ตัวเงินตัวทอง


ตัวเงินตัวทอง

ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ย (Varanus salvator) เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศบังคลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย จนถึงอินโดจีนและเกาะต่างๆของอินโดนีเซีย โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆแหล่งน้ำ ในประเทศไทยจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทหนึ่ง

สัตว์ตระกูลเหี้ยในประเทศไทยมีอยู่ 6 ตระกูล คือ 
1.เหี้ย (Water  Monitor) ว่ายน้ำเก่ง ชอบกินไก่สด

2. ตะกวด(Bengal Monitor) ปีนต้นไม้เก่ง ชอบกินอึ่งอ่าง

3. เห่าช้าง (Roughneck Monitor) ขู่คำรามเก่ง ชอบกินปลา

4. มังกรดำ ( Black Monitor) ผึ่งแดดเก่ง ชอบกินนก

5. แลนดอน ( Yellow Monitor) พรางตัวเก่ง ชอบกินหนู

6. ตุ๊ดตู่ ( Dumeril's Monitor) ขี้อายเก่ง ชอบกินปู

ประโยชน์ของตัวเงินตัวทอง
1. ช่วยกำจัดซากสัตว์ เนื่องจากมีระบบการย่อยอาหารที่มีความเป็นกรดรุนแรงและแบคทีเรียสำหรับย่อยสลายซากเน่าโดยเฉพาะ หากไม่มีเหี้ยเลย แหล่งน้ำอาจเต็มไปด้วยซากเน่าปื่อยและโรคติดต่อ เหี้ยเป็นผู้ควบคุมประชากรหนูที่ยอดเยี่ยม เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาด
2. ช่วยกินไข่งูพิษ และไข่ของสัตว์ต่างๆรวมทั้งปลา เหี้ยเป็นนักล่าอันดับต้นๆของห่วงโซ่ จนได้สมญานามว่า "เสือดาวแห่งป่าคอนกรีต"


3. เหี้ยเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง หนังนำมาทำกระเป๋ารองเท้าราคาแพง ส่วนเครื่องใน ดี ตับ เป็นยารักษาโรคหัวใจ มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงกัน เพื่อนำเนื้อไปใช้ในการบริโภค โดยเฉพาะเนื้อส่วนโคนหางที่เรียกว่า "บ้องตัน"ในต่างประเทศนิยมกินและมีราคาแพงมาก

ส่วนไข่ของเหี้ยก็มีผู้นิยมนำเป็นอาหารเช่นกัน มีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า เจ้าจอมมารดาแว่น พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 คิดทำขนมไข่เหี้ยขึ้นถวาย เนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย แต่ระยะนั้นไข่เหี้ยหายาก เจ้าจอมแว่นจึงประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นถวายแทน ในสมัยก่อนขนมนี้ยังใช้ในพิธีขันหมากหรือติดกัณฑ์เทศน์ด้วย ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เห็นว่าชื่อขนมไม่ไพเราะจึงเปลี่ยนเป็นขนมไข่หงส์ ทำให้ลักษณะของขนมเปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยฟองใหญ่คล้ายไข่เป็ด เนื้อแป้งหนา กลายเป็นฟองกลมๆเล็กๆ แป้งบางลง

คำว่า " เหี้ย" เริ่มกลายมาเป็นคำหยาบและคำด่าทอในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นการเพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า "ตั่วเฮีย" ซึ่งหมายถึง พี่ชายคนโต หรือ พี่ชายใหญ่ เนื่องจากในสมัยนั้นมีการปราบปรามฝิ่น และชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามขณะนั้นถือได้ว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการปราบปรามฝิ่น จึงออกล้างแค้นโดยฆ่าฟันชาวสยามล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวสยามจึงได้ใช้คำว่า ตั่วเฮีย เป็นคำด่าทอ และเพี้ยนจาก ตั่วเฮีย เป็น ตัวเหี้ย และกลายเป็นความอัปมงคลในที่สุด

นอกจากนี้คำด่าประณามหญิงที่ประพฤติชั่วก็มีที่มาจากลายดอกสีทองตามลำตัวของตัวเงินตัวทอง ไม่ได้มีที่มาจากดอกไม้สีทองตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

ต่อมามีหลักฐานการใช้คำว่า "เหี้ย" เป็นคำด่าที่ชัดเจนที่สุด อยู่ในเอกสาร "วชิรญาณวิเศษ " เล่ม 7 แผ่นที่ 40 วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเอกสารชิ้นนี้ยังบอกถึงความหมายอันแท้จริงของคำว่า "เหี้ย" อีกด้วย

สัตว์เอ๋ยสัตว์ป่า
เขานินทาว่าพาเขาฉิบหาย
เข้าบ้านไหนบ้านนั้นอันตราย
แม้กล้ำกรายเขามักกลัวชั่วระทม
อนึ่งซนซนแส่หาแต่ชั่ว
ใครเกลือกกลั้วแล้วเห็นไม่เป็นผล
เหมือนทองถูรู่กระเบื้องเครื่องเปลืองตน
ถึงเป็นคนเกณฑ์ลงเสียว่าเหี้ยเอย


นอกจากนี้ยังเขียนอธิบายไว้อีกว่า "...สัตว์นี้เข้าบ้านเข้าเรือนแล้วมักเกิดอันตราย ให้โทษร้ายต่างๆ เพราะฉะนั้นบางทีมนุษย์หรือสัตว์อะไรๆที่เข้ามาในบ้านในเรือนใคร แล้วทำความวิบัติต่างๆให้ เขาจึ่งเรียกว่าเหี้ย หรือราวกับเหี้ย หรือพวกเหี้ย หรือเหี้ยแท้ๆ..."

ตัวเงินตัวทอง นำมาใช้เป็นสำนวนไทย มีความหมายถึง เหี้ย เช่นในตัวอย่างต่อไปนี้

ที่ฉันต้องบ้านแตกสาแหรกขาดก็เพราะมันมีตัวเงินตัวทอง คอยเอาความอัปรีย์มาให้ไม่หยุดไม่หย่อนนั่นแหละ

คนอย่างมันนะ วันๆดีแต่เป็นตัวเงินตัวทองแค่นั้นแหละ ไม่รู้จักทำมาหากิน หาเงินหาทองกับเขาหรอก

การนำคำว่า"เหี้ย" มาใช้ด่าว่าเปรียบเปรยผู้ใดนั้น ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า 16 คำด่าว่ารุนแรงให้เสียหาย เป็นความผิด "ดูหมิ่นซึ่งหน้า" ตาม ป.อาญา มาตรา 393 จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มีคำว่า "ไอ้เหี้ย" ตามฎีกา 5257/2548 ดังนั้นเมื่อจะเอ่ยวาจาด่าใครว่า "เหี้ย" จึงควรระมัดระวังให้ดี เปลี่ยนเป็นคำที่ฟังระรื่นหูเช่น "ตัวเงินตัวทอง" หรือคำที่ใช้เฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มน.- คิตตี้ /มหิดล - บุ๋ย / มศก. - ตุ๊ดตู่ / ลาดกระบัง - กุ๊งกิ๊ง / ม.อ. - แยเวาะ / หัวเฉียว -  จุ๊บแจง /มรภ.เพชรบุรี - อาเฮีย
เลือกเอาที่สะดวกใจเลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 692678เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2021 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท