สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการและการนำไปพัฒนาต่อในชุมชน


       จากการได้เริ่มทำโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยเทคโนโลยี ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ ความรู้ และการเรียนรู้เพิ่มขึ้นทั้งในด้านของการทำงานร่วมกันกับเพื่อน การหาข้อมูล การจัดการกับความท้าทาย และการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการเรียนรู้แรกที่ผมจะกล่าวถึงคือการเรียนรู้การทำงานกับกลุ่มเพื่อน เนื่องด้วยผมติดเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้การทำงานกับเพื่อนค่อนข้างลำบาก ซึ่งก็ทำให้ผมรู้ว่าการทำงานผ่านรูปแบบออนไลน์ร่วมกับการทำงานรูปแบบออนไซต์เป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบากเพราะว่าการประสานงานและการรับสารของผู้ที่ทำงานออนไลน์จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า และจะทำให้งานในส่วนที่ได้รับดำเนินช้าลง อาจจะเกิดความไม่พอใจในตัวเองได้ ซึ่งวิธีการรับมือกับสถานการณ์นี้จากประสบการณ์ของตัวผมเองคือ พยายามรับฟังข้อมูลทุกอย่างให้มากที่สุดและดีที่สุด เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องมีข้อสงสัยในภายหลัง แต่ถ้าในกรณีที่เกิดข้อสงสัยและไม่เข้าใจในส่วนใดส่วนหนึ่งของงานจริงๆ ให้รีบถามเพื่อนที่รู้ หรือถ้าเพื่อนไม่รู้ก็ให้หาคำตอบจากแหล่งอื่น เช่นสอบถามอาจารย์หรือหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตให้ไวที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่เป็นข้อข้องใจและปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว

       นอกจากการเรียนรู้ที่กล่าวมาข้างต้น ผมก็ยังได้เรียนรู้ด้านเนื้อหาข้อมูล การทำโครงการครั้งนี้ทำให้ผมมีความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กด้านการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การปฏิสัมพันธ์ การบันทึก และการจดจำ ผ่าน Family-centered model หรือโมเดลที่กล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญคือคนในครอบครัว สมาชิกควรตอบสนองความต้องการและให้ความสําคัญแก่คนในครอบครัว เช่น การที่เด็กจะมีการพัฒนาการที่ดี ก็จะต้องมีสื่อที่ดี ซึ่งสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สุดคือ การ์ตูนและเกม โดยแนวทางการพัฒนาผ่านการ์ตูนอาจจะเป็นการที่ พ่อแม่ออกแบบสถานที่การนั่งดูการ์ตูนภายในบ้านร่วมกับลูกโดยให้ลูกเป็นคนเลือกมุมที่นั่งและเลือกของที่อยากนำมาด้วย เช่น ตุ๊กตา มีการวางแผนพูดคุยเรื่องเวลาการดูร่วมกันกับลูกอย่างชัดเจน และให้ลูกเป็นคนเลือกการ์ตูนที่สนใจเอง เพื่อที่เด็กจะมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์และด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การพัฒนาเด็กผ่านเกมก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น พ่อนั่งเล่นเกมร่วมกับลูก โดยมีการหยุด และถามคำถามลูกเป็นระยะๆว่าทำไมตอนช่วงเวลานี้ตัวละครเกมทำสีหน้าแบบนี้? คิดว่าเขารู้สึกอย่างไร? ที่ที่ตัวละครในเกมอยู่คือที่ไหน? เพื่อที่เด็กจะมีการพัฒนาการพูดการสื่อสาร ความคิดความอ่าน และการวิเคราะห์ เป็นต้น

               การทำโครงการนี้ผมได้เข้าใจในหลักการSTEMว่าคือโมเดลระบบการศึกษาของเด็กที่เน้นการเข้าถึงศาสตร์ 4 ชนิด คือ

  • SCIENCE วิทยาศาสตร์ (S),
  • TECHNOLOGY เทคโนโลยี (T),
  • ENGINEERING วิศวกรรมศาสตร์ (E)
  • MATHEMATICS คณิตศาสตร์ (M)

โดยมี A เข้าร่วมด้วยในภายหลัง จึงได้ชื่อเต็มใหม่ว่า STEAM ซึ่งการนำเอา Art (A) เข้ามาบูรณาการการเรียนรู้เพิ่มเติมจาก STEM จะสร้างเด็กนักเรียน STEM ให้คิดแบบสร้างสรรค์มากขึ้น


 

แล้วโครงการนี้จะนำไปพัฒนาต่อในระดับชุมชนได้อย่างไร?

ด้วยความที่โครงการของกลุ่มเรามีเป้าหมายเพื่อมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยผ่านเทคโนโลยี ผมจึงคิดว่าการพัฒนาโครงการนี้ให้ไปสู่ชุมชนได้ก็จะต้องให้ผู้คนในชุมชนเข้าถึงระบบเทคโนโลยีอย่างง่ายให้ได้ก่อน โดยผมมีความคิดเห็นว่าเราสามารถพัฒนาได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.นำสื่อ Infographic ที่เกี่ยวกับการพัฒนาความศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กไปเผยแพร่สู่ชุมชน

       โดยการเผยแพร่นี้จะเป็นการเผยแพร่ทั้งผ่านตัวเราเองและผ่านตัวกลางของชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้พวกเขากระจายข้อมูลinfographic แก่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกๆบ้านให้มากที่สุด ทำให้พวกเข้าเกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ และนำไปปฏิบัติต่อลูกหลานในชุมชนต่อไป

2.จัดกิจกรรมการดูการ์ตูนภายในชุมชน

       การจัดกิจกรรมนี้อาจจะเป็นการฉายการ์ตูนให้เด็กดูในที่โล่งแจ้ง ให้เด็กๆได้ออกมาจากบ้าน มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อที่เด็กจะได้มีการพัฒนาด้านการเข้าสังคมและการสื่อสารร่วมกับเด็กในวัยเดียวกันโดยกิจกรรมนี้อาจจะจัดเป็น 1ครั้ง/เดือน

3.ออกแบบกิจกรรมร่วมกับคุณครูภายในชุมชน

       บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการปลูกฝังความคิด และการเรียนรู้แก่เด็กนักเรียนอย่างมากคือคุณครู ซึ่งเราจะนำข้อมูลที่เราศึกษามา นำไปบอกแก่คุณครูประจำโรงเรียนต่างๆในชุมชน เพื่อให้คุณครูได้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและนำไปสอนแก่เด็กๆในชั้นเรียนต่อไป

 

อ้างอิง

https://myadmissions.net/what-is-stem-and-steam/

หมายเลขบันทึก: 708741เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2022 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2022 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท