ประสบการณ์การพัฒนา “เมืองกระทัดรัด” ของเทศบาลนครโทยามะในประเทศญี่ปุ่น (Toyama’s Compact City Development)


ประสบการณ์การพัฒนา “เมืองกระทัดรัด” ของเทศบาลนครโทยามะในประเทศญี่ปุ่น (Toyama’s Compact City Development)

โดย สุริยานนท์ พลสิม อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น

ที่มาภาพ : https://panorama.solutions/en/solution/transformation-compact-city-through-light-rail-transit

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ นั่นคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดของประชากรที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เทศบาลนครโทยามะ (Toyama City) ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ประสบกับเหล่านี้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะพื้นที่ของเมืองโทยามะ (Toyama City) เป็นเมืองที่มีอาณาบริเวณที่กว้างขวางหรือใหญ่กว่าเมืองอื่น ๆ ดังนั้น ในอดีตที่ผ่านมาจึงทำให้การสร้างบ้านเรือนหรือชุมชนในแต่ละแห่งนั้น กระจัดกระจายกันออกไป (sprawl) ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็คือ เมื่อมีการสร้างชุมชนแล้วย่อมนำมาสู่การสร้างถนนหนทางเพื่อใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างชุมชนเป็นจำนวนหลายเส้นทาง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ในกรณีของประเทศไทยคงไม่น่ากังวลมากนัก กลับถือเป็นเรื่องที่ดีเมื่อมีการสร้างถนนหนทางที่สะดวกสบายแลเพื่อใช้คมนาคมภายในพื้นที่ แต่ในกรณีของเทศบาลนครโทยามะ (Toyama City) ไม่ได้มองเช่นนั้น เนื่องจากมีประชากรสูงวัยเป็นจำนวนมากและประชากรที่ “กำลัง” จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น เทศบาลนครโทยามะ (Toyama City) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มผู้สูงอายุในด้านการเดินทางโดยใช้ “รถยนต์” สำหรับการสัญจรภายในพื้นที่ อันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากการสร้างถนนหนทางจำนวนมากและการตั้งบ้านเรือนแบบกระจัดกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของเขตเทศบาล ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดต้นทุนทางการบริหารจัดการเมืองของเทศบาลที่เพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการขยะ งานด้านสาธารณูปโภค ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้านต่าง ๆ เป็นต้น การมีถนนหนทางเกินความจำเป็นยังก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายแก่ผู้สูงอายุและประชากรที่ไม่ได้มีรถยนต์ใช้เป็นของตัวเองด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง เทศบาลนครโทยามะ (Toyama City) จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการคมนาคมภายในพื้นที่ รวมถึงปัญหาในการวางผังเมืองที่บ้านเรือนต่าง ๆ อยู่กันแบบกระจายตัว ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูงอายุทั้งในปัจจุบันและอนาคต เทศบาลนครโทยามะ (Toyama City) จึงได้จัดทำโครงการยุทธศาสตร์การปฏิรูปผังเมืองและระบบการขนส่งของเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาเทศบาลนครโทยามะให้เป็น “เมืองกะทัดรัด (compact city)” ขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1. เพื่อจัดการกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการลดลงของจำนวนประชากร 2. สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและประชาชนภายในเขตเทศบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

 

โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อการพัฒนาและสร้างเมืองที่มีความกระทัด (compact city) โดยการพัฒนาผังเมืองและระบบการขนส่งภายในพื้นที่และชุมชนต่าง ๆ ให้มีความสะดวก และการเดินทางเชื่อมต่อกันของเมืองมีความกระชับ ลดระดับการกระจายตัวของบ้านเรือนในชุมชนต่าง ๆ พัฒนาระบบการเดินทางเพื่อให้ประชาชนสามารถมีตัวเลือกในการเดินทางได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงมีเป้าหมายเพื่อวางระบบการขนส่งและการเดินทางในชุมชนต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันเป็นผลมาจากสังคมผู้สูงอายุและจำนวนประชากรที่ลดลง

 

การดำเนินงาน

การดำเนินงานหลักในยุทธศาสตร์การปฏิรูปผังเมืองและระบบการขนส่งของเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างเทศบาลนครโทยามะให้เป็น “เมืองกะทัดรัด” (compact city) นี้ ประกอบด้วย โครงการหลัก 3 โครงการ ได้แก่ 1. การปฏิรูประบบการขนส่งสาธารณะของเมือง 2. สนับสนุนให้ประชาชนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่เทศบาลได้จัดสรรไว้ให้ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีขนส่งหรือใกล้เคียงกับเส้นทางการขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น และ 3. การปฏิรูปพื้นที่ศูนย์กลางหรือใจกลางของเมือง (city center) โดยรายละเอียดแต่ละโครงการมีดังต่อไปนี้

1. การปฏิรูประบบการขนส่งสาธารณะของเมือง นั้น มีโครงการที่เทศบาลโทยามะได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 2 โครงการ และอีก 1 โครงการกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบรถไฟรางเบาเข้าเข้ามาใช้ภายในเขตเทศบาลโทยามะ (Toyama Light Rail Transit) ในปี 2006 และ 2. การพัฒนาระบบรถไฟรางเดี่ยวใช้ภายในเมืองและขยายเส้นทางรถไฟที่มีอยู่ให้ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมโยงเส้นทางไปทุกชุมชน ในปี 2009 ส่วนโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่นั้น คือ โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางเดี่ยวจากชุมชนในเขตทิศเหนือเชื่อมโยงเส้นทางไปยังชุมชนในเขตทิศใต้ของเมือง ซึ่งเส้นทางที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ถูกยกระดับการจัดการระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการบริหารจัดการรถไฟชิงคังเซน

2. สนับสนุนให้ประชาชนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่เทศบาลได้จัดสรรไว้ให้ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีขนส่งหรือใกล้เคียงกับเส้นทางการขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็คือ เขตศูนย์กลางหรือใจกลางของเมือง (city center) และบริเวณตามแนวเส้นทางการคมนาคม เช่น เส้นทางการเดินรถขนส่งสาธารณะ รถบัส หรือสถานีรถไฟในพื้นที่ โดยเทศบาลจะให้เงินอุดหนุนและเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งแก่ประชาชนทุกคนที่ต้องการสร้างบ้านหรือใช้สำหรับการซื้อบ้านในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งพื้นที่ศูนย์กลางหรือใจกลางของเมืองก็เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความต้องการเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสะดวกสบายในการเดินทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต และมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้น นโยบายสำคัญที่เทศบาลใช้ในการดึงดูดคนให้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ใจกลางเมืองก็คือการให้เงินช่วยเหลือหรือเงินสนับสนุนในการสร้างบ้านหรือซื้อบ้านนั่นเอง

3. การปฏิรูปพื้นที่ศูนย์กลางหรือใจกลางของเมือง (city center) โดยพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจหรือเขตเศรษฐกิจการค้าภายในบริเวณศูนย์กลางของเมืองโทยามะ ซึ่งในปี 2007 ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอาคาร Gland Plaza ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าหลักตั้งอยู่ใจกลางเขตเศรษฐกิจของเมืองซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารเก่าและหลังคาแบบปิดมิดชิดเปลี่ยนมาเป็นแบบกระจกเปิดโล่งทั้งหมดและพัฒนาให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2007 ปัจจุบัน Gland Plaza เป็นอาคารกระจกขนาดใหญ่และมีความทันสมัยสำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในเขตศูนย์กลางของเมือง รวมถึงยังมีโครงการปรับภูมิทัศน์ภายในเขตใจกลางของเมืองให้มีความสวยงามเอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ เทศบาลนครโทยามะยังได้จัดกิจกรรมหรือมหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุในท้องถิ่นเพื่อให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและเยี่ยมชมกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในบริเวณศูนย์กลางหรือใจกลางของเมืองโทยามะ (city center) อยู่เป็นประจำด้วย

ที่มาภาพ : Council of Local Authorities for International Relations (2016)

ความสำเร็จ/ผลที่เกิดขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการเริ่มดำเนินนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ทั้ง 3 โครงการ อัตราการย้ายที่อยู่อาศัยหรือการตั้งบ้านเรือนภายนอกเขตใจกลางหรือศูนย์กลางของเมืองนั้น มีอัตราการย้ายที่อยู่ไปอยู่นอกเขตเมืองมากกว่าอัตราการย้ายเข้ามาอยู่ในเขตใจกลางเมือง แต่นับจากเริ่มโครงการในปี 2008 เป็นต้นมา อัตราการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมืองมีเพิ่มสูงขึ้นและมากกว่าอัตราการย้ายออกไปอยู่นอกเขตเมือง เช่นเดียวกับเขตพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสถานีขนส่งสาธารณะหรือตามเส้นทางการคมนาก็มีอัตราการย้ายหรือสร้างบ้านพักของประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น อัตราการใช้รถขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ปี 2007 มีผลทำให้อัตราการใช้รถยนต์ภายในเขตเทศบาลลดลงเพราะประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น มีอัตราการลงทุนของภาคเอกชนในท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนนักเรียนที่เข้ามาเรียนในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นด้วย

 

แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

เว็บไซต์โครงการ : http://www.city.toyama.toyama.jp/english/English.html (ภาษาอังกฤษ)


 

หมายเลขบันทึก: 700371เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2022 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2022 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท