เที่ยวปราจีนบุรี - สระแก้ว เมืองโบราณใกล้กรุงเทพฯ (3) ปราสาทสด๊กก๊อกธม ร่องรอยอารยธรรมโบราณ


เที่ยวปราจีนบุรี -สระแก้ว เมืองโบราณใกล้กรุงเทพฯ (3) ปราสาทสด๊กก๊อกธม ร่องรอยอารยธรรมโบราณ

ปราสาทสด๊กก๊อกธม หรือ สด๊อกก๊อกธม สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากอำเภออรัญประเทศไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมขอมในอดีต และยังเป็นปราสาทหินโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก

สมัยก่อนชาวบ้านเคยเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า "ปราสาทเมืองพร้าว" โดยมีเรื่องเล่าขานกันว่า มีคนหลงทางเข้าไปในดงแล้วเห็นว่ามีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่โดยรอบตัวปราสาท ส่วนชื่อทางการในปัจจุบัน คือ ปราสาทสด๊กก๊อกธม ซึ่งเป็นภาษาเขมร "สด๊ก" หรือ "สด๊อก" แปลว่า รกทึบ, "ก๊อก" แปลว่า ต้นกก, "ธม" แปลว่า ใหญ่ “สด๊กก๊อกธม” จึงมีความว่า ปราสาทที่มีต้นกกขึ้นรกทึบบริเวณหนองน้ำใหญ่

ปราสาทแห่งนี้ก่อสร้างด้วยหินและศิลาแลง แบบสถาปัตยกรรมเขมร ประกอบด้วยอาคารสำคัญ ได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคต กำแพงแก้วและสระน้ำ รวมถึงบาราย หรือ แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ บริเวณด้านนอกไม่ไกลจากพื้นที่ปราสาท

ผังปราสาทแสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องจักรวาลของศาสนาฮินดู โดยมีเขาพระสุเมรุอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยเสาเป็นปริมณฑลบ่งบอกว่าเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ก้อนหินต่างๆในปราสาทมีการแกะสลักลวดลายงดงามบนเนื้อหินเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และลวดลายพันธุ์พฤกษา ใกล้เคียงกับศิลปกรรมเขมรแบบคลังผสมกับบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 รัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (พุทธศักราช 1593 - 1609) สร้างขึ้นเพื่อประทานแก่พระราชครูที่ลาสิกขาจากสมณเพศนามว่า " ศรีชเยนทรวรมัน" หรือ นามเดิมว่า " สทาศิวะ" โดยที่พระครูผู้นี้มีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 อีกทั้งยังเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายแด่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างตามลักษณะศิลปะเขมร ผังของปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบารายขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า เชื่อมต่อด้วยทางดำเนินประดับด้วย "เสานางเรียง" มีซุ้มประตู "โคปุระ" และอาคารมีระเบียงคตสร้างจากหินทรายและศิลาแลงล้อมรอบปราสาทชั้นในไว้

มีการค้นพบศิลาจารึก 2 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอายุการสร้าง ตลอดจนบอกถึงวัตถุประสงค์ของการสร้าง โดยจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 2 เป็นจารึกที่สำคัญที่มีการกล่าวถึงลำดับรายพระนามพระมหากษัตริย์เขมรสมัยเมืองพระนครถึงพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

กรมศิลปากรได้อนุรักษ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งแต่พ.ศ. 2536 - 2557 ตามหลักการอนุรักษ์และบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) บนพื้นฐานของงานโบราณคดี โดยพยายามค้นหาชิ้นส่วนหินที่กระจัดกระจายมาทดลองประกอบกลับคืนตำแหน่งเดิม ทำเครื่องหมายไว้แล้วรื้อออกเพื่อเสริมฐานรากและความแข็งแรงใหม่ จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนกลับขึ้นไปประกอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง จนทำให้เราได้เห็นสภาพของตัวปราสาทได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จัดสร้างอาคารนิทรรศการ ลานจอดรถ ห้องสุขา ซุ้มจำหน่ายของที่ระลึก ระบบน้ำ ระบบไฟและดูแลความสะอาดภายในบริเวณปราสาท

ในปีพ.ศ.2560 กรมศิลปากรได้มีประกาศให้ปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งที่ 11 ของประเทศไทย นับว่าเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์เชื่อมต่อกับโบราณคดี ซึ่งในวันนี้ปราสาทสด๊กก๊อกธมพร้อมแล้วที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือนปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก

ขอขอบคุณ

  • การบริการที่ดีเยี่ยมของทัวร์ฟ้าใสและทีมงานทุกคน
  • น้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางท่องเที่ยวทุกๆท่าน

หมายเลขบันทึก: 703952เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2022 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2022 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท