ทำแผนกลยุทธ์


ทำแผนกลยุทธ์

 จากเสาร์ที่แล้วเราได้มีการวิเคราะห์องค์กรและปัญหาสุขภาพในพื้นที่ วันนี้ (16 ธันวาคม) เราเลยนำข้อมูลที่ได้มาทำแผนกลยุทธ์ โดยได้ข้อมูลเพิ่มคือวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สสจ.นม.โจทย์ของเราในวันนี้มี 2 ข้อ คือ

1.      เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา 5 อันดับแรก

2.      นำปัญหา มาตั้งเป้าหมายในปี 2550

จากโจทย์ที่ได้ เราก็งง ๆ เพราะว่าด้วยหน่วยงานแต่ละที่ก็มีวิธีการทำแผนไม่เหมือนกัน ก็ต้องพยายามสลัดความคิดเดิมๆ ท่องไว้ในใจว่าเราคิดในบริบทของสสจ.นม. อาจารย์เก๋ก็มาช่วยชี้แนวทางให้เราได้ตาสว่างมากขึ้น

เริ่มด้วยการเข้ากลุ่มเดิม ให้กระบวนการ KM กำหนดคุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ และคุณลิขิต มีอุปกรณ์ Flip Chart และปากกาให้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำกระบวนการกลุ่มมากๆ เพราะว่าทุกคนในกลุ่มสามารถเห็นรายละเอียดได้หมด มีการเสนอความคิดของทุกคน แลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยใช้ข้อมูลวิสัยทัศน์ พันธกิจของ สสจ.นม. และข้อมูลปัญหาในองค์กร ปัญหาสุขภาพที่วิเคราะห์ในสัปดาห์ที่แล้ว มาดำเนินการดังนี้

1.      รวมปัญหาที่เป็นเรื่องเดียวกัน

2.      เลือกปัญหา 3 อันดับแรก จากการโหวตเลือก

3.      กำหนดเป้าหมาย

4.      เลือกเป้าหมาย 1 เป้าหมายที่ต้องการทำก่อน จากการโหวตเลือก

คั่นรายการด้วยหลัก AAR (After Action Review) จากอาจารย์หาญชัย (สสจ.นม.) มีกิจกรรมสนุก ๆ เล่นด้วย ซึ่งจะขอเล่าในครั้งต่อไปเพราะว่าเดี๋ยวจะไม่ต่อเนื่อง

ต่อมาอาจารย์นกได้บรรยายถึงการยกร่างยุทธศาสตร์ โดยใช้หลัก SWOT เสริมจุดแข็ง แก้ไข/ป้องกันจุดอ่อน เข้ากระบวนการกลุ่มต่อ ดังนี้

5.      วิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในองค์กร โดยใช้หลัก SWOT ทำตาราง

         -          ปัจจัยภายใน

       -          Strength จุดแข็ง

       -          Week ness จุดอ่อน

-          ปัจจัยภายนอก

       -          Opportunity โอกาส

       -          Threat ภาวะคุกคาม

6.      ให้น้ำหนักความสำคัญ โดยทุกคนมีคะแนนคนละ 100 คะแนนสำหรับให้น้ำหนักแต่ละของปัจจัยภายนอก และอีก 100 คะแนนสำหรับให้น้ำหนักแต่ละข้อของปัจจัยภายใน (ตามใจชอบของแต่ละคน) จากนั้นคะแนนที่ทุกคนให้แต่ละข้อมาเขียนลงในช่องแล้วรวมคะแนนในแต่ละข้อ รวมคะแนนจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคาม (แยกแต่ละด้าน)

7.      นำคะแนนที่ได้มาพล็อตกราฟ 4 มิติ จุดอ่อน (ซ้าย) จุดแข็ง (ขวา) โอกาส (บน) และภัยคุกคาม (ล่าง) แล้วลากเส้นเชื่อมต่อทั้ง 4 จุด ดูว่ากราฟเบ้ไปทางไหน จากที่กลุ่มทำ กราฟเบ้ไปทางโอกาสและจุดอ่อน เป็นสถานะ Question marks คือ ควรปรับปรุง/พัฒนา/แก้ไข/ทบทวน

8.      กำหนดยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาสถานบริการผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ

9.      ทำแผนยุทธศาสตร์ (Strategy map) ใช้หลัก BSC (Balanced Score Card) 4 มุมมองคือ ลูกค้า การเงิน กระบวนการภายใน และการเรียนรู้/นวัตกรรม

10.  เลือกแผนยุทธศาสตร์ มา 1 เรื่อง ทำตารางกำหนดวัตถุประสงค์, CFS, KPI, Baseline และเป้าหมาย

11.  ทำแผน (Action Plan) โดยใช้ตาราง 7 ช่อง ซึ่งเราไม่ได้ทำเพราะว่าเวลาไม่พอ

หลังจากที่เราทำกิจกรรมมาทั้งวัน อาจารย์เก๋ก็ได้มาสรุปบทเรียน (AAR) ในกลุ่มว่า เราเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา (ภายนอก ภายใน ปัญหาสุขภาพ) จากนั้นกำหนดเป้าหมาย ทำ SWOT กำหนดยุทธศาสตร์ ทำ BSC 4 มิติ กำหนดวัตถุประสงค์, CFS, KPI, Baseline, เป้าหมาย และทำ Action Plan จนได้แผนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง

เราก็เพิ่งจะเข้าใจกระบวนการแบบเต็ม ๆ ว่ามันช่างซับซ้อนและใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ได้โครงการที่สามารถตอบสนองต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจของหน่วยงานและสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างดีที่สุดนั่นเอง

                                                นันท์นภัส สุขใจ

                                    สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต

                                      พัฒนาสุขภาพชุมชน รุ่นที่4

คำสำคัญ (Tags): #สม.4
หมายเลขบันทึก: 69835เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

จากเนื้อหาการสอนของ อ.หาญชัยในห้องเรียน เราก็ได้นำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการทำงานในชุมชน เริ่มตั้งแต่การค้นหาปัญหา เพื่อนำมาวางแผนชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม จากการได้ลงพื้นที่ในวันเสาร์ที่ 23 ธ.ค.49 เราได้ลงพื้นที่ชุมชนหนองไผ่ล้อม เราได้เริ่มตั้งแต่การวางแผนการทำงานโดยใช้หลัก    4 M (MAN Money Material  Management ) การค้นหาปัญหาของชุมชนโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนต่างก็แสดงศักยภาพของตนเองออกมา เพื่อให้การทำงานได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ภายในเวลาอันจำกัดซึ่งก็ต้องอาศัยการวางแผน และการมอบหมายงานให้ชัดเจน และตรงกับความสามารถของแต่ละคน เช่น บางคนถนัดการเป็นพิธีกร ก็มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการประชุม บางคนถนัดการควบคุมวางแผน กำกับ ก็มอบหมายให้เป็นผู้ช่วยดำเนินการประชุม เพื่อจะได้คอยกำกับพิธีกร และกำกับการประชุมอีกที ....จากการทำงานดังกล่าว ผลก็ทำให้การทำงานของเราสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

                                         อัจฉรา บูรณรัช

                 สิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการทำแผนในชุมชน จะเห็นว่า การจะทำแผนใดใดก็ตาม หากใช้ข้อมูลเพียงตัวเลขที่มี เช่น ข้อมูลทางระบาดวิทยา สถิติต่างๆ โดยไม่ได้มีการสื่อสาร และมีเพียงมุมมองของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว ไม่มีมุมมองของชุมชน  ก็จะทำให้แผนงานที่ได้อาจไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน การนำไปสู่การแก้ไขปัญหาก็จะไม่ตรงจุด ตัวอย่างเช่น  กลุ่ม รพ.ค่ายสุรนารี ได้ค้นหาปัญหาสุขภาพชุมชนหนองไผ่ล้อมในมุมมองของเจ้าหน้าที่ปัญหาที่ได้ก็คือ ปัญหาโรคเบาหวาน เป็นอันดับหนึ่ง แต่พอได้มีการประชุมกลุ่มกับชาวบ้านเพื่อค้นหาปัญหา พบว่าปัญหาของชาวบ้านอันดับหนึ่งก็คือปัญหาวัยร่นมั่วสุมกันก็ให้เกิดความรำคาญ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็เป็นจุดที่สำคัญทีจะต้องกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และมองเห็นปัญหา ตั้งแต่การค้นหาปัญหาของตนเอง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยสมาชิกในกลุ่มก็ต้องมีการร่วมมือกัน และมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพื่อให้การดำเนินการประชุมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และแผนชุมชนที่ได้สอดคล้องกันทั้งชุมชนและเจ้าหน้าที่                       

                                     อัจฉรา บูรณรัช   

วันนี้ได้เรียนเรื่องcoach อาจารย์หาญชัยได้เอาหนังสือมาให้อ่านน่าสนใจมาก เป็นหนังสือแปลชื่อชุมชนแนวปฏิบัติการจัดการความรู้สายพันธ์ใหม่  ได้อ่านเรื่อง7หลักประการในการดูแลชุมชนได้แก่

1.การออกแบบเพื่อให้เกิดการวิวัฒนาการ

2.การเปิดการสนทนาด้วยมุมมองภายในและภายนอก

3.เชื้อเชิญในระดับที่แตกต่างกัน

4.เสริมสร้างการให้เกิดพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว

5.การมุ่งเน้นที่คุณค่า

6.การผสมผสานระหว่างความคุ้นเคยและตื่นเต้น

7.การสร้างจังหวะให้ชุมชน

 

   จากการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนบ้านตะคลองแล้ง  อ.สูงเนิน  ทำให้เราได้ทราบว่าการที่เจ้าหน้าที่จะสามารถรับรู้และเข้าใจปัญหาของชุมชนและแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องตรงตามความต้องการของชุมชนนั้น  ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลยแต่บางครั้งเราก็ลืมไปบ้าง  วิธีการที่จะทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริงนั้น  เราต้องใช้  เครื่องมือ 7 ชนิด  ของคุณหมอโกมาตร  ได้เขียนไว้ในวิถีชุมชน  ถ้าเรานำความรู้ที่คุณหมอเขียนไว้มาใช้ในการทำงานชุมชน  เราจะรู้เลยว่าการทำงานชุมชนนั้นไม่ยากเลย  ในที่นี้จะขอกล่าวถึง  การทำแผนที่เดินดิน  คำว่าเดินดินก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าวิธีการทำต้องเดินเข้าไปในชุมชนด้วยตัวของเราเอง  เดินทีละบ้าน  ทีละซอย  จนครบทั้งหมู่บ้าน  หลายท่านอาจคิดว่ากว่าจะเสร็จคงจะนานมาก  ในภาวะที่มีภาระงานมากจนล้นมืออย่างนี้จะทำได้หรือ ? ความจริงแล้วไม่ยากและนานอย่างที่คิดเลย  เราใช้เวลาที่ว่างจากภาระงานประจำ  ลงไปเดินสำรวจเรื่อย ๆ คิดถึงแค่วันนี้  ทำแค่วันนี้อย่าไปคิดว่าเหลืออีกเท่าไหร่จึงจะครบ  อีกนานแค่ไหนจะสำเร็จ  เพราะถ้าคิดแบบนี้  ท่านจะท้อแท้และจะทำให้ไม่มีความสุขในการลงชุมชนและงานของท่านก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ  ลองทำดูก่อนแล้วท่านจะรู้ว่าแผนที่เดินดินเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทายมาก ๆ

                                     ศุลีวงศ์  สนสุผล

                                           สม.4

จากการเข้าไปจัดทำแผนชุมชน ข้อคิดที่ได้จากการทำแผนชุมชนประการหนึ่งก็คือ เรื่อง "การประชาสัมพันธ์"  เพื่อให้ชาวบ้านมาเข้าเร่วมประชุม  พบว่าในการฝึกปฏิบัติงานดังกล่าว การประชาสัมพันธ์แจ้งทราบก็จะผ่าน อสม. และใบประชาสัมพันธ์แจกจ่าย ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าใครบ้างที่ต้องเข้าร่วมประชุม รวมทั้งไม่ได้ติดตามผลขณะให้อสม.ประชาสัมพันธ์ ผลที่ได้ก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมทำแผนชุมชน ส่วนใหญ่เป็นอสม. มีชาวบ้านเข้าประชุมเพียงไม่กี่คน จึงเป็นจุดที่เรียนรู้ได้ว่า ต่อไปถ้าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ว่า            ต้องการกลุ่มใดบ้างเข้าประชุม สัดส่วนอย่างน้อยเท่าไหร่ เพื่อให้การจัดทำแผนที่ได้เป็นแผนที่ได้จากชาวบ้านทุกกลุ่มจริงๆ

                                     อัจฉรา บูรณรัช      

คุณค่าที่ได้จากการศึกษาชุมชนบ้านขี้ตุ่นอำเภอโชคชัยแม้เวลาในการศึกษาชุมชนเพียงระยะสั้นๆสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่แสดงให้นักศึกษาสม4.ได้พบคือการมองปัญหาโดยนักวิชาการกับมุมมองของชาวบ้านเป็นสิ่งที่เหมือนกันบางเรื่องและบางเรื่องจะแตกต่างมุมมองของชุมชนเองจะชัดเจนกว่านักศึกษาเพราะเป็นเรื่องที่เขาเผชิญอยู่           ความสามารถที่จะมองภาพในอนาคตของเขารวมถึงการที่เขามองเห็นปัญหาของเขาที่ชัดกว่าผู้ศึกษาเป็นจุดเด่นและศักยภาพทางความคิดว่าชุมชนสามารถคิดเองได้ เพียงแต่ทำอย่างไรจะมีกระบวนการเข้าไปกระตุ้นสนับสนุนเขาอย่างต่อเนื่องการยอมรับและเคารพความผู้อื่นเป็นสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาได้ทราบว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนที่ชัดเจน                           ความยืดหยุ่น การประยุกต์วิธีการต่างๆในการทำงานสามารถช่วยให้การศึกษาร่วมกันของนศ.บรรลุวัตถุประสงค์และสนุกกับการ

ผมและคณะได้มีโอกาสทำแผนชุมชนที่ชุมชนกีฬากลาง เมื่อ เดือน ธันวาคม 2549 โดยใช้กระบวนการ aic การทำแผนค่อนข้างจะลำบากเพราะประชาชนส่วนใหญ่มีแนวทางความคิดที่แตกต่างกันมาก และปัญหาที่พบก็ไม่ใช่เพียงปัญหาสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ดังนั้นข้อสรุปที่ได้จากการทำแผนชุมชนมีดังนี้

1.ผู้ดำเนินการต้องมีความรู้และความชำนาญในการเชื่อมโยงปัญหา และจัดปัญหาเป็นหมวดหมู่

2.ต้องชี้แจงประชาชนให้ชัดว่าปัญหาที่พบ ต้องช่วยกันหาแนวทางแก้ไข มิใช่เป็นความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

3.หัวใจสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน

 นายณัฐกานต์  การเร็ว สม.4

ในการทำงานกลุ่มร่วมกัน กับเพื่อนๆ และชาวบ้าน ข้อคิดที่ได้อย่างหนึ่งก็คือ  แต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน มีความถนัดที่แตกต่างกัน ควรจะใช้ความสามารถที่แต่ละคน ถนัดมาเป็นประโยชน์ในการทำงานกลุ่ม ดีกว่าแบ่งงานกันทำอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ของงานที่ได้ว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่   

                                           อัจฉรา  บูรณรัช

                

การทำแผนชุมชนใน อปท.ในปัจจุบัน จะสามารถสังเกตุได้ว่าโดยส่วนใหญ่การกำหนดแผนกลยุทธ เป้าประสงค์ แผนงานต่างๆนั้น ไม่มีการวิเคราะห์สภาพองค์กรของตนเอง แต่จะเป็นการดำเนินการในลักษณะของความสะดวกต่อผู้ดำเนินการ จึงทำให้ไม่สามารถระบุปัญหาในองค์กรของตนเองได้ชัดเจน และไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง

นายณัฐกานต์  การเร็ว  สม.4 

ในวันที่ 21 ม.ค. เราได้นำเสนอแผนชุมชนตามใบกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ ซึงนักศึกษาต่างก็มีความตั้งใจกันอย่างเต็มที่ในการนำองค์ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ และนำแผนที่ได้มานำเสนอ ข้อคิดที่ได้จากเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่าในบทบาทของการเป็นนักศึกษา ทำให้เราถูกวางกรอบไว้ และเราจะทำอย่างไรให้งานสำเร็จลุล่วงโดยคาดเดาความต้องการของอาจารย์ด้วย (โดยแต่ละกระบวนการทำงานพยายามนำทฤษฎีในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้เต็มที่ )ทำให้การทำงานในบทบาทการเป็นนักศึกษามีความแตกต่างจากการปฏิบัติงานในฐานะบุคลากรจริง ๆ

สิ่งดีดี ที่ได้รับจากการทำงานกลุ่มกับเพื่อนๆ ก็คือความเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในบางครั้งด้วยความจำเป็นทางบ้านอาจทำให้ไม่สามารถทำงานชิ้นนี้ได้เต็มที่ เพื่อนก็เข้าใจและช่วยทำในสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ในขณะนั้น  ขอบคุณนะคะ สำหรับเพื่อนร่วมงานที่ดีดีเช่นนี้

                                         อัจฉรา บูรณรัช

       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท