ดูเดือนก่อนดูดาว


คำนวณเวลาสำหรับดูดาว

ในบางครั้ง เมื่อได้มีโอกาสไปพักผ่อนในถิ่นที่รู้ว่าไกลเมือง การได้มีโอกาสดูดาวเต็มฟ้าด้วยตาเปล่า อาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับคนที่วิถีชีวิตวนเวียนเกี่ยวข้องแต่กับรูปทรงสี่เหลี่ยม

ดูดาวให้เต็มตา ต้องไม่มีแสงรบกวน

แสงรบกวนหมายเลขหนึ่ง กลับเป็นแสงจันทร์ฺ

การวางแผนเลือกวันเดินทาง จึงต้องทราบข้างขึ้นข้างแรม และทราบเวลาพระจันทร์ขึ้น-ตก

มีวิธีคำนวณที่ผมอ่านเจอในสมัยเป็นเด็ก ไม่แน่ใจว่าเป็นหนังสืออะไร ต้องขออภัยที่ไม่สามารถใส่อ้างอิงในที่นี้

วิธีคือ ให้เริ่มที่ขึ้นสิบห้าค่ำ พระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์ขึ้นในขณะพระอาทิตย์ตกพอดี นั่นคือ หกโมงเย็น

ในทุกวัน พระจันทร์จะขึ้นช้ากว่าเดิม 50 นาที โดยค้างฟ้านาน 12 ชั่วโมง 25 นาที

นั่นคือ ถัดจากขึ้นสิบห้าค่ำ ก็เป็นแรมหนึ่งค่ำ เราจะคาดว่าพระจันทร์ขึ้น 18:50 น. และตก 07:15 น.

แรมสองค่ำ ก็จะขึ้น 19:40 น. และตก 08:05 น.

ทำนองนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบเดือน ก็ครบวัฎจักร คือ 50 นาที คูณ 29 วัน เท่ากับ 24 ชั่วโมง นั่นคือ เมื่อครบเดือน พระจันทร์ก็ถูกพระอาทิตย์แซงครบรอบพอดี 

พอแม่นตรงนี้ จะทำให้ประยุกต์ต่อได้อีก คือการดูพระจันทร์แทนนาฬิกาเพื่อดูเวลาได้ด้วย

และหากช่างสังเกตสักหน่อย ยังใช้พระจันทร์ดูทิศได้ด้วย

ถ้าเป็นช่วงที่พระจันทร์อยู่ในช่วงใกล้เต็มดวง แสงรบกวนจะมีมาก ชมดาวมิสู้ชมเดือน

แต่หากเดือนใกล้ดับ เช่น แรมปลาย ๆ หรือข้างขึ้นอ่อน ๆ ต่อให้มีพระจันทร์ ก็ไม่รบกวนการดูดาวเท่าไหร่

แวนโกะเคยวาดภาพ starry night ดาวกระจ่างฟ้า สุกไสวราวแดดยามเที่ยง ไม่แน่ว่าเป็นการวาดถ่ายทอดภาพดาวที่น่าตื่นตาตื่นใจภาพหนึ่งที่อาจโชคดีได้เห็นหากฟ้าเปิดและไร้มลภาวะจากแสงสังเคราะห์ของเมือง

เที่ยวป่า เที่ยวทะเลที่ไกลเมืองทั้งที ไม่ได้ดูดาวเต็มฟ้า ก็เหมือนเที่ยวผิวเผิน

เมื่อได้เห็นทางช้างเผือกดารดาษตระการฟ้า จึงจะรู้ว่าธรรมชาติงดงามกระไรปานนั้น

หมายเลขบันทึก: 70266เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2006 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีปีใหม่  พร้อมกับได้เรียนรู้การคำณวนเวลาดูดาว

        ยินดีร่ามแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท