Three-Track Mind (TTM) อัศวินสามทหารเสือ


  Three-Track Mind อัศวินสามทหารเสือ กับการช่วยเหลือภาวะซึมเศร้า

        กราบสวัสดี สำหรับทุกๆคนที่ผ่านมาพบเจอกันในบทความอีกเช่นเคยนะคะ วันนี้ดิฉันก็กลับมาอีกครั้งกับการนำเสนอหลักแนวคิดที่ดีอีกหนึ่งแนวคิดที่จะช่วยให้เราเข้าใจกับ “โรคซึมเศร้า” มากยิ่งขึ้นค่ะ

          จากหัวข้อของบทความที่คุณผู้อ่านได้เห็นนั้น ทุกคนก็อาจจะสงสัยว่า คำว่า Three-Track Mind หมายถึงอะไร แล้วมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับคำว่าซึมเศร้าอย่างไร วันนี้ผู้เขียนจะมาขยายความในเรื่องนี้ค่ะ

 

    ก่อนอื่น จะขออธิบายเกี่ยวกับคำว่า “ซึมเศร้า” เป็นอย่างแรกนะคะ

         “ภาวะซึมเศร้า” มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย โดยผู้ที่จะมีภาวะซึมเศร้าได้นั้น สามารถเกิดได้ในบุคคลทุกเพศทุกวัย ซึ่งการมีภาวะซึมเศร้าเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุให้คนที่เป็นโรคมีโอกาสฆ่าตัวตายได้มากขึ้น แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้วนั้น โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย เพื่อที่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะได้มีอาการที่ดีขึ้นค่ะ

 

   แล้ว...ความหมายของ Three-Track Mind ล่ะ เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร?

            Three-Track Mind หรือเรียกโดยย่อว่า TTM ก็คือเหล่าอัศวิน 3 ทหารเสือซึ่งเป็นการให้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัด โดยจะมีวิธีคิดที่ถ้าเราสามารถฝึกฝนใช้หลักการนี้ได้อย่างชำนาญแล้ว เราก็จะเป็นคนที่ใช้ความคิดได้อย่างเป็นระบบ มีเหตุผลและมีประสิทธิภาพในการบำบัดผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน 

 

   เหล่า 3 ทหารเสือที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

 

1.Interactive Reasoning : Why

        การที่จะให้เหตุผลทางปฏิสัมพันธ์เริ่มต้นระหว่างนักกิจกรรมบำบัดและผู้รับบริการผ่านการพูดคุยนั้น การตั้งคำถามว่า Why หรือ ทำไม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการที่จะเป็นคนที่คิดแบบเป็นระบบ Systematic Thinking ซึ่งการคิดแบบ ทำไม จะแบ่งการประเมินได้ 3 ข้อคือ

  • Need Assessment ประเมินความต้องการของผู้ป่วย ความจริง ความเข้าใจ ความรัก ความศรัทธา และ ความไม่รู้ “ทำไม” ผู้ป่วยถึงมีความคิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
  • Impact Assessment ประเมินผลกระทบต่อความสุขความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ว่า “ทำไม” สิ่งที่เป็นปัญหานั้นถึงกระทบต่อความสุขของการทำกิจกรรมของผู้ป่วยได้
  • Occupational Profile Assessment จะเป็นการอ้างอิงหลักทางกิจกรรมบำบัดมาช่วย เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาของผู้ป่วย ว่า “ทำไม” การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันถึงทำให้เราไม่มีความสุขอีกต่อไป

 

2.Conditional Reasoning : Because of

         การให้ “เหตุผล”เชิง “เงื่อนไข” ซึ่งจะคิดถึงเหตุผลของความคิดหรือการกระทำต่อจากการถามคำว่า “ทำไม” ในขั้นตอนแรก ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขในการจำกัดตัวเหตุผลที่ผู้ป่วยได้ให้มา โดยจะมีการแบ่งเงื่อนไขหลายประเภท เช่น

  1. เงื่อนไขชั่วคราว(Temporary) , เงื่อนไขถาวร (Permanent)
  2. เงื่อนไขที่นำไปสู่ความบกพร่อง (Impairment) , เงื่อนไขที่นำไปสู่ความพิการ(Disability)
  3. เงื่อนไขการมีสมดุลที่ดีของการใช้ความคิด โดยเราจะต้องใช้สมองซีกขวา เพื่อใช้ในการ Creative คิดแบบสร้างสรรค์ คิดบวก และต้องใช้สมองซีกซ้าย เพื่อใช้ในการ Critical Thinking คิดแบบมีวิจารณญาณ เพื่อให้มีการคิดเกี่ยวกับระบบ หรือที่เรียกว่า System thinking

 

3.Procedural Reasoning : How to

          เป็นการคิดแบบมี “ขั้นตอน” เป็นเหตุเป็นผล โดยจะใช้กระบวนการคิดที่เรียกว่า Design Thinking เพื่อจะคิดวิธีการบำบัดรักษาแบบเชิงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ค่ะ

ที่มารูปภาพ : https://www.maqe.com/insight/the-design-thinking-process-how-does-it-work/

 

       

          ในเมื่อทุกท่านได้รู้ความหมายของโรคซึมเศร้า และความหมายของเหล่าอัศวิน 3 ทหารเสือ TTM กันไปแล้ว งั้นเราลองเอาสองสิ่งนี้มาเชื่อมโยงกันดูดีกว่าค่ะ ว่าจะมีวิธีการเชื่อมโยงได้อย่างไร โดยจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้

 

         

         จากภาพที่ได้เห็นข้างต้นนี้ คือคำพูดส่วนใหญ่ที่มาจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายในใจ โดยคำที่เห็นได้ชัดที่สุดในรูปก็คือคำว่า “Suicide” (ฆ่าตัวตาย) นั่นเอง 

 

     Interactive Reasoning : Why

 

  • “ทำไมคนที่มีภาวะซึมเศร้าถึงมีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย ? ”

 

     Conditional Reasoning : Because of

            จากข้อมูลที่ทางผู้เขียนได้ค้นคว้ามามีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับและอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย โดยจะขอนำเสนอแนวคิดของทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของการฆ่าตัวตาย (Interpersonal Theory of Suicide) โดย แวน โอเดน (Van Orden) โดยสามารถสรุปได้ 4 ประการ ดังนี้

 

ที่มารูปภาพ : https://www.researchgate.net/figure/Interpersonal-theory-of-suicide-15-22-Figure-reproduced-from-Van-Orden-and-colleagues-22_fig1_264459723

 

  • การไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า และการรับรู้ว่าตนเป็นภาระ เป็น สาเหตุที่สำคัญและมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าตนเป็นภาระของคนอื่น อย่างถาวร โดยไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าหมดหวังต่อสถานการณ์ และเป็นสาเหตุที่มากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความต้องการที่จะฆ่าตัวตายโดยเร็ว
  • เมื่อเกิดความต้องการอยากจะฆ่าตัวตายร่วมกับความรู้สึกไม่กลัวตาย เป็นเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้เกิด ความตั้งใจในการฆ่าตัวตาย
  • ความโดดเดี่ยวรับรู้ว่าตนเองหมดหวัง ทำให้กลัวตายน้อยลงและเพิ่มความทนต่อการกลัวบาดเจ็บมากขึ้น จนเกิดผลตามมาคือพยายามฆ่าตัวตายจนเกือบตาย และฆ่าตัวตายได้สำเร็จในที่สุด

 

     Procedural Reasoning : How to

ทางออกและการป้องกันการสามารถทำได้อย่างไร

          จากการที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อหาวิธีแก้ไขของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้พบวิธีหนึ่งคือ ถ้าหากพบว่าตัวเองหรือคนรอบตัวเป็นหรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจะต้องทำอย่างไร โดยจะได้มีข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขและรักษาไว้ 2 ระดับดังนี้

1) ระดับบุคคล

  • ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น กินยาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอาการซึมเศร้า และหากขจัดสาเหตุได้ก็จะช่วยให้หายขาดจากโรคได้
  • ควรสังเกตอาการตัวเอง และให้กำลังใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ถูกทำลาย ระบบร่างกายแปรปรวนและในที่สุดอาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
  • การออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

2) ระดับครอบครัวและบุคคลรอบข้าง

  • ความสัมพันธ์และการสื่อสารเชิงบวกของคนในครอบครัว ในโรงเรียน หรือที่ทำงาน ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ที่สำคัญการยอมรับและการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้คนรอบข้างจะต้องคิดบวกอยู่เสมอ ไม่ใช่จับผิดอยู่ตลอดเวลา ให้คำชื่นชมทุกครั้งในสิ่งที่ดี ๆ หรือแม้แต่ความสำเร็จเพียงเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาสะสมความภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  • หากมีคนมาขอคำปรึกษา ควรรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ มีผลการศึกษายืนยันว่า การที่มีผู้ฟังปัญหาอย่างตั้งใจจะช่วยลดการฆ่าตัวตายสำเร็จได้ถึง 50%
  • หากิจกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต หรือกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ร่วมกัน

 

ที่มารูปภาพ : https://www.moph.go.th/index.php/news/read/600

          เพียงใช้หลักวิธีที่ได้กล่าวไปในข้างต้นและวิธีปฐมพยาบาลทางจิตใจในรูปที่อยู่ด้านบนนี้ ก็จะสามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้าที่จะส่งผลไปถึงการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นค่ะ

 

ที่มารูปภาพ : https://www.facebook.com/mahidolchannel/photos/infographicmuchannel-/1181367291920191/

              ตัวอย่างถัดมา จากเนื้อหาในโปสเตอร์ อาจจะทำให้มีผู้อ่านบางท่านสงสัยว่าบางประโยคนั้น “ทำไม” ถึงห้ามที่จะพูดออกมา วันนี้ผู้เขียนจะขออธิบายในประเด็นของปัญหานี้ค่ะ

 

     Interactive Reasoning : Why

 

  • “ทำไมบางคำพูดถึงห้ามใช้พูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ? ”

 

     Conditional Reasoning : Because of

               คำแต่ละคำที่เราได้พูดออกมาเพื่อให้กำลังใจกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้น แม้จะเป็นการพูดที่เป็นเจตนาที่ดี แต่ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเผยแล้วว่า คำบางคำที่พูดออกมานั้น ก็ยิ่งบั่นทอนจิตใจผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้นกว่าเดิม  โดยบางประโยคบางประโยคนั้น บางคนอาจจะมองว่ามันจะต้องทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแน่เมื่อได้ฟัง แต่กลับกลายเป็นคำต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยสิ่งไม่ควรพูดคือ คำห้าม คำกดดัน คำพูดเชิงลบ ดังมีประโยคดังต่อไปนี้ เช่น

  • “พยายามขึ้นอีก แค่นี้เอง ทำไมทำไม่ได้?” สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้วนั้น คำพูดแนวนี้จะยิ่งส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกล้มเหลวมากขึ้น รู้สึกห่อเหี่ยวใจยิ่งขึ้น การขอให้มีความพยายามมากขึ้นคงจะทำไม่ได้เพราะไม่มีแรงมากพอที่จะทำ อีกทั้งผู้ป่วยอาจเก็บคำพูดเหล่านี้ไปคิดต่อด้วยว่า หรือที่ได้ทำผ่านมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ จะไม่เรียกว่าพยายามมากพอ
  • “อย่าคิดมาก เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง” การคิดมากไม่ใช่สาเหตุของโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยมักมีความคิดหรือประสบการณ์ด้านลบอยู่แล้ว เรื่องที่ไม่ดีเรื่องหนึ่งมักจะมีเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อมีคนมานั่งฟังเรื่องที่ผู้ป่วยได้ระบายแล้วเริ่มรู้สึกว่าตัวเองฟังเรื่องลบมากเกินไป จนมีคำพูดที่ปลอบใจผู้ป่วยว่า “อย่าคิดมาก” ออกมา คำพูดนี้ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแม้แต่น้อย เพราะตัวปัญหาที่ผู้ป่วยได้พบเจอก็จะยังไม่ได้รับการแก้ไขในทางที่ดีขึ้นอยู่ดี
  • “ห้ามร้องไห้ ร้องไห้ทำไม?” ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้ร้องไห้ตลอดเวลา แต่การร้องไห้เป็นรูปแบบการระบายความเศร้าอย่างหนึ่งเพื่อให้อาการที่เป็นอยู่บรรเทาลงได้บ้าง การที่จะไปห้ามผู้ป่วยไม่ให้ร้องไห้เท่ากับว่าเราปิดกั้นความรู้สึกของเขา ไม่ให้เขาได้ระบายความรู้สึกเศร้าใจออกมา
  • “สู้ๆ นะ” เป็นคำที่สามารถให้กำลังใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คำว่า สู้ๆ ก็เหมือนกับว่าเราแสดงความเพิกเฉยต่อปัญหาที่ผู้ป่วยได้เผชิญอยู่ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่าต้องแก้ไขกับปัญหานั้นเพียงลำพัง ไม่มีใครจะมาช่วยแก้ไขมัน

 

     Procedural Reasoning : How to

               คำที่ห้ามพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าท่านผู้อ่านก็คงจะทราบแล้ว แล้วทุกคนก็อาจจะสงสัยต่อว่า “แล้วเราควรจะพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างไร ถึงจะเหมาะสม” คำพูดที่เราควรจะพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็คือคำพูดที่เป็นการให้กำลังใจ คำพูดเชิงบวก หรือคำชม โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างคำประเภทนี้ดังรูปภาพต่อไปนี้ค่ะ

ที่มารูปภาพ : https://www.facebook.com/mahidolchannel/photos/a.1247847241938862/1181375201919400/

          หลักจากที่ได้ทุกท่านอ่านหลักการคิดและการแก้ไขในเรื่องของคำพูดที่ควรใช้และคำพูดที่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาแล้วนั้น หลังจากนี้ถ้าท่านได้นำไปใช้อย่างถูกวิธีกับคนรอบข้างที่เป็นโรคซึมเศร้า บุคคลเหล่านั้นจะต้องรู้สึกได้ถึงความใส่ใจที่มีและมีความรู้สึกที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ

 

ที่มารูปภาพ : https://www.freepik.com/premium-photo/mother-daughter-hugging-bed_6403391.htm

          แล้วก็มาถึงตัวอย่างสุดท้ายกันแล้วนะคะ จากรูปที่ใช้ในการเกริ่นนำก่อนจะเข้าเนื้อหา ทุกคนอาจจะสงสัยว่า การกอดจะเกี่ยวอะไรกับซึมเศร้ากันนนะ? ซึ่งจริงๆแล้วการกอด ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในทางที่ดีหรือในทางบวกสำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้าค่ะ จะมีแนวคิดยังไง ไปติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

 

      Interactive Reasoning : Why

 

  • “ทำไมการกอด ถึงมีส่วนช่วยในการรักษาภาวะซึมเศร้า”

 

     Conditional Reasoning : Because of

          โดยจากจากการศึกษาพบว่า การกอด หรือสัมผัสร่างกายแบบยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่าย จะช่วยบรรเทาความรู้สึกที่ไม่ดีลง หลังจากพวกเขาเผชิญกับเหตุการณ์ในเชิงลบที่พวกเขาเจอในแต่ละวัน 

          ที่น่าสนใจคือผลดีจากการสวมกอดไม่ได้ให้ผลแตกต่าง ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่สวมกอดกัน หมายถึง ไม่จำเป็นว่าผู้ที่กอดและถูกกอดจะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันท์คนรักเพียงอย่างเดียว ถึงจะช่วยลดความเศร้าหมองใจให้กับผู้กอดได้

          การกอดทำให้รู้สึกปลอดภัย เหมือนการที่แม่อุ้มเด็กทารกตัวเล็กๆ ในขณะที่กำลังร้องไห้ หากเข้าไปอุ้มเขามากอดก็จะทำให้เขาหยุดร้องไห้ได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการกอดทำให้เรารู้สึกว่ามีคนคอยปกป้องคุ้มครองเราอยู่ ทำให้ความรู้สึกเครียดและความวิตกกังวลในสถานการณ์นั้นๆ น้อยลง 

         การกอดสามารถเปลี่ยนความคิดของเราจากติดลบให้กลายเป็นบวกได้ สาเหตุเพราะในขณะที่เรากำลังกอดใครสักคนนั้น ร่างกายเกิดการกระตุ้นสร้างฮอร์โมนออกซิโตซินออกมา และยังช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีน หรือสารแห่งความสุขออกมามากขึ้น รวมถึงสารแห่งความสุขตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น เอ็นดอร์ฟิน และเซโรโทนิน ที่ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้ส่งผลต่อผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าให้เขารู้สึกดีมากยิ่งขึ้น เหมือนกับการได้รับกำลังใจและการปลอบโยนในเวลาเดียวกันนั่นเอง

 

     Procedural Reasoning : How to

          เราก็ได้รู้ประโยชน์ของการกอดแล้วใช่ไหมคะ ต่อมาเรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าการกอดกับบุคคลแต่ละช่วงวัยนั้น ต้องกอดอย่างไร 

          “พลังแห่งการกอด” กับเทคนิคการกอดที่เหมาะสม

การกอดเด็ก – ไม่ควรกอดเด็กแน่นจนเกินไป เพราะเด็กอาจจะเจ็บและไม่ชอบได้

การกอดวัยรุ่น – ต้องระมัดระวังมากขึ้น ในการสัมผัสพื้นที่บางแห่ง เช่น

  • กอดลูกสาว ควรกอดแนบแน่นตรงระดับหัวไหล่ จากนั้นปล่อยหลวม ๆ
  • กอดลูกชาย ให้โอบเต็มกล้ามเนื้อท่อนแขน และทรวงอก ต่ำจากท้องลงไปปล่อยหลวม ๆ เป็นต้น

การกอดผู้สูงอายุ – การกอดจะทำให้ผู้สูงอายุมีความแข็งแรง แต่ต้องเป็นอ้อมกอดที่สื่อถึงความรู้สึกที่อบอุ่น และแสดงความรักจากใจด้วยความรู้สึกที่อยากกอดจริง ๆ ไม่ใช่กอดด้วยการถูกบังคับ อ้อมกอดสำหรับผู้สูงอายุ มีหลายรูปแบบดังนี้

  • กอดแบบหมี (Bear Hug) เป็นการกอดด้วยการเบียดตัวอย่างเต็มที่ และรวดเร็ว เช่น หลานโผเข้ากอดยาย อย่างเต็มตัว เป็นการกอดที่แสดงถึงความพิเศษของผู้ที่ถูกกอด บ่งบอกความรัก ความปลอดภัย และให้ความรู้สึก อบอุ่น ท่านี้จึงเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง หรือกําลังนั่งอยู่ในท่าที่มันคงเท่านั้น
  • กอดแบบโอบเอวด้านข้าง (Side to Side) ท่านี้เป็นการกอด ด้วยการโอบเอวจากด้านข้าง เหมาะกับผู้สูงอายุแสดงความรักกับหลาน
  • กอดแบบแซนด์วิช (Sandwich Hug) เป็นการกอดกันแบบ 3-4 คน โดยให้ผู้สูงอายุอยู่ตรงกลางในท่านั่งแล้วหลาน 2-3 คน โอบกอดจากทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง แสดงถึงความรัก ความผูกพันธ์ให้แนบแน่นขึ้น
ที่มารูปภาพ : https://www.si.mahidol.ac.th/th/siacg/news_detail.asp?id=11

            การกอดนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สามารถทำได้กับคนรอบตัวที่ไม่ว่าจะเป็นผู้มีภาวะซึมเศร้าหรือผู้ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าก็ตาม ถ้าบุคคลรอบข้างเต็มใจที่จะกอดกับเรา ก็สามารถทำการกอดได้ทุกวัน ทุกเวลา เพราะข้อดีของการกอดนั้นมีอยู่มากมายนั่นเองค่ะ

 

          เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับการใช้สามทหารเสือ TTM กับการบำบัดรักษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หลักการพูดและการช่วยเหลือทางจิตใจสำหรับคนรอบข้าง ทางตัวผู้เขียนหลังจากที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อที่จะมาเขียนบทความนี้ก็ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นเป็นอย่างมากเลยค่ะ ดิฉันก็หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้รับความรู้และเกิดความเข้าใจในการใช้หลักการทางกิจกรรมบำบัดกับผู้มีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นนะคะ ขอขอบคุณทุกๆคนที่เข้ามาอ่านบทความจนจบค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ✧˖(≧ω≦)

  นักศึกษากิจกรรมบำบัด พิมพ์ณดา รุ่งสิริวัฒนะชัย ชั้นปีที่ 2 รหัสนักศึกษา 6323026 มหาวิทยาลัยมหิดล

 

แหล่งอ้างอิง : โรคซึมเศร้า โรคฮิตหรือแค่คิดไปเอง

https://www.bbc.com/thai/features-50922434

โรคซึมเศร้า (Depression)

สังเกตและรับมืออย่างไรกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้า

https://www.nationtv.tv/lifestyle/378650285

คำพูดที่ไม่ควรพูด กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

https://www.winnews.tv/news/25118

https://www.posttoday.com/life/healthy/498599

https://www.gedgoodlife.com/health/6727-power-of-hugs/

หมายเลขบันทึก: 692247เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2021 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท