แก้ไขยังไง ให้ใช้ได้จริง


     จากโจทย์ที่ได้รับจากอาจารย์ ”นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะมีหน้าที่ Hopeful Empowerment + Skilled Life Design + Supportive Engagement อย่างไร ในนักศึกษากฎหมายซึมเศร้า วิตกกังวล ติดพนัน มีหูแว่วเล็กน้อย และสอบตกทุกวิชา“ ฉันจึงได้ตีความออกมาได้ดังนี้

 

ตั้งคำถามด้วย What-Why-How

     ในการที่นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะเริ่มบำบัดได้ ต้องเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับบริการก่อน (Therapeutic Relationship) ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต หรือการพูดคุยก็ตาม โดยที่เราจะนำหลัก Therapeutic listening to reasoning มาใช้ คือ รับฟังในสิ่งที่ผู้รับบริการพูดอย่างตั้งใจ ใส่ใจคำพูด เอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นใจซึ่งกันและกัน และให้กำลังใจ ลองตั้งคำถามกับตัวเองด้วยหลัก What-Why-How รวมถึงการสร้างบทสนทนาที่เพิ่มความสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการเชื่อใจ และเพื่อให้เราเข้าใจบริบทสภาพแวดล้อม , เข้าใจบุคคลคนนั้น เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน สิ่งที่สนใจ กิจกรรมที่ชอบทำ เมื่อเราเข้าใจสาเหตุแล้ว เราก็จะสามารถมาวิเคราะห์ หาแนวทางในการแก้ไข และ ลงมือแก้ปัญหานั้นได้ โดยมีทฤษฎีสร้าง Well-being (สุขภาวะ) ที่เรียกว่า PERMA มาช่วยปรับเปลี่ยน Mindsets  เพื่อให้มีความสุขมากกว่าเดิม

 

Why-ทำไมอาการเหล่านี้ถึงสร้างปัญหา ?

     จากกรณีศึกษา นักศึกษากฎหมายคนนี้ซึมเศร้า วิตกกังวล ติดพนัน มีอาการหูแว่วเล็กน้อย และ สอบตกทุกวิชา เราได้นำมาวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วว่า การศึกษาวิชากฎหมายนั้นค่อนข้างที่จะใช้ความจำเยอะ อาจจะทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลในการสอบมากเกินไป และอาจจะตั้งความหวังในการสอบในแต่ครั้ง เมื่อผลสอบออกมา ว่าสอบตกอาจจะทำให้ผิดหวัง เศร้า จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และ ด้วยอาการของภาวะซึมเศร้า ก็ทำให้ท้อง่าย อดทนต่ำ รู้สึกตัวเองไม่มีค่า อ่านหนังสือไปก็สอบตกอยู่ดี เขาอาจจะมีวิธีการคลายเครียด หรือกิจกรรมที่ชอบ คือ การเล่นพนัน ซึ่งเป็นวิธีการคลายเครียดที่ไม่เหมาะสม แถมยังเป็นการเพิ่มความเครียด วิตกกังวลให้เขาโดยไม่รู้ตัว และเป็นตัวกระตุ้นภาวะซึมเศร้าอีกด้วย เมื่อร่างกายตกอยู่ในภาวะซึมเศร้ามากๆ ก็ส่งผลถึงสารสื่อประสาทในสมองที่ไม่สมดุลกัน จนทำให้เกิดปัญต่างๆตามมา

 

What-อะไรคือสาเหตุของโรคและอาการแสดงเป็นอย่างไร ?

     (พอสังเขป) 

  • ซึมเศร้า เกิดจากพันธุกรรม สารสื่อประสาท การสูญเสียคน/สิ่งที่รัก บุคลิกภาพผิดปกติ เช่น มองโลกแง่ร้าย ประเมินค่าของตนไปในทางลบ ท้อถอย เศร้าง่าย เกลียดตนเอง โทษผู้อื่น
  • วิตกกังวล เกิดจากพันธุกรรม สารสื่อประสาท ระบบประสาทอัตโนมัติ ความเชื่อของการรับรู้ตนเองในอดีต ขาดการเรียนรู้ในการเผชิญความจริงจากต้นแบบ เช่น พ่อแม่ ครู
  • ติดการพนัน เกิดจากสารสื่อประสาท ประสาทกายวิภาคศาสตร์ ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ และ สมาธิสั้น บุคลิกภาพชอบท้าทาย/แข่งขัน/สนุกสนาน ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น และ/หรือลืมความทุกข์ชั่วขณะ
  • อาการหูแว่วเล็กน้อย อาจมีภาวะอาการของจิตเภท เกิดจากพันธุกรรม สารชีวเคมีในสมอง และ ประสาทพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็กที่ครอบครัว แสดงอารมณ์วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เป็นมิตร จู้จี้ยุ่งเกี่ยวมากเกินไป
  • ปัญหาการเรียน(สอบตก) เกิดได้จากหลายสาเหตุ
    • ความไม่เข้าใจ (ภาษา) ในสิ่งที่อาจารย์สอน อ่านเขียนไม่กระจ่าง (ปัญหาการสื่อสาร)
    • ความเป็นคนเก่งที่ใจร้อน-เบื่อเพื่อนเรียนอ่อน-มุ่งเกรดเอ (ปัญหาสติปัญญาสูง)
    • ความไม่สามารถคงสมาธิในการเรียน ทำการบ้านไม่ทันตามที่อาจารย์กำหนด (ปัญหาสมาธิสั้น)
    • ความเครียดจนนอนไม่หลับ ขาดแรงจูงใจ-เบื่อหน่ายในบทเรียนที่แก้ปัญหาซับซ้อน (ปัญหาทัศนคติ)
    • ความอดทนต่ำ อ่อนไหวและอ่อนแอ ล้มเลิกง่าย เพราะเคยถูกตำหนิจากพ่อแม่อาจารย์ (ปัญหาบุคลิกภาพ)
    • ความเจ็บป่วย จิตเภท วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ อารมณ์สองขั้ว ซึมเศร้า ติดเกม ติดการพนัน (ปัญหาจิตเวช)

 

What-PERMA Theory คืออะไร ?

     เราจะนำ PERMA Theory เป็นทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ที่พัฒนาโดย Martin Seligman นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ ซึ่งทฤษฎีนี้อธิบายสิ่งที่ทำให้มนุษย์เจริญรุ่งเรือง (human flourishing) หรือ มีความสุข (well-being) ทั้งหมด 5 อย่าง สามารถแบ่งได้ตามตัวอักษร PERMA ได้แก่ Positive Emotion (อารมณ์บวก) , Engagement (การมีส่วนร่วม) , Relationships (ความสัมพันธ์), Meaning (ความหมาย) และ Accomplishment ( ความสำเร็จ) มาเป็นตัวช่วยในการบำบัดผู้รับบริการ โดย PERMA แต่ละตัวทำงานกับสุขภาวะของเราดังนี้

1.Positive Emotion (P)

     อารมณ์บวก เช่น ความสนุกสนาน การมองโลกในแง่ดี ความหวัง หรือ ความรัก ฯลฯ ถือเป็นรากฐานของการมี well-being เลย เพราะอารมณ์เหล่านี้มักทำให้รู้สึกดีเสมอ ถ้าเรามีอารมณ์บวกมากขึ้น เช่น รู้สึกสนุกกับชีวิต หัวเราะบ่อย ยิ้มได้เมื่อเจอเรื่องทุกข์ ฯลฯ เราก็จะมี well-being มากขึ้นเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากการสร้าง well-being แล้ว อารมณ์บวกยังช่วยป้องกันอารมณ์แย่ ๆ และเพิ่มความถึกทน ให้กับเราอีกด้วย

2.Engagement (E)

     Engagement หรือ การมีส่วนร่วม จะหมายถึง การที่เราทุ่มเทพลังงาน เวลารวมถึง ความสามารถของตัวเอง ให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ หรือ งาน ฯลฯ จนเราสามารถเข้าสู่ภาวะทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Flow ได้ ซึ่งภาวะนี้มักทำให้คนจมอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่รู้สึกถึงสิ่งที่อยู่รอบข้าง และที่สำคัญ คือ มันทำให้เรารู้สึก feel good ด้วย

3.Relationships (R)

     ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น (Positive Relationships) เราจะรู้สึกมีความสุข เพราะความสัมพันธ์ที่ดีมักทำให้เราไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อีกทั้ง เพื่อน แฟน หรือ คนในครอบครัว สามารถทำให้เราหัวเราะ มีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

4.Meaning (M)

      ทุกคนมักรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองต้องมีคุณค่าและความหมาย เพราะฉะนั้นการเลือกนับถือศาสนา การยึดในอุดมการณ์บางอย่าง หรือ การยึดติดกับเป้าหมายในชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเรามีอะไร กลับกัน ถ้าเราไม่มีเป้าหมายในชีวิต อุดมการณ์ หรือ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจใด ๆ เลย เราก็อาจจะรู้สึกว่าชีวิตของเราช่างไร้ค่า และไม่มีความสุขได้

5.Accomplishment (A)

     คือ ความสำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความพยายามในการไปถึงเป้าหมายที่ฝันไว้ การตั้งใจทำงานเพื่อความก้าวหน้า หรือ การฝึกฝนตัวเองจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยไม่หวังเรื่องอื่น เช่น เงิน แต่ความสำเร็จก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเสมอไป 

 

How-นำ PERMA Theory มาใช้แก้ไขอย่างไร ?

     PERMA theory  เป็นทฤษฎีที่นอกจากจะช่วยเพิ่ม well-being ให้กับเรา อีกทั้ง  PERMA เกี่ยวข้องกับเรื่องดี ๆ ของมนุษย์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การมีสุขภาพที่ดี การมีชีวิตชีวา การมีความสุขกับหน้าที่การงานรวมถึงชีวิต และส่งเสริมเรื่องการมีความรับผิดชอบได้ด้วย จากที่กล่าวมา เราจึงนำทฤษฎีนี้มาปรับใช้กับเรื่องราวของ นักศึกษากฎหมายซึมเศร้า วิตกกังวล ติดพนัน มีหูแว่วเล็กน้อย และสอบตกทุกวิชา 

     โดยเราจะเริ่มจากการนำ P-E-R-M-A มาสร้างความหวัง การสร้างพลัง (Hopeful Empowerment) คือ การพูดให้กำลังใจ พูดคุยแบบรับฟัง ตั้งใจฟังจากใจจริง ไม่ตัดสิน ไม่ต้องพยายามให้คำตอบว่าควรทำอย่างไร อย่าเพิ่งตัดสินว่า การที่เขาไม่ทำ หรือทำไม่ได้ แปลว่า เขาขี้เกียจ ไม่มีวินัย ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง หรือเรียกร้องความสนใจ พูดคุยด้วยทัศนคติแง่บวก ชวนพูดคุยเรื่องราวในมุมมองใหม่ คอยให้กำลังใจ ลองสื่อสารเพื่อคลายเศร้าในทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ด้วยหลักการ ”CLEAR”  และ ลองขยับท่าทางบริหารสมอง คลายความเครียด

  • C : Conscious > การตั้งสติ
  • L : Listening > การฟังจากใจ 
  • E : Empathy > การช่วยด้วยใจ 
  • A : Active > การชวนขยับ 
  • R : Relaxing > การผ่อนคลาย 

เมื่อเขามีจิตใจที่ผ่อนคลายแล้ว ลองชวนทำกิจกรรมที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น 

     แล้วนำหลัก P-E-R-M-A มาใช้ คือ ชวนคิดชวนทำกิจกรรมในแง่บวก กิจกรรมที่มีคุณค่าสำหรับผู้รับบริการ หาสิ่งที่เขาชื่นชอบ และสิ่งที่เขาชอบทำ เริ่มจากง่ายๆ ไม่มีขั้นตอนซับซ้อน สามารถทำให้สำเร็จได้ง่าย คอยให้กำลังใจ ลองให้ทำด้วยตนเองก่อน ให้เขาได้ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ได้ลองเป็นผู้นำตัวเอง โดยที่มีนักกิจกรรมบำบัดค่อยอยู่ข้างๆ เพื่อบรรเทาวิตกกังวลที่ไม่กล้าเผชิญปัญหา เมื่อมีสติ อารมณ์คลายเศร้าแล้ว ชวนทำกิจกรรมการฝึกหายใจ เพื่อฝึกสมาธิ ปลุกพลังบวก สร้างความสุข

     หลังจากนั้น เราจะเริ่มให้ออกแบบ เรียนรู้ทักษะการวางแผนชีวิต (Skilled Life Design) โดยเริ่มจากลองให้เขาทำสิ่งใหม่ๆ ให้ลองทำดูว่าวิธี/กิจกรรมไหนทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย แล้วให้เขาวางแผนระยะสั้นที่มีกิจกรรมเหล่านั้นแทรกอยู่ก่อน เช่น วันนี้เราจะทำอะไรกันบ้าง พรุ่งนี้จะทำอะไร หนึ่งสัปดาห์ สองสัปดาห์ ค่อยๆเพิ่มขึ้นตามระดับความสามารถ มีการเขียน To do list ในแต่ละวัน การจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม จัดสรรเวลาพักผ่อน ทำงาน อ่านหนังสือ ผ่อนคลาย ให้เหมาะสมการงานที่ได้รับ เมื่อเริ่มว่าแผนระยะสั้นได้แล้วก็เริ่มวางแผนระยะยาว เริ่มมีการวางแผนว่าจะวางชีวิตไปในแนวทางไหน จำเป็นต้องเพิ่ม/ฝึกฝนทักษะใดบ้างในการใช้ชีวิตประจำวัน เริ่มให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเงิน การฝาก-ออมเงิน และเริ่มให้ทำสมุดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายในแต่ละวัน จัดสรรแบ่งส่วนเงินให้แยกเป็นกอง เพื่อใช้ทำแต่ละอย่างได้อย่างเหมาะสม ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการติดพนันว่าจะทำลายตัวเราอย่างไร และ ข้อดีของการอ่านหนังสือ/เรียนหนังสือ จะสร้างประโยชน์ให้เราอย่างไร เพื่อให้เขาสามารถจัดการกับการเรียนหนังสือหรือการสอบได้

     เมื่อเรามีแผนที่วางได้ชัดเจนแล้ว เราก็จะพาผู้รับบริการเข้าสู่กระบวนการ Supportive Engagement เพื่อส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ผุ้รับบริการเกิดความตระหนักและแสดงศักยภาพที่มีออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เราสามารถนำมาปรับปรุง พัฒนาวิถีชีวิตของตนให้สำเร็จ โดยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Social interaction) นำไปสู่การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ รวมกับการสร้างพลังใจ (heart) พลังสมอง (head) พลังทำ/ปฏิบัติ (hand) และได้ทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า มีเป้าหมาย ก่อให้เกิดความสุขความพึงพอใจได้แล้วนั้นย่อมทำให้เกิดการสร้างเสริมพลัง (Empowerment) เพราะเมื่อได้รู้สึก (Feeling) คิด (Thinking) และลงมือทำ (Doing) การรู้ตื่นรู้เบิกบานในจิตวิญาณตนเอง (Spirituality) ก็จะเกิด

6323003 พรณภัทร พรเลิศพงศ์

อ้างอิง 

 

คำสำคัญ (Tags): #จิตสังคม#perma#WHAT WHY HOW
หมายเลขบันทึก: 695745เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2022 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2022 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท