พระยาเพชรบุรีวีรบุรุษที่ถูกลืม


  พระยาเพชรบุรี (เรือง)

   

       พระยาเพชรบุรี หรือ พระยาสุรินทรฤๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหุ มีนามเดิมว่า เรือง เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๒๔๘ ในรัชกาลพระสุริเยนทราธิบดี(พระเจ้าเสือ) บิดาชื่อฤทธิ์เป็นหลวงกัลยาราชไมตรี(อุปทูตไปกรุงไปกรุงฝรั่งเศสกับโกษาปาน) มารดาชื่อแม่จันทร์ (นางข้าหลวงตำหนักกรมหลวงโยธาทิพ) ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบล บ้านสวนตาล หลังวัดพนัญเชิง เป็นพระญาติในสมเด็จกรมพระเทพามาตย์ราชชนนีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระญาติกับเจ้าขรัวเงิน พระชนกในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 โดยพระยาเพชรบุรี (เรือง) นั้นสืบเชื้อสายมาแต่ตระกูลขุนนางที่รับราชการต่อเนื่องกันมาในราชสำนักหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งยังเป็นตระกูลขุนนางซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่ราษฎรกรุงศรีอยุธยาเวลานั้น

เริ่มเข้ารับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในกรมขุนพรพินิต (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเห็นฝีมือจึงขอตัวไปทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งให้เป็นขุนนางฝ่ายทหาร ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2275 และเป็นขุนนางจากราชสำนักอยุธยาคนสุดท้ายที่ได้ออกไปครองเมืองเพชรบุรี

สมรสกับคุณหญิงปิ่น มีบุตรคือ เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฤๅไชย (บุญมี) และพระยาพิชัยราชา

พระยาเพชรบุรี เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ เลื่องลือว่าอยู่ยงคงกระพัน ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ร่วมกับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี และหมื่นทิพเสนา วางแผนถอดสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ออกจากราชสมบัติ แล้วถวายให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่ครองราชย์ ต่อมาความทราบถึงสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จึงมีพระราชโองการให้กุมตัวเหล่ากบฏ พระยาเพชรบุรีรู้ข่าวจึงพาทหารไปเชิญเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธ หนีออกจากพระนคร แต่ก็มาถูกจับ พระยาเพชรบุรีจึงต้องพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ มีรับสั่งให้ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรลาผนวช แล้วมอบราชสมบัติให้ เมื่อพระเจ้าอุทุมพรได้ราชสมบัติแล้ว จึงมีรับสั่งให้ปล่อยตัว เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช และ พระยาเพชรบุรี ออกมารับราชการดังเก่า ต่อมาเมืองเมาะตะมะเกิดกบฎ พระยายมราชและพระยาเพชรบุรีจึงได้ไปปราบจนพวกมอญราบคาบ

ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง พระยาเพชรบุรีได้มีหน้าที่รักษากรุง ได้รบกับทัพพม่าที่ริมวัดสังฆาวาศแล้วถูกพม่าจับกุมได้และถูกพม่าประหารเมื่อ เดือน 12 ปีจอ พุทธศักราช 2309

พระยาเพชรบุรีมีบุตรคนหนึ่งนามว่า บุญมี ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบรรดาศักดิ์ที่หลวงพิไชยราชา ต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาได้รับการพระราชทานยศขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิไชยราชา รามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาไลย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองสวรรคโลก

พระยาเพชรบุรี เป็นต้นของสกุล บุญ-หลง บุญมี หมายมั่น พลางกูรและอีกหลายสกุลสาขา

 

ตระกูลของพระยาเพชรบุรี

-เจ้าขรัวศุข สมรสกับท่านยายอิ่ม มีบุตร คือ
หลวงกัลยาราชไมตรี (ฤทธิ์)

-หลวงกัลยาราชไมตรี (ฤทธิ์) สมรสกับคุณจันทร์ มีบุตรคือ
พระยาเพชรบุรี (เรือง)

-พระยาเพชรบุรี (เรือง) สมรสกับคุณหญิงปิ่น มีบุตรคือ
๑. เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฤๅไชย (บุญมี)
๒. พระยาพิชัยราชา

เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฤๅไชย (บุญมี) สมรสกับ ท่านผู้หญิงเจริญ มีบุตรคือ
๑. พระสุวรรณภักดี (ชิด)
๒. เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๓. เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ต้นสกุล “บุญ-หลง”

-พระสุวรรณภักดี (ชิด) สมรสกับ คุณหญิงน้อยเล็ก มีบุตรคือ
พระศรีราชอักษร์ (แช่ม)

-พระศรีราชอักษร์ (แช่ม) สมรสกับคุณหญิงรื่น ชำนาญบริรักษ มีบุตรคือ
พระยาพิทักษนคราธำรง (มั่น)

-พระยาพิทักษนคราธำรง (มั่น) สมรสกับคุณหญิงนิ่ม ณ น่าน (ธิดาพระเจ้าสุริยพงษผลิตเดช) มีบุตรคือ
พระหมายมั่นราชกิจสุรฤทธิฤๅไชย (ชุ่ม) ต้นสกุล “หมายมั่น”

 

ฉากสุดท้ายพระยาเพชรบุรี

    พระยาเพชรบุรี กองหน้านำกองเรือตะลุมบอนกับพม่า กลางทุ่งวัดสังฆวาส พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงโยนเข้าใส่ จับพระยาเพชรบุรีไว้ได้ พระยาเพชรบุรีเป็นคนมีวิชา ฟันแทงไม่เข้า “จึงเอาไม้เหลาเสียบแทงทางทวารหนัก ถึงแก่ความตาย”

พงศาวดารบันทึกว่า ในกองหน้า พระยาเพชรบุรี มีพระยาตาก เป็นนายกองเรือ และหลวงศรเสนี เป็นกองหนุน...แต่ทั้งสอง จอดรอดูเสีย หาเข้าช่วยอุดหนุนไม่

ศึกครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยามีผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธ ป่วยไข้ อดตายราว 2 แสนคน ถูกจับเป็นเชลยราว 3 หมื่นคน

 

บรรณานุกรม

  1. นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพ : มติชน, พ.ศ. 2559. 623 หน้า. หน้า หน้าที่ 68. ISBN 9789743230561
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 247
  3. ปรามินทร์ เครือทอง (8 มิถุนายน 2019). "เปิดตัวพระยาตาก แบบไม่สวย". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2021.
  4. พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. กระเบื้องถ้วยกะลาแตก. กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, พ.ศ. 2553. 240 หน้า. หน้า หน้าที่ 104. ISBN 9789749601372
  5. เอกสารมรดกตระกูลพระยาเพชรบุรี

 


 

หมายเลขบันทึก: 702554เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2022 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท