ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน


"องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี”

      

              

 

1. ข้อมูลคุณลักษณะตำบล

    1.1 ประวัติความเป็นมาของตำบล

          เดิมตำบลสามเรือนเป็นพื้นที่พัฒนา และต่อมามีชาวบ้านปลูกบ้านอาศัยจำนวน 3 หลัง และต่อมาจึงได้เรียกกันว่า “บ้านสามเรือน” และเป็นตำบลสามเรือนจนปัจจุบัน

    1.2 พื้นที่และขอบเขต

          ตำบลสามเรือน เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งในจำนวน 18 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากอำเภอเมืองราชบุรี ประมาณ 9 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 17 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,140 ไร่ และมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ         ติดต่อกับ    ตำบลดอนทราย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ทิศใต้             ติดต่อกับ    ตำบลพิกุลทอง และเทศบาลตำบลหลักเมือง อำเภอเมืองราชบุรี  

                                       จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ     ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ     แม่น้ำแม่กลองและตำบลท่าราบ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

                 

                     ภาพที่ 1 แผนที่แสดงพื้นที่และขอบเขตตำบลสามเรือน

 

         1.2.1 ลักษณะภูมิประเทศ

            ลักษณะภูมิประเทศขององค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม   มีลำคลองสายเล็ก ๆ จำนวนมาก ทำให้มีน้ำตลอดปี พื้นที่จึงเหมาะกับการเพาะปลูกหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม

         1.2.2 ลักษณะภูมิอากาศ

             ฤดูฝน       ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 

             ฤดูหนาว   ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม 

             ฤดูร้อน     ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน

         1.2.3 ลักษณะดิน

             ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย ประมาณ 50% ดินลูกรังประมาณ 5 % ลักษณะดิน ในพื้นที่เป็นดินเหนียวประมาณ 45 %

    1.3 การปกครองระดับหมู่บ้าน

         ตำบลสามเรือน แบ่งเขตการปกครองระดับหมู่บ้านเป็น 7 หมู่บ้าน และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่ต่าง ๆ ดังนี้

           หมู่ที่ 1  บ้านดง                นางสาวนันทิยา      แย้มขยาย           ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

           หมู่ที่ 2  บ้านในคู              นายอำนาจ            โกมินทร์             ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

           หมู่ที่ 3  บ้านจุกมะพร้าว     นางสาวบงกชรัตน์  ศรีวรานนท์         ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

           หมู่ที่ 4  บ้านโคกคราม      นายสนชัย              ชูประเสริฐชัย      ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

           หมู่ที่ 5  บ้านญวนเหนือ     นายเจริญ              รุ่งเรือง                ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

           หมู่ที่ 6  บ้านสามเรือน       นายสมมาตร          ดีเหลือ               ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

           หมู่ที่ 7  บ้านญวนใต้          กำนันวีรเดช          เนียมรักษา         ตำแหน่งกำนัน

                  

                             ภาพที่ 2 แผนที่ตำแหน่งหมู่บ้านในตำบลสามเรือน

 

    1.4 ครัวเรือนและประชากร

          หมู่บ้านในตำบลสามเรือนมีครัวเรือนทั้งสิ้น 1,464 ครัวเรือน หมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ บ้านดง จำนวน 254 ครัวเรือน บ้านญวนใต้ จำนวน 246 ครัวเรือน และบ้านในคู จำนวน 232 ครัวเรือน ส่วนหมู่บ้านที่มีครัวเรือนน้อยที่สุดคือ บ้านสามเรือน มีทั้งสิ้น 151 ครัวเรือน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) หมู่ที่ 1 บ้านดง จำนวนประชากรเพศชาย 495 คน เพศหญิง 512 คน รวม 1,007 คน จำนวนครัวเรือน 254 ครัวเรือน 2) หมู่ที่ 2 บ้านในคู จำนวนประชากรเพศชาย 359 คน เพศหญิง 406 คน รวม 765 คน จำนวนครัวเรือน 232 ครัวเรือน 3) หมู่ที่ 3 บ้านจุกมะพร้าว จำนวนประชากรเพศชาย 313 คน เพศหญิง 317 คน รวม 630 คน จำนวนครัวเรือน 221 ครัวเรือน 4) หมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม จำนวนประชากรเพศชาย 240 คน เพศหญิง 260 คน รวม 500 คน จำนวนครัวเรือน 159 ครัวเรือน 5) หมู่ที่ 5 บ้านญวนเหนือ จำนวนประชากรเพศชาย 255 คน เพศหญิง 276 คน รวม 531 คน จำนวนครัวเรือน 201 ครัวเรือน 6) หมู่ที่ 6 บ้านสามเรือน จำนวนประชากรเพศชาย 314 คน เพศหญิง 324 คน รวม 638 คน จำนวนครัวเรือน 151 ครัวเรือน 7) หมู่ที่ 7 บ้านญวนใต้ จำนวนประชากรเพศชาย 325 คน เพศหญิง 378 คน รวม 703 คน จำนวนครัวเรือน 246 ครัวเรือน โดยจำนวนประชากรเพศชายรวมทั้งสิ้น 2,301 คน จำนวนประชากรเพศหญิงรวมทั้งสิ้น  2,473 คน รวมประชากรทั้งหมด 4,774 คน จำนวนครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 1,464 ครัวเรือน 

    1.5 ช่วงอายุและจำนวนประชากร

           ตำบลสามเรือน แบ่งช่วงอายุออกเป็น 3 ช่วงอายุ ช่วงอายุที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 25 - 59 ปี มีจำนวนประชากรจำนวน 2,492 คน และช่วงอายุที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดคือ ช่วงอายุ 60 ปี ขึ้นไป มีจำนวนประชากรจำนวนทั้งสิ้น 941 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) ช่วงอายุแรกเกิด – 24 ปี จำนวนประชากรเพศชาย 693 คน เพศหญิง 649 คน รวม 1,342 คน 2) ช่วงอายุ 25 – 59 ปี จำนวนประชากรเพศชาย 1,219 คน เพศหญิง 1,273 คน รวม 2,492 คน 3) ช่วงอายุ 60 ปี จำนวนประชากรเพศชาย 389 คน เพศหญิง 552 คน รวม 941 คน โดยจำนวนประชากรเพศชายรวมทั้งสิ้น 2,301 คน จำนวนประชากรเพศหญิงรวมทั้งสิ้น 2,474 คน รวมประชากรทั้งหมด 4,775 คน 

    1.6 ระบบการศึกษา 

           ระบบการศึกษาของตำบลสามเรือนมีสถานศึกษาจำนวนรวมทั้งสิ้น 3 แห่ง ประกอบด้วย 1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน สอนระดับเตรียมอนุบาล มีจำนวนครู 2 คน และจำนวนนักเรียน 34 คน 2) โรงเรียนวัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม สอนระดับอนุบาลและประถมศึกษา มีจำนวนครู 15 คน และจำนวนนักเรียน 148 คน 3) ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน มีจำนวนครู 2 คน                                                                                                                 

                

                          ภาพที่ 3 แผนที่ตำแหน่งสถานศึกษาในตำบลสามเรือน

 

    1.7 ระบบสาธารณสุข

           ระบบสาธารณะสุขของตำบลสามเรือนมีทั้งหมด 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลสามเรือน มีจำนวนบุคลากร 5 คน และ 2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านญวน มีจำนวนบุคลากร 6 คน และมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รวมทั้งสิ้น จำนวน 44 คน 

                

                       ภาพที่ 4 แผนที่ตำแหน่งระบบสาธารณสุขในตำบลสามเรือน

 

    1.8 ระบบเศรษฐกิจ

            ระบบเศรษฐกิจของตำบลสามเรือน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1) เกษตรกรรม มีพื้นที่ 4,339 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 346 ครัวเรือน 2) ประมง มีพื้นที่ 761 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพประมง 60 ครัวเรือน และ 3) ปศุสัตว์ มีพื้นที่ 180 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพปศุสัตว์ 276 ครัวเรือน 

    1.9 ระบบพานิชย์และกลุ่มอาชีพ

            ระบบพานิชย์ของตำบลสามเรือน ประกอบด้วยร้านค้าหลากหลายประเภท เช่น 1) ร้านขายของชำ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ร้านรุ่งอรุณมินิมาร์ท, ร้านโอมเอิทมินิมาร์ท, ร้านยายรี, ร้านพี่เจี๊ยบ, ร้านคูณทรัพย์มินิมาร์ท, ร้านมินิออมทรัพย์, ร้านพี่เป็ด และร้านบุญ 2) ร้านขายส้มตำ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ร้านส้มตำรัก ณ ราชบุรี , ร้านตำล้านเเตก, ร้านส้มตำครัวพังงา และร้านส้มตำสองพี่น้อง 3) ร้านขายอาหารตามสั่ง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ร้านเจ๊นก ต้นหว้า, ร้านครัวลุงรี-อาหารป่า และลุงใหญ่อาหารป่า 4) ร้านขายน้ำ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ร้านรัก ณ Keto & Café,  ร้านมารุชา สามเรือน และร้านน้ำส้มปั่น 5) ร้านขายข้าวแกง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร้านทิพย์มณฑาข้าวแกง และร้านข้าวแกง โอทอป 6) ร้านขายของฝาก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร้านของฝากไชโป้วแม่บุญส่ง OTOP Ratchaburi และร้านแม่กิมฮวย สาขาเพชรเกษม- สามเรือน 7) ร้านขายก๋วยเตี๋ยว 2 แห่ง ได้แก่ ร้านร่มโพธิ์ ก๋วยเตี๋ยวเรือราชบุรี & coffee drinks และก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยา สูตรโบราณ 8) ร้านหมูกระทะ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร้านเสร่อ ปิ้งย่าง และตำต่อยหอย ส้มตำ จิ้มจุ่ม หมูกระทะ ราชบุรี 9) ร้านขายอาหารต้มหมู ต้มเนื้อ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร้านเนื้อตุ๋นสามเรือน และร้านนายสอเนื้อต้ม 10) ร้านซ่อมจักยานยนต์ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ประสิทธิ์การช่าง  และอู่ช่างเสริม เซอร์วิส 11) ร้านขายน้ำพริกแปรรูปพร้อมทาน จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ น้ำพริก  รุ่งทิพย์ 12) ร้านขายขนมปัง ขนมอบ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ร้านนรินทร์ขนมปังปี๊บ 13) ร้านขายข้าวขาหมูและข้าวมันไก่ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ร้านใบบีม Baibeam ข้าวขาหมู-ข้าวมันไก่ สามเรือน ราชบุรี 14) ร้านขายขนมเปี๊ยะ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ร้านขนมเปี๊ยะอร่อยซอย 8 by อร่อยนุ่ม 15) ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ 7-Eleven ปตท.สามเรือน 16) ร้านขายยา จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ บ้านยาอุ่นใจ 17) ร้านตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุก จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ฮีโน่ ชัยรัชการ สาขาราชบุรี 18) ร้านซ่อมจักยานยนต์ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ประสิทธิ์การช่าง 19) ร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ร้านใบบัวอิเลคโทรนิคส์ 20) ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์และรถจักยานยนต์ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ A&Pเรซซิ่ง 21) ร้านขายสินค้ามือสอง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ Hi Janji โกดังสินค้าญี่ปุ่นมือสอง ราชบุรี รวมร้านค้าทั้งสิ้น 40 แห่ง และแบ่งร้านค้าออกเป็น 21 ประเภท

           ด้านกลุ่มอาชีพ  ประกอบด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสตรีตำบลสามเรือน ผลิตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หมี่กรอบ กระยาสารท

              

                ภาพที่ 5 แผนที่ตำแหน่งระบบพานิชย์และกลุ่มอาชีพในตำบลสามเรือน

 

    1.10 ระบบอุตสาหกรรม

          ระบบอุตสาหกรรมของตำบลสามเรือน จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) โรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท กรไทย จำกัด ทำการผลิตเกี่ยวกับกะทิ คอฟฟี่เมต ชา กาแฟ และอื่น ๆ 2) ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อ ได้แก่ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อเขต 5 ราชบุรี เกี่ยวกับปฏิบัติการระบบท่อ 

              

                       ภาพที่ 6 แผนที่ตำแหน่งระบบอุตสาหกรรมในตำบลสามเรือน

 

    1.11 ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน

           ประเภทแหล่งน้ำ มีรายละเอียดดังนี้แหล่งน้ำของตำบลสามเรือน ส่วนใหญ่ประกอบคลองสาธารณะ ที่ไหลผ่านระหว่างหมู่ที่ 1-7 จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) คลองสามเรือน-บางป่า 2) คลองตาฉาว และภายในตำบลสามเรือนมีถังประปาหมู่บ้านครบทุกหมู่บ้าน 

           ประเภทพื้นที่สาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้ พื้นที่สาธารณะของตำบลสามเรือน จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบล สามเรือนตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านจุกมะพร้าว 2) ที่ออกกำลังกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านในคู

           สถานที่ท่องเที่ยวชุมชน มีรายละเอียดดังนี้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนของตำบลสามเรือน ได้แก่ วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม มีหลวงพ่อศิลาแดงที่ประชาชนในหมู่บ้านเลื่อมใสศรัทธา นับถือนิกายมหายาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านในคู

               

ภาพที่ 7 แผนที่ตำแหน่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนในตำบลสามเรือน

 

    1.12 ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญา

           ด้านศาสนา ประชากรทั้งหมดของตำบลสามเรือนนับถือศาสนาพุทธ และมีศาสนสถานและสถานที่สำคัญในพื้นที่ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านในคู 2) วัดเกาะเจริญธรรม ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านสามเรือน

           ด้านประเพณี วัฒนธรรม ได้แก่ ประเพณีชักพระแข่งเรือ จะดำเนินการ แรม 2 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีและประเพณีนมัสการหลวงพ่อศิลาแดง ทุกวันสงกรานต์ ของทุกปี

           ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และภาษาถิ่น ได้แก่ การเลี้ยงไก่ชน และสานสุ่มไก่ หมู่ที่ 6 และการทำเกษตรกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำปุ๋ยอินทรีย์ หมู่ที่ 3

                

                            ภาพที่ 8 แผนที่ตำแหน่งศาสนสถานในตำบลสามเรือน

 

2. ข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน

    2.1 ความเป็นมาและการก่อตั้ง

            องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 การจัดรูปองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปหนึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 6 พ.ศ.2552 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น จึงนับเป็นมิติใหม่ที่รัฐบาลได้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบและ มีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นตนเอง เพื่อให้สนองตอบต่อความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริงและยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ตลอดจนกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตั้งอยู่เลขที่ 55/5 หมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม ตำบลสามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

 

                                              

                             ตราสัญลักษณ์องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน

 

    2.2 ผู้บริหาร

            นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน คนปัจจุบัน เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อ ปี 2565

 

                                                   alt

                                                 นางปณัสญา เนียมรักษา 

                                  (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน)

 

    2.3 โครงสร้างองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน

                                                     

                    

 

    2.4 วิสัยทัศน์  เป้าประสงค์ และยุทธศาสตร์องค์กร

        วิสัยทัศน์ 

               “ชุมชนเข้มแข็ง แหล่งเกษตรกรรม น้อมนำการศึกษา พัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมสืบสานประเพณีมีการพัฒนาครบถ้วน”

        เป้าประสงค์

            1. ปรับปรุงและพัฒนาการคมนาคม การขยายเขตไฟฟ้า ระบบประปา และเพิ่มการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ ให้ทั่วถึงและมีมาตรฐาน 

            2. ให้ประชาชนและกลุ่มอาชีพต่างๆ พัฒนาอาชีพ สร้างงาน และมีรายได้เพิ่มขึ้น 

            3. พัฒนาด้านสาธารณสุข ส่งเสริมการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 

            4. รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินพร้อมทั้งการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและอุบัติภัยให้กับประชาชน           

            5. ประชาชนเข้าใจหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นยึดหลักการการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ และได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว 

            6. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม 

            7. ชุมชนมีศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม

        ยุทธศาสตร์ 

            1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

            2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต        

            3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย 

            4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

            5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านศิลปะวัฒนธรรมจารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

3. ข้อมูลหมู่บ้าน/ชุมชน (พื้นที่ทำโครงการ)

    3.1 ความเป็นมาของหมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม 

            ในอดีตหมู่บ้านโคกคราม ตำบลสามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จะมีโคกไว้สำหรับนำสัตว์เลี้ยงมาผูกไว้ที่บริเวณนี้ ประชาชนเรียกว่า “บ้านโคกข้าม” และต่อมาก็เพี้ยนมาเป็น “บ้านโคกคราม” สมัยก่อนมีการละเล่นที่นิยม คือ การเล่นลูกช่วง เดิมทีเป็นหมู่ที่ 9 ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 - 2511 แยกออกมาเป็นหมู่ที่4 ประชาชนในหมู่บ้านเคารพนับถือและศรัทธา หลวงพ่อศิลาแดงและเจ้าแม่พวงมาลัย

        3.1.1 ที่ตั้งของหมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม

              หมู่บ้านโคกครามมีพื้นที่ทั้งหมด 950 ไร่ อยู่ห่างจากอำเภอโพธารามไปทางทิศใต้ ประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรีไปทางทิศเหนือ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านข้างเคียง ดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ         ติดต่อกับ       หมู่ที่ 7 ตำบลสามเรือน  อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี

ทิศใต้             ติดต่อกับ       หมู่ที่ 3 ตำบลสามเรือน  อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี   

ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ       หมู่ที่ 8 ตำบลดอนทราย อำเภอโพธาราม    จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ       หมู่ที่ 1 ตำบลท่าราบ     อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี

        3.1.2 จำนวนประชากร 

              จำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 500 คน เพศชาย 240 คน เพศหญิง 260 คน มีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) รวมทั้งสิ้น 80 คน เพศชาย 30 คน เพศหญิง 50 คน และมีคนพิการ รวมทั้งสิ้น 5 คน เพศชาย 3 คน เพศหญิง 2 คน จำนวนครัวเรือน 158 ครัวเรือน

        3.1.3 การประกอบอาชีพ

  • อาชีพ เกษตรกร        จำนวน 50   คน
  • อาชีพ รับจ้าง            จำนวน 125 คน
  • อาชีพ ค้าขาย           จำนวน 30   คน

        3.1.4 สาธารณูปโภค

  • มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน
  • มีการสื่อสารด้วยโทรศัพท์และเครื่องขยายเสียง
  • มีน้ำใช้ทุกครัวเรือน

        3.1.5 แหล่งน้ำ

  • แหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ หนองทอแพร

    3.2 ภูมิปัญญา

           สำหรับภูมิปัญญาสำคัญของหมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม คือ ภูมิปัญญาทางด้านการเกษตร เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ซึ่งพืชที่นิยมปลูกมากที่สุดในหมู่บ้านนี้ คือ “ มะขามเทศ ” นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงไก่ชนพื้นเมือง เลี้ยงวัวโดยมีผู้ที่ริเริ่มและสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น  

   3.3 ปราชญ์ชาวบ้าน

           เนื่องจากหมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปราชญ์ชาวบ้านจึงเป็นปราชญ์ทางด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านการเกษตร จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ ลุงมนตรี ลุงสำราญ นางสาววิมาน และนายสามารถ ต่อมาคือ ผู้ที่มีความสามารถทางด้านจักรสาน จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ ป้าเรียม และผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ พี่อภิเชษฐ รวมทั้งสิ้น 6 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง  หรือผู้ที่สนใจจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ได้ ดังนี้     

 

                                                  

 

ประวัติส่วนตัว

     ชื่อ: นายมนตรี  เย็นใจ

     ที่อยู่: หมู่ 4 ตำบล สามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000

รายละเอียด

          คุณลุงประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู มาเป็นเวลา 40 กว่าปีแล้ว โดยเป็นผู้ริเริ่มปลูกเองทุกอย่างเลย โดยมะขามเทศพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติหวาน มัน และอร่อย ซึ่งมะขามเทศนี้จะออกผลในช่วงเดือนธันวาคมต่อเนื่องไปถึงเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายนเท่านั้น โดยมีเนื้อที่ในการทำการเกษตรประมาณ 5 ไร่ นอกจากนี้คุณลุงยังเลี้ยงไก่ชนพื้นเมือง ซึ่งเลี้ยงมาได้ 5-6 ปีแล้ว มีไก่ 100 กว่าตัว เลี้ยงไว้เพื่อขาย แล้วก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ชำกิ่ง และการเสียบยอด รวมไปถึงการเพาะพันธุ์ปลา ขยายพันธุ์โดยการผสมเทียม หากใครสนใจที่จะศึกษาเรื่องไหนก็สามารถไปสอบถามข้อมูลจากคุณลุงได้เลย

 

                                         

 

ประวัติส่วนตัว

    ชื่อ: นายสำราญ เย็นใจ

    ที่อยู่: หมู่ 4 ตำบล สามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000

รายละเอียด

          คุณลุงเล่าว่าก่อนหน้านี้คุณลุงเลี้ยงวัวนมมาก่อน แต่พอของกินเริ่มมีราคาสูงขึ้นคุณลุงได้หันมาประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรแทน ปลูกผักหลากหลายชนิด อย่างตอนนี้คุณลุงปลูกแตงกวาและมะเขือยาว รวมไปถึงมะขามเทศด้วย โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรรวม ๆ แล้วประมาณ 9 ไร่ และทำการเกษตรมา 20 กว่าปีแล้ว เริ่มต้นด้วยการปลูกเองหมดทุกอย่างเลย และได้มีการแนะนำให้ลูก ๆ หลาน ๆ คนที่สนใจมาทำด้วย

 

               

 

ประวัติส่วนตัว

     ชื่อ: นางเรียม  พุ่มแก้ว

    ที่อยู่: หมู่ 4 ตำบล สามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000

รายละเอียด

           เดิมคุณยายเรียมประกอบอาชีพขายขนมจีน แต่พอมีอายุเพิ่มมากขึ้น ยายเรียมได้พักอยู่บ้าน ผันตัวมาเป็นเกษตรกร ทำสวนมะพร้าว เลี้ยงวัว พอมีเวลาว่างก็ทำจักรสาน โดยจุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจการทำจักรสานคือ มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ อบต. พาไปแล้วเกิดความสนใจ จึงนำมาหัดทำเอง โดยเริ่มจากการลองผิดลองถูก จนถึงตอนนี้ก็เป็นระยะเวลา 2 ปี แล้วที่ได้ทำจักรสาน ยายเรียมเริ่มจากการสานตะกร้าใบเล็ก ๆ จนมาถึงขนาดใหญ่ ตอนนี้สานตะกร้าได้ 3 ขนาดแล้ว และกำลังฝึกฝนทำแบบใหม่อยู่เรื่อย ๆ

 

                        

 

ประวัติส่วนตัว

    ชื่อ: นางสาววิมาน  เย็นใจ

    ที่อยู่: หมู่ 4 ตำบล สามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000

รายละเอียด

          ตอนนี้คุณน้าทำอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู โดยคุณน้าได้รับช่วงต่อมาจากคุณพ่อ ประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ด้วยการสั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ทำการเกษตรมานาน เพราะก่อนที่จะมารับช่วงต่อก็ช่วยคุณพ่อทำการเกษตรมาโดยตลอด โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 5 ไร่ โดยมีญาติพี่น้อง หลาน ๆ มาช่วยกันทำการเกษตรด้วย

 

                                    

 

ประวัติส่วนตัว

     ชื่อ: นายสามารถ  น้วมด้วง

     ที่อยู่: หมู่ 4 ตำบล สามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000

รายละเอียด

           คุณน้าทำการเกษตรมาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว โดยได้รับช่วงต่อจากน้า มาทำมะขามเทศพันธุ์ฝักสีชมพู ประมาณ 20 กว่าปีแล้ว มีเนื้อที่ในการทำการเกษตรประมาณ 5 ไร่ และรับช่วงทำนาต่อจากพ่อตาแม่ยาย ที่มีเนื้อทำนา 30 ไร่ และถือว่าเป็นคนนึงที่ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตร มีคนเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับการปลูก การใช้ยา ใช้ปุ๋ยต่าง ๆ ก็ได้แนะนำบอกต่อกันไป

 

              

                                

 

ประวัติส่วนตัว

     ชื่อ: นายอภิเชษฐ  วาสุ

     ที่อยู่: หมู่ 4 ตำบล สามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000

รายละเอียด

          ปัจจุบันเขาทำอาชีพเป็นช่างไฟฟ้าทั่วไป และมีงานอดิเรกคือ เลี้ยงไส้เดือน เพาะพันธุ์ลูกปลาทับทิม รวมถึงทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงด้วย จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไส้เดือนก็คือ อยากมีมูลไส้เดือนมาใส่ต้นไม้ที่มีอยู่ในบ้าน โดยเลี้ยงมาได้ 1 ปีกว่า ๆ แล้ว โดยมีวิธีการหมักมูลไส้เดือน คือ แช่น้ำ 1 คืน ปล่อยน้ำทิ้ง หมักให้เย็นประมาณ 7 วัน ส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำมาจากไข่ไก่ กะปิ และผงชูรส นำมาปั่นรวมกัน ทำเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ใช้อาหาร 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำลิตรครึ่ง ประโยชน์ คือ สามารถช่วยบำบัดน้ำเสียได้ นำมาใส่ต้นไม้เร่งรากได้ เป็นต้น พี่เขาไปไม่ได้ทำขายแต่ถ้าหากใครสนใจที่จะลองทำ หรืออยากได้ไปลองใช้ก็สามารถเข้าไปสอบถามพี่เขาได้เลย

    3.4 สถานการณ์ปัญหา

  • ด้านเศรษฐกิจ   ชุมชนขาดการรวมกลุ่มในการพัฒนาพื้นที่
  • ด้านสังคม        เด็กและเยาวชนติดเกมและให้ความสนใจโลกโซเซียลมากเกินไป
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง

  1. http://www.samruanratchaburi.go.th/site/attachments/article/155/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%20(%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.%202561%20-%202565).pdf
  2. http://www.samruanratchaburi.go.th/site/attachments/article/413/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%201%20%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf
  3. http://www.samruanratchaburi.go.th/site/index.php?option=com_content&view=article&id=57&Itemid=73
  4. แผนพัฒนาหมู่บ้าน.(2564). แผนพัฒนาหมู่บ้าน บ้านโคกคราม หมู่ที่ 4 ตำบลสามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี 

ผู้ให้ข้อมูลการสัมภาษณ์

  1. นายมนตรี        เย็นใจ
  2. นายสำราญ       เย็นใจ 
  3. นางเรียม          พุ่มแก้ว 
  4. นางสาววิมาน    เย็นใจ 
  5. นายสามารถ      น้วมด้วง   
  6. นายอภิเชษฐ      วาสุ
  7. นายสนชัย        ชูประเสริฐชัย (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านโคกคราม)
หมายเลขบันทึก: 701097เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2022 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2022 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท