เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก


เทคโนโลยีจำนวนอีกมากที่กำลังทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงโลกในทุกมิติ เพื่อให้สังคมและมนุษย์ได้รับประโยชน์สูงสุด

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก    

หลังสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา บทบาทของงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมมนุษย์อย่างเด่นชัด และเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด เริ่มจากเทคโนโลยีการสื่อสาร หลังผ่านการแก้ปัญหา Y2K เมื่อปี ค.ศ. 2000 ปริมาณการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ตของโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยการพัฒนาระบบ internet broadband เป็นครั้งแรก  โดยเฉพาะในประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตถึง 3 เท่าตัว และเมื่อเวลาผ่านมา 20 ปี เทคโนโลยีการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ และพัฒนาสังคมโลกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ในวันนี้เทคโนโลยี Digital Platform เข้ามาพัฒนา ทั้งรูปแบบของ  big data , blockchain และ quantum กำลังเป็นแรงผลักดันซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สังคมดิจิทัล (Digital society) แต่มันผลักดันสังคมทั้งสังคมให้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปทั้งบริบท  เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกกำลังมีบทบาทหลักในการพัฒนาความก้าวหน้า ความทันสมัย และตอบสนองในการใช้ชีวิตยุคใหม่ ดังจะได้ยกตัวอย่างเป็นบางส่วนให้เข้าใจดังนี้

A >>> Digital Data

การพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของข้อมูลในทุกมิติ โดยเริ่มจากโครงสร้าง ข้อมูลแบบ Analog มาเป็น Digital ทำให้ ข้อมูลมีขนาดเล็กลง มีความละเอียดสูง สามารถจัดเก็บได้หลากหลาย และการรับส่ง การประมวลผลทำได้รวดเร็ว.... สิ่งที่กล่าวมานี้ ทำให้ระบบข้อมูลดิจิทัล มีความสามารถในการตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูล และพยากรณ์ข้อมูล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และยังพัฒนาการเก็บรวบรวม จัดการ         การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลอันมหาศาลไปสู่ องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกมาก

     ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลดิจิทัลในความเข้าใจ จึงไม่ใช่เพียงการพัฒนารูปแบบการจัดเก็บ แต่การพัฒนาโครงสร้างของการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล เพื่อพัฒนาไปสู่การนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบผู้ช่วยอัจฉริยะ (Intelligent assistant) การตรวจสอบและควบคุมอัจฉริยะ (Smart control) รวมไปถึงการคาดการณ์อนาคตในด้านต่างๆ (Predict the Future)  จากจำนวนข้อมูลมหาศาลในระบบ big Data ทำให้สามารถพัฒนาระบบตรวจสอบ ระบบควบคุม การเปรียบเทียบ ความถูกต้องหรือข้อแตกต่างของข้อมูล การค้นหา ทั้งยังสามารถสร้างระบบการตรวจสอบควบคุมพฤติกรรมของบุคคลต้องสงสัย หรือบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม ทั้งยังตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจว่ามีการประพฤติปฏิบัติตนถูกต้องตามระเบียบสังคมหรือไม่ ตรวจสอบสมาชิกในสังคมว่ามีกระทำใดที่ผิดหรือเป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ของสังคมหรือไม่ ทั้งสามารถออกแบบในการให้คุณให้โทษ ที่มีต่อสมาชิกในสังคมอีกด้วย  จึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม เพราะข้อมูลดิจิทัลที่มีความละเอียด มีข้อมูลเชิงลึก จะสามารถมาช่วยในการตัดสินใจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการวางแผนการพัฒนาสังคม การพัฒนาโครงสร้างรัฐ การพัฒนาธุรกิจที่มีความเป็นดิจิทัลอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต 

 

B >>> Quantum Technology

เทคโนโลยีควอนตัมฟิสิกส์  ในความเป็นจริงเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ นี้เกิดขึ้นและพัฒนามายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากในโลกต้องกลับมาสนใจอีกครั้ง เหตุเพราะเมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา Google ได้ประกาศความสำเร็จสูงสุดด้านในการนำคุณสมบัติของอนุภาคย่อยในระดับอะตอมมาใช้ในการประมวลผล (แม้จะยังมีข้อถกเถียงในเรื่องความเร็วและเวลาในการประมวลผลที่สุดก็ตาม เพราะนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ) สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ความเร็วในการคำนวณของ Quantum Computer ที่ google สามารถคิดค้นมาถือว่าเป็นความล้ำหน้าของยุคสมัยไปมากหลายเท่าตัว

หลักการสำคัญของควอนตัมฟิสิกส์ใหม่นี้ คือการนำอนุภาคในระดับอะตอมมาทำการประมวลผล ทำให้มีการประมวลผลที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปหลายพันเท่า หลักทฤษฎีการคำนวณคอมพิวเตอร์ในรูปแบบเดิมที่ผ่านมาอาจต้องปรับเปลี่ยน การถอดรหัสที่ซับซ้อน หรือการแก้รหัส blockchain ที่ทั้งยาวและใช้เวลานาน หากเปลี่ยนใช้การคำนวณด้วยควอนตัม จะสามารถทำได้ในเวลาไม่กี่วินาที การเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ในรูปแบบเดิม “Encryption” จำเป็นต้องคิดคิดรูปแบบใหม่ โดยต้องหันมาใช้วิธีเข้ารหัสด้วย Quantum Computer แทนที่  หลังจากปี ค.ศ. 2019  ทั้งภาครัฐและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอเมริกา ยุโรป และในประเทศจีน ต่างหันมาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมด้วยงบประมาณมหาศาล ดังนั้นในอนาคตอีกไม่นานเทคโนโลยีควอนตัมจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมในทุกมิติอย่างแน่นอน

เทคโนโลยีควอนตัมกำลังถูกพัฒนาตอบสนองในทุกๆด้าน เช่น พัฒนาการของ Quantum Computing คือการประมวลผล ขณะที่มีข้อมูลในระดับมหาศาล จะสามารถทำได้ด้วยความเร็วไม่กี่วินาที เพราะเป็นการคำนวณผลที่ลงลึกในระดับอะตอม จึงมีผลทำให้ AI มีความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเมื่อ AI มีความฉลาดอย่างก้าวกระโดด ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ตามมาตัวอย่างเช่น ในภาคการเงินการธนาคารสามารถยกระดับในการตรวจสอบ ติดตามความเสี่ยงด้านเครดิต ตรวจสอบกระแสการเงินที่ผิดปกติได้แบบ Real time และปิดระบบก่อนเกิดความเสียหาย ในส่วนภาครัฐสามารถพัฒนาการตรวจสอบให้เป็น AI Regulators เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือตรวจสอบการเสียภาษีของทั้งบุคคล และนิติบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปราศจากข้อสงสัย สำหรับ Quantum Computing ยังช่วยพัฒนาให้งานวิจัยมีความถูกต้องและรวดเร็ว ในการพยากรณ์หรือคาดการณ์ก็สามารถคำนวนข้อมูลปัจจัยที่มีผลกระทบได้จากหลากหลายทิศทาง

การพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในรูปแบบ Quantum Sensor ทำให้เกิดการคำนวนที่มีความละเอียดในระดับไมโครเมตร ส่งผลต่อการตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ร่างกายมนุษย์ หรือภูมิประเทศมีความละเอียดในระดับมากกว่าตามนุษย์มองเห็นจึงทำให้การส่งข้อมูลมีความแม่นย่ำสูงสุด ระบบ Sensor ที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีควอนตัมสามารถไปพัฒนาเรื่องยานยนต์อัจฉริยะ หรือการตรวจสอบสุขภาพร่างกายที่อยู่ในระดับนาโน และอีกหลายๆอย่าง ที่ต้องใช้การตรวจจับแบบ Smart Sensor  นอกจากนั้นเทคโนโลยีควอนตัมยังพัฒนาออกไปในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างความปลอดภัยในการสื่อสาร การสร้างแบบจำลอง เราจึงเห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีควอนตัม ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาโลกในทุกๆ มิติในอนาคต

 

C >>> BlockchainTechnology

ความจริงเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ ได้เคยนำมาอธิบายถึงความสามารถไปครั้งหนึ่งแล้ว และเทคโนโลยีบล็อกเชนก็มีการพัฒนาผ่านมามากกว่า 10 ปี โดยมีการนำบล็อกเชนเข้ามาตอบสนองต่อการพัฒนาเชิงโครงสร้างในระบบ Programing เป็นหลัก  ทำให้ผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในส่วนของการพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน อาจไม่เข้าใจถึงบทบาทของบล็อกเชนมากนัก  จึงจำเป็นต้องขอนำมาขยายความให้เข้าใจซ้ำอีกครั้งถึงเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่หมายถึงระบบโครงสร้างข้อมูล (Data Structure) ที่มีความเชื่อมโยงกันเสมือนห่วงโซ่ (Chain) และแสดงว่าใครคือตัวตน ที่มีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น โดยโครงสร้างข้อมูลจะถูกจัดเก็บเป็นสำเนา และได้รับการเข้ารหัสเพื่อปกป้องความปลอดภัย ดังนั้นบล็อกเชนกำลังเข้ามาเปลี่ยนเกมทางธุรกิจ ปฏิวัติอุตสาหกรรมการบริการให้เกิดความมั่นคงทางด้านข้อมูล เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาล และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง จะได้รับประโยชน์ทางเทคนิคจากการสร้างบัญชีแยกประเภทแบบกระจาย  ระบบดิจิทัลจะทำการกระจายการอนุมัติ ในการติดตามและจัดเก็บข้อมูลไปยังพื้นที่บล็อกของข้อมูลส่วนต่างๆ และยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ซึ่งทำให้การปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบเป็นไปไม่ได้ การระบุตัวตนจะกระทำผ่านการคำนวณที่ซับซ้อน ทำให้การโจรกรรมข้อมูลแบบระบุตัวตนก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

     ผู้ใช้ระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน สามารถกำหนดเงื่อนไขของการการอนุมัติ ไว้ที่ผู้ให้บริการหรือโอนย้ายสิทธิ์นั้นไปสู่ผู้รับบริการ ได้ตามต้องการ และนอกจากนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชน ยังเปรียบเสมือนห่วงโซ่ที่ถูกนำไปใช้ในการสร้างโครงสร้างของซอฟต์แวร์อื่นๆ จำนวนมาก เทคโนโลยีบล็อกเชนยังกลายเป็นต้นกำเนิดของการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) 

 

D >>> Digital Asset  

สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ  (Digital Asset)  เป็นผลพวงจากการพัฒนา Blockchainกำลังกลายเป็นสิ่งใหม่ในทศวรรษนี้ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่กำลังเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศษฐกิจของสังคม ทั้งในรูปแบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจพื้นฐาน มันอาจเข้ามาทดแทนหรือเบียดตำแหน่งมูลค่าของทรัพย์สินปกติ เช่น ทองคำ ที่ดิน ยานพาหนะ  ที่มนุษย์ถือครองอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถควบคุม บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ 

  1. Cryptocurrency

เหรียญดิจิทัล (Crypto Token) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โทเคนดิจิทัล (Digital Token) รวมถึงสินทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลอื่นๆ ที่มีออกมาแล้วเช่น Bitcoin, Ripple, Ethereum, Litecoin โดยกระบวนการสร้างหรือทำให้เกิด Cryptocurrency นี้จำเป็นผ่านกระบวนการเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จากการคำนวนค่าทางคณิตศาสตร์ของระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน เกิดเป็นหน่วยดิจิทัล ที่เรียกว่า Crypto token ที่เป็นอิสระจากควบคุมโดยมนุษย์ เราสามารถที่จะใช้รับหรือใช้จ่ายเหรียญดิจิทัลด้วยรหัสส่วนบุคคล และการบันทึกธุรกรรมในระบบบัญชีแยกประเภทออกเป็นบล็อกๆ ด้วยการเข้ารหัสเฉพาะ หากกล่าวมาถึงจุดนี้คนที่ไม่มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์อาจเกิดความยุ่งยากในการทำความเข้าใจ แต่ในฐานะผู้ใช้งานหรือผู้ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเซิงลบ ก็จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในระดับพื้นฐานไว้บ้าง  และราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำจำกัดความหมาย ของ Cryptocurrency คือ “เงินตราเข้ารหัสลับ” ซึ่งมีความเป็นมาตราฐานในระดับสากลที่สำคัญ คือ

1. ความเป็นมาตรฐานของเหรียญ ในทุกหน่วยจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน 

2. สามารถที่จะแบ่งแยกเป็นหน่วยย่อยได้ 

3. ง่ายและสะดวกต่อการพกพา และไม่เสื่อมสภาพ

4. การได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสากล

ในด้านความมีเสถียรภาพของเหรียญดิจิทัล หรือ (Cryptocurrency) อาจมีคุณค่าสูงขึ้นมากในอนาคต หรืออาจตกต่ำลงได้ ขึ้นอยู่กับค่าความนิยมของมนุษย์ หากจะเปรียบเทียบได้กับทองคำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้ เหตุเพราะเหรียญดิจิทัลเป็นอิสระจากการจัดการใดๆ และไร้การควบคุมดูแลจากรัฐนั้นเอง

  1. Digital Currency 

เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางแห่งรัฐ  Central Bank Digital Currency (CBDC)  ถือเป็นสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า เป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้  และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการสร้างและควบคุมจัดการ แต่มีความแตกต่างจากเหรียญ Cryptocurrency ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นเพราะ Cryptocurrency เป็นเหรียญที่ไร้การควบคุมจัดการโดยรัฐ ทำให้อาจมีมูลค่าผันผวนจากการใช้แลกเปลี่ยน หรือเก็งกำไร อาจไม่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ชำระค่าสินค้าและบริการ  และที่สำคัญเงินดิจิทัลจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ของทั้งโลกที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลกับการพัฒนาด้านการเงิน จึงเป็นรูปแบบของเทคโนโลยีการเงินที่จะถูกผลักดันเข้าสู่ระบบการเงินโลก เนื่องจากเงินดิจิทัล (Digital Money) เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพสำคัญ ดังนี้

  1. ทำให้ผู้ใช้เงินมีประสิทธิภาพในการควบคุมและการจัดการ
  2. เทคโนโลยี Blockchain สามารถทำให้ผู้ใช้เงินตรวจสอบการเคลื่อนไหว และทิศทางของกระแสการเงิน ในกรณีที่มีความผิดพลาดในการใช้เงิน
  3. ลดภาระจากต้นทุนในการบริหารจัดการของภาครัฐ ในการจัดพิมพ์ธนบัตรและเหรียญ 
  4. ลดภาระในการจัดการการเงิน ที่ต้องใช้บริการผ่านตัวกลาง (ธนาคาร) ทำให้มีความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินการทางการเงิน สำหรับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก จะช่วยลดต้นทุนส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
  5. สร้างความเข้มแข็งในระบบการเงินของประเทศ

จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า Digital Currency ถูกออกแบบมาโดย CBDC ที่มีการควบคุมผ่านกลไกอำนาจรัฐ ในแต่ละรัฐที่มีความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งรัฐผู้กำหนดสกุลเงินดิจิทัลยังจำเป็นต้องมีสินทรัพย์อื่นในการค้ำประกันมูลค่าของเงินดิจิทัลนั้นๆ  ทำให้ค่าความเป็นมาตรฐานมีความมั่นคงสูง เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

 

จากที่ได้อธิบายมาทำให้เห็นได้ว่าระหว่าง Cryptocurrency และ Digital currency มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สิ่งที่สินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสองรูปแบบนี้มีความเหมือนกันคือโครงสร้างทางโปรแกรมมิ้งมาจาก เทคโนโลยีบล็อกเชน แต่หากจะเปรียบเทียบความแตกต่าง อาจกล่าวได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัล Cryptocurrency ที่ปราศจากการควบคุมและการจัดการโดยรัฐ เปรียบเทียบได้เสมือนทองคำที่อยู่ในโลก  เพราะว่ามูลค่าการขึ้นหรือลงถูกควบคุมโดยกลไก อุปสงค์อุปทาน (Demand - Supply) ของตลาดโลกเป็นสำคัญ จึงทำให้ค่าความเป็นกลางของสินทรัพย์นี้ ขาดความเสถียรในการนำมาเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน ที่ผ่านมา Cryptocurrency จึงเป็นได้เพียงสถานะของทรัพย์สินที่มีการเก็บสะสม เพื่อการทำกำไรคล้ายกับทองคำ และมูลค่าของมันถูกยอมรับโดยสภาพของสังคมโลก ส่วน Digital currency นั้นถูกสร้างขึ้นมาโดย CBDC เพื่อวัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และมีความเสถียรในตัวผ่านระบบเศรษฐกิจ จึงเหมาะในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ไม่เหมาะในการเป็นทรัพย์สินที่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มหรือเกร็งกำไร

 

E >>> Artificial Intelligence 

Artificial Intelligence หรือ AI ไม่ใช่เพียงแค่โปรแกรมคอมพิวเตอร์หนึ่งโปรแกรม อย่างที่มีหลายคนกำลังเข้าใจ เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีขีดจำกัดอยู่ที่ ความสามารถหรือความต้องการของผู้พัฒนาโปรแกรมนั้นๆ  หากแต่ว่าคุณลักษณะของ AI นั้นจะมีความสามารถในการจดจำ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของ AI  ระบบ AI จะมีกระบวนการวิเคราะห์เชิงลึก การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดใหม่ โดยสามารถนำไปสู่การตัดสินใจ หรือการตอบสนองในรูปแบบตามการกระทำต่างๆ เราเรียกมันว่า “ความใกล้เคียงความฉลาดของมนุษย์” AI หรือ Artificial Intelligence จึงถูกเรียกเป็นภาษาไทยว่า “ปัญญาประดิษฐ์” กระบวนการที่ทำให้ AI สามารถเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ได้ด้วยตนเองนี้เราเรียกมันว่า “Machine Learning” และองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ AI มีความฉลาด สามารถการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีวันหมด คือ 

1.) Super Computer หรือประสิทธิภาพของ Micro Chip ในการประมวลผลของ AI 

2.) Data Base หรือฐานข้อมูลในการประมวลผล เป็นข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือที่เรียกว่า Big Data    

3.) Data Network ระบบสื่อสารข้อมูลประสิทธิภาพสูง 

ดังนั้นหากส่วนประกอบทั้ง 3 ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะทำให้ AI สามารถตอบสนองการพัฒนาโลกและสังคมมนุษย์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด  ในปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาททั้งต่อการดำเนินชีวิตมนุษย์ การพัฒนาสังคม การควบคุมปัญหาทางสังคมในหลายมิติ เช่น

  1. AI สามารถช่วยปิดช่องว่าง ระหว่างประสิทธิภาพการทำงานของคนที่ขาดหาย ทำให้เกิดการบริหารงาน การบริการ หรือการจัดการงานเชิงรุก
  2.   AI สามารถช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนในสังคม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและชุมชน ระหว่างความพึงพอใจหรือแรงต่อต้าน ทำให้ระบบรัฐสามารถตอบสนอง หรือแรงเสียดทานต่อผลกระทบได้ตรงประเด็นของปัญหา
  3.   AI สามารถสร้างแบบจำลองในการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของปัญหาเชิงสังคม หรืออาจนำมาเป็นส่วนของการพัฒนาธุรกิจได้เช่นกัน ทำให้ผู้บริหารสามารถแจกแจงการจัดการปัญหาลงสู่ผู้ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว
  4.   AI สามารถทำหน้าที่เป็น ผู้ช่วยอัจฉริยะในการตัดสินใจ หรือการแก้ปัญหาที่สำคัญ ได้ในทุกระดับองค์กร เพราะ จำนวน Big data จะทำให้ AI มีแหล่งข้อมูลในการสังเคราะห์ แยกแยะ ประสบการณ์ของการแก้ไขปัญหา มาช่วยให้ผู้บริหารสามารถทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพ
  5.   AI ช่วยให้นักวิเคราะห์ และนักวางแผนงาน นำข้อมูลการวิเคราะห์จาก AI มาเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนจัดการระบบบริหารจัดการให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

 

AI กับหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Smart Robot)

ในปี 2022 มีการคาดการณ์ถึงความต้องการ AI และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ สำหรับงานอุตสาหกรรมจะมีจำนวนมาก เนื่องจากกระบวนการผลิต และระบบห่วงโซ่อุปทานจะกลับเข้าสู่ความต้องการในระดับเดิม ปัญหาของการขาดแคลนแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ยังเป็นปัญหารุนแรงที่จำเป็นต้องถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ, AI  ดังนั้นหุ่นยนต์อัจฉริยะในยุคใหม่ จึงไม่เพียงเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีความสามรถทำงานในรูปแบบเดิม หรืองานซ้ำๆ เท่านั้นแต่หุ่นยนต์อัจฉริยะในยุคใหม่ จะสามารถทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย สามารถรีเซ็ตระบบใหม่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างไร้ขีดจำกัด และ หุ่นยนต์อัจฉริยะจะเข้ามาทดแทนแรงงานประเภท แรงงานไร้ฝีมือ งานเสี่ยงอันตราย งานประจำที่ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ หรืองานที่ต้องแข่งขันกับเวลา เป็นต้น

 

AI กับรถยนต์ไร้คนขับ Smart Vehicles

การพัฒนายานยนต์ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์สันดาป มาเป็นพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาให้กลายเป็นยานยนต์อัจฉริยะมากขึ้นมาโดยตลอด ภายในยานยนต์ยุคใหม่จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ IOT, Sensor, Smart Camera โดยอุปกรณ์ทั้งหมดถูกควบคุมการทำงานโดย AI ทำให้ยานยนต์ยุคใหม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันระบบ AI ยังสามารถที่จะเรียนรู้สภาพแวดล้อม ความต้องการของผู้ใช้งาน และทำการอัพเดทอัลกอริทึมภายในระบบโดย Machine Learning ทำให้การพัฒนานำไปสู่การเป็นยานยนต์ไร้คนขับที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันบริษัทรถยนต์ Tesla ถือได้ว่าเป็นผู้พัฒนาระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 3 เท่านั้น จากมาตราฐานโลก 5 ระดับ ( ระดับที่ 5 หมายถึงระบบอัตโนมัติในการขับขี่เต็มรูปแบบ) 

 

AI กับการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นกระบวนการพัฒนาตามหลักคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผ่านการคิดเชิงตรรกะ หรือ Logical Thinking กำหนดการใช้เหตุและผลเป็นหลักของการวิเคราะห์ แต่ในปัจจุบันการพัฒนา AI ได้ยกระดับไปสู่การพัฒนาเชิงอารมณ์ หรือการคำนวณค่าเชิงอารมณ์ พูดอีกนัยก็คือการทำให้ AI มีความฉลาดทางอารมณ์หรือ Smart Emotion นั้นเอง โดยให้ AI มีความสามารถรับรู้เข้าใจ ผ่านการแสดงออกจากการมองเห็น การฟังเสียง และนำไปประมวลผลผ่านระบบ Machine learning ทำให้ AI ในปัจจุบันและอนาคตสามารถที่จะบ่งบอกถึงอารมณ์ของมนุษย์ได้จากรูปลักษณ์การแสดงออกในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่เรียกว่าความฉลาดทางอารมณ์นี้ทำให้ AI มีความใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่นนั้นแล้วมนุษย์จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาตนเองให้มีความสามารถมากกว่า AI  โดยเฉพาะความสามารถในการควบคุม AI  มิฉะนั้นก็ไม่ไม่แน่ว่าสิ้นศตวรรษที่ 21 มนุษย์อาจกลายเป็นผู้ถูก AI ควบคุมก็เป็นได้

 

F >>> Energy saving

เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน  ปัจจุบันการแข่งขันในผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ มีหัวใจอยู่ที่แหล่งเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่นั้นเอง  เช่นนั้นอุปสรรคต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) คือกระบวนการชาร์จแบตเตอรี่ที่ยาวนาน การแข่งขันในการคิดค้นวิธีเปลี่ยนเวลาการชาร์จจากชั่วโมงเป็นนาที  ซึ่งนอกจากการแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บระหว่าง Aluminium Phosphate หรือ Solid-state  และ Lithium-Ion  ผู้คิดค้นเทคโนโลยียังพัฒนาให้แบตเตอรี่มีรูปแบบเป็นโมดูลาร์แบตเตอรี่ (Modular Battery) หมายถึงการประกอบด้วยชุดเซลล์ขนาดเล็กที่จัดระเบียบตัวเองได้แบบ Tanktwo String Cell เพื่อความสะดวกในการชาร์จได้อย่างรวดเร็ว เพราะชุดเซลล์ขนาดเล็กที่บรรจุอยู่ในแบตเตอรี่จะถูกดูดออก และเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่ชาร์จใหม่ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบ Smart Mobility ของเมืองขนาดใหญ่ในโลก  ในขณะที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าราว ๆ กลางศตวรรษที่ 21 นี้ รูปแบบของยานพาหนะและระบบการขนส่งของโลกจะเปลี่ยนไป  โดยที่การใช้พลังงานฟอสซิลของโลกจะถูกลดความสำคัญในการใช้งานลงอย่างแน่นอน

 

Technology to change

เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลกในทุกๆ ด้าน สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของเทคโนโลยี ซึ่งพอที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ไม่มากก็น้อย ว่ายังมีเทคโนโลยีจำนวนอีกมากที่กำลังทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงโลกในทุกมิติ เพื่อให้สังคมและมนุษย์ได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีใดๆ ในอนาคตย่อมส่งผลทั้งเชิงบวกต่อสิ่งใหม่ และอาจส่งผลลบต่อสิ่งเก่าหรือสิ่งที่มนุษย์กำลังปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง  จึงเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจทั้งในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี  หรือเป็นผู้ที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามารุกล้ำการดำเนินชีวิตก็ตาม....

เดอะ คอมพีท เทคโนโลยี

หมายเลขบันทึก: 696480เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2022 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2022 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท