มีหวัง มีพลัง สร้างความสุข ไปกับนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม


สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุก ๆ ท่านที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้นะคะ สำหรับกระทู้นี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะมีหน้าที่ Hopeful Empowerment + Skilled Life Design + Supportive Engagement อย่างไรในนักศึกษากฎหมาย ซึมเศร้า วิตกกังวล ติดพนัน มีอาการหูแว่วเล็กน้อย และสอบตกทุกวิชา

(ที่มา: https://allwellhealthcare.com/depression-disorder/)

ก่อนที่เราจะไปในส่วนของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะมีหน้าที่ต่าง ๆ ในกรณีนี้อย่างไรบ้างนั้น เรามาดูกันว่านักศึกษากฎหมายมีการเรียนและการใช้ชีวิตโดยรวมเป็นอย่างไรกันก่อนดีกว่าค่ะ โดยข้อมูลที่ผู้เขียนจะเขียนต่อจากนี้เป็นเพียงประสบการณ์และมุมมองหนึ่งของเพื่อนผู้เขียนที่กำลังศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของนักศึกษากฎหมายแต่อย่างใดนะคะ /\ ถ้าทุกท่านพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยค่ะ~

เพื่อนของผู้เขียนเล่าว่า เพื่อน ๆ ที่มาเรียนในคณะนิติศาสตร์จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่รู้ตัวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าอยากจะเรียนกฎหมาย เพื่อน ๆ กลุ่มนี้ในช่วงปี 1 ก็จะค่อนข้างปรับตัวได้เร็วเพราะว่ามีพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็จะมีความกดดันตัวเองอยู่ด้วย บางคนก็กดดันตัวเองมากเกินไปจนสอบได้คะแนนน้อยหรือสอบตกวิชาหนึ่งก็จะรู้สึกเศร้า เสียใจ วิตกกังวล ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มของคนที่มาเรียนด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งโดนครอบครัวบังคับมา รู้ตัวช้าว่าอยากจะเรียนกฎหมาย สอบติดก็เลยเรียน และอื่น ๆ ซึ่งเพื่อน ๆ กลุ่มนี้ รวมถึงเพื่อนของผู้เขียนเอง ช่วงปี 1 จะค่อนข้างปรับตัวได้ยากกว่ากลุ่มเพื่อนที่รู้ตัวตั้งแต่ต้น พอเริ่มปีสูง ๆ ที่เนื้อหาเริ่มเยอะขึ้น ยากขึ้น ก็จะรู้สึกหมด passion ในการเรียน เริ่มคิดว่า เราเรียนทำไม เรียนไปเพื่ออะไร แต่บางคนก็พยายามทนเรียนให้จบ ๆ ไป เรียนแบบไม่มีเป้าหมาย ต่อมาจะเป็นเนื้อหาการเรียนโดยรวมของคณะ เนื้อหาที่เรียนจะเยอะมาก แม้ในการเรียนระดับปริญญาตรีนี้จะเรียนเพื่อให้รู้หลักของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ใช้อย่างไร แต่ยังไม่ต้องจำมาตราให้ได้เป๊ะ ๆ ก็ตาม ส่วนตารางเรียนก็แน่นมากเช่นกัน ทำให้รู้สึกเหนื่อย กดดัน จนเพื่อนบางคนก็รู้สึกไม่ไหวเลยเททุกวิชา บางคนก็เลือกที่จะซิ่ว ซึ่งการซิ่วของเพื่อนจะซิ่วกันเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1 จนปี 3 ก็ยังมีเพื่อนที่ซิ่วเช่นกัน เวลาที่ไม่มีเรียนก็ต้องอ่านหนังสือตลอดเวลา แต่ไม่ใช่เพราะสอบบ่อย เป็นเพราะหลาย ๆ วิชาจะใช้การสอบอย่างเดียว 100% บางวิชาก็สอบตอนปลายภาคทีเดียว แต่บางวิชาก็จะแบ่งมาสอบตอนกลางภาคให้ด้วย ซึ่งการสอบอย่างเดียวโดยไม่มีคะแนนเก็บอย่างอื่นและเนื้อหาที่เยอะมาก ๆ นั้น ทำให้ต้องอ่านหนังสือตลอดเวลาตั้งแต่ต้นเทอม รวมถึงการที่มีเพื่อนที่เรียนเก่งมาก ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างความกดดันจนทำให้ต้องอ่านหนังสือตลอดเวลาเช่นกัน อย่างเช่นวันแรกที่เปิดเรียนก็เห็นเพื่อนนั่งอ่านหนังสือแล้ว มันทำให้เพื่อนของผู้เขียนรู้สึกกดดันว่าทำไมถึงรีบอ่านกันจัง เราเป็นนักศึกษาคนหนึ่งก็อยากจะใช้ชีวิตให้สมกับวัยเรียนมหาลัยบ้าง แต่สุดท้ายเพื่อนของผู้เขียนก็ต้องปรับตัวตามเพื่อน ๆ ในคณะไป ก่อนเรียนก็อ่านหนังสือ พักกินข้าวก็อ่านหนังสือ เรียนเสร็จตอนเย็นก็ต้องอ่านหนังสือ ทำเป็นกิจวัตรเช่นนี้วนไปในทุก ๆ วัน เมื่อประกาศคะแนนสอบก็จะใช้การประกาศแบบให้ทุกคนสามารถรับรู้คะแนนกันและกันได้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ เครียด กดดัน และรู้สึกน้อยใจต่อคะแนนของตนเอง อีกทั้งความเหลื่อมล้ำเองก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความเครียดเช่นกัน อย่างเพื่อนบางคนมีพ่อแม่หรือญาติที่ทำงานอยู่ในแวดวงของกฎหมายก็สามารถปูเส้นทางให้ลูกหลานของตนเองได้ เมื่อลูกหลานเรียนจบแล้วก็ให้อ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเนติบัณฑิตได้เลย แต่บางคนรวมถึงเพื่อนของผู้เขียนเองเมื่อเรียนจบก็ต้องทำงานไป อ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเนติบัณฑิตไป จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า ต่อให้เรียนคณะเดียวกันแต่คนที่ครอบครัวมีความพร้อมมากกว่าก็มีโอกาสไปได้ไกลกว่า (สำหรับท่านใดที่สนใจว่าเนติบัณฑิตคืออะไรสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.sanook.com/campus/1390553/) ซึ่งจากข้อมูลทางด้านบนทำให้ผู้เขียนรู้สึกถึงความเครียดและความกดดันมากมาย จึงได้ถามเพื่อนว่าแล้วมีวิธีผ่อนคลายตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อนก็บอกว่าตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยก็จะอยู่กับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม หากิจกรรมทำร่วมกัน หาวันไปเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือบางครั้งที่เรียนเสร็จแล้วรู้สึกล้ามาก ๆ ก็จะเดินรอบมหาวิทยาลัยพร้อมกับพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่เดินไปด้วยกัน แต่พอตอนนี้ที่ต้องมาเรียนออนไลน์ก็ไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ มันเลยทำให้กลับมาเครียดเหมือนเดิม เพราะไม่รู้จะระบายความเครียดอย่างไร ไม่รู้จะพูดคุยกับใคร จะคุยกับเพื่อนหรือครอบครัวก็รู้สึกเกรงใจ เพราะทุกคนก็คงมีเรื่องเครียดเหมือนกัน จนบางทีอ่านหนังสือไปแล้วร้องไห้ไปก็มี T^T และนี่ก็เป็นข้อมูล ประสบการณ์ และมุมมองทั้งหมดที่เพื่อนของผู้เขียนได้เล่าให้ฟังค่ะ

หลังจากที่ทุกท่านได้อ่านเกี่ยวกับประสบการณ์และมุมมองในการเรียนกฎหมายของเพื่อนผู้เขียนไปแล้วนั้น เราก็จะมาต่อกันในส่วนของหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมกับการ Hopeful Empowerment, Skilled Life Design และ Supportive Engagement ต่อกรณีตัวอย่างข้างต้นว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ได้ดังต่อไปนี้เลยค่ะ

Hopeful Empowerment 

เราจะทำการฟื้นฟูสุขภาวะโดยพูดคุยเพื่อประเมินความต้องการที่แท้จริงของนักศึกษากฎหมายว่าต้องการให้ช่วยอะไร มีเป้าหมายอย่างไร มีการใช้ Therapeutic relationship ในการสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการเกิดความไว้วางใจ พร้อมที่จะเล่าความต้องการที่แท้จริงออกมา ใช้ Therapeutic Listening ในการรับฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจคำพูด ทวนซ้ำเพื่อตรวจสอบความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย ใช้คำถามที่เข้าใจง่าย เน้นคำถาม อย่างไร เพื่อให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น ชวนผู้รับบริการคิดจากลบให้เป็นบวก การใช้ Cognitive behavioural therapy หรือ CBT ให้ผู้รับบริการเรียนรู้วิธีจัดการและเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่ส่งผลเชิงลบต่อพฤติกรรมและอารมณ์ และใช้หลัก PERMA model ในส่วนของ Positive emotion ใช้คำถามที่ชวนให้ผู้รับบริการมองชีวิตในเชิงบวกมากขึ้น เช่น จากสิ่งที่เกิดขึ้นคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง? ทำให้รู้ว่ามีเป้าหมายอย่างไรบ้าง? ลองคิดดูว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง? ทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่า? เป็นต้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างพลังชีวิตให้ผู้รับบริการลดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล เกิดความหวัง มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตแต่ละวันมากขึ้น

(ที่มา: https://becommon.co/life/heart-perma-model-positive-psychology/)

Skilled Life Design 

เราจะฟื้นฟูสุขภาวะโดยการฝึกทักษะที่จะช่วยทำให้ผู้รับบริการจัดการกับชีวิตตามที่ผู้รับบริการต้องการได้ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การสั่งให้ทำตามที่ผู้บำบัดบอก ชวนทำกิจกรรมที่ผู้รับบริการให้ความสนใจและต้องการทำอย่างแท้จริง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำทักษะการจัดการความเครียด เช่น การใช้ PERMA model หรือแบบจำลองที่ทำให้เกิดความสุขใจในชีวิตที่จะช่วยให้ผู้รับบริการมี Well-being หรือภาวะสุขสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ PERMA model มีทั้งหมด 5 อย่าง โดยแบ่งตามตัวอักษร ได้แก่ Positive Emotion รู้สึกดีมีอารมณ์บวก, Engagement เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง, Relationship สานสัมพันธภาพ, Meaning ชีวิตเปี่ยมความหมาย และ Accomplishment พลังจากความสำเร็จ การฝึกท่าที่ช่วยทำให้สมองคิดบวก ดังคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=rjarDDFRk0E เพื่อลดผลกระทบด้านลบของความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความรู้สึกวิตกกังวล อาการซึมเศร้า อาการหูแว่ว เนื่องจากอาการหูแว่วในบางครั้งนั้นอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีต่อสุขภาวะมากขึ้นก็อาจลดความเสี่ยงของอาการหูแว่วได้ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดและความเหนื่อยล้า เป็นต้น รวมถึงการติดการพนันด้วย ซึ่งสาเหตุของการติดพนันสามารถจำแนกได้ 4 สาเหตุคือ 

1. โรคทางสมอง ระบบการควบคุมหรือยับยั้งชั่งใจน้อยกว่าคนทั่วไป ปริมาณสารเซโรโทนินลดลงต่ำกว่าปกติ สมองบางส่วนทำงานน้อยลง มีการหลั่งของสารโดปามีนมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพากิจกรรมที่มีความตื้นเต้นเพื่อสร้างความสุข

2. พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติติดการพนัน พบว่าอาการเหล่านี้จะส่งผลทางพันธุกรรมด้วย

3. สิ่งแวดล้อม เช่น มีบ่อนพนันอยู่ในชุมชน คนรอบตัวเล่นการพนัน เป็นต้น

4. สิ่งยั่วยุและสื่อ ปัจจุบันสื่อตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อเราอย่างมาก เรามักเห็นโฆษณาคาสิโนออนไลน์หรือแอปพลิเคชันเล่นพนันออนไลน์อยู่ทั่วไปบนเว็บไซต์ และนี่ก็คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความอยากรู้อยากลองจนนำไปสู่การติดการพนัน

หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ได้ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้ติดการพนัน ก็อาจจะทำให้สามารถห่างไกลจากการเล่นการพนัน จนไม่กลับไปติดพนันอีก นอกจากนี้จะมีการปรับพฤติกรรมการเรียน ก็จะมีการพูดคุยถึงสิ่งที่ผู้รับบริการต้องการ แล้วร่วมกันปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้รับบริการและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเครียด ความวิตกกังวลจากการเรียน และลดโอกาสในการสอบตกให้มากที่สุดตามศักยภาพสูงสุดของผู้รับบริการ

Supportive Engagement 

เราจะฟื้นฟูสุขภาวะโดยการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้รับบริการในการเข้าร่วมและสร้างความสัมพันธ์กับคนในสังคม โดยการจัด Support group ให้ผู้ที่มีประสบการณ์เหมือนกันมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่าง ๆ รวมถึงการให้กำลังใจกันและกันเพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง เช่น การเข้าร่วมกลุ่มของคนที่ต้องการเลิกเล่นการพนัน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีเลิกเล่นพนันแบบถาวรและไม่ทำให้กลับไปติดซ้ำอีก เข้าร่วมกลุ่มผู้ที่เป็นซึมเศร้าเหมือนกัน ให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองดี ๆ แก่กัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกันว่าเราจะผ่านจุดนี้ไปด้วยกัน หรือการรวมกลุ่มเพื่อน ๆ ให้ช่วยกันติวหนังสือเพื่อให้สอบผ่าน ก็อาจจะช่วยทำให้ผู้รับบริการลดความกังวล มีความมั่นใจในตนเองและเชื่อใจในตนเองมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับครอบครัวเกี่ยวกับผู้บริการเพื่อให้ครอบครัวเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้กำลังใจผู้รับบริการในการฟื้นฟูสุขภาวะให้กลับมามีความสุขได้ดังเดิมด้วยเช่นกัน

(ที่มา: https://www.counselling-directory.org.uk/blog/2019/04/08/should-i-try-group-therapy-or-a-support-group)

ทั้งหมดทางด้านบนนี้ก็คือหน้าที่ในการ Hopeful Empowerment, Skilled Life Design และ Supportive Engagement ของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมตามที่ผู้เขียนเข้าใจมานะคะ ก่อนจะลากันไปผู้เขียนขอฝากไว้ว่า ความสุขนั้น เราสามารถสร้างเองได้โดยไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องดิ้นรน เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ทางใจ แต่หากความสุขนั้นต้องพยายามสร้าง หรือต้องเหนื่อย ต้องวิ่งตามหาเพื่อให้ได้มา บางทีสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของชีวิตเราก็เป็นได้

สุดท้ายแบบเซฟไฟล์ว่า final!! ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้มาก ๆ เลยนะคะ /\ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้บ้าง และขอสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน ขอให้มีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดภัยจากโควิด 19 ที่กลายพันธุ์เก่งไปได้ แล้วก็โชคดีมีชัย โชยชัยมีวัวนะคะ ขอบคุณค่ะ~ :D

ขอบคุณข้อมูลจาก :

ความสุขสร้างได้ เปลี่ยนชีวิตให้สุขใจอย่างยั่งยืน ด้วยจิตวิทยาเชิงบวกและแบบจำลอง PERMA

วิธีเลิกเล่นการพนันแบบถาวร เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

หมายเลขบันทึก: 695796เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2022 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2022 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท