ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด


                               ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด

ภาพทีทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด

                                                

1.ข้อมูลสะท้อนคุณลักษณะตำบล

     ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) เนื่องจากได้เสด็จประภาสผ่านมาทางแม่น้ำ แม่กลอง มาถึงจุดที่ตั้งของหมู่ที่ 5 (บ้านบางโตนดในปัจจุบัน) รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่ามีการปลูกและประกอบอาชีพจากตาลโตนดกันมาก จึงพระราชทานชื่อให้ว่า "หมู่บ้านบางโตนด" แต่เดิมแบ่งเป็น 2 ตำบล คือตำบลบางโตนด และตำบลสมถะ ต่อมาได้รวมบ้านสมถะบางส่วนมาเป็นบ้านสมถะของตำบลบางโตนดในปัจจุบันและบ้านสมถะบางส่วนรวมกับตำบลหนองกลางนา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน แต่เดิมประชากรเป็นชาวเขมรอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านบางโตนด และใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร       คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน เกษตรกร เป็นหลัก

     ตำบลบางโตนด แต่เดิมเป็นสถานที่ตั้งของที่ทำการอำเภอโพธาราม ในสมัยก่อนมีต้นตาลโตนดเป็นจำนวนมาก จึงนำมาตั้งชื่อว่า “ตำบลตาลโตนด” มาจนถึงปัจจุบัน เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอโพธาราม มีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 6 หมู่บ้าน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวและทำสวน

     ตำบลบางโตนด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโพธาราม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธาราม ประมาณ ๗ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร 

1.1 ลักษณะทากายภาพและภูมิอากาศ

     ตำบลบางโตนด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโพธาราม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธารา ประมาณ ๗ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังนี้

     ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลนางแก้วและตำบลท่าชุมพล อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

     ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหนองกลางนา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

     ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเจ็ดเสมียนและตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

     ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

     พื้นที่และขอบเขตปรากฏดังแผนที่ ดังนี้

 ภาพแผนที่ตำบลบางโตนด

                                                             

ลักษณะภูมิประเทศ

     ลักษณะโดยทั่วไปของตำบลบางโตนด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอโพธาราม เป็นที่ราบฝั่งแม่น้ำแม่กลองพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เป็นท้องทุ่งกว้าง เป็นที่ริมน้ำบางแห่ง บางครั้งมีปริมาณน้ำฝนมากก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้

     1. พื้นที่ทั้งหมด 11,337 ไร่ หรือ 18.17 ตารางกิโลเมตร

     2. พื้นที่ทำการเกษตร 7,551 ไร่

     3. อุณหภูมิเฉลี่ย 28.6 – 31.2 องศาเซลเซียส

  • แหล่งน้ำต่าง ๆ แบ่งเป็น แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น แบ่งเป็น

     -แหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ คลองบางสองร้อย และแม่น้ำแม่กลอง

     -แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น คลองชลประทานเต็มพื้นที่ โดยมีคลองสำคัญ 3 สาย ได้แก่ คลอง 2R , คลอง 7R  2R และคลอง 9R  2R บ่อน้ำตื้น จำนวน 5 แห่ง บ่อน้ำบาดาล จำนวน ๔ แห่ง ประปาหมู่บ้าน จำนวน 6 แห่ง

ลักษณะดิน

     พื้นที่ตำบลบางโตนด เป็นพื้นที่ราบลุ่ม เนื่องจากพื้นที่ติดแม่น้ำแม่กลองมีสภาพดินเป็นดินร่วน และดินร่วนปนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดีมีระบบชลประทานแม่กลองที่เป็นระบบชลประทานขนาดใหญ่ เหมาะแก่ การปลูกข้าว และพืชผัก

ลักษณะแหล่งน้ำ

     ตำบลบางโตนดมีการแบ่งแหล่งน้ำที่สำคัญ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ดังนี้

• แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สำคัญ ได้แก่ 1. แม่น้ำแม่กลอง 2. คลองบางสองร้อย 3. คลองบางโตนด

• แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น คลองชลประทานเต็มพื้นที่ โดยมีคลองสำคัญ 3 สาย ได้แก่

     - คลอง 2 R , คลอง 8 R – 2 R และคลอง 9 R – 2R

     - บ่อน้ำตื้น จำนวน 5 แห่ง บ่อน้ำบาดาล จำนวน 4 แห่ง

     - ประปาหมู่บ้าน จำนวน 6 แห่ง แยกเป็น ประปาบาดาล 2 แห่ง ประปาผิวดิน 4 แห่ง

ลักษณะภูมิอากาศ

     ลักษณะภูมิอากาศของ ตำบลบางโตนด มี 3 ฤดู ได้แก่

• ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกและลมพายุใต้พัดผ่านทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป อาจมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

• ฤดูฝน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

     - ช่วงแรก ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน แต่เนื่องจากมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นอยู่ จึงทำให้พื้นที่ติดเทือกเขาได้รับปริมาณฝนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะถูกพัดเลยไปตกแถบลุ่มน้ำแม่กลอง

     - ช่วงที่สอง ประมาณเดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่เลื่อนลงมาจากกทางภาคเหนือมาปะทะแนวเทือกเขาตะนาววศรี ทำให้มีฝนตกชุกและตกหนัก ทำให้เกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาเป็นประจำทุกปี

• ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็นเนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดนำเอาความหนาวเย็นและแห้งมาปกคลุม ทำให้มีอากาศหนาวทุกปี

1.2 การปกครอง

     ตำบลบางโตนดแบ่งพื้นที่การปกครอง 6 หมู่บ้าน ได้แก่

     หมู่ที่ 1 บ้านน้ำตก

     หมู่ที่ 2 บ้านหัวกรวด

     หมู่ที่ 3 บ้านดอนมะเดื่อ

     หมู่ที่ 4 บ้านบางโตนด   

     หมู่ที่ 5 บ้านธรรมเสนใหม่

     หมู่ที่ 6 บ้านสมถะ

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด

     องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด มีสสภาตำบลบางโตนดอยู่ในระดับสูงสุด เป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหาร ของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด และ มีพนักงานประจำที่เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ทำงานประจำโดยมีปลัดและรองปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด เป็นหัวหน้างานบริหาร ภายในองค์กรมีการแบ่งออกเป็นหน่วยงานต่างๆ ได้เท่าที่จำเป็นตามภาระหน้าที่ของ องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบอยู่ เช่น

     • สำนักงานปลัด

     • กองคลัง

     • กองช่าง

     • กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

     • กองสวัสดิการสังคม

ตำบลบางโตนด แบ่งเขตการปกครองระดับหมู่บ้านเป็น 6 หมู่บ้าน และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่ต่าง ๆ ดังนี้

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน
1 บ้านนํ้าตก นาย สมใจ เต็กอวยพร
2 บ้านหัวกรวด นาย อาคม เกิดจิ๋ว
3 บ้านดอนมะเดื่อ นาย สมคิด อิทธิธนกิจ
4 บ้านบางโตนด นางสาว ศิรินทิพย์ วิเศษรจนา
5 บ้านธรรมเสนใหม่ นาย สมบัติ สุขสว่าง
6 บ้านสมถะ นาย ประวิทย์ ปานโศก

 ครัวเรือนและประชากร     

     ครัวเรือนในตำบลบางโตนดทั้ง 6 หมู่ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,660 ครัวเรือน บ้านน้ำตก จำนวน 150 ครัวเรือน             บ้านหัวกรวด 163 ครัวเรือน บ้านดอนมะเดื่อ 173 ครัวเรือน บ้านบางโตนด จำนวน 406 ครัวเรือน บ้านธรรมเสนใหม่ จำนวน 438 ครัวเรือน และ บ้านสมถะ จำนวน 330 ครัวเรือน  มีประชากรรวมทั้งหมด 5,199 คน โดยแยกเป็นเพศชาย 2,514 คน และ เพศหญิง 2,675 คน บ้านน้ำตก จำนวน 560 คน บ้านหัวกรวด 563 คน บ้านดอนมะเดื่อ 521 คน     บ้านบางโตนด จำนวน 1,154 คน บ้านธรรมเสนใหม่ จำนวน 1,256 คน  และ บ้านสมถะ จำนวน 1,145 คน 

ตารางที่ 1 ข้อมูลประชากรขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด จำแนกตามจำนวนครัวเรือน และ เพศ

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ครัวเรือน ประชากร รวมประชากร
ชาย หญิง
1 บ้านนํ้าตก 150 246 314 560
2 บ้านหัวกรวด 163 264 299 563
3 บ้านดอนมะเดื่อ 173 262 259 521
4 บ้านบางโตนด 406 565 589 1,154
5 บ้านธรรมเสนใหม่ 438 599 647 1,256
6 บ้านสมถะ 330 578 567 1,145
  รวม 1,660 2,514 2,675 5,199

ช่วงอายุและจำนวนประชากร 

จำนวนประชากรในตำบลบางโตนดทั้ง 6 หมู่บ้าน มีจำนวนทั้งสิ้น 5,157 คน โดยจำแนกตามช่วงอายุเป็น 

ช่วงอายุ 0 – 10 ปี จำนวน 543 คน ช่วงอายุ 11 – 20 ปี จำนวน 555 คน ช่วงอายุ 21 – 30 ปี จำนวน 640 คน 

ช่วงอายุ 31 – 40 ปี จำนวน 740 คน ช่วงอายุ 41 – 50 ปี จำนวน 832 คน ช่วงอายุ 51 – 60 ปี จำนวน 760 คน

ช่วงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,087 คน

ตารางที่ 2 ข้อมูลประชากรขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด จำแนกตามช่วงอายุ และ เพศ

ช่วงอายุ ชาย(คน) หญิง(คน) รวมชาย-หญิง หมายเหตุ
0 – 10 ปี 282 261 543 -
11 – 20 ปี 286 269 555 -
21 – 30 ปี 336 304 640 -
31 – 40 ปี 387 353 740 -
41 – 50 ปี 410 422 832 -
51 – 60 ปี 346 414 760 -
60 ปี ขึ้นไป 436 651 1,087 -
รวม 2,483 2,674 5,157 -

1.3 บริบททางเศรษฐกิจ

     ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชไร่ และพืชผัก มีการเลี้ยงสัตว์และทำประมงน้ำจืด ได้แก่ การเลี้ยงโคเนื้อ ไก่ เป็ด สุกร แพะ และ ปลา กุ้ง ที่เหลือประกอบอาชีพส่วนตัว และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียง

พันธุ์พืชที่ปลูก  ประกอบด้วย

     ข้าว เกษตรกรปลูกข้าว ปีละ 2 ครั้ง พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ร้อยละ 90 ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 800 กก./ไร่

     ข้าวนาปรัง ปลูกเดือนมีนาคม-เมษายน เก็บเกี่ยวปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม

     ข้าวนาปี ปลูกเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม-มกราคม

     ไม้ผล พื้นที่ปลูก 1,018 ไร่ ได้แก่ ชมพู่พันธุ์ทูลเกล้า ชมพู่พันธ์ทับทิมจันทร์ ฝรั่งพันธุ์กลมสาลี่ มะม่วง (เขียวเสวย ฟ้าลั่น หนังกลางวัน) มะพร้าวน้ำหอม และผลไม้อื่นๆ

     พืชไร่ พื้นที่ 1,560 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นอ้อยโรงงาน ซึ่งจะปลูกในพื้นที่ดอน ไม่เหมาะสมในการทำนา และพืชไร่อื่น

     พืชผัก พื้นที่ 168 ไร่  ลักษณะยกเป็นร่อง จะมีพืชผักเกือบทุกชนิด เช่น ถั่วฝักยาว บวบ มะระจีน มะเขือเปราะ มะเขือยาว แตงกวา ฟักเขียว กวางตุ้ง คะน้า มะนาว ผักชี โหระพา เป็นต้น

การประมง

     ตำบลบางโตนด มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าจำนวน 42 ราย บ่อเลี้ยงจำนวน 289 บ่อ เนื้อที่ฟาร์ม จำนวน 447.85 ไร่ เนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งหมด 689 ไร่

     เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า ในตำบลบางโตนด หมู่ที่ 1 บ้านนํ้าตก 8 ราย หมู่ที่ 2 บ้านหัวกรวด 9 ราย                   หมู่ที่ 3 บ้านดอนมะเดื่อ 2 ราย หมู่ที่ 4 บ้านบางโตนด 7 ราย หมู่ที่ 5 บ้านธรรมเสนใหม่ 3 ราย หมู่ที่ 6 บ้านสมถะ 12 ราย 

     ชนิดสัตว์นํ้า เลี้ยงปลาสวาย 2 ราย เลี้ยงปลาดุก 2 ราย เลี้ยงปลาหมอสี 3 ราย เลี้ยงกุ้งก้ามกราม 1 ราย เลี้ยงปลานิล 34 ราย

ระบบพาณิชย์ บางอย่างในตำบลบางโตนด ดังนี้

1. บางโตนดซุปเปอร์มาร์เก็ต หมู่ที่ 4

2. ร้านขายของชำพ่อวุฒิ ( ร้านตาน้อย ) หมู่ที่ 2

3. ฉลองชัย ซุปเปอร์มาร์เก็ต หมู่ที่ 4

4. ร้านจรูญ แยกท่าไร หมู่ที่ 3

5. พี ซี เซนเตอร์ หมู่ที่ 1

6. ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือฟ้าใส หมู่ที่ 1

7. ซื้อ-ขาย รถไถนาเดินตาม โพธาราม ราชบุรี หมู่ที่ 1

8. ร้านเจ๊พรมดอนขวาง หมู่ที่ 2

9. ร้านต้มเนื้อซุ้มกระถินดอนขวาง หมู่ที่ 2

10. ร้านส้มตำเจ๊เพ็ญ หมู่ที่ 2

11. ทับทิม เมคอัพ แต่งหน้าทำผม หมู่ที่ 2

12. ร้านส้มตำ ป้าแป๊ด หมู่ที่ 2

13. ซุ้ม.ไก่ย่าง หมู่ที่ 3

14. ร้านแอมริมคลอง หมู่ที่ 3

15. ร้านก๋วยจั๊บน้ำแข็งใส หมู่ที่ 4

16. กรีชคาร์แคร์ ล้าง อัด ฉีด หมู่ที่ 4

17. เดอะลิง หมู่ที่ 4

18. สถานีบริการน้ำมัน หมู่ที่ 4

19. รอเฉยเฉยcoffee หมู่ที่ 4

20. ตานึกยายเหลิมอิ่มอร่อย หมู่ที่ 4

21. ร้านตารักษ์ หมู่ที่ 4

22. ร้านบ้านจันทร์คง คลอง 8 หมู่ที่ 4

23. ครัวต้นปาล์มปรุงสุข หมู่ที่ 4

24. จีบีออนไลน์ หมู่ที่ 3

25. ร้านตัดผม เชิง บาร์เบอร์ หมู่ที่ 6

26. ร้านณัฐฐกูล ฟลาวเวอร์ หมู่ที่ 6

27. ก๋วยเตี๋ยว10บาท ป้าแมว หมู่ที่ 6

28. ร้านนางเงิน ทองรุ่ง หมู่ที่ 4

29. กร การค้า หมู่ที่ 4

30. เพื่อนเกษตรสมถะ หมู่ที่ 4

31. สมถะ แอร์ & อิเล็กทรอนิกส์ หมู่ที่ 4

32. ครัวคุณนายเล็ก หมู่ที่ 5

33. โชคทวีชัยค้าวัสดุ หมู่ที่ 5 

34. ร้ายก๋วยเตี๋ยวหัวสะพาน หมู่ที่ 5

35. อู่ช่างแพะ ดีเซลคอมมอนเรล หมู่ที่ 5

36. พราวด์การเกษตร หมู่ที่ 3 เป็นต้น

 ภาพแผนที่ตำแหน่งพาณิชย์ชุมชน ตำบลบางโตนด

                                               

กลุ่มอาชีพ เช่น วิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ กลุ่มแม่บ้านเกษตรบางโตนด กลุ่มผลิตสร้อยคอสแตนเลสบ้านหัวกรวด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเป่าผ้าบางโตนด กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ กลุ่มพัฒนาอาชีพทำสวน กลุ่มแม่ค้า (ค้าขาย) กลุ่มโต๊ะหมู่บูชา ไชโป้วคุณกาญจนา เป็นต้น 

 ภาพแผนที่ตำแหน่งกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตำบลบางโตนด

                                  

โรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผลิตภัณฑ์ ในตำบลบางโตนด 1) บริษัท เกาลี่ จำกัด หรือ บริษัท เกาลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 2) โรงงานผลิตสร้อยคอสแตนเลสบ้านหัวกรวด ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 3) โรงงานไชโป้วเค็มแม่บุญช่วย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 4) กลุ่มผลิตโต๊ะหมู่บูชา ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 

 ภาพแผนที่ตำแหน่งอุตสาหกรรม ตำบลบางโตนด

                                               

สถานประกอบการด้านพาณิชยกรรม สถานีบริการนํ้ามัน จำนวน 1 แห่ง / ปั๊มนํ้ามัน (ปั๊มหลอด) 11 แห่ง        ตลาดนัด จำนวน 3 แห่ง ร้านขายของชำ จำนวน 24 แห่ง

สถานที่ท่องเที่ยวชุมชน 1). เรือนไทยคอฟฟี่ หมู่ที่ 5  2). แพบ้านส้ม หมู่ที่ 5  3). Normal Cafe and Stay หมู่ที่ 5   4). บุราณ บางโตนด หมู่ที่ 3  5). บ้านริมน้ำบางโตนด หมู่ที่ 4  6). Papiranin's Riverside House หมู่ที่ 5  7). บ้านณัชริญา หมู่ที่ 5  ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนา มี 3 แห่ง ดังนี้ 1). วัดศรีประชุมชน หมู่ที่ 1  2). วัดสมถะ หมู่ที่ 4  3). วัดบางโตนด หมู่ที่ 4

แผนที่ตำแหน่งสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน ตำบลบางโตนด

1.4 บริบททางสังคม

     การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านไม่กระจุกตัวหนาอย่างชุมชนเมือง จะตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างๆ กระจายตามที่ทำกินของตัวเอง มีกระจุกตัวเป็นกลุ่มอยู่บ้างช่วง เช่น เขตใกล้วัด ใกล้โรงเรียน ใกล้ตลาดนัด เขตชุมชน เป็นต้น โดยรวมแล้วยังมีความเป็นชนบทมากกว่าความเป็นเมือง สังเกตจากการที่ไม่มีห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านสะดวกซื้อ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่

     ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค มีถนนเข้าถึงทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง บางส่วนเป็นถนนดินแดง หินคลุก และ ถนนคอนกรีต ด้านนํ้าเพื่อการบริโภคและอุปโภคถือว่าเพียงพอ เนื่องจากตำบลบางโตนดมีประปาหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน กิจการประปาเป็นของหมู่บ้าน ซึ่งบริหารจัดการเอง โดยประชาชนมีนํ้าประปาใช้ครบทุกหลังคาเรือน จำนวน 6 หมู่บ้าน ชาวบ้านทุกครัวเรือนมีนํ้าประปาใช้ และ แต่ละหมู่บ้านยังมีนํ้าดื่มหยอดเหรียญโดยกรองจากนํ้าประปาหมู่บ้าน ส่วนนํ้าเพื่อการเกษตรถือว่าเพียงพอต่อความต้องการ เพราะมีนํ้าส่วนใหญ่มาจากแม่นํ้าแม่กลอง คลองบางสองร้อย คลองชลประทาน เป็นต้น

     ด้านไฟฟ้า มีโครงข่ายไฟฟ้าเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน 

     ด้านสาธารณสุข ตำบลบางโตนด มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง ดังนี้ 1). โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนํ้าตก มีจำนวนบุคลากร 3 คน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 2). โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางโตนด  มีจำนวนบุคลากร 3 คน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4

  ภาพแผนที่ตำแหน่งสาธารณะสุข ตำบลบางโตนด

                                               

     ในตำบลบางโตนดมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน จำนวน 185 คน และเข้าร่วม โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ป้องกันภาวะแทรกซ้อน กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบางโตนด จำนวน 95 คน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนํ้าตก จำนวน 90 คน 

     โรคไข้เลือดออก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางโตนด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนํ้าตกร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการจัดทำโครงการควบคุมและป้องกันยุงลาย (โรคไข้เลือดออก) โดยการควบคุม กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกนํ้ายุงลาย ใส่ทรายอะเบท ปล่อยปลากินลูกนํ้า และพ่น หมอกควันเพื่อกำจัดลูกนํ้า ยุงลาย โดยเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด 

     โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนดได้มีการสนับสนุน งบประมาณผ่านทางกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนดให้กับโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และโรงเรียน เพื่อดำเนินกิจกรรมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

     ด้านการสังคมสงเคราะห์ 

     - ผู้พิการ ผู้พิการที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด จำนวน 156 คน (ประกาศ องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด วันที่ 30 กันยายน 2564) 

     - ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด จำนวน 1,102 คน (ประกาศ องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด วันที่ 30 กันยายน 2564)

     - ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเอดส์ที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด จำนวน 4 คน (ประกาศ องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด วันที่ 30 กันยายน 2564)

1.5 บริบททางการศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม 

     ด้านการศึกษาของตำบลบางโตนด ประกอบด้วย 

     1. โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 จำนวน 2 แห่ง ดังนี้ 1). โรงเรียนวัดศรีประชุมชน เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนจำนวน 68 คน 2). โรงเรียนวัดสมถะ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและขยายโอกาส (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ) มีนักเรียนจำนวน  136 คน 3). โรงเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) บ้านนํ้าตก มีนักเรียนจำนวน 16 คน

     2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด จำนวน 2 แห่ง 1). ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนํ้าตก มีนักเรียนจำนวน 29 คน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 2). ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบางโตนด มีนักเรียนจำนวน 32 คน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4

  ภาพแผนที่ตำแหน่งสถานศึกษา ตำบลบางโตนด

                                                

     ด้านศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนสถานในตำบลบางโตนดมีทั้งหมด 3 แห่ง ประกอบด้วย  1). วัดศรีประชุมชน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 2). วัดบางโตนด ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 และ 3). วัดสมถะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 

ภาพแผนที่ตำแหน่งศาสนสถาน ตำบลบางโตนด

                                                 

     ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ช่วงเดือนเมษายน งานสรงน้ำผู้สูงอายุและสรงน้ำพระ ในวันสงกรานต์ และ ช่วงเดือนกรกฎาคม มีประเพณีเข้าพรรษา

     ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และภาษาถิ่น

     ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เองและนำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นเทคนิควิธีเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้าน ทั้งทางกว้างและทางลึกที่ชาวบ้าน คิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยความเหมือนกันของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ เป็นองค์ความรู้ และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ซึ่งได้สืบทอดและเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งตำบลบางโตนด มีเชื้อสายมาจากเขมร ประชาชนบางส่วนใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารกัน การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นความสำคัญยิ่งของชาวตำบลบางโตนด การรักษาภาษาเขมรก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของประชาชนตำบลบางโตนด แต่เดิมประชากรเป็นชาวเขมรอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านบางโตนด และใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน เกษตรกร เป็นหลัก มีกลุ่มทำโต๊ะหมู่บูชา และ     สร้อยสแตนเลส ที่เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านประกอบเป็นอาชีพกัน 

     ภูมิปัญญา

     1). กลุ่มผลิตสร้อยคอสแตนเลสบ้านหัวกรวด “แท่งทอง สร้อยสแตนเลส” อยู่ที่ หมู่ 2 บ้านหัวกรวด, ถนนท่าไร่-บางแก้ว, ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นาง จินตานา แท่งทอง (ตุ๊ก) อายุ 54 ปี เป็นลูกสาว อดีตผู้ใหญ่ พนม แท่งทอง ผู้ก่อตั้ง กลุ่มผลิตสร้อยคอสแตนเลส ซึ่งปัจจุบันป้าจินตนา เป็นผู้ควบคุมการผลิต และ จัดจำหน่าย ร่วมกับ นาย อนันต์ แท่งทอง (หมึก) น้องชายป้าจินตนา อดีตผู้ใหญ่ พนม เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม อีกมุม หนึ่งของวิถีชีวิต  นอกจากการทำนา ทำสวน ทำไร่ จึงให้ความรู้เกี่ยวกับการทำสร้อยสแตนเลสกับชาวบ้าน เพื่อเป็นอีกหนึ่งอาชีพ หนึ่งช่องทางที่จะได้มีอาชีพเสริม เริ่มก่อตั้งโรงสร้อยนี้ ขึ้นมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2517  ชื่อว่า “แท่งทอง สร้อยสแตนเลส” ซึ่งคำว่า แท่งทอง นั้นมาจากนามสกุลนั่นเอง “แท่งทอง สร้อยสแตนเลส” จำหน่าย สร้อยสแตนเลส และสินค้าเครื่องประดับสแตนเลสทุกชนิด ผ่านมาตรฐานสินค้า OTOP อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิด สร้อยสแตนเลส  ที่มีตำนานเล่าขาน ยาวนานกว่า 48 ปี สินค้าจากโรงงาน ทำกับมือ ราคาขายส่ง (จำนวน คละลาย 50 เส้นขึ้นไป) ตัด-ต่อ สามารถสั่งทำได้ตามต้องการ แบบลายดังเดิม ลาย ห่วงคู่ ลายคอตกริต ลายตระกร้อ ลายฟุตบอล ลายสี่เสา ลายโซ่ ตัด-ต่อใส่ห่วงแขวนพระตามสั่ง 

     2). อาชีพรับเหมาก่อสร้าง รับจ้างรายวัน อยู่ที่ หมู่ 2 บ้านหัวกรวด, ถนนท่าไร่-บางแก้ว, ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นาย ประสาท สุวรรณมาลี (สาท) อายุ 58 ปีเป็นอดีตสมาชิก อบต.บางโตนด หมู่ที่ 2 เคยประกอบอาชีพเป็นภารโรงที่โรงเรียนวัดนางแก้ว ต.นางแก้ว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ปัจจุบันลุงสาท ประกอบอาชีพค้าขายอาหารตามสั่งด้วยกันกับภรรยาที่บ้าน และเป็นสมาชิกอสม.บางโตนดด้วย แต่อาชีพหลักของลุงสาทเขาเป็นรับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นช่างรับเหมาที่มีฝีมือและมีทักษะทางด้านการก่อสร้างที่ดีคนหนึ่งของบางโตนดเลย ลุงสาทมีงานรับเหมาก่อสร้างแทบทุกวัน ทั้งซ่อมแซม ต่อเติม ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง ลุงสาทมีความสามารถทางด้านงานช่างมาตั้งแต่วัยรุ่น มีความถนัดทางด้านศิลปะ ด้านงานฝีมือ เมื่อก่อนทำงานช่างสลับกับทำงานประจำ จนตั้งแต่เลิกเป็นภารโรงก็มาทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างเต็มตัว บ้านที่ผมอาศัยอยู่ทุกวันนี้ลุงสาทก็เป็นคนทำ ลุงเขาจะรับทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ซ่อมแทรม ปูกระเบื้องพื้น ปูกระเบื้องหลังคา ติดฝ้าเพดาน ก่ออิฐ เทปูน ลงเสา ทำโครง เทพื้น ไปจนถึงเปลี่ยนโถส้วม งานจุดเล็กๆน้อยๆก็รับทำ รับทำทุกอย่างที่เป็นงานช่าง งานไม้ งานปูน งานเหล็ก รับทำหมด ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่งที่น้อยคนจะทำเป็น ลุงจะมาเริ่มงานตรงเวลาแต่เช้าประมาณ 8 โมงเช้าทุกวัน และเที่ยง จะเป็นเวลาพัก ลุงจะกลับไปกินข้าวที่บ้านทุกวัน และรีบมาเริ่มงานต่อ จะเลิกงาน 5 โมงเย็น ลุงสาทมีความตรงต่อเวลา อดทนต่องาน ซื่อสัตย์ต่องาน และผู้จ้างงาน ไม่โกง ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำแค่ให้งานเสร็จ แต่จะทำให้งานออกมาดี และใช้งานได้ยาวๆ ไม่แปลกนักที่หลายคนจะเรียกใช้บริการลุงเขา โดยลุงสาทจะรับเหมารายวัน วันละ 500 บาท และค่าวัสดุก่อสร้างผู้จ้างงานจะจ่ายให้ไปจัดซื้อต่างหาก เมื่อก่อนช่างจะรับเหมาเป็นรายวันหมด แต่ปัจจุบันช่าง จะคิดราคาเช่น ปูกระเบื้องพื้น คิดเป็นตารางเมตรละ 180 บาท ติดฝ้าเพดานติดเป็น ตารางเมตรละ 200 บาท เป็นต้น 

     3). ทำไม้กวาด สานไม้กวาด ทางมะพร้าว อยู่ที่ หมู่ 2 บ้านหัวกรวด, ถนนท่าไร่-บางแก้ว, ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นาง ไมตรี เอื้อสมบูรณ์ (แก้ว) อายุ 55 ปี ปัจจุบันมีอาชีพค้าขายอาหาร อยู่ที่ศาลาแดง หมู่ที่ 1 แต่ป้าแก้วมีความรู้ความสามารถในการทำงานฝีมือ ในการทำไม้กวาดทางมะพร้าว และได้ทำไม้กวาดทางมะพร้าวขายเป็นอีกหนึ่งรายได้อีกด้วย ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวอีกทางหนึ่ง  โดยจะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ ได้แก่ ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว และลวด โดย

     1.ไม้ไผ่ ป้าแก้วจะให้สามีตัดมาจากบ้านของป้าแก้วเอง ซึ่งบ้านป้าแก้วมีกอไผ่อยู่แล้ว ไม่ต้องไปรับจ้างตัดจากที่ อื่น เหลาตาไม้ไผ่ และ เหลาเสี้ยนออกให้หมด ตัดไม้ไผ่ความยาว 1-1.5 เมตร โดยประมาณ

     2.ทางมะพร้าว ป้าแก้วจะไปหากับสามีเหมือนกัน จะไปหาตัดตามสวนมะพร้าวต้นเตี้ยในหมู่ 1 หมู่ 2 มะพร้าวต้นเตี้ยเราสามารถตัดได้เอง จะเลือกตัดทางมะพร้าวสดจากต้น ทางมะพร้าวที่เพิ่งร่วงใหม่ๆก็สามารถนำมาใช้ได้ ไปรับซื้อส่วนใหญ่เขาก็จะไม่คิดเงินป้าแก้ว เพราะส่วนใหญ่จะรู้จัก สนิทสนมกัน ป้าแก้วเล่าว่าทางมะพร้าวในหมู่บ้านเราหาง่ายมีเยอะไปหมด บางครั้งป้าแก้วก็จะจ้างให้คนตัดมะพร้าวที่เขาทำเป็นอาชีพอยู่แล้ว ตัดทางมะพร้าวสดให้ โดยเขารับทางละ 3 บาท ป้าจะเหลาก้านใบมะพร้าว นำไปตากแดด 7-10 วัน ไม้กวาดหนึ่งด้ามใช้จำนวนก้านใบมะพร้าวหลายร้อยก้าน ประมาณราวๆ 300 ก้านได้

     3.ตะปู เชือกไนล่อน ลวด ส่วนลวดก็จะซื้อจากร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป ขดละ 120 บาท เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ สามารถสร้างรายได้ได้จากภูมิปัญญาที่ตัวเองมี และไม้กวาดยังสามารถนำไปสร้างความสะอาดให้บ้านเรือนและชุมชนต่อไปได้ ไม้กวาดทางมะพร้าวป้าแก้วขายด้ามละ 120 บาท ใช้ได้เป็นปี ทนทาน ก้านไม้กวาดไม่หลุดง่าย  

     4).วิสาหกิจชุมชนผักคุณภาพวิถีเกษตรแนวใหม่ใส่ใจผู้บริโภค ตำบลบางโตนด อยู่ที่ หมู่ 2 บ้านหัวกรวด, ถนนท่าไร่-บางแก้ว, ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นาย สมพงษ์ สุวรรณมาลี (พงษ์) อายุ 66 ปี ลุงพงษ์อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบางโตนด เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางโตนด เดิมเมื่อยังไม่เกษียณอายุราชการได้ทำอาชีพรับราชการครู   ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี (วิทยาลัยเกษตรเขาเขียว) ปัจจุบันได้ทำสวน ทำเกษตรอยู่ที่บ้าน ตาม แบบชีวิตคนหลังวัยเกษียณ ควบคู่กับทำงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนดด้วย ลุงพงษ์เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักคุณภาพวิถีเกษตรแนวใหม่ใส่ใจผู้บริโภค ตำบลบางโตนด โดยลุงพงษ์เล่าว่า ลุงมีความสนใจด้านการเกษตรมาตั้งแต่เด็กแล้ว ถูกสั่งสอนให้อยู่กับดิน นา สวน ไร่ มาตั้งแต่เล็กๆ อยู่กับคำว่าเกษตรมา  นาน ทั้งสอนเด็กนักเรียน สอนชาวบ้านในชุมชน หรือกระทั่งลงมือทำเกษตรด้วยตัวเอง ปัจจุบัทำกลุ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักคุณภาพวิถีเกษตรแนวใหม่ใส่ใจผู้บริโภคขึ้นมาเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้านคนที่สนใจ   เกษตรกรในชุมชน เอาไปทำในพื้นที่ของตนเองได้ เพราะผู้ที่จะเริ่มทำต้องมีความพร้อมพอสมควร และสร้าง รายได้ให้กับครัวเรือนจากการนำผักไปขายได้ ตอนนี้ตลาดมันเปิดกว้าง เน้นปลูกผักที่ตลาดนิยมบริโภค มีทั้งปลูกแบบโรงเรือนยกสูง และปลูกกับพื้นดินธรรมดาเหมือนปลุกผักสวนครัว ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นผักพื้นบ้าน ผักที่ใช้ทำอาหารประจำ ผักตามฤดูกาล เลือกให้เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราด้วย เช่น ขึ้นฉ่าย ผักชี ผักบุ้ง ผักกินใบอย่างคะน้า ผักกวางตุ้ง  ถ้าจะปลูกผักสลัดก็ต้องดูปลูกในช่วงฤดูหนาวของบ้านเราถึงจะงาม ในสวนมีผักอย่าง ชะอม ตะไคร้ มะนาว กะเพรา พริก เป็นต้น ที่ปลูกครั้งเดียวเก็บทานได้ตลอด เมล็ดพันธุ์ก็หาซื้อได้ง่ายๆ ในท้องตลาด บางครั้งชาวบ้าน เพื่อนๆก็ให้มา หรือจะสั่งซื้อตามอินเทอร์เน็ตก็มี ชนิดไหนเราไม่รู้วิธีปลูก วิธีรักษา เลี้ยงดู ก็ถาม Google เอา 

     โครงสร้างโรงเรือน เริ่มแรกใช้วิธี เสิร์จ Google หาข้อมูล หาความรู้ทั่วไปปกติเกี่ยวกับโรงเรือนยกพื้น เริ่มจากทำกระบะใส่ดินโดยพลาสติกดำ ทำโครงสร้างด้วยท่อแป๊ป หรือโครงเหล็ก ทำหลังคาโค้งด้วยท่อ pvc  ปูด้วยพลาสติกใสที่แสงสามารถผ่านได้ การผสมดินใช้ดินร่วน กาบมะพร้าว ปุ๋ยขี้วัว เศษใบไม้หรือใบก้ามปู รดน้ำหมักชีวะภาพ กากน้ำตาล ผสมทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเอามาใช้ ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยหมักใบไม้แห้งกับน้ำจุลินทรีย์ แช่เมล็ดประมาณ 2 วัน รากจะออก นำมาลงถาดเพาะต้นกล้า 15 วัน และถึงเอาไปปลูกได้ ใช้วิธีรดน้ำผักด้วยสปริงเกอร์ หรือรดด้วยน้ำสายยาง วันละ 2-3 ครั้ง ผักที่ได้จะนำเอาไปจำหน่าย เอาไว้รับประทานเอง และแจกจ่ายให้กับคนที่รู้จักกันได้เอาไปรับประทาน

     5). ทำน้ำเต้าหู้ อยู่ที่ หมู่ 2 บ้านหัวกรวด, ถนนท่าไร่-บางแก้ว, ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นาย สิงห์ สุวรรณมาลี (สิงห์) อายุ 52 ปี เริ่มทำอาชีพขายน้ำเต้าหู้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 กับภรรยา ปัจจุบันก็ขายมา 14 ปีแล้ว ขายอยู่ที่ข้างป้อมตำรวจบ้านธรรมเสน ต.ธรรมเสน ตั้งแต่ประมาณเวลา 04.30-08.30 น. ขายทุกวัน โดยจะขายน้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋ และ โจ๊ก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานตอนเช้า นักเรียน และ คนพื้นที่ที่ผ่านไปผ่านมา หรือเป็นลูกค้าประจำ

     วิธีทำน้ำเต้าหู้ จะใช้ถั่วเหลืองโดยซื้อมาจากตลาด นำมาแช่น้ำ จะใส่ถั่วเหลืองปริมาณเท่าไร ขึ้นอยู่กับความต้องการขายในวันนั้นๆ โดยจะตัดใบเตยใส่เข้าไปกับถั่วเหลืองและแช่น้ำให้ท่วมถั่วเหลือง ที่ตัดใบเตยใส่เข้าไปแช่กับถั่วเหลืองเพื่อให้ความหอมของใบเตยซึมเข้าไปในถั่วเหลือง แช่ไว้ตั้งแต่ 19.00 น. และตื่นมาทำประมาณ 02.00 น. แช่ไว้ประมาณ 7 ชั่วโมง ขั้นตอนต่อไปให้นำถั่วที่แช่น้าไว้ มาใส่ในเครื่องโม่ถั่วเหลือง เพื่อบดเอาน้าถั่วเหลือง ให้ใช้ผ้าบางกรองกากถั่วเหลืองและคั้นน้ำออก ปัจจุบันมีเครื่องโม่ถั่วเหลืองที่กรองกากได้ในตัว     ไม่ต้องใช้ผ้าบางกรองแล้ว เครื่องโม่ถั่วเหลืองเครื่องนี้ที่ใช้อยู่ใช้มาตั้งแต่เริ่มขายเลย ทนมาก ถ้าชำรุดเล็กน้อยก็สามารถซ่อมใช้ต่อได้ หลังจากคั้นน้ำถั่วเหลืองออกมาแล้ว จะจุดเตาถ่าน ตั้งกระทะใหญ่แล้วเอาน้ำถั่วเหลืองที่ได้ ลงมาต้มให้เดือดในกระทะ และจะเอาใบเตยประมาณหนึ่งกำมือมัดใส่กระทะต้มลงไปด้วย พอต้มจนเดือดก็นำใส่หม้อน้ำเต้าหู้สำหรับขาย และไปต้มที่หน้าร้านอีกที ที่เลือกใช้เตาถ่านในการต้มที่บ้านก่อนนำออกไปขายเพื่อน้ำเต้าหู้จะมีกลิ่นพิเศษของความเป็นเตาถ่าน และประหยัดในการใช้แก๊สหุงต้ม น้ำเต้าหู้จะหอมใบเตย  โดยจะใช้น้ำตาลทรายแดงในการเพิ่มความหวาน น้ำเต้าหู้ขายถุงละ 6 บาท ใส่เครื่องถุงละ 10 บาท 

1.6 บริบททางการเมือง 

     การเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การ บริหารส่วนตำบลบางโตนด ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 แบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลออกเป็น จำนวน หมู่ละเขต จำนวน 6 หมู่ 6 เขต เขตละ 1 หน่วยเลือกตั้ง โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนดคนปัจจุบัน คือ นาย สีหเดช ไกรคุปต์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกอบต.สมัยแรก เริ่มดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2565 

นาย สีหเดช ไกรคุปต์ นายกอบต.บางโตนด

2. ข้อมูลสะท้อนคุณลักษณะองค์กร

     องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี แต่เดิมเป็นโรงเรียนวัดบางโตนด อยู่ติดกับวัดบางโตนด ด้านหน้าเป็นแม่นํ้าแม่กลอง และ มีสนามฟุตบอล ตำบลบางโตนด มีรูปแบบการปกครอง เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลครอบคลุมทั้งตำบลจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 6 หมู่บ้าน โดยยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบดูแล จำนวน 6 หมู่ ได้แก่ หมู่ 1 บ้านนํ้าตก  หมู่ 2 บ้านหัวกรวด  หมู่ 3 บ้านดอนมะเดื่อ  หมู่ 4 บ้านบางโตนด  หมู่ 5 บ้านธรรมเสนใหม่  หมู่ 6 บ้านสมถะ

     องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด มีผลคะแนน LPA ( Local Performance Assessment : ประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ) ในปี พ.ศ. 2564 โดยมีคะแนนเฉลี่ยทุกด้านร้อยละ 81.33 ด้านการบริหารจัดการร้อยละ 80.91 ด้านบริหารงานบุคคลและกิจการสภาร้อยละ 92.00 ด้านบริหารการเงินและการคลังร้อยละ 81.05 ด้านบริการสาธารณะร้อยละ 79.44 ด้านธรรมาภิบาลร้อยละ 76.92 

 

2.1 โครงสร้างส่วนราชการ ผู้บริหารและคณะทำงาน

ภาพโครงสร้างส่วนราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด

     ผู้บริหารและคณะทำงาน องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด มีดังนี้

ชื่อ-สกุล ตำแหน่ง
นายสีหเดช ไกรคุปต์ นายก อบต.บางโตนด
นายพิเชษฐ เชื้อสมุทร รองนายก อบต.
นายภิญโญศิลป์ สังวาลวงศ์ รองนายก อบต.
นายอาร์ม เอียดไหน เลขานุการนกยก อบต.
นายศรชัย จีนตุ้ม ประธานสภา อบต.บางโตนด
นายเอกลักษณ์ จูณีนารถ รองประธานสภา อบต.บางโตนด
นายธวัช  ตรีเพ็ชร์ เลขานุการสภา อบต.บางโตนด,ปลัดอบต.
น.ส.สยุมพร  กังเจริญวัฒนา รองปลัด อบต.บางโตนด
นางพนอจิตร์ นาราภิรมย์ หัวหน้าสำนักปลัด
นางอุบล มีมาก ผู้อำนวยการกองคลัง
นายธนกร  หอมหวล ผู้อำนวยการกองช่าง
นางนพดารา  สิทธิวงษ์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา

2.2 วิสัยทัศน์

     “ ประชาชนอยู่ดีมีสุข ชุมชนสมานฉันท์ ยึดมั่นเศรษฐกิจพอเพียง ”

     พันธกิจ

     1. ปรับปรุงและพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธารณูปโภค ด้านแหล่งน้ำให้ได้มาตรฐานและพอเพียงต่อความต้องการของประชาชน

     2. ส่งเสริมสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจพอเพียง

     3. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคนและเสริมสร้างสังคมเข้มแข็ง

     4. ปรับปรุงและพัฒนาด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

     5. จัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

     6. ปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารจัดการและการเมือง

     ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด 

     เพื่อให้การพัฒนาของชุมชนในเขตพื้นที่ตำบลบางโตนด ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่าง ต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ ประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตามบทบาทอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดราชบุรีและยุทธศาสตร์การพัฒนา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดราชบุรี จึงกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาของ องค์การบริหารส่วน ตำบลบางโตนด ออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 

1) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน  

2) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

3) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  

4) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต สังคม การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  

5) ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาด้านการบริการสาธารณสุขและการกีฬา  

6) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาด้านการบริหารจัดการที่ดี 

     เป้าประสงค์  

     ตำบลบางโตนด มุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดเป้าประสงค์เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ บรรลุตามพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่กำหนด ดังนี้

     1. พัฒนาศักยภาพและลักษณะทางกายภาพ การปรับปรุงพื้นที่และการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อันเป็นการส่งเสริมความสะดวกในการอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ

     2. ประชาชนในตำบลบางโตนดมีจิตสำนึกที่ดีในการดูแลและเสริมสร้างพลังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

     3. พัฒนาเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ ให้ดำเนินไปด้วยความเข้มแข็งมั่นคง เพื่อสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพสินค้าและการบริหารจัดการตลาดที่ดี

     4. ประชาชนในท้องถิ่นมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารการศึกษาสวัสดิการสังคม อนุรักษ์ ฟื้นฟู ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น

     5. ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความรู้และได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

     6. การบริหารหมู่บ้าน/ชุมชนและการบริหารองค์กรโดยยึดหลักการธรรมาภิบาล ประชาชนมีความรู้เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประชาธิปไตยและมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

2.3 ภาพรวมของสภาพปัญหาของพื้นที่

      ด้านสังคม 

     - ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ มีจำนวนมาก

     ด้านบริการสาธารณะ

     - ปัญหาน้ำประปาไหลเบา และ มีน้ำแดง

     - ปัญหาไฟส่องสว่างริมถนนภายในหมู่บ้านมีไม่ทั่วถึง 

     ด้านเศรษฐกิจ

     - ปัญหาด้านการค้าขายสินค้า เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

                                                                        

                                                                            บรรณานุกรม

องค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด. (2564). ข้อมูลพื้นฐานองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด. สืบค้นเมื่อ                    3 เมษายน 2565 จากเว็บไซต์ http://www.bangtanod.go.th/site/

 

หมายเลขบันทึก: 700645เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2022 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2022 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท