มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 3 (3)


มีผู้กล่าวว่า หน้าที่ของอาจารย์ คือ สอนในสิ่งที่ตัวเองวิจัย วิจัยในสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติ ปฏิบัติตามผลงานวิจัย และวิจัยจากปัญหาที่ได้มาจากการสอนและการปฏิบัติ

         < เมนูหลัก >

         ตอน 3 (3)

         “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         สอน-เรียนรู้-สร้างองค์ความรู้

         จะต้องปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่าหน้าที่หลักของอาจารย์ไม่ใช่การสอนแต่เป็นการเรียนรู้และการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด คือ การเรียนรู้จาก “ข้อมูลปฐมภูมิ” (Primary Data) ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง นำมาวิเคราะห์แยกแยะและสังเคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้ใหม่ โดยดำเนินการเป็นกระบวนการที่มีระบบ คือ การสร้างองค์ความรู้หรือการวิจัยนั่นเอง

         ผู้ที่สอนดีมีคุณภาพ คือ ผู้ที่ความรู้แน่น รู้จริง ซึ่งหมายถึงรู้ในระดับสร้างองค์ความรู้ขึ้นใหม่ คือ ทำวิจัยได้นั่นเอง

         ขณะนี้ ในมหาวิทยาลัยไทย อาจารย์ส่วนใหญ่สอนตามตำราซึ่งก็ถูกบ้างผิดบ้าง ข้อความบางตอนก็ล้าสมัยหรือผิดไปแล้ว บางตอนอาจจะไม่เป็นจริงสำหรับสังคมไทย การสอนตามตำราจึงมักเป็นการสอนความรู้ที่ไม่แน่ว่าจะจริงทั้งหมด และมักไม่สนุกไม่น่าสนใจ สู้สอนจากประสบการณ์ของอาจารย์ไม่ได้

         มีผู้กล่าวว่า หน้าที่ของอาจารย์ คือ สอนในสิ่งที่ตัวเองวิจัย วิจัยในสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติ ปฏิบัติตามผลงานวิจัย และวิจัยจากปัญหาที่ได้มาจากการสอนและการปฏิบัติ

         ทั้งนี้ หากปฏิบัติได้เช่นนี้ หน้าที่สอน-เรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ ของอาจารย์ก็จะกลายเป็นหนึ่งเดียว คือ การสร้างคุณภาพวิชาการในระดับ “รู้จริง” กิจกรรมวิชาการร่วมกันของอาจารย์และศิษย์ก็จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสนุกสนาน กิจกรรมวิชาการจะกลายเป็นกิจกรรมที่ก่อความสุขร่วมกันมิใช่เรียนอย่างมีความทุกข์อย่างที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

         นอกจากเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการสอน เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ และวัฒนธรรมการสร้างความรู้แล้ว จะต้องเปลี่ยนจากสภาพที่การเรียนรู้เป็นทุกข์ เป็นการเรียนที่ก่อความสุขสนุกสนาน และอาจารย์เป็นผู้ส่งเสริมกระตุ้น ยั่วยุ สร้างแรงบันดาลใจให้อยากเรียนรู้ ให้เกิดจินตนาการในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ 

         อาจารย์จะไม่เพียงสอนให้นักศึกษาจบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่จะต้องทำหน้าที่ “แมวมอง” หานักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ และมีฉันทะต่อการเป็นนักวิชาการ ชักชวนเข้าสู่ “ชีวิตวิชาการ” เพื่อสืบเนื่อง “ชุมชนวิจัย” ซึ่งในสังคมสมัยใหม่จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดของสังคม

         หากเป็นไปตามวัฒนธรรมเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้กิจกรรมการเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากการสอนในชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดมาเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถาม การสังเกต รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีวิธีการที่จะทำให้เกิดความแม่นยำ การวิเคราะห์ข้อมูล และการสังเคราะห์แนวคิดขึ้นใหม่ เกิดเป็นการเรียนรู้ขึ้น กิจกรรมเหล่านี้ถ้าเป็นการรวบรวมข้อมูลจาการทดลองเอง คือ การวิจัยเชิงทดลอง หากเป็นการรวบรวมข้อมูลจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นการวิจัยทุติยภูมิ คือ เป็นการทบทวนองค์ความรู้

         หากเป็นการไปอ่านรายงานผลการวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนำมาเล่าและวิเคราะห์วิจารณ์ซักถามแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในกลุ่ม คือ กิจกรรมวารสารสโมสร (Journal Club)
 หากจะเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการสอนไปสู่การเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้กิจกรรมการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนจากการสอนในชั้นเรียนเป็นการทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ได้แก่ การวิจัย การจัดกิจกรรม “สัมมนาผลงานวิจัย” (Research Seminar) วารสารสโมสร กิจกรรมภาคสนามเพื่อการเรียนรู้ (Field Studies) เป็นต้น

         ที่เสนอนี้ไม่ใช่จะให้เลิกการเรียนการสอนในชั้นเรียนทั้งหมด แต่ควรมีกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ระบุเป็นกิจกรรมเสริมในระดับปริญญาตรี และเป็นกิจกรรมหลักในระดับบัณฑิตศึกษา โดยประเด็นสำคัญ ก็คือ กิจกรรมเหล่านี้จะต้องเป็นสิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ

         โดยนักศึกษาเข้าร่วมเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ต้องไม่ใช่กิจกรรม “เทียม” หรือจำลองขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เท่านั้น เพราะจะทำให้กิจกรรมเหล่านั้นมีคุณภาพต่ำ คุณภาพของการเรียนรู้จะต่ำตามไปด้วย

         บทความพิเศษ ตอน 3 (3) นี้ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2795 (105) 16 พ.ค.39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์  วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6969เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2005 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท