"ชาวขอม และปราสาทขอม ในประเทศไทย"


 “ขอม” คืออะไร

ขอม กับ เขมร เป็นชาติพันธุ์ เดียวกันหรือเปล่าครับ ..แล้วปัจจุบัน ทำไมไม่มี ใครเรียก ขอม กันเลย - Pantip

  * -“ขอม” เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ ชื่อชนชาติ 

  * -"ขอม"  หมายถึง  คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน 

  -ทางใต้ของแคว้นสุโขทัย อาจจะหมายถึงพวก ละโว้ (หรือ ลพบุรี)

  -เอกสารทางล้านนา เช่น จารึกและตำนานต่างๆ ล้วนระบุสอดคล้องกันว่า

    “ขอม" คือพวกที่อยู่ทางใต้ของล้านนา (ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย)            -คำว่า ”ขอม" สัญนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เขมร”+”กรอม” (ที่แปลว่าใต้) พูดเร็วๆ กลายเป็น “ขอม”

    -พวกนี้ตัดผมเกรียน และนุ่งโจงกระเบน กินข้าวเจ้า ฯลฯ 

    -แคว้นละโว้  มีชื่อในตำนาน และพงศาวดารว่า กัมโพช เลียนอย่างชื่อ กัมพูชา ของเขมร นับถือทั้งฮินดูและพุทธมหายาน 

    -อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนอธิบายไว้ว่า 

   "ขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดู หรือพุทธมหายาน เป็นได้ชื่อว่า ขอม ทั้งหมด 

    -ขอมไม่ใช่ชื่อชนชาติ เพราะไม่มีชนชาติขอม แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ สยาม

   *ขอม เขมร ขะแมร์

     -เดิม ขอม ไม่ได้หมายถึง เขมรกลุ่มเดียว เพราะ เขมร นั้น เป็นคำไทย ซึ่ง หมายถึง ขะแมร์ 

     -ชาวเขมร ไม่ได้เรียกตัวเองว่า “ขอม” และไม่รู้จัก “ขอม” 

     -โดยคำว่า “เขมร” ได้ปรากฏขึ้นอย่างน้อย ๆ เมื่อ พ.ศ. 1069 จากจารึกคำว่า เขมร ในจารึกซับบาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 

     -ต่อมา สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วชื่อ ขอม มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นพวกเขมรเท่านั้น สืบมาจนถึงทุกวันนี้ 

  -"ทำไมชื่อขอม เปลี่ยนความหมายไปเป็นเขมร ?"… ยังหาคำอธิบายไม่ได้ชัดเจน แต่พอจะจับเค้าว่าเพราะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานับถือพุทธนิกายเถรวาทหมดแล้ว รวมทั้งละโว้ แต่ทางเขมรยังมีพวกนับถือฮินดูกับพุทธมหายาน คือขอมอยู่บ้าง

    -คำว่า “ขอม” ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย 2 แห่ง ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง (จิตร ภูมิศักดิ์) เป็นนักวิชาการคนแรก ๆ พยายามศึกษาและอธิบายคำคำนี้ใหม่ ได้เสนอว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) 

   -ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็น อโยธยาศรีรามเทพนคร    -ด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง

   - จิตร ยังอธิบายว่า คำว่า"ขอม" ถูกนำมาใช้ในงานเขียนสมัยใหม่ (ขณะนั้น)โดยมีความรู้สึกชาตินิยมเป็นพื้นมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นการถือว่าขอมเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เคยแผ่อำนาจมาครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือชาวไทยโบราณ ต่อมาชาวไทยที่สุโขทัยจึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้พ้นจากอำนาจของขอม เพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยมในประเทศไทย

    -สุจิตต์ วงษ์เทศ (นักวิชาการแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม) ก็เสนอว่า  “ขอม” ในที่นี้น่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ 

   -คำว่าขอม ใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เก่าแก่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และต่อมาจึงเรียกรวมไปถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอยุธยา 

   -จากนั้นในหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุธยา ได้ใช้คำนี้เรียกคนในดินแดนเขมรแถบเมืองพระนครหรือนครธม ในข้อความที่ว่า "ขอมแปรพักตร์"และในกฎมณเฑียรบาล น่าจะหมายถึงคนในเขมรหรือกัมพูชา

   - โดยสรุป คำว่า “ขอม” เป็นคำเรียกคน มีความหมายทางวัฒนธรรมและมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

*ขอม คือใคร แล้วหายไปไหน หรือยังเหลืออยู่ แต่เปลี่ยนชื่อเรียก"

   - มีการวิเคราะห์ไว้ว่า ขอม คือ คำที่กลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ลาว หรือ มอญ ใช้เรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงลงไปถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ละโว้ไปจนถึงทะเลสาบเขมรอย่างกว้างๆ   มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
"ขอม" สันนิษฐานว่ามาจากภาษาเขมรโบราณคือ "กโรม (karom)" ซึ่งภาษาเขมรปัจจุบันใช้คำว่า "โกฺรม (krom)" เดิมมี 2 ความหมายซึ่งไม่ได้หมายถึงชนชาติอย่างในสมัยหลัง คือ
    -1. หมายถึง ลงไปต่ำ, ใต้, ภายใต้, ต่ำกว่า, ลง, ผู้ต่ำกว่า พบในจารึกเขมรสมัยพระหลายหลัก เช่น จารึก K. 561  ใช้คำว่า "กุ กโรํ" แปลว่า "ทางผู้หญิงกโรม" (อาจหมายถึงผู้อยู่ทางใต้) จารึก K. 927 ใช้ "โละ กโรํ ตนลฺ" แปลว่า "ลุใต้ถนน"
   -2. หมายถึง ประเทศ, ดินแดน, เขต, ดิน, แผ่นดิน พบในจารึกเขมรโบราณหลายหลัก เช่น จารึก K.426 ใช้คำว่า "ทํริง กโรมฺ จํกา" แปลว่า "สวน เขต ไร่" จารึก K.904 ใช้คำว่า "โอย กโรํ ต  มรตาญ" แปลว่า "ให้ที่ดินแก่มรตาญ" (ตำแหน่งขุนนางเขมรสมัยพระนคร) จารึก K.720 ใช้คำว่า “ทํนป...โตย กโรํ โผง” แปลวา “ทำนบ...โดยที่ดินผอง”
    -ในเอกสารประเภทตำนานกลุ่มชนในภาษาตระกูลไท-ลาว เช่น ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ เรียกพวกชาวเมืองอุโมงคเสลาว่า กรอม หรือ กรอมดำ ส่วนตำนานสิงหนวติเรียกกลุ่มชนเดียวกันนั้นว่า ขอม หรือ ขอมดำ ในเอกสารรุ่นหลังก็เขียนเพี้ยนจาก กรอม เป็น กล๋อม คนไตลื้อสิบสองปันนาเรียกว่า กะหลอม นอกจากนี้ยังมีเรียกเพี้ยนกันไปในภาษาต่างๆ เช่น ไทใหญ่ มูเซอ ยูนนาน แต่ในทางนิรุกติศาสตร์เป็นคำเดียวกัน
   -จากคำอธิบายของชาวไตลื้อในปัจจุบันอธิบายว่า กระหลอม หมายถึง "ชาวใต้ มาจากใต้ ตัดผมสั้น นุ่งผ้าโจงกระเบนทั้งหญิงและชาย"
    -จากตำนานไตเหล่านี้พบว่า กรอม หรือ ขอม คือ.."กลุ่มชนที่เคยครองครองดินแดนตั้งแต่ปากแม่น้ำโขงขึ้นไปถึงมณฑลยูนนาน จากน้ำตูในด้านตะวันตกของรัฐฉาน ผ่านลุ่มแม่น้ำกกไปจนถึงแม่น้ำดำในเวียดนามเหนือ ซึ่งมีร่องรอยว่าได้อพยพจากใต้ขึ้นเหนือ เป็นกลุ่มชนที่เคยครองดินแดนในบริเวณนี้ก่อนชาวไตจะเข้ามา" 

   - จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ว่าหมายถึง ชาวฝูหนาน ซึ่งผิวดำ ผมหยิกแบบชนชาติในตระกูลโพลีนีเซียจากทะเลใต้ และเป็นกลุ่มเดียวกับ 'นาค' ที่ลาวใต้ ซึ่งเป็นประชากรของเจินละ (เป็นชนชาติตระกูลมอญ-เขมร)
    -"กรอม" ในภาษามอญเขียนว่า โกฺรม หรือ โกฺรํ ส่วนในภาษาพม่าสะกดว่า คฺ-ยวน ปรากฏในพงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) ว่าใน พ.ศ. 1599 รัชกาลพระเจ้าอุทินนะ ชาวกรอมยกทัพไปตีกรุงสุธรรมวดี ส่วนพงศาวดารพม่าและจารึกพม่าที่สักกาะลัมปะเจดีย์ก็ระบุว่าในรัชกาลพระเจ้าอโนรธาก็ระบุไว้ตรงกันว่ามีพวก คฺยวน ยกทัพมาตีเมืองพะโค (มอญ) พม่ายกทัพไปช่วยและได้รับชัยชนะ
   -พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วอธิบายอาณาเขตในรัชกาลพระเจ้าอโนรธาไว้ว่า ทางตะวันออกเฉียงใต้จรดแดนของชาว คฺยวน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า อรอซะ อีกแห่งหนึ่งจนอาณาเขตใน พ.ศ. 1632 เรียกดินแดนของชาวคฺยวน ว่า อโยชะ ซึ่งก็หมายถึง อโยชชะ อันเป็นภาษาบาลีของ อโยธยา จึงเข้าใจได้ว่า ขอม ในบริบทของมอญ-พม่า ในยุคโบราณนั้นหมายถึงกลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตละโว้-อโยธยา ซึ่งพงศาวดารล้านช้างเรียกว่า “ละโว้โยทิยา” และตำนานไตทางเหนือเรียกว่า “ลวะรัฐ”
  -เหตุใดจากเดิมคำว่า กรอม ที่เคยเป็นคำในเรียกกลุ่มชนในสองฝั่งโขงตามตำนานไตกลายเป็นคำเรียกกลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จิตรสันนิษฐานไว้ว่าชนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็น่าจะเป็นชนกลุ่มเดียวกัน ถึงแม้ว่าภายหลังจะมีกลุ่มชนที่ใช้ไทลงมาอาศัยอยู่ผสมปนเปกับคนพื้นเมือง คนต่างถิ่นก็ยังคงเรียกดังเดิม ดังที่พบว่าในยุคหลังดินแดนแถบนี้กลายเป็นของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่าไทยแล้ว คนไตลื้อไทใหญ่ก็ยังคงเรียกคนในแถบนี้ว่า กะหลอม อยู่
  -ในภาษาลาวโบราณ พบว่า ขอม ใช้กว้างๆ ในแง่การอธิบายกลุ่มชนประเภท ข่า/เขมร ดังทางภาษาลาวปัจจุบันนิยมพ่วงว่า ข่า/ขอม
   -ในหลักฐานของล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 21 ไม่พบการใช้งานคำว่า ขอม ตรงๆ แต่มีการเรียกดินแดนละโว้ว่า “กัมโพช/กัมโพชา” ตั้งแต่การกล่าวถึงเหตุการณ์ในพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าแปลมาจากภาษาพื้นเมืองคือ ขอม เนื่องจากในเอกสารภาษาบาลีของล้านนาแต่โบราณใช้คำว่า กัมโพช = ขอม บ้างก็แปลเป็น เขม รวมถึงเรียกการนับปีแบบสิบสองนักษัตรของคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ขอม เช่นเดียวกับที่พบในจารึกสมัยสุโขทัย
   -ในจารึกของสุโขทัยกล่าวถึง ขอม อยู่หลายครั้ง ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าใช้เป็นคำเรียกคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  อาจรวมไปถึงวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรซึ่งมีภาษาและประเพณีใกล้เคียงกัน พบหลักฐานการนับปีแบบสิบสองนักษัตร  ขอมจึงควรจะเป็นคำของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาไทที่ใช้เรียกขานกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเขมรทางใต้และใช้ภาษาเขมรอย่างกว้างๆ
   -เอกสารของชาวไทยสยาม ตั้งแต่สมัยอยุทธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้เปลี่ยนมาเจาะจงความหมายของคำว่า "ขอม" หมายถึง "เขมร" เพียงความหมายเดียวเท่านั้น
   -ในทะเลสาบเขมรมีหลักฐานการเรียกประชากรว่า "เขมร" มาตั้งแต่โบราณ ไม่เคยพบหลักฐานเรียกตนเองว่า "ขอม" เช่นเดียวกับที่ไม่พบหลักฐานว่ากลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ขอม กรอม ฯลฯ เคยเรียกตนเองด้วยชื่อดังกล่าว เพราะเป็นชื่อที่คนต่างถิ่นเป็นผู้เรียก
   -คำว่า เขมร ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกสมัยก่อนพระนคร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 คือศิลาจารึก  Ka.64 พบที่บ้านเมลบ (เมลุบ) ตำบลโรกา อำเภอเปียเรียง จังหวัดไพรแวง ทางทิศตะวันออกของกรุงพนมเปญ ได้กล่าวถึง "กฺญํ อฺนกฺ เกฺมร"
    -คำว่า "เกฺมร (kmer)" ในภาษาเขมรโบราณสมัยก่อนพระนคร ตรงกับคำว่า "เขฺมร (khmer)" ในภาษาเขมรสมัยพระนคร เมื่อรวมความหมายของคำว่า "กฺญํ อฺนกฺ เกฺมร" จึงน้าจะแปลว่า "ข้ารับใช้(ที่เป็น)ชาวเขมร" แสดงว่าชาวเขมรเรียกตนเองว่า "เกฺมร" มาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว
     -ต่อมามีวิวัฒนาการทางเสียง ทำให้เสียง ก (k) ในภาษาเขมรก่อนพระนคร กลายเป็น ข (kh) ในภาษาเขมรสมัยพระนคร
     -ในสมัยพระนครพบหลักฐานการเรียกตนเองว่า "เขฺมร" อย่างชัดเจน ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทบันทายฉมาร์ (K.227) สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 ที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ตำบลถมอป๊วก เมืองเสียมราบ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
   ..."บันทูลให้มีราชพิธี ณ เสด็จนำชาวเขมร (อฺนกเขฺมร) ทั้ง ๔ ผู้ซึ่งได้ทำการรบเพื่อรักษาความมั่นคง มีจำนวน ๗๔ ตำบลไปยังกัมพุชเทศ แล้วประสาทแก่นักสัญชักทั้งสองโอยนาม "อำเตง และสถาปนารูป"
     -จึงสันนิษฐานได้ว่าชาวกัมพูชาโบราณในสมัยพระนครเรียกตนเองว่า "เขฺมร (khmer)" หรือ "อฺนก-เขฺมร" ซึ่งแปลว่า ชาวเขมร
  ต่อมาสมัยหลังพระนครมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาทั้งระบบเสียงและพยัญชนะหรือสระ คำว่า "เขฺมร" ในภาษาเขมรโบราณจึงเปลี่ยนสระ "เ (e)" เป็นสระ "แ (ae)" และไม่ออกเสียงพยัญชนะท้าย "ร (r)"  ภาษาเขมรหลังพระนครจึงออกเสียงว่า "แคฺมร์ (khmaer)" และเขียนว่า "แขฺมร"   ส่วนคำว่า "เขมร" ที่ไทยเรียกเป็นคำที่รับมาจากสมัยพระนคร 
   -เหตุที่ในสมัยหลังคำว่า "ขอม" ในภาษาไทยสยามใช้กำจัดเรียกเฉพาะ "เขมร" เท่านั้น  สันนิษฐานว่าเป็นผลของจากการค้าทางทะเลกับจีนที่มากขึ้นทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ลาวลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา   ภาษาและวัฒนธรรมไท-ลาวเข้าได้ไปมีอิทธิพลในบริเวณรัฐฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นสุพรรณภูมิ ราชบุรี ลงใต้ไปถึงเพชรบุรี หรือนครศรีธรรมราช จากนั้นจึงได้เข้าไปมีอิทธิพลในรัฐทางฝั่งตะวันออกคือละโว้-อโยธยา ผสมผสานกับวัฒนธรรมมอญ-เขมรเดิม  จนก่อเนิดกรุงศรีอยุทธยาที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง
   -สันนิษฐานว่าเพราะประชากรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายุคหลังเปลี่ยนมาใช้ภาษาตระกูลไท-ลาว เป็นหลักแล้ว จึงเปลี่ยนมาเรียกตนเองว่า ไท/ไทย แทน  ในขณะที่คำว่า "ขอม" จึงถูกเปลี่ยนมาเจาะจงเรียกเฉพาะชาวเขมร  ดังปรากฏว่าในหลักฐานไทยสยามสมัยอยุทธยาและรัตนโกสินทร์ใช้คำว่า ขอม เจาะจงถึงเขมรโดยตลอด
     อาจจะสรุปว่า "ขอม" เป็นคำที่คนต่างถิ่นเรียกกลุ่มชนอย่างรวมๆ โดยความหมายของ "ขอม" สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย   โดย  "เขมร" ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ "ขอม"
 *"อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม" เคยให้ความเห็นไว้ว่า "ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับจิตรในลักษณะที่คำว่า “ขอม” นั้นมีความหมายทั้ง “กว้าง” และ “แคบ”

   -"ที่ว่า “แคบ” นั้นหมายถึงการเน้นความสำคัญที่พวกเขมรเมืองพระนคร ทั้งนี้เพราะในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีข้อความที่กล่าวว่า “ขอมแปรพักตร์” เป็นสิ่งที่ยืนยันอยู่แล้ว"
    -ส่วนในความหมายที่ “กว้าง” นั้น คำว่าขอมไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่ประเทศกัมพูชา หากฟุ้งกระจายไปทั่ว รวมทั้งบ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย แต่ว่าการแพร่กระจายของชาวขอมนี้ไม่ได้เน้นในเรื่องการเป็นชนชาติ แต่หากเน้นในรูปของวัฒนธรรม และการที่กลุ่มชนในดินแดนที่เกี่ยวข้องกันมีสิ่งร่วมกันในทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ"
  -อีกตอนหนึ่งได้สันนิษฐานว่า "พวกขอมนั้นถ้ามองอย่างแคบๆ ก็หมายถึงชาวเขมรสมัยเมืองพระนครที่นับถือศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาคติมหายาน แต่ในความหมายที่กว้างออกไปนั้นหมายรวมไปถึงกลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนที่นับถือพระพุทธศาสนาคติมหายานแบบเมืองพระนครที่พัฒนาขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นต้นมา
   -ผู้ที่เรียกกลุ่มชนเหล่านี้ว่าขอมก็คือคนในรุ่นหลังที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์นั่นเอง"
   -ทั้งนี้เราควรพิจารณาด้วยว่า ในบริบทสมัยโบราณยังไม่ได้แบ่งกลุ่มชาติพันธ์ุตามหลักพันธุศาสตร์ (Ethno-racial) หรือแยกเป็นสัญชาติตามแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ (Ethno-national)  การเรียกขานกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่นั้นพบว่าพิจารณาจากอัตลักษณ์ที่มีรวมกัน เช่น ภาษา วัฒนธรรม จารีตประเพณี  ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ถาวรตามที่มีกฎหมายกำหนดเชื้อชาติและสัญชาติในปัจจุบัน แต่มีความเป็นพลวัต (dynamic) ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย  ชาติพันธ์ุหนึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปอยู่ในผสมผสานกับชาติพันธุ์อื่น และสามารถถูกกลืนไปได้จนกลายเป็นกลุ่มชนหนึ่ง
  -ตัวอย่างเช่น กรุงศรีอยุทธยาไปทำสงครามตีเมืองพระนคร กวาดต้อนชาวขอม-เขมรเข้ามาในดินแดนของตนจำนวนมาก เมื่อคนกลุ่มนั้นตั้งรกรากอยู่นานอาจสามารถผสมกลมกลื่นกับชนพื้นเมืองจนความเป็นขอมนั้นสูญไป
   -การถามหาความหมายของ "ขอม" ในแง่ของเชื้อชาติทางพันธุกรรม คงจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความหมายของ "ขอม" ก็เปลี่ยน  ขอมในอดีตกับขอมยุคหลังไม่จำเป็นต้องมีเชื้อชาติเดียวกันหรือเป็นชนกลุ่มเดียวกัน เช่นเดียวกับคนไทย ลาว มอญ เขมร ฯลฯ ในปัจจุบันอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับคนในอดีตที่มีชื่อชนชาติเดียวกัน  เพราะประชากรมีการผสมผสานและเคลื่อนย้ายไปมาตลอดครับ
  -ถ้าเรามองด้วยสายตาคนไตโบราณ ขอม (กรอม กล๋อม)  คือคนในลุ่มแม่น้ำโขงไปถึงรัฐฉาน
  -ถ้าเรามองด้วยสายตาคนยุคสุโขทัย มอญพม่า ล้านนา ขอม (โกฺรม คฺยวน) คือคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับสุโขทัยน่าจะรวมกลุ่มชนบริเวณทะเลสาบเขมรด้วย
  -ถ้าเรามองด้วยสายตาคนกัมพูชายุคพระนคร  จะไม่รู้จัก ขอม เพราะพบแต่คำว่า เขมร
   -ถ้าเรามองด้วยสายตาคนสมัยอยุทธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ขอม คือ เขมร

“อาณาจักรขอมโบราณ”.. สมัยพระนครหลวง"

“อาณาจักรขอมโบราณ”.. สมัยพระนครหลวง"

“ปราสาทขอม”

เที่ยวกัมพูชา ชมความยิ่งใหญ่ ปราสาทนครวัดนครธม | Wonderfulpackage.com

  ขนหินก้อนใหญ่มากมายไปสร้าง “นครวัด” ได้อย่างไร?

“ปราสาทเขมร หรือ ปราสาทขอม” เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างขึ้นโดยอาณาจักรเขมร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นต้นมา พบมากในประเทศกัมพูชา และในเขตอีสานใต้ของประเทศไทย ปราสาทขอมก่อสร้างด้วยวัสดุอิฐ หินทราย และศิลาแลง ด้วยศิลปะเขมร

   * ในประเทศไทยมีปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสานทั้งสิ้น 155 แห่ง ได้แก่          -จังหวัดนครราชสีมา      จำนวน 37  แห่ง 

     -จังหวัดบุรีรัมย์               "    50  แห่ง 

     -จังหวัดสุรินทร์มีอยู่จำนวน  "     31  แห่ง 

     -จังหวัดชัยภูมิ                "      6  แห่ง 

     -จังหวัดร้อยเอ็ด              "     14  แห่ง 

     -จังหวัดศรีสะเกษ             "     11  แห่ง 

     -จังหวัดอุบลราชธานีอีก      "     6  แห่ง 

     *ส่วนมากมักถูกทำลายเหลือเพียงบางส่วน

 *ประวัติศาสตร์

    -จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าชนชาติเขมรเริ่มรวมตัวเป็นอาณาจักรหรือรัฐ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยพัฒนามาจากเมืองท่าที่ติดต่อค้าขายกับอินเดีย มีความเจริญภายใต้พื้นฐานของอารยธรรมอินเดีย ใช้ชื่อว่า อาณาจักรฟูนัน มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง (เวียดนามตอนใต้) และแม่น้ำโขงตอนใต้ (กัมพูชา) จนถึงบางส่วนในบริเวณของภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย โดยมีเมืองออกแก้ว (ตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม) เป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขาย และมีราชธานีนามว่า     “วยาธปุระ” ใกล้เขาบาพนมในประเทศกัมพูชา

   -อาณาจักรฟูนันมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทั้งกับอินเดียและจีน หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับอาณาจักรนี้ยังดูรางเลือนหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัดนัก ทราบแต่เพียงว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายคือ รุทรวรมัน และนับถือศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับมาจากอินเดียเป็นหลัก

   -พุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักรเจนฬา ซึ่งแต่เดิมเป็นรัฐหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน มีอาณาบริเวณตั้งแต่เมืองจำปาศักดิ์-ภูเขาวัดภู ในปัจจุบันคือบริเวณทางตอนใต้ของประเทศลาว

  -และทางภาคเหนือของประเทศกัมพูชา ราชธานีของอาณาจักรเจนฬาคือ เมือง “เศรษฐปุระ” อาณาจักรเจนฬามีพื้นฐานอารยธรรมสืบต่อมาจากอาณาจักรฟูนันรวมทั้งการนับถือ ศาสนาพราหมณ์ ด้วย

   -พระเจ้าภววรมัน ปฐมกษัตริย์ของเจนฬาได้ยึดวยาธปุระจากรุทรวรมัน      -ต่อมาพระอนุชาของภววรมันคือ พระเจ้ามเหนทรวรมันที่ 1 ได้เข้ายึดฟูนันและปราบปรามได้ ทำให้อาณาจักรเจนฬาได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม 

   -จนล่วงพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรเจนฬาได้ถูกกษัตริย์ชวาจากราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งอาณาจักรชวาภาคกลาง รุกราน จึงทำให้เจนฬาแตกออกเป็น 2 ส่วนคือ เจนฬาบก และ เจนฬาน้ำซึ่งถูกชวายึดครองได้ นอกจากนี้อาณาจักรชวายังได้นำตัวรัชทายาทคือ เจ้าชายชัยวรมันที่ 2 ไปเป็นตัวประกันที่อาณาจักรชวาอีกด้วย ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่าตัวจำนำเพื่อรับรองความจงรักภักดีของอาณาจักรเขมร

  -ต่อมาในปี พ.ศ. 1350 ชัยวรมันที่ 2 ได้ยกทัพขึ้นมาประกาศเอกราชจากอาณาจักรชวา และยังรวมอาณาจักรเจนฬาบกและเจนฬาน้ำที่แตกแยกเข้าด้วยกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรเขมรใหม่ และขนานนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชน์ตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรลโวทยหรือละโว้ หรือปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี 

 -พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงตั้งราชธานีของเมืองกัมโพชน์ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบเขมร พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจเข้าไปถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทยในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ

  -ลัทธิเทวราชาและการก่อสร้างปราสาท

   -พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสถาปนาลัทธิเทวราชา คือยกฐานะกษัตริย์ให้เป็นเทพเจ้าหรือ เทวาราชา เป็นกษัตริย์สูงสุด เป็นการปูพื้นฐานระบบเทวราชาให้อาณาจักรอื่นๆเป็นแบบอย่าง รวมถึงสยามซึ่งรับระบบนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน ระบบเทวราชานี้มีส่วนทำให้พราหมณ์เข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์ต่างๆ และประกอบพิธีราชาภิเษกให้กับกษัตริย์

   -ลัทธิเทวราชาหรือระบบเทวราชา ต่างจากลัทธิไศวนิกายแลไวษณพนิกายคือ 

   "ก่อนหน้านั้นกษัตริย์เป็นเพียงมนุษย์ที่นับถือเทพเจ้า แต่ลัทธิราชานั้นถือว่ากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพเจ้าคือเทพเจ้าแบ่งภาคลงมาจุติเป็นกษัตริย์นั่นเอง เมื่อกษัตริย์เสวยราชย์แล้วต้องกระทำ 3 สิ่ง คือ

   -ขุดสระชลประทานหรือที่เรียกว่า บาราย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขมรมีความยิ่งใหญ่ เพราะเนื่องจากเขมรก็ไม่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้แม่น้ำเท่าใดนัก ที่เมืองพระนครมีบารายขนาดใหญ่หลายบาราย เช่น บารายอินทรฏกะ

   -กษัตริย์ต้องสร้างศาสนสถานบนฐานเตี้ยๆ อุทิศถวายบรรพบุรุษ หรือปราสาทสร้างบนฐานเตี้ยๆเพียงชั้นเดียว เช่น ปราสาทพะโค ที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษของพระองค์

   -ต้องสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น หรือปราสาทแบบยกฐานเป็นชั้นสูงหลายชั้นเพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า หากเป็นศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายจะประดิษฐานศิวลึงค์ของสัญลักษณ์แห่งองค์พระอิศวร 

   -หรือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายก็จะประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ และมีความเชื่อว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์วิญญาณของพระองค์จะไปเสด็จรวมกับเทพเจ้าที่ปราสาทที่พระองค์สร้างไว้นั่นเอง เช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างปราสาทนครวัด อุทิศถวายแด่องค์พระวิษณุ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ก็มีพระนามว่า บรมพิษณุโลก

   -จากเหตุผล 2 ข้อหลังนี้เองที่เป็นประเพณีที่.."กษัตริย์เขมรทุกพระองค์จะต้องสร้างปราสาทอย่างน้อยที่สุด 2 หลัง" 

  -ส่วนรูปแบบของปราสาทขอมนั้นก็พัฒนารูปแบบมาจากศาสนสถานในประเทศอินเดีย ที่เรียกกันว่า 

   - ศิขร เป็นศาสนสถานของศิลปะอินเดียในภาคเหนือ 

   - วิมาน เป็นศาสนาสถานของอินเดียภาคใต้ 

   -นอกจากนี้ก็ยังได้รับอิทธิพลของ จันฑิ ศาสนาสถานในศิลปะชวาเมื่อครั้งที่อาณาจักรเจนฬาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรชวา

    -ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรที่เรียกกันว่า ปราสาทขอม หรือ ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่มีความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องด้วยปราสาทขอมเหล่านี้สร้างด้วยวัสดุที่เป็นอิฐ ศิลาทรายและศิลาแลง ซึ่งเป็นถาวรวัตถุจึงทำให้มีความคงทนจนถึงในปัจจุบัน

  -แต่ว่าปราสาทเขมร ก็มิได้มีเพียงในเขตแดนของประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังพบในบริเวณของประเทศลาวและประเทศไทยซึ่งมีปราสาทเขมรอยู่มากมายเช่นกัน 

   -เนื่องจากในบางช่วงที่อาณาจักรเขมรมีความเข้มแข็ง ทำให้สามารถขยายอำนาจและดินแดนได้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้จึงมีปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นในดินแดนของประเทศอื่นๆด้วย

-รูปแบบศิลปะ

ก. สมัยก่อนเมืองพระนคร

1. ศิลปะแบบพนมดา         ราว พ.ศ. 1100 – 1150

2. ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก  ราว พ.ศ. 1150 – 1200

3. ศิลปะแบบไพรกเมง       ราว พ.ศ. 1180 – 1250

4. ศิลปะแบบกำพงพระ      ราว พ.ศ. 1250 – 1350

ข. สมัยเมืองพระนคร

5. ศิลปะแบบกุเลน           ราว พ.ศ. 1370 – 1420

6. ศิลปะแบบพระโค          ราว พ.ศ. 1420 – 1440

7. ศิลปะแบบบาแค็ง         ราว พ.ศ. 1440 – 1470

8. ศิลปะแบบเกาะแกร์        ราว พ.ศ. 1465 – 1490

9. ศิลปะแบบแปรรูป          ราว พ.ศ. 1490 – 1510

10. ศิลปะแบบบันทายสรี     ราว พ.ศ. 1510 – 1550

11. ศิลปะแบบคลัง(หรือเกลียง) ราว พ.ศ. 1550 – 1560

12. ศิลปะแบบบาปวน         ราว พ.ศ. 1560 – 1630

13. ศิลปะแบบนครวัด        ราว พ.ศ. 1650 – 1720

14. ศิลปะแบบบายน          ราว พ.ศ. 1720 – 1780

คำสำคัญ (Tags): #"ขอม"
หมายเลขบันทึก: 709317เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2022 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท