การกำหนดสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ในอิสลามสู่การขับเคลื่อน การเลิกบุหรี่ในชุมชน: กรณีศึกษามัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์ ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส


การเลิกบุหรี่ในชุมชน: กรณีศึกษามัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์

ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

 

มะดาโอะ ปูเตะ1, สะสือรี  วาลี2, วันอีรฟาน แวมามุ3 

 

1ผู้ช่วยศาสตราจารย์, อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

2ผู้ช่วยศาสตราจารย์, อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

3 อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

 

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งชี้ให้เห็นถึงผลการสร้างองค์ความรู้เรื่องบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามที่ทุกคนต้องห่างไกล เสริมสร้างแนวทางการขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ในชุมชน พบว่าทางมัสยิดมีแนวทางการขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้แก่สัปปุรุษมัสยิดในทุกระดับ เพศและวัย ผ่านกระบวนการนำเสนอแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องโทษและหุก่ม (ข้อบัญญัติ) ของบุหรี่ให้กับกลุ่มสตรีผ่านกิจกรรมพบปะ Kaum ibuสองสัปดาห์ครั้ง ฮาลาเกาะห์กุรอานประจำสัปดาห์ทุกคืนวันจันทร์ การพบปะกับกลุ่มเยาวชนทุกคืนวันศุกร์ เรียนกีรออาตีทั้งชายและหญิงในคืนวันเสาร์ สอนตัฟซีรและหะดิษในคืนวันอังคาร นอกจากนั้น มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องโทษและแนวทางการเลิกบุหรี่ให้กับประชาชนทั่วไป โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงหลังละหมาดวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ มีการออกเป็นกฎหรือข้อบัญญัติชุมชนที่ทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตาม สู่การเป็นชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่

 

คำสำคัญ : สิ่งต้องห้าม, หะรอม, การขับเคลื่อน, การเลิกบุหรี่, มัสยิด

 

 

Determining the status of smoking is prohibited in Islam 

to driving cessation in the community

 

Mada-o Puteh1, Saseuree Walee2, Wanerfan Waemamu3 

1Asst. Prof., Lecturer of Public Administration, Faculty of Liberal Arts and Social Sciences, Fatoni University. 

2Asst. Prof., Lecturer of Public Administration, Faculty of Liberal Arts and Social Sciences, Fatoni University. 

3 Lecturer of Law, Faculty of Islamic Studies and Law, Fatoni University.

Abstract

  • This article aims to point out to the knowledge that smoking is prohibited at all to far. Strengthen driven approach quitting cigarettes in the community. I found that the mosque has been driven to quit smoking through education at all levels, gender and age through the exchange of knowledge about penalties ruling (commandments) of cigarettes, to meet women through calling 'Kaum Ibu' two weeks at a time, Halaqah Qur'an weekly every monday, to meet with the youth group every Friday night, teaching Qira-ati both men and women on Sunday night, teaching Tafsir and Hadith on Tuesday night. There is stage and dialoque about ways to quit smoking to the public, it takes one hour after Friday prayers. There are rules or regulations community where everyone must respect and follow

Keywords: prohibions, Haraam, driven, smoking cessation, mosque.

 

บทนำ

บุหรี่เป็นยาเสพติดประเภทหนึ่งที่มีอันตรายต่อสุขภาพของผู้เสพและบุคคลใกล้ชิด การสูบบุหรี่ถึงแม้หลายคนรู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ยังมีบุคคลที่ไม่ยอมเลิก และตรงกันข้ามอีกหลายคนมีความตั้งใจว่าจะเลิกสูบแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากทุกวันนี้ถึงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่โดยตรงแต่ก็ยังรับควันบุหรี่มือสองที่ผู้สูดควันเข้าไปก็จะได้สารในบุหรี่เหมือนกัน การเข้าสังคมกับเพื่อนที่สูบบุหรี่มันก็มิได้ต่างอะไรมากนัก ดังนั้นหากต้องการให้ทุกคนเลิกบุหรี่จึงจำเป็นที่ต้องดูด้านหลักคำสอนของศาสนาว่าเป็นที่อนุญาตหรืออนุมัติหรือไม่ ผู้นำศาสนา (อิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิด) ควรมีบทบาทในการให้สัปปุรุษมัสยิดเลิกบุหรี่ให้ได้ ถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของศาสนาอิสลามเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ออกโดยสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ 02/2549 ว่าบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม ด้วยเหตุผลที่ว่า นำตัวเองและผู้อื่นสู่ความหายนะ ซึ่งก่อนหน้านี้ประชาชนหลายคนมีทัศนะว่า การสูบบุหรี่นั้นเป็น มักรูฮ (การห้ามอย่างไม่เด็ดขาดหรือการกระทำที่ไม่พึงประสงค์) แนวทางการขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ของมัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์ โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้แก่สัปปุรุษมัสยิดในทุกระดับและเพศ มีการพบปะแลกเปลี่ยนกับกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน (kaum Ibu) ทุกๆ วันเสาร์ การทำฮาลาเกาะฮ์กุรอานประจำสัปดาห์ การพบปะกลุ่มเยาวชนทุกๆ คืนวันศุกร์ เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการเลิกบุหรี่กับสัปปุรุษหลังละหมาดวันศุกร์ทุกสัปดาห์โดยใช้เวลาครั้งละ 1 ชั่วโมง มีการเชิญวิทยากรจากข้างนอกพื้นที่มาบรรยาย ท้ายสุดจะออกเป็นกฎนโยบายสาธารณะบ้านปะลุรู ชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่ ที่ทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตาม

เพื่อให้กิจกรรมบรรลุเป้าหมายทางมัสยิดควรมีบทบาทในการกำหนดหรือทำเป็นระเบียบเพื่อให้สัปปุรุษมัสยิดที่เคยสูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดต้องคุยเรื่องโทษของบุหรี่เพิ่มเติมอีกด้วยจะเห็นได้ว่า โทษจากบุหรี่เกิดจากสารประกอบในควันบุหรี่ซึ่งจะมีสารประกอบต่างๆ มากกว่า 4,000 ชนิด สารประกอบเหล่านี้บางชนิดมีคุณสมบัติให้โทษต่อร่างกาย สารแต่ละชนิดสามารถก่อโรคได้แตกต่างกันไป พบว่ามีสารมากกว่า 50 ชนิดในควันบุหรี่ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในสัตว์และในคน การสูบบุหรี่เพียง 1 ซองต่อวัน ผู้สูบจะต้องสูบบุหรี่มากกว่า 70,000 ครั้งต่อปี ทำให้เนื้อเยื่อในช่องปาก จมูก ช่องคอ และหลอดลมสัมผัสกับควันบุหรี่ตลอดเวลา เนื้อเยื่อที่สัมผัสกับควันบุหรี่โดยตรงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่า เช่น เนื้อเยื่อของหลอดลม สำหรับอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่สัมผัสควันบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งจากสารในควันบุหรี่ที่ถูกดูดซึมผ่านกระแสเลือด(วิชชุดา แก้วน้อย; http://webdb.dmsc. moph.go.th/ifc_toxic/a_ tx_1_001c.asp?i nfo_id=54

จะเห็นได้ว่าในควันบุหรี่ที่สูบหรือดูดเข้าไปนั้นจะมีสารพิษร้าย 12 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรค ดังนี้ (ผู้จัดการออนไลน์: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000082 508)

  1. คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) เป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงต่างๆ และจากการสูบบุหรี่ เป็นก๊าซที่ทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ จึงเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
  2. แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารในการทำปุ๋ย วัตถุระเบิด และสารซักฟอก มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ ไอ และมีเสมหะมาก
  3. อะซิโตน (Acetone) สารประกอบในน้ำยาล้างเล็บ ก่อให้เกิดการระคายเคืองจากการสูดดม และมีผลต่อเซลล์ตับ ทำให้เซลล์ตับตายได้
  4. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม สามารถทำลายเยื่อบุผิวหลอดลมส่วนต้น ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะเป็นประจำ โดยเฉพาะในตอนเช้าจะมีมากขึ้น
  5. แคดเมียม (Cadmium) พบได้ในแบตเตอรี มีผลกระทบต่อตับ ไต และสมอง ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและต่อมลูกหมาก
  6. ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) สารที่ใช้ดองศพ (ฟอร์มาลีน) เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุตา และอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้รุนแรง
  7. สารกัมมันตรังสี (Radioactive agents) ควันบุหรี่มีสารโพโลเนียม 210 ที่มีรังสีอัลฟาอยู่ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด
  8. สารหนู (Arsenic) มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
  9. นิโคติน (Nicotine) สารที่ใช้ทำยาฆ่าแมลง และเป็นสารที่ทำให้คนติดบุหรี่ ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมอง ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นและกดประสาทส่วนกลาง ร้อยละ 95 ของนิโคตินจะไปจับอยู่ที่ปอด และบางส่วนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด
  10. ทาร์หรือน้ำมันดิน (Tar) เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในหลายส่วนของร่างกาย เช่น มะเร็งปอด กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ
  11. ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลาย และถุงลม ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง
  12. ตะกั่ว (Lead) พบตามโรงงานอุตสาหกรรมแบตเตอรี โรงงานถลุงโลหะ เป็นสารก่อมะเร็ง มีผลต่อหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ทำให้การได้ยินผิดปกติ ระดับไอคิวต่ำ มีผลต่อระบบเลือด ทำให้ความดันเลือดสูง ผลต่อระบบไต และระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่ ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมได้

 

การกำหนดสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ในอิสลาม

          นักกฎหมายอิสลามสมัยก่อนได้กำหนดบทบัญญัติการสูบบุหรี่เป็น 5 ระดับ คือ (1) เป็นสิ่งต้องห้ามหากบุหรี่นั้นเป็นอันตราย (2) เป็นสิ่งที่ไม่ควรหากเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น (3) เป็นสิ่งอนุมัติหากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นอันตราย (4) เป็นสิ่งที่ควรสูบหากคาดว่าจะเป็นประโยชน์และ (5) เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ (สูบ) หากเป็นทางเดียวในการรักษาโดยมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ หลังจากนั้นกาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป มีงานวิจัยมากมายที่น่าเชื่อถือได้เผยแพร่สู่สาธารณะที่กล่าวถึงพิษภัยและโทษอันมหันต์ของบุหรี่ องค์การอนามัยโลกได้ระบุในรายงาน ปี ค.ศ.1975 ว่า “ผู้ที่เสียชีวิตหรือใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นจากการสูบบุหรี่มีจำนวนมากกว่าการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคระบาดอย่างร้ายแรง รวมทั้งมีรายงานเพิ่มเติมว่า “การหยุดสูบบุหรี่จะนำไปสู่การยกระดับสุขภาพและทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น โดยที่เครื่องมือทางการแพทย์ทั้งหมดไม่สามารถที่จะทำได้” จากข้อมูลใหม่ดังกล่าว ความเห็นของนักกฎหมายอิสลามก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ นักกฎหมายอิสลามส่วนหนึ่งเริ่มกำหนดบทบัญญัติที่สอดคล้องข้อเท็จจริงอันเป็นผลของการสูบบุหรี่ กล่าวคือ ในเมื่อการสูบบุหรี่นั้นจะนำมาซึ่งโรคร้ายหลายประการและแทบไม่เห็นมีประโยชน์เลย การสูบบุหรี่ตามหลักการของอิสลามก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามโดยไม่มีข้อแม้หรือข้อสงสัย กระนั้นก็ตามยังมีนักกฎหมายอิสลามส่วนหนึ่งที่ยังไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าว (อิสมาแอ อาลี; http://www.muslim4 health.or.th /2014/index.php?op=muslimhealth-detail&id=190)

ภายหลังที่มีการเผยแพร่งานวิจัยที่บ่งบอกถึงพิษภัยของบุหรี่ ทัศนะของนักกฎหมายอิสลามก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางโดยเห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของอิสลาม โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้

1. การสูบบุหรี่มีผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพและนำไปสู่การเสียชีวิตหรือโรคเรื้อรัง บรรดาแพทย์เห็นคล้องต้องกันว่าบุหรี่นั้นเป็นภัยต่อร่างกายและชีวิต เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปตามหลักการอิสลามที่ถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นพิษเป็นภัยนั้นถือว่าหะรอม (ต้องห้าม) อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 

และพวกเจ้าจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นมีความปรานีต่อพวกเจ้าเสมอ” (อันนิสาอฺ, 4: 29)

   บรรดาเศาะฮาบะหฺ (สหายท่านศาสดา) เข้าใจว่าโองการดังกล่าวนั้นเป็นการห้ามมิให้มุสลิมนำตัวเองไปสู่ความหายนะ 

2. การสูบบุหรี่เป็นการทำลายและเป็นการสูญเสียทรัพย์สิน วัตถุประสงค์ของทรัพย์สินคือเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักการของอิสลาม การนำเอาทรัพย์สินไปซื้อบุหรี่ที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยก็ไม่แตกต่างอะไรเลยจากการทำลายทรัพย์สิน เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาทรัพย์สินนั้น เป็นหนึ่งในห้าเป้าประสงค์หลักของกฎหมายอิสลาม ท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า

แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงห้ามพวกเจ้า อกตัญญูต่อมารดา การฝังลูกสาว การปฏิเสธ ให้ตามหน้าที่ และการรับที่ไม่ชอบ และได้ทรงเกลียดพวกเจ้าในการซุบซิบ การถามมาก และการทำให้สูญเสียทรัพย์สิน” (รายงานโดย บุคอรีย์และมุสลิม) 

  ปราชญ์บางท่านได้อธิบายความหมายของการให้สูญเสียทรัพย์สินว่า เป็นการใช้จ่ายเกินจำเป็น บางท่านอธิบายว่า เป็นการใช้จ่ายในทางต้องห้าม การอธิบายที่น่าจะถูกต้องที่สุดคือใช้จ่ายในทางไม่ชอบด้วยหลักการของอิสลาม นอกจากนั้นอิสลามได้กำหนดมาตรการหลายประการในการปกป้องทรัพย์สินของบุคคล ส่วนหนึ่งคือการห้ามใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย

3. บุหรี่ถือได้ว่าเป็นสิ่งเลวทรามอย่างหนึ่ง อันเป็นสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลฯ) จะต้องห้ามปราม อัลลอฮฺตรัสว่า 

เขา(มุฮัมมัด) จะทำการสั่งเสียพวกเขาด้วยสิ่งที่ชอบธรรมและจะห้ามปรามจากสิ่งชั่วร้าย และจะอนุมัติแก่พวกเขาสิ่งดีงามทั้งหลายและห้ามพวกเขาสิ่งเลวทรามทั้งหลาย” (อัลอะอฺรอฟ, 7: 157) 

             ความเลวทรามของบุหรี่นั้น ปรากฏชัดนอกเหนือจากรสชาติและกลิ่นของมันแล้ว บุหรี่ยังเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งโรคร้ายแรงแก่ผู้สูบอีกด้วย 

         4. การสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นเสมือนของกินหรือเครื่องดื่มที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามปรกติ ทั้งไม่ได้เป็นยารักษาโรค ดังนั้นจึงถือว่าการสูบบุหรี่เป็นการกระทำที่ไร้สาระ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการอิสลาม

 

หลักฐานทางศาสนาที่ห้ามสูบบุหรี่ 

บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองของการเสียชีวิตทั่วโลก เห็นได้จากข้อมูลคนที่สูบบุหรี่ทั่วโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 650 ล้านคน ในแต่ละปีมีคนไม่สูบบุหรี่หลายแสนคนต้องเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง คือควันบุหรี่ในบรรยากาศหรือควันบุหรี่มือสองที่เกิดขึ้นจากสองแหล่ง คือ ควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมาและควันบุหรี่ที่ลอยจากตอนปลายมวนบุหรี่ ทันทีที่บุหรี่ถูกจุดขึ้น การเผาไหม้ของมวนบุหรี่จะทำให้เกิดสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด เป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และกว่า 50 ชนิด ที่เป็นสารพิษที่วงการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (วรวุฒิ เจริญศิริ; http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-general/cigarettes/531)

         จากผลการวิจัยเรื่องบุหรี่ในวงการแพทย์แล้ว พบว่าโทษจากบุหรี่เกิดจากสารประกอบในควันบุหรี่ซึ่งจะมีสารประกอบต่างๆ มากกว่า 4,000 ชนิดนั้น สารประกอบเหล่านี้บางชนิดมีคุณสมบัติให้โทษต่อร่างกาย ดังนั้นอิสลามจึงมีการกำหนดห้ามการสูบบุหรี่ด้วยเหตุผล ดังนี้

  1. อัลลอฮฺทรงห้ามมิให้ฆ่าตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อมและห้ามนำพาตัวเองสู่ความหายนะ ซึ่งมีใจความว่า "และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ" (อันนิสาอฺ, 4 :29) 

          และความว่า "และพวกเจ้าจงอย่ายื่นมือของพวกเจ้าสู่ความหายนะ" (อัลบะเกาะเราะฮฺ, 2 :195)

  1. การสูบบุหรี่เป็นการสุรุ่ยสุร่ายที่อัลลอฮฺทรงห้าม ตามสถิติพบว่า บริษัทผลิตบบุหรี่ในอเมริกาได้ผลิตบุหรี่เป็นจำนวนเงินถึงสามหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี (Larry White : Merchants of Death, New York, 1988) ในขณะที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ ความว่า "และพวกเจ้าจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" (อัลอิสรออฺ, 17 :26)
  2. สร้างความเดือดร้อนแก่คนรอบข้างและครอบครัว อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ ความว่า "และบรรดาผู้ที่สร้างความเดือดร้อนแก่มวลชนผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงด้วยสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ แน่นอนเขาเหล่านั้นต้องแบกความเท็จและบาปอันชัดแจ้ง" (อัลอัหซาบ, 33 :58)
  3. บุหรี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จะเห็นได้จากคราบนิโคตินที่ติดตามไรฟันและส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ดังนั้นบุหรี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) อัลลอฮฺ  ทรงตรัสไว้ ความว่า "และพระองค์ทรงห้ามพวกเขาจากสิ่งที่เลวทรามและน่ารังเกียจทั้งหลาย" (อัลอะอฺรอฟ, 7 :15)
  4. บุหรี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้อิ่มและไม่ใช่ยารักษาโรค เพราะฉะนั้นการสูบบุหรี่จึงเป็นการเปล่าประโยชน์ และการเปล่าประโยชน์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) (มุหัมหมัด อาลี อัลบารฺ; http://www.sunnahstudent.com/forum/archive.php?topic=2098.0)

 

รูปแบบการขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ในชุมชนปะลุรู

          ความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนปะลุรูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย 3 กลุ่มชาติพันธุ์คือ จีน ไทย และมลายู มีประวัติความเป็นมาที่โดดเด่นในอดีต ปะลุรูเป็นชุมชนหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นโดยฮัจญีมะเกะ โต๊ะแบห ซึ่งเดิมทีเป็นคนภูมิลำเนาจากอำเภอไม้แก่น จังหวัดยะลา ในช่วงแรกได้บุกเบิกและจับจองพื้นที่ทำกินโดยการไปปลูกพืช ทำไร่ ทำสวนในเขตพื้นที่ร่วมกับพี่น้องอีก 3 คน ในระหว่างที่กำลังทำสวน ทำไร่ บังเอิญไปตัดรากไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมังกรที่ริมคลอง (ซึ่งเรียกว่า รากบลูรู) แต่หลังจากนั้นรากไม้ที่ถูกตัดดังกล่าวได้หายไป พร้อมกับความเชื่อว่า รากไม้ได้กลายเป็นมังกรได้ว่ายน้ำลงสู่ทะเลในที่สุด  ด้วยความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บลูรู" (มาจากชื่อรากไม้ดังกล่าว ซึ่งเมื่อเขียนเป็นภาษาไทย กลายเป็น ปะลุรู) ชุมชนนี้มีการอาศัยอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนจีน ไทยพุทธ และมุสลิม การประกอบอาชีพหลักของชุมชนนี้คือ เป็นเกษตรกร ทำสวน รับจ้างทั่วไป และรับราชการ ปัจจุบันมีครัวเรือนทั้งสิ้น 179 หลังคาเรือน แบ่งเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม 143 หลังคาเรือน และที่นับถือศาสนาพุทธ 36 หลังคาเรือน มีร้านค้าในชุมชนทั้งสิ้น 5 ร้าน เรื่องการไปมาหาสู่ของคนในชุมชนหรือระหว่างต่างศาสนิกในชุมชนปะลุรูมีการสานสัมพันธ์ด้วยดี มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการบริหารมัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์นี้ อิหม่ามคนปัจจุบันคือ นายแวฮาซัน แวมามุ ซึ่งเป็นอิหม่ามคนที่ 2 หลังจากท่านอิหม่ามคนแรกเสียชีวิตคือ นายอิสมาแอ แวมามุ ซึ่งเป็นพี่ชายที่ตั้งมั่นบริหารและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยจะให้ความสำคัญและเน้นในเรื่องการให้ความรู้แก่สัปปุรุษมัสยิดเช่นกัน

          หลังจากท่านอิหม่ามคนปัจจุบันมาบริหารมัสยิด ได้ทำการสานต่อภารกิจของพี่ชายด้านการให้ความรู้ การสอนหนังสือให้แก่สัปปุรุษ อีกทั้งมีความตั้งใจที่จะให้บุหรี่หมดไปจากชุมชน ดังนั้นในการเลิกบุหรี่ของสัปปุรุษมัสยิดหรือประชาชนในชุมชนปะลุรูนั้น ลำดับแรกอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดต้องมีบทบาทที่ชัดเจน จำเป็นที่ต้องสร้างทีมงานที่เข้มแข็งอีกทั้งต้องตั้งเจตคติ (นิยัต) ทำงานเพื่อต่อสู้กับบุหรี่ให้ประสบผลสำเร็จให้ได้ โดยเริ่มจากการให้ความรู้แก่สัปปุรุษหรือประชาชนในชุมชน ประเด็นการเอาชนะเรื่องเลิกบุหรี่นี้ไม่ใช่ง่ายนัก เพราะสัปปุรุษมัสยิดรวมถึงคณะกรรมการมัสยิดส่วนหนึ่งเคยติดบุหรี่มาก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีคำวินิจฉัยหรือการกำหนดบทบัญญัติการสูบบุหรี่เป็นแค่มักรูฮ (การห้ามอย่างไม่เด็ดขาด) ทำให้มีคนสูบและมีร้านค้าขายบุหรี่ในชุมชน หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อต่อสู้กับบุหรี่แล้ว โดยเฉพาะในเบื้องต้นจะมีการพูดถึงเรื่องพิษภัยและโทษของบุหรี่ ทางอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดได้มีการรณรงค์และส่งเสริมด้านความรู้เพื่อให้สัปปุรุษและประชาชนในชุมชนปลอดบุหรี่ให้ได้ กิจกรรมทั้งหมดจะเสริมด้วยความรู้เรื่องบุหรี่โดยเฉพาะคำวินิจฉัยทางศาสนาโดยสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ 02/2549 ว่าบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม ถือว่าเป็นสิ่งที่หะรอมด้วยเหตุผลที่ว่า “นำตัวเองและผู้อื่นสู่ความหายนะ” บุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยต่างๆ และเกิดการฟุ่มเฟือยในเศรษฐกิจอีกด้วย 

การสูบบุหรี่ในอดีตของสัปปุรุษมัสยิดส่วนใหญ่แล้วเป็นเพศชาย บางครอบครัวสูบทั้งพ่อและลูกชาย บางครอบครัวพ่อไม่สูบแต่ลูกชายติดบุหรี่ ตรงกันข้ามอีกหลายครอบครัวพ่อสูบบุหรี่แต่ลูกชาย ลูกสาว รวมถึงภรรยาต้องช่วยกันห้ามเตือน ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะกับบุหรี่นั้น ถือเป็นภาระงานที่หนักและมีความยากลำบากพอสมควร โดยเฉพาะผู้นำศาสนาต้องสละเวลาทำงานเพื่ออุมมะห์ (ประชาชาติ) ต้องมาบริหารการงานของมัสยิดรวมถึงความสุขของสัปปุรุษทุกคน นอกจากนั้นหัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวต้องช่วยกัน นาซีฮัต (ตักเตือน) เพื่อให้สมาชิกที่สูบบุหรี่ในบ้านเลิก ไม่อยากให้สมาชิกในครอบครัวต้องดูดพิษจากควันบุหรี่มือสองที่ส่งผลร้ายมากกว่าผู้สูบอีกด้วย

ในการเลิกบุหรี่ในชุมชนหรือครอบครัวนั้น บุคคลมีบทบาทที่แตกต่างกันโดยเฉพาะผู้นำศาสนา อิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิด ส่วนในครอบครัวเป็นหน้าที่ของสมาชิกในบ้าน บางทีผู้หญิง ที่เป็นภรรยาหรือลูกสาวย่อมมีบทบาทมากกว่ากัน บางครอบครัวภรรยาอาจทำหน้าที่หรือมีบทบาทในการว่าเตือนสามีให้เลิกบุหรี่ แต่อีกครอบครัวหนึ่งลูกสาวอาจมีบทบาทมากกว่าภรรยา เนื่องจากถ้าเป็นการตักเตือนโดยภรรยาแล้ว ทางสามีจะรู้สึกเชยๆ แต่ถ้าเป็นการเตือนหรือการขอร้องจากลูกๆ คุณพ่ออาจมีความรู้สึกที่ต้องรับฟังมากกว่าด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ในการขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ของมัสยิด ทางอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดมีการแบ่งและจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยทางมัสยิดมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะจัดกิจกรรมออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มสตรี/แม่บ้าน กลุ่มเยาวชน (ทั้งเพศชายและหญิง) และกลุ่มประชาชนทั่วไป 

รูปแบบการเลิกบุหรี่ของสัปปุรุษมัสยิดหรือประชาชนในชุมชนปะลุรูนั้น เกิดจากกระบวนการให้ความรู้เรื่องบุหรี่แก่ทุกกลุ่มในชุมชน ทั้งกลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยทุกคนจะเสียสละเวลาและทุ่มเทในกิจกรรมโดยหวังเห็นความสำเร็จในโครงการที่ร่วมกำหนดไว้ กิจกรรมให้ความรู้เรื่องโทษและสถานะต้องห้ามของบุหรี่นั้น ทางมัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์ได้ดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี หรือก่อนที่ทางสำนักจุฬาราชมนตรีจะมีการกำหนดคำวินิจฉัยว่าบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาเสียอีก ทางมัสยิดมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทั้งรายสัปดาห์และรายเดือน ส่วนวิทยากรหรือพี่เลี้ยงในการแลกเปลี่ยนให้ความรู้นั้นจะมีทั้งบุคคลในพื้นที่และต่างพื้นที่ เช่นจะเชิญวิทยากรที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนั้นก็จะมีการเชิญตัวแทนอิหม่ามจากมัสยิดรอบข้างหรือตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสมาเป็นวิทยากรบรรยายอีกด้วย

 

กิจกรรมการให้ความรู้เรื่องโทษและสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่

          ในการจัดกิจกรรมของมัสยิดจะมีการจัดกลุ่มกิจกรรมออกเป็นรายสัปดาห์และรายเดือน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมก็จะแตกต่างกัน กิจกรรมส่วนใหญ่จะจัดช่วงเวลากลางคืนหลังละหมาดมัฆริบ ยกเว้นกิจกรรมพบปะ Kaum Ibu(กลุ่มแม่บ้าน/กลุ่มสตรี) และการพบปะประชาชนทั่วไปสัปดาห์ละชั่วโมงหลังละหมาดญูมอัต (ละหมาดวันศุกร์) ที่จะมีการจัดกิจกรรมในช่วงกลางวัน การเข้าร่วมกิจกรรมของสัปปุรุษถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการเคารพในมติที่ประชุม การบริหารแบบมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน ทุกกิจกรรมจะมีการเน้นเรื่องการเลิกบุหรี่ในลำดับต้นๆ เพราะทางมัสยิดมองว่า ทัศนะหรือฮูกุ่มเรื่องบุหรี่ถ้าไม่ให้ความรู้ในเชิงลึกที่ว่า “บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม” แล้วนั้น โอกาสการเลิกบุหรี่ก็จะมีน้อย ดังนั้นทางมัสยิดมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้เรื่องบุหรี่ ดังนี้

  1. กิจกรรมฮาลาเกาะห์กุรอานประจำสัปดาห์ จะมีการจัดในทุกคืนวันจันทร์ โดยกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงรวมกัน เป็นกิจกรรมที่ศึกษาอัลกุรอาน ฟิกฮฺ และประวัติศาสตร์ อีกทั้งพูดคุยเรื่องสถานการณ์โลกปัจจุบัน ในช่วงแรกๆ ก็จะเน้นในเรื่องการทำความเข้าใจในเรื่องโทษ พิษภัย และสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ เนื่องจากช่วงสิบปีที่ผ่านหลายคนยังสูบบุหรี่รวมถึงคณะกรรมการมัสยิดด้วย 
  2. กิจกรรมสอนตัฟซีรและหะดิษ มีการจัดเรียน/บรรยายในทุกคืนวันอังคาร โดยกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงรวมกัน ในช่วงแรกๆ ก็จะเน้นในเรื่องตัฟซีร (อรรถาธิบายอัลกุรอาน) ในบทที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ ทั้งในด้านโทษและการฟุ่มเฟือย ส่วนหะดิษก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นการเรียนอีกรูปแบบหนึ่งในอิสลาม เพราะอิสลามได้ส่งเสริมให้ทุกคนต้องมีการสอนหนังสือ หากผู้ใดไม่มีความสามารถที่จะสอนก็จงเป็นผู้เรียน (ศึกษา) หากไม่สามารถเป็นผู้เรียนได้ก็จะเป็นผู้ฟังที่ดี และพวกเจ้าจงอย่าเป็นเหมือนบุคคลในกลุ่มที่สี่ จะเห็นได้ว่าการสอนตัฟซีรและหะดิษเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอเรื่องบุหรี่ที่จะนำไปสู่การเลิกที่มีความเกี่ยวข้องกับอามาล (การปฏิบัติในเรื่องศาสนา) และได้ผลบุญ 
  3. กิจกรรมสอนกีรออาตีผู้ใหญ่ประจำสัปดาห์ มีการจัดสอนฝึกการอ่านอัลกุรอานสำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่สามารถอ่านกุรอานที่ถูกต้องตามหลักตัจวีด (ศิลปะในการอ่านอัลกุรอาน/การออกเสียง) โดยจัดขึ้นในทุกคืนวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงรวมกันเช่นกัน นอกจากสอนกุรอานแล้วจะแทรกด้วยการให้ความรู้เรื่องบุหรี่ให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมอีกด้วย
  4. กิจกรรมพบปะ Kaum Ibu (กลุ่มสตรี/กลุ่มแม่บ้าน) โดยกิจกรรมนี้จะมีการจัดขึ้น 2 สัปดาห์ครั้ง และเน้นกลุ่มสตรีที่มีครอบครัวแล้ว จัดในวันเสาร์หลังละหมาดซุฮรี (ละหมาดเที่ยงวัน) กิจกรรมนี้มีการบรรยายแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้ชีวิตในครอบครัว โดยเฉพาะช่วงแรกๆ เน้นให้ความรู้เรื่องบุหรี่ ปลูกฝั่งให้มีการทำการบ้านในเรื่องการให้ความรู้และการตักเตือนสมาชิกในครอบครัวให้เลิกบุหรี่
  5. กิจกรรมพบปะเยาวชน กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นทุกคืนวันศุกร์ เป็นกิจกรรมให้คำนาซีฮัตของอิหม่ามต่อเยาวชนในชุมชน มีการพบปะแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการมัสยิด เป็นเวทีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ เวทีนาซีฮัตเยาวชนในประเด็นยาเสพติด ใบกระท่อม สี่คูณร้อย และบุหรี่ ตลอดจนบทบาทเยาวชนอิสลามในอนาคต ทางผู้นำมัสยิดจะมีการเปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงบทบาทในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเพื่อนๆ โดยมีการตักเตือนซึ่งกันและกัน การรู้จักทำงานเพื่อญะมาอะห์และอยู่ในครรลองของอิสลามให้มากที่สุด เป็นเวทีที่เป็นกันเองกับกลุ่มเยาวชน สร้างความรักและผูกพันกับมัสยิดและทีมบริหารมัสยิด มีการจัดค่ายเยาวชน การจัดกีฬาต้านภัยยาเสพติด กิจกรรมกียามุลลัย และทัศนศึกษาของเยาวชน ซึ่งมีเยาวชนที่เข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 43 คน จะใช้ศาลาประชุมของมัสยิด และจะเชิญวิทยากรจากข้างนอกด้วย 
  6. กิจกรรมพบปะประชาชนทั่วไปหลังละหมาดญูมอัต กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นทุกๆ วันศุกร์ หลังเสร็จสิ้นการละหมาดญูมอัต (ละหมาดวันศุกร์) โดยจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง มีการพูดคุยเรื่องศาสนาและเหตุการณ์ปัจจุบัน จะมีการพูดถึงเรื่องบุหรี่ถือเป็นวาระหลักของชุมชนปะลุรู เป็นกิจกรรมให้คำ นาซีฮัต ของอิหม่ามต่อเยาวชนในชุมชน มีการพบปะแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการมัสยิด เป็นเวทีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ เวทีปลุกใจเยาวชนที่หลับให้ตื่นขึ้นมาพัฒนาตนเองและบ้านเกิดโดยเฉพาะจะพูดคุยในประเด็นยาเสพติดและบุหรี

          จากเวทีแลกเปลี่ยนกับชุมชน พบว่าชุมชนมัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์ ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมีกิจกรรมที่สอดแทรกให้ความรู้ในเรื่องบุหรี่อยู่ 6 กิจกรรมหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่ในระดับตำบลและอำเภอ ความสำเร็จของกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโทษและสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ในอิสลามนั้น ทำให้ชุมชนปะลุรูสามารถเป็นชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่ คณะกรรมการมัสยิดทุกคนไม่สูบบุหรี่ ประชาชนและเยาวชนส่วนใหญ่จะไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในพื้นที่มัสยิดและโรงเรียนประถมศึกษา เป็นการปลูกฝั่งเรื่องบุหรี่มากกว่า 10 ปีที่ผ่าน  ได้พบว่า สาเหตุของการเลิกบุหรี่ของสัปปุรุษมัสยิดปะลุรูมาเป็นอันดับหนึ่ง คือเลิกเพราะมีความเข้าใจในเรื่องหลักการศาสนาที่ว่า “บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม” และตามด้วยเหตุผล “สูบแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย” ส่วนการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของเยาวชน พบว่ามีเยาวชนหรือวัยรุ่นประมาณ 30 คน ที่ยังไม่เข้ามัสยิดและถือว่ายังติดบุหรี่ ส่วนการให้ความร่วมมือของร้านค้าในชุมชนต่อบุหรี่นั้น ชุมชนปะลุรูมีร้านค้าทั้งหมด 5 ร้าน แบ่งเป็นร้านค้าของชาวมุสลิม 4 ร้าน และเป็นร้านค้าของชาวพุทธอีก 1 ร้าน เยาวชนหรือบุคคลที่สูบบุหรี่นั้นจะไปซื้อบุหรี่ที่ร้านค้าของคนพุทธ เนื่องจากร้านค้าของคนมุสลิมทั้ง 4 ร้าน ไม่มีการขายบุหรี่ด้วยเหตุผลบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เงินที่ได้มาก็จะไม่เกิดความบารอกัต (ประเสริฐ) ได้มาเท่าไรก็ใช้ไม่เพียงพอ

 

สรุปและวิเคราะห์ผล

ในการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโทษและสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่นั้น กิจกรรมที่จัดไปในเบื้องต้นมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ทำอย่างไรให้สัปปุรุษมัสยิดห่างไกลและเลิกบุหรี่ให้ได้ สามารถยกระดับสู่ชุมชนสีขาวปลอดบุหรี่ ความตั้งใจของอิหม่ามและการมีส่วนร่วมของสัปปุรุษมัสยิดชุมชนปะลุรู ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของชุมชนให้สูงขึ้น ใช้เวทีวิชาการในการแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงชีวิต โดยทางมัสยิดมีการจัดกิจกรรมเพื่อต่อสู้กับบุหรี่ทั้งหมด 6 กิจกรรม การเลิกบุหรี่ต้องเน้นย้ำในเรื่องหลักการที่เกี่ยวข้องกับศาสนา นำประเด็นองค์ความรู้ที่มีผลต่อการปฏิบัติของแต่ละคนซึ่งจะได้รับสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่า ในการกำหนดสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ในอิสลามมีผลมากกว่าการนำเสนอเรื่องพิษภัยหรือโรคที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ประเด็นการขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ในชุมชนนี้น่าจะมีความแตกต่างจากชุมชนอื่น เพราะทางสัปปุรุษมัสยิดมีความมั่นใจและเคารพในหลักคิดของท่านอิหม่าม เนื่องจากทุกครั้งที่มีการให้ความรู้ในแต่ละเรื่องก็จะทำการยกหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดิษของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อล) การให้ความรู้ต้องครอบคลุมทุกกลุ่มและทุกระดับ โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังนั้นทางมัสยิดได้มีการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม ในการบรรยายหรือให้ความรู้ทุกครั้งทางอิหม่ามจะให้ข้อคิดและมีอะไรดีๆ มาฝากประจำ อีกทั้งจะปิดด้วยการนาซีฮัตเรื่องบุหรี่ ถือเป็นวาระสำคัญของมัสยิดที่ต้องเอาชนะเรื่องบุหรี่ให้ได้ 

          ในการกำหนดสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ของมัสยิดชุมชนปะลุรูนี้ เป็นจุดเด่นที่เห็นสมควรนำไปใช้ในชุมชนอื่นได้ ในเบื้องต้นอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันก่อนว่า บุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ต้องแก้ไขในทีมคณะกรรมการมัสยิดก่อน เมื่อทีมบริหารมัสยิดปลอดบุหรี่แล้ว สามารถขยายโครงการให้กว้างขวางขึ้นได้ ในการเอาชนะกับบุหรี่ต้องใช้เวลาและความอดทนสูงมาก เพราะบางครั้งถ้าเราเจอกับบุคคลที่เลิกบุหรี่มาแล้วเป็นเวลา 3 เดือน จากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยน ทางประชาชนนำเสนอว่าเราอย่าเพิ่งดีใจที่ว่าสามารถเลิกบุหรี่ได้แล้ว เนื่องจากบางคนที่เคยเลิกบุหรี่ระยะเวลา 1 ปี สุดท้ายก็ต้องหันมาสูบบุหรี่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความสอดคล้องกับงานวิจัยที่ นายแพทย์วรวุฒิ เจริญศิริจากศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพเนื่องจากปัจจุบันพบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่กลับไปสูบใหม่ แหล่งควันบุหรี่มือสองที่สำคัญที่สุดคือ ในอาคารและในบ้าน ยังสอดคล้องกับรายงานวิจัยในประเทศตุรกี ทำการศึกษาผู้ที่มารับการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่ 169 คน โดยให้เข้าโปรแกรมเลิกบุหรี่ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้ยาช่วยอดบุหรี่จนเลิกบุหรี่ได้ ในการติดตามผลการรักษาต่อมาพบว่า 68 คนเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ในขณะที่ 101 คนกลับไปสูบใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่กลับไปสูบใหม่ 

          ดังนั้น การให้ความรู้ในการกำหนดสถานะสิ่งต้องห้ามของบุหรี่ในอิสลามสามารถขับเคลื่อนสู่การเลิกบุหรี่ในชุมชนปะลุรูได้ เพราะทางสัปปุรุษที่มีความรู้ว่าบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามแล้ว เมื่อมีการซื้อขายหรือสูบไปแล้ว ก็จะเหมือนการกระทำที่ศาสนาได้ทรงห้ามปราม เฉกเช่น การห้ามรับประทานหมูหรือซากสัตว์ที่ตายแล้ว ก่อนที่จะประสบผลสำเร็จกับการทำสงครามกับบุหรี่นั้น ทางผู้ที่รับผิดชอบหรือมีบทบาทต้องดำเนินการให้เป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งต้องครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ต้องใช้เวลานานและห้ามถอยหลัง ปัจจุบันทางมัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์ถือว่าได้บริหารเรื่องบุหรี่ที่ประสบผลสำเร็จมากๆ คณะกรรมการมัสยิดที่เคยติดบุหรี่สามารถเลิกได้เพราะอีหม่านหรือพลังความเชื่อในหลักการศาสนาอิสลามที่สูงมาก ร้านค้าในชุมชนโดยเฉพาะร้านค้าที่เป็นของคนมุสลิมทั้ง 4 ร้านไม่มีการขายบุหรี่ ยกเว้นร้านค้าของคนพุทธ 1 ร้านเท่านั้น เยาวชนจะใกล้ชิดกับมัสยิดมากขึ้น สุดท้ายมีการจัดระเบียบในมัสยิดและที่สาธารณะอื่นๆ จะไม่มีก้นบุหรี่ในที่ชุมชนอีกต่อไป ทางมัสยิดได้ออกเป็นกฎนโยบายสาธารณะของชุมชนบ้านปะลุรูที่ร่วมกันเคารพและปฏิบัติตาม การดำเนินกิจกรรมสู่มัสยิดครบวงจร ซึ่งเคยได้รับโล่รางวัล เป็นชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่จากคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอสุไหงปาดีอีกด้วย อีกทั้งเป็นมัสยิดต้นแบบที่หลายๆ หน่วยงานมาทำการศึกษาดูงาน

          ทางมัสยิดกามาลียะห์อิสลามียะห์น่าจะมีการปลูกฝังและส่งเสริมให้นำแนวคิดนี้เพื่อไปใช้ในเวทีการพบปะอิหม่ามในแต่ละสัปดาห์ได้ ถือว่าเป็นภารกิจและหน้าที่หนึ่งที่จะให้ประชาชนเลิกบุหรี่ การให้ความรู้และการติดตามอย่างต่อเนื่องสามารถขับเคลื่อนวงล้อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น ทางมัสยิดควรแบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าวผ่านเวทีในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดต่อไป

 

บรรณานุกรม

 

ผู้จัดการออนไลน์. (2556). 12 สารพิษร้ายในควันบุหรี่ ก่อโรคเพียบ. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2558, จาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000082 508)

มุหัมหมัด อาลี อัลบารฺ. (ม.ป.ป.) หลักฐานต่างๆ ที่ห้ามสูบบุหรี่. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2558, จาก http://www.sunnahstudent.com/forum/archive.php?topic=2098.0

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่. (ม.ป.ป.) เหตุผลที่ทำให้คุณควรเลิกสูบบุหรี่เพื่อคนที่คุณรัก. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่. (ม.ป.ป.). ควันบุหรี่มือสอง ภัยจากบุหรี่ที่เราไม่ได้สูบ. กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

วรวุฒิ เจริญศิริ. (2553). ควันบุหรี่มือสอง. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2558, จาก http://www. bangkokhealth.com/index.php/health/health-general/ cigarettes/531.

วิชชุดา แก้วน้อย, (ม.ป.ป.). โทษของบุหรี่.สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2558, จาก http://webdb.dmsc. moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?i nfo_id=54

ศรัณญา เบญจกุล และ มณฑา เก่งการพานิช. (ม.ป.ป.)รวมพลังประชาคมขจัดภัยบุหรี่. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภค.ยาสูบ (ศจย.)

อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ และคณะ .(2554). บุหรี่ภัยร้ายทำลายคุณ. กรุงเทพฯ : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. 

อิสมาแอ อาลี. (มปป.). อิสลามกับการสูบบุหรี่. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2558, จากhttp://www.muslim4 health.or.th/2014/index.php?op=muslimhealth-detail &id=190

หมายเลขบันทึก: 695192เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท