กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส


กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สู่การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคะ

ตำบลจอเบาะ  อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

โดย มะดาโอะ  ปูเตะ[1] , นายณรงค์ หัศนี**, นายมะรีกี ปูเตะ***

[1] อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

** อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร  คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

*** เยาวชนนักพัฒนาในอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

 

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ  อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส” โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ 2) เพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน  ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนในตำบลจอเบาะ  จำนวน 40 คน เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เจาะลึก  การสังเกตการณ์  การศึกษาข้อมูลทางสถิติ และเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล

ผลจากการศึกษาพบว่า  รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ เริ่มจากฐานคิดที่มาจากหลักการทางศาสนาเกี่ยวกับการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การช่วยเหลือบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก การให้มีกองทุนสวัสดิการที่นำไปใช้ในการจัดการศพ เพื่อความคล่องตัว สามารถจัดการศพด้วยความรวดเร็วและเป็นที่น่าพอใจ ส่วนความเกี่ยวข้องระหว่างรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสาธารณะ ชุมชนมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกผู้เสียชีวิตในชุมชนโดยผ่านกระบวนการ นาวัตญามาอี ที่มีการจัดการเป็นระบบ ทำให้มีความคล่องตัวของประชาชนในชุมชน (ในการไปนาวัต) และครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินสวัสดิการเป็นก้อน สามารถไปใช้จ่ายจัดการศพโดยไม่ต้องเดือดร้อนดิ้นรนหาเงินอย่างกระทันหัน นอกจากนี้ทางกองทุนจะไปรับผิดชอบบุคคลที่ไม่มีเครือญาติ คนเสียสติ และวิกลจริตด้วย สมาชิกทุกคนนอกจากจะได้ช่วยเหลือศพดังกล่าวแล้วยังได้ผลบุญในหนทางของอัลลอฮฺอีกด้วย กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกุลดุนยาบ้านโคะที่เข้มแข็ง มีการดำเนินการมาแล้วประมาณ 10 ปี มีสมาชิกจำนวน 2,500 คน สมาชิกดังกล่าวมาจากชุมชนบ้านโคะและชุมชนใกล้เคียง เช่น ชุมชนบ้านพงปือเราะ บ้านยือเลาะ บ้านต้นตาล บ้านแยะ และอีกส่วนหนึ่งมาจากนอกเขตตำบลจอเบาะ

 

คำสำคัญ : กองทุนสวัสดิการ, ซารีกัตมือนิงกัลดุนยา, ชุมชน, จิตสำนึกสาธารณะ, จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

บทนำ

สังคมไทยมีวัฒนธรรมการอยู่แบบช่วยเหลือเกื้อกูล มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง มีศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่พึ่งพาในการแก้ปัญหา เป็นระบบสวัสดิการชุมชน แบบธรรมชาติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเกื้อกูล เคารพซึ่งกันและกัน ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของชุมชนในการดูแลกันและกันก็ลดลง แต่หลายปีที่ผ่านมา องค์กรชุมชนได้ตระหนักถึงความมั่นคงในชีวิตจึงได้รวมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนและพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนที่หลากหลาย  (องค์การมหาชน), 2552: 1) สวัสดิการชุมชนเป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลทีเริ่มจากการพึ่งตนเองก่อน เป็นการช่วยเหลือที่มากกว่าเงินหรือวัตถุ แต่เน้นความสัมพันธ์ที่ดี การมีน้ำใจ  การไว้ใจซึ่งกันและกัน การมีกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการสร้างการออมเพื่อการให้เป็นกองบุญมากกวากองทุน ทุกคนต่างเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เป็นการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  การช่วยเหลือที่เผื่อแผ่ถึงผู้ทุกข์ยากและผู้ด้อยโอกาส ในชุมชน สวัสดิการชุมชนต่างจากระบบประกันเชิงพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับระบบ สมาชิกและการได้รับประโยชน์ต่างเบี้ยประกัน สวัสดิการชุมชนจะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลังสามารถบรรลุเป้าหมาย มีความมั่นคงของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องเป็นแกนหลักสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางผนึกพลังกับท้องถิ่น เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนกับการสร้างทุนใหม่ของชุมชนซึ่งเป็นทุนเศรษฐกิจและทุนสังคม การเชื่อมโยงกับการพัฒนาอื่นๆของชุมชนอย่างกลมกลืน สร้างกระบวนการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแต่มีความซื่อสัตย์ และมีประสิทธิภาพเป็นการสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดเวลา

การให้สวัสดิการในระบบสังคมอิสลามนั้นมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้านการประกันให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขมั่นคงในอุดมการณ์ ชีวิตและทรัพย์สินมีความปลอดภัยเพื่อสู่การมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ ส่วนหลักสวัสดิการทางสังคมในอิสลามเป็นหลักที่อัลลอฮได้บัญญัติไว้โดยโยงใยเกี่ยวข้องกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ หลักการนี้ได้ถูกกำหนดมาพร้อมกับอิสลามและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมอิสลามอันมีมาตั้งแต่ 1,400 ปีกว่าแล้ว ดังที่อัลลอฮกล่าวในอัลกุรอาน :

ความว่า “ จงอิบาดะฮต่ออัลลอฮและอย่าตั้งภาคีต่อพระองค์กับสิ่งใดทั้งสิ้น และจงทำความดีต่อพ่อแม่ ต่อญาติสนิท ต่อลูกกำพร้า ต่อคนยากจน ต่อเพื่อนบ้านที่เป็นญาติ ต่อเพื่อนบ้านที่มิได้เป็นญาติ ต่อเพื่อนสนิท ต่อผู้เดินทาง และต่อทาสที่พวกเจ้าครอบครอง แท้จริงอัลลอฮไม่ทรงรักผู้ที่หยิ่งผยองอีกทั้งยกตัวเอง ” 

นอกจากนี้อิสลามได้จัดสวัสดิการทางสังคมให้สังคมโดยลำดับ โดยเน้นสวัสดิการที่ให้การสนับสนุนครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสโดยให้ระดับหน่วยของสังคมเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับเครือญาติดังที่มีหะดีษที่ท่านรอซูลกล่าวตอบ เมื่อมีศอฮาบะฮถามท่านเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของคนๆ หนึ่งในการดูแลให้ความช่วยเหลือ ท่านตอบว่า 

ความว่า “ แม่ของเจ้า พ่อของเจ้า พี่หรือน้องสาวของเจ้า พี่หรือน้องชายของเจ้า ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เจ้าต้องให้สิทธิแก่เขา และญาติที่มีสิทธิเหนือเจ้า ”

จากโองการและหะดิษดังกล่าว อิสลามได้จัดลำดับการให้ความช่วยเหลือให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ตามลำดับคือ แม่ พ่อ พี่สาวหรือน้องสาว  พี่ชายหรือน้องชาย  ญาติใกล้ชิด ญาติที่มีสิทธิ

ระบบสวัสดิการชุมชน มีความแตกต่างจากระบบการขายประกันโดยทั่วไป เพราะใช้กระบวนการชุมชนเป็นตัวในการดูแลกันและกัน มีความรักเอื้ออาทรกันและกัน เป็นเรื่องของคุณค่ามากกว่าเงินทอง ส่วนรูปแบบหรือกิจกรรมสวัสดิการชุมชนนั้นต้องมาจากฐานคิดเดียวคือ ฐานคิดที่ต้องการที่จะสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงร่วมกันของคนในชุมชน สร้างกระบวนการในการจัดการตนเอง อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพิง พึ่งพา อันเป็นทุนทางสังคมของชุมชนที่มีอยู่เดิม เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ที่โยงใยวิถีชีวิตผู้คนเข้ากับธรรมชาติ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สวัสดิการชุมชนมีฐานมาจากกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ดังนี้ เช่น จากฐานองค์กรการเงินชุมชนและการบูรณาการกองทุน รูปแบบ “ออมวันละบาท” และกองบุญสัจจะวันละบาท กองทุนสวัสดิการจากฐานศาสนา กองทุนสวัสดิการจากฐานกองทุนผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการจากฐานการช่วยเหลือคนจนและผู้ด้อยโอกาส กองทุนสวัสดิการจากฐานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กองทุนสวัสดิการชุมชนฐานชุมชนเมือง และขบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัด (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), 2542: 7-10)

กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นกองทุนหนึ่งในชุมชนซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีการกำหนดรูปแบบและการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ชุมชนพยายามจัดสวัสดิการให้แก่กัน  บ้างเป็นในลักษณะหรือรูปแบบของการออมเพื่อกู้ยืมและปันผล การรวมกลุ่มปนกิจเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่เสียชีวิต  ในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมานั้นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย ในศาสนาอิสลามมีข้อบังคับว่า หากมีมุสลิมที่เสียชีวิตภายในชุมชนหนึ่ง ครอบครัวผู้เสียชีวิตมีหน้าที่ในการจัดการศพ เริ่มตั้งแต่ การเยี่ยมศพ การอาบน้ำญะนาซะฮฺ (อาบน้ำศพ) การกาฟาน (ห่อศพ) การละหมาดญะนาซะฮฺ (มัยยิต) การขุดหลุมและทำการฝังศพ ตลอดจนการจัดทำพิธีการทางศาสนา หากว่าศพดังกล่าวนั้นไม่มีเครือญาติก็เป็นหน้าที่ของมัสยิดหรือชุมชนที่ต้องทำการจัดการ ในการจัดการศพแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร

จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยมีความต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ “กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ  อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส” ว่ามีการจัดรูปแบบกองทุนและการบริหารจัดการอย่างไร ทั้งนี้เพื่อสามารถเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นในเรื่องการให้มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาที่สร้างจิตสำนึกสาธารณะชุมชนต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ  อำเภอ ยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

2. เพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

            

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. ทำให้ทราบถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ  อำเภอ ยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

2. ทำให้ทราบถึงความเกี่ยวข้องระหว่างรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

3. สามารถเป็นชุมชนตัวอย่างในการให้มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาในชุมชนให้กับชุมชนอื่นโดยการสร้างจิตสำนึกสาธารณะสู่ชุมชนเข้มแข็ง

 

ขอบเขตการวิจัย

            ขอบเขตด้านประชากรกลุ่มตัวอย่างและพื้นที่วิจัย

 การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนในตำบลจอเบาะ  อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 40 คน

 

 

            ขอบเขตด้านระยะเวลาในการศึกษา

 การศึกษาครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ถึง 31 กรกฎาคม 2554   โดยแบ่งการรวบรวมข้อมูล ค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลภาคสนามโดยการสังเกตการณ์และทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การศึกษาข้อมูลทางสถิติ  ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล 

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

ซารีกัตมือนิงกัลดุนยา หมายถึง กองทุนสวัสดิการช่วยเหลือจัดการศพสำหรับครอบครัวที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนในชุมชน โดยจะมีการเก็บและจ่ายเฉพาะเวลาที่มีสมาชิกกองทุนเสียชีวิตเท่านั้น

เงินนาวัต  หมายถึง เงินบริจาคที่ทางครอบครัวในชุมชนทำการบริจาคให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตใช้ในการจัดการศพในจำนวนที่ทางกองทุนกำหนดโดยยึดหัวหน้าครอบครัวเป็นหลัก

            ชุมชน หมายถึง ชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ  อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

            สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึง จังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

 

  1. ระเบียบวิธีวิจัย

            วิธีการศึกษา

            การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลภาคสนามจากชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ 

            กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ

            การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ให้ข้อมูลหลักสำคัญ (Key Informant) เช่น ประธานและคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยา นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนในตำบลจอเบาะ  

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เป็นเครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยการศึกษาประเด็นคำถามจากวัตถุประสงค์ของการศึกษา แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา เนื้อหาของคำถามสามารถปรับได้ตามลักษณะของผู้ถูกสัมภาษณ์ทั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนทั้งที่เป็นสมาชิกกองทุนฯและคนทั่วไป โดยอาศัยวิธีการตั้งคำถามที่มีความเข้าใจง่าย โดยใช้สมุดและเครื่องอัดเสียง )MP3) สำหรับบันทึกข้อมูล 

การวิเคราะห์ข้อมูล

กาวิเคราะห์ข้อมูลของผลการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เจาะลึก มาวิเคราะห์เนื้อหา และจัดหมวดหมู่ โดยการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาตามทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  ข้อมูลที่ได้นั้นจะมาจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือ จากประธานกองทุนฯและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ นอกจากนั้นได้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องระหว่างรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน  หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ และสรุปผลต่อไป

 

ผลการวิจัยและอภิปรายผล

รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ ตำบลจอเบาะ  อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาของชุมชนบ้านโคะ เริ่มจากการพูดคุยถามความคิดเห็นของประชาชนและแกนนำในชุมชนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2544 เกี่ยวกับรูปแบบการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนเมื่อมีการเสียชีวิต  โดยทั่วไปแล้วชุมชนชนบทส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับต่ำถึงปานกลาง  ชุมชนมีมติเห็นชอบให้มีกองทุนฯ โดยมีการเปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2544  จนถึง 31 สิงหาคม 2544 มีสมาชิกที่มาสมัครที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลจอเบาะและชุมชนใกล้เคียงจำนวน 285 รหัส (ภายใน 1 รหัส จะมีสมาชิกที่เข้าร่วมได้ทั้งครอบครัว ยกเว้นสมาชิกท่านใดที่มีอายุ  31 ปี บริบูรณ์หรือแต่งงานแล้วต้องสมัครและแยกรหัสใหม่) นอกจากนั้นยังมีการพูดคุยทำการประชุมถึงการแบ่งงาน ระเบียบข้อบังคับของกองทุนฯ และแบ่งเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ มีการประชุมและคัดเลือกคณะกรรมการดูแลกองทุนฯ ซึ่งประกอบด้วยประธานและคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 16 คน และที่ปรึกษากองทุนฯ อีก 3 คน ส่วนคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีการคัดเลือกมาจากบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนหมู่ที่ 5 บ้านโคะ จำนวน 10 คน และ ชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านพงปือเราะ จำนวน 6 คน ส่วนชื่อกองทุนฯ นั้น จะใช้ชื่อกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาชุมชนบ้านโคะ เพราะประธานกองทุนฯ และคณะกรรมการกองทุนฯ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านโคะ

จากการสัมภาษณ์คณะกรรมการกองทุนฯ เกี่ยวกับการบริหารจัดการพบว่า กองทุนจะมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกับกองทุนอื่นในส่วนของการจัดเก็บเงินนาวัต โดยกองทุนนี้จะมีการแบ่งหัวหน้ากลุ่มและแบ่งโซนรับผิดชอบในการจัดการรับเงินนาวัตที่ทางสมาชิกนำมาส่ง (การแบ่งเขตรับผิดชอบนั้น ตั้งแต่รหัส 1- 9 สำหรับสมาชิกที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลจอเบาะ และอีก 1 รหัสคือ รหัสรวมที่สมาชิกอาศัยอยู่นอกเขตตำบลจอเบาะ

การเรียกเก็บเงินนาวัตนั้น จะมีการเรียกเก็บเมื่อมีสมาชิกกองทุนฯ เสียชีวิตเท่านั้น โดยมีการแบ่งเขตรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ตามพื้นที่ของสมาชิก เมื่อคณะกรรมการเก็บรวบรวมเงินนาวัตได้ก็จะทำการนำส่งให้กับกองทุนฯ และทำการมอบทุนสวัสดิการโดยผ่านคณะกรรมการตามเขตเพื่อใช้จ่ายในการบริหารจัดการศพของสมาชิก

            ในปีแรก (2544) ของการดำเนินการของกองทุนซารีกัตมือนิงกัลดุนยา จะแบ่งอายุผู้เสียชีวิตตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

ตารางที่ 1 ตารางแสดงอายุของสมาชิกผู้เสียชีวิตและจำนวนเงินสวัสดิการ ในปี 2544

สมาชิกผู้เสียชีวิต เงินนาวัตที่เรียกเก็บ เงินสวัสดิการที่ครอบครัวได้รับ

ทารกแรกเกิด – 1 ปี

2 ปี – 5 ปี

6 ปี – 11 ปี

12 ปีขึ้นไป

ไม่เก็บเงินนาวัตจากสมาชิก

20 บาท

20 บาท

20 บาท

1,000 บาท

2,000 บาท

4,000 บาท

8,000 บาท

ข้อมูล: กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาบ้านโคะ

ในปี 2545 มีมติให้ปรับเงินสวัสดิการสำหรับสมาชิกผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป จากเดิม 8,000 บาท ขึ้นเป็น 9,000 บาท ส่วนช่วงอายุอื่นยังคงจ่ายในจำนวนเท่าเดิม และในปี 2546 ปรับเงินสวัสดิการขึ้นอีกเป็น 10,000 บาท 

ในปี 2548 มีการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดอายุและจำนวนเงินสวัสดิการที่สมาชิกจะได้รับ โดยผลการประชุมมีมติให้มีการเปลี่ยนแปลงช่วงอายุและเงินสวัสดิการ ดังนี้

ตารางที่ 2 ตารางแสดงอายุของสมาชิกผู้เสียชีวิตและจำนวนเงินสวัสดิการ ในปี 2548

สมาชิกผู้เสียชีวิต เงินนาวัตที่เรียกเก็บ เงินสวัสดิการที่ครอบครัวได้รับ

ทารกแรกเกิด – 1 ปี

2 ปี – 5 ปี

6 ปี – 10 ปี

11 ปีขึ้นไป

ไม่เก็บเงินนาวัตจากสมาชิก

20 บาท

20 บาท

20 บาท

1,000 บาท

3,000 บาท

5,000 บาท

11,000 บาท

ข้อมูล: กองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาบ้านโคะ

ในปี 2549 จากมติที่ประชุมของกองทุนฯ มีการปรับเงินสวัสดิการที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสวัสดิการฯ จำนวน 12,000 บาท ในปี 2551 ขึ้นเป็น 13,000 บาท และในปี 2554 เงินสวัสดิการจะปรับขึ้นเป็น 13,500 บาท

นอกจากนี้ ทางกองทุนฯ ไม่มีนโยบายให้หัวหน้าเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไปเก็บเงินนาวัตตามบ้านเรือนของสมาชิก เพราะสามารถสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของสมาชิก แต่จะมีผลต่อเมื่อสมาชิกขาดการจ่ายเงินนาวัตหรือเงินสมทบประจำปี ตัวอย่างเช่น เมื่อครอบครัวใดที่ไม่ได้ส่งเงินประจำปี เมื่อมีสมาชิกเสียชีวิต ทางกองทุนฯ จะตัดเงินสวัสดิการ 1,000 บาท และถ้าไม่ได้ทำการส่งเงินนาวัต จะคิดและหักศพละ 500 บาท ดังนั้นเมื่อสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ทางครอบครับจะไม่ได้รับในจำนวนเต็ม แต่จะได้เท่ากับยอดที่เหลือหลังจากหักยอดที่ไม่ส่งก่อนหน้านี้ ทำให้บางคนจะได้ค่าสวัสดิการในจำนวนที่น้อย และบางคนจะไม่ได้รับเลย (หากขาดการส่งเงินนาวัตหลายๆ ศพ)

            ในการรับสมัครสมาชิกใหม่ของชุมชนจะมีประชาชนมาสมัครเรื่อยๆ โดยทางกองทุนฯ ได้แบ่งประเภทของสมาชิกใหม่ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่หนึ่ง สมาชิกใหม่ที่เคยเป็นสมาชิกในรหัสของผู้ปกครองเดิม หมายความว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นสมาชิกกองทุนอันเนื่องจากยังเป็นคนโสดหรือมีอายุยังไม่ถึง 31 ปี บริบูรณ์ (ถ้าจะสมัครสมาชิกใหม่ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบสวัสดิการย้อนหลัง) รูปแบบที่สอง สมาชิกที่มีความสนใจจะสมัครใหม่ โดยที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ดังนั้นหากสมาชิกประเภทนี้จะสมัครต้องมีการจ่ายย้อนหลังโดยที่มีการคำนวณยอดสมาชิกผู้เสียชีวิต ซึ่งถึงเดือนสิงหาคม 2554 ได้มีสมาชิกที่เสียชีวิตไปแล้ว 199 คน แล้วมาคูณกับเงินนาวัต 20 บาทต่อศพ บวกเงินค่าสมัคร และค่าธรรมเนียมหรือค่าสวัสดิการจัดการศพ รายปี 1,000 บาท สำหรับสมาชิกที่เป็นครอบครัว และจ่าย 500 บาท สำหรับสมาชิกเดี่ยว ดังนั้นผู้สมัครต้องจ่ายเงินสดเป็นก้อนเลย  (จ่ายสดในยอดรวมประมาณ  5,000 บาท) 

                   

เพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนกับการสร้างจิตสาธารณะ ในส่วนนี้ชุมชนมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกผู้เสียชีวิตในชุมชนโดยผ่านกระบวนการ นาวัตญามาอี ที่มีการจัดการเป็นระบบ นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องในชุมชน   ในศาสนาอิสลามมีแนวคิดว่า มุสลิมทุกคนย่อมเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นการจัดให้มีกองทุนสวัสดิการในชุมชนก็ถือว่าสามารถเป็นทางออกอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อความคล่องของการจัดการศพของสมาชิกในชุมชน อีกทั้งอิสลามถือว่า ภารกิจหลักในการให้สวัสดิการแก่คนพิการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา  คนตาบอด  คนใบ้และคนหูหนวก  คนปัญญาอ่อน  คนที่ร่างกายทุพลภาพโดยกำเนิด ถือเป็นภารกิจของรัฐบาลและผู้มีความสามารถในสังคม ดังนั้นในเมื่อชุมชนเรามีความเข้มแข็ง มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือศพดังกล่าว การให้สวัสดิการไม่จำกัดเฉพาะสมาชิกกลุ่มเท่านั้น แต่จะรวมถึงผู้อ่อนแอ คนพิการ คนปัญญาอ่อนหรือคนบ้า การให้การดูแลคนเหล่านี้ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความเมตตา และผู้เมตตาอื่นนั้นจะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺด้วย

            การให้มีกองทุนสวัสดิการฯ ถือว่าดี เป็นการช่วยเหลือสมาชิกอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการบริหารจัดการนาวัตที่เป็นระบบมากขึ้น ที่ว่าดีนั้นสามารถประเมินได้จากการเพิ่มขึ้นของสมาชิก ทางกองทุนมีการจัดการที่โปร่งใสและชัดเจนโดยเฉพาะในการบันทึกบัญชี ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินนาวัตก็ต้องนำสมุดฝากไปด้วย (สมุดฝากจะมี 2 เล่ม คือจะเก็บอยู่กับคณะกรรมการประจำเขตเล่มหนึ่ง และอีกเล่มหนึ่งทางสมาชิกจะเป็นคนถือ) คณะกรรมการประจำเขตจะทำหน้าที่ในการรับเงินนาวัตและทำการบันทึกลงสมุดฝาก สำหรับสมาชิกท่านใดที่ไม่ได้นำส่งเงินดังกล่าวก็สามารถนำมาส่งในวันหลังก็ได้ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคน ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จะไม่ไปเก็บตามบ้านของสมาชิก 

 

ข้อเสนอแนะ

 ข้อเสนอจากการวิจัยในครั้งนี้มีดังนี้

  1. การบริหารด้านการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสมาชิกที่เสียชีวิตของแต่ละเขตพื้นที่ยังไม่ทั่วถึง บางทีคณะกรรมการไม่รู้ว่ามีใครเสียชีวิตบ้าง ทำให้ไม่สามารถที่จะประกาศแจ้งให้สมาชิกภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาจ่ายเงินนาวัตได้ จึงเสนอให้มีการแต่งตั้งผู้ที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์แก่หัวหน้าเขตพื้นที่ให้ทราบและทั่วถึงต่อไป
  2. หากกองทุนฯ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและต้องการสมัครเป็นสมาชิกใหม่ได้จ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกเป็นงวดๆ ได้ ความเป็นไปได้ในการที่จะได้สมาชิกใหม่มีมากขึ้น
  3. ทางกองทุนฯ น่าจะมีสำนักงานหรือที่ทำการเฉพาะสำหรับกองทุนฯ เพื่อความสะดวกของสมาชิกและรองรับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ
  4. ควรมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยน นำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการกองทุนกับชุมชนอื่นที่อยู่ในตำบลเดียวกัน เพื่อหารูปแบบที่ดีทีสุดโดยการมีส่วนร่วมและประเมินจากสมาชิกกองทุนและคณะกรรมการบริหาร
  5. ควรนำเสนอแนวคิดกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยานี้ให้แก่สาธารณะเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป

ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม

  1. ควรส่งเสริมให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสวัสดิการซารีกัตมือนิงกัลดุนยาอื่นๆ ที่มีการดำเนินการภายในชุมชนตำบลจอเบาะ เพื่อทำการเปรียบเทียบความแตกต่าง ข้อดีข้อเสียของแต่ละชุมชน พร้อมทั้งเสนอเป็นนโยบายของชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

บรรณานุกรม

เชค อับดุลลอฮฺ บิน อับดุรเราะฮฺมาน อัลญิบรีน. 2552. ศพและขั้นตอนต่างๆในการทำศพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. แปลและเรียบเรียงโดย มยุรา วงษ์สันต์. กรุงเทพฯ : เฟิสท์ ออพเซท.

ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์, 2554. สันติสุขบนดินแดนตะวันออกกลางในสมัยเคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏ๊อบ (ค.ศ. 634-644). กรุงเทพฯ : สภายุวมุสลิมโลก สำนักงานประเทศไทย.

บรรจง บินกาซัน. (เว็บไซด์) http://www.islamthailand.com/thai521/introduce /intro-9.php

มะดาโอะ ปูเตะและคณะ. 2553. ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างชาติของมาเลเซีย :  กรณีศึกษาแรงงานไทยในรัฐชายแดนทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย. สถานกงสุสไทย ณ เมืองโกตาบารูประเทศมาเลเซีย

มูนีร มูหะหมัด . 2553. ฟิกฮุลอิบาด๊าต. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : สมาคมนักศึกษาเก่าศาสนวิทยา.

ราชบัณฑิตยสถาน.2525. พจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 

ศักดา ยูเต๊ะ. 2549. แนวคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการศพในอิสลาม ศึกษากรณีการจัดการศพของมุสลิมในเขตกรุงเทพหานคร วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล.

ศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา.(เว็บไซด์) http://www.cis.psu.ac.th/ fathoni /lesson/islamic_society/6.htm

สถาบันพัฒนาองค์กรเอกชน (องค์การมหาชน). 2552. คู่มือการดำเนินการโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :แอ๊ปป้า พริ้นติ้ง.

สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะ.2551. อิสลามกับความจริงที่ต้องรู้. ยะลา: ยะลาการพิมพ์ (1992).

สุริยะ สะนิวาและคณะ. 2550. การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการเปลี่ยนแปลงสู่ความรุนแรงของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู. ยะลา: มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา.

 อับดุล มะญีด บิน อับดุรรอูฟ. (เว็บไซด์)  http://we-are-stranger.blogspot.com /2010/08/blog-post_20.html.

อับดุลสุโก ดินอะ .2553. วัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางความรุนแรง: ตอนที่ 1 (เว็บไซด์) http://www.thaingo.org/writer/view. php?id=1525

อุทัย ดุลยเกษม.2536. คู่มือการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อการพัฒนา. กรุงเทพ: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Internet

http://islamthailand.com/thai521/introduce/intro-1.php

http://islamthailand.com/thai521/introduce/intro-9.php

http://www.onep.go.th/uap/link/def_table.htm

http://www.siamic.com/islam/index.php?title=%E0%B8%AD%

http://www.warasatussunnah.com/figh/dead%20body_2.html)
 

 

 

หมายเลขบันทึก: 695190เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท