การทุจริตจัดสอบท้องถิ่นกับการฟอกเงิน


การทุจริตจัดสอบท้องถิ่นกับการฟอกเงิน

11 มีนาคม 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ความเป็นมาของการสอบแข่งเข้ารับราชการส่วนท้องถิ่น

 

คำพังเพยว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพญาเลี้ยง”[2] หมายถึงอาชีพทางค้าขายสู้รับราชการไม่ได้ เพราะเป็นพ่อค้าย่อมมีวันขาดทุน แต่ถ้ารับราชการก็มีเจ้านายชุบเลี้ยง มีชื่อเสียง และเงินทอง ไม่มีทางขาดทุน จึงเป็นธรรมเนียมของคนไทยที่นิยมรับราชการ เป็นที่ใฝ่ฝันของลูกชาวไร่ชาวนา เพราะมีเงินเดือนกิน และมีสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปไม่มี เช่น สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลแก่คู่สมรส บุตร บิดา มารดา เป็นต้น 

อาชีพข้าราชการอาชีพยอดฮิตของคนบ้านนอกที่จะกล่าวไม่พ้นในตำแหน่ง ทหาร ตำรวจ ครู หรือข้าราชการอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น หมออนามัย จะไม่ขอกล่าวในตำแหน่งข้าราชการเฉพาะอื่นๆ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นงานราชการประเภทหนึ่ง เช่น การไฟฟ้า การประปา การรถไฟ เป็นต้น

เมื่อระบบข้าราชการพลเรือนเป็นระบบ PC (จำแนกตำแหน่ง) ตั้งแต่ปี 2518[3] เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีการเปิดสอบแข่งขันบุคคลทั่วไปจากทั่วประเทศ เพื่อบรรจุเข้ารับราชการ สมัยก่อนไปสอบที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนข้าราชการครูประถมศึกษาที่สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ตั้งแต่หลังปี 2523[4] ต่างแยกย้ายกันไปสอบแข่งขันตามจังหวัดต่างๆ หรือ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) ที่เป็นเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัด ส่วนตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเล็กๆ เจ้าหน้าที่ระดับ 1 ก.พ.มอบให้จังหวัดดำเนินการสอบ เช่น เจ้าหน้าที่ปกรอง 1 กรมการปกครอง เป็นต้น

สำหรับสายข้าราชการทหารตำรวจนั้น เริ่มต้นจากการสอบเข้าเรียนโรงเรียนทหารต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนนายสิบ โรงเรียนจ่าทหารเรือ โรงเรียนจ่าอากาศ หรือ โรงเรียนเตรียมทหาร รวมถึงพยาบาลเทคนิค ผู้ช่วยพยาบาล(หญิง) หรือ เจ้าพนักงานสาธารณสุข/พนักงานอนามัย (ทั้งชาย/หญิง) ซึ่งสมัยก่อนส่วนใหญ่เฉพาะเพศหญิงจะคล้ายกับโรงเรียนทหาร(ชาย) ส่วนข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดสอบแข่งขันพลตำรวจตามตำรวจภูธรภาค (9 ภาค) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 9 ภาค และตำรวจนครบาล (กทม.)

 

จุดเริ่มของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น

จากความคิดอยากเป็นเจ้าคนนายคน ทำให้ลูกชาวไร่ชาวนาเมื่อเรียนจบการศึกษาถึงระดับที่รับราชการได้ ก็จะพากันไปสอบเข้ารับราชการกันหมด แม้แต่จบการศึกษาสูงระดับ อนุปริญญา ปริญญาตรี ก็ยังต้องมาสมัครสอบเข้ารับราชการ โอกาสที่ไปไปทำงานส่วนตัว หรือทำงานภาคเอกชนน้อย เฉพาะผู้ที่จบทางด้านธุรกิจเท่านั้น 

การแข่งขันเข้ารับราชการเริ่มบูมมากในช่วงหลังปี 2537 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการยกฐานะสุขาภิบาล จำนวน 981 แห่ง เป็นเทศบาล เมื่อ 25 พฤษภาคม 2542[5] และมีการยกฐานะสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช่วงปี 2540-2542 ทำให้มีการเปิดสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ พนักงานส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นจำนวนมากขึ้น เป็นหลักหมื่นๆ คน[6]

 

การบรรจุแต่งตั้งข้าราชการสามทหารเสือ อบต.

 

จากภาพรวมการแข่งขันการเข้ารับราชการดังกล่าว จึงมีการแข่งขันการเข้ารับราชการท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกๆ การบรรจุแต่งตั้งสามทหารเสือ อบต.(ปลัด คลัง ช่าง) เป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงปี 2540-2542[7] วุฒิอนุปริญญาตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง และหัวหน้าส่วนโยธา(ช่าง) วุฒิปริญญาตำแหน่งปลัด อบต. แม้ว่าจะมีส่วนน้อยที่มีการรับโอนข้าราชการอื่นบ้าง แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอบแข่งขัน ทั้งสอบแข่งขันจากบัญชีปลัดอำเภอ หรือบัญชีปลัด อบต. เล่าว่า ข้าราชการทหารเรือที่มีวุฒิปริญญาตรี มาสอบแข่งขันตำแหน่งปลัด อบต. (เรียกตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 3”) ได้เป็นจำนวนมาก แต่ขั้นตอนการรับโอนจากข้าราชการทหารไม่อาจดำเนินการได้ตามปกติ เพราะ ล่าช้า ส่วนใหญ่ข้าราชการทหารเหล่านี้จะลาออกจากราชการเพื่อรับเบี้ยหวัดบำนาญ(ทหาร) เนื่องจากขอโอนเข้ารับราชการส่วนท้องถิ่นไม่ได้ ซึ่งข้าราชการทหารหลายรายรับเบี้ยหวัดบำนาญ และรับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ) เกินสิทธิ ไม่ถูกต้อง เป็นที่มาของกรมบัญชีกลาง (โดยกระทรวงกลาโหม) ฟ้องเรียกคืนเงินเบี้ยหวัดทหาร[8] เพราะเป็นการเบิกซ้ำซ้อน ใช้สิทธิรับเงินหลายทาง ซ้ำกับตำแหน่งปลัด อบต. เป็นเงินจำนวนมาก และมีจำนวนมากกว่าร้อยราย

 

การสอบแข่งขันข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น

 

จากสภาพการเพิ่มอัตราตำแหน่งของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมากดังกล่าว ก่อนปี 2545 มีการสอบแข่งขันบุคคลทั่วไปเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นขึ้นหลายครั้งหลายรอบ โดยส่วนกลาง คือ สำนักงาน ก.ท. โดยกรมการปกครอง ต่อมามีการแยกกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2545[9] 

ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกลางบริหารงานบุคคลหลักของท้องถิ่นครบเรียบร้อย ทุกจังหวัดในประมาณปี 2546 คือ “คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด” หรือที่เรียกย่อว่า “ก จังหวัด” [10] แยกเป็น 3 ประเภท คือ (1) คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ก.จ.จ. (2) คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด หรือ ก.ท.จ. (3) คณะกรรมการพนักงานตำบลจังหวัด หรือ ก.อบต.จ. ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาถึงสมัย คสช.ตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560[11] ได้ยึดอำนาจการบริหารงานบุคคลโดยเฉพาะการสอบแข่งขันและการคัดเลือก/สอบคัดเลือกมาไว้ที่ส่วนกลาง โดย กสถ. หรือ ก กลาง แต่มิได้ตัดขาดอำนาจของ ก จังหวัดแต่อย่างใด อำนาจในการแต่งตั้งยังเป็นของ ก จังหวัด การเยียวยาในการบรรจุแต่งตั้ง อนุ กสถ. ไม่มีอำนาจ ก กลางก็ไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ที่ ก จังหวัด ตาม พ.ร.บ.บุคคล 2542 มาตรา 15[12]

 

การทุจริตสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการมีการฟอกเงินหรือไม่

 

ในการสอบบุคคลเข้ารับราชการมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่วงการข้าราชการเข้าใจกันดี แต่ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจ คือ (1) การสอบเข้ารับราชการครั้งแรก เรียกว่า “การสอบแข่งขัน” [13] โดยเปิดรับสมัครสอบจากบุคคลทั่วไปทุกคนที่มีคุณสมบัติสอบ (2) “การสอบเลื่อนระดับตำแหน่งของข้าราชการ” เป็นการสอบเพื่อเลื่อนชั้นระดับตำแหน่งให้สูงขึ้นของข้าราชการที่มีเดิมพันเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น ปกติมี 2 วิธีหลักคือ (2.1) “การคัดเลือก” [14] ในสายงานนั้นเพื่อให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น (2.2) “การสอบคัดเลือก”[15] จากต่างสายงานนั้นเพื่อให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามหลักคุณธรรม (Merit) เพื่อความเติบโตก้าวหน้าในสายงานอาชีพราชการ (Career Path) 

การสอบแข่งขัน หรือการสอบเลื่อนระดับตำแหน่ง อาจมีการผิดเพี้ยน (Spoil) ในผลของการสรรหา การคัดเลือกคน (Recruitment/Selection) [16] เช่น มีคนทำเสีย พาลดึงคนที่ทำดีเสียไปด้วย มีเทคนิคสารพัดของความผิดผิดเพี้ยนในกระบวนการบริหารงานบุคคล (Personnel/Human Resource Management) [17] ที่ไม่นับรวมการใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patronage) หนึ่งในนั้นคือ “การทุจริตการสอบ ด้วยการรับเงินสินจ้างรางวัล” ที่มีการเรียกรับเงิน หรือการเสนอเงินเพื่อให้ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ด้วยเม็ดเงินที่สูง แน่นอนว่าสนามแข่งขันใดที่มีการแข่งขันสูง เพราะมีตำแหน่งที่จะได้รับการแต่งตั้งน้อย หรือ การเลือนชั้นที่ต้องอาศัยทักษะความรู้ เมื่อไม่มีกรอบอัตราว่างรองรับ แต่การคัดเลือกก็ยาก จึงมีการแข่งขันกัน “วิ่งเต้น” จ่ายเงินได้ ซึ่งเม็ดเงินที่หมุนสะพัดอาจเป็นร้อยล้าน โดยเฉพาะการสอบแข่งขันท้องถิ่นในระยะแรกๆ

ที่จริงสอบพลเรือน ครู ตำรวจ ทหาร พยาบาล ก็มีการวิ่งเต้นจ่ายเงินเช่นกัน แต่เป็นในวงการเฉพาะที่อาจเป็นเรื่องของเด็กเส้น ที่มีพ่อแม่ ญาติรับราชการในด้านนั้นๆ อยู่แล้ว ทำให้ไม่เห็นความเข้มข้นของการทุจริตได้ง่าย เช่นกันมันมีมานมนาน จนเป็นเรื่องปกติ ที่จับไม่ได้ เพราะความลงตัว ความสมยอมระหว่างผู้เสนอเงิน กับผู้รับเงินกันทั้งสองฝ่าย มีการลอกเลียนระบบการเสียเงินซื้อขายตำแหน่งมาจากหน่วยงานอื่นๆ จนกระทั่งมาลงตัวเป็น “บริบทของท้องถิ่นเอง” เป็นแบบอย่างมาแต่รุ่นก่อนหน้า รุ่นพ่อรุ่นแม่ มันเลยมามาซื้อตำแหน่งให้ลูกหลาน โดยเฉพาะ คนที่ทำงานใน อปท. ลูกชาวบ้าน ลูกพ่อค้า น้อยคนนักที่จะใส่ใจ สนใจในเรื่องนี้ อาจมีบ้างในชาวบ้านที่เป็นหัวคะแนนใน อปท. เป็นแบบอย่างร่องทางที่สืบต่อกันมา เริ่มปรากฏที่ อปท. เพราะการเติบโตของท้องถิ่น ย่อมทำให้มีกรอบอัตราตำแหน่งต่างๆ ว่างมากขึ้น ยิ่งนานวันขึ้นความซับซ้อนซ่อนเงื่อนการซื้อขายตำแหน่งยิ่งฝังลึก เป็นธรรมเนียมไปโดยปริยาย

ปัจจุบันในการเลื่อนระดับตำแหน่งสายข้าราชการพลเรือน ก็มีปัญหาไม่น้อยเช่นกัน ข่าวการทุจริตบรรจุแต่งตั้งก็แผ่วหายไป แต่มาดังที่ท้องถิ่น ลูกตำรวจ ลูกทหาร สอบตำรวจ ทหาร มีคะแนนบวกเพิ่มให้ แบบนี้ แม้ขัดระบบคุณธรรมไหมบ้าง แต่เป็นระเบียบกติกากฎเกณฑ์ราชการที่กำหนดไว้นานแล้ว แต่ข่าวการซื้อขายตำแหน่งในราชการส่วนท้องถิ่นในรอบสองสามปีที่ผ่านมายิ่งดัง ทั้งการสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือก จนกระทั่งมีการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา มีการร้องเรียนต่อ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร และมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเป็นคดีมากมาย ล่าสุดศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ คณะอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาล (กสถ.) ให้ดำรงตำแหน่งสายงานบริหารตำแหน่ง “ปลัดเทศบาลระดับสูง” ไว้ เพราะความสมยอม ไม่มีใบเสร็จหลักฐาน ด้วยเม็ดเงินเสนอราคาซื้อตำแหน่งแบบ “ตัวช้าง” หรือแม้แต่ “ตั๋วเด็ก” ที่สูงลิ่วหลักแสนหลักล้าน เม็ดเงินย่อมหมุนสะพัดมหาศาล แน่นอนว่ามันคือสัญญาณของ “การฟอกเงิน” นั่นเอง วันนี้ขอฝากเกร็ดความรู้การฟอกเงิน

 

การฟอกเงินคืออะไร

 

กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในประเทศไทย ยังมิได้มีการบัญญัติความหมายของคำว่า “การฟอกเงิน” ไว้ มีเพียงการกำหนดความผิดมูลฐานที่เกี่ยวกับการฟอกเงินไว้ใน มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542[18] เท่านั้น โดยกำหนดให้การกระทำความผิดอาญา จำนวน 21 มูลฐาน[19] เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน[20] เป็นต้น 

การฟอกเงินถือเป็น “อาชญากรรมทางการเงิน” และเป็นการกระทำความผิดแบบต่อเนื่องในลักษณะวงจรการกระทำความผิด กล่าวคือ “การฟอกเงิน” คือ การกระทำผิดกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่กล่าวข้างต้นจำนวน 21 มูลฐาน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวณมูลค่าได้ และทำการเก็บ ซุกซ่อน ยักย้าย ถ่ายเท โอน ส่งต่อ หรือกระทำการด้วยประการอื่นใด เพื่อแปรสภาพทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมายให้สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวโดยสรุปคือ “การฟอกเงิน” หรือ “Money Laundering”[21] เป็นการดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดใดๆ เปลี่ยนเป็นเงินหรือทรัพย์สินซึ่งบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

การยึด อายัด และริบทรัพย์สินรวมถึงดอกผลของทรัพย์สิน

 

ตาม มาตรา 3 (5) [22] ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กำหนดให้ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานซึ่งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดดังกล่าวจะต้องถูกยึด อายัด และริบทรัพย์สินรวมถึงดอกผลของทรัพย์สินนั้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อเป็นการป้องปรามและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญาที่ได้ทำลงโดยหวังทรัพย์สินหรือประโยชน์ลดลง ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นการลดแรงจูงใจของผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากการทุจริตต่อหน้าที่ราชการจึงถือเป็นอาชญากรและต้องถูกยึดอายัดริบทรัพย์สินรวมถึงดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าว ดังนั้น เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงต้องหาหนทางกระทำการบางอย่างเพื่อฟอกเงินเหล่านั้นให้สะอาดและรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีและบังคับทรัพย์สิน

 

วิธีการฟอกเงินของมิจฉาชีพ

 

การฟอกเงินสามารถทำได้หลายวิธี หลายรูปแบบ และมีการพัฒนากระบวนการให้แยบยลตามสภาวการณ์ของสังคมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากการวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า[23] การฟอกเงินที่ได้รับความนิยมจากเหล่าอาชญากรในปัจจุบัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การฟอกเงินผ่านการจัดตั้งบริษัทจำกัด โดยการจัดตั้งบริษัทเพื่อบังหน้าและใช้เป็นแหล่งเพื่ออ้างอิงที่มาของรายได้ การซื้อหุ้นแบบไม่ระบุชื่อที่สามารถโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบ การจัดตั้งบริษัททัวร์ การจัดตั้งบริษัทเพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมลงทุนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ หรือธุรกิจขายตรง “การบริจาคผ่านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร”[24] องค์กรการกุศลต่างๆ ที่สามารถบริจาคได้โดยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม และรอรับผลประโยชน์จากองค์กรเหล่านี้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวเงินเท่านั้น ยังรวมถึงประโยชน์อื่นๆ และสุดท้าย คือ “การฟอกเงินผ่านวัด” [25] ที่ไม่มีระเบียบใดควบคุมอย่างชัดเจนมีเพียงการกำหนดให้วัดต้องจัดทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เท่านั้น โดยไม่มีการกำหนดให้เผยแพร่หรือกำหนดมาตรการตรวจสอบใดที่จะสามารถควบคุมการฟอกเงินผ่านวัดได้ โดยเหล่าอาชญกรจะใช้วิธีฟอกเงินผ่านวัดในรูปแบบเดียวกับที่ได้ฟอกเงินผ่านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรการกุศลต่างๆ และรอรับประโยชน์ที่จะได้มาโดยที่คนในสังคมไม่ทราบถึงเบื้องหลังการบริจาค เพราะเหล่าอาชญากรได้ทั้งประโยชน์ และหน้าตาทางสังคมไปพร้อมกัน

อาชญากรเหล่านี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับประชาชนอย่างมหาศาล แต่กลับได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบายในสังคมทำให้สังคมบิดเบี้ยว ทำให้คนเชื่อว่า คนมีเงินและมีอำนาจจะมีความสุขซึ่งจะสืบทอดความคิดเหล่านี้ไปชั่วรุ่นลูกหลาน จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนในการช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสความผิดปกติและความเสี่ยงในการฟอกเงินที่จะเกิดขึ้น อย่าคิดว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราเป็นเรื่องปกติ ไม่มีความชอบธรรมใดในสังคมที่จะยอมให้เหล่าอาชญากรเสวยสุข หากการก่ออาชญากรรมในแต่ละครั้งของอาชญากรถูกตามริบทรัพย์จนไม่ได้ประโยชน์อันใด สังคมย่อมไม่มีอาชญากรรม 

 

แน่ใจได้อย่างไรว่า การทุจริตในการสอบท้องถิ่นจะไม่มี “การฟอกเงิน”

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 18 มีนาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/332171  

[2]เป็นสำนวนสุภาษิต หมายถึงการเป็นพ่อค้า ทำอาชีพค้าขายนั้น สู้รับราชการขุนนางหรือข้าราชการไม่ได้

[3]ระบบราชการพลเรือนไทยเริ่มใช้ "ระบบจำแนกตำแหน่งตามลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ" (Position Classification System) หรือ “ระบบ พี.ซี.” (P.C.) มี 11 ระดับ มาใช้ในการบริหารงานบุคคลสำหรับครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 แทน "ระบบตำแหน่งตามชั้นยศ" (Rank Classification : R.C.) มี 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นจัตวา ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก และชั้นพิเศษ ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 ต่อมี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2551 เป็นต้นไป เป็น "ระบบการจำแนกตำแหน่ง" (Multi Classification Scheme) หรือ "ระบบแท่ง" (Broadband) ซึ่งแบ่งประเภทตำแหน่งออกเป็นหลายประเภท หรือหลายแท่ง เพื่อแยกบัญชีเงินเดือนแต่ละประเภทออกจากกันทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและการบริหารผลงาน โดยอาศัยหลักการจ่ายค่าตอบแทนตาม “ผลงาน” (Performance Management) และ “สมรรถนะ” (Competency)

ดู ระบบการจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนในการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ (Multi Classification Scheme) กับแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน โดย ศิวลีย์ สิริโรจน์บริรักษ์, นักศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, วารสารวิทยบริการปีที่ 24 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2556, https://journal.oas.psu.ac.th/index.php/asj/article/download/173/115 

 

[4]พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2523, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 158 ฉบับพิเศษ วันที่ 13 ตุลาคม 2523 หน้า 31-36, ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไป, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2523/A/158/31.PDF

[5]พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.2542, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 หน้า 1-4, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/009/1.PDF

[6]สำนักงาน กท.ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันปลัด อบต. 20 มกราคม 2540, อบต. เป็นองค์กรใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นตาม พรบ.สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 เป็นต้นมา แยกรุ่นการตั้ง อบต.กันชัด ๆ ดังนี้ 

(1) อบต.รุ่นแรก ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย (มท.) ลงวันที่ 2 มีนาคม 2538 จำนวน 617 แห่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 

(2) อบต. รุ่นที่ 2 ตามประกาศ มท. ลงวันที่ 19 มกราคม 2539 ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 มกราคม 2539 จำนวน 2,143 แห่ง มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

(3) อบต.รุ่นที่ 3 ตามประกาศ มท. ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จำนวน 3,637 แห่ง มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป รวมเป็น อบต. จำนวน 6,397 แห่ง ที่ถือเป็นยอดจำนวน อปท. ที่มากมาย 

ฉะนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2538-2540 จึงมีการเรียกบรรจุข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น “สามทหารเสือ” เป็นจำนวนมากมายเป็นหลักหมื่นอัตรา 

[7]อ้างแล้ว  

[8]ข่าวข้าราชการท้องถิ่นที่เคยรับราชการทหารร้องขอความเป็นธรรม ถูกกรมบัญชีการสั่งงดจ่าย พร้อมเรียกเงินคืนเบี้ยหวัดทหาร ย้อนช่วงนั้นไม่มีบทบัญญัติ พร้อมคืนเงินแต่ต้องนับอายุราชการต่อกับช่วงที่เป็นทหาร 

ดู อดีตทหาร ร้อง “บิ๊กตู่” เคลียร์ถูกเรียกเบี้ยหวัดคืน หลังรับราชการใหม่ใน อปท., ผู้จัดการออนไลน์, 20 ตุลาคม 2557, https://mgronline.com/politics/detail/9570000120548 & 'คณะทหารบำนาญ' ร้องนายกฯ โยกสังกัดอปท.โดนตัดเบี้ยหวัด, กรุงเทพธุรกิจ, 9 มิถุนายน 2558, https://www.bangkokbiznews.com/news/650872 

[9]กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2545, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 103 ก วันที่ 9 ตุลาคม 2545 เล่มที่ 2 หน้า 220-225, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00102883.PDF

[10]การบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (มาตรา 5)

มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยตรงอยู่สอง องค์กร คือ คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะมีทุกจังหวัด และมีคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด อีกคณะหนึ่ง แต่ละคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเกิดขึ้นได้สมบูรณ์ จะต้องมีคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสียก่อน เพราะคณะกรรมการกลางจะเป็นผู้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้แทน ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด 

การบริหารบุคคลในเทศบาล (มาตรา 23)

ในแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการพนักงานเทศบาล ร่วมกันคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของเทศบาลที่อยู่ในจังหวัดนั้น และจะมีคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลอีกคณะหนึ่ง เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สอดคล้องกัน แต่องค์ประกอบคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจะสมบูรณ์ครบถ้วนเมื่อ มีการคัดเลือกตัวแทนประธานเทศบาล นายกเทศมนตรี ผู้แทนพนักงานเทศบาล และผู้ทรงคุณวุฒิตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกลางกำหนด 

การบริหารส่วนบุคคลในองค์การบริหารส่วนตำบล (มาตรา 25)

มีลักษณะคล้ายคลึงกับการบริหารงานบุคคลในเทศบาล กล่าวคือ จะมีคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลร่วมกันคณะหนึ่งในแต่ละจังหวัด และมีคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบลอีกคณะหนึ่ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละแห่งให้มีมาตรฐานสอดคล้องกัน แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จะครบถ้วนสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการคัดเลือกผู้แทนจากแต่ละองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ทรงคุณวุฒิตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกลางกำหนดเสียก่อน

ดู พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542, อ้างแล้ว

[11]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 109-110, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/054/109.PDF

[12]มาตรา 15 การออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอนการรับโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์หรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ให้เป็นอำนาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การ บริหารส่วนจังหวัดกำหนด แต่สำหรับการออกคำสั่งแต่งตั้ง และการให้ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน

อำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในตำแหน่งใดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด

ดู พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 120 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 หน้า 1-20, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/1.PDF  

[13]การสอบแข่งขัน หมายถึงการสอบบุคคลภายนอกเข้ารับราชการเป็น มีคุณสมบัติทั่วไป และมีคุณสมบัติตามที่มาตรฐานกำหนดไว้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขันได้ทุกคน โดยจะบรรจุเรียง ตามลำดับที่ที่สอบได้ เป็นการคัดเลือกสรรหาบุคลากร (Recruitment) เข้ามาทำงาน ซึ่งหลักสูตรการสอบ ต้องสอบ 3 ภาคความรู้ คือ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ภาค ข วิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และ ภาค ค ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง

[14]การคัดเลือก ปกติมีการสอบเฉพาะภาค ค ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง

[15]การสอบคัดเลือก ปกติมีการสอบเฉพาะภาค ข วิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และ ภาค ค ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง

[16]การสรรหาบุคลากร (Recruitment) หมายถึง กระบวนการในการค้นหาตลอดจนคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งงานตามที่องค์กรต้องการ กระบวนการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการคัดเลือก การสื่อสารให้เกิดแรงจูงใจกับผู้สมัครเป้าหมายที่ต้องการ และจะสิ้นสุดกระบวนการเมื่อองค์กรนั้นรับบุคคล

สรุปการสรรหา (Recruitment) หมายถึง กระบวนการในการแสวงหาและจูงใจผู้สมัครงาน ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์การกระบวนการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่การแสวงหาคนเข้าทำงานและสิ้นสุด เมื่อบุคคลได้มาสมัครงานในองค์การการสรรหาจึงเป็นศูนย์รวมของผู้สมัครงานเพื่อดำเนินการคัดเลือกเป็นพนักงานใหม่ต่อไป

การคัดเลือก (Selection) หมายถึง กระบวนการที่องค์การใช้เครื่องมือต่างๆ มาดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจานวนมากให้เหลือตามจำนวนที่องค์การต้องการ ฉะนั้น การคัดเลือกจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์กำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาให้ได้คนที่มีคุณสมบัติตรงกับงานที่เปิดรับ

ดู การสรรหาและการคัดเลือกบุคลากร (Recruitment and selection) บทที่ 4, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, http://courseware.npru.ac.th/admin/files/20200817094117_7b7b0a471d0ec4a0f25b839d33098396.pdf 

[17]การบริหารงานบุคคล (Personnel Management) หรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งกำลังคนที่เหมาะสมที่สุดกับงาน และใช้ทรัพยากร กำลังคนนั้นให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายที่กำหนดไว้รวมถึงการบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากร มนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้มีปริมาณเพียงพอ

[18]พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 29 ก วันที่ 21 เมษายน 2542 หน้า 45, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%BB40/%BB40-20-9999-update.pdf 

มีฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558

[19]พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้

“ความผิดมูลฐาน” หมายความว่า

(1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

(2) ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หรือรับไว้เพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น หรือความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ เฉพาะที่เกี่ยวกับการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่ออนาจาร หรือโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กหรือผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากนั้น หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี หรือที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี

(3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

(4) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกระทำโดยกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น

(5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

(6) ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา

(7) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(8) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(9) ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

(10)ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด

(11) ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า

(12) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นการค้า

(13) ความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอม หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันมีลักษณะเป็นการค้า

(14) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทางตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า

(15)ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า

(16) ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน

(17) ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

(18) ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

(19)ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด

(20)ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบต่อราคาการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

(21)ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะที่เป็นการค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เฉพาะที่เป็นการค้ายุทธภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้าย การรบ หรือการสงคราม

[20]พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527, มาตรา 3 ในพระราชกำหนดนี้

“กู้ยืมเงิน”หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใดๆ

ดู พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 164 ฉบับพิเศษ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 หน้า 1, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A168/%A168-20-9999-update.htm 

กฎหมายเกี่ยวข้อง

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 พ.ศ.2534

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560

[21]การฟอกเงิน (Money Laundering)เป็นการดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดใดๆ เปลี่ยนเป็นเงินหรือทรัพย์สินซึ่งบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

[22]พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, มาตรา 3 (5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

[23]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). แนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทย: ศึกษาเฉพาะกรณีการฟอกเงินผ่านนิติบุคคลและธุรกิจบังหน้า ทนายความและนักบัญชี บริษัทนำเที่ยว ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกงและการฟอกเงินผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2021/12/research-study-on-trends-of-money-laundering-2/ 

[24]องค์การไม่แสวงหาผลกำไร (Non Profit Organization : NPO)เป็นชื่อเรียกองค์การที่มีจุดมุ่งหมายสนับสนุนกลุ่มที่มีความคิดเห็นพ้องกัน โดยเนื้อหาจะแตกต่างตั้งแต่ ศิลปะ การกุศล การศึกษา การเมือง ศาสนา งานวิจัย และจุดมุ่งหมายในด้านอื่น ๆ โดยการทำงานทั้งหมดไม่มีจุดประสงค์ในเชิงพาณิชย์ ไม่หาผลประโยชน์เข้าสู่องค์การ แต่มีรายได้จากค่าลงทะเบียน ค่าบำรุงจากสมาชิก หรือเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้มาจากการบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา, วิกิพีเดีย

ดู องค์กรไม่แสวงหากำไร (NPO), https://hmong.in.th/wiki/Non-profit_organization 

[25]พบว่าการฟอกเงินผ่านวัด เงินทำบุญทางศาสนา เป็นวิธีการหนึ่งในการฟอกเงิน คือการบริจาคเงินให้แก่วัด โดยเจ้าของเงินบริจาคจะตกลงให้ทางวัดทำสัญญาจ้างผู้บริจาค ให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างภายในวัด ในงบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่จ่ายจริงในอัตราที่ต่ำกว่ามาก ผู้ทำวิจัย คือ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

ดู แฉกลยุทธ์ฟอกเงินผ่านระบบบัญชีวัด ซื้อรถแพงขายถูก-ก่อสร้างงบเกินจริง โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, TCIJ, 15 สิงหาคม 2557, https://www.tcijthai.com/news/2014/15/scoop/4739



ความเห็น (1)

May I repeat this reference?ดู แฉกลยุทธ์ฟอกเงินผ่านระบบบัญชีวัด ซื้อรถแพงขายถูก-ก่อสร้างงบเกินจริง โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, TCIJ, 15 สิงหาคม 2557, https://www.tcijthai.com/news/2014/15/scoop/4739 This is a ‘class method’ using not only ‘wats’ but other cultural places (of worship) where sensitivity could divert any (official) investigation into their activities. [These places are ‘land tax’ excepted too.]

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท