ระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา


1. บทสรุป :

          การพัฒนา “ระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา” ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการงานให้ค่าตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นักวิจัยสามารถติดตามสถานะการขอเบิกค่าตอบแทนของตนเอง และผู้บริหารสามารถที่จะดูรายงานสรุปต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น รองรับการทำงานแบบทันสถานการณ์ JITJIN (Just In Time and Just In Need) 

          ขั้นตอนในการดำเนินงานประยุกต์ใช้ ก.พ.ร. โมเดล ได้แก่ การบ่งชี้ความรู้, การสร้างและแสวงหาความรู้, การจัดความรู้ให้เป็นระบบ, การประเมินและกลั่นกรอง, การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้, จัดเก็บและการเผยแพร่องค์ความรู้ และการเรียนรู้

2. คำสำคัญ : 

          การตีพิมพ์เผยแพร่, ระบบสารสนเทศ, ฐานข้อมูล

3. บทนำ (ที่มาและความสำคัญ) :

          ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิต การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้ดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว ซึ่งมี สถาบันวิจัยและพัฒนา ทำหน้าที่หลักในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ด้านการวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตงานวิจัยและผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งของการดำเนินงานวิจัย คือ การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย ไม่ว่าจะในรูปแบบของบทความวิจัย งานสร้างสรรค์ หรือการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันเป็นเงื่อนไขตามตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์

          สถาบันวิจัยและพัฒนา มีระบบสารสนเทศเพื่อช่วยบริหารจัดการงานวิจัย (RMS) ในรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชัน รองรับให้ผู้ใช้งาน ได้แก่ อาจารย์ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่วิจัยของคณะในการบันทึกข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัย เพื่อใช้ประกอบการทำเอกสารขอเบิกค่าตอบแทนรางวัลและการประกันคุณภาพการศึกษา แต่ระบบดังกล่าวไม่รองรับการบันทึกข้อมูลที่เป็นงานสร้างสรรค์ และสิ่งประดิษฐ์ที่มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งยังไม่ตอบสนองในการเปิดกับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (ธนภัทร เจิมขวัญ และพิเชษฐ์ จันทวี, 2556)

          ในปัจจุบันอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านความบันเทิง ด้านการศึกษา และการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย รวดเร็ว และสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกโอกาส ผู้ผลิตสามารถสร้างประสิทธิภาพของอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่เทียบเท่าคอมพิวเตอร์ จนสามารถกล่าวได้ว่า สามารถทำงานแทนคอมพิวเตอร์ได้อย่างไม่มีข้อแตกต่าง

          ด้วยเหตุนี้ เพื่อตอบสนองการบริหารจัดการงานให้รางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการความรู้และพัฒนา “ระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา” ในรูปแบบ Responsive Web Application รองรับการทำงานแบบทันสถานการณ์ JITJIN (Just In Time and Just In Need)

4. วิธีการดำเนินงาน :

4.1 กระบวนการ ขั้นตอนและเครื่องมือ               

      1) ก.พ.ร. โมเดล

      2) Storytelling

      3) Design Thinking

      4) Knowledge Cafe

4.2 การบ่งชี้หรือค้นหาความรู้

          สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้จัดตั้งคณะทำงาน และทำเป็นเอกสารคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการการจัดการความรู้ ประจำปีการศึกษา 2564” ขึ้น และได้ร่วมกันคิดประเด็นการจัดการความรู้ คือ “ระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา” ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประเด็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ 3 นำพาองค์กรสู่ความสุขและความมั่นคง และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์สถาบันวิจัยและพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแหล่งบริการข้อมูลตามพันธกิจของสถาบันวิจัยและพัฒนา (สถาบันวิจัยและพัฒนา, 2565)

4.3 การสร้างและแสวงหาความรู้ 

          ค้นคว้าและรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดการความรู้จากแหล่ง ข้อมูลภายในและภายนอก ซึ่งจำแนกองค์ความรู้ได้ดังนี้

จากภายในองค์กร

ชื่อองค์ความรู้ ประเภท วัตถุประสงค์ แหล่งความรู้
การเขียนโปรแกรมบนเว็บ Tacit เพื่อให้ในการเขียนโปรแกรมระบบฯ ในรูปแบบของ Responsive Web Application

นายธนภัทร เจิมขวัญ

(นักวิชาการคอมพิวเตอร์)

การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ACI, ISI,  Scopus และ Scimago Tacit เพื่อใช้ในการกำหนดเงื่อนไข ในการเขียนโปรแกรม

ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ

(รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ)

ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนค่าตอบแทนการตีพิมพ์บทความวิจัย งานสร้างสรรค์ฯ พ.ศ. 2565 Explicit เพื่อใช้ในการกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์การให้เงินรางวัลในแต่ละประเภทของงานตีพิมพ์เผยแพร่ ในส่วนของการเขียนโปรแกรม เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนา
แบบฟอร์มเบิกค่าตอบแทนตีพิมพ์เผยแพร่ Explicit เพื่อใช้ในการกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์การกำหนดสิทธ์ในการเข้าถึงระบบ ในส่วนของการเขียนโปรแกรม เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนา

จากภายนอกองค์กร

ชื่อองค์ความรู้ ประเภท วัตถุประสงค์ แหล่งความรู้
งานสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์) Tacit เพื่อใช้ในการกำหนดฟิลด์ ของข้อมูลงานสร้างสรรค์ และทรัพย์ สินทางปัญญา ในการบันทึกเข้าสู่ระบบ ในส่วนของการเขียนโปรแกรม

นางเนตรชนก เพชรรัตน์

(คณะศิลปะกรรมศาสตร์)

PHP Tutorial Explicit เพื่อใช้ในการศึกษาแนวคิดการโปรแกรมบนเว็บ เว็บไซต์ W3 School
Design Thinking Explicit เพื่อใช้เป็นแนวคิดในการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบของ  Responsive Web Application

หนังสือ Introduction to

Design Thinking ของ Chadarat Singharuksa

การใช้ Design Thinking เป็น Methodology ในการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ Explicit เพื่อใช้เป็นแนวคิดในการดำเนินการพัฒนาระบบในรูปแบบของ  Responsive Web Application บทความวิจัย : สถาปตยกรรมระบบเช่าการทำงานของคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติง ของ เจษฎา เดชหวังกลาง และคณะ

4.4 การจัดความรู้ให้เป็นระบบ

          ประยุกต์ใช้แนวคิด “Design Thinking” มาใช้ในการระดมความคิดเห็นจาก User ที่เกี่ยวข้อง มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ (Chadarat Singharuksa, 2019)

          1) การเข้าใจปัญหา (Empathize) เป็นการศึกษา และรวบรวมข้อมูลความต้องการจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ในที่นี้ใช้การประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings จากตัวแทน User ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาฝ่ายวิจัยฯ 1 ท่าน, เจ้าหน้าที่วิจัยของสถาบันวิจัย 3 ท่าน, เจ้าหน้าที่วิจัยของคณะ 1 ท่าน, นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ 2 ท่าน โดยให้แต่ละท่านได้เล่าเรื่อง (Storytelling) สิ่งที่ตนเองอยากได้ระบบงานใหม่ และปัญหาของระบบงานเดิม ในการเบิกค่าตอบแทนการตีพิมพ์

                   1.1) การใช้แผนภาพใจเขาใจเรา (Empathy Map) โดยนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมออนไลน์จากข้อ 1) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 7 ท่าน เกี่ยวกับระบบการทำงานในปัจจุบันของระบบเดิม ถึงความคิดเห็นและความรู้สึก (Think and Feel) สิ่งที่ได้ยิน (Hear) สิ่งที่ทำอยู่ (Do and Say) สิ่งที่กลัว และเคยมีประสบการณ์ไม่ดี (Pain) และสิ่งที่ต้องการที่ อยากให้เกิดขึ้น (Gain) นำมาวิเคราะห์ลงในแผนภาพใจเขาใจเรา ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 แผนภาพใจเขาใจเรา (Empathy Map)

                   1.2) ศึกษาเอกสาร แบบฟอร์ม ระเบียบและประกาศของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่เป็นปัจจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบ ข้อดี ข้อเสีย ของเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาระบบใหม่

          2) การตั้งกรอบโจทย์ (Defne) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษา และรวบรวมข้อมูลทั้งจากการประชุมและวิเคราะห์ผ่านการใช้แผนภาพใจเขาใจเรา (Empathy Map) และการวิเคราะห์จากการศึกษาเอกสาร แบบฟอร์ม และประกาศที่เกี่ยวข้อง นำมาจัดหมวดหมู่และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวโน้มของความต้องการที่มีทิศทางไปในทางเดียวกันที่สูงสุดสามารถสรุปผลความต้องการของผู้ใช้งานได้ดังนี้ (1) ระบบรองรับการทำงานได้ดีทั้งใน PC และ Mobile (2) ระบบรองรับการบันทึกข้อมูลทั้งที่เป็นบทความวิจัย งานสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา (3) ระบบรองรับการนำเสนอสถิติในรูปแบบของสารสนเทศและกราฟ (4) ระบบรองรับการแจ้งเตือนผ่าน e-mail หรือ sms ในเวลาที่นักวิจัยได้รับอนุมัติให้ได้เงินค่าตอบแทนแล้ว (5) ระบบรองรับการทำงาน User หลายระดับ ได้แก่ นักวิจัย เจ้าหน้าที่วิจัยคณะ เจ้าหน้าที่วิจัยสถาบันวิจัยฯ และผู้บริหาร เป็นต้น

          3) การสร้างความคิด (Ideate) เป็นการระดมความคิดของทีมงาน นำมาประกอบการตัดสินใจในการสร้างระบบงานหรือองค์ประกอบของต้นแบบ (Prototype) โดยได้มีการนัดประชุมในรูปแบบของ Knowledge Café ที่ร้านอะเมซอน สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมีข้อสรุปในการสร้างต้นแบบ คือ พัฒนาระบบใหม่ ให้อยู่ในรูปแบบของ Responsive Web Application 

          4) การสร้างต้นแบบ (Prototype) เป็นการถ่ายทอดแนวความคิดออกมาในเป็นรูปร่าง โดยในขั้นตอนนี้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ใช้เครื่องมือหลักในการพัฒนาได้แก่ Bootstrap Framework, ภาษา PHP และระบบจัดการฐานข้อมูล MySQL เนื่องจากทั้งสามเครื่องมือเป็นซอฟต์แวร์ฟรี และเป็นโอเพ่นซอร์ส ซึ่งลดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ได้ และที่สำคัญเป็นที่นิยมแพร่หลาย มีคู่มือแนะนำค่อนข้างมากมาย กระบวนการในการพัฒนาระบบมีดังต่อไปนี้

          4.1) ศึกษาเอกสารต่าง ๆ

          ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ ซึ่งประกอบด้วย หลักการออกแบบเว็บเชิงตอบสนอง (Web Responsive) ด้วย Bootstrap Framework การพัฒนาเว็บแอปพลิ เคชั่นด้ายภาษา PHP, การออกแบบและวิเคราะห์ระบบ, คู่มือภาษา JavaScript รวมทั้งเอกสารและข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ผู้พัฒนาเข้าใจการพัฒนาระบบได้มากขึ้น

          4.2) การเขียนโปรแกรม

          การพัฒนาโปรแกรม ได้ใช้เครื่องมือในการพัฒนา ได้แก่ โปรแกรม Adobe Dreamweaver CS5 และโปรแกรม Editplus 3.30 ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการเขียนชุดคำสั่งภาษา PHP ได้อย่างสะดวก เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการฐานข้อมูล ได้แก่ โปรแกรม MySQL และเครื่องมือในการออกแบบหน้าจออินเตอร์เฟสต่าง ๆ ได้แก่ โปรแกรม Adobe Photoshop CC

          5) การทดสอบ (Testing) เป็นขั้นตอนการทดสอบ Pototype ซึ่งหลังจากที่ได้มีการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องทดสอบการทำงานของระบบในเบื้องต้นว่ามีข้อผิดพลาด และไม่ครบถ้วนประการใดบ้าง ก่อนที่จะทดลองใช้งานจริง กระบวนการในการทดสอบและติดตั้งระบบมีดังต่อไปนี้

          5.1) การทดสอบในขั้นตอนการพัฒนา

          ผู้พัฒนาระบบได้จำลองเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น เว็บเซอร์ฟเวอร์จำลอง โดยได้ติดตั้งโปรแกรม Appserv 2.5.10 ซึ่งภายในประกอบด้วยโปรแกรมย่อย 4 โปรแกรม คือ ตัวแปรภาษา PHP, ระบบจัดการฐานข้อมูล MySQL, โปรแกรม phpMyAdmin และ Apache WebServer เหตุผลที่ใช้โปรแกรมนี้เพราะเป็นซอฟต์แวร์ฟรี ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และมีแหล่งเรียนรู้ทั้งในหนังสือและอินเตอร์เน็ตมากมาย

          5.2) การทดสอบระบบงานจริงและการนำไปใช้

          หลังจากได้ทดสอบระบบเบื้องต้นตามขั้นตอนที่ 5.1) แล้ว ในขั้นตอนการทดสอบระบบงานจริง ได้ทำการอัปโหลดชุดคำสั่งของระบบพร้อมทั้งฐานข้อมูล ขึ้นไปบนเครื่องแม่ข่ายของมหาวิทยาลัย เพื่อติดตั้งและทดลองใช้งาน โดยใช้โปรแกรม Filezilla Client ในการอัปโหลด ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 ระบบ Publication Reward system

4.5 การประมวลและกลั่นกรองความรู้

          จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้งานระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ (ระบบใหม่) ในรูปแบบ Online ผ่าน Zoom Cloud Meetings โดยอาศัย User จากข้อ 1) มาให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นเพิ่ม พร้อมทั้งแก้ไขระบบให้ดียิ่งขึ้น ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 การประชุมเพื่อทบทวนและให้ข้อคิดเห็นระบบ PRS

4.6 การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้

          กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านกระดานสนทนาของเว็บไซต์การจัดการความรู้ (KM-Blog) และการแบ่งปันความรู้ ผ่าน Facebook ของสถาบันวิจัยฯ

4.7 การเรียนรู้

          1) จัดทำ Account (Username และ Password) ในการเข้าใช้งานระบบ เพื่อให้อาจารย์/นักวิจัย ทุกคนของมหาวิทยาลัย เข้าใช้งานจริง

          2) จัดทำคู่มือการใช้งานระบบในรูปแบบของวิดีโอซึ่งแขวนลิงค์ที่เว็บไซต์ Youtube

          3) จัดทำหนังสือไปยังทุกคณะ เพื่อให้อาจารย์/นักวิจัย เข้าไปใช้งานระบบ

5. สรุปและอภิปรายผลการดำเนินงาน :

5.1 สรุปผลการดำเนินงาน

          1) มีระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่สามารถใช้งานได้ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบ Real Time ตามสิทธิ์การเข้าถึง (นักวิจัย, เจ้าหน้าที่วิจัยคณะ, เจ้าหน้าที่วิจัยสถาบันวิจัยฯ และผู้บริหาร) ซึ่งมีการอัปโหลดไปยังเครื่องแม่ข่ายของมหาวิทยาลัยตามที่อยู่ URL : http://ird.skru.ac.th/PRS

          2) มีการใช้งานระบบสารสนเทศที่ได้พัฒนาขึ้นแบบออนไลน์ 

          3) คุณภาพของระบบ ตามตารางที่ 1

 ตารางที่ 1 Ouput/Outcome/Impact

Output Outcome Impact
ได้ระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ สถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะ นำระบบฯ ดังกล่าวไปใช้บริหารงานให้รางวัลตอบแทนการตีพิมพ์ อาจารย์/นักวิจัย ในมหาวิทยาลัย พัฒนาทักษะการใช้ระบบงานไอที ในการบันทึกข้อมูลตีพิมพ์เผยแพร่ของตนเองได้
    มหาวิทยาลัย ได้ฐานข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ทันสมัย และเป็นปัจจุบัน

6. ข้อเสนอแนะและการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ :

          ระบบเบิกรางวัลตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้งานกับหน่วยงานสถาบันอุดมศึกษาได้ทุกที่ เพราะรองรับการบริหารงานเบิกค่าตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ ตั้งแต่ การบันทึกข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่ การตรวจสอบเกณฑ์ การคำนวนเงินรางวัล และการติดตามสถานะการเบิกค่าตอบแทน และหากมีการศึกษาและพัฒนาในส่วนของรายงานให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริหาร ก็จะเป็นประโยชน์ในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 702774เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2022 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2022 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เยี่ยมมากกกก ทำต่อไป สามารถดูข้อมูล citations ได้มั้ยค่ะ

ขอไปใช้ที่ยะลาได้มั้ยพี่

จะเป็นไปได้มั้ย มหาวิทยาลัย สามารถดึงข้อมูล article จากแหล่ง tci, isi หรือ scopus มา แล้วนำเข้าไปในระบบ นี้ เพื่อไม่ให้นักวิจัยต้องเสียเวลากรอก .แค่เสนอแนะนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท