รูปแบบการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีน (ยากจน) ในพื้นที่การดูแลของมัสยิดดารุลอามาล ชุมชนบ้านโสร่ง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี


รูปแบบการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีน (ยากจน) ในพื้นที่การดูแลของมัสยิดดารุลอามาล ชุมชนบ้านโสร่ง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ฮัสบุลเลาะ  อาศิสสกุล1, สะสือรี วาลี2,  มะดาโอะ ปูเตะ3

 

1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์,  (รัฐประศาสนศาสตร์), คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์,  (รัฐศาสตร์), คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

3 ผู้ช่วยศาสตราจารย์,  (รัฐประศาสนศาสตร์), คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี        

 

บทคัดย่อ

          บทความวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน และศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้าน รักษาการแทนอิหม่ามประจำมัสยิดดารุลอามาน คอเต็บ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการหมู่บ้าน ประชาชนทั่วไป และกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนมาซากีน รวมจำนวน 16 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ การจัดทำแบบสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการใช้แบบฟอร์มที่มีการเตรียมการ มีแผนการสัมภาษณ์เป็นการล่วงหน้า แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เนื้อหาโดยใช้หลักตรรกเทียบเคียงแนวความคิด ทฤษฎี และงานวิจัยควบคู่บริบท 

ผลการวิจัยพบว่า  มัสยิดดารุลอามานมีรูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยมีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน  ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน พัฒนาคน และมีบทบาทที่สำคัญในการจัดกิจกรรมต่างๆ  แต่การทำงานไม่เป็นระบบ มีความขัดแย้งภายในองค์กร ทำให้การทำงานไม่มีเสถียรภาพ  และแนวทางในการแก้ปัญหาครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน  ผู้บริหารมัสยิดต้องสร้างความตระหนักในบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ  สร้างความสามัคคี  และส่งเสริมการเรียนรู้ อบรม ศึกษาดูงาน โดยรวมถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

คำสำคัญการบริหารจัดการ, ครัวเรือนมาซากีน, มัสยิดดารุลอามาน

 

THE MANAGEMENT SYSTEM MODEL OF THE MAZAKIN FAMILY (POOR HOUSEHOLD) AT DARUL-AMAN MASJID AREA, BAN SARONG COMMUNITY, MOO 3, KAOTOOM SUB-DISTRICT, YARANG DISTRICT, PATTANI PROVINCE

Hasbullah  Azizskul1,  Saseeree Walee 2, Mada-o  Puteh3

1 Assistant Professor.  (Public Administration), Faculty of Liberal Arts and Social Sciences, Fatoni University. 

2 Assistant Professor  (Political), Faculty of Liberal Arts and Social Sciences, Fatoni University.

3 Assistant Professor.  (Public Administration), Faculty of Liberal Arts and Social Sciences, Fatoni University.

 

Abstract

          This research article aims at studying the management system model of the Mazakin family (poor household) at Darul – Aman Masjid area, and investigating the solution to solve the problem of the Mazakin family (poor household) at Darul – Aman Masjid area , Ban Sarong Community, Kaotoom Sub – district, Yarang District, Pattani Province. 16 sampling group of the research who were selected by the purposive sampling, were the village headman, the former village headman, acting for Imam of  DARUL-AMAN  Masjid, Koteb, Islamic Committee of the Masjid, village committee, general people, and the sample Mazakin family ( poor household) . The structured interview and In-depth Interview with the prepared form and the interviewing plan was used as the research tool. The data was analyzed by using logical comparison with related concepts, theories, and research reports along with the context. 

The study revealed that Darul - Aman Masjid used the management system model of the Mazakin family (poor household) according to the Islamic principle. The working structure by using Masjid as the center of the community development, human development, and providing the various activities to the community was apparent, but the unsystematic working and instability caused the conflict in the organization. The Masjid administrators need to build the responsible awareness, endeavor, and promote the learning, the seminar, the study visit which was not clearly successful. 

Key word : Management, Mazakin household, Darul- Aman Masjid.

บทนำ 

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาในเชิงระบบและโครงสร้างระดับชาติที่สั่งสมมานานในสังคมไทย จนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศแม้ว่าภาครัฐได้ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนมาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขให้บรรลุผลที่จริงจังได้ ขณะที่สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันไม่เพียงแต่เศรษฐกิจในประเทศเท่านั้นที่ย่ำแย่เศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปัญหาความยากจนมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ปัญหาความยากจนจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นองค์รวมที่เชื่อมโยงมิติต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เมื่อกล่าวถึง “ความยากจน” คำนิยามเดิมที่เข้าใจและใช้อย่างแพร่หลายนั้นมักอิงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่คำนึงถึงระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจที่บุคคลสามารถดำรงชีพได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ยอมรับในแต่ละสังคม อย่างไรก็ตามในระยะต่อๆ มาได้มีความพยายามนิยาม “ความยากจน” ให้ครอบคลุมมิติที่หลากหลายขึ้นทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แนวคิดขององค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนมีรายได้ไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นขั้นต่ำ สำหรับอาหารที่มีคุณค่า ที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภค บริโภค ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตที่มีคุณค่าในเกณฑ์มาตรฐานได้ เช่น เกษตรกรรมย่อยที่ผลผลิตต่ำและหาอาหารเองไม่ค่อยได้ ไม่มีฝีมือ ไม่มีงานประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย คนตกงาน คนด้อยโอกาส เป็นต้น การมองในมิตินี้จึงเป็นการมองที่รายได้เป็นสำคัญ จึงมีการกำหนดเส้นความยากจน (Poverty Line) ขึ้น หากผู้ใดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนก็ถูกนับว่าเป็นคนจน (จตุรงค์ บุณญรัตนสุนทร, 2546 : 80)

การช่วยเหลือความยากจนในพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงแต่รัฐหรือองค์กรของรัฐเท่านั้นที่คอยช่วยเหลือยังคงมีภาคประชาชนที่มีการช่วยเหลือความยากจนในพื้นที่ โดยผ่านองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ เช่นเดียวกับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ กล่าวคือ จังหวัดปัตตานี นราธิวาสและยะลา เท่ากับร้อยละ 85 85 และ 76 ตามลำดับ มีมัสยิดเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมอิสลาม หลายๆ มัสยิดมีบทบาทในการบริหารจัดการความยากจนในพื้นที่นั้นๆ เป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพเป็นผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ เป็นสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง และความเสื่อมถอยของชุมชนนั้นๆ ได้อย่างดี (อับดุลเลาะ หนุ่มสุข, ม.ป.ป.)

         กลุ่มคนฟากิร (อนาถา) และมีสกีน (ขัดสน) ถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเยียวยา (บรรจง บินกาสัน, 2547 : 91) มีหลายโองการในอัลกุรอานที่อัลลอฮฺได้ทรงเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับคนที่ยากจนขัดสนและเตือนสำทับถึงบทลงโทษหรือผลของการไม่ดูแลคนที่ขาดแคลนปัจจัย อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ 

ความว่า: “...และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด และเด็กกำพร้าและผู้ขัดสน ...” (อัลกุรอาน, 4 : 36)

 

การไม่สนใจดูแลผู้ยากจนขัดสนที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมคือสิ่งที่อิสลามไม่ยอมรับ และเรื่องนี้ยังมีส่วนเกี่ยวพันกับการที่คนผู้หนึ่งต้องโดนลงโทษในวันกิยามะฮฺ ด้วยความยากจนขัดสนไม่ใช่เพียงบททดสอบสำหรับบุคคลที่ประสบกับความยากจนเท่านั้น แต่ยังเป็นบททดสอบต่อผู้ที่อยู่รอบข้างและอิสลามได้มีการบัญญัติการจ่ายซะกาตไว้ เป็น 1 ใน 5 ประการของของมุสลิมที่ต้องถือปฏิบัติ และยังมีการจัดตั้งกองทุนบัยตุลมาล เพื่อต้องการบริหารจัดการความยากจน อีกทั้งเพื่อที่จะพัฒนาให้สังคมได้พ้นจากความยากจน อันเป็นมูลเหตุหลักของความล้าหลังและความอ่อนแอของประชาชาติ

มัสยิดดารุลอามาน ชุมชนโสร่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีประชากรภายใต้การดูแลประมาณสามร้อยกว่าครัวเรือน (การียา กีไร, 2559) อดีตประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกยางพารา ปลูกข้าว และทำสวน ปัจจุบันหลังจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้ย้ายมาตั้งที่บ้านโสร่งตำบลเขาตูม ทำให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงแนวคิด เกิดการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ทำให้คนในชุมชนโสร่งมีการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ประชาชนมีการแข่งขันกันเปิดร้านค้า มีการแข่งขันกันสร้างหอพัก ที่อยู่อาศัยเพื่อให้นักศึกษามาอาศัยอยู่ ทำให้ชุมชนมีประชากรแฝงเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งที่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาสนใจเรียนที่สถาบันแห่งนี้ทั้งที่มาจากในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 4,000 กว่าคน นับเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบางส่วนยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีขึ้น เช่น ประชาชนบางส่วนมีการศึกษาน้อยมาก ไม่มีงานทำต้องออกไปทำงานต่างพื้นที่หรือไม่ก็ประเทศเพื่อนบ้าน การประกอบธุรกิจหอพักร้านค้าและร้านอาหารกระจุกตัวอยู่บริเวณมหาลัยเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันในพื้นที่โสร่งยังคงมีครอบครัวมาซากีนจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อศึกษาการบริหารจัดการของมัสยิดในเรื่องการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีน และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขความยากจนในพื้นที่ เพื่อแสวงหาปัจจัยที่ทำให้การบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนดำเนินการประสบความสำเร็จ และเป็นแนวทางและแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาให้แก่พื้นที่ชุมชนอื่นๆ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
  2. เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการ

การบริหาร หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมดำเนินการ ซึ่งเป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรการบริหาร (คน เงิน วัสดุ และการจัดการ) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ (Koontz & Donnell, 1972) เป็นการตัดสินใจทางการบริหารที่มีกระบวนการรวบรวมและแจกแจง โดยการประสานความร่วมมือ อำนวยความสะดวก และการให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจเอาไว้ (Kast & Rosenzweig, 1974) ส่วนคำว่าการจัดการจะเน้นการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบาย (แผนที่วางไว้) ซึ่งมีส่วนคล้ายกับการบริหาร โดยเป็นการดำเนินกิจกรรมในการบริหารทรัพยากรและกิจการงานอื่น ๆ และเป็นรูปแบบของงานซึ่งเกี่ยวข้องกับการประสานทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กร อันได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ (Rue & Byars, 2002) โดยผ่านกระบวนการดำเนินงานขององค์การที่ทำหน้าที่ในการวางแผน การจัดการองค์การ การชี้นำ และการควบคุมองค์การ เพื่อมุ่งหวังความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ (Drucker, 2006) และองค์กรต้องมีทรัพยากรการบริหารจัดการที่สำคัญ ได้แก่ 1) ทรัพยากรมนุษย์ 2) ทรัพยากรเงินทุน 3) ทรัพยากรวัสดุสิ่งของ  และ4) ความรู้ในการจัดการ (สาคร  สุขศรีวงศ์, 2553)

แนวคิดการบริหารจัดการมาซากีน

อิสลามถือว่ามนุษย์ในโลกนี้เป็นลูกหลานของนบีอะดัม ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมโลกไม่สามารถละเมิดสิทธิ์ของกันและกัน อิสลามได้คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ 5 ประการ ประกอบด้วย การนับถือศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน วงศ์ตระกูล และสติปัญญา ขณะเดียวกันอย่างได้กำชับต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้องมุสลิมและเพื่อนมนุษย์ สำหรับสถานภาพทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่มีความแตกต่างกันนั้นเป็นสุนนะตุลลอฮฺ (กฎธรรมชาติ) ที่พระองค์ทรงวางระบบเพื่อให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ในลักษณะการพึ่งพา ช่วยเหลือกัน การมีฐานะรวยหรือจนมิใดบ่งบอกว่าบุคคลใดประเสริฐกว่ากัน ความตักวาต่างหากที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความประเสริฐ (อะหฺมัด หมาเลขหะดีษ 7/158) แต่เป็นบททดสอบลักษณะหนึ่งจากอัลลอฮฺ ระบบการดูแลปัจเจกส่วนบุคคล ครัวเรือน สังคม และรัฐ ซึ่งถือเป็นการอิบาดะฮฺ ตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺและแบบอย่างจากท่านนบี ที่กล่าวถึงความประเสริฐของครอบครัวมาซากีน คือคนที่มีฐานะยากจนจะเข้าสวรรค์ก่อนคนร่ำรวยอย่างน้อย 40 ปี (ตัรมีซี หมายเลขหะดีษ 2355) และบางสายรายงานนั้น นำเสนอว่าคนมุสลิมมิสกีนเข้าสวรรค์ก่อนคนร่ำรวยครึ่งวันอะคีเราะฮฺ ซึ่งเท่ากับ 500 ปี ของวันในโลกดุนยา (ตัรมีซี หมายเลขหะดีษ 2353) ด้วยเหตุเพราะคนที่มีความอ่อนแอในสังคมความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺจึงถูกประทาน (บุคอรี หมายเลขหะดีษ 2896; อบูดาวูด หมายเลข หะดีษ 2594) นบีได้สั่งเสียให้ชาวมุสลิมต้องดูแลบรรดาชาวมีสกีน (อะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 7/159) ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย (บุคอรี หมายเลขหะดีษ 12) ความยากจนถือเป็นบททดสอบจากอัลลอฮฺเพื่อการอภัยโทษ (บุคอรี หมายเลขหะดีษ 5641) ทรงยกสถานภาพ (มุสลิม หมายเลขหะดีษ 6561)   

แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับมัสยิด

มัสยิดเป็นคำภาษาอาหรับจากรากศัพท์กริยา สะ-ญะ-ดะ หรือรากศัพท์ที่เป็นคำนาม คือ สุญูด ซึ่งหมายถึงการก้มกราบโดยการวางหน้าผากบนพื้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีและนอบน้อมถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า (อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข, ม.ป.ป. : 1) ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม เป็นศาสนสถานที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล(พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสอง; ตายูดิน อุสมาน และคณะ, 2545 : 4)  และเป็นศูนย์รวมในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม(ฮัสบุลเลาะ ตาเฮ และคณะ, 2555 : 9) อิสลามเป็นทั้งศาสนา และระบอบแห่งการดำเนินชีวิต ดังนั้น หลักธรรมคำสอนจึงประกอบด้วยกระบวนการแห่งชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เช่น เป็นองค์การบริหารอิสลามโดยตรง โดยเพียบพร้อมด้วยการปฏิบัติทางศาสนา  ยังเป็นสถานศึกษาอบรมวิชา ความรู้ จริยธรรม การประกอบอาชีพ ศูนย์สารนิเทศ การปกครอง การเมือง  การทูต  การตัดสินใจคดีความ เป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน และการปลูกฝังทัศนคติความรักประเทศชาติอีกด้วย มัสยิดเป็นศูนย์กลางการศึกษาทุกระบบ เพราะผู้ที่มีความรู้มักจะพำนักในมัสยิดอยู่เสมอ มัสยิดบางแห่งเปรียบเสมือนศาลากลางของเมือง ศาลาประชาคม โรงเรียนและมัสยิดบางแห่งจะมีห้องสมุดเพื่อให้สัปปุรุษได้อ่านหนังสือด้วย และอีกมิติหนึ่งที่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจน คือ มัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมอิสลาม เป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นศูนย์รวมของศรัทธาชนมุอฺมิน ในเชิงลักษณะของความเสมอภาค เสรีภาค และภราดรภาคที่ปราศจากความแตกต่างระหว่างชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ภาษา และชาติพันธุ์ของมนุษย์ (ตายูดิน  อุสมาน และคณะ,2545) 

งานวิจัยวิจัยที่เกี่ยวข้อง

มีงานวิจัยที่เกี่ยงข้องกับบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน  คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการแก้ปัญหาความยากจน และใช้ซะกาตช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจในชุมชน เช่น การศึกษาของเจตพัฒน์ ช่วยประสาทวัฒนา(2548) ศึกษาพบว่าบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง จำนวนคนยากจนที่ขึ้นทะเบียนงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ การได้รับการฝึกอบรมมีความสัมพันธ์กับบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในระดับต่ำ ตัวแปรที่สามารถทำนายบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ดีที่สุดคือขนาดขององค์การบริหารส่วนตำบล ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนได้แก่การขาดงบประมาณวัสดุอุปกรณ์และสิ่งสนับสนุนไม่เพียงพอการขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาความยากจนของประชาชนและการขาดการประชาสัมพันธ์ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลจัดขึ้นน้อย อาคม ทองเจิม (2550) ศึกษาพบว่า การบริหารกองทุนหมู่บ้าน ทั้ง 8 ด้าน พบว่า ด้านคุณสมบัติคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน มีการปฏิบัติถึงมากที่สุด ร้อยละ 87.78 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จะต้องมีคุณธรรมและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกและกรรมการของกองทุนหมู่บ้าน จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสมารถและจิตสำนึกถึงส่วนร่วมและชุมชน รองลงมาคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 77.78 พบว่าสมาชิกกองทุนต้องรับบทบาทหน้าที่ต่อตนเองและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่น่าสังเกตว่าวิธีการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านมีการปฏิบัติมากถึงมากที่สุดเพียง ร้อยละ 62.89 และร้อยละ 61.78 วิสุทธ์ บิลล่าเต๊ะ (2553) ศึกษาพบว่า การละหมาดมีศักยภาพสูงในการผลิตซ้ำจักรวาลทัศน์อิสลาม ขัดเกลาจิตใจและก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างยั่งยืนในชุมชน ที่ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือมีผู้ละหมาดร่วมกันในแต่ละครั้งจำนวนมาก จึงช่วยให้ชุมชนมีระบบสังคมของตัวเอง ขณะที่ซะกาตช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะทั้งการแสวงหากำไรและเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันขึ้น ทำให้ชุมชนมีหลักประกันทางสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส ส่วนการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่วก็ช่วยให้ชุมชนมีกฎกติกาที่ใช้บังคับกันเองได้ ทำให้เกิดความสงบและเป็นระเบียบมากขึ้น และกระบวนการที่ทำให้ชุมชนสามารถดำรงอัตลักษณ์ทั้งสามไว้ได้มี 3 ประการ ได้แก่ การจัดการความรู้ การสร้างวิถีชีวิต และการบริหารจัดการ สมทรง บรรจงธิติทานต์ และคณะ (2554) ศึกษาพบว่า ความยากจนได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลให้เกิดคนจนขึ้นในสังคมและการแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่สามารถดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาได้ เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพราะการสั่งสมและความทับซ้อนของปัญหามีปัจจัยสาเหตุร่วมหลายมิติ แต่ได้ใช้ทุนทางสังคมที่ดำรงอยู่ได้ ถูกนำมาประยุกต์ปรับใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านการจัดตั้งองค์กรชุมชนลักษณะสถาบันการเงินชุมชน และการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้วิธีการบูรณาการองค์กรชุมชนที่มีความสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนของประชาชน การบริหารจัดการองค์กรชุมชนการสร้างเครือข่ายทางสังคมส่งผลให้ประชาชนในหมู่บ้านเกิดศักยภาพด้านงานพัฒนามีขีดความสามารถจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน มั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคม ในระดับครอบครัวและหมู่บ้าน อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้สินการประกอบอาชีพการพัฒนาคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม การสืบสานภูมิปัญญาก่อเกิดการเกื้อกูลและยึดโยงให้ครอบครัวหมู่บ้านไม่ล่มสลายไปพร้อมกับกระแสการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่การสร้างสังคมทันสมัย ฮัสบุลเลาะ  ตาเฮ และคณะ (2555) ศึกษาพบว่า มัสยิดบาโง ชุมชนโคกพะยอมมีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชนตามวิถีอิสลาม โดยคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดได้ใช้ศักยภาพและบริบทชุมชนเป็นต้นทุนสำคัญ มีการบริหารจัดการมัสยิดโดยใช้หลักการตามบทบัญญัติที่ปรากฏในอัลกุรอานและอัลหะดีษของศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) และ พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ตลอดจนให้ความสำคัญกับบริบทชุมชน มัสยิดบาโงได้ใช้ปัจจัยนำเข้า (Input) ทั้ง 3 ส่วน คือ (1) ต้นทุนทางสังคม ได้แก่ สายตระกูลและเครือญาติ ใฝ่รู้และรักการเรียนศาสนา มัสยิดเป็นศูนย์กลางการบริหาร ความสามัคคีและความรับผิดชอบของผู้นำสี่เสาหลัก มีแผนชุมชน และการจัดตั้งกลุ่ม (2) การบริหารจัดการ ทุกภาคส่วนในชุมชนมีส่วนร่วมในการการจัดทำแผนงาน ดำเนินการ และประเมินผล และ(3) กติกาชุมชน ตลอดจนนำกระบวนการการบริหารจัดการชุมชนตามวิถีอิสลาม คือ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ชูรอ การวางแผน ผลประโยชน์ของส่วนรวม การสร้างขวัญกำลังใจ และการบูรณาการการบริหารจัดการตามหลัก 4 M 1 P ทฤษฎี POLC และ 7S Framework จนทำให้ผู้นำสี่เสาหลักมีความเข้มแข็ง ชุมชนมีแผนงานที่ชัดเจน ผู้นำมีทักษะในการจัดการชุมชน บริหารจัดการชุมชนตามวิถีอิสลาม สามารถกำหนดกติกาและระเบียบชุมชน

วิธีดำเนินการวิจัย

         ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้าน รักษาการแทนอิหม่ามประจำมัสยิดดารุลอามาน คอเต็บ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการหมู่บ้าน จำนวน 6 คน ประชากรที่มีความยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือจากการบริหารจัดการของมัสยิดและประชาชนทั่วไปในพื้นที่อีก 10 คน รวมจำนวนทั้งหมด 16 คน โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) พิจารณาจากการความเหมาะสมและความเกี่ยวข้องตามกรอบเนื้อหา ลักษณะของกลุ่มที่เลือกเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ การจัดทำแบบสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการใช้แบบฟอร์มที่มีการเตรียมการ มีแผนการสัมภาษณ์เป็นการล่วงหน้า เก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth Interview) กับกลุ่มตัวอย่าง ในพื้นที่มัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี  

การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลของผลการศึกษาในครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์เนื้อหา โดยการวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาของครัวเรือนมาซากีน และนำปัญหามาวิเคราะห์และศึกษาแนวทางของการบริหารจัดการของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือครัวเรือนมาซากีนในพื้นที่ และเพื่อถอดรูปแบบการทำงานของคณะกรรมการมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีน แล้วนำมาเทียบเคียงแนวความคิด ทฤษฎี และงานวิจัยควบคู่บริบท

ผลการวิจัยและอภิปรายผลการวิจัย

  1. ผลการวิจัย

รูปแบบการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีน (ยากจน) ในพื้นที่การดูแลของมัสยิดดารุลอามาล ชุมชนบ้านโสร่ง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีดังนี้

  1. รูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน

จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview ) การบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนโสร่งทำนบ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พบว่า มัสยิดดารุลอามานมีการบริหารจัดการตามหลักการศาสนาอิสลาม ใช้มัสยิดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน พัฒนาคน และมีบทบาทที่สำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ 

การบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามานเพื่อส่งเสริมในด้านการศึกษา โดยจัดให้มีการเรียนการสอน การอบรมให้กับเยาวชนและประชาชน จัดตั้งกองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมให้มัสยิดได้มีบทบาทอันพึงมีตามเจตนารมณ์สูงสุดของพระเจ้า สาเหตุของความยากจนในพื้นที่การดูแลของมัสยิดดารุลอามานขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครอบครัวมาซากีนที่แตกต่างกัน เช่น การเสียชีวิตของหัวหน้าครอบครัว ปัญหาสุขภาพของหัวหน้าครอบครัว หัวหน้าครอบครัวไม่มีความรับผิดชอบ ขัดสน รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และการมีบุตรหลายคน โดยมัสยิดได้จัดสรรสวัสดิการแก่ครัวเรือนมาซากีน คือ สวัสดิการสำหรับครัวเรือนฟากีรและมาซากีนเหมือนกัน ได้แก่ ซะกาตฟิตเราะฮฺ 500-800 บาท/ปี ซะกาตทรัพย์สิน ข้าวสาร การสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้าน (ในกรณีที่ไม่มีบ้านหรือบ้านอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก) ค่ารักษาพยาบาล(กรณีเจ็บป่วย) การช่วยเหลือเร่งด่วน (กรณีฉุกเฉิน) และเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ ทั้งนี้สืบเนื่องจากกลุ่มบุคคลทั้งสองประเภทในพื้นที่ความรับผิดชอบของมัสยิดดารุลอามานชุมชนโสร่งทำนบไม่ค่อยแตกต่างมากนัก อีกทั้งมัสยิดยังอยู่ในช่วงกำลังสร้างระบบบริหารจัดการชุมชน เกณฑ์การพิจารณาครัวเรือนมาซากีน 1) บริบทของครอบครัว เช่น บุตรหลายคน กำลังเรียน หนี้สิน และการงานของหัวหน้าครอบครัว 2) ลักษณะที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเช่า บ้านญาติ และบ้านของตนเองแต่ทรุดโทรม 3) ฐานะ/รายได้ เช่น การมีรายได้ของหัวหน้าครอบครัวและสมาชิกในครอบครัว และ 4) การรักษาพยาบาล (จากการเจ็บป่วย) เช่น ค่าใช้จ่ายของสมาชิกในครอบครัวในการรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของหัวหน้าครอบครัว

ลักษณะรูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน คือ การเสนอรายชื่อจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดและฝ่ายติดตาม โดยมีอีหม่ามและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดดารุลอามานเป็นคนพิจารณาและตัดสิน การบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามานมีโครงสร้างการบริหารจัดการตามหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้

1) ฝ่ายสวัสดิการ มีหน้าที่รับผิดชอบคัดเลือกและให้ความช่วยเหลือครัวเรือนมาซากีน โดยการเสนอครัวเรือนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือจากมัสยิด ซึ่งครอบคลุมกลุ่มบุคคล 4 ประเภท คือ มาซากีน กำพร้า มูอัลลัฟ (มุสลิมใหม่) และฆอรีมีน (ผู้ที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ) กระบวนการทำงานต้องมีการประสานงานกับฝ่ายการเงินและฝ่ายติดตามประเมินผล

2) ฝ่ายการเงิน มีหน้าที่บริหารการเงินของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนโสร่งทำนบ โดยมีการแบ่งหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วนย่อย คือ (1) จัดหาทุน มีหน้าที่หารายได้เข้ามัสยิดจากการให้เช่าอุปกรณ์ของมัสยิด เช่น เต็นท์ อุปกรณ์เครื่องครัว ฯ และระดมทุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนมาซากีน    (2) บริหารเงินบริจาค มีหน้าที่ในการบริหารจัดการงบบริจาคที่บรรดาผู้มีจิตศรัทธาผ่านกล่องบริจาคของมัสยิดดารุลอามาน เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า (3) บริหารกองทุนซะกาต มีหน้าที่ในการบริหารจัดการซะกาตทั้งฟิตเราะฮฺและซะกาตทั่วไป แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับซะกาตฟิตเราะฮฺเป็นหลัก

3) ฝ่ายติดตามดูแลครอบครัวมาซากีน มีหน้าที่สอดส่องดูแลประชาชนในโซนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทางมัสยิดดารุลอามานได้แบ่งออกเป็น 4 โซน คือ (1) สถานีตำรวจเขาตูม (2) บาลาเศาะฮฺโต๊ะมุ๊ (3) มัสยิดดารุลอามาน (4) ปอเนาะ  มุเดร์ แต่ละโซนได้มีผู้ที่ได้รับมอบหมายจากมัสยิดในการสอดส่องดูแล รับรู้ปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือ และติดตามหลังจากมัสยิดได้ให้ความช่วยเหลือ

การบริหารจัดการของมัสยิดดารุลอามานนั้น ได้แต่งตั้งอีหม่ามฮาซัน นิมูฮัมหมัด      อีหม่ามประจำมัสยิดตะลุบัน ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นที่ปรึกษาในเรื่องของการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนและซะกาตของมัสยิดดารุลอามาน ซึ่งเป็นมัสยิดที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ สำหรับการติดตามผลการปฏิบัติงานของมัสยิดมีอีหม่ามทำหน้าที่ติดตามการทำงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยการสอดส่องดูแล และสอบถามโดยตรงกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย รูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามานถือได้ว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างดี ปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการ คือ 1) ครัวเรือนมาซากีนบางครัวเรือนไม่ได้นำเงินไปใช้อย่างถูกวิธีทำให้การช่วยเหลือ เป็นเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ไม่ต่อเนื่องไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะยาว 2) มีครอบครัวมาซากีนอยู่ค่อนข้างเยอะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างล่าช้า

ความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากมัสยิดมีความพอใจในการบริหารจัดการ แต่ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่อยากให้มีการพัฒนาและการทำงานให้เป็นระบบมากกว่านี้

  1.   แนวทางในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน

จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview ) ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าการบริหารจัดการของมัสยิดดารุลอามานยังคงต้องแก้ไขและปรับปรุงต่อไปอีกมาก การศึกษาครั้งนี้ทำให้ผู้วิจัยได้ทราบถึงปัญหาของการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนในพื้นที่การดูแลของมัสยิดดารุลอามานที่มีโครงสร้างการทำงานที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นระบบนั้น เนื่องจากการได้มาของคณะกรรมการอาจเป็นไปได้ว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นเป็นบุคคลที่ด้อยความสามารถและไม่เหมาะสมเท่าที่ควร การบริหารงานของคณะกรรมการในองค์กรมีความขัดแย้งทั้งแนวความคิด ความสนใจหรือการกระทำที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การทำงานไม่มีเสถียรภาพ ถึงแม้ว่ารูปแบบการบริหารจัดการที่ได้วางไว้มีความชัดเจนก็ตาม สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน  

1) คณะกรรมการประจำมัสยิดต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา การเปิดเวทีที่สร้างความเข้าใจร่วมกัน สร้างความสามัคคีในหมู่คณะทำงาน 

2) การทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีของคนในชุมชน เพราะการให้ความร่วมมือ ความสามัคคีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานของคณะกรรมการสะดวกขึ้น เช่น การให้ความร่วมมือในการจ่ายซะกาตให้แก่มัสยิด เป็นการสร้างระบบของชุมชนในเรื่องของการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนในพื้นที่

3) คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ควรได้รับการเรียนรู้ อบรม หรือ ศึกษาดูงานในเรื่องของการบริหารจัดการซะกาตหรือสวัสดิการสังคม ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการมาปรับใช้ในพื้นที่

  1. อภิปรายผลการศึกษา

รายงานการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนของมัสยิดดารุลอามาน ตำบล   เขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี” เป็นรูปแบบการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีนที่ยังไม่ประสบความเสร็จเท่าที่ควรและการอภิปรายผลอาจจะต่างจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ดังนี้

ปัจจัยที่ทำให้การบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องโครงสร้างการทำงานที่มีความแตกแยกของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการชุมชน และผู้นำในพื้นที่ ที่มีทิศทางการพัฒนาไม่ตรงกัน อีกทั้งไม่สนับสนุนกับการทำงานอีกฝ่าย ดังที่ประเวศ วะสี(2540) กล่าวว่า อาจมีปัญหาการติดต่อสื่อสารหรือรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกันมีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำมีการจัดการเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน แต่ความคิดเห็นที่คัดแย้งในองค์กรนั้นทำให้การดำเนินการไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์  ดังที่Robbins (1991) กล่าวว่า ความขัดแย้งเกิดจากการใช้อำนาจหรือความต้องการใช้อำนาจ ขัดกันในเป้าหมาย วิธีการ รูปแบบหรือแนวทาง ประสบการณ์ ค่านิยม เจตคติ บทบาท ตลอดจนการรับรู้ต่าง ๆ สอดคล้องกับ Guralnik (1970) กล่าวว่า ความขัดแย้งในองค์การเกิดจากการกระทำกิจกรรมที่ไปด้วยกันไม่ได้ทั้งแนวความคิด ความสนใจหรือการกระทำที่ไม่เหมือนกัน และ ยงยุทธ เกษสาคร (2544) กล่าวว่า สาเหตุความขัดแย้งอย่างระหว่างบุคคล คือ ความคิดเห็นของบุคคลที่ต่างกัน การรับรู้ที่แตกต่างกัน ค่านิยมแตกต่างกัน และผลประโยชน์ที่ขัดกัน ถึงแม้ว่ารูปแบบการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีนมีรูปแบบที่ดี มีหน้าที่ที่ชัดเจนแต่ในทางปฏิบัติยังมีการทำงานที่ขัดแย้งกันทั้งแนวความคิด ความสนใจหรือการกระทำที่ไม่เหมือนกัน และการทำงานยังที่มีหน้าที่ทับซ้อนสำหรับคณะกรรมการที่ยังคงมีบทบาทในการทำงาน เพราะการบริหารจัดการชุมชนเป็นกระบวนการในการจัดการของชุมชนกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ คนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมกำหนดแนวทาง โดยชุมชนมีระบบข้อมูล มีแผนชุมชน มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีการนำแผนไปใช้ประโยชน์ มีการจัดการความรู้ของชุมชน ยึดหลักการพึ่งตนเอง คำนึงศักยภาพ ทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นหลัก (สำนักสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน, 2559) นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่ยั่งยืน โดยมีปัจจัยส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการหรือการพัฒนา (อัชญา เคารพาพงศ์, 2541) ทั้งที่การบริหารจัดการในอิสลามมีความผูกผันกับปรัชญาสังคม มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจริยธรรมและคุณค่าต่างๆ ของสังคม มองถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการทางกายภาพของปัจเจกบุคคลทุกคน ให้ความสำคัญต่อการเป็นมนุษย์และจิตใจและให้เกียรติมนุษย์ ในฐานะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความสามารถที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าความสามารถทางด้านสติปัญญา ร่างกายและจิตใจ และยังให้ความสำคัญต่อระเบียบวินัย (อบูซิน,อะหมัด อิบรอฮีม, 2553) สาเหตุที่การบริหารจัดการและการพัฒนาครัวเรือนมาซากีนยังไม่ประสบความสำเร็จนั้น อาจเป็นไปได้ว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นเป็นบุคคลที่ด้อยความสามารถและไม่เหมาะสมเท่าที่ควร ดังที่ท่านนบีไม่แต่งตั้ง อบูซัร เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำ (มุสลิม หมายเลขหะดีษ 472) แท้จริงคนที่ควรมอบหมายงานคือผู้ที่แข็งแรง ผู้ที่ซื่อสัตย์ (อัลกุรอาน, 28 : 26) หรืออาจเกิดจากบกพร่องในการนำหลักการชูรอในการพัฒนาชุมชน การชูรอเป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน, 3: 159) ถือเป็นคุณสมบัติของมุอฺมิน (อัลกุรอาน, 26 : 38) ฉะนั้นอิหม่ามและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจำเป็นต้องสร้างความตระหนักในประเด็นเหล่านี้ ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาครัวเรือนมาซากีนในชุมชนโสร่งทำนบอย่างยั่งยืน คือ ทุกคนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมโลกไม่สามารถละเมิดสิทธิ์ของกันและกัน อิสลามได้คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ 5 ประการ ประกอบด้วย การนับถือศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน วงศ์ตระกูล และสติปัญญา ขณะเดียวกันอย่างได้กำชับต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้องมุสลิมและเพื่อนมนุษย์ สำหรับสถานภาพทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่มีความแตกต่างกันนั้นเป็นสุนนะตุลลอฮฺ (กฎธรรมชาติ) ที่พระองค์ทรงวางระบบเพื่อให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ในลักษณะการพึ่งพา ช่วยเหลือกัน นบีได้สั่งเสียให้ชาวมุสลิมต้องดูแลบรรดาชาวมีสกีน (อะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 7/159) ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย (บุคอรี หมายเลขหะดีษ 12) ความยากจนถือเป็นบททดสอบจากอัลลอฮฺเพื่อการอภัยโทษ (บุคอรี หมายเลขหะดีษ 5641) อิสลามได้ส่งเสริมให้มุสลิมมีความรักความเป็นพี่น้องกัน มีความสามัคคีกัน ให้รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง เพราะเมื่อมีความรักก็จะเกิดความต้องการที่จะถนอมน้ำใจคนที่เรารัก บุคคลที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แน่นอนต้องพูดในสิ่งที่ดี (บุคอรี หมายเลขหะดีษ 6138) เพราะมุสลิมเสมือนอาคารที่เข้มแข็งที่พึ่งพากัน (บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 2446) เมื่อพี่น้องมุสลิมผิดใจกันเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องแก้ไข (ตัรมีซียฺ หมายเลขหะดีษ 2509) ส่งเสริมให้ทำความดี ยิ่งเมื่อได้รักผู้อื่นเหมือนรักตนเองแล้วโลกก็จะเกิดสันติสุข เพราะจะมีการเอื้อเฟื้อเกิดขึ้น  มีแนวทางหนึ่งที่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางสังคม นั้นคือ “ญะมาอะฮฺ” เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง กลุ่มบุคคล (Ibn Manzur, 1300 H.C) ที่มีการร่วมกลุ่มโดยมีเป้าหมายชัดเจน (Mustafa Ibrahim Muatafa, n.d.) ดังนั้นสถาบันทางสังคมทุกสถาบันต้องอยู่ภายใต้สถาบันศาสนาและยึดศาสนาเป็นหลักในการดำเนินงาน เช่น สถาบันการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่เบี่ยงเบนจากกรอบของอิสลามและมุสลิมทุกคนจึงมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนา ปกป้องสังคม ร่วมผิดชอบตามแต่สถานภาพของแต่ละบุคคลให้ยืนหยัดอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง และหน้าที่เหล่านั้นจะถูกสอบสวน ณ อัลลอฮฺ (บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 893) นบีไม่ยอมรับว่าเป็นประชาชาติของท่านหากไม่ให้แก่พี่น้องมุสลิมด้วยกัน (ตัรมีซียฺ หมายเลขหะดีษ 1921)

ซะกาตถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มุสลิมทุกคนจำเป็นที่จ่าย อิสลามได้กำหนดให้มีการจ่าย     ซะกาตทรัพย์สินหรือ ซะกาตอามาล เพื่อใช้เป็นปัจจัยหลักในการระดมทุนทรัพย์ซึ่งนำมาใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนาสังคมมุสลิม อิสลามมีความต้องการขจัดความยากจนและขัดสนในสังคมให้น้อยลง การแจกจ่ายทรัพย์สินเป็นการกระจายรายได้ และมอบโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสกว่า ให้ได้มีโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือและมีปัจจัยยังชีพ ผู้รับซะกาตเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากผู้ให้แล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็จะได้มีโอกาสที่ผู้รับซะกาตสามารถหาทรัพย์สินเพื่อให้ได้กลายเป็นผู้จ่ายซะกาตได้ในอนาคต (ทวีศักดิ์ หมัดเนาะ ,ออนไลน, ม.ป.ป.) การบริหารจัดการครอบครัวมาซากีนส่วนมากแล้วใช้เงินบริจาคซะกาตทรัพย์สินและซะกาตฟิตเราะห์ (ข้าวสาร) มาช่วยเหลือ พื้นที่การดูแลของมัสยิดดารุลอามานก็เช่นกัน มีประชาชนที่มาจ่ายซะกาตที่มัสยิดยังคงน้อยหากเทียบกับรายได้ของคนที่มีสิทธิจ่ายซะกาต เพราะคนในพื้นที่จ่ายซะกาตโดยตรงแก่ผู้ที่มีสิทธิ ไม่ผ่านการบริหารจัดการของมัสยิด อีกทั้งยังจ่ายซะกาตนอกพื้นที่ ทำให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับซะกาตในพื้นที่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือน้อยลง เป็นไปได้ว่าสัปปุรุษไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการของมัสยิดหรือสัปปุรุษยังไม่เข้าใจระบบ  ซะกาตที่ถูกต้องอย่างแท้จริง เมื่อระบบการบริหารจัดการและโครงสร้างของการบริหารมีปัญหาเป็นเรื่องยากที่การบริหารจัดการครอบครัวมาซากีนในพื้นที่จะมีความประสบความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ ถึงแม้ว่าคนในพื้นที่มีความพึงพอใจในการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีนของมัสยิดดารุลอามานก็ตาม

ข้อเสนอแนะ

         จากการศึกษาครั้งนี้นอกจากสรุปผลและการอภิปรายแล้ว ยังค้นพบว่ารูปแบบการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีนของมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จะประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง สามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

  1. โครงสร้างการบริหารจัดการ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและสร้างความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการชุมชน และผู้นำในพื้นที่ 
  2. การบริหารจัดการซะกาตเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการครอบครัวมาซากีน หากมีการบริหารจัดการที่ดี การจัดเก็บอย่างเป็นระบบ และสัปปุรุษเชื่อมั่นต่อมัสยิด จนสามารถพัฒนากลายเป็น “กองทุนชุมชนที่มีรากฐานจากความศรัทธา” หรือ “กองทุนบัยตุลมาล” จะทำให้การช่วยเหลือครอบครัวมาซากีนต่อเนื่อง กว้างขวางขึ้นและยั่งยืน
  3. การใช้หลักการชูรอด้วยบริบทที่เหมาะสมโดยเปิดโอกาสให้สัปปุรุษแสดงความคิดและสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและรับรู้ความต้องการที่แท้ของสัปปุรุษย่อมนำมาสู่การพัฒนาที่อย่างยืน

นอกจากนี้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดควรให้ส่งเสริมให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดทุกแห่งตระหนักในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด และทำงานอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ตลอดจนการทำงานที่เน้นหลักการซูรอ เพื่อสร้างความร่วมมือกันในชุมชนได้เป็นอย่างดี และสามารถพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการครัวเรือนมาซากีนของมัสยิดดารุลอามานให้ประสบผลสำเร็จในการบริหารได้อย่างยั่งยืน

คำขอบคุณ

คณะผู้วิจัยขอขอบคุณมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่สนับสนุนงบประมาณการวิจัย

เอกสารอ้างอิง

การียา กีไร, อีหม่าม มัสยิดดารุลอามาน, สัมภาษณ์โดย ธัญญารัตน์ เจะอาลี, บ้านโสร่ง, 25 มกราคม 2559.

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร. (2546). ความยากจน: สถานการณ์และบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน.          กรุงเทพมหานคร : ภาคีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนามูลนิธิกองทุนไทย.

เจตพัฒน์ ช่วยประสาทวัฒนา. (2548). “บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนอำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม”, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง.

ตายูดิน อุสมาน และคณะ. (2545). การบริหารมัสยิดในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้. ปัตตานี : วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

ทวีศักดิ์ หมัดเนาะ.(ม.ป.ป.) “กองทุนซะกาตช่วยแก้ไขปัญหาสังคมมุสลิม”.ออนไลน์

         http://www.islammore.com/view/3612 สืบค้นเมื่อวันที่  (26 สิงหาคม 2560).

บรรจง บินกาซัน. (2547).สารพันปัญหาว่าด้วยซะกาต. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อัลอะมีน.

ประเวศ วะสี. (2548). การจัดการความรู้กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข. กรุงเทพมหานคร : สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม.

ยงยุทธ  เกษสาคร. (2544). ภาวะผู้นำและการจูงใจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : เอสเค บุ๊คเน็ต.

วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ. (2553). “กระบวนการดำรงอัตลักษณ์มุสลิมกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษา ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา”, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยทักษิณ. 

สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย. (1419).พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย. ซาอุดีอาราเบีย : ศูนย์กษัตร์ ฟะฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรอานแห่งนครมาดีนะฮ์.

สาคร  สุขศรีวงศ์. (2553). การจัดการ: จากมุมมองนักบริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร : บริษัท จี.พี.ไซเบอร์ พรินท์ จำกัด

สำนักสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน,สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน). (2559). คู่มือการจัดทำแผนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน).

อัชญา เคารพาพงศ์. (2541). “การพัฒนาบ้านเขาดาว ตำบลเขาขาว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช”, ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม.ไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

อบูซินอะหมัด อิบรอฮีม. (2553). การบริหารจัดการในอิสลาม. แปลโดย ฮาเร๊ะ  เจ๊ะโด. สงขลา                   : ไอคิวมีเดีย.

อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข. (ม.ป.ป.). “บทบาทของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”.ออนไลน์

http://www.islammore.com/view/377 สืบค้นเมื่อวันที่  (26 สิงหาคม 2560).

อาคม ทองเจิม. (2550). “การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านในการแก้ไขปัญหาความยากจน กรณีศึกษา ตำบลบางเหรียง  อำเภอทับปุด  จังหวัดพังงา”, วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ฮัสบุลเลาะ ตาเฮ และคณะ.(2555). “มัสยิดกับการบริหารจัดการชุมชนตามวิถีอิสลาม : 
กรณีศึกษามัสยิดบาโง ชุมชนโคกพะยอม ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส”. ยะลา : โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

Abu Dawud, Sulaiman bin al-Ash‘ath. (1997). Sunan Abi Dawud. Beirut: Dar Ibn Hazm.

Ahmad, Ibn Hambal. 1313 H. al –Musnad ahmad Ibn Hambal. Cairo: al –Maimaniyyah.

Al-Bukhariy, Muhammad bin Isma’il al – Bukhariy. (1979). Al – Jami‘ al-Sahih. Cairo: Matba‘ah al-Salafiyyah. 

At-Tirmidhiy, Muhammad Ibn ‘Isa Ibn Surah. (1977). Sunan al- Tirmidhiy. Cairo: Maktabah wa Matba‘ah Mustafa al-Babi al-halabiy.

Drucker, P. F. (2006). Management: Task, ResponsibilitiesPractices. New York: Harper Collins. 

Guralnik David B. (1970). Webster's New World Dictionary. Second College Edition. New York.

Ibn Manzur,  Muhammad bin Manzur. 1300 H.C. Lisanul Arab. Cairo: Matba‘ah al-Salafiyyah.

Kast, F. E., & Rosenzweig, J. E. (1974). Organization and Management: A System Approach. New York: McGraw-Hill.

Koontz, H. & Donnell, C. O. (1972). Principles of ManagementNew York: McGraw-Hill.

Muslim, Muslim Ibn Hajjaj. 1996. Sahih Muslim. Riyadh: Dar ‘Alam al-kutub.

Mustafa Ibrahim Muatafa, Ahmad Hasan az-Zaikat, Hamid Addul Qadir and Muhammad Ali an-Najar.  (n.d). al-Mu’ajam al –Wasit. Al-Maktabah al-Imamiah: Tehran.

Robbins, S. P. (1991). Organization Behavior : Controversies and Application. 3rded. Englewood Cliffs, N.J.: Printice Hall.

Rue, L. & Byars, L. (2002). Management : Skill and Application. 10th ed. New York: McGraw-Hill.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 695193เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท