ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง


 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

1. ข้อมูลคุณลักษณะตำบล

    1.1 ประวัติความเป็นมาของตำบล

          จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ ว่าในสมัยก่อนนั้นมีช้างจำนวนมาก อาศัยที่บริเวณเขาชาวบ้านเรียกว่าเขาโขลง ต่อมาช้างป่าหมดไปจึงไม่มีใครเห็นช้าง ทำให้เรียกเพี้ยนเป็น “เขาขลุง” และเรียกเป็นชื่อของตำบลมาจนถึงทุกวันนี้

    1.2 พื้นที่และขอบเขต

          ตำบลเขาขลุง เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งในจำนวน 15 แห่ง ในเขตอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ประมาณ 25 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 82.83 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ ดังนี้

      ทิศเหนือ           ติดกับ    ตำบลโคกตะบอง        อำเภอท่ามะกา     จังหวัดกาญจนบุรี 

      ทิศใต้               ติดกับ    ตำบลเตาปูน               อำเภอโพธาราม   จังหวัดราชบุรี 

      ทิศตะวันออก    ติดกับ    ตำบลหนองปลาหมอ    อำเภอบ้านโป่ง     จังหวัดราชบุรี 

      ทิศตะวันตก      ติดกับ    ตำบลหนองตากยา        อำเภอท่าม่วง      จังหวัดกาญจนบุรี

      พื้นที่และขอบเขตปรากฏดังแผนที่ ดังนี้

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงตำแหน่งพื้นที่และขอบเขตในตำบลเขาขลุง 

         1.2.1 ลักษณะภูมิประเทศ

            พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลอนคลื่น ที่ดอนและที่ลุ่มมีหีบน้ำ และมีเขาลูกช้างอยู่ทางตอนเหนือของตำบล

         1.2.2 ลักษณะภูมิอากาศ

            ตำบลเขาขลุงตั้งอยู่ในเขตบริเวณที่มีภูเขา จึงทำให้ได้รับลมมรสุมไม่เต็มที่ทำให้มีฝนตกน้อยและไม่ตกต้องตามฤดูกาล สภาพอากาศส่วนใหญ่แห้งแล้ง ในฤดูหนาวบริเวณเชิงเขาและหุบเขามีสภาพอากาศหนาว

          1.2.3 ลักษณะดิน

             ลักษณะดินโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินร่วน เหมาะกับการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รองลงมาเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียว เหมาะสำหรับการทำนา ปลูกพืชไร่และพืชสวน 

    1.3 การปกครองระดับหมู่บ้าน

          ตำบลเขาขลุง แบ่งเขตการปกครองระดับหมู่บ้านเป็น 18 หมู่บ้าน และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่ต่าง ๆ ดังนี้ 

หมู่ที่ 1 บ้านเขาแจง           นายณัฐพล จ้อยเจริญ    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 2 บ้านสระสี่มุม          นายมานพ วรรณ์เครือ    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 3 บ้านเจริญธรรม       นางจินดา โม่มาลา        ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 4 บ้านหนองไม้เฝ้า    นายประสงค์ ตันอำนวย  ตำแหน่งกำนัน 

หมู่ที่ 5 บ้านเขาขลุง           นายเสรี โสรดสรง         ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 6 บ้านหนองอุ่ม         นายประมวล นันกา        ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 7 บ้านดอนไม้ลาย     นายมาโนช ชมญาติ       ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 8 บ้านหนองขาม       นายพูลศักดิ์ พรามณี      ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 9 บ้านหนองไก่ขัน     นายเสนาะ ชื่นใจ            ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 10 บ้านสัมมาราม      นางสุชาดา ตัณฑเตมีย์    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 11 บ้านห้วยยาง        นายณรงค์ ม่วงไข่           ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 12 บ้านไผ่สามเกาะ   นายมณฑล ชูเชิศ           ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 13 บ้านโป่งยอ          นายปัญญา ชูเลิศ           ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 14 บ้านสัมมาราม       นางจันทนา ช้างฉาว       ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 15 บ้านหนองไก่ขัน    นางนวลจันทร์ โพธิ์สี      ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 16 บ้านเขาขลุงใหม่    นายธานินทร์ พุ่มนาค     ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 

หมู่ที่ 17 บ้านห้วยยางเหนือ  นายเฉลิมพล วังมะนาว  ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 18 บ้านสระสี่มุม           นายเดชา สิทธิกุล         ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

ภาพที่ 2 แผนที่ตำแหน่งหมู่บ้านในตำบลเขาขลุง

    1.4 ครัวเรือนและประชากร

           หมู่บ้านในตำบลเขาขลุงมีทั้งสิ้น 4,885 ครัวเรือน หมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ บ้านหนองไก่ขัน 537 ครัวเรือน บ้านหนองขาม 418 ครัวเรือน และบ้านสัมมาราม 303 ครัวเรือน ส่วนหมู่บ้านมีจำนวนครัวเรือนน้อยที่สุดคือ บ้านเขาขลุง มีทั้งสิ้น 182 ครัวเรือน โดยมีรายละเอียดดังนี้

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน   ประชากร รวม
ครัวเรือน ชาย หญิง  
1 บ้านเขาแจง 288 401 453 854
2 บ้านสระสี่มุม 219 251 271 522
3 บ้านเจริญธรรม 236 350 359 709
4 บ้านหนองไม้เฝ้า 223 341 329 670
5 บ้านเขาขลุง 182 330 340 670
6 บ้านหนองอุ่ม 227 369 372 739
7 บ้านดอนไม้ลาย 235 369 388 757
8 บ้านหนองขาม 418 565 570 1,135
9 บ้านหนองไก่ขัน 537 545 602 1,147
10 บ้านสัมมาราม 284 471 453 924
11 บ้านห้วยยาง 264 363 397 760
12 บ้านไผ่สามเกาะ 252 329 349 678
13 บ้านโป่งยอ 300 285 343 628
14 บ้านสัมมาราม 303 396 429 825
15 บ้านหนองไก่ขัน 274 359 410 769
16 บ้านเขาขลุงใหม่ 192 284 357 641
17 บ้านห้วยยางเหนือ 250 285 338 623
18 บ้านสระสี่มุม 201 291 277 568
  รวม 4,885 6,582  7,037 13,619

    1.5 ช่วงอายุและจำนวนประชากร

          ประชากรในตำบลเขาขลุงมีทั้งสิ้น 13,619 คน ช่วงอายุที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ช่วงอายุ 26 – 49 ปี จำนวน 4,839 คน ช่วงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 2,275 คน และช่วงอายุ50 – 60 ปี จำนวน 2,214 คน ส่วนช่วงอายุที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดคือ ช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี มีทั้งสิ้น 103 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ช่วงอายุ (ปี) ชาย (คน) หญิง (คน) รวม
น้อยกว่า  1 ปี 48 55 103
1 – 2 ปี 119 126 245
3 – 5 ปี 227 200 427
6 – 11 ปี  458 465 923
12 - 14 ปี 283 252 535
15 – 17 ปี 290 285 575
18 – 25 ปี 733 750 1,483
26 – 49 ปี 2,384 2,455 4,839
50 – 60 ปี 1,038 1,176 2,214
มากกว่า  60 ปีขึ้นไป 1,002 1,273 2,275
รวม 6,582 7,037 13,619

     1.6 ระบบการศึกษา

           ตำบลเขาขลุงมีสถานศึกษาที่อยู่ในความดูแลของอบต. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านหนองไก่ขัน มีจำนวนครู 2 คน จำนวนนักเรียน 18 คน 2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนวัดสัมมาราม มีจำนวนครู 2 คน จำนวนนักเรียน 10 คน  3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขาขลุง มีจำนวนครู 2 คน จำนวนนักเรียน 30 คน นอกจากนี้ยังมีสถานศึกษาของรัฐสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1) โรงเรียนวัดเจริญธรรม มีจำนวนครู 9 คน จำนวนนักเรียน 146 คน 2) โรงเรียนวัดเขาขลุง มีจำนวนครู 7 คนจำนวนนักเรียน 119 คน 3) โรงเรียนบ้านดอนไม้ลาย มีจำนวนครู 3 คน จำนวนนักเรียน 39 คน 4) โรงเรียนบ้านหนองไก่ขัน มีจำนวนครู 8 คน จำนวนนักเรียน 157 คน 5) โรงเรียนวัดสัมมาราม มีจำนวนครู 13 คน จำนวนนักเรียน 147 คน 6) โรงเรียนบ้านห้วยยาง มีจำนวนครู 10 คน จำนวนนักเรียน 105 คน 7) โรงเรียนวัดไผ่สามเกาะ มีจำนวนครู 15 คน  จำนวนนักเรียน 225 คน 8) โรงเรียนบ้านโป่งยอ มีจำนวนครู 6 คน จำนวนนักเรียน 58 คน 9) โรงเรียนวัดสระสี่มุม มีจำนวนครู 3 คน จำนวนนักเรียน 64 คน รวมทั้งสิ้น 12 แห่ง

ภาพที่ 3 แผนที่ตำแหน่งสถานศึกษาในตำบลเขาขลุง

    1.7 ระบบสาธารณสุข

           ระบบสาธารณสุขของตำบลเขาขลุง ประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองไม้เฝ้า มีจำนวนบุคลากร 3 คน 2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสัมมาราม มีจำนวนบุคลากร 3 คน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาขลุง มีจำนวนบุคลากร 5 คน 3) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองไก่ขัน มีจำนวนบุคลากร 3 คน 4) คลินิกเอกชน จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ม่อนดริวญ่าคลินิก มีจำนวนบุคลากร 2 คน 5) ร้านยาแผนปัจจุบัน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร้านยาทรัพย์อุดมเภสัช มีจำนวนบุคลากร 2 คน และร้านยาไผ่เภสัช มีจำนวนบุคลากร 1 คน  และมี อสม. ทั้งสิ้น จำนวน 212 คน 

ภาพที่ 4 แผนที่ตำแหน่งสาธารณสุขในตำบลเขาขลุง

    1.8 บริบททางเศรษฐกิจ

          ประชากรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีการทำนา และปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆ เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมีการทำสวนผลไม้หลายชนิด เช่น มะม่วง แก้วมังกร กล้วย มีการทำการปศุสัตว์ที่สำคัญคือ สุกร ไก่ เป็ด โคเนื้อและโคนม นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาสวาย 

  • ทำนา มีจำนวนพื้นที่ 10,987 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 21.22 ของพื้นที่ 
  • ทำไร่ มีจำนวนพื้นที่ 12,397 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 23.94 ของพื้นที่ 
  • พืชผัก มีจำนวนพื้นที่ 205 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 0.92 ของพื้นที่
  • ไม้ผล มีจำนวนพื้นที่ 479 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 0.92 ของพื้นที่ 
  • ไม้ยืนต้น มีจำนวนพื้นที่ 565 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 1.09 ของพื้นที่ 
  • ไม้ดอกไม้ประดับ มีจำนวนพื้นที่ 54 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 0.10 ของพื้นที่ 
  • ประมง มีจำนวนพื้นที่ 274 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 0.52 ของพื้นที่ 
  • ปศุสัตว์ มีจำนวนพื้นที่ 2,272 (ไร่) คิดเป็นร้อยละ 4.38 ของพื้นที่ 

    1.9 ระบบพานิชย์และกลุ่มอาชีพ

          ระบบพานิชย์ของตำบลเขาขลุง ประกอบด้วย 1) ร้านขายของชำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ร้านเจ๊ปู ร้านชาติสามเกาะ ร้านค้าป้าเล็ก สัมมาราม ร้านคุณชาญ ศรีสงครามการค้า ร้านแบงค์สา และร้านชาลิสา 2) ร้านอาหารตามสั่ง 6 แห่ง ได้แก่ ร้านเจ๊นาอาหารตามสั่ง เล็กอาหารตามสั่ง เล็กอาหารตามสั่ง หนิงอาหารตามสั่ง ร้านอาหารชีพ ร้านลาบชายคลองbyลายไทย 3) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ปั๊มน้ำมันศักดิ์ชัย ปั๊มน้ำมันเชลล์ (ห้างหุ้นส่วนจำกัดวินสตาร์บริการ) ปั๊มน้ำมัน SKK ปั๊มน้ำมัน พีที บ้านโป่ง และPHUSIT PETROLEUM 4) ร้านก๋วยเตี๋ยว 4 แห่ง ได้แก่ ร้านก๋วยเตี๋ยวพี่ตู่ ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋น ร้านเจ๊หน่อย ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำรสเด็ด และร้านบะหมี่เกี๊ยวไผ่สามเกาะ 5) ร้านส้มตำ 3 แห่ง ได้แก่ ร้านส้มตำพี่ฝน ร้านส้มตำสะดุ้งสะดิ้งที่ริมทาง และร้านส้มตำแม่เก๋ 6) ร้านสะดวกซื้อ 2 แห่ง ได้แก่ 7-Eleven สาขาไผ่สามเกาะ และ ซีเจ เอ็กซ์เพรส สาขาไผ่สามเกาะ 7) ร้านยาแผนปัจจุบัน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร้านยาทรัพย์อุดมเภสัช และร้านยาไผ่เภสัช 8) ร้านกาแฟ 2 แห่ง ได้แก่ Coffee Pad by ใบเฟิร์น พัสกร และร้านกาแฟพันธุไทย 9) ร้านอาหาร 2 แห่ง ได้แก่ ครัวลุงรงค์ และไร่ป๋าเทพ 10) ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด 2 แห่ง ได้แก่ ร้านดีจัง ไผ่สามเกาะ ร้านเครือไทย 11) ร้านเสริมสวย 2 แห่ง ได้แก่ K.หนู บิวตี้ ซาลอน กัญญาณัฐ เสริมสวย 12) ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ฮ. เจริญรุ่งโรจน์ ค้าวัสดุ และสระสี่มุมค้าวัสดุ 13) โต๊ะจีน 2 แห่ง ได้แก่ โต๊ะจีนหนึ่งฤทัยโภชนา และศริพรโภชนา 14) ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตกปลา 1 แห่ง ได้แก่ ร้านพี่กบ ฟิชชิง 15) ร้านหมูกะทะ 1 แห่ง ได้แก่ ร้านหมูกระทะชายคลองเจ๊นา 16) จำหน่ายอินทผลัม 1 แห่ง ได้แก่ ไร่ปั้น-ตังค์ ออร์แกนิค อินทผลัม 17) โรงแรม 1 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเพาะรัก 18) ร้านคาร์แคร์ 1 แห่ง ได้แก่ ข้าวโอ๊ต กะ ข้าวปั้น คาร์แคร์ 19) ร้านยางรถยนต์ 1 แห่ง ได้แก่ ปราโมช การยาง

         ด้านกลุ่มอาชีพ  ประกอบด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านบ้านเจริญธรรม จำหน่ายข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่อบงา สมุนไพรอบกรอบรสต้มยำ คอนเฟลกสมุนไพรกรอบ และกลุ่ม OTOP จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) กลุ่มสตรีบ้านเขาแจง จำหน่ายไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดทางมะพร้าว 2) กลุ่มตอไม้ประดิษฐ์ตกแต่ง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตอไม้ตกแต่ง ดอกไม้ประดิษฐ์ นกประดิษฐ์

 ภาพที่ 5 แผนที่ตำแหน่งพานิชย์และกลุ่มอาชีพในตำบลเขาขลุง

    1.10 ระบบอุตสาหกรรม

          ระบบอุตสาหกรรมของตำบลเขาขลุง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโรงงานประเภท อุตสาหกรรมเซรามิค อุสาหกรรมพิมพ์ผ้า อุตสาหกรรมย้อมผ้า อุตสาหกรรมหลอมอลูมิเนียม จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ 1) บริษัท ธนบูรณ์คอนกรีตอัดแรง จำกัด 2) บริษัท ครอฟฟี่ จำกัด 3) บริษัท เซลโลกรีตไทย จำกัด 4) บริษัท ไทยอารีอินเตอร์เท็กซ์ จำกัด 5) บริษัท ศรีทองเท็กซ์ไทล์ จำกัด 6) บริษัท ไทซันฟูดส์ จำกัด 7) บริษัท 5 อมตะ จำกัด 8) บริษัท รัฐชานนท์ แคนนิ่ง จำกัด 9) โรงงาน แสงทวี 10) บริษัท เจ แอนด์ ที ธูปหอมบัวทิพย์จำกัด 11) บริษัท เนแรค อาร์มส์ อินดัสตรี จำกัด 12) บริษัท สุรเสียง ประเทศไทย จำกัด 13) บริษัท กรุงเทพสกรีน จำกัด 14) บริษัท ซูมิโตโม อีเล็คตริก ไวริ่ง ซิสเต็มส์ ประเทศไทย 15) บริษัท คราวน์เซรามิคส์ จำกัด 16) บริษัท ซันคาโอ จำกัด 17) บริษัท นาราไรด์ โปรดักส์จำกัด 18) บริษัท แมนนิจจิเบิล อินซูเลเตอร์ จำกัด 

ภาพที่ 6 แผนที่ตำแหน่งอุตสหกรรมในตำบลเขาขลุง

    1.11 ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน

          ประเภทแหล่งน้ำ 

          แหล่งน้ำของตำบลเขาขลุง ประกอบด้วย 1) คลองชลประทาน 2) สระสาธารณะ 3) ลำห้วย ส่วนใหญ่น้ำที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค เป็นน้ำที่ได้จากน้ำฝน และน้ำดิบจากแม่น้ำชี (อยู่นอกเขต) ซึ่งจะต้องนำมาผ่านกระบวนการของระบบประปา สำหรับน้ำใต้ดินมีปริมาณน้อย ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ให้พอเพียงได้ และบางแห่งเค็มไม่สามารถใช้ดื่มและอุปโภคได้เนื่องจากพื้นที่ตำบลเขาขลุงใต้ดินเป็นหินแกรนิต จึงทำให้หาแหล่งน้ำได้ยาก เพราะน้ำที่ได้จะได้มาจากโพรงหิน สำหรับใช้อุปโภค – บริโภค ได้แค่ 1 หรือ 2 ปีเท่านั้น ก็ต้องหาแหล่งน้ำใหม่ พื้นที่ทั้ง 18 หมู่บ้าน เกือบครึ่งตำบล ได้แก่ หมู่ที่ 8,9,10,11,13,14,15,17 ซึ่งอยู่เหนือคลองประทาน และประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เป็นประจำ น้ำในการเกษตรก็ต้องรอฤดูฝน จนได้ขึ้นทะเบียนจากจังหวัดว่าแล้งซ้ำซาก ส่วนหมู่บ้านในหมู่ที่ 1,2,3,4,5,6,7,12,16,18 เป็นหมู่บ้านที่ได้ใช้น้ำจากชลประทาน หรือช่วงที่ทางชลประทานปล่อยน้ำ ทั้งตำบลเขาขลุงมีแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ ปัญหาคือยังไม่สามารถหาแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรได้ เพราะพื้นที่ส่วนมากเป็นของประชาชน

ภาพที่ 7 แผนที่ตำแหน่งแหล่งน้ำในตำบลเขาขลุง        

           ประเภทพื้นที่สาธารณะ หรือป่าไม้ชุมชน

           พื้นที่สาธารณะของตำบลเขาขลุง ประกอบด้วย 1) สนามกีฬา 7 แห่ง ได้แก่ สนามกีฬากลางประจำตำบล สนามกีฬาหมู่บ้าน สนามตะกร้อ สนามฟุตบอล สนามวอลเล่ย์บอล 2) เครื่องออกกำลังกาย 4 แห่ง 3) ศาลาริมทาง 3 แห่ง  4) ป่าชุมชน มีเนื้อที่ จำนวน 352 ไร่ ปลูกต้นไม้และพืชสมุนไพร นานาชนิด 

 

ภาพที่ 8 แผนที่ตำแหน่งพื้นที่สาธารณะ หรือป่าไม้ชุมชนในตำบลเขาขลุง

            สถานที่ท่องเที่ยวชุมชน

            สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนของตำบลเขาขลุง มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานเขาตะครอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีต้นไม้ร่มรื่น สวยงาม มีพระพุทธรูปตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา 2) จุดชมวิวยอดภูเขาขลุง เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์สูงสุดของตำบลเขาขลุงข้างบนเขามีสำนักสงฆ์ 3) โฮมสเตย์บ้านชมตะวัน/กาแฟ ภายในโฮมสเตย์บ้านชมตะวันมีลานกางเต็นท์ แคมป์ปิ้ง ร้านอาหาร บ้านชาวมอญวิถีชุมชน 4) เนื้อนาบุญ สวนดอกไม้ซีโลเชียหรือดอกสร้อยไก่ และร้านอาหาร 5) ปานขวัญแดรี่ฟาร์ม ภายในฟาร์มมีกิจกรรม ขี่ม้า ทำไอศกรีม รีดนมวัว เก็บไข่ไก่ ชุดตระกร้าหวายเลี้ยงสัตว์ และคาเฟ่ 6) บ้านบอ สตูดิโอ เป็นคาเฟ่สไตล์ Art/Farmer  มีปิ้งย่าง ชาบู ทุกคืนวันเสาร์มีดนตรีสดเพราะๆให้ฟัง กับบรรยากาศ สบายๆ คลอเคล้ากับเสียงเพลง

ภาพที่ 9 แผนที่ตำแหน่งสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนในตำบลเขาขลุง

        1.12 ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญา 

             ด้านศาสนา

             ประชากรของตำบลเขาขลุง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 95 ขึ้นไป และมีศาสนสถานและสถานที่สำคัญในพื้นที่ 8 แห่ง ได้แก่ 1) วัดเขาแจง 2) วัดสระสี่มุม 3) วัดเจริญธรรม 4) วัดเขาขลุง 5) วัดไผ่สามเกาะ 6) วัดโป่งยอ 7) วัดหนองไก่ขัน  8) วัดสัมมาราม 

ภาพที่ 10 แผนที่ตำแหน่งศาสนสถานในตำบลเขาขลุง

            ด้านประเพณี วัฒนธรรม  

  • ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประมาณเดือน มกราคม 
  • ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น (งานประจำปีเขาตะครอง) ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ มีนาคม 
  • ประเพณีวันสงกรานต์ ประมาณเดือน เมษายน 
  • ประเพณีลอยกระทง ประมาณเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน
  • ประเพณีวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ประมาณเดือน กรกฎาคม ตุลาคม พฤศจิกายน

            ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และภาษาถิ่น

            ในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการที่ได้สำรวจภูมิปัญญาและทุนทางสังคมพบว่า มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ หลายด้าน เป็นต้นว่า ด้านตะกร้าหวาย ด้านการจักสานจากไม้ไผ่ ด้านเกษตรผสมผสาน ด้านการเลี้ยงโคนม ด้านการทำพวงมาลัยใบเตย และด้านงานไม้ ภาษาถิ่น ส่วนมากประชาชนในตำบลเขาขลุงร้อยละ 90 พูดภาษากลาง ร้อยละ 10 พูดภาษาลาว มอญ และญวน 

 

2. ข้อมูลสะท้อนคุณลักษณะองค์กร

     2.1 ความเป็นมาและการก่อตั้ง

           กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุงให้เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ 2538 โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 6 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 12  ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี          

                                                       

           ตราสัญลักษณ์ หมายถึง สัญลักษณ์ของตำบลเขาขลุงเป็นภูเขาและทุ่งนาเป็นส่วนใหญ่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ และอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่คือการทำนา และการเกษตร 

     2.2 คณะผู้บริหาร 

            นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง คนปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกมาแล้ว 11 ปี เริ่มดำรงตำแหน่งนายก สมัยที่ 1 ปี พ.ศ 2554 และดำรงตำแหน่งนายก สมัยที่ 2 ปี พ.ศ 2564 

                                                             

                                                               นายสมบัติ เทพรส 

                                                  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง  

     2.3 โครงสร้างหน่วยงาน

           โครงสร้างและการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

          1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล 

          2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 

          สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

          สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในหมู่บ้านๆ ละ 2 คน โดยตำบลเขาขลุง มีจำนวน 18 หมู่บ้าน รวมมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง จำนวน 36 คน โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี 

          นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 

          นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามารถแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน และเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน

          ผู้บริหารราชการ ประกอบด้วย 

1) สำนักปลัด 2) กองคลัง 3) กองช่าง 4) กองการศึกษา ศาสนาและวัฒธรรม โดยมีโครงสร้าง ดังนี้

     2.4 วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และยุทธศาสตร์องค์กร

            วิสัยทัศน์

                   “พัฒนางานโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมคุณภาพชีวิต การศึกษาก้าวไกล ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ตำบลน่าอยู่”

             ยุทธศาสตร์

                  1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 

                  2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต

                  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคมและการรักษาความสงบเรียบร้อย

                  4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการส่งเสริมการลงทุนพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว

                  5. ยุทธศาสตร์การพัฒนา ด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

              เป้าประสงค์

                  1. การบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความสะดวกปลอดภัยและได้มาตรฐาน

                  2. เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างครบถ้วน 

                  3. คุณภาพชีวิตของประชากรทุกกลุ่มวัยสูงขึ้น

                  4. ครอบครัว/ชุมชนเข้มแข็งและมีรายได้มากขึ้น

                  5. การศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น

                  6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น 

                  7. ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับเจ้าหน้าที่ ผู้นำ และประชาชน 

                  8. ส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

                  9. เกษตรกรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีการเกษตร นวัตกรรมและการตลาดมากยิ่งขึ้น 

                 10. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่มาตรฐานและความต้องการของตลาด

                 11. สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                 12. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย 

                 13. การบริหารงานที่ดี มีประสิทธิภาพ เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ 

                 14. การสร้างความตระหนักในสถาบันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

                 15. ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

     2.5 รางวัลที่ได้รับ/การได้รับการเชิดชู 

           1. รางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่น ประจำปี 2564 บ้านหนองไม้เฝ้า หมู่ที่ 4 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 

           2. รางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 2 ขยายผลการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านเจริญธรรม หมู่ที่ 3 อบต.เขาขลุง 

     2.6 ประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ที่โดดเด่น

           1. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และได้ดำเนินการขุดที่กักเก็บน้ำ หลากหลายรูปแบบ เช่น จุดสระน้ำ ขุดคลองใส้ไก่ ขุดคลองเป็นรูปเลข 9 มีการทำแปลงนาปลูกข้าว จัดทำโคก และปั้นคันนาทองคำ สร้างอาคารการฝีกอบรม จัดทำคอกและโรงเรือนเพื่อเตรียมการเลี้งสัตว์ เป็นต้น 

          2. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ บ้านหนองไม้เฝ้า หมู่ที่ 4 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นหมู่บ้านที่มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินสู่วิถีชีวิตของชุมชน ตามแบบของ "โก่งธนูโมเดล" ซึ่งประชาชนมีการปลูก ผักรับประทานเองทุกครัวเรือน มีการปลูกผักในที่ดินสาธารณะส่วนกลางของชุมชนและสองข้างทางถนนภายในหมู่บ้าน ร่วมดูแลรักษาโดยคนในหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านได้นำไปรับประทานในครัวเรือนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เหลือจึงนำไปขาย 

 

3. ข้อมูลหมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่ทำโครงการ

     3.1 ความเป็นมาของหมู่บ้าน/ชุมชน

           ความเป็นมาของหมู่บ้านบ้านดอนไม้ลาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีความเป็นมา ดังนี้

           สมัยก่อนนั้นมีต้นไม้ขึ้นเป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่บริเวณดอน ต้นไม้ดังกล่าวมีลักษณะลำต้นตั้งตรงมีลาย จึงตั้งชื่อให้เป็นดอนไม้ลาย และเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันเหลือต้นไม้ลายอยู่เพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น ซึ่งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านดอนไม้ลาย การประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชนบ้านดอนไม้ลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร - ทำนา เลี้ยงสัตว์ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ได้จากการขายข้าว และอ้อย ประชาชนในหมู่บ้านอยู่กันแบบเครือญาติ  ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การคมนาคมภายในหมู่บ้าน เป็นถนนคอนกรีต ถนนลาดยางและถนนลูกรัง มีไฟฟ้าเข้าถึงทุกบ้าน หมู่ 7 ส่วนใหญ่เป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของอำเภอโพธาราม มีน้ำประปาครบทุกครัวเรือน ศาสนสถาน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนทางศาสนา นิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัดไผ่สามเกาะ หมู่ที่ 12 และวัดเขาขลุง หมู่ที่ 5 เนื่องจากหมู่บ้านไม่มีวัด สถานศึกษา มีโรงเรียนจำนวน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านดอนไม้ลาย ปัจจุบันมี นางสาว วราปรัชญ์  คล่องแคล่ว เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนไม้ลาย เปิดสอนในระดับอนุบาล 1 – ระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 อยู่ในเขตการศึกษา สพป. ราชบุรี เขต 2  

          3.1.1 อาณาเขต     

            พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งสิ้น 1,491 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับ หมู่ที่ 6      ต.เขาขลุง    อ.บ้านโป่ง      จ.ราชบุรี 

ทิศใต้              ติดต่อกับ หมู่ที่ 8      ต.เตาปูน      อ.โพธาราม    จ.ราชบุรี 

ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ หมู่ที่ 5      ต.เขาขลุง     อ.บ้านโป่ง     จ.ราชบุรี 

ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ หมู่ที่ 11    ต.เขาขลุง     อ.บ้านโป่ง     จ.ราชบุรี 

           3.1.2 จำนวนครัวเรือนและประชากร

  • มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 235 ครัวเรือน
  • มีประชากรทั้งสิ้น 757 คน แยกเป็นเพศชาย 369 คน เพศหญิง 388 คน            

           3.1.3 การปกครอง 

 1. นายมาโนช ชมญาติ         ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน 

 2. นายสงบ สะสาง               ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 

 3. นายศักดิ์ดา ผลอุดม         ตำแหน่ง สมาชิกสภาอบต 

 4. นางสมใจ เปียชาติ           ตำแหน่ง อ.ส.ม. 

 5. นางเครือวัลย์ ชูแก้ว          ตำแหน่ง อ.ส.ม. 

 6. นางพวงผกา วรดี              ตำแหน่ง อ.ส.ม. 

 7. มาลี มะลิพุ่ม                     ตำแหน่ง อ.ส.ม. 

    3.2 ภูมิปัญญาท้องถิ่น

           ภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนบ้านดอนไม้ลาย ส่วนใหญ่จะเป็นการทำการเกษตร เช่น ทำนา ปลูกอ้อย ทำไร่ทำสวน การเลี้ยงสัตว์ โค สุกร เป็นต้น รองลงมาเป็นการสานเข่งที่ทำจากไม้ไผ่ การทำขนมไทย และการแพทย์ไทย ซึ่งภูมิปัญาท้องถิ่นต้องอาศัยการเรียนรู้ การสังเกต ทดลองทำจนเกิดเป็นความชำนาญ 

      3.3 สถานการณ์ปัญหา  

            การคมนาคมไม่สะดวก เนื่องจากถนนภายในหมู่บ้านชำรุดเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อ ไฟทางสาธารณะไม่เพียงพอ การสัญจรในเวลากลางคืนไม่สะดวก ขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมู่บ้านบ้านดอนไม้ลาย ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

1.  ด้านการเลี้ยงโค 

ประวัติส่วนตัว

        ชื่อ: นายวีรยุทธ ชูแก้ว 

        ที่อยู่:  หมู่ 7 บ้านดอนไม้ลาย ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110

ความเป็นมาของภูมิปัญญา 

             บริเวณบ้านมีหญ้าขึ้นเป็นจำนวนมากเกิดความคิดอยากจะเลี้ยงโค บริเวณบ้านก็มีเนื้อที่ว่างที่ยังไม่ได้ทำอะไร จึงได้เริ่มสร้างคอกโคเริ่มแรกสร้างคอกเล็กๆ มีโคไม่กี่ตัว แล้วขยายคอกไปเรื่อย ๆ เพราะโคออกลูก โดยเลี้ยงพันธุ์บรามันและพันธุ์ชาโลเล่ ในเนื้อที่ 2 งาน ที่เลือกเลี้ยงสายพันธุ์นี้เพราะความชื่นชอบและที่สำคัญเจริญเติบโตได้ดี กินเก่ง เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศและโรคได้ดี โดยโคที่เลี้ยง มีทั้งสิ้น 9 ตัว แบ่งเป็นโคตัวเมีย 6 ตัว โคตัวผู้ 3 ตัว นายวีรยุทธเล่าว่า วิธีการเลี้ยงนั้น จะต้องมีการทำโรงเรือนให้โคอยู่ได้สำหรับหลบแดดหลบฝน โดยพื้นที่ขนาดของโรงเรือนนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ถ้ามีพื้นที่มากก็สามารถสร้างให้ใหญ่และเหมาะสมโดยที่โคอยู่กันแบบไม่หนาแน่นจนเกินไป อาหารที่ใช้เลี้ยงโคหลัก ๆ จะเป็นหญ้า ช่วยลดค่าใช้จ่าย ตัดหญ้าชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นเองตามธรมชาติ ยิ่งเป็นหญ้าอ่อน ๆ จะดีมาก โดยจะไปตัดหญ้าช่วงเช้าและช่วงเย็น ทำแบบนี้ทุกวัน พอเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งหญ้าจะมีไม่มาก ก็จะสลับเปลี่ยนให้โคกินฟางข้าวแทน ทำความสะอาดคอกโคทุกวัน เพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค 

2. ด้านการจักสานเข่ง

ประวัติส่วนตัว 

        ชื่อ: นางจำนงค์ เปียชาติ 

         ที่อยู่: หมู่ 7 บ้านดอนไม้ลาย ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110

ความเป็นมาของภูมิปัญญา

             เริ่มสานเข่งตั้งแต่เด็ก ๆ ออกจากโรงเรียนก็เริ่มสานเข่งเลย มันเป็นอาชีพติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้การสานเข่งมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยปัจจุบันทำอาชีพสานเข่งมา 54 ปีแล้ว เมื่อสานเสร็จจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่บ้าน นางจำนงค์เล่าว่ารายได้ก็ไม่ได้มาก แต่ก็พอกินพอใช้ ไม้ไผ่ที่นำมาทำก็เป็นของพ่อค้าคนกลาง เหมือนเขาจ้างให้เราทำอีกทีนึง การสานเข่งในแต่วันถ้าไม่ได้จัดตอกไว้ จะสานได้วันละ 3 ลูก ถ้าหากจัดตอกเตรียมไว้แล้วจะสานได้วันละ 6 ลูก อุปกรณ์ มีไม้ไผ่ หรือไม้ลวก และมีดอีโต้

วิธีการทำ

1. นำไม้ไผ่มาจักตอกเป็นเส้นตามขนาด 

2. เริ่มสานจากก้นเข่งโดยใช้ไม้ไผ่ขัดไขว่กันไว้ เพื่อความแข็งของก้นเข่ง

3. สานเส้นแนวนอนรอบเข่ง สานสลับไปมาจนถึงปากเข่ง

4. เมื่อสานถึงปากเข่ง บิดตอกเก็บ โดยสานทับเข้าไปในปากเข่ง เพื่อความเรียบร้อย และความสวยงาม

3. ด้านการทำข้าวต้มมัด    

ประวัติส่วนตัว 

       ชื่อ: นางทุเรียน ชูแก้ว 

        ที่อยู่: หมู่ 7 บ้านดอนไม้ลาย ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110

ความเป็นมาของภูมิปัญญา

             นางทุเรียน ชูแก้ว ปกติเป็นคนชอบทำขนมอยู่เป็นประจำ  โดยเรียนรู้มาจากบรรพบุรุษทำให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทำขนมข้าวต้มมัด และบริเวณบ้านปลูกกล้วยไว้กินเป็นจำนวนมาก กินไม่ทัน จึงได้เอากล้วยและใบตองมาทำข้าวต้มมัด เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำข้าวต้มมัดไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน 

วิธีการทำ

1. เตรียมใบตอง กล้วยน้ำว้า ข้าวเหนียว เกลือ น้ำกะทิ น้ำตาลทราย และตอก 

2. นำข้าวเหนียวไปแช่น้ำ ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง

3. นำน้ำกะทิไปต้มให้เดือดจากนั้นใส่เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ 

4. นำข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำกระทิที่ต้มไว้ใส่น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ 

5. เมื่อน้ำกะทิกับข้าวเหนียวผสมกันจนเข้าที่ นำกล้วยน้ำหว้าทำไส้ข้าวต้มมัดมัดประกบด้วยข้าวเหนียวแล้วห่อด้วยใบตองอีกชั้นหนึ่ง

6. นำข้าวต้มมัดทั้ง 2 กลีบมาประกบกันแล้วมัดด้วยตอก 

7. เมื่อห่อเสร็จนำข้าวต้มใส่ในซึ้งรอ 30 - 40 นาที เป็นอันเสร็จ 

4. ด้านการเกษตร

ประวัติส่วนตัว   

        ชื่อ: นายประเสริฐ ไตรเดช  

        ที่อยู่: หมู่ 7 บ้านดอนไม้ลาย ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110

ความเป็นมาของภูมิปัญญา         

             นายประเสริฐ ไตรเดช เป็นคนกรุงเทพมหานคร แต่ภายหลังได้มาซื้อที่ดินประมาณ 3 ไร่ เพื่อทำการเกษตร ทำสวน นำต้นไม้มาปลูกเรื่อย ๆ ต่อมาได้สร้างบ้านพักไว้เป็นที่อยู่อาศัย ตั้งชื่อว่า บ้านสวนแสนสุก(ข) ทำการเกษตรแบบพอเพียง ปลูกพืชผักผลไม้ผสมผสาน ไว้รับประทานเอง ภายในสวนปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่นมะกอก มะม่วง มะเฟือง ฝรั่ง พุทราจีน ยูคาลิปตัส ต้นกล้วย มะละกอ กะเพรา โหระพา และไม้ดอก เช่นฟลอร่า ชบา ทานตะวัน เฟื่องฟ้า พุทรักษา ดอกรัก ต้นเทียนนำมาจากโครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม และอื่น ๆ อีกมากมาย ภายในสวนเลี้ยงปลานานาพันธุ์ เช่น ปลาหมอ ปลานิล ปลาไหล ปัจจุบันทำการเกษตรได้ 1 ปี กว่า ๆ 

5. ด้านการแพทย์แผนไทย

ประวัติส่วนตัว

        ชื่อ: นางทองคำ เรืองเทศ 

        ที่อยู่: หมู่ 7 บ้านดอนไม้ลาย ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110

ความเป็นมาของภูมิปัญญา

            ในอดีตนางทองคำ เรืองเทศ เป็นหมอตำแยทำคลอดมาแล้วกว่า 500 คน แต่ในปัจจุบันมีอาชีพเป็นหมอนวดแผนโบราณ เป็นคนมีวิชา มีแม่ย่าสุนันทา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ด้วยตั้งแต่เด็กๆ นางทองคำ เรืองเทศ เล่าว่าสมัยก่อนคนทำไร่ ไถนา ดำนา หรือทำงานหนัก ยอกเอว ยอกหลัง ปวดเหมื่อย ก็จะมาให้ตนนวด เริ่มจากการนวดไปเรื่อย ๆ ไม่ได้รำเรียนพอนวดไปเรื่อย ๆ คนที่มานวดอาการปวดกล้ามเนื้อก็ดีขึ้น และหายเป็นปกติ ทำให้มีวิชาความรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คนปากเบี้ยว เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หากเป็นได้สัก 1- 2 เดือนมารักษาก็หายสามารถเดินได้ปกติ แต่ถ้าหากเป็นมายาวนาน อาจจะหายช้าเพราะต้องใช้ระยะเวลานาน เวลานวดแต่ละคนจะนวดไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนตึงคนละจุดกัน ก็จะนวดเน้นในจุดที่ตึงสลับกันไป สามารถรู้ได้ว่าตรงไหนตึง ก็จะนวดให้หายตึง ก่อนนวดต้องทำพิธีไหว้ขันครู ไหว้แม่ย่าสุนันทาก่อน โดยจะใช้เวลานวดประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจะเน้นในลักษณะการกด การคลึง การบีบ การดัด และการดึง เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ คล้ายกล้าเนื้อและข้อต่อ 

 

อ้างอิง

1.file:///C:/Users/acer/Downloads/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%87-%E0%B8%9E.%E0%B8%A8-2566-2570.pdf

2.file:///C:/Users/acer/Downloads/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%87.pdf

3.https://deksakon.com/ratchaburi/9815.html

4.https://pubhtml5.com/llim/wxhv/basic?fbclid=IwAR0yM3unajCzfbDziMZefmrmLbR6MlbrN2yWDP9NVt7MV8euS24qmJ35vOw

ผู้ให้ข้อมูลการสัมภาษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

  1. นายวีรยุทธ    ชูแก้ว       (ด้านการเลี้ยงโค)
  2. นางจำนงค์     เปียชาติ   (ด้านการจักสานเข่ง)
  3. นางทุเรียน     ชูแก้ว       (ด้านการทำข้าวต้มมัด)
  4. นายประเสริฐ  ไตรเดช   (ด้านการเกษตร)
  5. นางทองคำ     เรืองเทศ  ( ด้านการแพทย์แผนไทย)
คำสำคัญ (Tags): #-
หมายเลขบันทึก: 701100เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2022 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2022 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท