การสอบแบบปากเปล่า (Oral Exam)


ความหมาย ลักษณะ และประเภท ของการสอบแบบปากเปล่า (Oral Exam)

การสอบแบบปากเปล่า (Oral Exam)

          ลักษณะของการทดสอบนั้นมีหลายประเภท เช่น การสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง (Lab Practical Exam: Lab Clink) การสอบโดยการเขียน รวมไปถึงการสอบแบบปากเปล่า (Oral Exam) ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เราสามารถส่งเสริมความกระตือรือร้น ความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจในความรู้ ความจำ การสังเคราะห์ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยคำอธิบายเนื้อหาดังกล่าวนี้ เกิดจากประสบการณ์ของผู้เขียนโดยตรง สามารถศึกษาเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจทุกท่าน เชิญทัศนา

 

ความหมายของการสอบแบบปากเปล่า

          การสอบแบบปากเปล่า หมายถึง การทดสอบในรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นการแสดงออกด้านการพูด และน้ำเสียง ในขณะที่เปล่งคำพูดออกมา ผู้คุมการสอบจะเป็นผู้ถามคำถามจากเครื่องมือที่เตรียมไว้ เมื่อคำถามเสร็จประโยค ผู้ถูกสอบจะต้องตอบตรงประเด็นจากคำถาม โดยส่วนใหญ่มีเกณฑ์พิจารณา 3 ระดับ ได้แก่ 1)  ตอบตรงประเด็น หมายถึง การตอบคำถามถูกต้องจากข้อคำถาม ไม่บ่ายเบี่ยงประเด็นคำถามไปเป็นอื่น 2) น้ำเสียง-อารมณ์ หมายถึง โทนเสียงหรือระดับเสียงสูง-ต่ำ ในขณะที่พูด อันสามารถชักจูง เชื้อเชิญ รวมทั้งจูงใจให้ผู้ฟังคล้อยตาม และ 3) ความมั่นใจในการตอบคำถาม หมายถึง การแสดงเจตจำนงในการพูดอย่างแน่วแน่ พร้อมทั้งเชื่อมมั่นว่าสิ่งที่พูดมีมูลเหตุและที่มาที่สามารถอ้างอิงได้ ซึ่งการสอบประเภทนี้ไม่นิยมการเขียน แต่เน้นการพูดเป็นส่วนใหญ่

 

ลักษณะของการสอบแบบปากเปล่า

          การสอบแบบปากเปล่า มีลักษณะที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ การตอบคำถามโดยการพูดอย่างตรงประเด็น มั่นใจ และสามารถชักจูงผู้ฟังได้ ซึ่งมี 4 ลักษณะ ซึ่งเรียงจากธรรมดาไปถึงเชี่ยวชาญ ได้แก่

                    ลักษณะที่ 1 การสอบแบบปากเปล่าขั้นพื้นฐาน (Basic Oral Exam) เป็นการสอบที่ผู้คุมการสอบใช้ข้อความหรือประโยคยาว ๆ เพื่อให้ผู้ถูกสอบอ่านข้อความหรือประโยคยาว ๆ นั้นให้ถูกต้อง จุดประสงค์เพื่อฝึกการอ่านหรือฝึกน้ำเสียงและอารมณ์ โดยส่วนใหญ่จะนิยมในช่วงชั้นเตรียมอนุบาลและประถมศึกษา เช่น การสอบอ่านบทอาขยานของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 2 ฯลฯ

                    ลักษณะที่ 2 การสอบแบบปากเปล่าขั้นกึ่งพื้นฐาน (Semi-Basic Oral Exam) เป็นการสอบที่ผู้คุมการสอบใช้รูปถ่ายหรือภาพวาดของสิ่งต่าง ๆ หรือการเล่าเรื่องจากภาพนั่นเอง จุดประสงค์เพื่อฝึกการพัฒนาจินตภาพอันเป็นภาพที่เกิดขึ้นในใจ ให้แสดงออกมาโดยการพูด โดยส่วนใหญ่จะนิยมในช่วงชั้นอนุบาลและมัธยมศึกษาตอนต้น เช่น การสอบเล่าเรื่องจากภาพทิวทัศน์เมืองหลวงของประเทศไทยของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ฯลฯ

                    ลักษณะที่ 3 การสอบแบบปากเปล่าขั้นปานกลาง (Intermediate Oral Exam) เป็นการสอบที่ผู้คุมการสอบใช้คำมูล คำประสม วลีหรือประโยค มาใช้ในการทดสอบ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกสอบตอบคำถามจากกระบวนการจดจำอย่างมี จุดประสงค์เพื่อฝึกความรู้ ความจำ และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยส่วนใหญ่จะนิยมในช่วงชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่น การให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกความหมายของประชากรและสิ่งแวดล้อม ว่าหมายถึงอะไร ฯลฯ

                    ลักษณะที่ 4 การสอบแบบปากเปล่าขั้นสูง (Advanced Oral Exam) เป็นการที่ผู้คุมการสอบใช้คำศัพท์ทางวิชาการหรือคำถามที่ส่งเสริมทักษะและสมรรถนะของผู้ถูกสอบ จุดประสงค์เพื่อการวิจัย เพื่อการกระตุ้นความฉลาดทางด้านอารมณ์ สังคม สติปัญหา เพื่อกระตุ้นความฉลาดตามทฤษฎีพหุปัญญา (The Theory of Multiple Intelligences) และเพื่อเสริมแนวคิด ทักษะ ความสามารถ วิธีการอื่น ๆ

 

ประเภทของการสอบแบบปากเปล่า

          การสอบแบบปากเปล่า มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

                    1)  การสอบแบบปากเปล่ารายบุคคล (Single Person Oral Exam) หมายถึง การสอบแบบปากเปล่าในขณะที่สอบผู้คุมสอบถามคำถามผู้ถูกสอบเพียงคนเดียว อาจอยู่ในห้องเดี่ยว ๆ หรือมีบุคคลอื่นร่วมด้วย เช่น การสอบสัมภาษณ์ การสอบวัดผลรายบุคคล ฯลฯ

                    2)  การสอบปากเปล่ารายกลุ่ม (Group Oral Exam) หมายถึง การสอบแบบปากเปล่าในขณะที่สอบผู้คุมสอบถามคำถามผู้ถูกสอบมากกว่าหนึ่งคน เช่น การสอบสวมบทพูดรายกลุ่ม การสอบตอบคำถามรายกลุ่ม การสอบชิงรางวัลเป็นหมู่คณะ ฯลฯ

 

 

____________________

เอกลักษณ์ ราชไรกิจ

เลขประจำตัวนักวิจัย ORCID iD: 0000-0002-0085-9259

 

เอกสารอ้างอิง APA

เอกลักษณ์ ราชไรกิจ. (2565, กุมภาพันธ์ 18). การสอบแบบปากเปล่า (Oral Exam). The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management (GotoKnow). https://www.gotoknow.org/posts/697969

หมายเลขบันทึก: 697969เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท