โรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตายและคำถามที่อาจมองไม่เห็น


 

Three-track Mind (TTM)

 
 

ทำไมโรคซึมเศร้าจึงเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

 

          จากข้อมูลทางวิชาการองค์การอนามัยโลกอธิบายว่า ในผู้ที่มีความคิดอยากตาย จะมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย(Attempt suicide) กว่า 20 ครั้ง ถึงจะตายสำเร็จ (Completed suicide) นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจึงได้หาวิธีป้องกัน และถือว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตายนั้น เป็นการตายก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ โดยพบความเสี่ยงที่สำคัญคือ การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชที่สามารถรักษาได้

         ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ล้วนให้ความสำคัญกับประเด็นของ’โรคซึมเศร้า’ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นการจุดประเด็นทางสังคมให้คนในสังคมหันมาสนใจและตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าจากการประมาณการสาเหตุของการฆ่าตัวตายโดย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ผ่านสื่อมวลชนว่า ในจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ สาเหตุที่เกิดจากภาวะซึมเศร้ามีเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ 90% ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่มาจากปัญหาด้านความสัมพันธ์

          ทว่า ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคซึมเศร้า ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ "การฆ่าตัวตาย" ได้ โดยในปีที่ผ่านมา คนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คนและเสียชีวิตราว 4,000 คน ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของไทย

           ข้อมูลจากเฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้า ระบุว่า มีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับและอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย ในจำนวนนั้นคือ แนวคิดของทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของการฆ่าตัวตาย (Interpersonal Theory of Suicide) โดย แวน โอเดน (Van Orden) และคณะ โดยสามารถสรุปได้ 4 ประการ

  • การไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า และการรับรู้ว่าตนเป็นภาระ เป็น สาเหตุที่สำคัญและมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าตนเป็นภาระของคนอื่น อย่างถาวรโดยไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าหมดหวังต่อสถานการณ์ และเป็นสาเหตุที่มากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความต้องการที่จะฆ่าตัวตายโดยเร็ว
  • เมื่อเกิดความต้องการอยากจะฆ่าตัวตายร่วมกับความรู้สึกไม่กลัวตาย เป็นเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้เกิด ความตั้งใจในการฆ่าตัวตาย
  • ความโดดเดี่ยวรับรู้ว่าตนเองหมดหวัง ทำให้กลัวตายน้อยลงและเพิ่มความทนต่อการกลัวบาดเจ็บมากขึ้น จนเกิดผลตามมาคือพยายามฆ่าตัวตายจนเกือบตาย และฆ่าตัวตายได้สำเร็จในที่สุด

 

ทำอย่างไรจึงจะป้องกันภัยเงียบนี้ได้

 

          โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาได้ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นภัยเงียบของสุขภาพ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยหากตนเองไม่ทันสังเกตหรือคนรอบข้างไม่ทันระวัง สุดท้ายทุกอย่างอาจสายเกินแก้ ซึ่งในส่วนของวิธีการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตนเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่คือ  ’การประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้า’  ซึ่งสามารถทำได้จากแบบประเมินโรคซึมเศร้า คลิกที่นี่

           ทางกรมสุขภาพจิตได้มีการจัดทำ การปฐมพยาบาลทางจิตใจด้วย’3ส’   ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือบุคคลที่มีความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้านั้น พวกเขาต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสำคัญเพราะฉะนั้น3สนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจและสามารถเข้าถึงผู้คนเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

ทำไมยาต้านเศร้าสามารถลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้

 

          แน่นอนว่าหากพูดถึงการรักษาโรคโดยทั่วไปทุกคนคงจะนึกถึงการใช้ยาเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกันกับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การใช้ยาก็เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาเช่นกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะเดียวกันการรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะเข้ามาในชีวิตได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาล แต่เมื่ออาการของโรคมีความรุนแรง จนอาจเกิดอันตรายจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

       

          ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า (antidepressants)แบ่งออกได้หลายกลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ คือ

  1. กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง) กลไกหลักคือยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทหลายตัวได้แก่ serotonin, norepinephrine และ receptor อื่นๆ
  2. กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อๆ ว่า MAOI ปัจจุบันมีการใช้ลดลงเนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้
  3. กลุ่ม SSRI (serotonin-specific reuptake inhibitor) จัดเป็นยารักษาโรคกลุ่ม depressive disorder และ anxiety disorder กลไกการออกฤทธิ์คือ ยับยั้งการดูดซึมกลับของ สารสื่อประสาท serotonin

            ซึ่งแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน แพทย์อาจเริ่มจ่ายยากลุ่มใดแก่ผู้ป่วยก่อนก็ได้เพื่อดูผลตอบสนองของผู้ป่วยกับยาแต่ละชนิด แล้วแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการต่อไปยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้เกิดความง่วงเหมือนที่หลายคนเข้าใจผิด

 

 

 

ทานยาต้านเศร้าอย่างไรให้ปลอดภัย

 

           ผู้ป่วยหลายราย มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติที่สุดคือ การกินยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าแพทย์จะบอกให้หยุดยาได้ ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดึขึ้นแล้วก็ตามยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้เวลาร่างกายได้ปรับตัว ไม่ต้องกังวลว่ายารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติด เพราะก่อนที่แพทย์จะจ่ายยา แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพัง ถึงแม้บางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา ข้อควรระวังคือไม่ควรใช้ยา กระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

           สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา การยืมยาจากคนในครอบครัว เพื่อนหรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน เพราะอาจเป็นอันตรายได้

 


 

 

ทำไมผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง

 

            นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่าผู้หญิงทำร้ายตนเองหรือลงมือฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การศึกษาทางสถิติก็พบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3-4 เท่า เกิดมากในช่วงอายุ 20-30 ปี และสูงขึ้นอีกในช่วงหลังเกษียณ กล่าวอีกว่า โรคซึมเศร้าเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า แต่ผู้ชายที่เผชิญกับโรคนี้มองข้ามอารมณ์ตนเองและไม่พยายามปรึกษาผู้อื่นด้วยคาดหวังจากสังคมว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง กล้าแสดงออก เป็นผู้นำ ต้องมั่นใจในตนเอง พึ่งพาตนเองได้ ต้องเก็บความรู้สึกและไม่แสดงออกหากมีปัญหา ทำให้ผู้ชายมักไม่พูดว่าตนเองกำลังเผชิญเหตุการณ์อะไรบ้าง

 

          ภาวะซึมเศร้าในเพศชาย แม้ว่าอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าในเพศชายจะน้อยกว่าเพศหญิง 2 เท่า แต่อัตราการฆ่าตัวตายในเพศชายสูงกว่าเพศหญิงโดยเฉพาะในผู้ชายสูงอายุ และพบว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงมาก อาการแสดงของภาวะซึมเศร้าไม่แน่ชัดต่อการวินิจฉัย บางคนก็มุ่งทำงานหนักเพื่อที่จะไม่คิดเรื่องอื่น ในขณะที่บางคนรู้สึกไม่มีแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย และที่สำคัญคือผู้ป่วยชายก็มักจะปฏิเสธการรักษาภาวะซึมเศร้า เพราะคิดว่าตนไม่ผิดปกติ ไม่อ่อนแอแต่อย่างใด ร้ายแรงที่สุดเพศชายที่มีภาวะซึมเศร้าส่วนมากจะหาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติดและสุราและเป็นอันตรายถึงชีวิต ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนฆ่าตัวตายคือ สถานที่ทำงาน ว่าเหมาะแก่การฆ่าตัวตายหรือไม่ รวมถึงปัจจัยด้านความมั่นคงในอาชีพการงาน รายได้ต่ำ และระดับการศึกษา ก็ส่งเสริมให้คนฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน


          ภาวะซึมเศร้าในเพศหญิง อัตราของภาวะซึมเศร้าในเพศหญิงเกิดมากกว่าเพศชาย พบบ่อยมาก เนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง ที่เด่นที่สุดคือด้านสรีระวิทยาฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะในช่วงก่อนมีประจำเดือน ช่วงมีประจำเดือน หรือในช่วงวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว และปัจจัยทางพันธุกรรมและการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้น อ่อนไหวง่าย มีความเปราะบางหรือมีปมด้อยบางอย่างอยู่ก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้อย่างง่ายดาย อาการแสดงในเพศหญิง เช่นมักเป็นความรู้สึกผิด ร้องไห้ อยากอยู่คนเดียว รับประทานอาหารมากเกินไป เป็นต้น

 

           อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ”อาชีพ“ มีข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ทำการสำรวจอาชีพที่ทำให้ชาวอเมริกันฆ่าตัวตายช่วงปี 2000-2016 พบว่า ชาวอเมริกันฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และอาชีพของ “ผู้หญิง” ที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ดีไซน์ ความบันเทิงกีฬา และสื่อมวลชน

 

 

            สถิติดังกล่าวได้วิเคราะห์ประชากรชาวสหรัฐฯ จำนวน 22,053 คนใน 17 รัฐ อายุระหว่าง 16-64 ปี ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายระหว่างปี 2012-2015 โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC- Centers for Disease Control and Prevention) รายงานว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายทำงานในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันถึง 22 กลุ่ม ซึ่งผู้ชายในอุตสาหกรรมก่อสร้างฆ่าตัวตายมากที่สุด รองลงมาคือ งานด้านศิลปะ ดีไซน์ ความบันเทิง กีฬา และสื่อสารมวลชนสำหรับผู้หญิง อาชีพที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดคือ งานด้านศิลปะ ดีไซน์ ความบันเทิง กีฬา และสื่อสารมวลชน นอกจากนี้ อาชีพเสิร์ฟและเตรียมอาหารมีแนวโน้มว่าจะฆ่าตัวตายสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2012 ส่วนอาชีพที่มีคนฆ่าตัวตายต่ำที่สุดในปี 2015 คือ อาชีพด้านการศึกษาและคนที่ทำงานในห้องสมุด

 

 

ทำอย่างไรจึงจะสามารถลดตัวเลขเหล่านี้ได้

 

             แน่นอนว่าในการทำงาน ผู้ประกอบการ ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะช่วยหยุดตัวเลขเหล่านี้ได้ จากข้อมูลสถิติดังกล่าวนั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท็อป 5 อย่างศิลปะ ดีไซน์ ความบันเทิง กีฬา และสื่อมวลชน ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายดังกล่าว รวมถึงคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงเหล่านี้เองที่ต้องรู้เท่าทันความเครียดและป้องกันความรู้สึกความคิดตัวเองไม่ให้ไปสู่การฆ่าตัวตายนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

            จากบทความทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตั้งถามในเรื่องของการฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้า ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันในทุกๆคำถาม เราทราบวกันดีว่าสุขภาพจิตนั้นสำคัญไม่แพ้ไปกว่าสุขภาพกาย เราทุกคนควรจะรักษาสุขภาพจิตของตนและคนรอบข้างรอบข้างอยู่เสมอ อย่าละเลยจนมองข้าม เรียนรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนเอง หมั่นทบทวนตัวเองเพื่อเป็นการป้องกันภัยเงียบของสุขภาพที่เราอาจไม่ทันตั้งตัว

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ แหล่งอ้างอิง

https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2287

https://www.moph.go.th/index.php/news/read/600

https://www.bbc.com/thai/features-50922434

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-0924

http://www.thaiheartfound.org/category/details/mood/312

https://med.mahidol.ac.th/th/depression_risk

หมายเลขบันทึก: 692248เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2021 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท