การทำนวัตกรรมการศึกษา


เอกสารประกอบการอบรมการทำนวัตกรรมเพื่อการศึกษาพัฒนาการเรียนการสอน

วันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2564 ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านบ่อเบี้ย อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์

โดย นางสาวเพชรนภา  จับจ่าย ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อเบี้ย

 

ความรู้พื้นฐานการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
            กระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เกิดความเจริญด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของโลกอย่างรวดเร็วทำให้การส่งและรับข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างฉับไวและทั่วถึง ลักษณะของคนไทยในโลกยุคโลกาภิวัตน์จึงควรมีลักษณะดังนี้

1. มีความสามารถในการเผชิญกับเหตุการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นทุกมุมโลกและส่งผ่านมาถึงสังคมไทยซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยคิดมาก่อน

2. ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ ส่งเคราะห์และประเมินสารสนเทศ เพื่อสามารถรับและปรับใช้ข้อมูลสารสนเทศให้เหมาะสมกับตัวเองและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

3. มีความสามารถในการแก้ปัญหา

4. มีความสามารถในการใช้และปรับตัวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5. มีความสามารถในการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย

6. มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7. มีความสามารถเป็นพลโลกได้

สรุปได้ว่า คนไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นคนที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง        กล้าเผชิญการเปลี่ยนแปลงมีความสามารถในการคิดการแก้ปัญหาดำเนินชีวิตปรับตัวได้อย่างกลมกลืนทำในโลกสากลและความเป็นไทย

ความหมายการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

        การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเน้นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนา “คน” และ “ชีวิต” ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้เติมตามความสามารถ สอดคล้องกับความถนัดความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ผู้เรียนมีอิสรภาพในการสร้างองค์ความรู้ของตนเองเรียนรรู้อย่างมีความสุข โดยได้ใช้กระบวนการคัดปฏิบัติได้จริงมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว (Active Participation) ทั้งทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมและผู้เรียนมีบทบาทในกิจกรรมการเรียนมากกว่าผู้สอน

ตัวบ่งชี้การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ตัวบ่งชี้ของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ครูทั่วไปน่าจะใช้เป็นหลักในการสอนคือสิ่งที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2545 โดยเฉพาะในหมวดที่ 4 มาตราที่ 24 เนื่องจากเป็นกฎหมายการศึกษาที่ครูจำเป็นต้องปฏิบัติตามและในกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา ครูทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามแนวทางการจัดการศึกษาตามหมวดที่ 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดไว้ดังนี้

มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยงข้องดำเนินการดังนี้

1. จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

2. ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

3. จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำให้คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง

4. จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆอย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา

5. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมสื่อการเรียนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาศาสตร์

6. จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจากเวลาทุกสถานการณ์มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยพัฒนาแนวทางการประเมินตามมาตราฐานการศึกษาแห่งชาติไว้ในมาตราฐานที่ 6 ที่ว่า “การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองโดยครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้มาเป็นผู้ชี้นำความรู้และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนอย่างเหมาะสม” ซึ่งตัวบ่งชี้มีดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2543) 

1. มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียน

2. มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนฝึกค้นคว้าสังเกตุรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์คิดอย่างหลากหลายสร้างสรรค์และสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

3. มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาหาความรู้และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง

4. มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเทคโนโลยีและสื่อที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน

5. มีการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกและส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของผู้เรียน

6. มีการยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสุนทรีภาพอย่างครบถ้วนทั้งด้านดนตรีศิลปะและกีฬา

7. ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการมีความรับผิดชอบต่อกลุ่ม

8. มีการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายและต่อเนื่อง

9. ผู้เรียนรักโรงเรียนผของตนและมีความกระตือรือร้นในการไปโรงเรียน

 

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้ประสบผลสำเร็จดังนี้ (คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ 2543:21)

1. กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนมีโอกาสคิด ทำ สร้างสรรค์ โดยที่ครูช่วยจัดบรรยากาศการเรียนรู้ จัดสื่อ และสรุปการเรียนรู้ร่วมกัน

2. ผู้สอนควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านความสามารถทางสติปัญญาอารมณ์ สังคม ความพร้อมของร่างกายและจิตใจและสร้างโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลางหลายและต่อเนื่องฃ

3. การจัดสาระการเรียนรู้ควรให้มีความสมดุลเหมาะสมกับวัย ความถนัด ความสนใจของผู้เรียนและความคาดหวังของสังคม ทั้งนี้ผลการเรียนรู้จากสาระและกระบวนการจะต้องทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ตามความถนัดและความสนใจ

4. การจัดแหล่งเรียนรู้ควรมีหลากหลายและเพียงพอที่จะให้ผู้เรียนได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน

5. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครูและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนควรมีลักษณะเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลห่วงใยมีกิจกรรมร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้คิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิด และแก้ปัญหาร่วมกัน

6. ศิษย์มีความศรัทธาต่อครูผู้สอนสาระที่เรียนรวมทั้งกระบวนการที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ผู้เรียนใฝ่รู้ มีใจรักที่จะเรียนรู้ทั้งนี้ครูต้องมีความเชื่อว่าศิษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

7. สาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวของผู้เรียนจนผู้เรียนสามารถนำผลจากการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง

8. กระบวนการเรียนรู้มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เข่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกันให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้สูงสุด

สรุปได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะประสบผลสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ

การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ช่วยสนับสนุนหลายประการ โดยเริ่มที่ครูมีความเชื่อว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ มีการจัดสาระการเรียนรู้ที่สมดุลเหมาะสมกับวัย ความถนัด ความสนใจของผู้เรียนและความหวังของสังคม ในระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิด ทำ สร้างสรรค์งานด้วยตนเองตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เรียนกับครู และระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน

 

การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ความหมายของการเรียนรู้

“การสอนให้จบตามหลักสูตรนนนั้นไม่ยากแต่การสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้นั้น ยากกว่า”  ได้มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “การเรียนรู้” ไว้ดังนี้

สุรางค์  โค้วตระกูล (2541:185) ได้ให้ความหมายว่า “การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือจากการฝึกหัดรวมทั้งการเปลี่ยนปริมาณความรู้ของผู้เรียน”

ทัศนา  แขมมณี (2545:1) ให้ความหมาย “การเรียนรู้ (Learning) มีขอบเขตที่ครอบคลุมความหมาย 2 ประการคือ

1. กระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) หมายถึง การดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนหรือการใช้วิธีการต่างๆที่ชวยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้

2. ผลการเรียนรู้ (Learning Outcome) ซึ่งได้แก่ความรู้ความเข้าใจในสาระต่างๆความสามารถในการกระทำ การใช้ทักษะกระบวนการต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกหรือเจตคติอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้หรือการใช้วิธีการเรียนรู้

ความหมายทางจิตวิทยา การเรียนรู้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลอย่างค่อนข้างถาวรอันเป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือการมีประสบการณ์

จากความหมายการเรียนรู้ข้างต้นสรุปได้ว่าการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากกระบวนการเรียนรู้โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นค่อนข้างถาวรหรือถาวร

 

กระบวนการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ความหมายของนวัตกรรม

นวัตกรรม มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Innovation” โดยมีรูปศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลี คือ 

นว + อตต + กรรม โดย นว แปลว่า ใหม่ อัตต แปลว่า ตัวเอง และ กรรม แปลว่า การกระทำ เมื่อมารวมกัน นวัตกรรม จึงแปลว่าการกระทำที่ใหม่ของตนเอง มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของนวัตกรรม

Hughes (1971) ให้ความหมายนวัตกรรมเป็นการนำวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆแล้วโดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปฏิบัติจริงซึ่งความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติ

Rogers (1983) ได้ให้ความหมายนวัตกรรมว่าเป็นความคิดการกระทำ หรือวัตถุใหม่ๆที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อนหรือเป็นสิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีตแต่ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หรือมีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิมก็ได้

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ (2533) นวัตกรรม เป็นวิธีการปฏิบัติใหม่ๆที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆขึ้นมาหรือการปรุงแต่งของเก่าให้ใหม่แหมาะสมและหลายสิ่งหล่านี้ได้รับการทดลอง พัฒนามาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในการปฏิบัติ

กิดานันท์  มลิทอง (2540) ได้กล่าวว่านวัตกรรมเป็นแนวคิดการปฏิบัติหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและประสิทธิผลสูงกว่าเดิมทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย

สรุปได้ว่านวัตกรรมมีความหมาย 3 นัย คือ นวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อนหรือเป็นสิ่งใหม่ที่เคยทำมาก่อนในอดีตแต่นำมาใช้ใหม่หรือการนำนวัตกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาดัดแปลงให้ดีขึ้นแล้วนำมาใช้ใหม่และที่สำคัญคือ นวัตกรรมนั้นจะต้องช่วยให้การจัดการเรียนรู้เกิดผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการจัดการเรียนรู้ด้วย

ประเภทของนวัตกรรม

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ (2533) ได้แบ่งนวัตกรรมไว้ 5 ประเภท ดังนี้

1. นวัตกรรมด้านหลักสูตร เป็นการใช้วิธีการใหม่ๆในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและตอบสนองความต้องการของบุคคลให้มากขึ้นเนื่องจากหลักสูตรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคมของประเทศและโลกนอกจากนี้การพัฒนาหลักสูตรยังมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎี ปรัชญา แนวคิด และวิธีการใหม่ๆที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาเข้ามาช่วยเหลือจัดการให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งนวัตกรรมทางด้านหลักสูตรในประเทศไทยได้แก่การพัฒนาหลักสูตรบูรณาการหลักสูตรรายบุคคลหลักสูตรท้องถิ่นและหลักสูตรการเรียนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นต้น

2. นวัตกรรมการเรียนการสอน เป็นวิธีการเชิงระบบในการปรับปรุงและคิดค้นพัฒนาวิธีสอนแบบต่างๆที่สามารถตอบสนองการเรียนรายบุคคลการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนแบบมีส่วนร่วมการเรียนแบบแก้ปัญหา การพัฒนาวิธีสอนจำเป็นต้องอาศัยวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาจัดการและสนับสนุนการเรียนการสอนตัวอย่าง นวัตกรรมที่ใช้ในการเรียนการสอนได้แก่ การเรียนแบบร่วมมือ การสอนแบบ 4 MAT การสอนแบบปฏิบัติการ การสอบแบบสตอรี่ไลน์ (Storyline Method) การสอบแบบโครงงานเป็นต้น

3. นวัตกรรมสื่อการสอน เนื่องจากมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์การเรียนผ่านเครือข่ายและเทคโนโลยีคมนาคมทำให้นักการศึกษาพยายามนำศักยภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆจำนวนมากมาย ทั้งการเรียนด้วยตนเอง การเรียนแบบกลุ่มตลอดจนสื่อที่ใช้เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ตัวอย่างสวัตกรรมสื่อการสอนได้แก่ สื่อมัลติมีเดีย (multimedia)    การประชุมทางไกล (Teleconference) ชุดการสอน (Instructional Package) วีดีทัศน์แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive Video) 

4. นวัตกรรมการจัดและประเมินผล เป็นนวัตกรรมที่ใช้เป็นเครีอข่ายเพื่อการวัดผลและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำได้อย่างรวดเร็วรวมไปถึงการวิจัยทางการศึกษาด้วยการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสนับสนุนการวัดผลประเมินผลของสถานศึกษาและครูอาจารย์ตัวอย่างนวัตกรรมด้านการประเมินผลเช่น การพัฒนาคลังข้อสอบการลงทะเบียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตการใช้สมาร์ทการ์ดเพื่อใช้บริหารของสถาบันการศึกษาและการใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดเกรด เป็นต้น

5. นวัตกรรมการบริหารจัดการ เป็นการใช้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารการศึกษาให้มีความรวดเร็วทันเหตุการณ์ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกนวัตกรรมการศึกษาที่นำมาใช้ทางด้านการบริหารจะเกี่ยวกับระบบการจัดการฐานข้อมูลในหน่วยงานสถานศึกษาเช่น ฐานข้อมูลนักเรียน ฐานข้อมูลครูและบุคลากรในสถานศึกษา ฐานข้อมูลด้านการเงิน บัญชี พัสดุ และ ครุภัณฑ์ เป็นต้น 

 

          ในการกำหนดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน ครูควรเลือกนวัตกรรมที่มีคุณลักษณะตรงกับปัญหาการเรียนการสอนของตนเอง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง โดยใช้นวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อนและยากจนเกินไป ใช้ง่าย ใช้สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่ายจนแพงเกินไป สะดวกในการนำไปใช้ ไม่กระทบต่อบริบทเดิมมากนัก และเป็นนวัตกรรมที่ให้ผลในการแก้ปัญหาได้ชัดเจน 

แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน

          ประเด็นในการวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอนควรมีดังนี้ (สุวิมล ว่องวานิช, 2546 : 48-57)

  •  ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของใคร
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อใคร และอะไรบ้าง
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความสำคัญระดับใด เมื่อเทียบกับปัญหาอื่น
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาหรือเหตุการณ์อื่นๆ อะไรบ้าง อย่างไร
  • ใครคือผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว และการแก้ปัญหานั้นต้องเกี่ยวข้องกับใครหรือไม่อย่างไร

ตัวอย่างการวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน

ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สอนมานานและสังเกตเห็นว่า นักเรียนส่วนใหญ่ขาดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

ปัญหาคืออะไร

  • นักเรียนขาดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  • นักเรียนไม่สามารถใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

ปัญหาเกิดขึ้นกับใคร

          นักเรียนส่วนใหญ่ในห้อง

ปัญหาส่งผลต่อใคร

          ปัญหาส่งผลต่อการสอนของครูเนื่องจากนักเรียนขาดทักษะกระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นในการแสวงหาความรู้ ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนรู้ไม่บรรลุเป้าหมาย

ปัญหาสำคัญระดับใด

          เป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะทำให้นักเรียนต่อยอดความรู้เพิ่มเติมไม่ได้

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาหรือเหตุการณ์อื่นๆ อะไรบ้าง อย่างไร

          เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการสอนของครูทุกคนที่สอนในวิชาอื่น ที่มีการให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งหากนักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ดี จะทำให้การเรียนรู้วิชาต่างๆ ได้ผลดีไปด้วย

ใครคือผู้รับผิดชอบหลัก

          ครูวิทยาศาสตร์

แล้วจะเลือกนวัตกรรมแบบไหนมาแก้ปัญหา

          ใช้ชุดการสอน ซึ่งจะใช้สื่อประสมและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มาให้นักเรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการแสวงหาความรู้ได้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท