"ภาษาเขมรถิ่นไทย"


*"ภาษาเขมร ถิ่นไทยอีสานใต้"

  **“นามเรียกขาน”        

      *ภาษาเขมรมีผู้พูดอยู่ในหลายประเทศทั้งในประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ภาษาเขมรที่พูดในประเทศไทยเรียกว่า ภาษาเขมรถิ่นไทย ชื่อนี้ได้มาจากการตกลงกันในการประชุมที่โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ในปี 2533 ต่อมาชื่อนี้ขยายไปเรียกชาวชาติพันธุ์เขมรในถิ่นอื่นๆ นอกจากจังหวัดสุรินทร์ และชาวเขมรในภาคตะวันออกของประเทศไทยด้วย เนื่องจากมีความหมายครอบคลุมทั้งในประเทศไทย แม้ว่าภาษาเขมรถิ่นไทยจะมีลักษณะทางภาษาใกล้เคียงกับภาษาเขมรที่พูดในประเทศกัมพูชาแต่ก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาเขมรถิ่นไทยในหลายพื้นที่ เช่น ภาษาเขมรสุรินทร์และศรีสะเกษ ยังคงรักษาเสียงพยัญชนะสะกด “ร” อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

   

 **เกร็ดประวัติศาสตร์

     -ชาวเขมรในประเทศไทย อยู่เป็นชุมชนขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างทั้งในภาคตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานใต้) มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับโบราณสถานที่อยู่ในอารยธรรมขอมในอดีตซึ่งกระจัดกระจายในอีสานใต้ จึงเชื่อว่าส่วนหนึ่งอยู่ติดพื้นที่มานานแล้ว และส่วนหนึ่งมีประวัติการอพยพจากบางพื้นที่ของกัมพูชา เข้ามาสมทบในช่วงเวลาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ชาวเขมรในอีสานใต้ของไทยบางพื้นที่ยังมีประวัติว่าเป็นชาวกวย (หรือชาวกูย หรือชาวส่วย) เข้ามาอยู่อาศัยปะปนกับชาวเขมร และถูกกลืนกลายเป็นชาวเขมรในที่สุด เนื่องจากสังคมชาวกวยอยู่ในวงล้อมของสังคมผู้ใช้ภาษาเขมรและชาวกวยอยู่ปะปนกับชาวเขมรโดยที่มีสัดส่วนของชาวเขมรในพื้นที่นั้นๆ มากกว่า 

   

   **แหล่งพำนักพักพิง 

       -ชาวเขมรในอีสานใต้อยู่กระจัดกระจายตั้งแต่อำเภอน้ำยืน ซึ่งอยู่ทางใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเกษตรวิสัยซึ่งอยู่ทางใต้ของจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอพยัคภูมิพิสัยซึ่งอยู่ทางใต้ของจังหวัดมหาสารคาม และในหลายอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และทางตะวันออกสุดของพื้นที่อีสานใต้คืออำเภอเสิงสาง ซึ่งอยู่ทางใต้ของจังหวัดนครราชสีมา

**วัฒนธรรมทรงคุณค่า

     -วัฒนธรรมไหว้ผีบรรพบุรุษเหมือนกันซึ่งบางพื้นที่เรียกว่า “โดนตา” บางพื้นที่เรียก “ปจุม เบ็น” ซึ่งจะทำบุญในเดือนสิบให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และถือเป็นโอกาสในการรวมญาติ ลูกหลานที่ไปทำงานในที่ห่างไกลก็จะกลับมาพบกันในช่วงนี้ มีการทำข้าวต้ม อาหาร และจัดเตรียมข้าวของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ รวมทั้งเสื้อผ้า และมีการนำสิ่งของเหล่านี้ใส่กระเชอสำหรับให้ผีบรรพบุรุษนำกลับไปกินระหว่างทาง

   *ภาษา...อัตลักษณ์แห่งตน

     -ภาษาเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มคน ภาษาเขมรถิ่นไทย เป็นภาษาหนึ่งที่สำคัญในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-asiatic language family) และเป็นภาษาที่ไม่มีระบบเสียงวรรณยุกต์แต่จะแยกความหมายของคำด้วยระบบของเสียงสระ

 *ธำรงรักษาภาษาเขมรถิ่นไทย

     -ภาษาเขมรในประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอยเนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงภาษาไทยได้ง่าย และละเลยการอนุรักษ์ภาษาพูดของตน อย่างไรก็ตาม คนไทยเชื้อสายเขมรในพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์และนักวิชาการได้ร่วมกันพยายามอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมเขมรถิ่นไทย ที่มีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างจากภาษาเขมรกัมพูชาไว้ โดยดำเนินโครงการสอนภาษาเขมรถิ่นไทยด้วยอักษรไทย เพื่อช่วยบันทึกและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น วรรณกรรมมุขปาฐะต่างๆ และนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาเขมรถิ่นไทยด้วยอักษรไทย  อันเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กลุ่มคนที่ใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยที่จะสืบสานและสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

เมื่อเราทำผิดพลาดได้ ก็กลับตัว... - เขมรถิ่นไทย-อีสานใต้ | Facebook

*ตัวอย่าง “ภาษาเขมรถิ่นไทย อีสานใต้” (เรื่องของใจ)

คำสำคัญ (Tags): #"เขมรถิ่นไทย"
หมายเลขบันทึก: 702729เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2022 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2022 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท