การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง (Lab Practical Exam: Lab Clink: Bell Ringer)


ความหมายและประเภทของการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง

การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง (Lab Practical Exam: Lab Clink: Bell Ringer)

          การทดสอบสำหรับการวัดผลและประเมินผลนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ ทั้งข้อสอบแบบแบบเติมคำ ข้อสอบแบบตัวเลือก ฯลฯ ซึ่งมีวิธีการทดสอบมากมาย เช่น การทดสอบโดยการนั่งสอบแบบปกติ (Normal Sitting Test) การทดสอบแบบปากเปล่า (Oral Test) การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง (Lab Practical Exam: Lab Clink: Bell Ringer) ฯลฯ

 

ความหมายของการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง

          การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง (Lab Practical Exam: Lab Clink: Bell Ringer) หมายถึง กระบวนการหรือวิธีการทดสอบประเภทหนึ่งที่ใช้สัญญาณเสียง “กริ๊ง” (Clink/Bell) โดยมีข้อจำกัดในด้านเวลา เฉลี่ยแต่ละข้ออยู่ระหว่าง 20 วินาที ถึง 4 นาที โดยพิจารณาเวลาตามเรื่องที่จะทดสอบ ความยากง่าย จำนวนคำถาม และความยาวของคำในแต่ละคำถาม ซึ่งการทดสอบประเภทนี้สามารถพัฒนาความจำ ความคิดคล่องแคล่ว ความกระตือรือร้น และการเคลื่อนไหวร่างกายภายในตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี

          จากการศึกษางานวิจัย การทดสอบการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งนี้ สามารถทดสอบได้ทุกสาขาวิชา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ สุขศึกษาและพลศึกษา สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หรือศาสตร์อื่น ๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้

 

ประเภทของการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง

          การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

          1)  การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งแบบไม่เคลื่อนที่หรืออยู่กับที่

                    เป็นการทดสอบโดยให้ผู้เรียนนั่งอยู่กับที่ตามโต๊ะสำหรับจัดสอบ ภายในโต๊ะมีกระดาษคำตอบและอุปกรณ์การเขียนวางอยู่ เมื่อถึงเวลาสอบ ผู้สอนจะเปิดนำเสนอ power point จำนวน 1 ข้อคำถาม และเมื่อได้รับสัญญาณเสียง “กริ๊ง” หรือสัญญาณเตือนอื่น ๆ ผู้สอนจะเปลี่ยนการนำเสนอ power point ไปหน้าข้อคำถามถัดไป

          2)  การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งแบบเคลื่อนที่

                    เป็นการทดสอบที่ผู้สอนได้จัดเตรียมบริเวณพื้นที่ที่ไม่ซ้ำสำหรับคำถาม 1 ข้อ เช่น 1 โต๊ะ 1 คำถาม ฯลฯ ซึ่งอาจจัดเรียงบริเวณพื้นที่แบบวงกลม หรือบริเวณพื้นที่แบบอื่น ๆ ที่สามารถให้หัว (คนแรก) และหาง (คนสุดท้าย) สามารถเดินต่อกันได้ ก่อนการทดสอบผู้สอนจะให้ผู้เรียนยืนประจำบริเวณพื้นที่ของตนเองในมือของแต่ละคนจะถือกระดาษและอุปกรณ์สำหรับเขียน พอได้รับสัญญาณเสียง “กริ๊ง” หรือสัญญาณเตือนอื่น ๆ  ผู้เรียนจึงสามารถเขียนคำตอบหรือเวียนไปคำถามในบริเวณพื้นที่ถัดไป

          3)  การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งแบบผสม

                    เป็นการทดสอบที่รวมการการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งไม่เคลื่อนที่หรืออยู่กับที่ และแบบเคลื่อนที่ เข้าด้วยกัน โดยพิจารณาในการแบ่งเวลาในการทดสอบ เช่น หากมีเวลาในการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งโดยรวม 20 นาที ผู้สอนสามารถจัดแบ่งเวลาการทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊งแบบไม่เคลื่อนที่หรืออยู่กับที่ 10 นาที และแบบเคลื่อนที่ 10 นาที โดยพิจารณาจากเรื่องที่สอน เพื่อประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเหตุการณ์หรือเรื่องที่สอนอันจำเป็นต้องใช้ทั้งสองประเภทข้างต้น เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำให้โรงเรียนบางแห่งประกาศจัดการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์แบบออนไลน์สลับกับแบบออนไซต์ ฯลฯ

 

 

 

 

 

____________________

เอกลักษณ์ ราชไรกิจ

เลขประจำตัวนักวิจัย ORCID iD: 0000-0002-0085-9259

15 กุมภาพันธ์ 2565

เอกสารอ้างอิง APA

เอกลักษณ์ ราชไรกิจ. (2565, กุมภาพันธ์ 15). การทดสอบโดยใช้แล็บกริ๊ง (Lab Practical Exam: Lab Clink: Bell Ringer). The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management (GotoKnow). https://www.gotoknow.org/posts/697827

หมายเลขบันทึก: 697827เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2022 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2023 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท