สช.ร่วมกับชาวเชียงใหม่ จัดเวทีนโยบายสาธารณะ “สานพลังสร้างเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงวัย”


เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานประสานนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว) และ กองเลขาสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่องสานพลัง สร้างเมืองเจียงใหม่...เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM  Meeting) โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ เข้าร่วมอย่างคึกคัก  มีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัย ของจังหวัดเชียงใหม่ 

            

            รศ.ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ได้กล่าวตอนหนึ่งของการประชุมว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ  เหมือนคลื่นสึนามิที่ถาโถมเข้ามาในสังคม หลายคนเข้าใจว่าเป็นปัญหาของผู้สูงอายุในปัจจุบัน แท้จริงแล้วเป็นปัญหาของคนที่มีอยู่ระหว่าง 40 – 60 ปีที่จะเคลื่อนเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เพราะคนไทยอายุยืนมากขึ้น อัตราการตายน้อยลง ขณะเดียวกันก็พบว่าการสร้างระบบรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นยังมีน้อย หลายภาคส่วนยังไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้   นอกจากนี้ รศ.ดร.เจิมศักดิ์  เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาว่า ควรสร้างระบบรองรับใน 4 มิติ  1) มิติเศรษฐกิจรู้จักการออมตั้งแต่ปัจจุบัน ลดการกู้ และลดการพึ่งพาอาศัยผู้อื่น 2)มิติสภาพแวดล้อม จัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ มีข้อมูลยืนยันว่าการลงทุนจัดการสภาพแวดล้อมใหม่นั้นถือว่าจ่ายถูกกว่าการจ่ายค่ารักษาเมื่อผู้สูงอายุล้มหรือเจ็บป่วย 3) มิติสุขภาพจะต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพตนเองไม่ให้เจ็บป่วย และเมื่อถึงเวลาก็จากไปอย่างสงบภายในระยะเวลาสั้น โดยไม่เป็นภาระลูกหลาน 4) ชุมชนและสังคม จะต้องมีแนวทางในการส่งเสริมดูแลผู้ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม มีระบบรองรับ มีกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ผู้สูงอายุ

          รศ.ดร.เดชา  ทำดี คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อสถานการณ์ผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่มีทั้งหมด 25 อำเภอมีโครงสร้างประชากรที่หลากหลายทั้งประชากรในเมืองและบนพื้นที่สูง ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสูงถึง 349,755 คน  คิดเป็นร้อยละ 19.60 %  จังหวัดเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ปี 2551 ในลักษณะสมัชชาสุขภาพจังหวัด เกิดงานที่เป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่าอรยสถาปัตสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการ  เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้ามาทำงานที่เหมาะสมร่วมกับภาคเอกชน ฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกหลานและค้นคว้าข้อมูลต่างๆ  แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผู้สูงอายุยังขาดความรอบรู้ในทักษะการคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยเฉพาะข่าวปลอมต่างๆ 

            นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในประเทศไทยเราเองถือว่ามีความโชคดีกว่าหลายประเทศ แม้ว่าจะเข้าสู่สังคมสูงอายุช้ากว่าประเทศอื่นอย่างประเทศญี่ปุ่น ไทยยังมีความอบอุ่น มีการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างในต่างประเทศ  ในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ในการทำงานโดยไม่แยกว่าเป็นภาครัฐหรือเอกชน  นโยบายของรัฐคือทุกคนจะต้องมีที่อยู่อาศัย และให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่ไม่ปลอดภัย ด้วยเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวจึงมีคนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศเดินทางเข้ามา ดังนั้นหากมีการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เกิดความปลอดภัย จะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่และชาวต่างชาติ ประการต่อมาคือทำอย่างไรที่จะลดการส่งผู้สูงอายุเข้าไปสู่สถานสงเคราะห์ เราจะสร้างชุมชนให้เป็นสถานที่รองรับผู้อายุได้อย่างไร เช่น อสม.ผลัดเวียนกันเข้ามาดูแลผู้สูงอายุตามบ้านต่างๆ  แต่อย่างไรก็ตาม การออมในผู้สูงอายุยังไม่มีการตื่นตัวมากนัก เราจะรณรงค์ให้ผู้สูงอายุเกิดการออมได้อย่างไร 

            นายวีรยุทธ เทพนันท์ เทศบาลตำบลแม่ข่า เล่าการทำงานในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ว่า ประเด็นการทำงานเรื่องผู้สูงอายุ เป็นความท้าทายสำหรับองค์กรในท้องถิ่นมาก เพราะเราจะทำให้เป็นเรื่องของชุมชนได้อย่างไร ประเด็นผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่สำคัญ เราจะสร้างทัศนคติในเรื่องอย่างไร ให้คนรับรู้ว่า การสร้างระบบรองรับสูงวัยเป็นเรื่องของคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่ารุ่นไหนก็ตาม เทศบาลตำบลแม่ข่ามีเครือข่ายการทำงานสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่หลากหลาย โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในลักษณะเวทีสาธารณะ ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมสุข และขยายไปใน อปท. ขยายกลไกเป็นต้นแบบของจังหวัดเชียงใหม่  ขยับเป็นระบบภาค โชว์ แชร์ เชื่อม ขยายไปสู่ 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้อย่างไร โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง

            นางลำดวน  มหาวัน หัวหน้าโหนด Flagship เชียงใหม่ มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ กล่าวในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า  องค์กรได้เน้นการทำงานในมิติเศรษฐกิจ เพราะด้านอื่นมีหน่วยงานต่าง ๆทำอยู่แล้ว เรามองกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบและเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันทางเศรษฐกิจอายุระหว่าง 25-60 ปี มีรูปแบบการทำงานกับชุมชนในเขตป่า 4 หมู่บ้าน นอกเขตป่า 8 หมู่บ้าน  สนับสนุนผ่านโครงการย่อยให้ชุมชน ขับเคลื่อนภายใต้คณะทำงาน ให้พี่เลี้ยงในพื้นที่สนับสนุนการทำงาน ชุมชนสามารถออกแบบ จัดหาพี่เลี้ยงที่ปรึกษาเอง โดยโหนคัดเลือกชุมชนที่มีที่มีต้นทุน เช่น การพึ่งพาทรัพยากรในชุมชน  มีแกนนำในชุมชน โดยทำงานทั้งเชิงวิชาการ เช่น ฝึกชาวบ้านให้จดบันทึกข้อมูลในเชิงตัวเลขว่าผู้สูงอายุแต่ละชุมชน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่  สำรวจข้อมูลเศรษฐกิจรายบุคคล ให้ความรู้การออมในลักษณะต่างๆ ชุมชนสามารถเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งปัจจุบันเกิดรูปธรรมหลายแห่งเช่นกัน

            นอกจากนั้นเวทีนโยบายสาธารณะในครั้งนี้ ยังสร้างความร่วมมือในการทำงานระดับนโยบาย และพื้นที่ในการสานพลังเพื่อให้เกิดกลไกการทำงานที่เป็นรูปธรรม และสร้างการรับรู้ในการทำงานให้กับชาวจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

บรรยากาศเวทีเสวนา
หมายเลขบันทึก: 692656เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2021 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2021 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท