ความสุขในความไม่สมบูรณ์แบบแบบ “วะบิ ซะบิ”


ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยงแท้ ไม่สมบูรณ์ ไม่เสร็จสิ้น

                                              ความสุขในความไม่สมบูรณ์แบบแบบ “วะบิ ซะบิ”

                                     ที่มา : https://becommon.co/culture/wabi-sabi-sabi-esthetic/ 

 

                การแสวงหาความสมบูรณ์แบบในชีวิตก็เปรียบเหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทร เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง หากเรายึดติดกับความสมบูรณ์แบบจนทำให้เกิดทุกข์ มักเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเสมอ หรือวัดคุณค่าของตนเองจากความสำเร็จ เราทุ่มเทเพื่อคำว่า “สมบูรณ์แบบ” มากเกินไปหรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่เราต้องการในชีวิตจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ทำให้เราฉุกคิดและค้นพบสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า นั่นก็คือ ความสุขแบบ “วะบิ ซะบิ” ในความไม่สมบูรณ์แบบที่เรียบง่ายอย่างน่าค้นหา

                ท่านผู้อ่านคงสงสัยกันใช่หรือไม่ว่า “วะบิ ซะบิ” นั้นคืออะไร บทความนี้ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับ “วะบิ ซะบิ” ไปพร้อมๆกันค่ะ 

                                                             ที่มา : https://www.top10.in.th

 

“วะบิ ซะบิ” (Wabi-Sabi) คืออะไร 

                “วะบิ ซะบิ” Wabi-sabi (侘寂) คือ ปรัชญาชีวิตที่เก่าแก่ของญี่ปุ่นตามแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซน เกิดจากคำ 2 คำที่นำมาประกอบกัน คือ “วะบิ” และ “ซะบิ” คำว่า “วะบิ” (侘) หมายถึง ความไม่สมบูรณ์แบบหรือความเรียบง่ายไม่สวยจนเด่น ส่วนคำว่า “ซะบิ (寂) หมายถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่งและความผุพังตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อนำมารวมกันกลายเป็น การไม่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ และชื่นชมความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต 

          “วะบิ ซะบิ” มีจุดเริ่มต้นมาจากพิธีชงชาเขียวของพระในนิกายเซน 2 ท่าน หนึ่งในนั้น คือ ท่านจูโค ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 15 ในสมัยนั้นคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มราชวงศ์และผู้มีตำแหน่งสูงในวงราชการรับวัฒนธรรมการดื่มชามาจากประเทศจีน และมักชวนกันดื่มชาชมพระจันทร์โดยใช้ถ้วยชาชุดหรูหราในห้อง แต่ท่านจูโคกลับสอนลูกศิษย์ให้ลองชื่นชมพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวและใช้ถ้วยชาที่ปั้นจากดินแทน

          ศตวรรษต่อมา ท่านริคิว ปรมาจารย์ด้านพิธีการชงชาเขียวที่รับใช้โชกุนโอดะ โนบุนากะและโชกุน โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ได้ออกแบบห้องชงชาเขียวให้มีขนาด ตกแต่งอย่างเรียบง่าย อุปกรณ์ที่ใช้ชงชาเขียวเป็นแค่กาต้มน้ำเล็กๆ กระบวยตักน้ำและไม้ตีชาเขียวทำจากไม้ไผ่และถ้วยชาที่ปั้นด้วยมือ ท่านริคิวไม่ต้องการให้สนใจเรื่องการตกแต่งห้องหรือการทำพิธีกรรมใหญ่โตมากนัก เพราะเมื่อมาดื่มชา ถึงถ้วยชาจะไม่สวย ห้องจะแคบ แต่ชามันก็ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี

 

                                                ที่มา : http://www.tairomdham.net/index.php?topic

 

มองโลกแบบ “วะบิ ซะบิ”

          ในโลกที่ทุกสรรพสิ่งหมุนเวียนแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา คนเราเติบโตมาด้วยวัฒนธรรมทางสายตาที่ใช้ในการมองและให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว แต่กลับลืมว่าบางสิ่งมิอาจมองได้ด้วยตา ต้องใช้หัวใจในการสัมผัสจึงจะมองเห็นถึงความงามภายในที่ต้องอาศัยช่วงเวลา ความสงบ และสติ เพื่อรับรู้สิ่งนั้นได้อย่างลึกซึ้งเต็มหัวใจ เช่น การฟังเพลง หากเราฟังอย่างช้า ๆ แล้วเอาใจเข้าไปสัมผัส เราก็จะรู้ถึงความหมายของเพลงนั้นและอารมณ์ความรู้สึกก็จะแทรกซึมเข้ามาภายในจิตใจของเรา แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราฟังเพลงด้วยความรวดเร็ว ไม่ได้เอาใจเข้าไปอยู่ในเพลง ย่อมไม่ได้สัมผัสถึงความสุนทรียะและอรรถรสในเพลงอันไพเราะ 

          “วาบิ ซาบิ” จึงเป็นปรัชญาชีวิตที่สอนให้เรามองโลกด้วยความเข้าใจในธรรมชาติที่ทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่งชีวิตล้วน“ไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ และไม่เสร็จสิ้น” ธรรมชาติไม่จีรัง ไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็สวยงามในตัวของมัน แม้จะทิ้งร่องรอยแห่งความเปลี่ยนแปลงไว้ แต่ก็จงชื่นชมอย่างเต็มใจในร่องรอยและความผุกร่อนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยอมรับและยินดีในความสันโดษด้วยจิตอันสงบ เยือกเย็น เช่นเดียวกับชีวิตคนเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่จะสอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ได้ ต้นทางของเราคือความคาดหวังในความสำเร็จ ในระหว่างทางนั้นอาจเต็มไปด้วยรอยยิ้ม คราบน้ำตา และความท้อแท้ที่มาบั่นทอนจิตใจ แต่เมื่อถึงปลายทางที่มีเส้นชัยรออยู่เราอาจจะสอบติดจึงถือว่ามันเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่ใช่เลย เราก็ยังต้องศึกษาเรียนรู้และใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยต่อไป หรือในทางกลับกันเราอาจสอบไม่ติดและถือว่านั่นคือ ความผิดพลาดของชีวิต ความผิดพลาดแม้จะเป็นรอยตำหนิหรือข้อบกพร่องของชีวิตที่เราไม่อาจกลับไปแก้ไขได้ แต่ก็ทำให้เราหวนคำนึงได้ว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ตัวเราเองก็ยังมีจุดด่างพร้อย ดังวลีในหนังสือวะบิ ซะบิ : แด่ความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิต ที่ว่า “ความไม่สมบูรณ์แบบอันสมบูรณ์พร้อม” ซึ่งหมายความว่า ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็สมบูรณ์พร้อมแล้วในแบบที่เราเป็นในช่วงเวลานั้น ฉะนั้นแล้วจึงควรยอมรับในสิ่งที่มีหรือสิ่งที่เป็นมากกว่าเสียเวลากับการค้นหาสิ่งที่ดีกว่า

 

                                                     ที่มา : https://jpninfo.com/thai/11264?fbclid

 

ความสุขทางใจมีคุณค่ามากกว่าการยึดติดในความสมบูรณ์แบบ

          ความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาครอบครอง แต่สิ่งที่แลกมากับความคาดหวังในตนเองที่มากเกินไปกลับไม่คุ้มเลยกับความสูญเสียที่เราต้องพบเจอ เวลาเป็นหนึ่งในความสูญเสียที่ไม่อาจอาจย้อนคืนกลับมาได้อีก เราเลือกใช้ชีวิตแบบที่ควรจะเป็นมากกว่าใช้ชีวิตในแบบที่เราชอบก็เท่ากับว่าเราสูญเสียเวลาแห่งความสุขในชีวิต

          การไม่ยึดติดในความไม่สมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริงแล้วหันกลับมายอมรับความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเราทั้งภายนอกและภายในที่ไม่ซ้ำใครด้วยปรัชญา “วะบิ ซะบิ” ที่เรียบง่ายก่อเกิดศิลปะอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดจากโบราณมาจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และยังแฝงไปด้วยปริศนาธรรม เรียกว่า คินสึงิ (Kintsugi) หรือการซ่อมแซมถ้วยชามที่ทำมาจากเครื่องดินเผาหรือเซรามิคด้วยการใช้ยางไม้มาเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วนำทองมาเขียนตกแต่งลงบนรอยเชื่อมนั้น ผลที่ออกมา คือ ภาชนะชิ้นนั้นกลับมาใช้ได้เหมือนเก่าแต่แสดงร่องรอยสีทองที่พื้นผิวซึ่งทำให้สวยไปอีกรูปแบบหนึ่ง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความงามนั้นไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบเพียงอย่างเดียวแต่กลับโดดเด่นด้วยเส้นสีทองที่ไหลไปตามเส้นทางของรอยร้าว รอยแตกหักที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของภาชนะใบนั้นต่างหาก เปรียบเหมือนกับร่องรอยบนเส้นทางชีวิตของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ในระหว่างทางต้องเจอกับร่องรอยแห่งความผิดพลาดที่ทิ้งความเจ็บปวดไว้ให้เรานับครั้งไม่ถ้วน เมื่อกาลเวลาผันผ่านไปร่องรอยนี้กลับทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เมื่อได้มองเห็นความผิดพลาดในอดีตจึงกลายเป็นบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบัน อันทำให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบที่ติดตัวเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด และมันอาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอับอายเลยก็ได้ เมื่อเราทุกคนต่างมีความไม่สมบูรณ์แบบด้วยกันทั้งนั้น

          ฉะนั้นเราทุกคนไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในแบบที่ใครอยากให้เราเป็น หรือตามที่ตนเองคาดหวัง แต่จงเป็นเราที่ไม่สมบูรณ์แบบอันสมบูรณ์พร้อมในทุกช่วงเวลาของชีวิต เพราะความไม่สมบูรณ์แบบนั่นเองจะพาเราให้รู้จักและเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งบนโลก และสัมผัสกับความสุขสงบแบบวะบิ ซะบิที่อยู่บนความเรียบง่ายและความไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อยอมรับได้ ใจย่อมเป็นสุขในทุกวัน 

          สุดท้ายนี้ขอฝากคำคมแก่ท่านผู้อ่านไว้ว่า

                                                            “เธอไม่สมบูรณ์แบบ ฉันไม่สมบูรณ์แบบ 

                                            พวกเราไม่สมบูรณ์แบบ และไม่มีผู้ใดบนโลกใบนี้สมบูรณ์แบบ 

                                            แต่ฉันเผอิญตกหลุมรักความไม่สมบูรณ์แบบนั้นนับครั้งไม่ถ้วน”

 

 

เอกสารอ้างอิง

ปอ เปรมสำราญ. (2562). วิถีแห่ง ‘วะบิ-ซะบิ’ ความงามที่มีรอยตำหนิและกาลเวลาเป็นกัลยาณมิตร.

          สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564, จาก https://themomentum.co/wabi-sabi/?

รังสินี ไชยคุณ. (2562). “วะบิ ซะบิ” คืออะไรหนอ. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564,

          จาก https://kiji.life/wabisabi/?fbclid=IwAR0EmK5Vkxr81DmR3dDEwFtTxrvDJOg

                                           

 

หมายเลขบันทึก: 693657เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2021 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2021 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท