เคล็ดลับในการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ


     ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทุกองค์กร รวมถึงภาคการศึกษาจำเป็นต้องเพิ่งพาเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทำงานหลัก  ในเมื่อจำเป็นต้องปรับรูปแบบการสอนเป็นออนไลน์ คณาจารย์และคุณครูหลายท่านก็ต้องการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนแบบออนไลน์ พร้อมสร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่ลูกศิษย์ตามความมุ่งหวังของรายวิชาหรือหลักสูตร

      จากบทความโดย Wei Bao ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Behavior and Emerging Technologies เกี่ยวกับกรณีศึกษาการเรียนการสอนออนไลน์ของ Peking University ได้สรุป 6 เคล็ดลับในการเรียนออนไลน์ ไว้ดังนี้

1. เตรียมแผนการเอาไว้ล่วงหน้า สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

             แน่นอนว่าในการเรียนการสอนที่เราไม่คุ้นชินนักย่อมสามารถเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงหรือปัญหาต่างๆที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะด้วยความไม่พร้อมของอุปกรณ์ หรือเครือข่าย ความหนาแน่นของจำนวนผู้ใช้งาน จนทำให้ไม่ว่าจะค้าง หรือไหนจะหลุด ไหนจะติดจะขัด เสียงไม่มา ภาพไม่มี เรียกได้ว่ากว่าจะแก้ปัญหาก็หมดไปแล้วเสียครึ่งคาบ

            ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ล่วงหน้าและตระเตรียมแผนการเอาไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ในฐานะครูอาจารย์ทุกท่านคงทราบ ดีว่าการเสียเวลาไป 1 หรือ 2 คาบนั้นสามารถทำให้แผนที่วางเอาไว้ล่าช้าออกไปได้เรื่อยๆ จะนัดผู้เรียนมาเรียนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น อย่าลืมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชั้นเรียนกันด้วย

2. แบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการจดจ่อของนักเรียน

            ในประเทศจีนนั้นก็ไม่ได้ต่างไปจากบ้านเรามากนัก พวกเขาเองก็มีเนื้อหาที่ต้องทำการเรียนการสอนที่เข้มข้นตลอดทั้งคาบเรียน แต่เมื่อพวกเขาต้องทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งปัญหาที่มักพบคือไม่สามารถควบคุมบรรยากาศภายในห้องเรียนได้ และเด็กๆมักจะเกิดอาการสติหลุดลอยอยู่บ่อยครั้ง และวิธีแก้ที่ดูเหมือนจะได้ผลดี นั่นก็คือการแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อยๆ

            หมายความว่าคณาจารย์อาจจะต้องทำงานหนักเพื่อจัดสรรหัวข้อเรียบเรียงเนื้อหากันเสียใหม่ และช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละหัวข้อนั้นอยู่ที่เวลาประมาณ 20-25 นาที

3. ใช้เสียงสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้

             เราอาจเคยควบคุมบรรยากาศภายในห้องเรียนได้ด้วยอวัจนภาษาต่างๆและคณาจารย์ทุกท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าโทนเสียงนั้นก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก แต่ยิ่งเมื่อต้องมาสอนในชั้นเรียนออนไลน์แล้ว เสียงนั้นกลับยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเมื่อทุกท่านอยู่หลังหน้าจอ อวัจนภาษาต่างๆก็แทบจะหมดความสำคัญ ดังนั้นส่วนที่เป็นคีย์เวิร์ดหรือเนื้อหาสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำ ทุกท่านควรลองพูดให้ช้าลง หรือพูดซ้ำบ่อยครั้งขึ้น

4. ปฏิบัติงานร่วมกับผู้ช่วยสอน และลองขอความช่วยเหลือจากทีมสนับสนุน

            หนึ่งในปัญหาสำคัญของการเรียนการสอนออนไลน์คือ ความไม่เชี่ยวชาญในด้านเทคนิคและเทคโนโลยี ปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางครั้งก็ไม่ทราบเลยว่าอีกฝั่งได้ยินเราไหม เรายังอยู่ในหน้าจอไหม ต้องกดปุ่มตรงไหนต่อบ้าง ในบางสถานศึกษาก็ทำคู่มือประกอบการใช้งานมาให้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าหากมีทีมช่วยสนับสนุนอยู่ข้างๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการทำให้การเรียนการสอนราบรื่นมากยิ่งขึ้น ช่วยคิดคำนวนคะแนน ทำการประกาศผลคะแนน รวบรวมสรุป จัดส่งเอกสารสำหรับการเรียน และอื่นๆอีกมากมาย สถานศึกษาไม่ควรผลักภาระความรับผิดชอบให้แก่คณาจารย์ และให้ท่านเผชิญปัญหาในการเรียนรู้อยู่เพียงลำพัง

 5. เสริมสร้างการเรียนรู้เชิงรุกนอกชั้นเรียน

            หากเทียบกับการเรียนการสอนในรูปแบบปกติแล้ว การเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นควบคุมได้ยากกว่ามาก จึงมักพบเห็นผู้เรียนไม่เข้าร่วมชั้นเรียน ดังนั้นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ประสบผลสำเร็จคือการเรียนรู้เชิงรุกนอกห้องเรียน ซึ่งมีวิธีการหลากหลาย เช่น แบบฝึกหัด หรือการบ้าน การทำโครงงาน โครงการ เป็นต้น

6. บูรณาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ร่วมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง

            ในการเรียนการสอนรูปแบบปกติ การสนทนาโต้ตอบกันระหว่างคุณครูกับนักเรียนคงเป็นเรื่องปรกติ แต่สำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้น ถือเป็นเรื่องที่ยาก ด้วยข้อจำกัดของการแทรกซ้อนของเสียงที่จะทำให้บรรยากาศภายในห้องเรียนดูปั่นป่วนไปหมด เพื่อเป็นการแก้ปัญหา ทางสถานศึกษาควรจัดแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นสองระยะ หนึ่งคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบออนไลน์

            ในส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น ผู้เรียนมีความจำเป็นที่จะต้องทำการอ่านเนื้อหามาก่อนล่วงหน้า เพื่อให้ได้ทราบว่าผู้เรียนมีความไม่เข้าใจตรงส่วนใดของเนื้อหา เมื่อทางผู้สอนทราบได้ถึงปัญหาความไม่เข้าใจต่างๆ พวกท่านจึงจะสามารถออกแบบการเรียนการสอนในส่วนเนื้อหาวิชานั้นได้ถูกต้องโดยเน้นไปในส่วนที่เกิดความสงสัยมากที่สุด เรียกได้ว่าจากที่เคยถามถึงความสงสัยในเนื้อหาหลังคาบเรียน เปลี่ยนเป็นอ่านมาก่อนแล้วหากสงสัยตรงไหนจึงค่อยสอบถามมาในรูปแบบ “Flipped Classroom”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.chula.ac.th/news/40851/

หมายเลขบันทึก: 693721เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2021 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2021 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท