"หลักการเขียนเพลงลูกทุ่ง"


“การเขียนเพลง”

**หลัก 5 ประการในการเขียนเพลง ของ"ครูเพลง"

1. ขึ้นต้นต้องโดนใจ

2. เนื้อในต้องคมชัด

3. ประหยัดคำไม่วกวน

4. ทำให้คนฟังนึกว่าเป็นเพลงของเขา

5. จบเรื่องราวประทับใจ

1. ขึ้นต้นต้องโดนใจ".. 

    *หมายถึง …โดนใจผู้ฟังด้วยคำร้องหรือประโยคเด็ด ๆ แต่ถ้าหาประโยคเด็ด ๆ ไม่ได้ ก็ต้องใช้ทำนองขึ้นมาอุ้มเนื้อร้องให้ไปด้วยกัน ทำให้คนฟังสนใจตั้งแต่เริ่มแรก

2. เนื้อในต้องคมชัด 

   *หมายถึง …การเดินเรื่องให้คนฟังเห็นภาพ หรือเรียกว่าให้มีกลิ่นของเพลงเพื่อให้คนฟังจินตนาการได้ว่าเพลงกำลังพูดถึงอะไรอยู่ เช่น ถ้าเป็นชนบทก็ต้องมีฉากเถียงนา ทุ่งข้าว ทุ่งหญ้า ถ้าเป็นเรื่องหนุ่มจีบสาวห้างต้องมีฉากบันไดเลื่อนหรือสิ่งที่มีอยู่ในห้างสรรพสินค้า ถ้อยคำเหล่านี้ต้องมีในเพลงเพื่อให้คนฟังนึกภาพออก

3. ประหยัดคำไม่วกวน 

      *หมายถึง… การตัดคำฟุ่มเฟือยออก ถ้อยคำที่ใช้แทนตัวผู้หญิงอย่าง เนื้อเย็น เนื้อทอง ทรามวัย ที่หยิบมาใช้อย่างเกินความพอดี ทำให้เปลืองเนื้อที่โดยเปล่าประโยชน์

4. ทำให้คนฟังนึกว่าเป็นเพลงของเขา

   *หมายถึง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเพลงนั้นเป็นเพลงแทนตัวเขาได้

5. จบเรื่องราวประทับใจ 

  *การจบ" คือ การสรุป ทั้งนี้อาจสรุปเป็นคำตอบที่ชัดเจน หรือหาคำตอบไม่ได้ต้องทิ้งเป็นคำถามเอาไว้

**คุณสมบัติของคนเขียนเพลงที่ดี

- มีความรู้ 

- มีความคิด 

- มีฝีมือ 

-ดู ฟัง ถาม อ่าน เขียน คิด เปิดใจ เป็นคนมีจิตใจดี (เยอะๆ)? 

- คนทำงานศิลปะดีๆ จะต้องเป็นคนที่มีจิตใจดี งานศิลปะนั้นๆ จึงจะออกมาได้ดี?

 -คนที่จะดีได้ ต้องไม่มีความบกพร่องทางคุณธรรม? 

- เปิดใจ = รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น? 

-ธรรมชาติของคนเขียนเพลงนั้น มักจะเป็นคนที่มีสมาธิดีสามารถอยู่นิ่งๆเพื่อนั่งคิดนั่งเขียนได้ เป็นเวลานาน เช่น 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป 

 -มีเวลาไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าหากเรามีเวลาเต็มที่ให้กับมัน งานนั้นๆก็ย่อมจะออกมาดีเสมองานเขียนเพลงก็เช่นเดียวกัน? 

-ข้อมูลต่างๆ คนเขียนเพลง สามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งมากมายไม่ว่าจะเป็นจากประสบการณ์ของตัวเองจาก จินตนาการ ความเข้าใจโลก หรือแม้กระทั่งจากการอ่าน หนังสือ ดูหนังฟังเพลง เราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นPlot ในการเขียนเพลงได้เป็นอย่างดี? 

-การประยุกต์ใช้คือการรู้จักที่จะนำข้อมูลที่ได้รับมา นำมาประยุกต์ใช้ในการแต่งเพลง เช่น เมื่อไปดูหนัง ในหนังมีประโยคเด็ดที่รู้สึกประทับใจ เราก็จดไว้ แล้วนำมาปรับแต่งเอามาลงในเพลงของเรา ไม่จำเป็นว่าต้องยกมาเลยทั้งประโยคก็ได้? 

-  เป็นคนช่างพูด ช่างคิด ช่างเขียน ด้วยมุมมองที่หลากหลายกว่าชาวบ้านเขานั่นเอง?

-หลักการเขียนเพลง ต้องมีแนวทางเป็นหลักการเขียน ของตนเอง โดยใช้ปรัชญา คือ 

    “เขียนงานเข้าหาชาวบ้าน ไม่ใช่ดึงชาวบ้านเข้ามาหางานของเรา”

 (นำเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านมาเขียนให้ชาวบ้านฟังไม่ใช่สร้างเรื่องของเราขึ้นมาแล้วดึงชาวบ้านมาฟัง)

“วิธีที่ทำให้ใครๆ ก็เขียนเนื้อเพลงได้”

   ** การมีเพลง มีผลงานเป็นของตัวเอง เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากในวันนี้ และทุกคนก็มีช่องทางสื่อสารนำเสนอผลงานตัวเองให้ชาวโลกได้ฟัง ผ่านทางโซเชียลต่างๆ ถือเป็นยุคที่เปิดกว้างให้คนทำงานเพลงมาก ในแง่การนำเสนอผลงานเพลง

   ** แต่การจะนำเสนอผลงานเพลงได้ ก็ต้องมีเพลง หลายๆ คนติดอยู่ที่ตรงนี้คือ จะทำอย่างไรให้มีเพลง ถ้าทำงานเองก็ต้องมีเพลง จะมีเพลงได้ ถ้าไม่จ้างนักแต่งเพลง คนทำเพลงอาชีพทำ ก็ต้องแต่งเองสิ

   ** พอพูดถึงเพลง มือใหม่หัดแต่งทั้งหลายมักมองที่ภาพใหญ่ คืออยากเห็น อยากได้ยินเพลงทั้งเพลง เหมือนเพลงที่เราชอบ ซึ่งดูเป็นงานช้างงานยักษ์ เพราะนั่นคือเพลงทั้งเพลง คือชิ้นงานที่สมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ก่อนเริ่มจะเป็น."คนเขียนเพลง"  ขอให้มองก่อนว่า "การประกอบร่างของเพลงหนึ่งเพลง มีสามชิ้นส่วนหลักคือ

** เนื้อร้อง

** ทำนอง 

**และดนตรี 

  * การทำเพลงสำเร็จหนึ่งเพลง คือทำทีละส่วน แล้วนำมาประกอบร่างกัน

**สองส่วนแรกที่ต้องมีคือเนื้อร้องกับทำนอง สองสิ่งนี้ไม่มีกฏตายตัวว่าต้องทำอะไรก่อน เหมือนไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน เพลงดังคับโลกหลายๆ เพลงก็มีทั้งที่มีเนื้อมาก่อนทำนอง และทำนองมาก่อนเนื้อ ส่วนดนตรี เป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องกังวล มีเนื้อ มีทำนอง ค่อยวิตกจริตเรื่องทำดนตรี

** แต่สำหรับคนหัดเขียนเนื้อหรือหัดเขียนเพลงในช่วงเริ่มต้น หากไม่มีกรอบ ไม่มีแนวทางให้เริ่ม การเขียนเนื้อเพลง ก็ดูเป็นเรื่องยาก เลยขอเริ่มบทความของ riddimer.com ด้วยเรื่อง แนวทางสำหรับคนหัดเขียนเนื้อเพลง

* แนวทางสำหรับคนหัดเขียนเนื้อเพลง 

* วิธีที่ทำใครๆ ก็เขียนเนื้อเพลงได้

 

1. หัดเขียนเนื้อเพลง ต้องมีทำนอง

 **การเขียนพลงโดยมีทำนองก่อน จะทำให้เรามี “กรอบ” หรือแนวทางที่จะทำให้เราไม่ใช้คำฟุ้งเฟ้อ ขาด เกิน เพราะเพลงคือรูปแบบของคำและทำนอง คำสำคัญคือคำว่ารูปแบบ ซึ่งทำนองคือตัวกำหนดว่ารูปแบบของเพลง ท่อนนี้มีคำกี่คำ ร้องสูงต่ำแบบไหน

 **การมีทำนองก่อน ก็เหมือนการมีฉันทลักษณ์หรือข้อกำหนดในการเขียน อย่างกลอนแปดแบบกลอนสุนทรภู่ เด็กประถมส่วนใหญ่ เรียนแล้วเขียนกลอนแบบสุนทรภู่ได้ ก็เพราะมีรูปแบบกำหนดให้เป็นแนวทาง และรูปแบบนั้นเข้าใจง่าย แต่ถ้าลองให้เด็กเขียนกลอนไฮกุแบบญี่ปุ่นซึ่งไม่มีรูปแบบกำหนดแบบกลอนสุนทรภู่ จะทำได้ยากกว่ามาก เนื้อเพลงก็คล้ายกัน การมีทำนองก่อน ทำให้คนเขียนเนื้อมองเห็นรูปแบบ แล้วจะแปรรูปจากการเขียนอะไรก็ได้ที่ไม่มีขอบเขต เวิ้งว้าง ว่างเปล่า เปลี่ยนเป็นการเติมคำที่เหมาะสมลงในช่องที่กำหนด ซึ่งง่ายกว่ามาก

**คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าอยากหัดเขียนเพลง แต่ไม่มีทำนองล่ะ จะทำยังไง

**ตอบได้ว่าในขั้นของการฝึกหรือหัดเขียนเพลง ถ้าไม่มีทำนองเพลงก่อน ทำทำนองเองไม่เป็น การหัดแปลงเพลง เป็นการฝึกเขียนเนื้อที่ดีมากวิธีหนึ่ง แต่มีข้อกำหนดหรือกฎบางอย่างที่ต้องตั้งกับตัวเอง คือ ถ้าแปลงเพลง อย่าเขียนเนื้อหาไปในทางเดียวกับเพลงเดิม เช่น เพลงเดิมเป็นเพลงรักอกหัก ก็ควรหัดเขียนให้เป็นเรื่องรักมุมอื่น เป็นแอบบรัก เป็นหลงรัก หรือไม่ใช่เรื่องความรักไปเลย

  *อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ อย่าเอาเพลงแปลง ไปหาประโยชน์หรือดัดแปลงเป็นเพลงตัวเอง บางคนหัดแปลงเพลงจากทำนองเพลงต่างประเทศ แปลงเนื้อเพลงแล้วรู้สึกว่าเนื้อดี แล้วไปดัดทำนอง ทำดนตรีใหม่ ก็ต้องทำให้ไม่มีเงาของเพลงต้นแบบเหลืออยู่ ให้เพลงนั้นเป็นเพลงใหม่โดยแท้จริง ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครห้ามใครได้ แต่เป็นจรรยาบรรณของคนทำงานสร้างสรรค์

2. หัดเขียนเนื้อเพลง  ต้องมีหัวข้อ

  **หัวข้อใช้แทนทิศทางเรื่อง เส้นเรื่อง ความคิดรวบยอด เรื่องย่อ คือขอให้รู้ก่อนว่าจะเขียนเนื้อเพลงเพื่อสื่ออะไร

 *ผมชอบคำว่า”หัวข้อ” เพราะทำให้เราคิดเหมือนเวลาครูให้เขียนรายงาน ครูจะบอกหรือให้เรากำหนดหัวข้อให้ชัดเจน คำว่าหัวข้อเข้าใจง่าย ใครก็คิดหัวข้อของอะไรสักเรื่องได้ อย่างเช่น วันนี้เราจะคุยกันในหัวข้อเรื่องการประชุมเมื่อวาน การไปดูหนัง X-men แล้วรู้สึกอย่างไร หัวข้อเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คิดได้ เมื่อนำมาปรับใช้ในการเขียนเพลง จะทำให้เรารวบยอดความคิดได้ชัดเจนขึ้น

*ตัวอย่างหัวข้อเพลง 

“*หัวข้อ…"คนอกหักมักทำอะไร” 

“*หัวข้อ “…"วันอาทิตย์ทำไมต้องตื่นเช้า”

 **ตัวอย่างหัวข้อที่ยกมา ไม่ใช่เรื่องย่อที่บอกเรื่องราว แต่อ่านแล้วเข้าใจว่าถ้าต้องเขียนรายงาน รายงานจะไปทิศทางไหน ถ้าเขียนเป็นเนื้อเพลง เนื้อเพลงจะไปทิศทางไหน

**มือใหม่หัดเขียนลองใช้การตั้งหัวข้อ แทนการพยายามคิดเส้นเรื่องเพลงทั้งเพลงก่อน จะทำให้การเขียนเนื้อเพลงง่ายขึ้น  

3. ถมเนื้อเพลงให้เต็มเพลงก่อน

 ** คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการเขียนเนื้อเพลงเป็นเรื่องยาก แต่พอให้ลองแปลงเพลงที่คุ้นหูเป็นแนวทะลึ่งหรือตลกขบขัน 99% มักทำได้ทันที แปลว่าคนส่วนใหญ่ เมื่อไม่กดดัน เมื่อไม่ต้องห่วงภาพลักษณ์ ไม่ต้องห่วงว่าเพลงจะเพราะหรือไม่ จะมีความสามารถในการเขียนเนื้อเพลงโดยธรรมชาติอยู่ในตัว

 ** แต่พอให้เขียนเพลงตัวเองจริงๆ เรามักจะมีกำแพงในใจ เสียงที่ถามตัวเองตลอดเวลาว่า “คำนี้ดีหรือยัง ประโยคนี้ใช้ได้ไหม โดนรึยังฯลฯ” แล้วเราก็จะติดกับความคิด ไปต่อไม่ได้ หลายๆ คนทิ้งการแต่งเพลงไปในขั้นนี้ คือเหมือนไม่รู้จะแต่ง จะเขียนอะไรลงไป พอเขียนอะไรลงไป ความคิดในหัวก็วิจารณ์ตัวเองจนวุ่นวาย เลยถอดใจกันไป

 ** วิธีที่ช่วยได้คือ ให้คิดว่าร่างแรกเหมือนการแปลงเพลง เราแต่งไว้ฟังคนเดียว เราเขียนเพื่อให้เห็นภาพรวม เพื่อทำให้ทำนองมีคำร้อง ดังนั้นพอได้ทำนองมา ได้หัวข้อเรื่อง ลองถมคำ ใส่เนื้อลงไปให้เต็มเพลง โดยไม่ต้องคำนึงสัมผัส เนื้อหา หรือความหมาย เป้าหมายในขั้นนี้คือ ใส่คำลงไปให้เต็มเพลง แค่นั้น นี่คือภาพแรกของเนื้อเพลง

 ** ลองนึกถึงเพลงการ์ตูนชินจังเนื้อไทย “เฮลโลสวัสดีกระผมนี่จะบอก” ถ้าให้ผมเป็นคนเขียนเนื้อจากทำนองเพลงนี้ โดยถมเนื้อเพลงไปก่อนจะทำได้ง่ายมากนะ ลองร้องทำนองเพลงชินจังนะ “กินกาแฟตอนดึกเดี๋ยวก็นอนไม่หลับ” ถ้าเป็นเพลงรักจะถมลงไปแบบนี้ “ส่งข้อความในไลน์เธออ่านแล้วไม่ตอบ”

 ** การถมเนื้อให้เต็ม ไม่ได้หมายความว่าเนื้อเพลงนั้นจะใช้ได้ แต่เป็นการกำจัดกำแพงความคิดของตัวเอง ทำให้เราเห็นภาพรวมของเพลง ทำให้เพลงนั้นมีตัวตนอีกขั้น 

 **การถมเนื้อเพลง ใช้ได้กับท่อนที่เราติดขัดด้วย… สมมติทำนองกำหนดคำต้องร้องดังนี้  “00000 00000” แล้วเราเจอคำที่ชอบ แต่ไม่รู้จะใช้ยัง คิดประโยคไม่ออก เช่น ชอบคำว่า “หัวใจ” กับ “รักกัน” แล้วอยากใส่ตรงทำนองที่ชอบ ให้ใส่คำที่ชอบลงไป “000หัวใจ 000รักกัน” ถ้าติดขัด คิดเนื้อดีๆ ไม่ออก ให้ถมคำลงไปก่อน เช่น “อย่ามาสิหัวใจ กาไก่ยังรักกัน” คือใส่อะไรก็ได้ทีทำให้เราร้องคำได้แทนทำนอง แล้วทำให้เราเขียนเพลงได้ในท่อนต่อๆ ไป ไม่ติดอยู่กับที่ พอถมได้เต็มเพลง ตอนที่เรากลับมาร้องตั้งแต่ต้นจนจบเพลง เราจะเห็นจุดที่ต้องแก้ ไม่ใช่จุดที่ว่างเปล่า ซึ่งจะทำให้เราเขียนเนื้อง่ายขึ้น อาจแก้เป็น “ต่างคนต่างหัวใจ เหตุใดจึงรักกัน”

 ** วิธีการ  (สามข้อด้านบน) เป็นแนวทางสำหรับคนหัดเขียนเนื้อเพลงและผมใช้ได้ผลกับตัวเอง เป็นแนวทางที่มุ่งให้ได้เนื้อเพลงที่เสร็จ เขียนให้ได้เพลง …ส่วนเนื้อเพลงจะดีหรือไม่ ต้องอาศัยการฝึกฝน การแก้ไขและประสบการณ์ พอมีเนื้อเพลงที่เสร็จ การแก้ให้ดีขึ้น จะง่ายกว่าการไม่รู้จะเขียนอะไรแบบคนละโลก คนละความรู้สึก"

 

*"ต้วอย่างงานเขียน   (เนื้อร้อง)

"รอคนไม่รัก"

   (1)..ตามวันเวลา ใจฉันน่า จะลืมเธอ 

หลังจบหลังการพบเจอ ครั้งสุดท้าย ก็นานหลายปี 

ลบคนไม่รัก เธอคงไม่ยาก ลบได้ทันที

 แต่คนยังรักนี้สิ หายใจที เจ็บรอยเมื่อวาน.. 

  (2)...อำเภอสามพราน วัดไร่ขิง เมื่อวันงานปี

บุญเก่าสองเราคงมี ณ แหล่งนี้ ก่อความสัมพันธ์ 

คำอ่อยรอยยิ้ม ยอมให้เธอชิม ส้มโอสามพราน 

ชิมแล้วหาเรื่องลากัน ทิ้งคนรักมั่น..อกหัก.. 

  (3)...รัก คน ที่เขาหมดใจ รอ..เยื่อใย ของคนหมดรัก 

หลวงพ่อไร่ขิง คงรู้ ว่าลูกช้ำมาก 

ได้โปรดช่วยคนอกหัก ลบรักของชายใจคด 

(ขอ..เจ้าคุณแย้ม เมตตาคนใจรันทด)

 หยอดน้ำมนต์สักหยด รดใจ ให้ลืมคนนั้น.. 

   (4)..งานปีทีไร ถูกความหลัง อ้อนมาไร่ขิง

 งานหนักของคนรักจริง คือทิ้ง คนเคยรักกัน

 เธอห่างจนหาย แต่ฉันยังจำสามพราน 

มาเที่ยวงานปีทุกวัน หวังเพียง เห็นรอย..คนลืม..

คำสำคัญ (Tags): #"ภาษาเพลง"
หมายเลขบันทึก: 702535เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2022 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2022 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท