกใช้กิจกรรมในการบำบัดรักษาและให้การรักษาแบบบุคคล PERMA โดย Diversional Activity ที่ดิฉันเลือกให้กับคุณแอ คือ กิจกรรมทำโมบายกระดาษ 

     เหตุผลที่ดิฉันเลือกกิจกรรมการทำโมบายกระดาษมาเป็นกิจกรรมการรักษา เพราะผู้รับบริการมีปัญหาในเรื่องของการคงความสนใจ(Attention) มีอาการเหม่อลอยไม่มองหน้าสบตาเวลาพูดคุย มีปัญหาในเรื่องของความจำ การจดจำ(Memory) มีความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม(MCI) การทำโมบายกระดาษเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ ใช้ความสนใจในการทำกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่มีขั้นตอนหลายขั้นตอน ซึ่งการที่ผู้รับบริการได้ทำกิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของการจดจำและทำตามขั้นตอน การคงความสนใจ รวมถึงส่งเสริมในเรื่องของการคิด ต้องใช้ความคิดในการออกแบบวางแผน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรม ส่งเสริมการทำงานประสานสัมพันธ์ของร่างกายและเป็นกิจกรรมที่ผู้รับบริการมีความชื่นชอบสนใจอีกด้วย

กระบวนการในการใช้ Diversional Activity ของดิฉันเริ่มจาก 

1.พูดคุยถึงกิจกรรมที่ผู้รับบริการจะได้ทำในวันนี้ กระตุ้นให้ผู้รับบริการมีความตื่นตัวก่อนเริ่มทำกิจกรรม บอกวัตถุประสงค์ แนะนำวัสดุและอุปกรณ์โดยดิฉันได้ให้ผู้รับบริการลองบอกวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมเพื่อเป็นการกระตุ้นการรู้คิดของผู้รับบริการ จากนั้นจึงบอกขั้นตอนการทำกิจกรรมทั้งหมดให้ผู้รับบริการทราบรวมถึงมีตัวอย่างผลงานให้ผู้รับบริการดูเป็นตัวอย่างเพื่อทำให้ผู้รับบริการเห็นภาพรวมทำให้เข้าใจในผลงานที่ต้องทำและเป็นการเสริมสร้างแรงทางบวกในการทำกิจกรรมของผู้รับบริการ

2.เริ่มให้ผู้รับบริการทำกิจกรรม โดยขั้นตอนในการทำกิจกรรมมีดังนี้ คือ 

  1. วาดรูปแบบที่ต้องการทำเป็นโมบายลงบนกระดาษ โดยในขั้นตอนนี้ให้ผู้รับบริการได้ออกแบบได้ตามความต้องการ สามารถคิดสร้างสรรค์ได้เอง 
  2. ตัดกระดาษตามที่วาดไว้ 
  3. ติดกระดาษลงบนเชือกที่เตรียมไว้ตามรูปแบบที่ต้องการตามสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เอง 4)พักเชือกไว้แล้วนำไหมพรมมาพันลงที่ตะเกียบเพื่อทำเป็นที่แขวน 
  4. นำเชือกที่ติดกระดาษไว้มาผูกกับตะเกียบที่พันไหมพรมแล้ว 
  5. ผูกเชือกที่ตะเกียบเพื่อเป็นสายห้อยเป็นอันเสร็จ โดยในการทำกิจกรรมดิฉันจะบอกขั้นตอนในตอนแรกเพียงครั้งเดียวเพื่อให้ผู้รับบริการได้ฝึกเรื่องของการสนใจจดจ่อ การจดจำ และดูถึงทักษะการแก้ไขปัญหาของผู้รับบริการ

3.หลังจากทำผลงานสำเร็จจึงให้ผู้รับบริการลองเล่าถึงผลงาน เล่าความรู้สึกของตนเองในการทำกิจกรรมโมบายกระดาษในครั้งนี้ และผู้บำบัดสอบถามความรู้สึกแบบ PERMA แก่ผู้รับบริการเพื่อดูถึงความรู้สึกในการทำกิจกรรมนี้ว่ามีคุณค่าแก่ผู้รับบริการอย่างไร

   ในการทำกิจกรรมโมบายกระดาษผู้รับบริการสามารถทำกิจกรรมได้ด้วยตนเอง สามารถทำตามขั้นตอนได้ผ่านการจดจำที่ผู้บำบัดบอกขั้นตอนและผ่านการดูตัวอย่าง ผู้รับบริการมีความสนใจจดจ่อ การคงสมาธิที่ดีขึ้น สามารถจดจ่อได้จนจบกิจกรรมแต่อาจมีบางครั้งที่หันเหความสนใจในระดับวินาทีหันมองที่อื่นแต่สามารถหันกลับมาทำกิจกรรมต่อได้ด้วยตนเอง สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยผู้บำบัดคอยช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย หลังจากทำกิจกรรมผู้รับบริการมีความสุขเมื่อได้เห็นผลงานของตนเอง รู้สึกเพลิดเพลินเมื่อได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ คุณแอรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถแม้ไม่เคยทำโมบายมาก่อนแต่สามารถทำออกมาเป็นชิ้นงานได้

 

นางสาวอรุณี ดอกมะลิ รหัสนักศึกษา 6323032 นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หมายเลขบันทึก: 709358เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2022 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2022 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท