รายงานผลการวิจัยเรื่องประเมินผลการถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตร กรณีศึกษา การจัดเวทีนำเสนอผลงานวิชาการด้วยระบบออนไลน์


   งานศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์การนำระบบออนไลน์มาเป็นเครื่องมือส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่เป็นรูปธรรมของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร 2) เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการนำระบบออนไลน์มาเป็นเครื่องมือส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร 3) เพื่อศึกษารูปแบบการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนผลสำเร็จที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์ระหว่างหน่วยงานภาคีและเครือข่ายของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร และ 4) เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบการถ่ายทอดความรู้ที่เชื่อมโยงสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตรที่มาจากหน่วยงานราชการ ข้าราชการบำนาญ และผู้เข้าร่วมเวทีวิชาการทั้งภายในและภายนอกกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 992 คน เครื่องมือรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถาม และการสนทนากลุ่ม (Focus Group) การรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองและทีมงานผู้ช่วย และวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา จัดหมวดหมู่ข้อมูล จำแนกข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสังเคราะห์สรุปพร้อมกับอธิบายความ สามารถสรุปผล และข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. สรุปผล

1.1 สถานการณ์การนำระบบออนไลน์มาเป็นเครื่องมือส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่เป็นรูปธรรมของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร

      1.1.1 ผลการศึกษาพฤติกรรมและสภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการปฏิบัติงานและพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ พบว่า บุคลากรที่ตอบแบบสอบถามเรื่องการศึกษาพฤติกรรมและสภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการปฏิบัติงานและพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ 1) ข้อมูลทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 66.67 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.75  มีอายุเฉลี่ย 40 ปี  มีประสบการณ์ในการทำงานมากที่สุด คือต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 42.50 ดำรงตำแหน่งมากที่สุด คือ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 85 ระดับตำแหน่งมากที่สุด คือ ระดับปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 40.45 สังกัดสำนักงานเกษตรอำเภอมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 62.50 หน่วยงานที่ทำงานอยู่ในสังกัดมากที่สุด คือ สังกัดสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น 2) พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่วนใหญ่บุคลากรใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์สื่อสารมากที่สุด คือ โน้ตบุ๊ค คิดเป็นร้อยละ 81.25 สถานที่ในการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต สะดวกเข้าใช้อินเทอร์เน็ตจากสถานที่ทำงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.50 การใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ใช้เครือข่ายเอไอเอส (AIS) มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.33 การใช้โปรแกรมเชื่อมโยงระบบอินเทอร์เน็ต ใช้โปรแกรม Google Chrome มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 97.08 ความถี่ในการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต เข้าใช้งานทุกวันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55.83 จำนวนเวลาในการพัฒนาตนเอง/การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ระยะเวลาในการเรียนรู้มากที่สุด คือ ระหว่าง 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง คิดเป็นร้อยละ 44.58 ช่วงเวลาในการพัฒนาตนเอง/การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ระหว่างเวลา 18.31-20.30 น. คิดเป็นร้อยละ 40.42 การเข้าใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุด คือ Line คิดเป็นร้อยละ 95.42 วัตถุประสงค์ในการเข้าใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อสืบค้นข้อมูล/ติดตามข่าวสารมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90.83 วัตถุประสงค์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ เพื่อการติดต่อ สื่อสาร คิดเป็นร้อยละ 93.33 ค่าบริการอินเทอร์เน็ตต่อเดือนโดยเฉลี่ย 765 บาทต่อเดือน ค่าบริการมากที่สุด คือ 2,000 บาทต่อเดือน ค่าบริการน้อยที่สุด/ต่ำสุด คือ 150 บาทต่อเดือน และมีความพร้อมในการเข้ารับการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์ของบุคลากร คิดเป็นร้อยละ 98.75 3) ประสบการณ์และการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการปฏิบัติงานและพัฒนาตนเอง ส่วนใหญ่เคยเข้ารับการฝึกอบรมหรือเรียนรู้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 70.83 และผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ ทำเป็น คิดเป็นร้อยละ 59.58 วิธีการที่เคยเรียนรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์สื่อสาร เคยเรียนรู้มากที่สุด คือ วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง คิดเป็น ร้อยละ 90 วิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ทำเป็นมากที่สุด คือ วิธีการศึกษาจากเพื่อนร่วมงาน คิดเป็นร้อยละ 71.67 โปรแกรมผ่านระบบออนไลน์ที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมหรือเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด คือ Zoom คิดเป็นร้อยละ 88.33 ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยโปรแกรมที่ทำเป็นมากที่สุด คือ Zoom คิดเป็นร้อยละ 68.75 เคยใช้สื่อเข้ารับการฝึกอบรมหรือเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด คือ สื่อบุคคล/วิทยากร คิดเป็นร้อยละ 82.92 ผลการเรียนรู้การใช้สื่อส่วนใหญ่ทำเป็นมากที่สุด คือ บุคคล/วิทยากร คิดเป็นร้อยละ 63.75 4) ความสามารถและประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในการปฏิบัติงานและพัฒนาตนเองของบุคลากร ส่วนใหญ่มีความสามารถและประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในการปฏิบัติงานและพัฒนาตนเองอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.38) มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.96) ปัญหา/อุปสรรคการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.63) ความต้องการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นของบุคลากรมากที่สุด คือ มีเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เร็ว แรง และเสถียร ครอบคลุมทุกพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 25.71 5) ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรผ่านระบบออนไลน์ของบุคลากร (1) เพื่อการพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ ของบุคลากร ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมากที่สุด คือ มีการจัดทำสื่อและนำมาใช้เรียนรู้ออนไลน์ เช่น คลิปวีดีทัศน์ และชุดองค์ความรู้ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 27.69 (2) เพื่อการพัฒนางานผ่านระบบออนไลน์ของบุคลากร ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมากที่สุด คือ เครื่องมือ/อุปกรณ์ และระบบโปรแกรม สามารถนำมาใช้ทำงานให้เข้าถึงง่าย คิดเป็นร้อยละ 34.69 และ (3) เพื่อการพัฒนาองค์กรผ่านระบบออนไลน์ของบุคลากร ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมากที่สุด คือ หลักสูตรการเรียนรู้ควรดำเนินการให้ต่อเนื่องและแยกการพัฒนา  ตามระดับตำแหน่งของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1 ครั้งต่อเดือน เช่น ทักษะการสื่อสาร และการใช้งานระบบออนไลน์ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 42.86 

     1.1.2 ผลสำรวจความต้องการเข้าร่วมเวทีวิชาการ โดยรับสมัครและลงทะเบียนในรูปแบบออนไลน์ พบว่า 1) ข้อมูลทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 69.69 มีการศึกษาระดับปริญญาโทมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.61 มีอายุเฉลี่ย 41 ปี ดำรงตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 67.51 ระดับตำแหน่งมากที่สุด เท่ากัน 2 ตำแหน่ง คือ ระดับตำแหน่งชำนาญการ และระดับตำแหน่งปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 34.84 สังกัดสำนักงานเกษตรอำเภอ     มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45.87 รับทราบข่าวสารการจัดเวทีวิชาการผ่านช่องทาง Line มากที่สุด    คิดเป็นร้อยละ 55.47 ความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมเวทีวิชาการมากที่สุด คือ เข้าร่วมทั้งกิจกรรมที่ 1 และกิจกรรมที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 91.54 และ 2) เหตุผลที่เจ้าหน้าที่มีความต้องการเข้าร่วมเวทีวิชาการ ส่วนใหญ่มีความต้องการพัฒนาศักยภาพตนเองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.37 

1.2 ผลการพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการนำระบบออนไลน์มาเป็นเครื่องมือส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร

     1.2.1 ข้อมูลทั่วไป พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 74.09 ระดับการศึกษามากที่สุด คือ ปริญญาโท คิดเป็นร้อยละ 52.28 ประสบการณ์ในการทำงานมากที่สุด คือ ต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.54 ตำแหน่งที่มีมากที่สุด คือ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร คิดเป็น   ร้อยละ 75.46 ระดับตำแหน่งที่มีมากที่สุด คือ ระดับชำนาญการ คิดเป็นร้อยละ 36.72 หน่วยงานที่มีมากที่สุด คือ สำนักงานเกษตรอำเภอ คิดเป็นร้อยละ 45.00 หน่วยงานที่ทำงานอยู่ในสำนัก/กอง/เขตที่มีมากที่สุด คือ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น คิดเป็นร้อยละ 26.45 การเข้าร่วมเวทีวิชาการในครั้งต่อไป ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่เข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 83.64 

     1.2.2 ผลการประเมินความคิดเห็นและความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการและรูปแบบการจัดเวทีวิชาการผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ภาพรวมเจ้าหน้าที่มีความคิดเห็นและความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.07) 

     1.2.3 ผลการประเมินความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเนื้อหาในการจัดเวทีวิชาการ นำเสนอผลงานเรื่องการถ่ายทอดความรู้ด้วยระบบออนไลน์ พบว่า ภาพรวมความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.05) 

     1.2.4 ผลการประเมินการนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานส่งเสริมการเกษตรของเจ้าหน้าที่ พบว่า ภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกหัวข้อ (ค่าเฉลี่ย 4.08)

1.3 รูปแบบการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนผลสำเร็จที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้     ด้วยระบบออนไลน์ระหว่างหน่วยงานภาคีและเครือข่ายของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร

     1.3.1 แนวทางการดำเนินงาน กรอบแนวความคิดการจัดเวทีวิชาการ ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) สร้างทีมงาน 2) ออกแบบและวางแผนการดำเนินงาน 3) เตรียมความพร้อม      ในการจัดเวทีวิชาการ 4) จัดเวทีวิชาการ และ 5) ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงาน จากผลการประเมินความพึงพอใจ พบว่า ภาพรวมการจัดเวทีวิชาการผู้เข้าร่วมเวทีมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก หมายความว่า กิจกรรมที่ออกแบบและกำหนดไว้เกิดผลสัมฤทธิ์ (ค่าเฉลี่ย 4.05-4.08)  สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและขยายผลการจัดเวทีวิชาการระดับส่วนกลางและเวทีวิชาการระดับเขต

     1.3.2 ออกแบบกระบวนการจัดเวทีนำเสนอผลงานวิชาการด้วยระบบออนไลน์ ประกอบด้วย 8 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่เวทีวิชาการ ขั้นที่ 2 พิธีเปิดเวทีวิชาการนำเสนอผลงานวิจัย ขั้นที่ 3 นำเสนอผลงานวิจัย ขั้นที่ 4 เพิ่มเติมองค์ความรู้ทางวิชาการ ขั้นที่ 5 เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ขั้นที่ 6 นำเสนอผลประมวลข้อมูลและสรุปเนื้อหา ขั้นที่ 7 ประเมินผล และขั้นที่ 8 ปิดเวทีวิชาการ จากผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมเวทีวิชาการ พบว่า ภาพรวมผู้เข้าร่วมเวทีวิชาการมีความพึงพอใจในกระบวนการและรูปแบบการจัดเวทีวิชาการผ่านระบบออนไลน์อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.07) สามารถนำมาเป็นต้นแบบ หรือ Model กระบวนการจัดเวทีนำเสนอผลงานวิชาการด้วยระบบออนไลน์ สำหรับขยายผลสู่เนื้อหาที่เป็นลักษณะเดียวกันได้

1.4 เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบการถ่ายทอดความรู้ที่เชื่อมโยง      สู่ระบบส่งเสริมการเกษตรของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตร

     แนวทางที่ 1 มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการทำงานร่วมกัน โดยวิธีการศึกษาวิจัยให้กับองค์กรและหน่วยงานทุกระดับ เพื่อสร้างองค์ความรู้เป็นของตนเองตามโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน

     แนวทางที่ 2 มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและผลงานวิจัย เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลจากเจ้าหน้าที่สู่เจ้าหน้าที่ หรือจากเจ้าหน้าที่สู่เกษตรกร เป็นองค์ความรู้เกิดขึ้นภายในองค์กร

     แนวทางที่ 3 มีระบบการตรวจสอบและรับรองผลงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงและผลงานศึกษาวิจัย เพื่อรับรองหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร

     แนวทางที่ 4 พัฒนาบุคลากรโดยเพิ่มเติมศักยภาพและความพร้อมในการทำงานเป็นทีมเพื่อกระตุ้น สร้างความตื่นตัวให้เจ้าหน้าที่ ปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดคล้องยุคสมัย มีความรู้ทันสถานการณ์ 

2. ข้อเสนอแนะ

2.1 ข้อเสนอแนะการนำมาใช้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 1) ทีมงาน ควรคัดเลือกทีมงาน เพราะเป็นกลไกที่ช่วยให้งานประสบผลสำเร็จได้ 2) การพัฒนาบุคลากร โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรียนรู้จากการฟัง การอ่าน และการสังเกต และ 3) การจัดการองค์ความรู้ เพิ่มเติมองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ได้จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ผลงานวิจัย) 

2.2 ข้อเสนอแนะการบริหาร ประกอบด้วย 1) การสร้างเวทีกลาง ควรดำเนินการต่อเนื่องหรือแยกพัฒนาเจ้าหน้าที่ตามระดับตำแหน่ง 2) การถ่ายทอดความรู้ในงานส่งเสริมการเกษตร ควรมีช่องทางสื่อสารที่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ที่มีอายุราชการจำนวนมากที่สุด คือ 5-10 ปี  และ            3) การเสริมสร้างขวัญกำลังใจ สามารถสร้างพลังและกระตุ้นให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติงานได้

2.3 ข้อเสนอแนะการดำเนินงานครั้งต่อไป ประกอบด้วย 1) การจัดเวทีกลางระดับเขต    โดยนำ Model จากเวทีกลางระดับส่วนกลางมาทดลองใช้กับเขต พร้อมกับศึกษาความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสำเร็จ และ 2) สร้างมาตรฐานในการจัดเวทีวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย โดยมีระบบงานและกระบวนการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงระหว่างผู้จัดเวทีวิชาการและหน่วยงานภายในองค์กร กระบวนการกลั่นกรององค์ความรู้จากวิธีการวิจัย มาสู่เวทีนำเสนอผลงานวิจัย และสังเคราะห์สรุปองค์ความรู้ 

หมายเลขบันทึก: 707717เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2022 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2022 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท