ขอบเขตของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ


กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Law) คือเรื่องการควบคุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยรัฐ คือการที่รัฐต่าง ๆ มาทำความตกลงกันในเรื่องของการค้า การลงทุน หรือการเงิน ให้มีการดำเนินกิจการในลักษณะต่างๆ  เพื่อที่รัฐและเอกชนในประเทศต่าง ๆ ยึดถือเป็นทางปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ รวมถึงการที่ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างรัฐที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้สอดคล้องสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่หลากหลายในราคาถูก ขณะเดียวกันผู้บริโภคและผู้ผลิตจะได้รับการป้องกันในการค้าระหว่างประเทศผ่านกลไกซึ่งอยู่ในความตกลงที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 เรื่อง คือ

          1. กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศว่าด้วยการค้า คือกฎหมายที่ควบคุมการค้าระหว่างประเทศโดยรัฐ ตามหลักเกณฑ์ที่สำคัญของ GATT ซึ่งคือ WTO (World Trade Organization) ในปัจจุบัน เน้นเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องเขตการค้าเสรี อาทิเช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป ในระดับกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมถึงความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีหรือที่เรียกกันว่า Free Trade Area ในระดับทวิภาคีต่าง ๆ 

          2. กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการเงิน คือกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของการเงินที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อจัดระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันวิกฤตการณ์ทางการเงินและกำหนดวิธีการรับมือ รวมทั้งกลไกในการร่วมมือระหว่างรัฐในประชาคมระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นบทบัญญัติขององค์การระหว่างประเทศที่รู้จักกันในนามของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development หรือ IBRD หรือธนาคารโลก) และธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค และอนุภาคต่างๆ รวมทั้งสถาบันการเงินในภูมิภาค ตลาด พันธบัตรระหว่างประเทศ รวมทั้งสถาปัตยกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ในภูมิภาค รวมถึงระบบการเงินของโลก Monetary System และ Financial System ด้วย

          3. กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการลงทุน คือกฎหมายที่ศึกษากรอบความตกลงและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศทั้งระดับพหุภาคี ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี และกรอบภูมิภาคและทวิภาคีที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทในเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ต้องมีการอาศัยการสนับสนุนจากปัจจัยอื่น คือ สิทธิในการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนทางการค้าและในการให้บริการ การสัญจรอย่างเสรีของบุคคลและการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของเงินทุน การเคารพสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สินทางการค้า นอกจากนี้การลงทุนยังเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเรื่องที่อ่อนไหวอันได้แก่ กรรมสิทธิ์ ซึ่งรัฐจำนวนมากที่มีความระแวงต่อทรัพย์สินต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคกีดขวางอธิปไตยถาวรเหนือ

          และยังมีกฎหมายเพื่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เมื่อมีผลต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เรื่องเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยอีกด้วย เพราะปัจจัยในการประกอบธุรกิจต้องประกอบไปด้วย ทุน ที่ดิน แรงงาน และอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ดังนั้นปัจจัยในการทำธุรกิจต้องมีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลในส่วนนี้ด้วย เช่นกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          ผลกระทบของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันนั้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และระหว่างประเทศด้วย เพราะเมื่อมีการระบาดของเชื้อโรคนั้น ทำให้การส่งออก การนำเข้า เกิดปัญหารวมถึงการประกาศของรัฐบาลประกาศปิดประเทศ ปิดเมืองเพื่อต้องการให้ประชาชนอยู่กับพื้นที่ ไม่สามารถออกไปใช้จ่ายได้ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งบริษัท โรงงาน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการว่างงานของแรงงานในประเทศ การตกงาน ถูกเลิกจ้างเพราะบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน แรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนสัญชาติไทยส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ที่มนุษย์ควรได้รับ เช่นการรับวัคซีนที่ทุกคนควรได้รับในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างคนในชาติ กับคนต่างชาติ เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม รัฐบาลมีการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง ผู้ที่สามารถใช้จ่ายได้คือผู้ที่มีรายได้ หรือยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง สามารถที่จะใช้จ่ายได้ ทำให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ตกงานจากสถานการณ์นี้ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม ทั้งยังมีการปฏิบัติต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาจนหาย แต่ได้รับการเลือกปฏิบัติคนรอบข้าง คนที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ต่างออกไป เมื่อมีการปิดประเทศนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้ามาเที่ยวในไทยได้ และคนในประเทศออกไปไม่ได้เช่นกัน การส่งออก และการนำเข้าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะมีการกำหนดสินค้าที่สามารถนำเข้ามาได้ และสินค้าที่ไม่สามารถนำเข้ามาได้ เกิดปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ และผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากที่ต้องเสียภาษีการนำเข้าเพิ่มด้วย

          ดังนั้น กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศนอกจากจะมีการศึกษาเรื่องของการค้า การลงทุน และการเงิน ยังต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ ณ เวลานั้น ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นด้วย เพราะทุกเรื่องในกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีผลเชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดปัญหาต่อประเทศหนึ่ง ย่อมเกิดปัญหากับประเทศคู่ค้า หรือประเทศที่ทำการค้าด้วยอย่างแน่นอน อย่างสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจกันทุกประเทศ รัฐทุกรัฐต้องมีการปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ร่วมกัน เพื่อให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปโดยเร็ว และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ร่วมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีเพิ่มยิ่งขึ้นด้วย

          

เอกสารอ้างอิง

เอกสารประกอบคำบรรยายวิชากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ น.641 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จตุรนต์ ถิระวัฒน์.“กฎหมายการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ”. กฎหมายระหว่างประเทศ.วิญญูชน. 2563. หน้า 466-478

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย.“กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ”. บทบาทของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ.วิญญูชน. 2553. หน้า 12-14

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/covid19-newnormal-with-sme 

หมายเลขบันทึก: 693193เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2021 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2021 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท