Children’s development by using technology REFLECTION


โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยเทคโนโลยี

       จากการทำงานโครงการวิชา262 เรื่องการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยเทคโนโลยีทำให้ผมเกิดการความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันอย่างไรให้พัฒนาเด็กได้อย่างมีคุณภาพและยังได้รับประสบการณ์ปัญหา ความท้าทาย และวิธีการแก้ไขหาทางออกต่างๆมากขึ้น

       ด้วยความที่ตัวงานค่อนข้างแปลกใหม่ ไม่เคยเจอมาก่อน และการทำงานเป็นไปในรูปแบบของงานกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้นคือช่วงระยะหนึ่งของการทำโครงงาน ผมติดเชื้อโควิด19 ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่อุปสรรคมากมายในระหว่างทางการทำงาน โดยอย่างแรกที่พบเลยคือ การไม่เข้าใจการประสานงานของเพื่อน เพราะว่าทุกคนในกลุ่มจะมีการปรึกษาหารือกันในระหว่างคาบเรียน ซึ่งเราไม่ได้มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเพื่อนๆลดน้อยลง ถึงแม้จะมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเข้ามาช่วย เช่นการร่วมโทรประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line VDO-call) อีกทั้งยังพบปัญหาการไม่เข้าใจในหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน เพราะว่าด้วยความที่เพื่อนทำงานกันระหว่างคาบเรียนอยู่แล้ว ทำให้พวกเขาสะดวกและพร้อมที่จะทำงานกันอยู่ตลอดเวลา และเพื่อความง่ายและไม่เสียเวลา ก็จะมีการแบ่งหน้าที่กันในห้องนั้นและทำให้งานเสร็จลุล่วงไปเลย ส่งผลให้เราเกิดความกังวลกับตัวเองว่าตัวเราจะช่วยอะไรเพื่อนได้บ้าง หรือเราควรจะมีส่วนร่วมจุดไหนเพื่อให้เพื่อนมองว่าเราไม่ใช่คนไม่ทำงาน นอกจากพบปัญหาเกี่ยวกับตัวเองกับเพื่อนๆแล้ว ก็ยังพบปัญหาเกี่ยวกับตัวงาน ซึ่งปัญหานี้เกี่ยวโยงมาจากสองปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น หลังจากที่รับรู้ข้อมูลงานน้อยและได้ทำงานน้อยลง ส่งผลให้ผมไม่เข้าใจแก่นเนื้อหาของโครงการนี้จริงๆ ไม่สามารถอธิบายให้ตนเองเข้าใจอย่างง่ายได้ว่าโครงการที่ทำอยู่คือโครงการอะไร ข้อมูลที่ได้รับมา หลังจากวิเคราะห์และสังเคราะห์กับตนเองแล้ว มันถูกต้องจริงแล้วหรือหรือไม่ มีความสอดคล้องกับหลักการPEOอย่างไร แล้วเราต้องการให้โครงการของเราเข้าถึงใจผู้รับสารอย่างไร นอกจากนี้หลังจากที่ผมกลับมาเรียนเป็นปกติผมก็พบปัญหาด้านการหาข้อมูลมากขึ้น เพราะข้อมูลที่ใช้ในการทำโครงงานค่อนข้างเฉพาะ อาจจะมีข้อมูลที่ต้องการ แต่เป็นข้อมูลจากงานวิจัย หนังสือ e-book หรือ text ที่เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นทำให้การหาข้อมูลของโครงการจะค่อนข้างยาก โดยปัญหาทั้งหมดเหล่านี้นับเป็นความท้าทายสำหรับผมในการทำโครงการนี้อย่างมาก เพราะผมจะต้องมีความรู้ที่ครบถ้วน มีคำตอบให้คำถามทั้งหมดที่สงสัย และสามารถให้ข้อมูลแก่ผู้อื่นได้อย่างถูกต้องก่อนวันที่จะจัดนิทรรศการ

       ท้ายที่สุดผมก็ได้มีวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี โดยการให้เวลาและความสำคัญกับการทำความเข้าใจตัวโครงการเพิ่มขึ้น ศึกษาข้อมูลจากหลายๆแหล่งประกอบกันและทำให้มันเกิดความสัมพันธ์กัน เช่นองค์ประกอบของ PEO ก็สามารถสร้างความสอดคล้องและสัมพันธ์กับโครงการได้ กล่าวคือ 1. P (Person) คือกลุ่มผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการในการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารให้ลูก 2. E (Environment) แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ Physical factor และส่วนสองคือ Personal factor โดยปัจจัยแรกคือบ้านของกลุ่มผู้ปกครองและเด็กปฐมวัย ส่วนปัจจัยที่สองก็คือกลุ่มผู้ปกครอง 3. O (Occupation) โดยกิจกรรมที่สนใจคือด้านการเรียนและการเข้าสังคม ซึ่งด้านการเรียนอาจจะเป็นการให้การศึกษาเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะต่างๆของลูกแก่ผู้ปกครองผ่านคลิปสั้นๆ ด้านการเข้าสังคมอาจจะให้ผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกับลูกน้อยเช่นการดูทีวีหรือเล่นเกมด้วยกันและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันเป็นต้น

       นอกว่ารู้วิธีแก้ไขปัญหาด้านเนื้อหาโครงการแล้ว ด้านการทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อนก็เช่นกัน โดยคอยถามถึงจุดประสงค์และเป้าหมายในการทำโครงการชิ้นนี้อยู่เสมอ มีการอัพเดทกับเพื่อนๆตลอดเวลาว่าตอนนี้โครงการถึงจุดไหนแล้ว จุดต่อไปต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และหลังจากทำในส่วนต่างๆที่ผ่านมาแล้ว มีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไขอีกไหม เพื่อที่ว่าสุดท้ายงานที่ออกมาจะสมบูรณ์แบบและมีคุณภาพมากที่สุด

หมายเลขบันทึก: 708738เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2022 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2022 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท