สมาธิศึกษา: แผ่ซ่านไม่ใช่ฟุ้งซ่าน


เพราะเป็นคนอ่านตามตัวหนังสือไม่ได้เรียนผ่านปฏิบัติการ สิ่งต่างๆที่ข้อความระบุจึงกลายเป็น “คืออะไร" “คืออย่างไร” ที่เป็นคำถามจากข้อสงสัยผ่านการบอกกล่าวของตัวหนังสือ

การหาเวลาบางช่วงของชีวิตประจำวันเท่าที่จะหาช่องว่างได้ เช่น ก่อนเวลาทำงานประจำ การตื่นนอนในสถานการณ์ไม่ปกติ เป็นต้น แล้วมาฝึกฝนตามที่เคยถูกบังคับให้ปฏิบัติ การอ่านผ่านการแปล และการอ่าน/ฟังจากผู้ผ่านการพัฒนาจิต แน่นอนว่า ผลที่ออกมาจะไม่เท่ากับผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ไม่หยุด/ปฏิบัติการไม่หยุด ความเร็วในการเดินสู่เป้าหมายของคนที่เดินไม่หยุดกับคนที่เดินไป ทอดน่องไป พักชมไม้ดอกข้างทางไป จะไม่เท่ากัน แม้ว่าเป้าหมายของการเรียนวิชาพัฒนาจิตแบบนี้จะไม่ใช่เป้าหมายที่เหมือนเป้าหมายของกิจกรรมแบบอื่น เป้าหมายของวิชาพัฒนาจิตคืออยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่สวรรค์หรือวิมานตามเรื่องเล่าบนหน้าหนังสือ

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19รอบล่าสุด รอบข้างต่างติดเชื้อกัน ล่าสุดเมื่อวานซืนพบเชื้อโควิด ๑ ราย รวมเป็น รายที่ ๕ ของบ้าน เหลืออีก ๒ รายที่ต้องลุ้นและต้องระมัดระวัง

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องกักเก็บตัวทั้งที่ไม่พบการติดเชื้อ และได้โอกาสนอนแยกห้องจากภาวะเสี่ยงของคนใกล้ตัวที่ต้องดูแลคนไข้ติดเชื้อในบางวัน สถานการณ์การแพร่ระบาดรอบแรกเราไม่ได้ระมัดระวังขนาดนี้ แต่รอบล่าสุดพบว่าติดง่ายเกินไป ผนวกกับความเอาใจใส่ต่อผู้ติดเชื้อที่ไม่เหมือนเดิม และค่านิยมที่มีต่อผู้ติดเชื้อถูกลดขนาดความน่ากลัวลง กลายเป็นใครๆเขาก็ติดเชื้อกันทั้งนั้น ดังนั้น ใครที่ยังไม่ติดเชื้อควรกักเก็บตัว

การได้นอนแยกห้องคนเดียว จากการระมัดระวังการติดเชื้อเปิดโอกาสให้การเรียนรู้ด้านจิตมีอิสระมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะมองว่าเราเป็นคนดี เพราะเราสามารถแอบฝึกฝนได้  แม้อากาศจะร้อน ต้องนอนถอดเสื้อ แต่ถ้าเคยผ่านความอบอ้าวที่มากกว่านี้ ความอบอ้าวใหม่ที่เข้ามากระทบก็เป็นเพียงลูกน้อยของความอบอ้าวก่อนนั้น นอกจากนั้น เราจะตื่นเวลาไหนก็ได้ ปฏิบัติการเวลาไหนก็ได้ ก่อนนอนก็ได้ ตื่นนอนก็ได้ ๑๐ นาทีก็ได้ ๒ ชั่วโมงก็ได้ โดยไม่ต้องเกรงใจคนที่นอนร่วมห้องเพราะนอนคนเดียว

การปฏิบัติการพัฒนาจิตของหลายวันที่ผ่านมา เป็นไปด้วยดี แต่เมื่อมีกิจกรรมอื่นๆแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวัน ทำให้จิตใจไม่ปกติ บางคืนนั่งเรียนรู้จิตได้ไม่ถึง ๑๐ นาที ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนอน นอนได้ไม่ถึง ๑๐ นาทีก็ต้องเปลี่ยนเป็นนั่ง นั่งได้หน่อยหนึ่งก็สัปหงกทั้งที่ตื่น ประมาณว่าวูบไปชั่ววินาทีแล้วตื่น อันแสดงถึงความเผลอตัว (ประมาท) หมายถึง ทันทีที่เผลอตัวจะวืบ อยู่กับลักษณะแบบนี้มา ๔-๕ วันเฉพาะในช่วงดูแลจิต ทำให้ความไม่พอใจเกิดขึ้นในจิต

เมื่อวานนั่งฟังหลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ วัดถ้ำขวัญเมืองถึงกรณีการฝึกอบรมจิต ฟังหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวันถึงกรณีการบริกรรมภาวนา และอ่านงานเรื่องอานาปานสติเฉพาะการกำหนดลมหายใจยาว-สั้นและลมหายใจทั้งปวงของพุทธทาสภิกขุ เพื่อหาทางแก้ปัญหาของตนเองเกี่ยวกับ ความไม่ได้ผลจากการดูแลจิตของตนเอง มีความรู้ใหม่ดังนี้ (๑) สติคือความระลึกได้ ใช้สำหรับเหนี่ยวนำจิตกับสิ่งที่กำหนดให้จิตจับไว้ (๒) ความรู้สึกตัว (สัมปชัญญะ) ใช้สำหรับการรับรู้กายทั้งหมด สองสิ่งนี้ในหมวดธรรมเรียกว่า "ธรรมมีอุปการะมาก" (๓) หลวงพ่อสรวงใช้ภาวนามูลกรรมฐาน (ตจปัญจกกรรมฐาน) หลวงพ่อพุธ ใช้ภาวนาพุทโธ และไม่ปฏิเสธการบริกรรมอื่นๆแม้แต่ชื่อคนที่เรารัก ส่วนหลวงพ่อพุทธทาสกำหนดลมหายใจที่สัมพันธ์กับกาย เวทนา จิต และธรรม 

สติดูจิตสัมปชัญญะดูกายได้จากหลวงพ่อสรวง บริกรรมภาวนาได้จากหลวงพ่อพุธ และได้แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนความสนใจของจิตจากข้อความในหนังสืออานาปานสติภาวนาของหลวงพ่อพุททาส ข้อความนี้คือ “…ส่วนเรื่องจิตนั้น หมายความว่าเมื่อก่อนนี้ สาละวันอยู่กับโลกิยารมณ์ต่างๆ เดี๋ยวนี้ถูกพรากหรือถูกเปลี่ยนมาให้เป็นจิตที่ติดอยู่กับลมหายใจ ด้วยเครื่องผูกคือสติ ไม่ให้เป็นจิตที่ไปคลุกคลีอยู่กับโลกิยารมณ์ดังเช่นเคย สำหรับสตินั้น หมายถึงเจตสิกธรรมซึ่งเป็นสมบัติของจิตอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติทั้งหลายของจิต เจตสิกธรรมข้อนี้เป็นฝ่ายกุศล ทำหน้าที่ยกจิตขึ้น หรือดึงจิตมาผูกไว้กับลมหายใจในที่นี้เป็นรูปธรรมบริสุทธิ์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งอกุศล จิตจึงพ้นจากความเป็นอกุศลมาสู่ความเป็นกุศล ด้วยอำนาจแห่งเจตสิกธรรม อันมีชื่อว่าสติ…”และข้อความอื่นๆ
 

จากข้อความนั้น แปลเอาเองว่า 

คุณสมบัติของจิต (เจตสิก=ธรรมที่ต้องอาศัยจิตจึงจะเกิดขึ้นได้) มีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ สติ 
สติ เป็นคุณสมบัติฝ่ายดี (กุศล) มีหน้าที่ยกระดับจิตออกจากสิ่งไม่ดีที่สะสมอยู่ในจิต (กิเลส/อาสวะ) ไปสู่สิ่งดีงาม หรือจากอกุศลไปสู่กุศล
ลมหายใจคืออุปกรณ์หนึ่งใน ๔๐ อย่างสำหรับให้สติใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับจิตหรือการชวนจิตที่มักจะวิ่งไปดื่มด่ำตามอารมณ์ที่ชอบ (โลกิยารมณ์) ให้ไปอยู่กับอุปกรณ์ที่ปลอดจากความชอบหรือไม่ชอบ
ดังนั้น การฝึกจิตแบบนี้จะคือ ความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจ สติ และจิต โดยเทียบได้กับ ลมหายใจคือหลัก สติคือเชือก จิตคือลิง
เมื่อฝึกบ่อยเข้า ฝึกเรื่อย ไม่หยุด ความสดชื่นจะปรากฏ
 

เมื่อคืนตื่นเวลา ๐๒.๒๐ น. ไม่รอช้าขาขวาทับขาซ้าย ประสานมือวางบนขา นั่งกายตรง ทำใจให้ว่าง เริ่มจาก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ  ใน ๒ แบบคือ แบบบริกรรมภาวนาอย่างที่หลวงพ่อพุธบอกและแบบรับรู้ตามจริง และใช้สัมปชัญญะแบบที่หลวงพ่อพุทธทาสบอกคือ “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” ที่เป็นเรื่องกายอย่างที่หลวงพ่อสรวงบอก ส่วนสติจะเป็นการระลึกรู้ภายใน เช่น สิ่งต่างๆที่เกิดกับใจอย่างความเบื่อ ความร่าเริง เป็นต้น สักพักใหญ่มีการวูบวาบตามตัว ทันทีที่มี “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” จะไม่มีอาการวูบ/วืบที่เป็นปัญหาอย่างก่อนนั้น แต่ถ้าไม่รู้ตัวทั่วพร้อม อาการวูบ/วืบจะเข้ามาทันที ถ้าความรู้ตัวทั่วพร้อมไม่สมบูรณ์ อาการวูบ/วืบจะมีอย่างแตกต่างกัน คล้ายกับการคานอำนาจกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งอ่อน อีกฝ่ายจะมีพลัง ถ้าฝ่ายหนึ่งมีพลัง อีกฝ่ายจะอ่อน 

ระยะหนึ่งรับรู้ว่าน้ำหนักลงที่สะโพกมาก และมีความคิดมาก่อนนั้นว่า ถ้าวันหนึ่งต้องนอนเป็นคนไข้ติดเตียงเราจะทำอย่างไร วิชาพัฒนา/ดูแลจิตน่าจะมีประโยชน์กับการนอนติดเตียง การฝึกฝนไว้ก่อนน่าจะเป็นการดี ดังนั้น จึงเปลี่ยนจากการนั่งเป็นการนอนหงาย โดยมือประสานบนหน้าท้องเพื่อการรับรู้การพองขึ้นและยุบลงของผนังท้องได้ง่าย ระยะหนึ่งมีอาการวืบ/วืด เห็นท่าไม่ดีจึงเปลี่ยนเป็นนอนตะแคงซ้ายบนเตียงไม้ปูด้วยผ้า จากนั้นใช้สติดูจิตและใช้ความรู้ตัวทั่วพร้อมรับรู้กายทั้งปวง เมื่อเห็นกายชัดพักหนึ่ง มีอาการ คล้าย “เหน็บชา” จับแผ่ไปทั่วทั้งร่างกาย แต่ไม่ใช่เหน็บชา เพราะถ้าเป็นเหน็บชาจะมีความทรมาน แต่เหน็บชานี้ไม่รู้สึกทรมาน เป็นอาการยุบยิบไปทั่วร่างกายตลอดปลายผมไปถึงฝ่าเท้า มีความรู้สึกผ่อนคลายสบาย น่าจะประมาณ นาทีกว่า (ไม่ได้คิดเรื่องกี่นาทีเพราะรับรู้กายและจิตอย่างเห็นชัดอยู่) เมื่ออาการนี้ค่อยๆคลายไป ความสงสัยเกิดขึ้นว่าคืออะไร ความสมบูรณ์ของสติและความรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) จึงถูกกระทบและเปลี่ยนสภาพ จึงพลิกตัวมานอนหงายท่าเดิมอีกครั้งและลุกขึ้นมานั่งกำหนดยุบ-พองของผนังท้อง แต่เห็นไม่ชัด น่าจะเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของสติและความรู้ตัวทั่วพร้อมนั้น


๐๘.๐๐ น. ค้นหาว่าอาการมดไต่ที่ไม่ทรมานนั้นคืออะไร และเข้าใจว่าน่าจะเป็นปีติตามคัมภีร์ว่าหรือไม่ พบว่า ปีติมีอยู่ ๕ อย่างคือ (๑) ปีติเล็กน้อยแค่ขนลุกขนชัน (ขุททกาปีติ) (๒) ปีตีชั่วขณะ เหมือนสายฟ้าแลบแปลบปลาบ (ขณิกาปีติ) (๓) ปีติแอบอิ่มเอิบ เช่นการโคลงของร่างกาย (โอกกันติกาปีติ) (๔)  ปีติแบบโลดโผน (อุพเพงคาปีติ) และ (๕) ปีติแบบแผ่ซ่าน (ผรณาปีติ) มีความอิ่มเอิบแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย


เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนคือปีติแบบแผ่ซ่าน แต่ก็ไม่แน่ใจอาจต้องไปถามท่านผู้รู้อีกคราว แต่รู้แล้วจะดีอย่างไร? ไม่มีคำตอบให้ สิ่งที่ต้องทำต่อคือ อะไรจะเกิดก็เกิด รับรู้ไปตามนั้น ครูบาอาจารย์สอนไม่ให้หลงไม่ให้ยึดติดกับสิ่งที่เกิด อย่างปีติเหล่านี้เป็นเพียงฝุ่น หรือกำลังใจเล็กๆให้เดินทางสายดูแลจิตกันต่อไปเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งวิเศษ อย่างไรก็ตาม พบว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้อยากเรียนรู้ในการฝึกอบรมจิตต่อไปและอยากให้ถึงเวลาค่ำเร็วๆ 

๒๕๖๕๐๓๓๑
๐๙.๑๔

 

หมายเลขบันทึก: 700242เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2022 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2022 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท