การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีสู่การสร้างสุขภาวะ ชุมชนมลายูมุสลิม : กรณีศึกษาตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส


การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีสู่การสร้างสุขภาวะ

ชุมชนมลายูมุสลิม : กรณีศึกษาตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

 

นายมะดาโอะ ปูเตะ   นายอามีน ลีมา  นายมะรีกี ปูเตะ  นายสะสือรี วาลี

135/8 ม.3 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ 

คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

*E-mail : [email protected]  (Corresponding author)  

 

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ 2) เพื่อพัฒนาและจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยเลือกพื้นที่ในเขตตำบลจอเบาะ ทั้ง 9 หมู่บ้าน และจะเน้นในชุมชนที่มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตี กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนฯ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชน วิธีการเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  การศึกษาดูงานกองทุนฯ ที่ประสบผลสำเร็จ เวทีนำเสนอผลการศึกษารูปแบบกองทุนทั้ง 4 กองทุน และ การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ขยายผลต่อชุมชนอื่นต่อไป

ผลจากการศึกษาพบว่า บริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ 9 หมู่บ้าน มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีทั้งสิ้น 4 กองทุนฯ โดยความรับผิดชอบของกองทุนฯ จะอยู่ภายใต้การดูแลของมัสยิด  2 กองทุน และบริหารจัดการเองโดยชุมชนอีก 2 กองทุน การเก็บเงินนาวัตจะเก็บเมื่อมีสมาชิกกองทุนเสียชีวิตครอบครัวละ 20 บาท เงินสวัสดิการของแต่ละกองทุนฯ ที่จะมอบให้กับครอบครัวที่เสียชีวิตเพื่อใช้จ่ายจัดการศพ ดังนี้ บ้านตะลาฆอสะโต จำนวน 6,000 บาท บ้านนากอ จำนวน 7,000 บาท บ้านโคะ จำนวน 14,000 บาท และบ้านลุโบะปาเระ จำนวน 1,500 บาท ส่วนการพัฒนาและการจัดกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีให้มีประสิทธิภาพนั้น พบว่าการจัดการของกองทุนฯบ้านโคะมีประสิทธิภาพมากที่สุด การบริหารเงินนาวัตที่เก็บมาได้กับเงินสวัสดิการที่ต้องจ่ายให้กับครอบครัวสมาชิกนั้นไม่ติดลบ มีการปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขของกองทุนฯ เป็นอย่างดี ส่วนอีก 3 กองทุนฯ ควรมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะการบริหารจัดการเงินนาวัตที่เก็บมาได้กับเงินสวัสดิการที่ต้องจ่ายยังติดลบทุกครั้ง จำเป็นที่ต้องหาเงินส่วนอื่นมาชดเชย นอกจากนั้นเพื่อให้กองทุนฯ มีสภาพคล่องทางองค์การบริหารส่วนตำบลจอเบาะ ควรมีการช่วยเหลือกองทุนฯที่มีอยู่ในชุมชนโดยการจัดงบประมาณอุดหนุนให้กับกองทุนฯ อีกทั้งกองทุนควรมีการทำเรื่องของบสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  พัฒนาการอำเภอ หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด

 

คำสำคัญ  : การมีส่วนร่วม  การพัฒนา กองทุนสวัสดิการ สุขภาวะ  มลายูมุสลิม 

 

Participation of the community in the development of The Welfare Fund “Syarikat Mati” Culture of Community Care of Malay Muslim 

: A Case Study of Coboh Sub-district, Yi-ngo District, 

Narathiwat Province. 

 

Mr. Mada-o Puteh,   Mr. Ameen Leema,  Mr. Mareekee Puteh,  Mr. Sasueree Walee

135/8 M.3 T. Khaotoom A. Yarang Ch. Pattani.   Public Administration Program

Faculty of Liberal Arts and Social Science

Yala Islamic University

*E-mail : [email protected] (Corresponding author)  

 

Abstract

 

This research aimed to 1) to study the context of The Welfare Fund “Syarikat Mati” of each community in Coboh District, 2) to Development and Management of The Welfare Fund “Syarikat Mati” in the community to be effective.

The results of the study showedthat the context of The Welfare Fund “Syarikat Mati” of each community in the 9 villages Included 4 funds.  The responsibilities of the fund are under the supervision of a mosque 2 funds and management by community more 2 funds. the Collection of membership to hold a fund family  20 baht. The Welfare of each fund to begiven to the family that died for handle funeral expenses as Ban Telaga Setul among 6,000 Bath, Ban Nangka among 7,000 Baht, Ban Koh among 14,000 Baht, and Ban Lubuk Parit  among 1,500 Bath.  In development and Management of The Welfare Fund “Syarikat Mati in the community to be effective found that the best practice is Ban Koh can be collected Nawat Money, the welfare to be paid to a family memberthat is not negative and compliance with the terms and conditionsof the fund as well. But 3 funds should be management for the best practice because the welfare to be paid to a family member that is negative and the need to raise money to compensate for the fund. Coboh Sub district should be support the budget and connected theother agencies such as the Community Organizations Development Institute, and Development District and Community.

 

Key Word : Participation, Development, Common Wealth Fund, Health, Malayu Muslim 

 

บทนำ

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีลักษณะเฉพาะทางภาษาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางอาณาบริเวณที่ศาสนาอิสลามเป็นพลังชีวิตวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพล กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์การสร้างชาติ การเมืองและความมั่นคง (พุทธิชาติ โปธิบาลและธนานันท์ ตรงดี อ้างถึงในวัฒนา สุกัณศีล, 2544: 2) ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการดำเนินชีวิตของพวกเขา คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัฒนธรรมชุมชนที่เป็น "อัตลักษณ์เฉพาะ" หลักการและที่มาของมุสลิมชายแดนใต้นั้น มาจากหลักการของศาสนาอิสลามที่นำสู่การกำหนดกรอบวัฒนธรรมหรือแนวทางปฏิบัติของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า "มุสลิม" ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้นมีที่มาจากหลักฐานที่ถูกระบุในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน นอกจากนั้น สุริยะ สะนิวาและคณะ (2551: 60) วัฒนธรรมของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวัฒนธรรมอิสลาม วิถีการดำเนินชีวิตหรือรูปแบบของพฤติกรรมตลอดจนสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ที่นำมาจากหรืออยู่ในขอบข่ายของอัลกุรอานและซุนนะห์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล) ตัวกำเนิดพฤติกรรมของมุสลิมหรือวัฒนธรรมอิสลามจำเป็นต้องสอดคล้องหรืออยู่บนครรลองของความศรัทธา ส่วน อารง สุทธาศาสน์ (2525 : 18) "วัฒนธรรมอิสลาม" หมายถึง การดำเนินชีวิต หรือรูปแบบของพฤติกรรม (แนวปฏิบัติ) ของมุสลิม ล้วนมีส่วนผูกพันกับข้อปฏิบัติทางศาสนาอิสลามอย่างใกล้ชิด 

สวัสดิการชุมชนเป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลทีเริ่มจากการพึ่งตนเองก่อน เป็นการช่วยเหลือที่มากกว่าเงินหรือวัตถุ แต่เน้นความสัมพันธ์ที่ดี การมีน้ำใจ การไว้ใจซึ่งกันและกัน การมีกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการสร้างการออมเพื่อการให้เป็นกองบุญมากกว่ากองทุน ทุกคนต่างเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เป็นการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” การช่วยเหลือที่เผื่อแผ่ถึงผู้ทุกข์ยากและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, 2552: 10) สวัสดิการชุมชนจะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง สามารถบรรลุเป้าหมาย มีความมั่นคงของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องเป็นแกนหลักสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางผนึกพลังกับท้องถิ่น เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนกับการสร้างทุนใหม่ของชุมชนซึ่งเป็นทุนเศรษฐกิจและทุนสังคม นอกจากนั้น อิสลามได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของสังคมหรือชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้านการประกันให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขมั่นคงในอุดมการณ์ ชีวิตและทรัพย์สิน มีความปลอดภัยสู่การมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ หลักสวัสดิการทางสังคมในอิสลามเป็นหลักที่อัลลอฮ (ซ.บ.) ได้บัญญัติไว้โดยโยงใยเกี่ยวข้องกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ (ซ.บ.) หลักการนี้ได้ถูกจารึกมาพร้อมกับอิสลามและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมอิสลามอันมีมาตั้งแต่ 1,400 กว่าปีมาแล้ว (อับดุลรอซีด เจะมะ, 2542: 73) จะเห็นว่า อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาส

สำหรับชุมชนมลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการจัดให้มีระบบสวัสดิการชุมชนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องกองทุนช่วยเหลือการจัดการศพของสมาชิกในชุมชน แต่ละชุมชนจะมีวัฒนธรรมที่เหมือนกันคือ เมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต ประชาชนในหมู่บ้านจะทำการนาวัต (การเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้เสียชีวิต) และจะนำเงินสดหรือข้าวของไปบริจาคเพื่อใช้จ่ายในการจัดการศพ การตายอย่างกะทันหันของครอบครัวที่ไม่มีเงินสำรองเตรียมไว้จึงต้องไปพึ่งคนรวยในชุมชน โดยการนำที่ดินที่มีอยู่ไปขายหรือจำนองในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะด้านจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ต้องเสียคนรักในครอบครัว และต้องมาคิดหนักในเรื่องของการหาเงินมาใช้จ่ายจัดการศพในเวลาเดียวกัน เพราะในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการจัดการทันทีที่มีการเสียชีวิต จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีการคิดค้นเสนอจัดให้มีกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือจัดการศพ (ซารีกัตมาตี) ขึ้นมา ประชาชนในหมู่บ้านทุกคนจะได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือครอบครัวที่เสียชีวิต โดยมีการเก็บเงินนาวัต (เงินช่วยเหลือเพื่อจัดการศพ) ที่เป็นระบบ และมีการมอบให้กับครอบครัวเพื่อใช้ในการจัดการศพที่จำเป็น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน (ซารีกัตมาตี) ขึ้นมานั้นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน เป็นการบริหารจัดการ “นาวัต” ให้เป็นระบบมากขึ้น 

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาบริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

2. เพื่อพัฒนาและจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ

 

วิธีการศึกษา

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยเลือกพื้นที่ในเขตตำบลจอเบาะ ทั้ง 9 หมู่บ้าน และจะเน้นในชุมชนที่มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตี กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนฯ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชน วิธีการเก็บข้อมูลโดย การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การศึกษาดูงานกองทุนฯ ที่ประสบผลสำเร็จ เวทีนำเสนอผลการศึกษารูปแบบกองทุนทั้ง 4 กองทุน การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ขยายผลต่อชุมชนอื่นต่อไปส่วนการวิเคราะห์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้โดยเทียบกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลต่อไป

 

ผลการศึกษา

            บริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ

ตำบลจอเบาะเป็น 1 ใน 6 ตำบลของอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอยี่งอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร ภูมิประเทศของตำบลจอเบาะ เป็นพื้นที่ราบลุ่มและมีภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 49,303 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,814 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร มีที่ดินถือครองประมาณ 27,242 ไร่ โดยจำแนกการเกษตรออกเป็น การทำสวนยางพารา ปลูกข้าว ปลูกไม้ผล ทำสวนลองกอง ทุเรียน และพืชอื่นๆ ตำบลจอเบาะประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน ดังนี้คือ หมู่ที่ 1 บ้านจอเบาะ มี 116 ครัวเรือน หมู่ที่ 2 บ้านต้นตาล มี 178 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 บ้านแยะ มี 177 ครัวเรือน หมู่ที่ 4 บ้านพงปือเราะ มี 166 ครัวเรือน หมู่ที่ 5 บ้านโคะ มี 187 ครัวเรือน หมู่ที่ 6 บ้านนากอ มี 201 ครัวเรือน หมู่ที่ 7 บ้านลุโบะปาเระ มี 161 ครัวเรือน หมู่ที่ 8 บ้านตะลาฆอสะโต มี 221 ครัวเรือน และ หมู่ที่ 9 บ้านยือเลาะ มี 141 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 1,548 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 8,665 คน

ตำบลจอเบาะซึ่งประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน เป็นสังคมมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม 100 % มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีเพื่อมาช่วยในการจัดการศพของชุมชนทั้งสิ้นจำนวน 4 กองทุนฯ คือ กองทุนฯ บ้านตะลาฆอสะโต กองทุนฯ บ้านนากอ กองทุนฯ บ้านโคะ และกองทุนฯ บ้านลุโบะปาเระ ส่วนความรับผิดชอบของกองทุนฯ จะอยู่ภายใต้การดูแลของมัสยิด 2 กองทุนคือ กองทุนฯ บ้านตะลาฆอสะโต และกองทุนฯ บ้านลุโบะปาเระ นอกจากนั้นเป็นกองทุนที่มีการบริหารจัดการเองโดยชุมชนอีก 2 กองทุนคือ กองทุนฯ บ้านนากอและกองทุนฯ บ้านโคะ ส่วนรูปแบบการดำเนินการเก็บเงินนาวัตจะมี 2 รูปแบบคือ ทางกองทุนฯ มีการแต่งตั้งให้คณะกรรมการไปเก็บเงินนาวัตตามบ้านเรือนของสมาชิกโดยมีค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์ 3 กองทุนคือ กองทุนฯ บ้านตะลาฆอสะโต กองทุนฯ บ้านลุโบะปาเระ และกองทุนฯ บ้านนากอ ส่วนอีก 1 กองทุนฯ คือ กองทุนบ้านโคะ จะไม่มีนโยบายให้คณะกรรมการไปเก็บเงินนาวัตตามบ้านของสมาชิก แต่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่ต้องนำเงินนาวัตมาจ่ายให้กับคณะกรรมการที่รับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่

ในส่วนของระเบียบข้อบังคับทั้ง 4 กองทุนฯ นั้นมีระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน การนับสมาชิกกองทุนฯ จะยึดจำนวนครอบครัวเป็นหลัก หรือแยกเป็นรหัสซึ่งในหนึ่งรหัสนั้นจะประกอบด้วย สามี ภรรยา และลูก หรือบางครอบครัวอาจจะมี ตา ยาย และหลาน ซึ่งอาศัยด้วยกันถาวรในบ้านหลังเดียวกัน  จะถือเป็นสมาชิกกลุ่มและต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี 100 บาท นอกจากนั้นยังมีสมาชิกประเภทเดี่ยวที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี 50 บาท ส่วนลูกๆ ที่เคยอยู่ภายใต้รหัสสมาชิกของครอบครัวเดิม เมื่อแต่งงานหรือมีอายุตั้งแต่ 30 หรือ 31 ปี (ขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละกองทุนฯ) จะต้องแยกรหัส หรือต้องสมัครสมาชิกใหม่ โดยจ่ายค่าสมัครแรกเข้า 100 บาท และจะใช้สิทธิของพ่อแม่ไม่ได้อีกต่อไป

การเรียกเก็บเงินนาวัต จะเก็บเมื่อมีสมาชิกในกองทุนฯ เสียชีวิตเท่านั้น โดยจะเก็บเงินนาวัตครอบครัวละ 20 บาทสำหรับศพที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งทางครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินสวัสดิการเต็มจำนวน (ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนฯ) และสำหรับศพที่เป็นเด็ก หมายถึงลูกๆ หรือ หลานๆ ของครอบครัวสมาชิกกองทุนฯ จะมีการเก็บเงินนาวัตครอบครัวละ 10 บาท และทางครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินสวัสดิการแค่ครึ่งหนึ่ง ส่วนเงินสวัสดิการของกองทุนฯ บ้านตะลาฆอสะโต จะมอบให้กับครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิต จำนวน 6,000 บาท กองทุนฯ บ้านนากอ จำนวน 7,000 บาท กองทุนฯ บ้านโคะ จำนวน 14,000 บาท และกองทุน บ้านลุโบะปาเระ จำนวน 1,500 บาท เมื่อเทียบกับเงินนาวัตที่เก็บได้นั้น กองทุนฯ บ้านโคะเป็นกองทุนเดียวที่ไม่ขาดทุนจากการบริหารการเงิน (เงินนาวัต) ส่วนอีก 3 กองทุนฯ ต้องแบกภาระหาเงินอื่นมาชดทุกครั้งที่สมาชิกเสียชีวิต

 

การพัฒนาและการจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ

            การพัฒนาและการจัดกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีให้มีประสิทธิภาพนั้น พบว่าการจัดการของกองทุนฯบ้านโคะมีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถเป็นตัวอย่างให้กับกองทุนอื่นๆ การบริหารจัดการด้านการเก็บเงินนาวัตและการจ่ายเงินสวัสดิการนั้นไม่ขาดทุน สามารถเปิดให้บริการและดำรงอยู่ได้นาน มีการปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขของกองทุนฯ เป็นอย่างดี ส่วนอีก 3 กองทุนฯ คือ กองทุนฯ บ้านนากอ กองทุนฯ บ้านตะลาฆอสะโตและกองทุนฯ บ้านลุโบะปาเระ ควรมีการพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะการบริหารจัดการเงินนาวัตที่เก็บมาได้กับเงินสวัสดิการที่ต้องจ่ายให้กับครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิตนั้นยังขาดทุนทุกครั้ง จำเป็นที่ต้องหาเงินส่วนอื่นมาชดเชย เช่น เงินค่าสมัครสมาชิกแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี หากทางกองทุนฯ ไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ สักวันหนึ่งกองทุนฯ อาจจะประสบปัญหาการขาดเงินสดคงเหลือในมือ เพราะทุกครั้งที่สมาชิกเสียชีวิตต้องนำเงินสะสมดังกล่าวมาชดเชยเพื่อให้ได้ยอดเงินสวัสดิการที่กำหนดต้องจ่าย ดังนั้นทางกองทุนฯ ต้องรีบพัฒนาหรือปรับรูปแบบการดำเนินการ เนื่องจากสมาชิกกองทุนฯ มีน้อย ต้องส่งเสริมให้ประชาชนสมัครเพิ่มขึ้น หรืออีกช่องทางหนึ่งอาจจะปรับอัตราการเก็บเงินนาวัตเพิ่มขึ้น หรืออาจจะของบสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติมก็ได้ การมีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนสามารถยกระดับ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการศพอย่างรวดเร็วและถูกหลักการศาสนาอีกด้วย ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีโดยเฉพาะสุขภาวะด้านจิตใจที่ไม่เครียด เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ทุกคนไม่ต้องมีบาปในเรื่องการจัดการศพซึ่งถือเป็นฟัรดูกีฟายะห์ เมื่อมีผู้ใดมาจัดการศพให้แล้วถือว่าทุกคนได้หลุดพ้นจากบาปดังกล่าว  ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในชุมชนและยังได้ผลบุญจากพระองค์อัลลอฮฺอีกด้วย

 

การอภิปรายผล

บริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชน  ตำบลจอเบาะประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน แต่มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีแค่ 4 ชุมชนเท่านั้น ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เศรษฐกิจของประชาชนถือว่าอยู่ในระดับที่ยากจนถึงปานกลาง เป็นสังคมมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม 100 % ประชาชนมีความเคร่งครัดในเรื่องศาสนาโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยและการประกันชีวิต เพราะอิสลามไม่อนุญาตในเรื่องดังกล่าว ริบาหรือดอกเบี้ย ถือเป็นบาปใหญ่ประเภทหนึ่งและมันเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในทุกศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งฟากฟ้า (ศาสนาที่มีคัมภีร์จากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งรวมถึงศาสนายูดายของยิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม) เนื่องจากมันแฝงไปด้วยความเสียหายที่ใหญ่หลวง มันเป็นต้นเหตุของการเป็นศัตรูกันระหว่างมนุษย์ นำไปสู่การงอกเงยของทรัพย์สินผ่านการขูดรีดจากทรัพย์สินของคนจน อัลกุรอานบัญญัติไว้ในบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 275  ความว่า  "และ  อัลลอฮฺทรงอนุมัติการซื้อขาย และทรงห้ามริบา (ดอกเบี้ย)..” และในบทอาละอิมรอน โองการที่ 130 ความว่า “โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่ากินดอกเบี้ยหลายเท่าที่ถูกทบทวี และพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” ทำให้ประชาชนไม่นิยมฝากหรือกู้เงินจากธนาคารเพราะจะเกี่ยวพันกับดอกเบี้ย นอกจากนั้นศาสนาอิสลามก็ยังไม่อนุญาตให้มุสลิมทำประกันชีวิตเช่นเดียวกัน ดังนั้นชุมชนจึงหาทางออกโดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน โดยเฉพาะเมื่อมีการเสียชีวิตของครอบครัว เพื่อมาดูแลสุขภาวะด้านจิตใจของชุมชนให้ดีขึ้น อีกทั้งสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและตำบลอีกด้วย การจัดให้มีกองทุนฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามในเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังที่ท่านรอซูล (ศ็อล) ได้กล่าวไว้ ความว่า “เปรียบเทียบบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเราที่มีต่อกันนั้นเหมือนกับร่างกาย กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วยทั่วร่างกายพาให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้” นอกจากนั้น ศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญกับสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะของแต่ละปักเจกบุคคลหรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชน สังคม องค์กร หรือสถาบันเดียวกัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การให้สวัสดิการที่ดีต่อกัน ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์ (2554: 326-329) ได้อธิบายว่า ในหลักการของศาสนาอิสลามนั้น การมอบสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ที่ดีให้กับสังคมไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของรัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้น หากเป็นหน้าที่ของประชาชนมุสลิมทุกคนที่ต้องลุกมาให้การปกครองคุ้มครองสังคมตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ ทั้งกำลังใจ กำลังกาย หรือกำลังทรัพย์และอื่นๆ โดยในอัลกุรอานมีกฎหมายทางสังคมที่เสริมสร้างสังคมให้รักใคร่ จุนเจือ และค้ำจุนซึ่งกันและกันราวกับว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กล่าวติเตียนผู้ไม่ใยดีต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม ดังคำตรัสของพระองค์ ความว่า “เจ้าไม่สังเกตเห็นคนที่ไม่จริงใจกับศาสนาดอกหรือ นั่นคือคนที่ไม่เหลียวแลเด็กกำพร้า และไม่สนับสนุนการบริจาคอาหารให้แก่คนยากจน”

เมื่อมีการเสียชีวิตของมุสลิม ต้องรีบจัดการศพให้เร็วที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับ มูนีร มูหะหมัด (2553: 148) การจัดการศพในอิสลาม หมายถึง การอาบน้ำให้ศพ การห่อศพ การละหมาดให้ศพ (ละหมาดญะนาซะฮฺ) และการฝั่งศพ นักวิชาการอิสลามมีมติ (อิจญมาอฺ) ว่า ทั้งสี่ประการดังกล่าวนี้เป็นฟัรฺดูกิฟายะฮฺ  ซึ่งถ้าหากไม่มีผู้ใดกระทำสิ่งเหล่านั้นให้แก่ศพเลย คนในชุมชนนั้นทั้งหมดก็มีบาป ดังนั้น เมื่อมีการเสียชีวิตในชุมชนต้องรีบจัดการศพทันที ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการจัดการศพมากพอสมควร โดยทั่วไปประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จะอยู่ที่ 6,000 – 8,000 บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะใช้สำหรับซื้อผ้าขาวห่อศพ โลงศพ และวัสดุต่างๆ ในการจัดการศพ เงินตอบแทน (ค่าเดินทาง) สำหรับผู้มาละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดให้กับศพ) ในการละหมาดญะนาซะห์นั้น ส่วนใหญ่แล้วทางครอบครัวผู้เสียชีวิตจะกำหนดผู้มาละหมาดจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักฐานหะดิษที่ชัดเจนว่า หาก 100 คนที่มาทำการละหมาดให้กับศพนั้นได้ขอดุอา (ขออภัยโทษจากพระเจ้า) ให้กับศพ ดุอาก็จะถูกรับ ดังนั้นศพก็จะได้รับการอภัยโทษโดยไม่มีสิ่งกีดกั้น ท่านหญิงอาอิชะฮ์รายงานว่า ท่านรอซูล (ศ็อล) กล่าว ความว่า “มัยยิต (ศพมุสลิม) ใดก็ตามที่มีมวลชนจากบรรดามุสลิมมาละหมาดให้ โดยมีจำนวนถึง 100 คนและทุกคนขอชะฟาอะฮ์ให้เขา แน่นอนทั้ง 100 คนนั้นต้องได้ชะฟาอะฮ์ให้แก่ศพมุสลิมนั้น” ดังนั้นเมื่อคำนวณค่าเดินทางของผู้มาละหมาดแล้ว ผู้มาละหมาด 100 คนๆ ละ 60 บาท รวมเป็นเงินเท่ากับ 6,000 บาท แต่บางครอบครัวอาจจะให้ทั้งข้าวสาร เงิน และไข่ ซึ่งมีราคารวมประมาณ 50-60 บาทเช่นเดียวกัน

            สำหรับครอบครัวใดที่ฐานะยากจนหน่อยก็จะไปลดจำนวนเงินค่าเดินทางหรือจำนวนผู้มาละหมาดให้เหลือแค่ 40 คน เพราะยังมีหะดิษที่พูดถึงจำนวนดังกล่าว  ในอีกรายงานหนึ่งของท่านอับดิลลาฮฺอิบนิอับบาส (ร.ด) จากท่านรอซูล (ศ็อล) กล่าว ความว่า “มีผู้มาละหมาดให้แก่ญะนาซะฮ์ของเขาจำนวน 40 คน โดยทั้งที่ 40 คนนี้ไม่เคยทำภาคีกับอัลลอฮฺ แน่นอนทั้ง 40 คนนั้นจะได้ช่วยซะฟาอะฮ์แก่เขาอย่างแน่นอน” การจัดการศพย่อมมีค่าใช้จ่าย สำหรับครอบครัวที่ยากจนจะหาเงินจำนวนนั้นมาจากไหน  กรณีศึกษาของครอบครัวนายเซ็ง ดีนา ซึ่งเป็นสมาชิกหมู่ที่ 5 บ้านโคะ วันที่เขาเสียชีวิต ครอบครัวของเขามีเงินสดแค่ 40 บาท และมีที่ดินแปลงหนึ่ง ในการจัดการศพชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นต้องรวบรวมเงินเพื่อใช้จ่ายจัดการศพของเขา ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การคิดรูปแบบการรวมกลุ่ม การจัดให้มีกองทุนเพื่อดูแลใช้จ่ายในการจัดการศพของสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจนเป็นหลัก

            รูปแบบการบริหารกองทุนฯ มีทั้งที่อยู่ภายใต้การบริหารของมัสยิด หมายความว่าคณะกรรมการกองทุนฯ จะเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการมัสยิด ซึ่งมีข้อดีคือ กองทุนฯ จะอยู่ภายใต้ผู้นำศาสนา (มัสยิด) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศพต้องพึงผู้นำศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำศพ การห่อศพ และการละหมาดให้กับศพ เมื่อมีสมาชิกกองทุนฯ เสียชีวิตเสมือนเป็นการเสียชีวิตของสัปปุรุษมัสยิดเช่นกัน ผู้นำศาสนามีหน้าที่ในการจัดการศพ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดและเชิญผู้มาละหมาด กำหนดเวลาละหมาดตลอดจนการทำพิธีต่างๆ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ กองทุนฯ จะบริหารเองโดยชุมชน ซึ่งมีข้อดีเช่นเดียวกัน เกิดการมีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุนฯ ชัดมาก โดยเฉพาะกองทุนฯ บ้านโคะ มีนโยบายให้สมาชิกมาจ่ายเงินนาวัตผ่านคณะกรรมการของแต่ละเขตพื้นที่ กรรมการไม่จำเป็นต้องไปเก็บเงินนาวัตตามบ้านเรือนของสมาชิก ในการเชิญหรือกำหนดจำนวนผู้มาละหมาดให้กับศพนั้น ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งเบาภาระงานให้กับผู้นำศาสนาอีกด้วย กองทุนฯ ทั้ง 2 รูปแบบมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกัน คือให้ความสะดวกและความคล่องตัวในเรื่องเงินสวัสดิการเพื่อใช้จ่ายในการจัดการศพในชุมชน ชุมชนจะมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

 

การพัฒนาและการจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ กองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีทั้ง 4 กองทุนฯ นั้น หากเรียงตามอายุการจัดตั้งมีดังนี้ 

กองทุนแรก คือ กองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านตะลาฆอสะโต หมู่ที่ 8 ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2525 และมีการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ในปี 2545 (ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของอิหม่ามมัสยิดคนปัจจุบัน) จะใช้ชื่อว่า “ซารีกัตมาตีมัสยิดอาสราส” โดยจะใช้ชื่อมัสยิดเป็นที่ตั้ง มีสมาชิกกองทุนฯ ที่มาจากหมู่ที่ 8 บ้านตะลาฆอสะโต หมู่ที่ 7 บ้านลุโบะปาเระ ที่มาจากตำบลและอำเภออื่นๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 320 รหัส/ครอบครัว

กองทุนที่สอง คือ กองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านนากอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 มีการก่อตั้งเมื่อปี 2543 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมัสยิด ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ทางกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านนากอ หรือชื่อทางการใหม่ของกองทุนนี้ คือ ซารีกัตกือบาญีกันมาตีบ้านนากอ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ โดยมีการเสนอชื่อของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่ที่ 6 คือ นายอับดุลบารี เบ็ญอัลดุลกอเดร์ เป็นประธานกองทุน นายมูฮัมมัดอารีฟีน วาราวอ และนางสือนะ บินตีฮูเซ็น เป็นรองประธาน ปัจจุบันกองทุนนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมัสยิดเหมือนอดีต มีระเบียบและมีการบันทึกบัญชี การเงินอย่างเป็นระบบ ในปลายปี 2555 มีสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 309 รหัส/ครอบครัว

กองทุนที่สาม คือ กองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านโคะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 มีการก่อเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2544 เป็นกองทุนเดียวที่ไม่เคยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของมัสยิด มีการคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลกองทุน 16 คน คณะกรรมการจะครอบคลุมทุกพื้นที่ในหมู่บ้าน มีระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนฯ ที่ชัดเจนและมีการกำหนดประชุมทุกๆ 2 เดือน มีสมาชิกกองทุนฯ หลักๆ ที่มาจากหมู่ที่ 5 บ้านโคะ หมู่ที่ 4 บ้านพงปือเราะ และหมู่ที่ 9 บ้านยือเลาะ นอกจากนั้นยังมีสมาชิกที่มาจากหมู่บ้านอื่นๆ รวมทั้งตำบลอื่นๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 950 รหัส/ครอบครัว

กองทุนที่สี่ คือ กองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านลุโบะปาเระ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ถือเป็นกองทุนสุดท้องในเขตตำบลจอเบาะ มีการก่อตั้งเมื่อปี 2553 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมัสยิด มีระเบียบข้อบังคับชัดเจน ปัจจุบันยังไม่มีผู้บริหารที่เป็นทางการ แต่ได้มอบหมายให้ นายอับดุลเลาะ ซาวี (เจะฆูนัน) ตำแหน่งบิหล่าล และ นายมะยุ แซะ ตำแหน่งกรรมการมัสยิด (โต๊ะซีเยาะ) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลกิจกรรมงานในกองทุนฯ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 58 รหัส/ครอบครัว 

ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารกองทุนมีความแตกต่างกันดังตารางข้างล่างนี้ (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2556)

ตารางที่ 1 แสดงความแตกต่างในการบริหารกองทุนฯ ในประเด็นการเก็บเงินนาวัตและเงินสวัสดิการที่ได้รับ

หมู่ที่

 

 

 

จำนวนสมาชิก

 

(1)

 

จำนวนเงิน

นาวัตที่เก็บได้

ต่อศพ[1]

(2)

((1)-1) x 20

ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ

 

(3)

 

เงินนาวัตที่เก็บได้สุทธิ

 

(4)

(2)–(3)

เงินสวัสดิการ

ที่ได้รับ

 

(5)

 

ส่วนต่าง

ที่ (ขาด)

/ เกิน

(6)

(5)–(4)

8 320 6,380 1,276[2] 5,104 6,000 (896)
6 309 6,160 210[3] 5,950 7,000 (1,050)
5 950 18,980 - 18,980 14,000 4,980
7 58 1,140 228[4] 912 1,500 (588)


 

[1] การคำนวณยอดที่ต้องเก็บเงินนาวัตจากสมาชิกโดยที่ครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินนาวัตเข้ากองทุน เช่น กองทุนที่มีสมาชิก 320 รหัส แต่เงินนาวัตที่สมาชิกต้องมาจ่ายแค่ 319 รหัสเท่านั้น

[2] คำนวณเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทน 20% จากรายรับที่เก็บมาได้

[3]ค่าตอบแทนค่าน้ำมันรถสำหรับคณะกรรมการจัดเก็บในชุมชนเอง 4 คน x 40 บาท = 160 บาท และเก็บนอกชุมชน 1 คน x 50 บาท =50 บาท รวมทั้งสิ้น  210 บาท ต่อครั้งที่มีสมาชิกเสียชีวิต

[4] คำนวณเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทน 20% จากรายรับที่เก็บมาได้

              จะเห็นได้ว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลจอเบาะได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ เกือบทุกหมู่บ้าน ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลจอเบาะและตำบลอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า การจัดตั้งกองทุนฯ สามารถช่วยเหลือสมาชิกในด้านการเงินเพื่อใช้จ่ายในการจัดการศพของชุมชน สำหรับการพัฒนาของกองทุนฯ มีการพัฒนาที่ดีและเป็นระบบมากขึ้น จะเห็นได้จาก การพัฒนาและจัดรูปแบบรวมทั้งคณะกรรมการกองทุนฯ มีอะมานะห์ (ความรับผิดชอบ) ในระดับสูง จากตารางข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า กองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านโคะ (หมู่ที่ 5) ถือเป็นกองทุนฯ เดียวที่บริหารจัดการไม่ขาดทุน ทุกครั้งที่มีการเสียชีวิตของสมาชิก ทางกองทุนฯ จะมีการเก็บเงินนาวัตจากสมาชิกศพละ 20 บาท จะได้เท่ากับ 18,980 บาท ยอดเงินดังกล่าวมาจาก เงินนาวัตจากสมาชิกกองทุนทั้งหมดจำนวน 950 รหัส (สำหรับครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิตไม่ต้องทำการนาวัต) จึงเหลือผู้ที่ต้องจ่ายนาวัตจริงๆ 949 x 20 บาท เท่ากับ 18,980 บาท หากเทียบยอดสมาชิกของกองทุนฯ นี้จะมีสมาชิกเกินกว่าสามเท่าของสมาชิกกองทุนบ้านนากอ แต่จริงๆ แล้วสมาชิกกองทุนนี้หลักๆ มาจาก 3 หมู่บ้าน คือ สมาชิกจากหมู่ที่ 4 บ้านพงปือเราะจำนวน 400 รหัส หมู่ที่ 5 บ้านโคะ จำนวน 421 รหัส หมู่ที่ 9 บ้านยือเลาะ จำนวน 111 รหัส นอกจากนั้นยังมีสมาชิกจากหมู่บ้านและตำบลอื่นอีก จำนวน 18 รหัส รวมทั้งสิ้น 950 รหัส ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินสวัสดิการจัดการศพจำนวน 14,000 บาท ถือว่าเงินสวัสดิการที่มอบให้นั้นต่ำกว่ารายรับที่เก็บมาได้ เงินส่วนต่างทางกองทุนฯ สามารถเก็บสะสมเป็นงบกลางจำนวน 4,980 บาทต่อครั้งที่สมาชิกเสียชีวิต นอกจากนั้นทางกองทุนได้มีการเก็บเงินค่าธรรมเนียมรายปีจากสมาชิกครอบครัวละ 100 บาท เป็นเงินรวมเพิ่มขึ้นอีกปีละ 95,000 บาท

                สำหรับกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านลุโบะปาเระ ต้องรีบพัฒนาหรือปรับรูปแบบการดำเนินการ เนื่องจากสมาชิกกองทุนฯ มีน้อยมาก ควรส่งเสริมให้ประชาชนสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น เงินนาวัตที่เก็บได้ก็จะได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกับการจ่ายเงินสวัสดิการในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หรืออีกรูปแบบหนึ่งถ้าจะเพิ่มเงินสวัสดิการให้สูงขึ้นถึง 6,000 บาท (เหมือนกองทุนตะลาฆอสะโต) ทางกองทุนฯ ควรส่งเสริมให้ประชาชนมาสมัครสมาชิกให้ได้ประมาณ 300 กว่ารหัส หรือด้วยวิธีการเก็บเงินนาวัตที่เพิ่มขึ้น ส่วนต่างของเงินสวัสดิการที่ต้องจ่ายให้กับสมาชิกปัจจุบันนั้น ได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมรายปีที่เก็บจากครอบครัวสมาชิก ครอบครัวละ 100 บาท หรือค่าสมัครสมาชิกแรกเข้า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นหวังว่าอีกไม่นานกองทุนนี้จะมีการคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เป็นทางการ  เพราะการดำเนินการปัจจุบันอาศัยตำแหน่งคณะกรรมการมัสยิดปฏิบัติหน้าที่แทน หากมองในด้านเศรษฐกิจหรือรายได้ของสมาชิกในชุมชน ปรากฏว่าหมู่บ้านลุโบะปาเระจะเป็นหมู่บ้านที่มีครอบครัวยากจนมากพอสมควร เนื่องจากที่ตั้งของหมู่บ้านจะอยู่ติดกับเชิงเขา ประชาชนมีการศึกษาที่ไม่สูงนัก แต่ชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วน อีก 2 กองทุนฯ ถ้าอยากให้เข้มแข็งขึ้นก็ควรมีการผลักดันให้ประชาชนมาสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทางกองทุนต้องบริหารเงินนาวัตอย่าให้ติดลบ เงินส่วนที่เหลือหลังจากจ่ายสวัสดิการสามารถไปใช้จ่ายในการศึกษาดูงาน หรือไว้ใช้จ่ายคราวที่มีการเสียชีวิตหมู่ในชุมชน

            รูปแบบหรือเทคนิคให้ประชาชนมาสมัครสมาชิกกองทุนฯ เพิ่มขึ้นนั้น สามารถดูตัวอย่างจากกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีบ้านบูเกะบากง ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นกองทุนฯ หนึ่งที่ได้ไปศึกษาดูงาน ประสบการณ์การรับสมาชิกใหม่ของกองทุนฯ นี้ คือ เมื่อมีคู่บ่าวสาวมาสมรสในชุมชน อิหม่ามจะถือโอกาสเก็บเงินค่าสมัครสมาชิกกองทุนฯ คู่ละ 100 บาท และจะดำเนินการสมัครสมาชิกกองทุนฯให้ เมื่อจัดพิธีมงคลสมรสเสร็จแล้วชุมชนจะมีสมาชิกกองทุนฯ เพิ่มขึ้นโดยปริยายอีก 1 รหัส สอดคล้องกับสำนวนไทยที่ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว อิหม่ามสามารถทำเป็นนโยบายของมัสยิดหรือชุมชนได้ หากกองทุนฯ สามารถบริหารจัดการดังกล่าวได้ จำนวนสมาชิกกองทุนก็จะมีมากขึ้นส่งผลให้จำนวนเงินสวัสดิการที่จะมอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน หรือสามารถนำบทเรียนจากเวทีแลกเปลี่ยน ศึกษาจุดแข็งของแต่ละกองทุน โดยดูกองทุนฯ บ้านโคะที่บริหารและกำหนดนโยบายให้สมาชิกมาจ่ายเงินนาวัตให้กับคระกรรมการ ทางกองทุนไม่มีค่าใช้จ่าย (ค่าน้ำมัน) ในการไปเก็บเงินตามบ้านเรือนของสมาชิก สำหรับสมาชิกท่านใดไม่ส่งเงินนาวัตหรือไม่จ่ายค่าธรรมเนียมรายปี เมื่อสมาชิกครอบครัวนั้นเสียชีวิตจะถูกหักเงินสวัสดิการตามจำนวนศพเสียชีวิตและไม่ได้ทำการส่งเงิน โดยหักศพละ 500 บาท หรือสมาชิกใดไม่จ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้หัก 1,000 บาท เมื่อมีการเสียชีวิตทางครอบครัวจะได้เงินสวัสดิการในจำนวนที่ไม่เต็ม ถือเป็นการควบคุมในตัว สร้างการมีจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมภายในองค์กร

 

ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในเขตตำบลจอเบาะสู่การสร้างสุขภาวะชุมชนมลายูมุสลิมมีข้อเสนอแนะดังนี้

  1. ทุกกองทุนฯ ควรมีการบริหารจัดการด้านการจัดเก็บเงินนาวัตและมอบเงินสวัสดิการแก่สมาชิกที่เหมาะสมและไม่ควรติดลบ
  2. ส่งเสริมให้ทางกองทุนฯ มีการสรุปรายงานการเงินพร้อมปิดประกาศให้ชัดเจนซึ่งอาจจะมีผลต่อการสมัครสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้น
  3. ทางกองทุนฯ ควรลดเงินสวัสดิการที่จะมอบให้กับครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิตหรือมีการเก็บเงินนาวัตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกองทุนฯ ที่บริหารติดลบ
  4. ชุมชนควรกำหนดเป็น ฮูกมปากะ (กฎกติกาชุมชน) เมื่อมีคู่บ่าวสาวมาแต่งงานในชุมชน ควรให้มีการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ทันที
  5. ควรมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ รูปแบบการบริหารและการพัฒนาของแต่ละกองทุนฯ โดยให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ
  6. เสนอให้องค์การบริหารส่วนตำบลจอเบาะมีการตั้งงบอุดหนุนเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือกองทุนฯ ที่มีอยู่ในชุมชนอย่างน้อยกองทุนฯ ละ 10,000 บาท หรือยึดเงินค่าธรรมเนียมรายปีของสมาชิกแต่ละกองทุนฯ
  7. องค์การบริหารส่วนตำบลต้องทำหน้าที่ติดตามและผลักดันให้ทุกชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตี
  8. ควรให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตั้งงบประมาณจัดให้มีการศึกษาดูงานกองทุนฯ ที่ประสบผลสำเร็จเพื่อมาพัฒนากองทุนฯ ที่มีอยู่ในตำบล
  9. ควรผลักดันให้กองทุนฯ ที่มีอยู่ในตำบลไปจดทะเบียนเป็นทางการเพื่อรองรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป
  10. เสนอให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลมีนโยบายให้ครอบครัวผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพมาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ด้วย

 

ประโยชน์ในทางประยุกต์ของผลการวิจัยที่ได้

            นำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อกำหนดเป็นนโยบายขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อตั้งงบประมาณอุดหนุนกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีที่มีอยู่ในตำบล โดยเฉพาะชุมชนที่มีมุสลิมอาศัยอยู่ พร้อมผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีอย่างทั่วถึงทุกชุมชน

            

กิตติกรรมประกาศ

            งานวิจัยนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเภทเต็มจำนวน  (พ.ศ. 2555) ขอขอบคุณ

 

บรรณานุกรม 

เชค อับดุลลอฮฺ บิน อับดุรเราะฮฺมาน อัลญิบรีน. 2552. ศพและขั้นตอนต่างๆ ในการทำศพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. แปลและเรียบเรียงโดย มยุรา วงษ์สันต์. กรุงเทพฯ : เฟิสท์ ออพเซท.

ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์. 2554. สันติสุขบนดินแดนตะวันออกกลางในสมัยเคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏ๊อบ (ค.ศ. 634-644). กรุงเทพฯ : สภายุวมุสลิมโลก สำนักงานประเทศไทย.

มูนีร มูหะหมัด . 2553. ฟิกฮุลอิบาด๊าต. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : สมาคมนักศึกษาเก่าศาสนวิทยา.

วัฒนา สุกัณศีล. 2544. วัฒนธรรมบริโภคของแรงงานในชุมชนชนบท. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สถาบันพัฒนาองค์กรเอกชน (องค์การมหาชน). 2552. คู่มือการดำเนินการโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : แอ๊ปป้า พริ้นติ้ง.

สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย. 2541. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย. อัลมาดีนะห์ อัลมูเนาวาเราะห์ : ศูนย์กษัตริย์ฟาฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน.

สุริยะ สะนิวาและคณะ. 2550. การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการเปลี่ยนแปลงสู่ความรุนแรงของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู. ยะลา: มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา.

อับดุลรอชีด เจะมะ. 2542. สังคมอิสลาม. ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3. วิทยาลัยอิสลามศึกษา : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

อารง สุทธาศาสน์ . 2555. เข้าใจวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=107148. (11 พฤศจิกายน 2555).

อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา. 2555. คู่มือผู้ป่วยและการจัดการตามหลักการอิสลาม.  แปลโดย ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์ และอุษมาน อิดริส. ปัตตานี: เฟิร์สออพเซ็ท 1993.

หมายเลขบันทึก: 695189เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท