Three ค่ะ ๆ หนูชื่อ Three มากับ Track แล้วก็มากับ Mind >> Three-Track Mind (TTM)


ยินดีตอนรับทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ทั้งที่หลงเข้ามาก็ดี หรือตั้งใจเข้ามาก็ดี บทความนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เช่น สาเหตุ คำที่ควรพูดหรือไม่ควรพูดกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า โดยจะเป็นการยกตัวอย่างในรูปแบบของการใช้ Three-Track Mind (TTM) ตามแบบฉบับความเข้าใจของผู้เขียนค่ะ

แต่ก่อนที่จะเริ่ม เราลองมาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่า Three-Track Mind (TTM) นั้นคืออะไร

Three-Track Mind (TTM) เป็นการให้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัด หรือเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น จะมีอยู่ 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1. Interactive Reasoning (Why) คือ การที่เราคิดทบทวนความรู้ ความเข้าใจของตนเอง เป็นการทบทวนตนเองผ่านการพูดคุย สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตัวเราเองและคนรอบข้าง ซึ่งจะทำให้เราสามารถรับรู้และเข้าใจได้ว่าเรากำลังทำอะไรหรือทำสิ่ง ๆ นั้นไปทำไม ทำเพื่ออะไร

2. Conditional Reasoning (Because) คือ การให้เหตุผลเชิงเงื่อนไข หรือการสรุปเหตุและผลให้กับสิ่งที่เราทำว่าทำไมเราถึงได้เลือกทำแบบนั้น แล้วทำไมถึงทำแบบนี้ โดยเหตุผลของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนมีเหตุของปัญหาเยอะ บางคนมีน้อย แต่ทุกคนล้วนมีผลภายในตัว เราควรที่จะต้องมีความสมดุลของ Creative ที่เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการคิดบวก และ Critical Thinking ที่เป็นส่วนของการใช้เหตุผล ใช้วิจารณญาณ หากทั้ง 2 อย่างนี้มีความสมดุลจะทำให้เกิด Systemic thinking หรือการคิดเกี่ยวกับระบบ ที่มองเห็นเป็นภาพรวมได้

3. Procedural Reasoning (How to) คือ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีการอธิบายที่เป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน ด้วยกระบวนการคิดแบบ Design Thinking ที่เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ก็ได้อธิบาย Three-Track Mind (TTM) มาพอสังเขปแล้ว งั้นตอนนี้เรามาเริ่มการใช้ Three Track Mind (TTM) กับโรคซึมเศร้ากันเลยดีกว่าค่ะ

(ที่มา: https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rujakorn&month=17-09-2020&group=11&gblog=34)

โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นเพียงแค่อาการอ่อนแอทางจิตใจ แต่ยังเป็นอาการทางร่างกายอีกด้วย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมองส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ เศร้า หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว เบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับสิ่งที่เคยสนุกหรือสบายใจ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน แต่ได้รับการรักษาแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยสาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในอย่างการเกิดจากพันธุกรรม ที่คนในครอบครัวหรือญาติมีโรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง สภาพแวดล้อมที่คลุกคลีตั้งแต่เด็กซึ่งจะส่งผลต่อลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เช่น มองโลกในแง่ร้าย หรือมองเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง การเจอเหตุการณ์เลวร้ายจนกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ก็ส่งผลต่อมุมมองและกระบวนการคิดได้เช่นกัน นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว การใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ให้ผลข้างเคียงคือความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีส่วนที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

Why - ทำไมยาเหล่านี้ถึงมีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าได้?

(ที่มา: https://www.vox.com/science-and-health/2018/6/14/17458726/depression-drugs-suicide-side-effect)

Because - ส่วนหนึ่งของยาเหล่านี้ คือ ยารักษาโรคหัวใจ ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยากันชัก และยาแก้ปวด ซึ่งเป็นยาที่คนจำนวนมากในประเทศอื่น ๆ ได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์เช่นกัน โดยผลการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และกำลังรับยาอย่างน้อย 1 ชนิดระหว่างปี 2005-2014 ซึ่งพบว่า 37% ของยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งรวมถึงยาแก้ปวดบางชนิด และยาลดกรด มีผลข้างเคียงอันตรายอย่างหนึ่งคือ การมีอาการซึมเศร้า ผลการศึกษาจากลุ่มตัวอย่างพบว่า ยิ่งใช้ยามากชนิด ยิ่งมีโอกาสมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นถึง 7% ในกลุ่มผู้ที่กินยาเหล่านี้ 1 ชนิด, 9% สำหรับคนที่กิน 2 ชนิด, 15% สำหรับคนที่กิน 3 ชนิดขึ้นไป และมีการประเมินกันว่า ประมาณ 5% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับอาการซึมเศร้า แม้ว่าจะมียาที่มีความเกี่ยวข้องชัดเจนว่ามีโอกาสทำให้ผู้ที่รับประทานเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างยาคุมกำเนิดที่มีความเกี่ยวข้องชัดเจนระหว่างระดับฮอร์โมนและอารมณ์ ยาที่ใช้รักษาควบคุมความดันโลหิตก็ได้มีการคาดการณ์ว่าอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์และเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ยาบางชนิดเองก็มีการเจาะลึกถึงการเกิดโรคซึมเศร้าจากการรับประทานยานั้น เช่น

- งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลา 13 ปีกับผู้หญิงชาวเดนมาร์กที่มีอายุระหว่าง 15 - 34 ปี ซึ่งพบว่า ผู้หญิงมากกว่า 30% ที่รับประทานยาคุมกำเนิดมีอาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า 

- คณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มกันชักจะมีอัตราความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายและมีความคิดในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (0.43% และ 0.22% ในกลุ่มที่ได้รับยากันชักและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกตามลำดับ) พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยสามารถสังเกตได้หลังจากที่เริ่มได้รับยาแล้ว 1 - 24 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในกลุ่มที่ใช้ยาเพื่อรักษาโรคลมชักสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาเพื่อรักษาโรคจิตเวช

แต่อย่างไรก็ดีในยาตัวอื่น อย่างเช่นยาโรคหัวใจ เป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์ว่า ตัวยาหรืออาการของโรคที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าขึ้น และในตอนนี้เองก็ยังไม่มีการวิจัยที่ลงลึกไปถึงสารของยาเหล่านี้ว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้จริงหรือไม่

How to - ควรทำอย่างไรหากเราต้องรับยาเหล่านี้

1. จริง ๆ แล้วหากต้องรับยาเหล่านี้ หรือกำลังรับยาเหล่านี้อยู่ โดยที่ไม่ได้รับยาอีกตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า และไม่มีสัญญาณของอาการซึมเศร้า ก็ไม่ต้องกังวลอะไร

2. หากมีความกังวลจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่ายาที่ใช้มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และหากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยา ควรรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย

3. หากยาที่ใช้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ป่วย แพทย์อาจปรับลดปริมาณยาหรือให้หยุดใช้ยา ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงดังกล่าวได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าร่วมด้วย เพื่อให้สภาวะอารมณ์กลับมาเป็นปกติ

4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ต้องรับยาเหล่านี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ยาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่

นอกจากนี้การที่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจากสาเหตุที่ได้กล่าวไปข้างต้นทั้งจากพันธุกรรม ความผิดปกติจากสารเคมีในสมอง การรับยาที่ส่งผลค้างเคียงให้เป็นโรคซึมเศร้า และอื่น ๆ ควรได้รับการรักษาจากแพทย์และได้รับประทานยาที่ถูกต้องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ที่ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นและแย่ลงได้นั่นก็คือคำพูดของคนรอบข้าง โดยคำพูดที่เหมาะสมนั้นก็จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ แต่หากผู้ป่วยเจอคำพูดที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้อาการแย่ลงไปกว่าเดิมได้เช่นกัน เช่นคำว่า อย่าคิดมาก, สู้ ๆ นะ, ร้องไห้ทำไม อย่าร้องไห้ ถึงแม้ว่าคำเหล่านี้จะเป็นคำพูดเพื่อให้กำลังใจและมาจากความหวังดีของเราก็ตาม

Why - ทำไมคำพูดเหล่านี้ถึงไม่ควรพูดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า?

(ที่มา: https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/depression-do-dont)

Because - โลกของคนทั่วไปกับโลกของคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นบางคำพูดที่สามารถใช้เพื่อปลอบประโลมคนทั่วไปได้ ก็ไม่สามารถนำมาใช้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากผู้ป่วยนั้นมีความอ่อนไหวทางจิตใจมากกว่าปกติ จึงทำให้พวกเขามีการคิดเกี่ยวกับคำพูดที่ได้ยินมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยอาจจะเกิดการตีความคำพูดเหล่านี้แตกต่างจากคนทั่วไป จนทำให้ยิ่งรู้สึกดิ่งกับอาการที่เป็นมากขึ้นกว่าเดิม เช่น

- “อย่าคิดมาก” ความจริงแล้วผู้ป่วยไม่ได้อยากคิดมากเลย แต่เพราะโรคที่เขาเป็นอยู่ทำให้ไม่สามารถควบคุมหรือห้ามได้ การที่เราปลอบใจด้วยการใช้คำพูดนี้จะทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกว่าตนเองนั้นแย่ที่เลิกคิดมากไม่ได้ด้วย

- “อย่าท้อนะ” เรื่องแค่นี้เอง เธอ/นายทำได้ มันไม่ใช่เรื่องของการท้อหรือไม่ท้อ แต่มันเป็นอาการของโรค คำพูดนี้ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้เลย เพราะนอกจากปัญหาจะไม่ได้ถูกแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยอาจจะยิ่งรู้สึกกดดัน จมดิ่ง และสิ้นหวังในตัวเองมากขึ้นไปอีกที่คนอื่นมองว่าปัญหาของเขาเป็นเรื่องแค่นี้แต่สำหรับตัวเขามันกลับเป็นเรื่องที่ใหญ่จนไม่สามารถก้าวข้ามไปได้

- “ร้องไห้ทำไม” อย่าร้องไห้ การร้องไห้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการระบายความเศร้าเพื่อช่วยบรรเทาอาการเศร้าให้ดีขึ้นมาบ้าง เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้ร้องไห้ตลอดเวลาอยู่แล้ว การไปห้ามไม่ให้ผู้ป่วยร้องไห้ก็เหมือนเราไปปิดกั้นความรู้สึกของเขา ซึ่งบางทีการร้องให้อาจจะเป็นประตูทางออกเพียงทางเดียวที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นก็ได้ ดังนั้นเวลาที่ผู้ป่วยซึมเศร้าร้องไห้เราก็ไม่ควรห้ามแล้วปล่อยให้ผู้ป่วยได้ร้องไห้ไปสักพัก

- “สู้ ๆ นะ” คำนี้ผู้ที่อ่านบทความคงจะคุ้นชินมากที่สุด เพราะเป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไป คำนี้ก็เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่สามารถใช้ได้ทั่วไปก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้ตลอดกับทุกสถานการณ์หรือทุกคนเช่นกัน การพูดให้สู้ผู้ป่วยอาจจะเกิดความสับสนได้ว่าให้สู้กับอะไร ไม่รู้จะสู้อย่างไร บางทีก็รู้สึกว่าสู้ไม่ไหวหรอก และรู้สึกว่าเราเพิกเฉยต่อเขาด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเขากำลังอยู่ตรงหน้ากำแพงใหญ่ที่ไม่สามารถข้ามมันไปได้ แต่เรากลับพูดกับเขาแค่ว่าสู้ ๆ นะ แล้วก็เดินจากไป ปล่อยให้เขาพยายามหาทางข้ามกำแพงไปคนเดียว พอเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ไม่เหลือใครให้พึ่งพาอีกแล้ว จนอาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

How to - เราสามารถช่วยให้ผู้ที่เป็นเป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

(ที่มา: https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/depression-do-dont)

1. พยายามเข้าหาผู้ป่วยด้วยความเข้าใจและยินดีช่วยเหลือ

2. ใช้คำถามที่ทำให้ผู้ป่วยรับรู้ได้ว่าเราอยากจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นจริง ๆ เช่น มีอะไรเกิดขึ้นรึเปล่าที่ทำให้เธอเริ่มรู้สึกแบบนี้, ฉันจะช่วยเธอได้ยังไงบ้าง, เธออยากรับความช่วยเหลือในเรื่องนี้ไหม

3. ใช้คำพูดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เป็นคำพูดที่แสดงออกถึงการที่เขาไม่ได้อยู่คนเดียว แต่มีเราที่คอยอยู่ข้าง ๆ และพร้อมจะช่วยเหลือเสมอ เช่น เธอสำคัญกับฉันมากนะ, เธอไม่ได้ตัวคนเดียวลำพังนะ เพราะฉันอยู่ที่นี่เพื่อช่วยเธอ, ฉันอาจไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เธอกำลังรู้สึกหรือเผชิญได้หมด แต่ฉันเป็นห่วงและอยากจะช่วยนะ

4. พูดคุยชี้ให้ผู้ป่วยมองเห็นข้อดีของตัวเองเสมอ การที่ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าในตัวเองจะทำให้ผู้ป่วยอยากใช้ชีวิตอยู่ และมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ

5. ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมและเปลี่ยนบรรยากาศในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและได้เจออะไรใหม่ ๆ

ในกรณีที่เราไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น การนั่งรับฟังนั้น ก็ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน

Why - ทำไมการรับฟังถึงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นได้?

(ที่มา: https://today.line.me/th/v2/article/wjWgo5)

Because - ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ หรือเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว การที่เราไม่รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรกับผู้ป่วยแล้วเผลอไปใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยคิดหรือรู้สึกแบบนั้นมากขึ้น และจะยิ่งดำดิ่งสู่ความรู้สึกที่ตนเองนั้นอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่งพา ไม่มีใครอยู่ข้างกาย เพราะแม้แต่เราที่อยู่ข้าง ๆ เขาในตอนนี้กลับไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีเราอยู่ข้าง ๆ จริง ๆ ได้เลย คำพูดก็เป็นเหมือนดาบสองคม หากเราไม่รู้ว่าจะเลือกใช้คมด้านไหนถึงจะเป็นด้านเหมาะสม การรับฟังจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เรารับมือกับอาการที่ผู้ป่วยเป็น ณ ขณะนั้นได้ ดังนั้นการที่เรารับฟังผู้ป่วยอย่างตั้งใจ ก็จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีคนที่พร้อมจะรับฟังเขาอย่างใจจริง และเริ่มที่จะพูดคุยระบายความรู้สึกของตนเองออกมา  

How to - เราสามารถรับฟังผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง

1. การสร้างความไว้ใจ โดยการทำท่าทีที่สบาย ๆ ไม่กดดันให้ผู้ป่วยต้องพูดออกมาในทันที เพราะการจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟังเรื่องของเขาจริง ๆ

2. เมื่อผู้ป่วยยอมระบายความรู้สึกออกมาแล้ว ให้รับฟังด้วยความตั้งใจและเข้าใจโดยไม่ตัดสินใจแทน จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นเพราะมีคนเข้าใจจริง ๆ

3. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดหรือความรู้สึกที่ไม่ดีออกมา การที่ผู้ป่วยได้ระบายจะช่วยทำให้ผ่อนคลายความเครียดลงได้อย่างมาก

ในบางครั้งการรับฟังอย่างเข้าใจเงียบ ๆ ก็สำคัญกว่าการพยายามให้คำแนะนำใด ๆ การไม่พยายามรักษาหรือแก้ไขคนใกล้ตัวที่กำลังป่วย แต่เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีก็อาจจะช่วยได้มากกว่า รวมถึงสนับสนุนให้เขาคนนั้นได้พูดความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ เพราะในบางครั้งเขาอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว หากว่าคนรอบข้างมีโอกาสได้รับฟัง ก็จะสามารถช่วยป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

นอกจากจะคอยดูแลคนรอบข้างที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ก็อย่าลืมดูแลตนเองด้วยการหาวิธีคลายเครียด หากิจกรรมที่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ด้วยนะคะ

ก่อนจะลากันไปก็ต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านมาตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงตรงนี้มาก ๆ เลยนะคะ หวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านได้บ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรง แล้วพวกเรามาผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ไปด้วยกันนะคะ ขอบคุณค่ะ /\ :D

ขอบคุณข้อมูลจาก:

โรคซึมเศร้าโดยละเอียด

ยาที่คุณกินอาจทำให้รู้สึกซึมเศร้า?

ยาคุมกำเนิด สาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ากับความดันโลหิตสูง เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?

อัตราความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากันชัก

โรคซึมเศร้า (Depression)

ควรทำตัวยังไง เมื่อคนใกล้ชิดเป็น “โรคซึมเศร้า”

วิธีพูดคุยกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้า และคำพูดที่ต้องห้าม

คำพูดที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

หมายเลขบันทึก: 692249เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2021 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท